< Chiang Mai
วัดในพระพุทธศาสนา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


เชียงใหม่เป็นเมืองพุทธศาสนา ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97
ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ชาวพุทธในจังหวัดเชียงใหม่ จะพากันไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ และเวียนเทียนตามวัดต่าง ๆ และจะให้ความร่วมมือในการบริจาค หรือทำบุญ ถวายทาน ในการก่อสร้างถาวรวัตถุในทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทำให้ศาสนาพุทธมีความรุ่งเรืองมาก
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีวัดอยู่ประมาณ 441 วัด มีวัดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วัดเชียงมั่น วัดพระสิงห์ วัดโพธารามมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดกู่เต้า วัดสวนดอก วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วัดอุโมงค์เถรจันทร์ วัดช้างค้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละวัดเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณ และมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง


วัดเชียงมั่น
เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างในสมัยพ่อขุนเม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1839 หลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงได้ทรงยกพระตำหนักที่ประทับชื่อว่า "ตำหนักเชียงมั่น" ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชื่อว่า "พระเสตังคมณี" หรือชาวบ้านเรียกว่า "พระแก้วขาว" สร้างที่เมืองละโว้เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว และพระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาไว้ที่หริภุญไชย เมื่อพ่อขุนเม็งรายตีเมืองลำพูนโดยใช้ธนูไฟยิงเข้าไปในเมือง เกิดไฟไหม้ แต่หอพระเสตังคมณีซึ่งเป็นหอไม้สักตั้งอยู่กลางปราสาทไม่เป็นอันตราย พระองค์จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดเชียงมั่น และทรงนับถือพระเสตังคมณีมาก ไม่ว่าจะเสด็จที่ใดต้องอัญเชิญไปด้วยทุกแห่ง
นอกจากนี้ วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาหลัก ปางปราบช้างนาฬาคิรี และมีพระเจดีย์ช้างล้อมสูงประมาณ 13 วา ที่ฐานเจดีย์มีรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ เป็นบูชนียวัตถุที่มีอายุเกือบ 700 ปี อีกด้วย


วัดพระสิงห์วรวิหาร
เป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ผู้สร้างคือ พระเจ้าผายู หรือหรยู กษัตริย์ล้านนาไทย ลำดับที่ 7 เดิมโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ และพระอังคารของพระเจ้าคำพูผู้เป็น พระราชบิดา ใน พ.ศ. 1888
ต่อมาโปรดให้สร้างพระอาราม ประกอบด้วยเสนาสนะและพระวิหารขึ้น จึงนับเป็นพระอารามอันดับที่ 3 ภายในกำแพงเมือง และทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ"
สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้างศอกเศษ พุทธลักษณะงดงามมาก จากเมืองเชียงรายมาเชียงไว้ และสร้างมณฑลประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ในวิหารลายคำ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อพระพุทธรูปไปด้วย ต่อมาชาวเชียงใหม่จึงเรียกพระพุทธรูปอย่างสั้น ๆ ว่า "พระสิงห์" และเรียกชื่อวัดว่า "วัดพระสิงห์" ด้วย
วัดพระสิงห์นี้เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เป็นวัดทีมีโบสถ์ วิหาร หอไตร ซึ่งสลักหน้าบันเป็นรูป เทพนมปูนปั้น รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย จึงนับว่าเป็นวัดที่ รวมศิลปกรรมล้านนาที่สวยงามที่สุด

วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด)
ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ็ดยอด อำเภอเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย โดยพระองค์ได้ส่งช่างชาวล้านนาไปดูแบบเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แล้วนำแบบมาสร้างที่เมืองเชียงใหม่ ด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น แต่ย่อขนาดให้เล็กลงกว่าของจริง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1998
ในปี พ.ศ. 2020 ได้ใช้วัดนี้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก วัดนี้นับเป็นวัดที่มีเจดีย์เจ็ดยอดที่สวยงามมาก ปัจจุบันหักพังไปเกือบหมด

วัดเจดีย์หลวง
เป็นพระอารามหลวงและมีเจดีย์ใหญ่มาก ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์เม็งราย
ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างไปจำลอง แบบเจดีย์จากพุทธคยา แล้วกลับมาสร้างเป็นเจดีย์ใหญ่มหึมา สูง 86 เมตร ฐานกว้างด้านละ 45 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1954 ต่อมาในปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิรประภา ได้เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง
วัดนี้มีพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารที่สำคัญ คือ พระอัฎฐารส สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช
ในสมัยบ้านเมืองไม่ปกติสุข วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างไปชั่วระยะหนึ่ง และได้บูรณะขึ้นโดยเจ้านายในราชตระกูลเชียงใหม่ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์


วัดกู่เต้า
เดิมชื่อ วัดเวฬุวนาราม    เป็นวัดที่มีพระเจดีย์ลักษณะ แปลกไปกว่าพระเจดีย์อื่น ๆ ในประเทศไทย ไม่มีประวัติแน่นชัดว่า สร้างขึ้นในสมัยใด แต่เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าสารวดี ราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150
ลักษณะของเจดีย์ คล้ายกับเอาผลแตงโมมาซ้อนกันหลาย ๆ ลูก ชาวเมืองจึงเรียกว่า "เจดีย์กู่เต้า" แต่ศิลปการก่อสร้างเป็น ศิลปแบบพม่า


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |