หลังกรุงแตก

| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |

ภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๒ ถึงแม้ว่าผู้คนจะล้มตายมากมายและถูกกวาดต้อนไปพม่า ก็ยังมีพวกที่หนีตาย เข้าไปอยู่ในป่าอีกไม่น้อย ส่วนเชลยไทยที่ถูกพม่าต้อนไปพม่า ปัจจุบันยังตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งคลองชะเวตาชอง หรือ คลองทองคำ ห่างจากเมืองมัณฑเลย์ ประมาณ ๑๓ กม. มีวัดระไห่เป็นศูนย์กลางหมู่บ้านและมีตลาดโยเดีย (เป็นคำที่ชาวพม่าเรียกคนอยุธยา) รวมทั้งมีการรำโยเดีย คล้ายท่าพรหมสี่หน้าแบบไทย ปรากฏอยู่เป็นหลักฐาน
ส่วนพวกคนไทยที่หนีตายไปอยู่ป่าและได้กลับมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จึงน่าจะเป็นหลักฐานว่าคนฝั่งธนบุรีส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเก่านั่นเอง นอกจากกลุ่มคนไทยส่วนแรกนั้น ก็ยังมีบางส่วนกลับมาทำมาหากินอยู่ในชุมชนเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า โดยอาศัยอยู่ทั้งในตัวเกาะเมือง และนอกเกาะเมือง และได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ แขวง คือ แขวงรอบกรุง แขวงนคร แขวงอุทัย และแขวงเสนา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕


ศิลปวัตถุจากกรุ
มีการพบกรุสมบัติในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่ง ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และจากการที่จับคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุที่วัดราชบูรณะ รวมกับที่กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นต่อไปอีก หลังจากนั้นได้พบเครื่องทอง และสมบัติต่าง ๆ มากมาย
ทรัพย์สมบัติที่ขุดพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีหลายประเภทส่วนใหญ่จะเป็น เครื่องราชูปโภคที่ทำเป็นชุดเชี่ยนหมาก ตัวถาดรูปยาวรีคล้ายใบพลู หูล้อมสุพรรณศรี จอกน้ำและลูกหมากทองคำ เครื่องตันหรือเครื่องทรง สำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น กรองศอ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ กำไล พาหุรัด ทองพระกรที่ล้วนแต่ทำเป็นลวดลายและฝังอัญมณีต่าง ๆ ที่วิจิตรงดงาม
รูปเคารพในทางศาสนา เช่น สถูปจำลองทำเป็นเจดีย์ทรงลังกา พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธรูปทองคำดุน ปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้วและพระคชาธาร ทรงเครื่องพร้อมสัปคับ ประดับพลอยสี เป็นต้น

| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | บน |