| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
การรบพม่าที่บางกุ้ง
เมื่อเจ้าตากตีกรุงศรีอยุธยาคืนกลับมาได้ กิตติศัพท์ก็เลื่องลือออกไป
มีผู้มาอ่อนน้อมด้วยเป็นอันมาก พวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย เห็นว่าเจ้าตากได้เป็นใหญ่ในราชธานี
ก็พากันนับถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย เมื่อเจ้าตากมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองธนบุรีแล้ว
จึงทำพิธีราชาภิเษก
เมื่อปีกุน
พ.ศ. 2310 ประกาศพระเกียรติยศเป็น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามหากษัตริย์แทนโบราณราชแต่ก่อน
แล้วปูนบำเหน็จ นายทัพ นายกอง ที่มีความชอบ แต่งตั้งให้มียศศักดิ์ตามทำเนียมราชการ
ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น นายสุดจินดาได้เป็นที่พระมหามนตรี
เจ้ากรมตำรวจ แล้วได้ไปชวนหลวงยกบัตรเมืองราชบุรีผู้เป็นพี่
คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในเวลาต่อมา เข้ามารับราชการเป็นที่พระราชนรินทร์
เจ้ากรมตำรวจด้วย
ราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อราชาภิเษก อยู่ในเขตภาคกลาง
ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ด้านเหนือสุดถึงเขตเมืองนครสวรรค์ ตั้งแต่ปากน้ำโพลงมา
ด้านตะวันออกถึงเมืองตราดจดแดนเขมร ด้านใต้ถึงเขตเมืองชุมพร คิดเป็นพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักรครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แต่บรรดาเมืองต่าง ๆ นอกจากหัวเมืองทางด้านตะวันออก ถูกพม่าย่ำยีจนเป็นเมืองร้างอยู่เกือบทั้งหมด
เกิดการขาดแคลนอาหาร เพราะราษฎรไม่ได้ทำนาถึง 2 ปี พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องใช้วิธีซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมือง
ซึ่งเรียกราคาสูงมากตกถังละ 4 ถึง 5 บาท รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม นำมาแจกจ่ายราษฎรที่ขาดแคลน
ทำให้ผู้คนกลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา เป็นเหตุให้พวกเจ้ากรุงธนบุรีมีกำลังคนมากขึ้น
ด้านการปกครองหัวเมือง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงตั้งข้าราชการออกไปปกครอง
ซึ่งน่าจะมีอยู่ 11 เมือง คือ ลพบุรี อ่างทอง กรุงเก่า
ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี สมุทรสงคราม
และเพชรบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องแบ่งทหารออกไป ตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง
เช่นให้ทหารจีน ไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง
ที่ต่อแดนระหว่างเมืองสมุทรสงครามกับเมืองราชบุรี
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาตีกรุงศรีอยุธยา เพื่อขับไล่พม่าออกไปนั้น
ทางพม่าพระเจ้าอังวะทราบข่าวจากเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองเวียงจันทน์
แต่เนื่องจากขณะนั้น พระเจ้าอังวะกำลังกังวลอยู่กับการที่จะเกิดสงครามกับจีน
ประกอบกับเห็นว่าเมืองไทยถูกย่ำยีอย่างยับเยิน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะร้ายแรงอะไร
ดังนั้น จึงเป็นแต่ให้มีท้องตราสั่งแมงกี้มารหญ่า
เจ้าเมืองทวาย ให้คุมกำลังมาตรวจตราดูสถานการณ์และรักษาความสงบ
ราบคาบในเมืองไทย พระยาทวายจึงเกณฑ์ กำลังพล 20,000 คน ยกกำลังเข้ามาทางเมืองไทรโยค
เมื่อฤดูแล้ง ปลายปีกุน พ.ศ. 2310
ในเวลานั้น เมืองกาญจนบุรี และเมืองราชบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า
จึงยังคงเป็นเมืองร้างอยู่ทั้งสองเมือง เรือรบของพม่ายังอยู่ที่เมืองไทรโยค
ค่ายคูของพม่าที่ตั้งอยู่ตามริมน้ำเมืองราชบุรีก็ยังคงอยู่ เมื่อพระยาทวายยกกองทัพเข้ามา
จึงเดินทัพมาได้โดยสดวก ปราศจากการขัดขวางใด ๆ จนล่วงเข้ามาถึงบางกุ้ง
เห็นค่ายทหารของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ จึงให้กองทัพเข้าล้อมไว้
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวทัพพม่ายกเข้ามา ก็จัดกำลังให้พระมหามนตรี
เป็นแม่ทัพหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นทัพหลวง ยกกำลังทางเรือออกไปเมืองสมุทรสงคราม
เมื่อถึงบางกุ้ง ก็ให้ยกกำลังเข้าโจมตีข้าศึกในวันนั้น ทหารไทยใช้อาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก
ที่เหลือตายก็แตกหนี พระยาทวายเป็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็ถอยกำลังกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว
ซึ่งเป็นด่านทางเมืองราชบุรี กองทัพไทยยึดได้เรือรบของพม่าทั้งหมด
และได้เครื่องศัตราวุธ รวมทั้งเสบียงอาหารอีกด้วยเป็นอันมาก
ปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2311 เมื่อย่างเข้าฤดูฝน สงครามทางด้านพม่าสงบลง
พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ให้เตรียมเรือรบ และกำลังพล เพื่อจะขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลกให้ได้ในปีนั้น
ครั้นถึง เดือน 11 อันเป็นฤดูน้ำนอง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปเมืองเหนือ
เมื่อเจ้าพิษณุโลกทราบข่าว จึงให้หลวงโกษา ชื่อยัง
คุมกำลังมาตั้งรับที่ตำบลบางเกยชัยซึ่งอยู่ในแขวงเมืองนครสวรรค์
อยู่เหนือปากน้ำโพขึ้นไปเล็กน้อย
เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึง ก็ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี
กองทัพกรุงธนบุรีเห็นว่าจะรบพุ่งต่อไปไม่สำเร็จ ก็ถอยทัพกลับคืนมาพระนคร
ฝ่าย เจ้าพระยาพิษณุโลก ครั้นทราบว่า กองทัพของตนทำให้ฝ่ายกรุงธนบุรีล่าถอยกลับไปก็ได้ใจเชื่อว่าฝ่ายตนชนะแล้ว
คงจะตั้งตัวเป็นใหญ่กว่าชุมนุมทั้งปวงได้ จึงตั้งพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
แต่พอราชาภิเษกแล้วได้ 7 วัน ก็เกิดโรคฝีขึ้นในลำคอถึงพิราลัย พระอินทร์อากรผู้เป็นน้องชายจึงขึ้นครองเมืองแทน
แต่ไม่กล้าตั้งตัวเป็นเจ้า ตั้งแต่นั้นมา ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกก็อ่อนแอลง
เพราะผู้คนพลเมืองไม่นิยมนับถือพระอินทร์อากร เหมือนเจ้าพิษณุโลก
เมื่อเหตุการณ์นี้ทราบไปถึงเจ้าพระฝาง
เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายอำนาจของตน จึงยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก
ตั้งล้อมเมืองอยู่ 2 เดือน ชาวเมืองก็ลอบเปิดประตูเมือง ให้กองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง
เจ้าพระฝางก็จับพระอินทร์อากรประหารชีวิต แล้วกวาดต้อนผู้คนและเก็บทรัพย์สมบัติในเมืองพิษณุโลก
พากลับไปเมืองสวางคบุรี บรรดาชาวเมืองพิษณุโลก และเมืองพิจิตร ที่หลบหนีการกวาดต้อนได้
ก็พากันอพยพครอบครัวมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นอันมาก
ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย
พระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นว่าการรวมเมืองไทยนั้น ควรจะปราบชุมนุมเล็ก ๆ
ก่อน ชุมนุมที่จะไปปราบครั้งนี้คือชุมนุมเจ้าพิมาย พระองค์จึงให้พระมหามนตรี
กับพระราชวรินทรยกกำลังไปตีด่านกระโทก
ซึ่งทางฝ่ายเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศาธิราชเป็นผู้รักษาด่านอยู่
ส่วนพระองค์ยกไปตีด่านจอหอ
ซึ่งมีพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้รักษาด่าน
ทั้งสองทัพตีได้ด้านทั้งสองในเวลาใกล้เคียงกัน กรมหมื่นเทพพิพิธเห็นว่าจะสู้ไม่ได้
จึงเตรียมหนีไปกรุงศรีสัตนาคนหุต
แต่ถูกขุนชนะกรมการเมืองพิมายจับตัวไว้ได้เสียก่อน
แล้วนำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ในตอนแรกพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าเป็นโอรสกษัตริย์คิดจะเลี้ยงไว้
แต่กรมหมื่นเทพพิพิธมีขัตติยมานะ ไม่ยอมอ่อนน้อมด้วย พระองค์จึงให้ประหารเสีย
แล้วตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยาคำแหงสงคราม
ครองเมืองนครราชสีมาต่อ
เมื่อเลิกทัพกลับกรุงธนบุรีแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองทั้งหลาย
ที่สำคัญตั้งพระราชวรินทร์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และตั้งพระมหามนตรีเป็นพระยาอนุชิตราชา
ในตำแหน่งจางวางกรมตำรวจ ทั้ง 2 คน
การรักษาขอบขัณฑสีมาด้านเขมร
เมื่อต้น ปีฉลู พ.ศ. 2312 หลังจากได้พื้นที่ทางด้านตะวันออกได้บริบูรณ์
เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายได้แล้ว
พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เตรียมกำลังเพื่อยกไปตีชุมนุมเจ้านคร ขณะที่เตรียมการอยู่นั้น
ทางเมืองจันทบุรีได้มีใบบอกเข้ามาว่า ญวนได้ยกกำลังทางเรือมาที่เมืองบันทายมาศ
เล่าลือกันว่าจะเข้ามาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง
4 ทาง และให้พระยาพิชัยนายทหารจีนซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม
เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี
มีหน้าที่รักษาปากน้ำ แต่ต่อมาได้ทราบความว่า ที่ญวนยกมาครั้งนี้มิใช่มาตีเมืองไทย
แต่มาด้วยเหตุภายในของกัมพูชา เนื่องจากนักองนนท์
(หรือนักองโนน)
ซึ่งเป็นพระรามราชาชิงราชสมบัติกับ
นักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชา
นักองตนไปขอกำลังญวนมาช่วย นักองนนท์สู้ไม่ได้ จึงหนีมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี
ขอให้ช่วยในฐานะที่เป็นข้าขอบขันฑสีมาเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชาว่า กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปกติเช่นเดิมแล้ว
ให้ทางกรุงกัมพูชา ส่งต้นไม้ทองเงิน กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย
ตามราชประเพณีดังแต่ก่อน แต่สมเด็จพระนารายณ์ราชาตอบมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่เชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์
ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา จึงไม่ยอมถวายต้นไม้ทองเงิน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขัดเคือง
จึงมีรับสั่งให้จัดกำลัง ยกไปเมืองเขมร โดยแบ่งออกเป็นสองกองทัพ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์
กับ
พระยาอนุชิตราชา
คุมกำลัง
2,000 คน ยกไปจากเมืองนครราชสีมาลงทางช่องเสม็ดไปตีเมืองเสียมราฐทางหนึ่ง
ให้พระยาโกษาธิบดี
คุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองปราจีณบุรี
เพื่อไปตีเมืองพระตะบองอีกทางหนึ่ง
ทั้งสองเมืองนี้อยู่คนละฝั่งของทะเลสาบเขมร
และสามารถเดินทางต่อไปถึงกรุงกัมพูชาได้ทั้งสอง การทำศึกครั้งนี้ จะเห็นว่ากำลังที่ยกไปไม่มาก
เมื่อฝ่ายไทยยึดเมืองทั้งสองได้แล้ว ก็จะดูทีท่าของสมเด็จพระนารายณ์ราชา ว่าจะยอมอ่อนน้อมหรือไม่
ถ้าไม่ยอมอ่อนน้อม ก็คงจะต้องรอกองทัพหลวง ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้เสด็จยกตามลงไป
ตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้ง เนื่องจากเวลานั้น ไทยทำศึกอยู่สองด้าน
คือได้ส่งกำลังไปตีชุมนุมเจ้านครด้วย ดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องรอผลการปราบปรามชุมนุมเจ้านครอยู่ที่กรุงธนบุรี
ก่อนที่จะให้มีการปฏิบัติการขั้นต่อไป เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า
กองทัพเจ้าพระยาจักรีถอยกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา ทรงพระดำริเห็นว่าลำพังกองทัพ
เจ้าพระยาจักรีคงจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ และโอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน
มีเวลาพอที่จะทำสงครามเสร็จในฤดูแล้ง จากนั้นจะได้เสด็จไปกรุงกัมพูชาต่อไป
ดังนั้น เมื่อทราบว่าทางกองทัพที่ยกไปตีกรุงกัมพูชา ยึดได้เมืองเสียมราฐ
และพระตะบองได้แล้ว พระองค์จึงเสด็จทางเรือ เมื่อเดือน 8 ปีฉลู
พร้อมกองทัพหลวง จากกรุงธนบุรีลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช และได้ทรงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง
เดือน 4 ปีฉลู
ฝ่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐได้เมื่อต้นฤดูฝน
สมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงกัมพูชาให้ออกญากลาโหม
คุมกองทัพยกมาเพื่อตีเมืองเสียมราฐกลับคืน โดยยกกำลังมาทางน้ำมาตามทะเลสาบเขมร
พระยาทั้งสองของไทยก็ตีกองทัพเขมรแตกกลับไป ออกญากลาโหมบาดเจ็บสาหัสในที่รบ
ครั้นแม่ทัพฝ่ายไทย คือพระยาทั้งสองได้รับท้องตราว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในฤดูฝน
และเมื่อถึงฤดูแล้ง จะเสด็จยกทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา จึงได้ตั้งรอกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ
ครั้นล่วงถึงฤดูแล้ง ยังไม่ได้ยินข่าวว่า กองทัพหลวงจะยกไปตามกำหนด ก็แคลงใจ
ด้วยไม่ทราบว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
ทราบแต่เพียงว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งแต่เดือน 10
ครั้นเห็นเงียบหายไปนานหลายเดือน ก็เกิดข่าวลือว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช
เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงพระยาทั้งสองก็ตกใจ เกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้นที่กรุงธนบุรี
จึงได้ปรึกษากัน แล้วตกลงให้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองนครราชสีมา ส่วนพระยาอนุชิตราชาได้ยกล่วงมาถึงเมืองลพบุรี
เมื่อทราบว่าข่าวนั้นไม่เป็นความจริง จึงหยุดกำลังรออยู่
ฝ่ายพระยาโกษาธิบดี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง เมื่อทราบว่ากองทัพไทยทางเมืองเสียมราฐถอนกำลังกลับไป
ก็เกรงว่าถ้าตนตั้งอยู่ที่พระตะบองต่อไป เขมรจะรวบรวมกำลังมาเข้าโจมตีได้
จึงได้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองปราจีนบุรี แล้วมีใบบอกกล่าวโทษพระยาทั้งสองที่ได้ถอนทัพกลับมา
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้ทราบความตามใบบอกของพระยาโกษาธิบดี
จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวง หาตัวพระยาอนุชิตราชามาถามความทั้งหมด พระยาอนุชิตราชาก็กราบทูลไปตามความเป็นจริง
พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบความแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญว่าเป็นการกระทำที่สมควรแล้ว
แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้กองทัพไทยที่ยกไปตีเขมรทั้งหมด กลับคืนพระนคร
ให้ระงับการตีกรุงกัมพูชาไว้ก่อน
ปราบชุมนุมเจ้านคร
การยกกำลังไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ทางเขมร
ดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจำเป็นต้องแบ่งกำลังออกไปปฏิบัติการสองทาง
แต่เนื่องจากพระองค์ได้เตรียมการไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครไว้แล้ว เหตุการณ์ทางเขมรเป็นเหตุการณ์ที่แทรกซ้อนขึ้นมา
แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในระดับหนึ่ง เพื่อรักษาเกียรติภูมิของไทย
ที่กรุงกัมพูชาเคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยมาก่อน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
ดังนั้นในด้านเขมรจึงส่งกำลังไปเพียงเล็กน้อย เพื่อยึดฐานปฏิบัติการขั้นต้นไว้ก่อน
คอยเวลาที่กำลังส่วนใหญ่ ที่เสร็จภารกิจการปราบปรามชุมนุมเจ้านครแล้ว มาดำเนินการขยายผลต่อไป
การดำเนินการชุมนุมเจ้านคร พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เจ้าพระยาจักรี
(แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์
พระยาเพชรบุรี เป็นนายกอง คุมกำลังทางบกมีกำลังพล
5,000 คน ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2312
เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองชุมพร เมืองไชยา
ตามลำดับกรมการเมืองทั้งสอง ก็เข้ามาอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่เนื่องจากแม่ทัพนายกองที่ยกไปครั้งนั้น
ไม่สามัคคีกัน เมื่อกองทัพยกลงไปถึงแดนเมืองนครศรีธรรมราช ข้ามแม่น้ำหลวง
(แม่น้ำตาปี) ไปถึงท่าหมาก
แขวงอำเภอลำพูน
พบข้าศึกตั้งค่ายสกัดอยู่ กองทัพกรุงธนบุรีเข้าตีค่ายข้าศึกไม่พร้อมกัน
จึงเสียทีข้าศึก พระยาศรีพิฒน์ และพระยาเพชรบุรีตายในที่รบ พระยาจักรีก็ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา
ส่วนพระยายมราชก็มีใบบอก กล่าวโทษพระยาจักรีว่า มิได้เป็นใจด้วยราชการ
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ ก็ทรงพระดำริเห็นว่า ลำพังกองทัพข้าราชเห็นจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้
เมื่อทรงประมาณสถานการณ์แล้วเห็นว่า ทางด้านเขมรกองทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ
และพระตะบองแล้ว โอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน และจะทำศึกด้านนี้เสร็จทันในฤดูแล้ง
ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการไปตีกรุงกัมพูชา ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จโดยกระบวนเรือ
ออกจากกรุงธนบุรี เมื่อเดือน 8 ปีฉลู พร้อมกองทัพหลวงมีกำลังพล 10,000
คน ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช กระบวนทัพไปถูกพายุที่บางทะลุ
แขวงเมืองเพชรบุรี
(บริเวณหาดเจ้าสำราญ ปัจจุบัน) ต้องหยุดซ่อมแซมเรือระยะหนึ่ง
จากนั้นจึงยกกำลังไปยังเมืองไชยา
แล้วจัดกำลังทางบก ให้พระยายมราชเป็นกองหน้า
ให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา
คุมกำลังทัพหลวงยกลงไปทางหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกำลังลงไปอีกทางหนึ่ง
กำหนดให้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้งสองทาง
ครั้งนั้น เจ้านครสำคัญว่ากองทัพกรุงธนบุรี ยกลงไปแต่ทางบกทางเดียวเช่นคราวก่อน
จึงไม่ได้เตรียมการต่อสู้ทางเรือ กำลังทางเรือของพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึงปากพญา
อันเป็นปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน
10 พอเจ้านครทราบก็ตกใจ ให้อุปราชจันทร์นำกำลังไปตั้งค่ายต่อสู้ที่ท่าโพธิ
อันเป็นท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 เส้น
พระเจ้ากรุงธนบุรียกกำลังเข้าตีค่ายท่าโพธิแตก จับอุปราชจันทร์ได้ เจ้าเมืองนครเห็นสถานการณ์เช่นนั้น
ก็ไม่คิดต่อสู้ต่อไป จึงทิ้งเมือง แล้วพาครอบครัวหนีไปเมืองสงขลา
พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเจ้าพระยาจักรียกกำลังไปทางบก
ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองได้ 8 วัน
จึงถูกภาคทัณฑ์โทษที่ไปไม่พ้นตามกำหนด และให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา
คุมกำลังทางบก ทางเรือ ไปตามจับเจ้านครเป็นการแก้ตัว จากนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก็ยกกองทัพหลวงออกจากเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน
11 ตามลงไปยังเมืองสงขลา
กองทัพเจ้าพระยาจักรีกับพระยาอภัยราชายกไปถึงเมืองสงขลา ได้ทราบความว่าพระยาพัทลุงกับหลวงสงขลา
พาเจ้านครหนีลงไปทางใต้ ก็ยกกำลังไปถึงเมืองเทพา
อันเป็นเมืองขึ้นของสงขลาอยู่ต่อแดนเมืองมลายู สืบทราบว่าเจ้านครหนีไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่านอยู่ที่เมืองปัตตานี
เจ้าพระยาจักรีจึงมีศุกอักษรไปยังพระยาปัตตานี ขอให้ส่งตัวเจ้านครมาให้
พระยาปัตตานีเกรงกลัว จึงจับเจ้านครพร้อมสมัคพรรคพวกส่งมาให้ เจ้าพระยาจักรีนำกำลังมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองสงขลา
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดการเมืองสงขลาและพัทลุงเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จกลับมาเมืองนครศรีธรรมราช
มาถึงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 แต่เนื่อจากในห้วงเวลานั้นเป็นมรสุมแรงทะเลมีคลื่นใหญ่
และฝนตกชุกยังเดินทางไม่ได้ จึงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง
เดือน 4 ปีฉลู สิ้นมรสุมแล้วจึงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ผู้เป็นหลานเธอ
ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช แล้วให้เลิกทัพกลับพระนคร
ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง
ล่วงมาถึงปีขาล พ.ศ. 2313 มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า เมื่อเดือน
6 ปีขาล เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี
และเมืองชัยนาท
เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ
จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น ขณะนั้นพวกฮอลันดาจากเมืองยะกะตรา
(จาร์กาตา) ส่งปืนใหญ่มาถวาย และแขกเมืองตรังกานู
ก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย จำนวน 2,000 กระบอก พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี
ที่จะใช้ทำศึกต่อไปในครั้งนี้
พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนทัพเรือ ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์
แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฎหลักฐาน จัดกำลังเป็น
3 ทัพ ทัพที่ 1 พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปโดยขบวนเรือมีกำลังพล
12,000 คน ทัพที่ 2 พระยาอนุชิตราชา ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช
ถือพล 5,000 คน ยกไปทางบกข้างฟากตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ กองทัพที่
3 พระยาพิชัยราชา ถือพล 5,000 คน ยกไปทางข้างฟากตะวันตก
ฝ่ายเจ้าพระยาฝาง เมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกกำลังขึ้นไปดังกล่าว
จึงให้หลวงโกษา ยังคุมกำลังมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
กองทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก
เมื่อ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้เข้าปล้นเมืองในค่ำวันนั้น
ก็ได้เมืองพิษณุโลก หลวงโกษา ยัง หนีไปเมืองเมืองสวางคบุรี
พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพที่ยกไปทางบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้งสองทัพ
ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางลำบาก พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่ 9 วัน
กองทัพพระยายมราชจึงเดินทางไปถึง และต่อมาอีก 2 วัน กองทัพพระยาพิชัยจึงยกมาถึง
เมื่อกำลังพร้อมแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้กำลังทางบก รีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีไปยังสวางคบุรี
พร้อมกันทั้งสองทาง รับกำลังทางเรือให้คอยเวลาน้ำเหนือหลากลงมาก่อน
ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อไปลำน้ำแคบ
และตลิ่งสูง ถ้าข้าศึกยกกำลังมาดักทางเรือจะเสียเปรียบข้าศึก
ทรงคาดการณ์ว่าน้ำจะหลากลงมาในไม่ช้า และก็เป็นจริงตามนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรี
ก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปจากเมืองพิษณุโลก
กองทัพพระยายมราชกับพระยาพิชัยราชา เมื่อยกไปถึงเมืองสวางคบุรีแล้วก็ล้อมเมืองไว้
เจ้าพระฝางรักษาเมืองไว้ได้ 3 วัน ก็นำกำลังยกออกจากเมือง ตีฝ่าวงล้อมหนีขึ้นไปทางเหนือ
ชุมนุมเจ้าพระฝางก็ตกอยู่ในอำนาจกรุงธนบุรี
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด
พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น
ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง
พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง15,000 คน เมืองสวรรคโลก มี 7,000 คน
เมืองพิชัย รวมทั้งเมือง สวรรคบุรี มี 9,000 คน เมืองสุโขทัย มี 5,000
คน เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ
จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ
พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
พระยาพิชัยราชา ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก
พระยาสีหราชเดโชชัย ให้เป็นพระยาพิชัย
พระยาท้ายน้ำ ให้เป็นพระยาสุโขทัย
พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท ให้เป็นพระยากำแพงเพชร
พระยาอนุรักษ์ภูธร ให้เป็นพระยานครสวรรค์
เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก
พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย
เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จกลับกรุงธนบุรี