| ย้อนกลับ | |
ธงชัยราชกระบี่ยุทธ
ธงชัยพระครุฑพาห์
พระมหากษัตริย์สมัยโบราณ จะมีธงประจำพระองค์อยู่คู่หนึ่งคือ
ธงกระบี่ธุช กับธงพระครุฑพ่าห์ ลักษณะธงเป็นแผงมี 3 ชาย หุ้มด้วยสักหลาดสีแดง
ปักดิ้นทองลายกนก ยอดเป็นปลายหอก ธงพระครุฑพ่าห์ มีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑหล่อด้วยโลหะสำริด
เป็นแผ่นติดอยู่ที่คอคันธง ส่วนธงกระบี่ธุช มีรูปหนุมาน หล่อด้วยโลหะสำริด
ในท่ายืนก้าวเท้าออกไปข้างหน้า เท้าอีกข้างหนึ่งติดอยู่ที่คอคันธง
สมัยโบราณใช้ธงคู่นี้สำหรับแห่นำเสด็จในกองทัพ ถือว่าเป็นธงชัยสำคัญประจำพระองค์พระมหากษัตริย์
ผู้เป็นจอมทัพ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้สร้างขึ้นไว้สำรับหนึ่ง เป็นธงชัยประจำพระองค์ตามประเพณี
สำหรับแห่นำกระบวนพยุหยาตรา หน้าพระที่นั่งราชยาน และใช้ผูกในมณฑล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
และพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ธงชัยประจำพระองค์ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ เรียกว่า ธงชัยพระครุฑพ่าห์ ธงชัยกระบี่ยุทธสำรับใหญ่
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้บรมราชาภิกเษกแล้ว
มีพระภิกษุสงฆ์นำของโบราณ เป็นแผ่นสำริดรูปพระกระบี่ธุช และพระครุฑพ่าห์
ซึ่งเจ้าอธิการวัดพระประโทน ขุดได้ที่พระประโทน เป็นของโบราณ ครั้งพระปฐมเจดีย์เป็นนครราชธานี
มาถวาย พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม) ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี
เป็นผู้ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เวลาเสด็จพระราชดำเนินพระปฐมเจดีย์
ในงานเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อปี พ.ศ. 2453 โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์
ทรงคิดเครื่องประกอบเป็นธงกระบี่ธุช พระครุฑพ่าห์น้อยขึ้น เป็นธงกระบี่ธุชพื้นแดง
เขียนรูปกระบี่ขาว ธงพระครุฑพ่าห์มีพื้นเหลือง เขียนรูปครุฑสีแดงภายในธง
แนบผ้าขาวลงยันต์ และอักขระตามธงพระกระบี่ธุช พระครุฑพ่าห์ของเดิม ซึ่งพระครูสุทธธรรมสมาจารย์วัดประดู่
ได้ทำพิธีลงยันต์ และอักขระที่วัดคูมิ มณฑลกรุงเทพ ฯ คันธงเป็นไม้ชัยพฤกษ์
ยอดหอกคร่ำทอง กาบธงผูกหางนกยูงเป็นรูปแพน สอดลงในแผ่นพระกระบี่ครุฑพ่าห์
ของโบราณนั้นเหมือนกันทั้งคู่
พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรจัดทำแล้วเสร็จ ทันงานพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ในปี พ.ศ.
2453 โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราวไว้ทั้งพระแท่นมณฑล สำหรับจะได้เชิญขึ้นผูกเสาพระแท่นมณฑลเข้าพระราชพิธีต่อไป
โดยที่สำรับใหญ่ของเดิมผูกกับเสาหลัง สำรับน้อยที่ทำใหม่ผูกกับเสาหน้า
เมื่อเสด็จพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญธงกระบี่ธุช
พระครุฑพ่าห์ไปถวายสมเด็จ ฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
ให้ทรงประกอบพิธี จารึกคาถาบนแผ่นสำริด ด้านหลังรูปพระกระบี่ธุช พระครุฑพ่าห์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ราชองครักษ์
เชิญธงพระกระบี่ธุช พระครุฑพ่าห์น้อยนำเสด็จ ฯ ทหารบกเชิญธงพระกระบี่ธุช ทหารเรือเชิญธงพระครุฑพ่าห์ในการเสด็จ
ฯ กระบวนราบ ถ้าเสด็จกระบวนรถม้า จึงให้ราชองครักษ์ทหารบกเชิญทั้งสองนาย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
ประทานพระกระแสว่า ธงพระกระบี่ธุชควรอยู่ซ้าย ธงพระครุฑพ่าห์ควรอยู่ขวา
โดยถือหลักประเพณีเดิม จากพระราชพิธีทวาทศมาศ จึงได้มีพระบรมราชโองการ
ฯ ให้เปลี่ยนเสียให้ถูกต้อง
ธงมหาราช
ธงอันเป็นเครื่องหมายแห่งประเทศไทย แต่เดิมมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงมีพระราชดำริว่า
เรือหลวงกับเรือราษฎร ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการ
ฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวงทำรูปจักร อันเป็นนามสัญญาพระบรมราชวงศ์แห่งพระองค์
ลงไว้กลางธงพื้นแดงนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีสารเศวตอันอุดมด้วยลักษณะ
มาสู่พระราชสมภารถึงสามช้าง นับเป็นการพิเศษ อาศัยเหตุนั้นจึงได้มีพระบรมราชโองการ
ฯ ให้ทำรูปช้างเผือก ลงไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงนั้นด้วย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า
เรือค้าขายของชนชาวสยามที่ใช้ธงแดงเกลี้ยงอยู่นั้น ไม่เป็นการสมควร
เพราะจะไปซ้ำกับประเทศอื่น ควรใช้ธงอันมีเครื่องหมายเหมือนอย่างเรือหลวงทั่วไป
แต่ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือรบหลวงและเรือราษฎร
บรรดาที่เจ้าของเรือเป็นข้าขอบขัณฑสีมา มิให้เป็นการสับสนกับเรือของชาวต่างประเทศ
และให้ทำรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชักที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง
ให้เป็นที่สังเกตเห็นต่างกับเรือของราษฎรด้วย
ธงไอยราพต
อนึ่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือหลวงหลายลำ ผู้คนทั้งปวงสังเกตไม่ได้ว่า
เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำใด จึงดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิชัยมงกุฎ และเครื่องสูง
7 ชั้น 2 ข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง และโปรดเกล้า ฯ ให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วย
ต่อมา เมื่อมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระมหานคร ต้องลดธงสำหรับพระองค์ลง
เห็นแต่เสาเปล่าอยู่ดูมิบังควร จึงมีดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงไอยราพต
อย่างพระราชลัญจกรไอยราพต ประจำแผ่นดินสยามขึ้นใหม่ สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานคร อีกธงหนึ่งด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2434
ได้ตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 110 ให้เพิ่มโล่ตราแผ่นดินไว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ
ในโล่แบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลือง
บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาของโล่
เป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพู หันหน้าออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ
ช่องล่างข้างซ้ายของโล่ เป็นรูปกริชคดและตรงสองเล่ม ไขว้กันอยู่บนพื้นแดง
บอกนามสัญญาแห่งมลายูประเทศ ส่วนบนของโล่มีรูปจักรีแทนอุณาโลม
เรียกธงนี้ว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง
เปลี่ยนชื่อธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ
ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงธงราชอิสริยยศ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (พ.ศ.
2453) เปลี่ยนรูปร่างลักษณะและสีของธงมหาราชใหม่ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
พื้นสีเหลือง ตรงกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ธงมหาราชใหม่นี้มี 2
ชนิดคือ ธงมหาราชใหญ่ และธงมหาราชน้อย
ธงมหาราชใหญ่
ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑสีแดงอยู่กลาง
ธงมหาราชน้อย
ผืนธงตอนต้นมีลักษณะ และสีเช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วน ของความยาวผืนธง ความยาวผืนธงเป็น 8 เท่าของความยาวตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงมหาราชใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงราชินี
เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศต่าง
ๆ ในยุโรป ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น
พระบรมราชินี และแต่งตั้งให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 110 บัญญัติให้มีธงราชินีขึ้นเป็นครั้งแรก
ผืนธงพื้นนอกสีแดง กว้าง 10 ส่วน ยาว 15 ส่วน ชายธงตัดเป็นรูปอย่างหางนกแซงแซว
ลึกเพียงส่วนที่ 4 ของด้านยาว พื้นในตัดมุมแฉกเข้ามาเป็นสีขาบ
มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 8 ส่วน ในพื้นกลางที่เป็นสีขาบ มีเครื่องหมายอย่างธงมหาราช
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนรูปร่างและแบบของธงราชินีขึ้นใหม่
โดยกำหนดให้มี 2 แบบ คือ ธงราชินีใหญ่ และธงราชินีน้อย ผืนธงพระราชอิสริยยศสำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนับแต่นั้นมา
ธงราชินีใหญ่
ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง
ตอนต้นเหมือนธงมหาราชใหญ่ ต่างกันที่ตอนปลายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว
ธงราชนีน้อย
มีลักษณะและสีเช่นเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อที่เป็นปลายธงเป็นสีแดง
ธงนี้เมื่อใช้แทนธงราชินีใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า
ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงบรมราชวงศ์
สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อถวายพระราชอิสริยยศ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
มีอยู่ 2 แบบคือ ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ และธงบรมราชวงศ์น้อย
ธงบรมราชวงศ์ใหญ่
ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง
ปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วน ของความยาวของผืนธง
ที่ตรงกลางของผืนธงตอนต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาบ ขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง
ภายในรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีรูปมงกุฎขัติยนารี
ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า
2 ชั้นเหนือตั่ง มีตั่งลดตั้งฉัตรบัว 5 ชั้นอยู่ 2 ข้าง รูปทั้งหมดดังกล่าวเป็นสีเหลืองเข้ม
ธงบรมราชวงศ์น้อย
แบ่งออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่
แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว
ตอนปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึก
3 ใน 8 ส่วนของ ความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงยาวเป็น 8 เท่า ของความกว้างของผืนธงตอนต้น
ธงนี้เมื่อใช้แทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า
ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงเยาวราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2440 ผืนธงเป็นสีขาบ มีขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน เครื่องหมายที่กลางธง เช่นเดียวกับธงราชธวัชสยามินทร์ คือ มีพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน แต่ลดฉัตร 7 ชั้น สองข้างเป็นฉัตร 5 ชั้น บัญญัติไว้ว่า สำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บัญญัติรูปลักษณะธงเยาวราช โดยยกเลิกเครื่องหมายพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน ฉัตร 5 ชั้น และกำหนดลักษณะกลางธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง มีครุฑพ่าห์สีแดงอยู่กลาง เช่นเดียวกับธงมหาราช ธงเยาวราชมีอยู่ 2 แบบคือ ธงเยาวราชใหญ่ และธงเยาวราชน้อย
ธงเยาวราชใหญ่
ผืนธงเป็นรูปสีเหลี่ยมจตุรัส พื้นธงมี 2 สี รอบนอกเป็นสีขาบ รอบในเป็นสีเหลี่อง
ขนาดความกว้างยาวเป็นครึ่งหนึ่งของรอบนอก มีรูปครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง
ธงเยาวราชน้อย
ผืนธงตอนต้น มีลักษณะและสี เช่นเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60
เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาบ เป็นรูปธงยาวเรียว ตอนปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น
ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วน ของความยาวของผืนธง
ความยาวของผืนธงยาวเป็น 8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงเยาวราชใหญ่
เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงเยาวราชฝ่ายใน
(พระวรชายา)
ธงราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บัญญัติให้มีธงสำหรับพระราชวงศ์ครั้งแรก
เมื่อปี พ.ศ. 2440 มีลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 5 ส่วน
ยาว 6 ส่วน พื้นธงสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน ด้านบนโล่มีรูปจักรีอยู่ภายใต้พระมหามงกุฎ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2442 ได้แบ่งธงราชวงศ์ออกเป็น ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า
และธงราชวงศ์ฝ่ายใน โดยที่ธงราชวงศ์ฝ่ายใน ปลายธงตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453
ได้เปลี่ยนแปลงรูปสัญลักษณ์กลางธง เป็นดวงกลมสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ภายในดวงกลม
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากธงมหาราช ได้กำหนดให้ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า
ต่อชายธงเป็นสีขาบ ตัดปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ส่วนธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน
ต่อชายธงเป็นสีแดง ตัดปลายธงเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว
| ย้อนกลับ | บน | |