พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพ
เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๕ ทรงสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ ปีขาล
โทศก ณ วันศุกร์ เดือนห้า เพลาสามนาฬิกา ห้าบาท ได้รับถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร
พระเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ฯ ทรงครองราชย์ระหว่างปี
พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ณ ชัยภูมิที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัยจากข้าศึกและความอยู่ดีกินดีของชาวอยุธยา
คือตั้งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมที่มีแม่น้ำล้อมรอบ ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเกาะ
สะดวกในการป้องกันตัวเมืองจากผู้เข้ามารุกราน และพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม
เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม อันเนื่องจากมีแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบกัน ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำของบรรดาบ้านเมืองที่
อยู่เหนือขึ้นไปที่จะออกสู่ทะเล
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำลักษณะการปกครองทั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรุงสุโขทัย
และของขอม มาประยุกต์ใช้กับกรุงศรีอยุธยา ได้จัดการปกครองบรรดาหัวเมืองต่าง
ๆ ในราชอาณาจักร ออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก
และหัวเมืองประเทศราช
ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรส ไปครองเมืองลพบุรี และขุนหลวงพะงั่ว
ผู้เป็นพี่พระมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี
ในด้านการแผ่ขยายพระราชอาณาเขต ในปี พ.ศ.๑๘๙๕ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม
ราชธานีของขอม ได้สำเร็จ นับเป็นการทำสงครามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี
พ.ศ.๑๘๙๗ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปยึดเมืองชัยนาท
ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลให้พระเจ้าลิไทได้ส่งราชทูตมาขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา
และขอเมืองชัยนาทคืน
นอกจากขอมและสุโขทัยแล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการเมือง
โดยได้ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี และการค้ากับจีน อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา ชวา มลายูและญวน
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองครองราชย์ได้ ๑๙ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ พระชนมายุได้
๕๕ พรรษา
สมเด็จพระราเมศวร
สมเด็จพระราเมศวร ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์สองครั้งคือ
ครั้งแรกต่อจากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๒๓ และครั้งที่สอง
ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๓๘
ก่อนขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราเมศวรได้รับโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ให้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง
และเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อทางกัมพูชาไม่เป็นไมตรีกับทางกรุงศรีอยุธยาที่เรียกว่า
ขอมแปรพักตร์
ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม
ราชธานีของขอม ร่วมกับขุนหลวงพะงั่ว จนตีนครธมได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.๑๙๑๓ ขุนหลวงพะงั่วได้ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรี มายังกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระราเมศวรทรงเชิญเสด็จเข้าพระนครแล้วถวายราชสมบัติให้ ส่วนพระองค์เองขึ้นไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม
เมื่อขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระเจ้าทองลันผู้เป็นพระราชโอรส
ได้ขึ้นครองราชย์ได้เจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรก็ยกกำลังจากเมืองลพบุรี จับพระเจ้าทองลันสำเร็จโทษ
แล้วขึ้นครองราชย์ต่อมา
ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาออกไปยังอาณาจักรล้านนา
และอาณาจักรขอมกล่าวคือ
ในปี พ.ศ.๑๙๓๓ ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่
ในชั้นแรกเจ้าเมืองเชียงใหม่ขอสงบศึก และจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย แต่สุดท้ายไม่ได้ทำตามสัญญา
พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ จับนักสร้าง โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้
แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้ ให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง
และสงขลา
หลังจากตีเชียงใหม่แล้วก็ได้ยกกำลังไปทำสงครามกับอาณาจักรขอม เนื่องจากทางขอมได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบุรี
และเมืองชลบุรี ไปประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ คน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า
เมื่อตีเมืองขอมได้แล้วจึงได้นำชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรีกลับคืนมา
แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์ปกครองเมืองขอม พร้อมกับกำลังพล ๕,๐๐๐ คน
ต่อมาเมื่อญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ ครองราชย์ได้ ๘ ปี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่
๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ มีพระนามเดิมว่า ขุนหลวงพะงั่ว ทรงเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
เดิมครองเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ตั้งแต่ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ยกกำลังไปตีหัวเมืองเหนือหลายครั้ง โดยได้ไปตีเมืองชากังราวสามครั้ง
เนื่องจากเป็นเมืองที่กรุงสุโขทัยใช้เป็นเมืองหน้าด่าน จากการรุกเข้าโจมตีของกรุงศรีอยุธยา
ขุนหลวงพะงั่วได้ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับจักรพรรดิจีนหลายครั้ง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการซึ่งกัน
และกันทางไทยได้ส่งช้าง เต่าหกขา หมีดำ ลิงเผือกและของพื้นเมืองอื่น
ๆ ไปถวาย ทางจีนได้ส่งผ้าแพรดอกขาว ผ้าแพรสี ผ้าไหมสีเงินทอง และปฏิทินหลวงมาถวาย
ในด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปปถัมภกเช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อน
และแม้ว่าจะอยู่ในช่วงต้น ๆ ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และต้องทำศึกสงครามเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักร
พระองค์ยังได้สร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ คือ พระศรีรัตนมหาธาตุ
ซึ่งมีความสูงถึง ๑๙ วา
ขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ครองราชย์ได้ ๑๘ ปี
สมเด็จพระเจ้าทองลัน
(ทองจันทร์)
สมเด็จพระเจ้าทองลัน ทรงเป็นพระราชโอรสในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพ
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ เมื่อขุนหลวงพะงั่ว เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราวครั้งที่สี่ บรรดาข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา
พระเจ้าทองลันครองราชย์อยู่ได้เจ็ดวัน ก็เสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน
สมเด็จพระรามราชาธิราช
สมเด็จพระรามราชาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๙ ที่เมืองลพบุรี ทรงพระนามว่า เจ้าพระยาราม เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี
พ.ศ.๑๙๓๘ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าของกรุงศรีอยุธยา
ในห้วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ บ้านเมืองเป็นปกติสุขดี พระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๐ และก็ได้ส่งทูตแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีอยู่เสมอในระยะต่อ ๆ มา
สมเด็จพระรามราชาธิราช พยายามที่จะขยายอำนาจไปยังอาณาจักรล้านนา แต่ไม่เป็นผล
ทางอาณาจักรสุโขทัยก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ และยังไม่ไว้วางพระทัยเจ้านครอินทร
พระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง
ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้มีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี
ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี และเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เจ้าพระยามหาเสนาบดีได้หนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม
แล้วได้รวมกับเจ้านครอินทร์ ยกกำลังจากสุพรรณบุรีมายึดวังหลวง แล้วทูลเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา
ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระองค์ทรงครองราชย์กรุงศรีอยุธยาได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตปีใดไม่ปรากฏ
สมเด็จพระนครินทราธิราช
(พระนครอินทร์)
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ ทรงเป็นพระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพ
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๒ ทรงครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่หกของกรุงศรีอยุธยา
ในปี พ.ศ.๑๙๖๒ พระยาบาลเมืองและพระยารามได้สู้รบชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัย
พระองค์ได้ทรงเข้าไปไกล่เกลี่ย แล้วทรงอภิเศกพระยาบาลเมือง
ให้ครองกรุงสุโขทัย และพระยารามราชครองเมืองศรีสัชนาลัย
หลังจากนั้นได้ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาใหม่ ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้เจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง
เจ้ายี่พระยาไปครองเมืองนครสวรรค์
และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือ
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ เคยเสด็จไปเมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ เมื่อครั้งยังครองเมืองสุพรรณบุรี
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว
ก็ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีน
สมเด็จพระนครินทร์ ฯ ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่
๒ (เจ้าสามพระยา)
เจ้าสามพระยาเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่สามในสมเด็จพระนครินทร์
ฯ จากการแย่งราชสมบัติของเจ้าอ้ายพระยา กับเจ้ายี่พระยา จนสิ้นพระชนม์ไปทั้งสององค์
เจ้าสามพระยาจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีเมืองเหนือ และเมืองกัมพูชา
กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปล้อมพระนครหลวง
(นครธม) ของกัมพูชาอยู่ถึงเจ็ดเดือนจึงสามารถยึดได้ นับเป็นการขยายพระราชอาณาาเขตของ
อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม
ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่
แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๑๙๘๘ ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่
แต่ทรงประชวรเสียก่อน จึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยของพระองค์นอกจากทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตแล้ว ยังได้ปรับปรุงด้านการปกครอง
โดยได้ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก
(อยู่ในลักษณะกบฎศึก) ขึ้นในกรุงศรีอยุธยา
ในด้านการพระศาสนา ได้ทรงสร้างวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ
และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บยริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา
เจ้าสามพระยาสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ ครองราชญ์ได้ ๒๔ ปี
|