| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |

ปัจจัยทางด้านการปกครองและการเมือง
              ตามจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า "กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเพราะเมืองใหญ่ ๒ เมือง รวมกันด้วยการสมรส คือ ดินแดนฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (เสียนก๊ก หรือ สุพรรณภูมิ) กับ ดันแดนฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (หลอหู หรือละโว้) โดยรวมกันเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๒ จนกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ที่เข้มแข็ง มีกำลังทัพใหญ่ และคนหลายเชื้อชาติด้วยปัจจัยนี้ กรุงศรีอยุธยาจึงมั่งคั่งด้วยสมบัติ เพราะทองคำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด และการถวายบรรณาการในการติดต่อ สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ มักใช้ทองเป็นเครื่องประสาน การให้บำเหน็จรางวัล เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย หรือข้าวของที่ถวายเป็นพุทธบูชา ล้วนทำจากทองทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ทองคำจะนิยมมาใช้งานใน ๔ ประเภท ได้แก่
๑. เครื่องราชูปโภค
เป็นเครื่องใช้สิ่งของต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ เครื่องต้น เครื่องทรงเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชกุธภัณฑ์ จารึกพระสุพรรณบัฎ เครื่องประดับสำหรับเกียรติยศหรือเครื่องราชูปโภค พระพิชัยสงคราม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อาทิ เช่น พระสังวาลย์นพรัตน์ สร้อยอ่อน และอื่น ๆ
๒. เครื่องประดับ
เครื่องประดับโดยทั่วไป ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลแขน กำไลเท้า ตุ้มหู แหวน ปิ่นปักผม จี้ เข็มขัด ลูกปัด ลูกกระพรวน เข็มกลัด เป็นต้น และเนื่องจากกรุงศรีอยุธยา มีคนจีนแล่นเรือมาติดต่อค้าขายมากกว่าชาติอื่น บางอย่างจึงได้รับอิทธิพลจากจีนและมีตลาดค้าขายทอง เรียกว่าย่านป่าทอง ซึ่งเป็นแหล่งขายทองคำเปลว และเครื่องทองรูปพรรณ ตลอดจนเครื่องเงิน นาค และย่านนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตลาดถนนตีทอง" และแก้วแหวนเงินทองที่พบจากซากโบราณสถาน เจดีย์วิหาร มีไม่น้อยที่เป็นของพลเมืองทั่วไปที่ถวายเป็นเครื่องอุทิศบูชาแด่พระศาสนาที่ตนศรัทธา
๓. รูปเคารพในทางศาสนา
เนื่องจากความศรัทธาอันแรงกล้าของพลเมืองต่อพระศาสนา จึงได้นำทองคำมาสร้างงานประติมากรรม หรือรูปเคารพในทางศาสนาเป็นอันมาก เช่น พระพุทธรูป เทวรูป พระโพธิสัตว์ พระพิมพ์ พระพุทธบาทจำลอง สถูป เครื่องอลังการ เครื่องพลีกรรม ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา
๔. เครื่องสถาปัตยกรรมและศิลปะกรรม
สมัยโบราณนิยมนำทองคำมาประกอบตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้วิจิตรงดงาม โดยใช้เป็นทองคำเปลว และจากการตรวจสอบพบว่าทองคำเปลวนั้นรู้จักทำ และใช้กันแพร่หลายตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖) ในจดหมายเหตุจีนกล่าวไว้ว่า "บัลลังก์บ้าง มณฑปบ้าง ปราสาทราชวัง และคานหามบ้าง รวมทั้งเครื่องใช้อื่น ๆ ของกษัตริย์ในดินแดนเอเซียอาคเนย์ ล้วนทำด้วยทองคำ" อาณาจักรทวาราวดี หรือศูนย์กลางของดินแดนที่ชาวอินเดียโบราณขนานนามว่า "สุวรรณภูมิ" (หมายถึงเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด) จะเป็นถิ่นที่มีทองคำหรือโภคทรัพย์อุดมสมบูรณ์มาก และกรุงศรีอยุธยา หรือ "กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา" ซึ่งตั้งขึ้นภายหลัง น่าจะมีทองมาก เพราะทั้งชื่อกรุงและปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนากรุง ล้วนเกี่ยวข้องกับทองทั้งสิ้น


| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | บน |