พระบรมราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

| หน้าแรก |

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ 42 ปี (พ.ศ. 2411-2453) พระชนมายุ 58 พรรษา

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ
พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศนานัปการ ทรงบริหารประเทศก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงประกาศเลิกทาส ปรับปรุงระบบการศาล ตั้งกระทรวงยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ส่งเสริมการศึกษาอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ตั้งกระทรวงธรรมการ ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในยุโรป สร้างการรถไฟ โดยทรงเปิดเส้นทางเดินรถไฟสายกรุงเทพ ฯ ถึงนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2421 สร้างโรงไฟฟ้า จัดให้มีการเดินรถรางขึ้นในกรุงเทพ ฯ จัดตั้งการ ไปรษณีย์โทรเลข เมื่อ พ.ศ. 2421 สร้างระบบการประปา ฯลฯ
ด้านการต่างประเทศ ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลยิ่งนัก ได้ทรงนำประเทศไทยให้ รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกได้ตลอดรอดฝั่ง โดยดำเนินวิเทโศบาย ผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจเพื่อคานอำนาจ พระองค์ได้เสร็จประพาสยุโรป ถึงสองครั้ง โดยได้เสร็จเยือนประเทศ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรีย ฮังการี เบลเยี่ยม อิตาลี สวีเดน และเดนมาร์ก เมื่อ ปี พ.ศ. 2440 ทรงแต่งตั้งราชทูตไปประจำ ประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2424 ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรีย ฮังการี เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส นอร์เว และ สเปน อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2425 สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2427 รัสเซียในปี พ.ศ. 2440 และญี่ปุ่นใน ปี พ.ศ. 2442
พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้เป็นสุขร่มเย็นโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบความเป็นอยู่ที่แท้จริงของพสกนิกร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช
ด้านการพระศาสนา ทรงทำนุบำรุง และจัดการให้เหมาะสม เจริญรุ่งเรือง ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยขึ้น ณ วัดมหาธาตุ และมหามงกุฎราชวิทยาลัยขึ้น ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาการชั้นสูง นอกจากนั้น ยังทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาส และวัดเบญจมบพิตร ซึ่งนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามยิ่งแห่งหนึ่งของกรุงเทพ ฯ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๖ ครองราชย์ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) พระชนมายุ ๔๖ พรรษา
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และศึกษาวิชาการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗
เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งจเรทัพบก และทรงบัญชาการทหารมหาดเล็ก ดำรงพระยศพลเอก
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงปรับปรุงด้านการศึกษาของไทย โปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทรงตั้งกระทรวงการทหารเรือ กองเสือป่า และกองลูกเสือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรมศิลปากร โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน คลังออมสิน กรมสถิติพยากรณ์ กรมสรรพากร กรมตรวจเงินแผ่นดิน กรมมหาวิทยาลัย กรมรถไฟหลวง และเปิดเดินรถไฟไปเชื่อมกับมลายู ตั้งสถานเสาวภาและกรมร่างกฎหมาย ทรงเปลี่ยนการใช้ รัตนโกสินทรศก (ร.ศ) เป็นพุทธศักราช (พ.ศ.)
พระองค์ได้ทรงปลูกฝังความรักชาติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาวไทย ทรงเป็นศิลปิน และส่งเสริมงานประพันธ์เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำในการประพันธ์วรรณคดีไทย ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเขียนหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ และด้านการทหารไว้เป็นจำนวนมาก ประมาณถึง ๒๐๐ เรื่อง พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย
การปกครองประเทศ ได้ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระราชบิดา สานต่องานที่ยังไม่เสร็จสิ้น ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรป ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร ได้ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผลที่สุดได้เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้ไทยได้รับการแก้ไขสนธิสัญญา ที่ไทยเสียเปรียบต่างประเทศได้เป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗ ครองราชย์ ๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗) พระชนมายุ ๔๘ พรรษา
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส
สำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับประเทศไทย เข้ารับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๑ รักษาพระองค์ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ต่อมาได้รับราชการในตำแหน่ง ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ แล้วได้ทรงกรมเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในช่วงเวลาที่ เศรษฐกิจของประเทศและของโลกกำลังทรุดหนัก อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแก้ไขอย่างเต็มพระกำลังความสามารถจนประเทศไทย ได้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์นั้นได้
ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยสามารถติดต่อกับนานาประเทศทางวิทยุ และโทรเลขได้โดยทั่วไปเป็นครั้งแรก ทรงพระราชทานนามหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์พระไตรปิฎกเล่มใหม่ สร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เปิดเดินรถไฟไปถึงชายแดนไทยติดต่อกับเขมร แก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศพระราชบัญญัติเงินตรา และทรงตรากฎหมายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ)
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ต่อมาได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ ประเทศอังกฤษ
พระราชหัตถเลขาที่ทรงลาออกจากราชบัลลังค์ มีความตอนหนึ่งว่า
"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ ครองราชย์ ๑๓ ปี (พ.ศ.๒๔๗๗- ๒๔๘๙) พระชนมายุ ๒๑ พรรษา
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อพระชนมายุได้ ๓ เดือน ได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชมารดา ไปประทับอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา จนพระชนมายุได้ ๓ พรรษา จึงเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระราชชนนีได้นำเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เมื่อ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐พรรษา จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวรรตน์จาตุรงต์ เป็นประธาน ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็น ประธาน
พระองค์มีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาในพสกนิกร โปรดการ ศึกษา การกีฬา การช่างและการดนตรี ได้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิต- เซอร์แลนด์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ถวายราชกิจ เพื่อให้ทรงบริหารโดยพระราชอำนาจ
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน พระองค์ต้องอาวุธปืน เสด็จสวรรคต ณ ที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ยังความเศร้าสลด และความอาลัยรักจากพสกนิกรเป็นที่ยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ มลรัฐแมซซาชูเซทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อพระชนมายุได้ ๑ พรรษา ได้เสร็จนิวัตสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตแล้ว ได้เสด็จกลับไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้ารับการศึกษา ณ ที่นั้น เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วทรงเสด็จไปศึกษาต่อในวิชานิติศาสตร์ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระองค์ได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและได้ทรงเข้าพระราชพิธี อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศ เป็น ม.ร.ว.สิริกิต์ กิติยากร พระธิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และได้ประกาศ พระบรมราชโองการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
ได้มีพระบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓
ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเสด็จนิวัติพระนคร ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แล้วเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นเอนกประการ แผ่ไพศาลไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และ อเมริกา เพื่อเจริญพระราชไมตรีอย่างกว้างขวาง ปรากฎพระเกียรติคุณอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้านในประเทศทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทที่อยู่ห่างไกล เพื่อรับ ทราบปัญหาต่าง ๆ โดยตรงและได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น พร้อมทั้งพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้
พระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และในฐานะส่วนพระองค์เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทรงเต็มเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน ทรงมีพระราชศรัทธาตั้งมั่น และแตกฉานในพระศาสนาและทรงถ่ายทอดแก่พสกนิกรของพระองค์ในทุกโอกาส ดังเราจะได้พบในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนในโอกาสต่าง ๆ อย่างมิรู้สิ้น

| หน้าแรก | บน |