ธนบัตรเงินกระดาษของไทย

หมาย

            ธนบัตรหรือเงินกระดาษของไทย  ที่ปรากฎมีใช้ครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรียกว่า  "หมาย"  เมื่อปี พ.ศ. 2396  ทำด้วยกระดาษปอนด์สีขาวรูปสี่เหลี่ยม  พิมพ์ลวดลายด้วยหมึกทั้งสองด้าน และประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินตราจักร และพระราชลัญจกรมหามงกุฎประจำรัชกาลสีแดงชาด  หมายที่ใช้แทนเงินดังกล่าวนี้มีอยู่สามชนิดด้วยกันคือ  หมายราคาต่ำ  หมายราคาตำลึง และหมายราคาสูง

  หมายราคาต่ำ

            หมายชนิดนี้พิมพ์ในด้านตั้ง  มีขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร  ด้านหนึ่งพิมพ์รูปลายเครือแกมดอกและผลไม้โดยรอบ  มีตัวหนังสือบอกราคาเป็นภาษาไทย  จีน  ลาติน  อังกฤษ  ฮินดู  มลายู  เขมร  พม่า  รามัญ  ลาว  เรียงจากบนมาล่าง  ด้านซ้ายเป็นภาษามคธ  ด้านขวาเป็นภาษาสันสกฤต  รวมทั้งสิ้นมี 12 ภาษา  มีรูปเงินเฟื้องประจำในลายเครือ  หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีอยู่ 6 ราคา คือ  หนึ่งบาท  สามสลึง  สองสลึง และหนึ่งสลึง  ในแต่ละราคาจะแสดงจำนวนรูปเงินเฟื้องประจำลายเครือ  ตั้งแต่ราคาเฟื้องหนึ่งก็มีรูปเงินเฟื้องหนึ่ง  ราคาสลึงหนึ่งมีรูปเฟื้องสองเฟื้อง และทวีขึ้นไปตามลำดับจนถึงราคาบาทหนึ่งมีรูปเงินเฟื้องแปดเฟื้อง
            พระราชลัญจกรประทับอีกห้าดวง คือ  รูปพระมหาจักรดวงหนึ่ง  รูปตราสำหรับประจำแผ่นดินปัจจุบันดวงหนึ่ง  รูปตราข้างซ้ายขวาเป็นพวงดอกดวงหนึ่ง  เป็นพวงผลดวงหนึ่ง  ถ้าราคาเฟื้องหนึ่งมีดอกหนึ่ง  พวงหนึ่งถ้าราคาสลึงหนึ่งมีดอกสองผลสอง  ทวีขึ้นไปตามลำดับจนถึงราคาบาทหนึ่ง  จะมีแปดดอก แปดผล  และมีดวงตราอักษรโดยย่ออยู่ใต้ตราประจำมีกำหนดว่าปีที่สี่ดวงหนึ่ง  แล้วมีเลขพระราชหัตถข้างล่างบ้าง  ข้างบนเป็นสำคัญ  เพื่อไม่ให้เปลี่ยนปลอมได้
            อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นประกาศหรือสัญญาของรัฐบาล  โดยพิมพ์ข้อความไว้ภายในกรอบ
            ลักษณะสำคัญของหมายชนิดนี้  ได้แก่การประทับตราดุนนูนรูปตราเงินเฟื้อง  เป็นจำนวนตามมูลค่าที่กำหนดไว้ที่ตอนบนด้านนี้

  หมายราคาตำลึง

            หมายชนิดนี้มีความกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร  พิมพ์ในด้านนอนด้วยหมึกสีดำ  เป็นลายกนกใบไม้แบบฝรั่งเป็นกรอบนอก  คั่นด้วยลายเถาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ล้อมข้อความระบุจำนวนเงิน และคำสัญญารัฐบาล  ประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล  ด้านบนและด้านล่างของข้อความดังกล่าว  พิมพ์ลวดลายรูปใบไม้ไว้ทั้งสองด้าน  พร้อมกับประทับตราสีแดงชาดเป็นตัวหนังสือจีนซึ่งแปลว่า  พิทักษ์หรือคุ้มครองไว้เท่ากับจำนวนตำลึง
            อีกด้านหนึ่งของหมายชนิดนี้  พิมพ์เป็นรูปลายเครืออยู่เต็มฉบับ  ที่กึ่งกลางประทับตราพระราชลัญจกรนามเมืองเป็นอักษรขอม เช่นเดียวกับหมายราคาต่ำ
            หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีอยู่ 4 ราคาคือ  สามตำลึง  สี่ตำลึง  หกตำลึง และสิบตำลึง

  หมายราคาสูง

            เป็นหมายที่พิมพ์ในด้านตั้ง  มีขนาดกว้าง 6.2 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร  พิมพ์ลายเส้นในลักษณะเป็นกรอบอยู่โดยรอบ  ด้านในกรอบพิมพ์ข้อความว่า
            "หมายสำคัญนี้ให้ใช้แทน 320 ซีก ฤา 640 เสี้ยว  ฤา 1280 อัฐ  ฤา 2560 โสฬส  คือ  เป็นเงินยี่สิบบาท  ฤาห้าตำลึง  ฤา 12 เหรียญนก  ฤา 28 รูเปีย  ได้ให้ไปเปลี่ยนที่พระคลังจะได้  จงเชื่อเถิด ที่....."
            มีการประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล รวมสององค์
            อีกด้านหนึ่งของหมายพิมพ์เป็นลายในลักษณะเป็นกรอบ  ที่ตอนบนของลายกรอบนี้มีข้อความพิมพ์บอกราคาเป็นภาษาอังกฤษ  และมีข้อความในลักษณะเป็นประกาศหรือคำรับรองของทางราชการ  รับรองในสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเป็นภาษาอังกฤษ
            ด้านที่พิมพ์เป็นภาษาไทย  ประทับตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไว้เกือบเต็มพื้นที่  กรอบด้านในและข้อความพิมพ์ไว้เพื่อระบุหมวดหมายเลขของหมายแต่ละฉบับ
            หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีราคา 20 บาท และ 80 บาท
            การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงออกแบบหมายทั้งสามชนิดดังกล่าว  ก็เพื่อให้มีการใช้หมายเป็นเงินที่ใช้ซื้อขายสินค้า และชำระหนี้ได้อย่างแพร่หลาย  จึงทรงออกแบบให้สะดวกแก่การใช้  ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  จากการที่ให้พิมพ์ข้อความแจ้งมูลค่าของหมายไว้ถึง 12 ภาษา  นอกจากนั้นลักษณะการทำตราดุนรูปเงินเฟื้องตามมูลค่าไว้ในประกาศว่า  "เพื่อให้คนเสียจักษุ  แลคนชราตาไม่เห็นคลำดูรู้สังเกต  ให้อาณาประชาราษฎรทั้งสิ้นดูให้รู้จักทั่วกัน"
            อย่างไรกตามเนื่องจากเป็นของใหม่  คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยกับเงินชนิดนี้  จึงยังคงไม่มีการใช้หมายกันอย่างแพร่หลาย  และในที่สุดก็ค่อย ๆ หมดไปจากระบบการเงินของประเทศ  ในรัชสมัยของพระองค์


อัฐกระดาษ

            เงินกระดาษชนิดที่สองของไทย  เริ่มมีใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยมีมูลเหตุที่สำคัญคือ  มีผู้ทำเหรียญอัฐปลอมกันมาก  คนทั่วไปจึงไม่ยอมรับการชำระหนี้ด้วยเหรียญอัฐ  รัฐบาลจึงต้องประกาศรับแลกเหรียญคืน และในที่สุดก็ประกาศลดมูลค่าของอัฐ  เสี้ยว  ซีก  ลงจนการทำเหรียญปลีกปลอมไม่สามารถจะทำกำไรได้  เงินปลอมก็ค่อย ๆ หายไปในที่สุด
            ต่อมาในปี พ.ศ. 2416  แร่ดีบุกและทองแดงมีราคาสูงขึ้น และสูงกว่าราคาที่ตราไว้หน้าเหรียญในน้ำหนักที่เท่ากัน  จึงมีผู้หวังกำไรจากส่วนต่างดังกล่าว  พากันหลอมเหรียญดีบุกและทองแดง  ทำเป็นแท่งส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ  ทำให้เหรียญดีบุกและเหรียญทองแดงค่อย ๆ สูญหายไปจากการหมุนเวียนในระบบการเงินของประเทศ  เกิดการขาดแคลนเหรียญดังกล่าว  ทำให้ราษฎรต้องหันไปใช้ปี้กระเบื้อง  ซึ่งเป็นเครื่องนับเม็ดคะแนนในบ่อนการพนันแทน  นายบ่อนที่ขุนพัฒน์  ซึ่งเป็นผู้สั่งทำปี้กระเบื้องเข้ามาใช้ในบ่อนของตน  จึงกลายเป็นผู้ผลิตเงินปลีกขึ้น  ใช้ในระบบการเงินในพระนครไป  เพื่อแก้ไขความขาดแคลนเหรียญกษาปณ์ดังกล่าว  และในระหว่างที่รอสั่งซื้อเครื่องจักรทำเหรียญกษาปณ์จากต่างประเทส  รวมทั้งการสั่งทำเหรียญกษาปณ์จากต่างประเทส  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำเงินกระดาษราคาต่ำที่เรียกว่า  "อัฐกระดาษ"  ออกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2417
                อัฐกระดาษ  มีลักษณะเป็นเงินกระดาษด้านเดียว  ทำจากกระดาษปอนด์ กว้าง 9.3 เซนติเมตร  ยาว 15 เซนติเมตร  มีลวดลายใบเทศต่อก้านเป็นกรอบทั้งสี่ด้าน  ประดับด้วยลายเหลี่ยมตามมุมทั้งสี่  มีตัวหนังสือขนาดใหญ่พิมพ์อยู่ตอนกลางแผ่นว่า  "ราคาอัฐหนึ่ง"  ที่ด้านซ้ายตอนบนเขียนหมายเลขของอัฐกระดาษแต่ละฉบับ  และเขียนหมายเลขเป็นตัวหนังสือไว้ที่ด้านล่าง ข้างขวาของคำว่าราคาอัฐหนึ่ง   พร้อมทั้งประทับตราดุนนูนพระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระเกี้ยวยอดเป็นดวงกลม และดวงเหลี่ยมรวมสององค์
                อัฐกระดาษใช้อยู่ไม่นานประมาณ 8 เดือน  เมื่อได้จัดการเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ทองแดงเสร็จแล้ว  ทางราชการก็ไถ่ถอนอัฐกระดาษออกไปจากการหมุนเวียนในท้องตลาด


บัตรธนาคาร

            เงินกระดาษที่นำเข้ามาใช้ในระยะต่อมาคือ  บัตรธนาคาร (Bank  Note)  ซึ่งธนาคารพานิชย์พิมพ์ขึ้น หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว  บัตรธนาคารดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน  ชนิดหนึ่งที่ธนาคารจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารและลูกค้า  ในบัตรธนาคารข้อความเป็นสัญญาว่า  ธนาคารผู้ออกบัตรพร้อมที่จะรับบัตรของคนคืน และจ่ายเงินตราที่เป็นโลหะตามราคาที่พิมพ์ไว้บนบัตรธนาคารนั้น
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการปรับปรุงระบบต่าง ๆ ในการบริหารประเทศเป็นอันมาก  เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทส  ความต้องการเงินตราได้เพิ่มขึ้นมากจนเกินความสามารถของโรงกษาปณ์สิทธิการ จะทำเหรียญบาทได้ทันกับความต้องการ  ผู้ที่รับผิดชอบจึงได้กราบบังคมทูลความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระจัลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตอนหนึ่งว่า  ควรสั่งเครื่องทำเหรียญเงินบาทให้สามารถดำเนินงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  ต้องให้ได้เงินเดือนละหมื่นชั่งขึ้นไปทุกเดือน  เนื่องจากเงินเหรียญจากต่างประเทศเข้ามาขอแลกกับเงินพระคลังไม่ต่ำกว่าปีละแสนชั่ง
            ในขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณาแก้ไขปัญหาการผลิตเหรียญเงินบาทให้ทันต่อความต้องการอยู่นั้น  ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศก็ได้ยื่นขออนุญาต  เปิดสาขาดำเนินธุรกิจในกรุงเทพ ฯ  เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตและอยู่ในระหว่าง  เตรียมการจัดตั้งสาขาขึ้นนั้น เอเยนต์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ได้มาเจรจาขอแลกเงินเหรียญประมาณเดือนละแสนห้าหมื่นเหรียญ  คือ  สามพันชั่งเศษ
            ด้วยความต้องการดังกล่าว  สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศจึงแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินบาท  โดยขออนุญาตรัฐบาลพิมพ์บัตรธนาคารออกใช้  และขอให้รัฐบาลกรมศุลกากรรับบัตรธนาคารเอง  ธนาคารในการชำระภาษีด้วย  ทางรัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ดำเนินการได้เมื่อ 21 พฤษภาคม 2432 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา  สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศอื่นที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล  ให้ดำเนินธุรกิจธนาคารพานิชย์ในประเทศไทยได้ในปี พ.ศ. 2437 และปี พ.ศ. 2439  ก็ได้รับอนุญาตให้นำบัตรธนาคารของธนาคารตนเองออกใช้ได้เช่นกัน และต่างก็ทะยอยนำบัตรธนาคารออกใช้ในปี พ.ศ. 2441 และปี พ.ศ. 2442  ตามลำดับ  แต่ทั้งนั้นรัฐบาลไทยยังสงวนสิทธิที่จะปฎิเสธไม่รับการชำระหนี้ด้วยบัตรธนาคารได้  ดังนั้นบัตรธนาคารที่นำออกใช้หมุนเวียนในช่วงนั้นจึงประกอบไปด้วยบัตรธนาคารของสาขาธนาคารพานิชย์ 3 แห่ง  จากประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส  คือ ธนาคารฮ่องกง และเซียงไฮ้  ธนาคารชาเตอร์แห่งอินเดีย  ออสเตรเลีย และจีน  กับธนาคารอินโดนีจีน
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2445  รัฐบาลได้เริ่มนำธนบัตรของรัฐบาลออกใช้เป็นครั้งแรก  เมื่อมีธนบัตรรัฐบาลไทยออกหมุนเวียน  ในปริมาณเพียงพอแล้ว  สาขาธนาคารพานิชย์ต่างประเทศทั้ง 3 แห่ง  จึงเริ่มไถ่ถอนบัตรธนาคารของตน ออกจากระบบหมุนเวียนของประเทศไทยจนหมด
            บัตรธนาคารที่สาขาธนาคารต่างประเทศนำออกใช้นั้นมีอยู่รวม 8 ชนิดราคาได้แก่ชนิด 1 บาท  5 บาท  10 บาท  20 บาท  40 บาท  80 บาท  100 บาท และ 400 บาท  แต่ละธนาคารจะมีไม่ครบชนิดดังกล่าวแล้วแต่ธนาคารใดจะเลือกใช้ชนิดราคาใด
            บัตรธนาคารนี้รัฐบาลมิได้รับว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  ดังนั้นการหมุนจึงอยู่ในวงแคบ  แต่เนื่องจากว่ามีระยะเวลาในการนำออกใช้นานพอสมควร  บัตรธนาคารจึงเรียนกันทับศัพท์ว่าว่า   "แบงก์โน๊ต"  (Bank  Note) หรือ  แบงก์
ความเคยชินอันนี้  ทำให้คนทั่วไปเรียกเงินว่า  แบงก์  มาจนถึงทุกวันนี้