| หน้าแรก | ย้อนกลับ |

พระราชพิธีเดือนอ้าย

            พระราชพิธีเดือนอ้ายตามที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า  "ไล่เรือเถลิงพิธีตรียัมพวาย" พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำ หรือจะให้น้ำลดเร็ว ๆ เพื่อให้การเกี่ยวข้าวได้สะดวกและได้ผลดี แต่ไม่ได้จัดทำสม่ำเสมอทุกปี มักทำในปีที่น้ำลดเท่านั้น ในพิธีนี้ขบวนแห่คล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน และให้อาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิษฐาน นมัสการพระรัตนตรัยเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ซึ่งมีต่อเทพยดาทั้งสาม คือ วิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา และสมมติเทพยดา ขอให้บันดาลให้น้ำลดลง
พระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
            การเลี้ยงขนมเบื้องนับเป็นตรุษอย่างหนึ่งในรอบปี กำหนดกันเอาเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจ เป็นวันหยุดจะกลับขึ้นเหนืออยู่ในองศา ๘ องศาในราศรีธนู ไม่กำหนดแน่ว่าเป็นวันกี่ค่ำ และไม่มีการสวดมนต์เช่นพระราชพิธีใด ๆ อีกด้วย ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในละเลงขนมเบื้อง และนิมนต์พระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ และพระราชาคณะมาฉันในพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย เป็นงานพระราชกุศลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาที่กำหนดพระราชทานเลี้ยงขนมเบื้องในระยะนี้เพราะกุ้งชุกชุมน้ำลดลงตลิ่งก็แห้ง กุ้งปลาลงหนองมากมาย ทั้งกุ้งก็มีมันมาก ปีหนึ่งมีเพียงหนหนึ่ง เพราะไส้ขนมเบื้องนั้นต้องประกอบด้วยกุ้งจึงอร่อย ส่วนข้าวในนาเมื่อน้ำลดข้าวก็เริ่มแก่ รอที่จะสุกเก็บเกี่ยวได้ เป็นเดือนที่นาไร่กำลังบริบูรณ์
พระราชกุศลเทศน์มหาชาติ
            เป็นเทศนาสำหรับแผ่นดิน และเป็นพระราชกุศลนิจสมัยประจำปี เดิมมี ๓๓ กัณฑ์ กำหนดเครื่องภัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะกระทำในเดือนสิบเอ็ดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีเทศน์มหาชาติ วันแรม ๑ ค่ำ มีอริยสัจครบ ๓๐ กัณฑ์ เมื่อเทศนาจบจึงเสด็จลงลอยพระประทีป เฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการเทศน์มหาชาติหลวงเป็นงานใหญ่ โดยเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์


พระราชพิธีเดือนยี่

            พระราชพิธีเดือนยี่ คงนับพระราชพิธีบุษบกภิเษกเข้ามาไว้ เพราะเป็นพิธีสรงมุรธาภิเษกอย่างหนึ่ง ในจำนวนพระราชพิธีมีสนาน ๑๗ อย่าง ไม่มีข้อความละเอียดกล่าวเกี่ยวกับพิธีนี้ไว้ด้วย
การพระราชพิธีตรียัมพวาย และตรีปวาย
            นับเป็นพิธีใหญ่และทำบุญตรุษ เปลี่ยนปีใหม่ของพราหมณ์ จัดทำขึ้นที่เทวสถานทั้งสามของพระนคร ได้แก่เทวสถานพระอิศวร พระมหาวิฆเนศวร และพระนารายณ์ตามลำดับ
            พิธีตรียัมพวาย เป็นพิธีต้อนรับพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้นถึงกำหนด ๑๐ วัน รับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันเสด็จลง วันแรม ๑ ค่ำเป็นวันเสาร์เสด็จกลับในวัน ๑ ค่ำ พระนารายณ์เสด็จลงมา วันแรม ๕ ค่ำเสด็จกลับ สำหรับพิธีต้อนรับพระอิศวรนั้นเป็นการเอิกเกริกครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวย เพื่อนำไปเก็บเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรีปวายของพระนารายณ์นั้นทำอย่างเงียบ ๆ
            ในการพิธีนี้ จัดให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองยืนชิงช้าผลัดเปลี่ยนกันคนละปี และจัดให้มีการโล้ชิงช้าในพิธีนี้ด้วย ต่อจากนั้นก็มีพิธีส่งเสด็จพระผู้เป็นเจ้า ในการนี้พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จส่งพระผู้เป็นเจ้าโดยขบวนช้างถึงเทวสถานดังกล่าวแล้วด้วย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ขึ้น โดยในตอนกลางวันโปรดให้พระสงฆ์เข้ารับพระราชทานฉัน ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ และสวดมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลากลางคืน สำหรับถวายอาหารหน้าพระพุทธปฏิมากรนั้น มีการถวายด้วยข้าวตอก มะพร้าว กล้วย อ้อย เพิ่มขึ้นเหมือนกับ เครื่องสังเวยหน้าเทวรูปในเทวสถาน
การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
            พระราชกุศลนี้เริ่มมีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษาตามอารามต่าง ๆ ที่มีพระบรมอัฐิและพระอัฐิ มีพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ และถวายปัจจัยไทยทานแล้วทอดผ้าสดับปกรณ์ของหลวง


พระราชพิธีเดือนสาม

            การพระราชพิธีเดือนสามนี้ กฎมณเฑียรบาลจดไว้ว่าพิธีธานยเฑาะห์หรือธัญเฑาะห์ แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่า ธัญเฑาะห์ คือ พิธีเผาข้าวเพื่อการเสี่ยงทาย  การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นการทำเพื่อสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหารอันเป็นเสบียงสำหรับพระนคร
พิธีศิวาราตรี
            เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ มีมาแต่โบราณแล้วหยุดไป เพิ่งกลับมาทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก กำหนดทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม แต่เพราะเป็นพิธีพราหมณ์โดยเฉพาะ จึงไม่มีของหลวงพระราชทานในพิธีนี้
การพระราชกุศลมาฆบูชา
            เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วันมาฆบูชา พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันคล้าย วันที่พระอรหันต์สาวก ๑๒๕๐ รูปได้มาประชุมพร้อมกันด้วย จาตุรงคสันนิบาตนับเป็นการประชุมใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์
            การมาฆบูชานี้มีในเดือนสามบ้างเดือนสี่บ้าง แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก การพระพิธีที่จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ ๓๐ รูป เข้าในพระอุโบสถเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น แล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย เมื่อสวดมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนรายรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีเครื่องประโคมครั้งนี้ แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์หนึ่ง
พระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
            การนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยพวกจีนนำสิ่งของมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากมายจนเหลือเฟือ จึงจัดบำเพ็ญพระราชกุศล โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์รวม ๓ วัน ทั้งให้ภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้จัดเรือขนมจีนมาถวายเปลี่ยนเวรกันไปทั้ง ๓ วัน ไม่มีการสวดมนต์ วิธีอนุโมทนาของพระสงฆ์ในการตรุษจีนนี้จึงไม่เหมือนกันทั้ง ๓ วัน บางวันก็มีสัพพะพุทธาบางวันก็ไม่มี เมื่อพระสงฆ์ฉันเรียบร้อยแล้ว ก็มีการเลี้ยงข้าราชการ และทรงปล่อยปลาทุกวันที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้
            การตรุษจีนนี้กระทำในเดือนยี่บ้าง เดือนสามบ้าง ทั้งนี้เพราะแล้วแต่ปฏิทินจีน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการทำบุญตรุษจีนโดยเลี้ยงขนมจีนนั้น ไม่ใช่ธรรมเนียมของจีนจึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำเกาเหลามาเลี้ยงพระสงฆ์แทน กับโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชวินิจฉัย อีกทั้งเชิญเทวรูป และเจว็ดมุขในหอแก้ว ลงไปตั้งถวายเครื่องสังเวยทั้ง ๓ วัน อาลักษณ์อ่านกลอนลิลิตเทวพลี นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องเซ่นอย่างจีนที่หน้าพระพุทธรูปโดยเพิ่มจากข้าวพระ เช่น แตงโม ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโต น้ำตาลทราย ส้ม
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนมาเลี้ยงขนมจีนอย่างเดิม รวมทั้งมีการจัดเครื่องโต๊ะอย่างจีนมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย ที่เก๋งพุทธรัตนสถาน


พระราชพิธีเดือนสี่

            ในกฎมณเฑียรบาลบัญชีย่อพระราชพิธีว่า เดือนสี่การสัมพัจฉรฉินท์ แต่ครั้นเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว หลักฐานเลอะเลือนไม่ได้ความชัดเจน นอกจากทราบว่าได้ทำกันมาแต่โบราณ แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ย่อมเป็นพระราชพิธีทำติดต่อกันกับเดือนห้า
            มีพระราชพิธีอันหนึ่ง ซึ่งติดต่อกันกับสัมพัจฉริทรเรียกว่า "ลดเจตร" คงได้ความว่ารดน้ำเดือนห้าเป็นพิธีดั้งเดิมที่สืบมาแต่ลาวพุงดำ
            สัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพระราชพิธีประจำ ทำเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร เนื่องจากพิธีสัมพัจฉรฉินท์เป็นพิธีใหญ่ให้รวมกับ พิธีอาพาธพินาศ เกศากันต์และโหมกุณฑ์
กาลานุกาล พิธีตรุษ
            เป็นพระราชพิธีต่อท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปีเป็นของมีมาแต่เดิม ส่วนที่เปลี่ยนมาทำในท้ายวิสาขบูชานี้ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กำหนดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนห้า มีพิธีการพระราชกุศลทั้งปวงเหมือนเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว ในกาลานุกาลท้ายฉลองไตร


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | บน |