| หน้าแรก | หน้าต่อไป |

น้ำอภิเษก

loading picture

            ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย  มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การทรงรับน้ำอภิเษก เพื่อแสดงความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นทั้ง ๘  กล่าวคือ หลักการราชาภิเษกนั้น มีรดน้ำ แล้วเถลิงราชาอาสน์เป็นอันเสร็จพิธี  นอกนั้นเป็นพระราชพิธีส่วนประกอบ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย

loading picture


            การบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2328 นั้น  ได้ใช้เป็นแบบอย่างใน รัชกาลต่อ ๆ มา  โดยมีการปรับเปลี่ยนในบางรายการตามความเหมาะสมในแต่ละพระองค์
            การพระราชพิธีราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พุทธเจดีย์สถานสำคัญตามภูมิภาค 18 แห่ง  เพื่อส่งน้ำมาเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ดังนี้
จังหวัดสระบุรี ตั้งที่พระพุทธบาท
จังหวัดพิษณุโลก ตั้งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
จังหวัดสุโขทัย ตั้งที่วัดมหาธาตุ อำเภอสวรรคโลก
จังหวัดนครปฐม ตั้งที่พระปฐมเจดีย์
จังหวัดนครศรีรรมราช ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ
จังหวัดลำพูน ตั้งที่พระธาตุหริภุญชัย
จังหวัดนครพนม ตั้งที่พระธาตุพนม
จังหวัดน่าน ตั้งที่พระธาตุแช่แห้ง
จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพระลานชัย
จังหวัดเพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ
จังหวัดชัยนาท ตั้งที่วัดบรมธาตุ
จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร
จังหวัดนครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช
จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง
จังหวัดจันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ
จังหวัดปัตตานี ตั้งที่วัดตานีนรสโมสร
จังหวัดภูเก็ต ตั้งที่วัดพระทอง
            น้ำอภิเษกนั้น ข้าหลวงประจำจังหวัดได้ให้ราชบุรุษไปพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนั้น บรรจุภาชนะแล้วนำเข้าพิธีประกอบด้วยเครื่องสักการะบูชา
 

จังหวัดสระบุรี

loading picture

            น้ำอภิเษกจากจังหวัดสระบุรี มีอยู่ 2 แห่ง คือ น้ำสรงรอยพระพุทธบาท และน้ำท่าราบ
 

loading picture

พิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท
            เจ้าพนักงานเปิดพระมณฑป และตั้งเครื่องสักการะบูชารอยพระพุทธบาท ข้าหลวงประจำจังหวัด จุดธูปเทียนเครื่องสักการะบูชารอยพระพุทธบาท สรงน้ำรอยพระพุทธบาทเจือด้วยน้ำสุคนธ์ แล้วตักน้ำในรอยพระพุทธบาท เชิญลงในหม้อน้ำลายคราม นำมาต้มกรองใส่ในหม้อน้ำ ผูกผ้าขาวไปเข้าพิธีทำน้ำอภิเษก

            ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓ - ๒๒๗๑) พระภิกษุสงฆ์ไทยได้ทราบจาก พระสงฆ์ลังกาว่า รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ ๕ รอยนั้น  มีรอยหนึ่งอยู่บนเขาสุวรรณบรรพตในประเทศไทย พระภิกษุสงฆ์ไทย ได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงได้นำความมาทูลพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้มีตราสั่งหัวเมือง ให้เที่ยวตรวจค้นดูตามข้อมูลดังกล่าว  ครั้งนั้นผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีได้ทราบจากพรานบุญว่า ได้เคยพบรอยคล้ายรอยเท้าคนอยู่ในศิลาบนไหล่เขา ขนาดยาวศอกเศษมีน้ำขังอยู่ในรอยนั้น เมื่อนำน้ำมาลองทาตัว กลากเกลื้อนที่เป็นอยู่ก็หายไป ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีไปตรวจดูเห็นมีรอยอยู่จริง จึงบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตร แล้วทรงมีพระราชดำริว่า คงจะเป็นรอยพระพุทธบาทตามที่ทราบจากลังกาเป็นแน่แท้ จึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดีย์สถาน มีพระมณฑปสรวมรอยพระพุทธบาท และสังฆรามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล และทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาท ถวายเป็นพุทธบูชา ที่บริเวณที่ทรงพระราชอุทิศนั้นก็ได้นามว่า เมืองปะรันตะปะ เรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท และเกิดเทศกาลมหาชนขึ้นไปบูชาพระพุทธบาท กลางเดือน ๓ ครั้งหนึ่ง และกลางเดือน ๔ อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา
น้ำท่าราบ
         บ้านท่าราบ  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งเหนือ ตำบลบ้านตาล อำเภอเสาไห้ พื้นที่บริเวณนั้น ตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำ จนถึงหาดทรายในลำน้ำราบเรียบ จึงได้ชื่อว่าท่าราบ
            ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสลำน้ำป่าสักโดยขบวนเรือ เมื่อขบวนเรือที่เสด็จมาถึงหาดท่าราบ ได้เสด็จขึ้นเหยียบหาดทรายท่าราบ และเสด็จสรงน้ำที่หาดนี้เนื่องจาก พื้นน้ำตรงท่าราบเป็น "วัง" น้ำนิ่งและลึก จึงใสเย็นกว่าที่อื่น นับแต่นั้นมาได้ถือว่าน้ำท่าราบเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นน้ำอภิเษกฝ่ายภูมิภาคในรัชกาลต่อมา
 

จังหวัดพิษณุโลก
loading picture

            น้ำอภิเษกจากจังหวัดพิษณุโลกมีอยู่ ๓ แห่งคือ  น้ำทะเลแก้ว  น้ำสระแก้ว และน้ำสระสองห้อง
            สถานที่ประกอบน้ำอภิเษก คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
น้ำทะเลแก้ว
          ทะเลแก้ว  อยู่ในตำบลบ้านกร่าง และตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก มีขนาดกว้างประมาณ ๓ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๔ กิโลเมตร เดิมน้ำลึกประมาณ ๖ เมตร มีทางน้ำติดต่อกับคลองบางแก้ว ซึ่งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำยมในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก บริเวณโดยรอบทะเลแก้วเป็นป่าหญ้า ป่าพง ป่าอ้อ ป่าละเมาะและป่าโปรง มีนาอยู่บ้างตามขอบ ปัจจุบันน้ำตื้นเขินจนกลายเป็นที่ทำนาไปโดยมาก  มีวัดร้างอยู่หลายวัดทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศเหนือ  มีเรื่องเล่าสืบมาว่า เคยมีผู้พบเรือสำเภา จมอยู่กลางทะเลนี้โดยมีทรากเสากระโดงเรือปรากฎให้เห็น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แต่ก่อนนี้ทะเลแก้วนี้ เคยกว้างใหญ่และลึกมาก จนถึงกับมีเรือขนาดใหญ่ของชาวจีนเข้าไปค้าขาย ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือ อาจเป็นเรือของเจ้านายครั้งก่อนมีไว้ประจำสำหรับเสด็จประพาสในทะเลแก้ว มีเรื่องเล่ามาว่า มีสุกรตัวหนึ่งคาบแก้วดวงหนึ่งจากทะเลแก้วมาวางไว้ในที่สามแห่ง และในที่สุดไปวางไว้ที่สระแห่งหนึ่ง สระนั้นจึงได้ชื่อว่าสระแก้ว และจุดที่วางแก้ว ๓ แห่ง ก็มีวัดร้างชื่อแก้วอยู่ทั้งสามแห่งจนถึงปัจจุบัน
น้ำสระแก้ว
          สระแก้ว  เป็นสระใหญ่ อยู่นอกเมืองพิษณุโลกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาล พระพุทธชินราชปัจจุบัน และทางรถไฟสายเหนือใต้ตัดผ่านตอนกลางของสระนี้ แต่เดิมสระนี้มีน้ำขังอยู่เสมอ มีทางไขน้ำเข้าออกจากแม่น้ำน่าน และมีเกาะกลางสระเหลืออยู่ พอเห็นเค้ามูลได้บ้าง แต่เมื่อสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านสระนี้แล้ว สระนี้ก็ตื้นเขิน กลายเป็นที่ทำนาได้ในบัดนี้ แต่โบราณมีตำหนักเป็นที่ประทับประพาสของเจ้านายที่ครองเมืองพิษณุโลก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็เคยเสด็จประพาสเกาะนี้ กล่าวกันว่า เป็นที่ทำพิธีสรงสนานของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีชัยชนะข้าศึกในครั้งโบราณ ทางราชการได้พลีกรรมเอาน้ำในสระแก้วนี้ไปทำน้ำอภิเษกภูมิภาค เพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกมาทุกรัชกาล แต่ปัจจุบันสระนี้ตื้นเขินสกปรก จึงงดใช้น้ำจากสระแก้วนี้
น้ำสระสองห้อง

          สระสองห้อง  ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระราชวังจันทร์เกษม ซึ่งอยู่ริมลำน้ำน่านทางฝั่งตะวันตก เหนือศาลากลางจังหวัดขึ้นไปประมาณ ๘ เส้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม สระแห่งนี้เป็นสระขนาดเขื่อง มีถนนเป็นคันคั่นอยู่ระหว่างกลาง จึงได้ชื่อว่าสระสองห้อง ปัจจุบันตื้นเขิน และน้ำแห้งจะมีน้ำขังอยู่ก็ต่อเมื่อมีฝนตกใหญ่ เดิมใช้เป็นที่ทรงพระสำราญ และทางราชการได้เคยทำ พลีกรรมเอาน้ำในสระนี้มาทำน้ำอภิเษกส่วนภูมิภาค มาแล้วแทบทุกรัชกาล แต่ปัจจุบันน้ำในสระแห้ง บริเวณสระเป็นป่าพงรกร้าง และสกปรก จึงไม่ได้ใช้น้ำในสระแห่งนี้
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

            วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช อันเป็นพระพุทธรูปโบราณที่งดงามและสำคัญที่สุด วัดนี้เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงสร้างพร้อมกับสร้างเมืองพิษณุโลก และได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ โดยช่างเมืองสวรรคโลก เมืองหริภุญชัย และเมืองเชียงแสน ร่วมกันสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๘  โดยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ แต่หล่อได้เพียงสององค์คือพระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา  ต้องมีชีปะขาวผู้หนึ่งมาช่วยหล่อ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๐๐  จึงหล่อสำเร็จ วัดนี้นิยมเรียกกันว่า วัดใหญ่ หรือวัดหลวงพ่อ  การที่ได้ชื่อว่าวัดพระศรีมหาธาตุ นั้นเนื่องจากมีพระมหาธาตุรูป พระปรางค์อยู่กลางวัด วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกมาแต่กาลก่อน


| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน |