ย้อนกลับ หน้าต่อไป
 

คัมภีร์กาลโยค


            การหาว่าในปีใด จะมีวันใดเป็นวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาสน์ มีการคำนวณตามคัมภีร์กาลโยคดังนี้
            ธงชัย  ถ้าต้องการรู้ว่าในแต่ละปี ราศีใด วันใด ยามใด ดิถีใด และฤกษ์ใด จะเป็นธงชัย ให้ตั้งจุลศักราชของปีนั้นลง เอา ๑๐ คูณ เอา ๓ บวก ได้ผลลัพธ์เท่าใดเป็นเกณฑ์ตราไว้ แล้วตั้งเกณฑ์ดังกล่าวลงเป็น ๕ ฐาน เอาเลข ๕ จำนวนได้แก่ ๗, ๘, ๑๒, ๓๐, และ ๒๗ หารเกณฑ์จำนวนละฐาน เหลือเศษเท่าใด จะเป็นผลดังนี้
                ๗     หารเกณฑ์     เศษเป็นวันธงชัย
                ๘     หารเกณฑ์     เศษเป็นยามธงชัย
                ๑๒  หารเกณฑ์     เศษเป็นราศี ธงชัย
                ๓๐  หารเกณฑ์      เศษเป็นดิถี ธงชัย
                ๒๗  หารเกณฑ์     เศษเป็น ฤกษ์ ธงชัย
            อธิบดี  ให้ตั้งจุลศักราชของปีนั้นลง เอา ๔๙๘ หาร ได้เศษเท่าใดเป็นเกณฑ์ตราไว้ แล้วตั้งเกณฑ์ เป็น ๕ ฐาน เอาเลข ๕ จำนวนหารเกณฑ์จำนวนละฐาน เหลือเศษเท่าใด จะได้ผลดังนี้
                ๗     หารเกณฑ์     เศษเป็นวันอธิบดี
                ๘     หารเกณฑ์     เศษเป็นยามอธิบดี
                ๑๒  หารเกณฑ์     เศษเป็นราศีอธิบดี
                ๓๐  หารเกณฑ์      เศษเป็นฤกษ์อธิบดี
            อุบาทว์  ให้ตั้งจุลศักราชปีนั้นลง เอา ๑๐ คูณ เอา ๒ บวก ได้ผลลัพธ์เท่าใดเป็นเกณฑ์ตราไว้ แล้วตั้งเกณฑ์เป็น ๕ ฐาน เอาเลข ๕ จำนวน หารเกณฑ์จำนวนละฐาน เหลือเศษเท่าใด จะได้ผลดังนี้
                ๗    หารเกณฑ์   เศษเป็นวันอุบาทว์
                ๘    หารเกณฑ์   เศษเป็นยามอุบาทว์
                ๑๒ หารเกณฑ์   เศษเป็นราศีอุบาทว์
                ๓๐  หารเกณฑ์   เศษเป็นดิถีอุบาทว์
                ๒๗ หารเกณฑ์   เศษเป็นฤกษ์อุบาทว์
            โลกาวินาสน์  ให้ตั้งจุลศักราชปีนั้นลง เอา ๑๑๒๐ บวก ได้ผลลัพธ์เท่าใด เป็นเกณฑ์ตราไว้ แล้วตั้งเกณฑ์เป็น ๕ ฐาน เอาเลข ๕ จำนวน หารเกณฑ์จำนวนละฐาน เหลือเศษเท่าใด จะได้ผลดังนี้
                ๗   หารเกณฑ์   เศษเป็นวันโลกาวินาสน์
                ๘   หารเกณฑ์   เศษเป็นวันยามโลกาวินาสน์
                ๑๒ หารเกณฑ์   เศษเป็นวันราศีโลกาวินาสน์
                ๓๐ หารเกณฑ์   เศษเป็นวันดิถีโลกาวินาสน์
                ๒๗ หารเกณฑ์  เศษเป็นวันฤกษ์โลกาวินาสน์
            ในทุกกรณีที่กล่าวมาแล้วถ้าหารได้เศษ ๐ ให้นับเศษเท่ากับจำนวนที่ใช้หารนั้น ๆ
ลัคนา และดวงชาตา
            ลัคนาคือความหมุนของโลกในระยะ ๑ วัน กำหนดด้วยวิถีของโลกโคจรตามคติในรอบ ๑ ปี เมื่อเราได้คำนวณสมผุสแล้วว่าพระอาทิตย์อยู่ในราศีใด มีมุมเป็นองศา ลิบดาเท่าใดก็จะรู้ได้ว่าลัคนาเกาะอยู่ที่ใด คือเกาะอยู่ในนวางค์ ตรียางค์ใดของราศีใด ตามคติเวลาของอันโตนาที
            เส้นทางที่เป็นลัคนากำหนดไว้ว่า เวลาย่ำรุ่งเส้นนี้อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เสมอ และในราศีที่เห็นดวงอาทิตย์อยู่นั้น ระยะทางที่เห็นว่าดวงอาทิตย์ผ่านไปแล้วกี่องศา กี่ลิบดา เรียกว่า อดีต อาทิตย์อุทัย และอีกกี่องศา และลิบดาที่ดวงอาทิตย์จะต้องผ่านไปจนตลอดราศีนั้นเรียกว่า อนาคตอุทัย การที่ลัคนาเกาะอยู่ในเวลาย่ำรุ่งคือเส้นที่แบ่งเขตอดีต และอนาคตอุทัย ถ้าลากเส้นนี้ผ่านดวงอาทิตย์ออกเป็นสองซีก ให้ตรงไปยังดาวราศีที่เห็นข้างหลังดวงอาทิตย์  แล้วต่อเส้นตรงนี้มายังโลก เส้นตรงนี้จะผ่าโลกออกเป็นสองซีกตลอดขั้วโลกเหนือและใต้ เส้นตรงนี้เรียกว่าลัคนาที่เกาะอยู่ในโลกเมื่อเวลาย่ำรุ่ง ซึ่งก็คือเส้นเมอริเดียนของโลก ที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาย่ำรุ่ง เมื่อที่หมาย ณ ที่นั้นเคลื่อนไปจากที่ตรงกับดวงอาทิตย์ อันเนื่องด้วยการหมุนของโลก เรียกว่าลัคนาจรไป เมื่อจรไปบรรจบครบรอบที่เดิมก็เป็นห้วงเวลาหนึ่งวันพอดี ดังนั้นลัคนาจรก็คือเส้นเมอริเดียนจร เมื่อจรไประยะ ๑๒ ราศี ใน ๒๔ ชั่วโมง ราศีหนึ่งก็จะตก ๒ ชั่วโมงพอดี
            ตามคติโบราณได้นำความรู้อันเป็นเกณฑ์คำนวณมาจากการวัดเงาแดด โดยกำหนดว่า เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึงลาดทางที่สูงสุดทางฝ่ายเหนือ เงาแดดตรงหลักในที่นั้นเมื่อเวลาเที่ยงวันจะไม่มีหรือเป็นศูนย์ เวลานั้นเรียกว่า อายันตรสงกรานต์เหนือ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะต้องถอยกลับมาทางฝ่ายใต้ ลาดทางที่ถอยนี้ ทางภูมิศาสตร์เรียกว่าเส้นทรอปิคออฟ แคนเซอร์ ซึ่งเป็นเส้นที่แบ่งฤดูกาลหนาวร้อนเจือกัน เป็นฝ่ายเหนือ และฤดูร้อนเป็นฝ่ายใต้ สำหรับซีกโลกเหนือ
            ถ้าจะพูดถึงปรากฏการณ์ในท้องฟ้า ดวงอาทิตย์โคจรถึงราศีกรกฏ คือ ดาวปู หรือปุษยฤกษ์ แล้วถอยจากฤกษ์นี้ลงทางใต้ ซึ่งจะตกในวันที่  ๒๒ มิถุนายน เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมถุนได้ประมาณ ๑๐ วัน ตามปฏิทินโหรไทย เมื่อดวงอาทิตย์ถอยจากเหนือแล้ว เงาของหลักก็จะค่อย ๆ ยาวออกไปทางทิศเหนือเมื่อเวลาเที่ยงวัน วันละน้อย ๆ จนยาวได้ประมาณเท่าความยาว ๑๕ เม็ดข้าวเปลือก เรียกว่า ๑๕ พืช หรือ ๑๕ เพ็ชนาที หรือเท่ากับ ๑ รอยเท้า เรียกว่าบาท เมื่อเงาของดวงอาทิตย์ยาวออกไปได้ ๑ บาท แสดงว่าดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑ ราศี  เงายาวออกไปได้ ๖ รอยเท้าเป็นเวลา ๖ เดือน จากนั้นก็เริ่มหดสั้นจนเป็นศูนย์อีก เป็นเวลา ๖ เดือน รวม ๑ รอบ  เท่ากับ ๑ ปี เป็นระยะทาง ๑๒ รอยเท้า เท่ากับดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑๒ ราศี
            เวลาเงาที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งยาวขึ้น และสั้นเข้าได้ ๑ รอยเท้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยกว่ากันไม่ได้ลงตัวอยู่ที่ ๓๐ วันเสมอไป
            เมื่อย่อระยะทางในเวลา ๑ ปี มาคิดเป็นระยะทางในเวลา ๑ วัน โลกหมุนรอบตัวเอง ๑ วัน พร้อมกับโคจรเคลื่อนที่ไปประมาณ ๑ องศา การแนวทางโคจรจึงเป็นวงรี ดังนั้นจึงนำเอา ๖๐ มหานาที ซึ่งเป็นเกณฑ์ ๑ วันในครั้งกระนั้นมาคิดเฉลี่ย ได้เวลาในราศีมีนกับราศีเมษ ราศีละ ๕ มหานาที ราศีพฤกษภ กับราศีกุมภ์ ราศีละ ๔ มหานาที ราศีเมถุนกับราศีมังกร ราศีละ ๓ มหานาที ราศีกรกฏกับราศีธนู ราศีละ ๕ มหานาที ราศีสิงห์กับราศี พฤศจิก ราศีละ ๖ มหานาที ราศีกันย์และราศีตุลย ราศีละ ๗ มหานาที เกณฑ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า อันโตนาที
            การวางลัคนาให้คิดเวลาเกิดตั้งแต่อนาคตอาทิตย์อุทัยไปจนถึงเวลาที่เกิด แล้วเอาเวลาอนาคตอาทิตย์อุทัยลบออกเสียก่อน จากนั้นเอาเวลาตามอันโตนาทีในราศีข้างหน้าลบต่อไปโดยลำดับ เมื่อลบไม่ได้ในราศีใด ลัคนาก็จะตกอยู่ในราศีนั้น
            ถ้าอธิบายตามความหมายบนพื้นโลกแล้ว เส้นเมอริเดียนที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาอาทิตย์อุทัยนั้น เมื่อเคลื่อนที่ผ่านลาดทางของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า อีคลิปติค อยู่ในเวลาอันโตนาทีของราศีใด ลัคนาก็จะอยู่ในราศีนั้น ดาวพระเคราะห์ดวงใดที่เห็นอยู่ตรงราศีใด ณ เวลาตกฟาก ก็จะเป็นที่อยู่ของดาวพระเคราะห์ดวงนั้นในดวงชาตาไปตลอดชีวิต
            การกระทำกิจการใด ๆ ก็ดี จะถือเอาเวลาเริ่มต้นของกิจการนั้นเป็นลัคนาของกิจการนั้น ๆ และมีความสัมพันธ์กับดวงชาตากำเนิดของผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ถ้าดวงชาตากำเนิดให้ร้ายแต่ดวงชาตาการงาน หรือดวงชาตาการงานให้ร้ายแก่ดวงชาตากำเนิด ก็จะเกิดความผลเสียแก่กิจการนั้น ๆ และผู้ทำกิจการนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงให้วางดวงชาตากำเนิดไว้เป็นหลักของดวงกิจการก่อน เมื่อการโคจรของดาวพระเคราะห์มาเป็นผลดีต่อดวงชาตากำเนิดแล้ว ก็จะจัดวางลัคนาของกิจการนั้น ๆ ให้เป็นโยคแก่ชาตาเดิม
อันโตนาที


            เมื่อคิดเอาระยะการโคจรของดวงอาทิตย์โคจรรอบจักรราศีเป็นเวลา ๑ ปี มาเทียบส่วนกับเวลา ซึ่งถ้าอาทิตย์โคจรในวันเดียวครบรอบจักรราศีแล้ว จะได้เวลาออกมาเท่านั้น ๆ นาฑิกา จำนวนนาฑิกาที่เทียบส่วนโคจรของดวงอาทิตย์ ในราศีหนึ่ง ๆ เรียกว่า อันโตนาที เป็นเกณฑ์ที่ต้องใช้มากที่สุดในเรื่องโหราศาสตร์ นาฑิกาหนึ่งเท่ากับ ๒๔ นาที ดังนั้นเมื่อเอา ๒๔ คูณนาฑิกา จึงได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนนาที
การวางลัคนาผูกดวงชาตากำเนิด
            ดวงชาตากำเนิด หมายถึงแผนที่ของดาวนพเคราะห์ ซึ่งสถิตอยู่ตามจักรราศีในขณะที่เจ้าชาตาเกิดเรียกว่า เวลาตกฟาก เวลาตกฟากนี้เป็นหัวใจของการผูกดวงชาตากำเนิด เป็นตัวตั้งในการสมผุสดาวพระเคราะห์ทุกดวง และตัวลัคนาเอง เวลาตกฟากยังเป็นจุดกำเนิดของลัคนา ซึ่งเป็นประธานของดวงชาตากำเนิด ดังนั้นเวลาตกฟาก จะต้องเป็นเวลาที่ถูกต้องตรงตามตำบลที่แท้จริงด้วย เวลาที่ใช้มีอยู่สามประการด้วยกันคือ
            เวลาสมมุติของตำบลที่  เป็นเวลาตามนาฬิกา ซึ่งอาจไม่ตรงตามเวลาของตำบลที่เป็นเวลาที่ใช้ในเขตพื้นที่กว้าง ๆ จะได้สดวกแก่การใช้ สำหรับประเทศไทยใช้เวลา ๗ ชั่วโมง ในเส้นแวง ๑๐๕ องศาตะวันออกจากเมืองกรีนิชของอังกฤษ ซึ่ง ณ จุดนี้จะตรงกับเมืองไซ่ง่อนของเวียดนาม แต่ความจริงเวลาของประเทศไทยเราถือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ที่กรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศ ถ้าเทียบกับเวลาที่เมืองกรีนิช จะต่างกันเป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๙ วินาที ในเส้นแวง ๑๐๐ องศา
๒๙ ลิบดา ๒๘.๕ พิลิบดาตะวันออก ซึ่งเร็วกว่าเวลาจริงอยู่ ๑๘ นาที ๒.๑ วินาที
            เวลาจริงของตำบลที่  จะต้องมีตัวแก้ไปทุกท้องที่ ตามเส้นแวงของตำบลนั้น ๆ โดยเอาค่าของเส้นแวงมาคำนวณเป็นเวลา แล้วไปเปรียบเทียบกับเวลาที่ไซ่ง่อนคือ ๗ ชั่วโมงต่างจากเวลาที่กรีนิช
            เวลาจริงของดวงอาทิตย์  เวลาจริงของตำบลที่ก็ยังเป็นเวลาสมมุติอยู่คือ สมมุติว่าดวงอาทิตย์เดินตรงคงที่อยู่ที่เส้นศูนย์สูตร  แต่ความจริงดวงอาทิตย์มิได้อยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนเส้นทางไปตามฤดูกาล (การคำนวณเราสมมติว่า ดวงอาทิตย์เดินโลกอยู่กับที่ หรือจะให้โลกเดินดวงอาทิตย์อยู่กับที่ก็เหมือนกัน) ทางดาราศาสตร์เรียก
เดคลิเนชั่นเหนือ และเดคลิเนชั่นใต้  ทางโหราศาสตร์เรียกว่าดวงอาทิตย์ซัดเหนือ หรือซัดใต้ เมื่อดวงอาทิตย์ซัดเหนือ จะมีเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน และเมื่อดวงอาทิตย์ซัดใต้ จะมีเวลากลางวันน้อยกว่าเวลากลางคืน ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ซัดเหนือมากที่สุด คือ อยู่ที่เส้นรุ้ง ๒๓ องศาเหนือ กลางวันจะยาวที่สุด และกลางคืนจะสั้นที่สุดสำหรับประเทศไทย และพื้นที่ที่อยู่ในซีกโลกเหนือ จากนั้นก็จะเริ่มโคจรลงทางใต้จนถึง วันที่ ๒๒ ธันวาคม ดวงอาทิตย์จะซัดใต้มากที่สุดคือ อยู่ที่เส้นรุ้ง ๒๓ องศาใต้ กลางวันจะสั้นที่สุด และกลางคืนจะยาวที่สุด สำหรับประเทศไทย และพื้นที่ในซีกโลกเหนือ
            ฉะนั้นเมื่อต้องการเวลาจริง จึงต้องคำนวณหาสมผุสดวงอาทิตย์ก่อนแล้วจึงคำนวณหามุมเวลา คือเวลาจริงของดวงอาทิตย์อีกชั้นหนึ่ง มุมเวลาคือมุมระหว่างจุดอาทิตย์อุทัย ถึงจุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในเวลาตกฟากของเจ้าของชาตา
            ดังนั้นการที่จะวางลัคนาได้ถูกต้อง จะต้องมีข้อมูลสามประการคือ ต้องรู้ตำบลที่เจ้าชาตาเกิด ต้องรู้เวลาจริงของตำบลนั้น ๆ และต้องรู้สมผุสดวงอาทิตย์ในเวลาเกิดของเจ้าของชาตา
มาตรฐานดาวเคราะห์


            เกษตร คือ ดาวที่ครองราศีต่าง ๆ ทั้ง ๑๒ ราศี โดยกำหนดอาทิตย์เป็นเกษตร์ในราศีสิงห์ และจันทร์เป็นเกษตรในราศีกรกฏ จากนั้นก็จัดดาวเข้าครองเป็นเกษตรโดยกำหนดตามระยะที่ดาวนั้นอยู่ใกล้ไกลโลก เรียงไปตามลำดับคือ พุธ  ศุกร์  อังคาร  พฤหัสบดี และเสาร์ โดยจัดให้พุธครองราศีกันย์ ศุกร์ครองราศีตุลย์ อังคารครองราศีพิจิก พฤหัสบดีครองราศีธนู และเสาร์ครองราศีมังกร จากนั้นก็เรียงถอยหลังต่อไปจนถึงราศีกรกฏคือ เสาร์อยู่กุมย์ พฤหัสบดีอยู่มิน อังคารอยู่เมษ ศุกร์อยู่พฤกษภ และพุธอยู่เมถุน อาทิตย์ และจันทร์เป็นเกษตรครองเรือนประจำดวงละราศี พระเคราะห์นอกนั้นเป็นเกษตรครองเรือนประจำดวงละ ๒ ราศี เว้นแต่ราหูและเกตุ ไม่ได้เป็นเกษตรครองเรือนใด แต่อาศัยให้ราหูครองราศีกุมภ์ร่วมกับเสาร์
            ในจักรราศีแบ่งออกเป็นสองซีก คือ ระหว่างราศีกรกฏ กับราศีสิงห์ และระหว่างราศีมังกร กับราศีกุมภ์
            ดวงชาตาใดที่มีดาวพระเคราะห์อยู่ในตำแหน่งเกษตร ถือว่าเป็นดวงชาตาดี มั่นคงมีหลักฐาน มีความประพฤติดี มีคำทำนายผลของดาวพระเคราะห์เป็นเกษตรดังนี้
            อาทิตย์ เป็นเกษตรจะชนะศัตรู มีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐานมีรูปโฉมงาม
            จันทร์เป็นเกษตร จะเป็นที่รักใคร่ของขุนนาง ท้าวพระยา คนทั้งหลายจะนับถือบูชา มีทรัพย์สิน และลาภมาก
            อังคารเป็นเกษตร มีวิชาความรู้มาก จะได้เป็นขุนนางมีชื่อเสียงโด่งดัง และจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน
            พุธเป็นเกษตร จะได้เป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดิน บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน อุดมกว่าญาติ
            พฤหัสบดีเป็นเกษตร จะได้เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีลาภมีทรัพย์อุดมกว่าคนทั้งหลาย ประพฤติตัวตั้งมั่นอยู่ด้วยคุณงามความดี
            ศุกร์เป็นเกษตร มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค มีลักษณะดี เจรจาบัณฑูรดูงามในท่ามกลางบริษัท เป็นสง่าแก่คนทั้งหลาย
            เสาร์ราหู เป็นเกษตร มีข้าหญิงชายและทรัพย์มาก จะได้ลาภเป็นอันดี เพราะศักดิ์กล้าหาญ แต่เป็นคนตระหนี่ทรัพย์ ไม่ทำบุญสุนทาน และจะมีผมบาง
            ถ้าผู้ใดมีเกษตร ๑ ตัว จะมีข้าทาษชายหญิง มีเกษตร ๒ ตัว จะมีทรัพย์เงินทองเจ้าของ ข้าวเปลือก ข้าวสารมาก มีเกษตร ๓ ตัว จะมีวัวควายช้างม้าข้าคนมาก มีเกษตร ๔ ตัว จะมีภรรยามาก มีเกษตร ๕ ตัว จะเป็นนักปราชญ์โหราธิบดีผู้ใหญ่ มีเกษตร ๖ ตัว จะเป็นพระอรหันต์ มีเกษตร๗ ตัว จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มีเกษตร ๘ ตัว จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับดาวพระเคราะห์ที่จะได้ตำแหน่งเกษตรครบทั้ง ๘ ตัวนี้เป็นไปได้จากตำรับ ขับพระเคราะห์เข้าเกษตร
            ปรเกษตร  คือ ดาวพระเคราะห์ที่เป็นข้าศึกตรงข้ามกับเกษตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ประ จะอยู่ในราศีตรงข้ามกับเกษตร ถือว่าไม่ดี มีกำลังอ่อนให้ผลตรงข้ามกับเกษตร ขาดความสามารถ ไม่เอาการเอางาน อาภัพ เช่น อังคาร อยู่ในราศีเมษเป็นเกษตร เปลี่ยนมาอยู่ราศีตรงข้ามคือราศีตุลย์ เป็นประมีคำทำนายผลของดาวพระเคราะห์ที่เป็นประจำดังนี้
                อาทิตย์เป็นประ         ดีชั่วปนกันมักอาภัพ
                จันทร์เป็นประ          รูปไม่งาม
                อังคารเป็นประ          อาภัพพี่น้องและมิตร
                พุธเป็นประ                อาภัพบุตรภรรยา ถึงมีก็หาดีไม่ได้
                พฤหัสบดีเป็นประ    อาภัพครูบาอาจารย์
                ศุกร์เป็นประ               หูตามักพิการ
                เสาร์เป็นประ              ใจบาปหยาบช้า กล้าหาญ
                ราหูเป็นประ                นัยตาจะเอียง เป็นคนหยาบช้ากล้าแข็ง
            เมื่อพิจารณาการจัดดาวพระเคราะห์เป็นเกษตรประจำทั้ง ๑๒ ราศี จะเห็นว่าเมื่อเอาตัวเลขประจำดาวพระเคราะห์ทั้งสองดวงมารวมกันแล้วจะได้จำนวน ๙ เช่น พฤหัสบดี (๕) เกษตรราศีธนู อยู่ตรงข้ามกับพุธ (๔) เกษตรในราศีเมถุน ดังนั้นถ้าดาวพระเคราะห์ทั้งสองอยู่สับเรือนกัน เมื่อรวมตัวเลขแล้วก็ยังคงได้จำนวน ๙ เท่าเดิม จึงอนุโลมให้พระเคราะห์สับเรือนเป็นเกษตรได้ด้วย อีกประการหนึ่งพระเคราะห์ที่แลกเรือนกันแล้วเป็นเกษตร เช่น อังคารเป็นเกษตรในราศีเมษ แต่ไปอยู่ราศีพฤกษภ ศุกร์เป็นเกษตรในราศีพฤกษภไปอยู่ราศีเมษ ก็ให้นับว่าดาวพระเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ได้รับตำแหน่งเกษตรด้วย
อุจจ์และนิจ


                อุจจ์  มีความหมายว่าสูง ดังนั้นดวงชาตาใดมีดาวพระเคราะห์ที่สถิตในราศีอันเป็นตำแหน่งอุจจ์ของดวงดาวนั้น จัดว่าดวงชาตานั้นประเสริฐยิ่ง ให้คุณมากกว่าดาวพระเคราะห์ที่เป็นเกษตร และให้คุณผาดโผนกว่าปกติธรรมดา มีคำทำนายดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่งอุจจ์ไว้ดังนี้
                อาทิตย์ เป็นอุจจ์ มีสมบัติมาก มีปัญญาอุดมกว่าญาติทั้งปวง มีความสุขมาก
                จันทร์ เป็นอุจจ์ มีความสุขมีหิรัญสุวรรณสารเป็นอันมาก จะไปในที่ใด ย่อมมีสง่างามในท่ามกลางบริษัทชนทั้งหลายจะบูชา จะได้เป็นเสนาบดีมีชื่อเสียง
                อังคาร เป็นอุจจ์ มีโภคสมบัติ และบริวาร ช้าง ม้า โค กระบือมาก  จะมีบุตรยากมาก จะไปในทิศทางต่าง ๆ ย่อมมีลาภทุกเมื่อ
                พุธ เป็นอุจจ์ มีความเจริญด้วยความสุข ได้ทรัพย์สินเงินทอง แก้วแหวน และชนะข้าศึกทั้งปวง
                พฤหัสบดี เป็นอุจจ์ มีทรัพย์มียวดยานพาหนะ ช้าง ม้า และธัญญาหารมาก มีปัญญาแกล้วกล้ายิ่งนัก
                ศุกร์ เป็นอุจจ์ ได้เป็นอำมาตย์ มีรูปอันงามอุดม เป็นที่รักแก่มหาชนทั่วไป
                เสาร์ เป็นอุจจ์ มีปัญญามีพลพาหนะ และความเพียรมาก แต่จะดุร้ายไม่ละอายบาป จะมีโรคน้อย ทุกข์โทษภัยไม่มี
                ราหู เป็นอุจจ์ มีโภคทรัพย์ มีความโกรธน้อย มีจิตเป็นกุศลมาก จะไปในที่ใด ๆ ย่อมไปด้วยยานพาหนะ มีช้าง ม้าต่าง ๆ ทุกข์โทษภัยไม่มี
                ดวงชาตาใดมีอุจจ์หลายตัว ท่านว่าเป็นคนเข้มแข็ง ใจคอแข็งแกร่งไม่ยอมลงใครง่าย ๆ ไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตรายต่าง ๆ มุ่งแต่ความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ ท่านสรรเสริญว่าดวงชาตาที่มีพระเคราะห์ ได้ตำแหน่งอุจจ์ว่าเป็นดวงดี  มีความสมบุรณ์พูนสุขกว่าตระกูล มีคำทำนายดวงชาตาที่ได้ตำแหน่งอุจจ์หลายตัวไว้ดังนี้
                ดวงชาตาใดได้อุจจ์ ๑ ตัว จะตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิประพฤติการกุศล ได้อุจจ์ ๒ ตัว จะเป็นปราชญ์ รู้อรรถธรรมมาก ได้อุจจ์ ๓ ตัว จะได้เป็นอำมาตย์ ได้อุจจ์ ๔ ตัว จะได้เป็นกษัตริย์ ได้อุจจ์ ๕ ตัว จะได้เป็นจักรพรรดิราช ได้อุจจ์ ๖ ตัว จะได้เป็นพระอรหันต์ ได้อุจจ์ ๗ ตัว จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้อุจจ์ ๘ ตัว จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับดาวพระเคราะห์ที่จะได้ตำแหน่งอุจจ์ทั้ง ๘ ตัวนั้น จะเป็นได้ก็แต่ในตำราขับพระเคราะห์เข้าอุจจ์ โดยธรรมดาแล้วจะเป็นไปไม่ได้
                นิจ  แปลว่าต่ำ ดาวพระเคราะห์ที่เป็นนิจจะส่งผลกดดวงชาตาให้ต่ำลง ไม่มีกำลังให้คุณแก่ดวงชาตา ทำให้ถอยวาสนา เป็นคนอาภัพ ดาวพระเคราะห์ที่อยู่ในราศีเปลี่ยนเรือนกับอุจจ์ จัดเป็นดาวพระเคราะห์คู่ศัตรู เรียกว่านิจ ส่งผลให้ดุจดังปรเกษตรเป็นศัตรูกับเกษตร เช่นอาทิตย์อยู่เมษ และเสาร์อยู่ตุลย์ จัดว่าเป็นอุจจ์ แต่ถ้าเสาร์มาอยู่เมษ อาทิตย์มาอยู่ตุลย์ จัดว่าเป็นนิจ มีคำทำนายดาวพระเคราะห์ที่เป็นนิจ ดังนี้
                อาทิตย์เป็นนิจในราศีตุลย์ จะเป็นทาสแก่ตนเอง มีญาติมิตรล้วนแต่เป็นคนชั้นต่ำ มีศัตรูเบียดเบียนมาก
                จันทร์เป็นนิจในราศีพิจิก (ตั้งแต่ ๑ - ๓ องศา) จะมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนมาก มีทรัพย์ก็มักฉิบหาย
                อังคารเป็นนิจในราศีกรกฏ หาทรัพย์มิได้ จะเป็นทาษผู้อื่น
                พุธเป็นนิจในราศีมิน (ตั้งแต่ ๑-๑๕ องศา) จะมีญาติมักเป็นทาษเขา
                พฤหัสบดีเป็นนิจในราศีมังกร เจรจามักผิด ทำให้เกิดโทษเพราะวาจา
                ศุกร์เป็นนิจในราศีกันย์ มีบุตรมักตาย หาพืชพันธุ์มิได้
                เสาร์เป็นนิจในราศีเมษ จะเป็นคนทุศีลหาญาติมิได้
                ราหูเป็นนิจในพฤกษภ จะต้องพันธการจองจำ
    อุจจาวิลาสและอุจจาภิมุข


                ดาวพระเคราะห์ที่เป็นอุจจาวิลาส คือดาวพระเคราะห์ที่เป็นวินาสน์  คือเป็น ๑๒ กับ ตำแหน่งอุจจ์ของตนเอง เช่นอาทิตย์อยู่ราศีเมษเป็นอุจจ์ เมื่ออาทิตย์อยู่ราศีมีน จะเป็นอุจจาวิลาส ดาวพระเคราะห์ที่โคจรเข้าใกล้เรือนอุจจ์ของตน จัดว่าเป็นดาวพระเคราะห์ที่มีกำลังมาก ส่งผลคุณทางดีให้มีคำทำนายดาวพระเคราะห์ ที่เป็นอุจจาวิลาส ดังนี้
                อาทิตย์เป็นอุจจาวิลาส        จะเป็นอำมาตย์ ชอบทำราชการ จะเป็นผู้รอบรู้ในราชกิจ
                จันทร์เป็นอุจจาวิลาส          จะเป็นคนมีเสน่ห์ มีปัญญา และมีทรัพย์ จะได้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย
                อังคารเป็นอุจจาวิลาส         ชอบเป็นทหาร จะชนะศัตรู
                พุธเป็นอุจจาวิลาส               มีเดชมาก มีปัญญาเป็นอาวุธ และจะเป็นที่ชอบใจแก่ญาติทั้งหลาย
                พฤหัสบดีเป็นอุจจาวิลาส    จะได้เป็นครูแห่งท้าวพระยา จะได้เป็นขุนนาง อุดมกว่าญาติทั้งหลาย
                ศุกร์เป็นอุจจาวิลาส               จะเป็นพ่อค้ามีทรัพย์มาก ถ้าทำราชการจะได้เป็นปุโรหิต
                เสาร์เป็นอุจจาวิลาส              จะได้เป็นเศรษฐีมีแก้วแหวนเงินทองมาก จะบริบูรณ์ด้วยข้าคน
                ราหูเป็นอุจจาวิลาส               ชอบเป็นทหาร มีเดชแกล้วกล้า จะชนะศัตรู
                ดาวพระเคราะห์ที่อยู่ราศีข้างหน้าราศีอุจจ์ของตน เรียกว่าอุจจาภิมุข ถือว่าให้คุณเช่นกัน


            มหาจักร  ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่งมหาจักร ท่านนิยมว่าดีนัก มีคำทำนาย ดังนี้
                อาทิตย์         เป็นมหาจักร    จะมียศศักดิ์ยิ่งใหญ่
                จันทร์          เป็นมหาจักร     จะได้คู่ครองที่ดี เป็นที่พึ่งแก่ตน
                อังคาร         เป็นมหาจักร    จะมีสติปัญญา มีบุญวาสนา
                พุธ               เป็นมหาจักร    จะเป็นผู้ที่อ่อนหวานมีบริวารมาก
                พฤหัสบดี   เป็นมหาจักร    จะเจริญด้วยวุฒิ เป็นที่บูชาของมหาชนทั่วไป
                ศุกร์             เป็นมหาจักร    จะมียศ และทรัพย์มาก
                ราหู             เป็นมหาจักร    จะเจริญด้วยโภคทรัพย์ มีชัยแก่ศัตรู


            ราชาโชค  ดาวพระเคราะห์ที่ได้ตำแหน่งราชาโชค จะให้คุณแก่เจ้าของดวงชาตาให้เป็นผู้มีทรัพย์สินบริบูรณ์ มีอำนาจและประสบโชคลาภ มีตำแหน่ง ดังนี้
                อาทิตย์        เป็นราชาโชค    จะมีอานุภาพมาก เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
                จันทร์          เป็นราชาโชค     จะได้คู่เป็นคนสูงศักดิ์ สตรีผู้ใหญ่จะให้ความเมตตา
                อังคาร        เป็นราชาโชค      จะได้มิตรสหายเป็นที่พึง
                พุธ              เป็นราชาโชค      จะมีสติปัญญามาก เจรจาอ่อนหวาน
                พฤหัสบดี  เป็นราชาโชค      จะมีความสุข ผู้ใหญ่จะชุบเลี้ยง
                ศุกร์            เป็นราชาโชค       จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน เงินทอง ทำราชการดี
                เสาร์           เป็นราชาโชค        ทำราชการฝ่ายทหารดี อายุยืน
                ราหู            เป็นราชาโชค        จะอุดมด้วยทรัพย์กว่าญาติทั้งหลาย

 
ย้อนกลับ บน หน้าต่อไป