เล่ม ๑๓ ตัวสงกรานต์ - ทะนาน ลำดับที่ ๒๒๔๙ - ๒๔๙๓ ๑๓/๗๘๕๓ - ๘๕๐๗
๒๒๔๙. ตัวสงกรานต์ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีตีนสำหรับเคลื่อนไหวคล้ายใบไม้ หัวยาวมีหนวดสั้นสี่คู่ หนวดยาวสี่คู่ ลำตัวยาวและแบนลง ปรกติยาว ๒๐ - ๓๐ ซม. โดยทั่วไปสีเขียวสดและเลื่อม พบตามแหล่งน้ำ สัตว์ชนิดนี้มักปรากฎตัวในระยะใกล้วันสงกรานต์ จึงได้ชื่อว่าตัวสงกรานต์ ๑๓/ ๗๘๕๓
๒๓๒๘. เตย
เป็นชื่อพันธุ์ไม้มีหลายชนิดด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วเป็นต้นที่เกิดเป็นกอก็มี
เกิดโดดเดี่ยวก็มี มีใบเกิดเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาวสีเขียวหรือด่างเหลืองก็มี
ม้วนแหลม มีหนามแข็งสั้นตลอดทั้งใบ เมื่อมีอายุประมาณสองปีขึ้นไป
๒๒๕๐. ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ประมวล กม.แพ่งและพาณิชย์ให้บทนิยามไว้ว่า "หนังสือตราสาร" ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า
ผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่า "ผู้รับเงิน"
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่นิยมทำกันในปัจจุบัน ก็เช่นในกรณีกู้ยืมเงิน ผู้กู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่ผู้ให้กู้
หรือในกรณีซื้อขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ ผู้ซื้อออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่ผู้ขาย
ในขณะที่ตั๋วยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน โดยอาจนำเอาตั๋วนั้น ๆ ไปขายลดราคาให้แก่ผู้อื่นได้
๑๓/๗๘๕๓
๒๒๕๑. ตั้วเหี่ย, ตั้วเฮีย
๑. แปลว่า พี่ชายซึ่งเริ่มปรากฎใช้คำนี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น
๒. แปลว่า พี่ชายหัวปี ซึ่งเริ่มปรากฎใช้คำนี้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง
๓. ในสมัยสามก๊ก ใช้เรียกมิตรสหายว่า ตั้วเฮีย
๔. เป็นคำเรียกหัวหน้าใหญ่สมาคมอั้งยี่
สมาคมอั้งยี่ ในประเทศจีน เป็นสมาคมลับที่ตั้งขึ้นเพื่อกอบกู้เอกราชในปลายราชวงศ์เช็ง
เพราะไม่อาจทนต่อความไร้ประสิทธิภาพในการปกครองประเทศ และต่อการรุกรานของชาวต่างชาติ
ที่เข้ามาแบ่งแยกดินแดน สมาคมดังกล่าวตั้งอยู่ใน และนอกประเทศจีน ในสมัยที่
ดร.ซุนยัตเซัน ดำเนินแผนการกู้ชาติ ก็ได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากสมาคมอั้งยี่โดยเฉพาะด้านการเงิน
ได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีน ที่อยู่นอกประเทศเป็นอันมาก เพื่อโค่นล้มราชวงศ์เช็ง
ในประเทศไทย ปรากฎในจดหมายเหตุของไทย แต่เดิมมา คำ ตั้วเหี่ย ใช้เรียกชื่อสมาคมลับที่พวกจีน
ตั้งขึ้นมาจนถึงรัชกาลที่ห้า จึงได้เปลี่ยนเป็นเรียก อั้งยี่
มูลเหตุที่จะเกิดจีนตั้วเหี่ยขึ้นในประเทศไทยนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงกล่าวไว้ว่า เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดีย เข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น
พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย
ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เป็นเหตุให้คนไทยสูบฝิ่นมากขึ้น
ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อน มิให้ใครสูบหรือซื้อขายฝิ่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
ฯ จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่น ตามกฎหมายอย่างกวดขัน พวกติดฝิ่นจึงต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ
จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่น เอาวิธีตั้วเหี่ยมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับ สำหรับค้าฝิ่น
วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเล ที่ไม่มีการตรวจตราคอยรับฝิ่นจากเรือสำเภา
ที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่น ส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับ
ในหัวเมืองใกล้ ๆ กรุงเทพ ฯ ลอบขายฝิ่นรายย่อย เข้ามายังพระนคร พวกตั้วเหี่ยมีกำลังมากขึ้นก็กำเริบ
บางแห่งประพฤติเป็นโจรสลัด ตีเรือและปล้นสะดม
๑๓/ ๗๘๕๘
๒๒๕๒. ตา - นัยน์
นัยน์ตาเป็นอวัยวะที่รับสัมผัสอย่างหนึ่ง จัดเป็นอวัยวะสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง
และเป็นอวัยวะเดียวที่เป็นช่องทางให้บุคคล ติดต่อกับภายนอกได้ถึงร้อยละ ๙๐
นัยน์ตารับกำลังงาน แสงสว่าง ผ่านเข้าในลูกตา แล้วประสาทตาแปลความรู้สึกของคลื่นแสง
ไปยังสมองโดยผ่านประสาทตา หรือประสาทสมองคู่ที่สอง
ลูกตาของคนเรามีลักษณะเป็นรูปกลม ยาวจากหน้าไปหลังมากว่าด้านข้าง ลูกตาส่วนใหญ่ฝังในเบ้าตา
จะโผล่ออกมาเฉพาะส่วนกระจกตาและบางส่วนของเปลือกลูกตา ซึ่งมีเยื่อตาขาวปกคลุมอยู่
ลูกตามีหนังหุ้มาภายนอกอีกชั้นหนึ่ง ด้านนอกของหนังตาเป็นเนื้อเหมือนกับผิวหนังทั่วไปแต่บางกว่า
ส่วนด้านในของหนังตานั้นมีเยื่อตาขาวหุ้มตลอด มีลักษณะเป็นถุงและคลุมตลอดเปลือกลูกตาไปสิ้นสุดที่กระจกตา
ส่วนของลูกตาส่วนหน้าที่โผล่ให้เห็นนั้นคือกระจกตา กระจกตาเป็นส่วนใสเป็นที่หักแสงให้แสงสว่างผ่านเข้าตา
กระจกตามีดรรชนีหักเหเท่ากับเล็นส์นูน ๔๒ - ๔๕ ไดออปเตอร์ กระจกตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่อัดกันแน่นและเหนียวรูปร่างเกือบเป็นวงกลม
ประกอบเป็นผนังส่วนที่ใสอยู่ชั้นนอกของลูกตา
ส่วนหลังของลูกตามีประสาทตาส่งผ่านออกจากส่วนหลังสุดของเปลือกลูกตาส่วนนี้เป็นวงกลมเส้นประสาทนี้จะนำความรู้สึกไปสู่สมอง
บริเวณหลังลูกตา ยังมีหลอดเลือดแดงมาเลี้ยง ๑๓/
๗๘๖๕
๒๒๕๓. ตาก
จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ลำปาง จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออก
จด จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี ทิศใต้จด จ.กาญจนบุรี
ทิศตะวันตก จด จ.แม่ฮ่องสอน และประเทศพม่า มีแม่น้ำเมยกันเขตแดน ภูมิประเทศทางฝั่งขวาแม่น้ำปิง
เป็นที่ราบลุ่ม ทางฝั่งซ้ายเป็นที่ราบสูง นอกนั้นเป็นป่าใหญ่มีภูเขามาก
จ.ตาก เดิมตั้งที่ว่าการอยู่บนดอยเล็ก ๆ หลังวัดพระธาตุ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก
สันนิษฐานว่า เดิมเป็นของมอญ สร้างขึ้นไว้ ประมาณกันว่า ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพื่อให้ตรงกับช่องทางที่พม่า เดินทัพเข้ามาทำศึกกับไทย
แล้วย้ายมาตั้งทางฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง ที่ ต.ระแหง ในรัชกาลที่สอง
จ.ตาก เป็นเมืองตั้งอยู่ชายแดนเป็นทางหนึ่ง ที่วัฒนธรรมอินเดียเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยโบราณ
และเป็นเมืองหน้าด่าน สำหรับชุมพลที่จะยกไปทางเชียงใหม่ เมื่อสมัยก่อนเป็นย่านกลางการค้า
แห่งการติดต่อระหว่างเชียงใหม่ กับปากน้ำโพ สมัยเมื่อการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวก
๑๓/ ๗๘๗๐
๒๒๕๔. ตากใบ
อำเภอ ขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม
อ.ตากใบ มีนิยายเล่าว่า แต่ก่อนมีเรือใบแล่นมาถึงที่นี่ ถูกพายุฝนเรือล่มแต่กู้เรือได้
และจัดการตากใบเรือบนที่นี้ จึงมีชื่อว่า ตากใบ
อ.ตากใบ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๑ รวมอยู่ในรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย และในปลายปีนั้นรัฐกลันตันได้ตกไปเป็นของอังกฤษ
ไทยกับอังกฤษจึงปันแดนกัน โดยถือเอาแม่น้ำโกลกเป็นเส้นเขต อ.ตากใบ จึงอยู่ในเขตไทยแต่นั้นมา
และได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น จ.นราธิวาส
๑๓/ ๗๘๗๖
๒๒๕๕. ตากฟ้า
อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง
อ.ตากฟ้า เดิมเป็นหมู่บ้าน อยู่ในเขตปกครองของ ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
๑๓/ ๘๗๗๖
๒๒๕๖. ตากวาง - ไผ่
เป็นไผ่ที่หน่ออ่อน มีรสกระเดียดไปทางขม มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ชนิดที่แข็งแรงมากเป็นไผ่
ที่สำคัญในการก่อสร้างในชวา ๑๓/
๗๘๗๙
๒๒๕๗. ตากสิน - สมเด็จพระเจ้า
(ดู กรุงธนบุรี - สมเด็จพระเจ้า ลำดับที่ ๑๖๙)
๑๓/ ๗๘๘๐
๒๒๕๘. ต๋ากุน - อง
เป็นข้าราชการญวน ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการที่ไซ่ง่อน ในรัชกาลพระเจ้าเวียดนามยาลอง
ซึ่งตรงกับรัชกาลที่สองของไทย มีความเกี่ยวข้องกับไทยด้วยเหตุการณ์ในประเทศเขมร
ซึ่งขณะนั้นเป็นรัชสมัยพระอุทัยราชา (นักองจัน)
ในสมัยนั้นประเทศเขมร ยังมีฐานะเป็นประเทศราชของไทย บางครั้งเมื่อเขมรมีเรื่องขัดเคืองกับไทย
ก็หันไปพึ่งเวียดนาม องต๋ากุน รับเป็นที่พึ่งของเขมร นับแต่นั้นมาเวียดนามก็ขยายอิทธิพล
เข้าไปในเขมรมากขึ้นทุกที องต๋ากุนมีไมตรีจิตกับฝรั่งเศส เนื่องจากชาวฝรั่งเศสเคยช่วยพระเจ้าเวียดนามยาลอง
(องเชียงสือ) กู้ประเทศเวียดนาม
คราวพม่ามีหนังสือชวนญวน ร่วมมือรบกับไทย องต๋ากุนเห็นว่าควรรับไมตรีกับพม่า
ด้วยประสงค์จะได้เมืองพระตะบองไว้เป็นของญวน แต่พระเจ้ามินมางไม่ทรงเห็นด้วย
๑๓/ ๗๘๘๐
๒๒๕๙. ตาแก้ว ๑ - ปราสาท
ปราสาทตาแก้ว ตั้งอยู่นอกบริเวณเมืองพระนครหลวง ในแคว้นเสียมราฐ ประเทศเขมร
สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นเทวลัยในศาสนานิกายลัทธิไศวนิกาย ได้รับการขุดแต่งระหว่างปี
พ.ศ.๒๔๖๓ - ๒๔๖๕
ปราสาทตาแก้ว เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะลวดลายส่วนใหญ่ยังไม่ได้จำหลัก
เป็นปราสาทค่อนข้างใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สูง ๒๒ เมตร มีกำแพงก่อด้วยศิลาทราย
บนฐานศิลาและล้อมรอบฐานชั้นนอกขนาด ๑๒๐ x ๑๐๐ เมตร
๑๓/ ๗๘๘๑
๒๒๖๐. ตาแก้ว ๒ - จังหวัด
เป็นจังหวัดหนึ่งในจำนวน ๒๐ จังหวัดของประเทศเขมร อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ประมาณ
๗๐ กม. ติดกับพรมแดนประเทศเวียดนาม
ในสมัยราชอาณาจักรพนม (ฟูนัน) และเจนละ นั้น จังหวัดตาแก้ว เคยเป็นที่ตั้งราชธานีสองแห่งคือ
๑. กรุงโคกธลอง (พุทธศตวรรษที่ ๗) มีพระทอง - นางนาค เป็นปฐมกษัตริย์ มีราชวงศ์ปกครองต่อมาประมาณ
๓๐๐ ปี
๒. กรุงวยาธปุระ (ราวปี พ.ศ.๑๐๑๓ หรือ ๑๐๒๘) ตั้งอยู่ที่ภูเขาทราย มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาประมาณ
๑๔๐ ปี ๑๓/
๗๘๘๓
๒๒๖๑. ตาคลี
อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศทางทิศตะวันตก เป็นที่ราบทำนาได้ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้
เป็นป่าเขา
อ.ตาคลี เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
๑๓/ ๗๘๘๖
๒๒๖๒. ต่าง - โค
ต่าง เป็นภาชนะสานมีคานไม้ พาดบนหลังสัตว์ ใช้สำหรับใส่สิ่งของห้อยลงมาทั้งสองข้าง
ต่างมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดของสัตว์ที่บรรทุก และเรียกชื่อตามชนิดของสัตว์ที่ใช้เช่น
ใช้กับโค เรียกว่า ต่างโค
ใช้กับลา เรียกว่า ต่างลา
เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่บรรทุกก็เรียกว่า โคต่าง หรือลาต่าง
โคต่าง ตัวหนึ่ง สามารถบรทุกของได้หนัก ๔๐ - ๖๐ กก. สามารถเดินทางได้ชั่วโมงละ
๓ - ๔ กม. วันหนึ่งเดินทางได้ประมาณ ๒๐ กม. อย่างมากไม่เกิน ๓๒ กม.
๑๓/ ๗๘๘๘
๒๒๖๓. ตางัว ๑ - หอย
มีบทนิยามว่า "ชื่อหอยทะเลชนิดหนึ่ง" แต่ตางัวที่ถูกนั้นเป็นเพียงฝาที่ปิดปากของ
"หอยอูด" หอยชนิดนี้ฝาปากหนาโค้งเข้า เมื่อแกะออกจากตัวหอย กลายเป็นเบี้ยตางัว
เหมาะสำหรับเล่นหมากรุก
หอยอูด หรือหอยที่มีเบี้ยตางัวนั้น มีเปลือกมวน รูปเหมือนผ้าโพกหัวแน่น เปลือกเป็นมุกเหมือนหอยนมสาว
มีราคา เพราะใช้เป็นเครื่องประดับได้ดี หอยนี้อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลอบอุ่น
พบในอ่าวไทยหลายแห่ง
๑๓/ ๗๘๙๐
๒๒๖๔. ตางัว ๒ - ฤษี
เป็นชื่อฤษีตนหนึ่ง เดิมตาบอดทั้งสองข้าง ต่อมาได้ปรอทกายสิทธิ์จึงคิดใช้อำนาจนั้น
ทำให้ตาดี โดยเอาตาวงัวไปใส่แทน ตาก็กลับมองเห็นเช่นคนตาดี แต่ว่านั้นโต เพราะเป็นตางัว
จึงได้ชื่อว่า ฤษีตางัว
๑๓/ ๗๘๙๑
๒๒๖๕. ตาชั่ง
หมายถึง เครื่องชั่งน้ำหนักสิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ไทยมีเครื่องสำหรับใช้ชั่งน้ำหนักอยู่อย่างหนึ่ง
รูปร่างลักษณะเป็นคัน ปลายคันทั้งสองข้างมีสายห้อยถาด สำหรับวางสิ่งของ ตรงกึ่งกลางคัน
มีที่ติดประจำอยู่กับปลายเสาตั้ง คันกระดกขึ้นลงได้ เป็นเครื่องตั้งกับพื้น
อีกอย่างหนึ่งไม่มีเสาตั้งแต่ตรงกึ่งกลางคัน มีที่สำหรับจับเรียกว่า "หู"
ถือยกชูได้เป็นเครื่องดู ชั่งหรือแขวนชั่ง เครื่องชั่งดังกล่าวเรียกว่า "ตราชู"
วิธีชั่ง มีวัตถุเป็นตุ้ม ขนาดน้ำหนักต่าง ๆ กันเรียกว่า "ลูกชั่ง"
ตราชู ยังใช้เป็นความหมายแปลว่า ความเที่ยงตรงมาแต่โบราณ
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้มี พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด บัญญัติให้ใช้วิธีมาตราเมตริกคือ
ชั่ง เป็น กรัม ตวง เป็น ลิตร วัด เป็น เมตร เรียกเครื่องสำหรับใช้ชั่งน้ำหนักสิ่งของว่า
"เครื่องชั่ง" เรียกลูกชั่งว่า "ตุ้มน้ำหนัก" เครื่องชั่งกำหนดไว้ห้าแบบ
๑. เครื่องชั่งที่มีถาดชั่งห้อยอยู่ใต้คันชั่งทั้งแบบตั้ง และแบบแขวน
๒. เครื่องชั่งที่มีถาดชั่งอยู่เหนือคัน มีฐานตั้งกับพื้น
๓. เครื่องชั่งที่มีคันกลมยาวค่อนไปทางหัว มีสายห้อยถาดชั่ง หรือขอ มีเข็มชี้ความเที่ยงตรง
คันมีจุดหรือขีดบอกพิกัด
๔. เครื่องที่มีแท่นใหญ่ สำหรับวางของที่ชั่ง ที่คันมีขีด พิกัดมาตราเป็นกรัม
มีตุ้มเลื่อนติดประจำกับคัน สำหรับชั่งน้ำหนักน้อย และตุ้มถ่วงที่ปลายคัน
สำหรับชั่งน้ำหนักมาก
๕. เครื่องที่มีกลไก เป็นออโตเมติก ใช้ในโรงงานใหญ่ ๆ
๑๓/ ๗๘๙๒
๒๒๖๖. ตาชารด์ - บาดหลวง
เป็นบาดหลวงคณะเยซูอิด นิกายโรมัน คาทอลิก ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๔
ได้สมัครเป็นมิชชันนารี ออกเผยแพร่คริสต์ศาสนาในต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๒๒๓
ได้เดินทางไปร่วมทำงานในอาณานิคมของฝรั่งเศสในเอมริกาใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๒๘
จึงได้ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสมี เชอวาลิเยร์ เดอร์โชมองต์ เป็นราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา
พร้อมด้วยบาดหลวงเยซูอิดอีกห้าคน
บาดหลวงตาชารด์ เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสพร้อมคณะทูตไทย ซึ่งมี ออกพระวิสูตรสุนทร
เป็นราชทูตไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ และได้รับมอบหมายให้นำแผนการลับของคอนสแตนติน
ฟอลคอน ไปเสนอให้บาดหลวง เดอ ลา แชส ถวายพระเจ้าหลุยส์ และถวายสันตปาปาอินโนเซนต์ที่
๑๑ ด้วย สาระสำคัญของแผนการนี้คือ ฟอลคอน เสนอให้ฝรั่งเศสบังคับไทย ให้รับคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เมื่อฝรั่งเศสกับไทยตัดสัมพันธไมตรีกันแล้ว บาดหลวงตาชารด์ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๒ ๑๓/
๗๘๙๘
๒๒๖๗. ตาณฑพ
เป็นชื่อท่าร่ายรำท่าหนึ่ง ซึ่งเทพตัณฑุ ผู้ชำนาญในทางดนตรี ได้เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น
เพื่อให้เทพีร่ายรำถวายพระศิวะ ในบางโอกาส
๑๓/ ๗๙๐๐
๒๒๖๘. ตาด ๑
เป็นชื่อของชนเผ่าที่ชอบเร่ร่อน และรบกวน หรือบุกรุกหัวเมืองชายแดนประเทศจีนโบราณ
พวกตาดตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง ในภาคเหนือของประเทศจีน
พระเจ้ากรุงจีนในยุคโบราณต้องคุมทัพ ขับไล่พวกตาด ซึ่งจีนประฌามว่า เป็นคนป่า
พระเจ้าจิ้นซีฮ่องเต้ ที่ปกครองประเทศจีนระหว่างปี พ.ศ.๒๙๗ - ๓๓๓ โปรดให้สร้ากำแพงเมืองจีนขึ้น
เพื่อขัดขวางพวกตาดมิให้เข้ามารบกวนภาคเหนือของจีน
เมื่อพระเจ้ากรุงจีน ปราบพวกตาดได้ ก็แผ่อาณาเขตออกไปปกคลุมดินแดนของพวกตาด
เช่น สมัยราชวงศ์สิน ดินแดนในลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนหนึ่งตกเป็นของจีน เมื่อพระเจ้ากรุงจีนขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันตก
พวกตาดก็ล่าถอยไป หรือยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงจีน แล้วก็กลายเป็นชาวจีนไป
เมื่อพวกมองโกล มีอำนาจยิ่งใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าเจงกิสข่านในตอนต้นพุทธศตวรรษที่
๑๘ พระองค์ได้กรีฑาทัพรุกไปถึงภาคตะวันออกของทวีปยุโรป พวกมองโกลเหล่านั้นบางทีก็เรียกว่า
พวกตาดมองโกล
เดิมอาศัยอยู่ทางทิศใต้ของทะเลสาบไบคาล ในใจกลางทวีปเอเชีย เป็นชนเผ่าที่มีความเหี้ยมโหม
ชอบการรบราฆ่าฟัน และอพยพเร่ร่อนไปหาถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าเป็นแหล่งที่อยู่เสมอ
และได้เข้ารุกรานประเทศจีน ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๓ พระเจ้ากุบไลข่านประมุขชาวมองโกล
ก็ได้สถาปนาราชวงศ์หงวน
ปกครองประเทศจีนจนถึงปี พ.ศ.๑๙๑๑ จึงเปลี่ยนเป็นราชวงศ์เหม็ง
๑๓/ ๗๙๐๐
๒๒๖๙. ตาด ๒
มีคำนิยามว่า "ชื่อผ้าชนิดหนึ่ง ทอด้วยไหมควบกับเงินแล่ง หรือทองแล่ง จำนวนเท่ากัน
เรียกชื่อต่าง ๆ กันตามลักษณะของลาย เช่น ตาดลายคดกริช ตาดตาตั๊กแตน
ถ้ามีไหมปักทับลงไปอีกเป็นดอกเรียกว่า ตาดระกำไหน"
เล่ม ๑๓/ ๗๙๐๓
๒๒๗๐. ตาแดง ๑ - เต่า
เป็นชื่อเรียกเต่ากระอาน ซึ่งเป็นเต่าน้ำจืด
๑๓/ ๗๙๐๔
๒๒๗๑. ตาแดง ๒
หมายถึง การอักเสบของนัยน์ตา อาการตาแดงพบเป็นกันบ่อยมาก อาการตาแดงมีสองแบบคือ
เป็นแบบชั่วคราว และเป็นแบบเรื้อรัง ชนิดเป็นชั่วคราวมีสาเหตุจากสิ่งระคายเคืองภายนอก
ส่วนโรคตาแดงเรื้อรัง มีสาเหตุหลายอย่างทั้งที่รุนแรง และไม่รุนแรง โรคที่รุนแรงคือ
โรคม่านตาอักเสบ และโรคต้อหิน
อาการตาแดง มีการรักษาหลายวิธีสุดแต่สาเหตุ
๑๓/ ๗๙๐๔
๒๒๗๒. ตาตุ่ม - ปลา
จัดอยู่ในวงศ์ปลาหลังเรียว มีเป็นจำนวนมาก และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล
มีบางตัวเข้ามาเฉพาะบางฤดูเท่านั้น
๑๓/ ๗๙๐๖
๒๒๗๓. ตาเต็ง
เป็นเครื่องชั่งแบบชั่งจีนขนาดเล็ก (ดู ตาชั่ง - ลำดับที่ ๒๒๓๕) มีรูปร่างลักษณะเป็นคันกลมยาว
ที่ตัวคันค่อนไปเกือบสุดทางหัว มีสายห้อยถาดมีเข็มเล็ก ๆ ติดกับคัน สำหรับชี้บอกความเที่ยงตรง
และตรงที่ห้อยถาดอีกด้านหนึ่ง มีเชือกเป็นหูสำหรับยกขึ้น จากที่ติดเข็มไปตามคัน
ทำเป็นจุดฝังหมุด และขีดบอกพิกัดน้ำหนักตลอดไปถึงปลายคัน มีตุ้มร้อยเชือกเส้นเล็ก
ๆ สำหรับคล้องห้อยกับคันเวลาชั่ง
๑๓/ ๗๙๐๗
๒๒๗๔. ตาน - ต้น
เป็นชื่อทางนครศรีธรรมราชเรียกพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียก
หญ้ากระถิน (กลาง จันทบุรี )
ตาน ดูเผิน ๆ คล้ายหญ้า ขึ้นเป็นกระจุก ช่อดอกเป็นก้านยาวประมาณ ๓๐ - ๔๐ ซม.
ปลายมีกาบ ดอกซ้อนกันแน่นสีเหลือง ออกตามกาบดอก
๑๓/ ๗๙๐๘
๒๒๗๕. ตานขโมย
เป็นชื่อโรคของเด็กโต มีอายุห้าปีขึ้นไป มีอาการโยเย กินอาหารไม่ค่อยได้ ปวดท้อง
ซึม ผอม ท้องป่อง ก้นปอด เป็นเพราะมีพยาธิลำไส้ในท้อง โดยเฉพาะพยาธิไส้เดือน
การรักษาโดยทั่ว ๆ ไป ต้องตรวจตราดูว่ามีไข่พยาธิพวกนี้อยู่ในอุจจาระหรือไม่
เพื่อเป็นการวินิจฉัยให้ถูกต้อง แล้วใช้ยาถ่ายพยาธิไส้เดือน ขับตัวพยาธิออกจากร่างกาย
๑๓/ ๗๙๐๘
๒๒๗๖. ตานเสี้ยน
เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกสีขาวออกเป็นกระจุกสั้น
ๆ ตามกิ่งเล็ก ๆ ผลกลมรี ปลายมีติ่งแหลม
๑๓/ ๗๙๐๙
๒๒๗๗. ตานหม่อน
เป็นกิ่งไม้เถา ยาวประมาณ ๓ เมตร ลำต้นมีไส้กลวง ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปไข่กลับ
ช่อดอกออกเป็นกลุ่มสีขาวหม่น ประม่วง ออกตามง่ามใบ และปลายกิ่ง เมล็ดจะมีเส้นขนแข็ง
ๆ ล้อมรอบ ทำให้ปลิวไปตามลมได้ไกล ๆ
พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ใบและต้นเป็นยาเพื่อขับพยาธิ และรักษาลำไส้
๑๓/ ๗๙๑๐
๒๒๗๘. ตานี - กล้วย
เป็นทั้งกล้วยป่า และกล้วยปลูก ใบมีความเหนียวกว่าใบกล้วยธรรมดา ส่วนผลนั้นเต็มไปด้วยเมล็ด
มีเรื่องเกี่ยวกับต้นกล้วยตานี คือ พรายตานี
และโดยเหตุนี้ชาวบ้านจึงไม่กล้าปลูกกล้วยตานีไว้ใกล้เรือน ถ้าจะตัดเอาใบตองไปใช้
ก็ห้ามไม่ให้ตัดเอาใบทั้งใบ ต้องเจียนเอามาแต่ใบตองเท่านั้น เพราะถ้าตัดเอาเข้ามาในเรือนทั้งใบ
ถือเป็นลาง เห็นจะเนื่องจากคติเดิมที่ใช้ใบตองกล้วยตานีสามใบ รองก้นโลกศพ
กล้วยตานี ถ้าคราวออกปลี จะมีพิธีพลีพรายนางตานี ขอให้คุ้มครองรักษาคนในบ้าน
และให้มีลาภ ถ้ากล้วยตานีที่ทำพิธีเซ่นวักแล้ว ออกปลีกกลางต้น ก็ถือว่ากล้วยตานีนั้น
เกิดมีพรายตานีขึ้นแล้ว ๑๓/
๗๙๑๐
๒๒๗๙. ตาบ
เป็นชื่อเครื่องประดับอย่างหนึ่งในชุดพระเครื่องต้นของกษัตริย์และเครื่องแต่งตัวละครรำตัวพระ
ตาบมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมบางทีก็จตุรัส บางทีก็เป็นรูปขนมเปียกปูน ประดับด้วยเพชรพลอยต่าง
ๆ โดยมากมักทำเป็นชั้นซ้อน ๆ กันสามชั้น มีขนาดเล็กลงตามลำดับ
โดยปรกติตาบจะติดอยู่กับสายสังวาลตรงด้านข้าง ซึ่งห้อยอยู่ตรงบั้นเอวทั้งขวาและซ้าย
กับที่สังวาลไขว้ประสานกันตรงกลางหลังอีกอันหนึ่ง มักเรียกกันว่า "ตาบทิศ"
ยังมีเครื่องประดับอีกอันหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดเดียวกัน ห้อยประดับอยู่ด้านหน้าตรงหน้าอกเรียกว่า
"ทับทรวง" มีรูปร่างลักษณะเดียวกับตาบ
แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีชั้นเชิงมากกว่า แต่การประดับมักจะต้องเป็นชุดเดียวกันกับตาบ
ในบทละครตอนแต่งตัวมักจะกล่าวเครื่องประดับทั้งสองอย่างนี้ติดกันเป็น "ตาบทิศทับทรวง"
๑๓/ ๗๙๑๔
๒๒๘๐. ตาปนนรก
เป็นชื่อนนรกใหญ่ขุมที่หก ในบรรดานรกใหญ่แปดขุม ตั้งอยู่ภายใต้ถัดจากมหาโรรุวนรกลงไป
ที่เรียกว่าตาปนนรก เพราะมีความร้อนอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากถ่านเพลิงและเปลวเพลิง
มีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีฝาผนังเหล็ก ภายในสะพรั่งไปด้วยหลาวเหล็กเป็นหมื่น
ๆ แสน ๆ พวกนายนิรยบาลคอยจับสัตว์นรก ยกขึ้นเสียบไว้บนปลายหลาวเหล็กนั้น ไฟจากแผ่นดินจะลุกเป็นเปลวสูงขึ้นไปไหม้ร่างกายสัตว์นรก
เมื่อตัวสัตว์นรกสุกดีแล้วประตูนรกทั้งสี่ด้านระเบิดออก สุนัขนรกมีฟันเป็นเหล็กพากันเข้าไปกัดกินเนื้อจนเหลือแต่กระดูก
สัตว์นรกตายไปแล้ว ครั้นต้องจมนนรกก็กลับเป็นร่างกายขึ้นมา แล้วเข้าวงจรดังกล่าวข้างต้นกำหนดนานได้
๑๖,๐๐๐ ปีนรก ๑๓/
๗๙๑๖
๒๒๘๑. ตาปลา
เป็นผิวหนังที่เกิดการกระด้างหนาขึ้น พบบ่อยที่นิ้วก้อยของเท้าคนหรือส่วนที่ยื่นออกมากของเท้า
ซึ่งจะถูกกดหรือเสียดสีบ่อย ๆ ผิวหนังส่วนนี้มีลักษณะหนาด้าน รูปร่างกลม มีลักษณะเป็นรูปกรวยฐานอยู่นอก
ยอดอยู่ใน
ตาปลานี้อาจมีการอักเสบติดเชื้อแล้วกลายเป็นฝีมีหนองได้ ตาปลาอาจหายได้เองทีละน้อย
ๆ ถ้าเอาสาเหตุที่ทำให้เป็นออกไป
๑๓/ ๗๙๑๗
๒๒๘๒. ตาปี
เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในปักษ์ใต้ บางทีเรียกว่าแม่น้ำบ้านดอน เดิมเรียกว่า
แม่น้ำหลวง
แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำตาปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ยอดน้ำเกิดจากเขาใหญ่ยอดต่ำ
ไหลไปทางเหนือ ไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ ของ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี
แล้วไปออกทะเลใน ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุวราษฎร์ธานี มีความกว้าง ๘๐ เมตร ยาว
๒๓๒ กม. มีน้ำตลอดปี ปากน้ำมีสันดอน ตอนปากอ่าวมีทางแยกไป อ.กาญจนวดิษฐ์ เรียกว่า
คลองท่าทอง ครั้งโบราณพวกอินเดียเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูที่ตะกั่วป่า ข้ามเขามาลงแม่น้ำตาปี
๑๓/ ๗๙๑๙
๒๒๘๓. ตาพระยา
อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเขมร ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
อ.ตาพระยา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.อรัญประเทศ ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ๑๓/
๗๙๒๑
๒๒๘๔. ตาไฟ - ฤาษี
เป็นชื่อฤาษีตนหนึ่งคู่กับฤาษีตาวัว ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เมืองศรีเทพในสมัยโบราณ
เมื่อครั้งนับถือศาสนาพราหมณ์ร้างไป เนื่องจากคนต้องตายเพราะเสียรู้ศิษย์ผู้ไม่ทำตามสัญญา
แต่ฤาษีตาวัวไปพบจึงเอาน้ำไปรดศพให้ฟื้นคืนชีวิต แล้วแก้แค้นลงโทษศิษย์ตลอดจนประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง
โดยนิมิตวัวกายสิทธิ์เข้าไปปล่อยไอพิษร้ายออกมาทำลายจนตายหมด
๑๓/ ๗๙๒๑
๒๒๘๕. ตามใจท่าน
ชื่อบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากบทละครภาษาอังกฤษของเชกสเปียร
พระองค์เริ่มทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เสร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔
บทพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้วสลับกับกลอน มีกาพย์ ร่าย และโคลง แทรกในบางตอน
ความดีเด่นของบทละครเรื่องตามใจ ท่าน มิได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่สำนวนโวหารอันไพเราะ
น่าฟัง ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความสุขในความสันโดษ ตลอดจนคารมกล้าของตัวละคร
๑๓/ ๗๙๒๓
๒๒๘๖. ตามพปัณณี
เป็นชื่อหนึ่งของประเทศศรีลังกา ในสมัยเริ่มแรกถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕
ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีดินร่วนมีสีแดง เมื่อเจ้าชายวิชัยผู้เป็นบรรพบุรุษของศรีลังกาดั้งเดิม
แล่นเรือมาขึ้นบกแล้วพัก ณ ที่ตรงนั้น เอาฝ่ามือเท้าพื้นดิน ปรากฎว่าฝ่ามือทุกคนมีสีแดง
ที่ตรงนั้นจึงมีชื่อว่าตำบลตัมพยัณณี แปลว่าตำบลแห่งคนมีฝ่ามือแดง
๑๓/ ๗๙๒๔
๒๒๘๗. ตามพรลิงค์
เป็นชื่ออาณาจักรโบราณในภาคใต้ของไทย ในเอกสารของลังกา ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๕
เรียกแคว้นนี้ว่า ตามลิงคัม
ฉบับแปลครั้งแรกในพุทธศตววรรษที่ ๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ เรียกแคว้นนี้ว่า
ตามลิงโคมุ
อาณาจักรตามพรลิงค์ บางท่านว่า อยู่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราช บางท่านว่าตั้งอยู่ระหว่างไชยากับปัตตานี
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ลงความเห็นว่า เมืองหลวงของตามพรลิงค์อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
โดยอ้างจารึกที่วัดหัวเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎณ์ธานี ซึ่งมีความว่า "พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์
เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์... "ทรงพระนามศรีธรรมราช" อีกตอนหนึ่งว่า "ทรงพระนามจันทรภาณุ
ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค ๔๓๓๒..."
ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า ตัน - มา - ลิง
บางท่านเข้าใจว่าหมายถึงนครศรีธรรมราชหรือไชยา จดหมายเหตุของพระภิกษุอิจิง
ได้กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ไว้ว่า ผู้ครองอาณาจักรตันมาลิงนี้เรียกว่า
เสียงกุ่ง รอบเมืองนี้มีกำแพงเสาพะเนียดหนาประมาณ ๖ ฟุต ถึง ๗ ฟุต สูงกว่า
๒๐ ฟุต (หน่วยน่าจะเป็นศอก ในภาษาจีน - เพิ่มเติม)
ซึ่งสามารถใช้ในการรบพุ่งได้ ชาวเมืองขี่ควาย เกล้ามวยผมไว้ข้างหลัง เดินเท้าเปล่า
บ้านของขุนนางสร้างด้วยไม้ ส่วนบ้านของชาวเมืองนั้นเป็นกระท่อมไม้ไผ่ มีฝากั้น
ทำด้วยใบไม้ ขัดด้วยหวาย
อาณาจักรตามพรลิงค์ ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗
ตามจารึกของพระเจ้าราเชนทรโจฬะ (พ.ศ.๑๕๗๓ - ๑๕๗๔) พบที่ตันโจร์ ประเทศอินโดนิเซีย
กล่าวว่าทรงกรีธาทัพมาตีได้เมืองมาทมาลิงคัม (ตามพรลิงค์ )
กษัตริย์อาณาจักรตามพรลิงค์องค์สำคัญคือ พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงกรีธาทัพไปตีลังการวมสองครั้ง
กองทัพของพระองค์มีชาวทมิฬรวมอยู่ด้วย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ ทรงยกทัพขึ้นบกที่ภาคใต้ของลังกา
ถูกทัพเจ้าวีรพาหุ ตีแตกพ่ายต้องถอยกลับมา ครั้งที่สองระหว่างปี พ.ศ.๑๘๐๑
- ๓ ทรงยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ทัพลังกา ซึ่งมีเจ้าชายวีรพาหุ
และเจ้าชายวิชัยพาหุ เป็นแม่ทัพ
พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงชักจูงให้ชาวทมิฬเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตามพรลิงค์
จึงมีชาวทมิฬเข้ามาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยมากขึ้น นับแต่นั้นมา
ในยามสงบ ศรีลังกากับตามพรลิงค์มีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนา พระเจ้าปรากรมพาหุได้ส่งสิ่งของ
โดยมีศาสนวัตถุสำคัญรวมอยู่ด้วยมาถวายพระเจ้าจันทรภาณุ เพื่อขอให้นิมนต์พระธัมกิตติเถระไปที่ประเทศศรีลังกา
หนังสือชินกาลบาลีปกรณ์กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๑๗๙๙ มีเจ้าผู้ครองศิริธัมมนคร ทรงพระนามว่า
สิริธรรมราช ด้วยโรจราช (พระร่วง ผู้ครองเมืองสุโขทัยได้ทรงส่งทูตานุทูตไปลังกา
เพื่อขอรับพระพุทธสิงหิงค์
ตามพรลิงค์นี้ เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๓๑๘ - พ.ศ.๑๗๗๓
ในปี พ.ศ.๑๗๗๓ พระเจ้าจันทรภาณุตั้งแข็งเมืองไม่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัย แต่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย
เล่ม ๑๓/ ๗๙๒๕
๒๒๘๘. ตามรลิปติ, ตามลุก
เคยเป็นเมืองท่าเรือตะวันออกของประเทศอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในแคว้นเบงกอล เดิมเป็นเมืองโบราณมาแต่เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๙๓
เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียน
ก็ลงเรือกลับประเทศจีนที่เมืองนี้ ต่อมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลวงจีนอิจิง
ก็ลงเรือที่เมืองเดียวกันนี้กลับประเทศจีน
จดหมายเหตุจีนเรียกเมืองนี้ว่า ตัน โฆ ลิ ติ
๑๓/ ๗๙๒๘
๒๒๘๙. ตารกาสูร - ท้าว
เป็นแทตย์ หรืออสูรตนหนึ่ง ผู้ครองตรีปุระ ซึ่งในหนังสือรามเกียรติ์ว่า ท้าวตรีบูรัม
เป็นผู้มีฤทธิ์มาก ไม่มีใครปราบได้ นอกจากโอรสพระศิวะ ซึ่งเกิดจากนางบารพตี
คือ พระขันทกุมาร (ดู ขันทกุมาร ลำดับที่ ๗๑๔ ประกอบด้วย)
๑๓/ ๗๙๒๙
๒๒๙๐. ตาราง - เหลี่ยม
เป็นคำใช้ในมาตราวัดพื้นที่ หรือเนื้อที่ในภาษาไทย หมายถึง ลักษณะที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า
มีมุมเป็นมุมฉาก หรืออะไรที่ขัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าเหล่านี้ เรียกกันว่า
"ตา" บ้าง "ตะราง" บ้าง "ตาราง" บ้าง และ "ตาตะราง" บ้าง มีที่ใช้ดังนี้
ตา เช่น
ตาหมากรุก ตาข่าย ผ้าตา
ตะราง แปลว่า
ไม้ที่ขัดเป็นช่องห่าง ๆ และหมายถึง ที่สำหรับขังนักโทษ คำว่า ตาราง
จะใช้ในมาตราวัดเนื้อที่เมื่อไร ไม่ทราบแน่ แต่มีเค้าอยู่ทางหนึ่ง ซึ่งเช้าใจว่าจะเกิดคำว่า
ตะราง และเรียกว่า ตารางเหลี่ยม ขึ้นก่อน คงจะมีความประสงค์ให้หมายถึง ตารางที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า
มุมเป็นมุมฉาก ให้ชัดเจนขึ้น
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด บัญญัติให้ใช้วิธีเมตริก มาตราวัดพื้นที่แบบเมตริก
ให้เทียบกับมาตราไทย ดังนี้
๑ ไร่ = ๑,๐๐๐ ตารางเมตร ๑ งาน = ๔๐๐ ตารางเมตร
๑ ตารางวา = ๔ ตารางเมตร
๑๓/ ๙๗๓๑
๒๒๙๑. ตาร้าย
มีคำนิยามว่า "เรียกผู้ที่มองดูคนอื่นแล้ว ถือว่าให้โทษแก่คนนั้น ที่เดือดร้อน"
เฉพาะความหมายแรกตรงกับคดิความเชื่อถืออย่างหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้วในกฎหมายเก่าของไทน
ใช้คำว่า ดูร้าย
ด้วยเหตุนี้ คนแต่ก่อนเวลาจะชมเด็ก จึงมักพูดให้เห็นตรงกันข้ามเสีย เช่น จะชมว่าเด็กนี้น่ารัก
ก็ต้องพูดว่าเด็กนี้น่าชัง จะพูดว่าสวย เป็นขี้เหร่ เป็นต้น
๑๓/ ๗๙๓๖
๒๒๙๒. ตาล - ต้น
เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า "โตนด
ตาลโตนด ตาลใหญ่ ตาลนา (กลาง)"
ต้นสูง ๒๐ - ๓๐ เมตร มีรอยควั่นรอบ ๆ เนื่องจากรอบแผลใบเก่า แบบต้นมะพร้าว
ต้นตาลมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย อยู่แยกคนละต้น จะรู้ว่าต้นใดเป็นต้นตัวผู้
หรือต้นตัวเมืย เมื่อเริ่มมีดอกซึ่งเป็นเวลาสิบปี
ใบใหญ่ แข็งแรง ก้านใบยาว ๑ - ๑.๒๐ เมตร ตามแนวขอบก้านใบมีหนามสั้น ๆ สีดำ
ตัวใบรูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เมตร มีเส้นใบจำนวนมาก แยกเป็นรัศมี
จากจุดปลายก้านไปสู่ขอบใบ ขอบใบเป็นจักแหลม
ช่อดอก ออกตามง่ามใบเป็นช่อสั้น ๆ มีหลายแขนง ก้านกลม ช่อดอกตัวผู้ประกอบด้วย
กาบดอกเป็นเกล็ดซ้อนกันแน่น รอบก้านดอก ดอกตัวผู้เล็กมาก ดอกตัวเมียออกที่ปลายช่อ
รูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม.
ผลใหญ่ กลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐ ซม. ยาวราว ๑๕ ซม. ผิวเปลือกเกลี้ยงไม่มีขน
เวลาสุกกลิ่นแรง เนื้อสีเหลือง นิยมเอาไปคั้นเอาน้ำทำขนมเรียกว่า ขนมตาล
เมล็ดมี ๑ - ๓ เมล็ด ผิวนอกแข็งมาก มีขนหรือใบยาวติดรุงรัง เวลาผลตาลยังอ่อนอยู่
เมล็ดนี้มีสภาพอ่อนมาก และคนนิยมกินสด เวลาผลแก่ก็ใช้เนื้อภายในเมล็ดที่เรียกว่า
จาวตาล
เชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน
ต้นตาล ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ใบมุงหลังคาชั่วคราว ใช้สานทำเครื่องใช้ต่าง
ๆ เนื้อไม้จากต้นแก่แข็งมาก ใช้ทำสากและครก ตลอดจนของใช้ประจำบ้านอื่น ๆ
เวลาออกดอก ชาวบ้านใช้มีดปาดก้านช่อดอก รองเอาน้ำหวานไปเคี่ยวทำน้ำตาลพื้นเมืองเรียกว่า
น้ำตาลปึก
น้ำตาลหม้อ น้ำตาลสด ถ้าหมักและใส่สมุนไพรบางอย่างก็จะกลายเป็น
น้ำตาลเมา
หรือกระแช่
๒๒๙๓. ตาลปัตร
เป็นพัดใบตาลที่มีด้ามยาวสำหรับพระใช้ หนังสือเก่าใช้ว่าตาลิปัตร
ปัจจุบันยังหมายถึงพัดยศและพัดรองสำหรับที่พระสงฆ์ใช้ ในความหมายหลังนี้มักใช้ว่าพัดเป็นส่วนมาก
ตาลปัตร แปลตามพยัญชนะว่าใบตาล หรือใบลาน ที่ใช้เป็นพัดก็ทำด้วยใบตาล หรือใบลานจริง
ๆ มีใช้กันมานานแล้ว เข้าใจว่าคงมีมาก่อนพุทธกาล
ในหนังสือสมันตปาสาทิกา อรรถกถา วินัยปิฎก ภาค ๑ เล่าถึงการใช้พัดนอกเหนือไปจากการใช้รำเพยลมว่า
พระใช้บังหน้าบังตาเวลาแสดงธรรม หรือสวดธรรมด้วย
เรื่องตาลปัตรนี้ พระสงฆ์คงใช้เป็นประจำเท่ากับเป็นบริขารอย่างหนึ่ง ชาวบ้านปรารถนาบุญกุศลก็ทำถวายพระ
พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้หามาถวายพระบ้าง เมื่อเป็นของพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสิ่งนั้นก็กลายเป็นเครื่องยศ
หรือเครื่องประดับยศ
๑๓/ ๗๙๔๑
๒๒๙๔. ตาลปัตรยายชี
เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่งลอยอยู่ตามคูหรือแอ่งน้ำนิ่ง ที่ค่อนข้างตื้น ลำต้นคงเป็นเหง้าเล็ก
จมอยู่ในโคลนแล้วส่งใบขึ้นเหนือผิวน้ำ ก้านใบยาว ตัวใบแบนใหญ่ขนาด ๑๐ - ๑๕
ซม. รูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อคล้ายก้านใบ
๑๓/ ๗๙๔๘
๒๒๙๕. ตาลปัตรฤษี ๑ - กล้วย
กล้วยพัด กล้วยลังกาก็เรียก เป็นพันธุ์ไม้ประดับที่ปลูกกันมาก ลำต้นคล้ายต้นมะพร้าวหรือปาล์ม
เนื้อแข็ง อยู่ได้นานปี มีหน่อ ใบคล้ายใบกล้วยธรรมดา แต่ทั้งก้านและใบยาวกว่า
ออกเป็นแถวตั้งเดี่ยวที่ปลายลำต้น ทำนองพัดคลี่ โคนก้านใบซ้อนทับกันแน่น ทำให้เกิดเป็นซอง
๑๓/ ๗๙๔๙
๒๒๙๖. ตาลปัตรฤษี ๒
เป็นพิ้นบ้านที่ใช้เรียกของป่าชนิดหนึ่ง เป็นส่วนที่เกิดเมล็ดของพันธุ์พืชจำพวกปรง
และมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพัด หรือตาลปัตรยอดแหลมที่พระสงฆ์ถือ
๑๓/ ๗๙๔๙
๒๒๙๗. ตาลี
เป็นชื่อเมืองในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ริมทะเลสาบเออร์ไห ซึ่งมีความยาวกว่า
๑๖๐ กม. กว้างประมาณ ๓๒ กม. ตัวเมืองตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเออร์โห มีชัยภูมิมั่นคงมาก
เพราะตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบกับภูเขา ช่องเขาซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่ตัวเมือง
จึงง่ายต่อการป้องกัน เดิมเป็นเมืองเล็กของชนหมู่น้อยกลุ่มหนึ่งชื่อโหมัน
และมีชื่อเดิมว่าชิตัน จักรพรรดิ์วู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นส่งทหารเข้าตีเมืองนี้และยูนนานทั้งหมดได้
เมื่อปี พ.ศ.๔๓๔ แต่ไม่ได้ดำเนินการปกครองดินแดนเหล่านี้อย่างจริงจัง
ในสมัยที่พระเจ้าพีล่อโก๊ะ เริ่มแผ่ขยายอาณาเขต สามารถขับไล่พวกโหมันออกไปจากเมืองนี้ได้สำเร็จในปี
พ.ศ.๑๒๘๐ และให้สร้างเมืองตาลีขึ้นใหม่ พระเจ้าโก๊ะล่อฝง สามารถต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ของกองทัพจีนได้สำเร็จในปี
พ.ศ.๑๒๙๔ - ๑๒๙๗ ทหารจีนถูกทหารน่านเจ้าฆ่าตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าโก๊ะล่อฝง
ถึงกับโปรดให้จารึกชัยชนะครั้งนี้ลงในหินอ่อน และให้สร้างที่ฝังศพทหารจีนใกล้เมืองตาลี
กุบไลข่าน ตีเมืองตาลีได้ในปี พ.ศ.๑๗๙๖ และนับเป็นครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน เข้าไปรวมกับอาณาจักรจีนอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันสถานที่ตั้งเมืองตาลีโบราณเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ยังมีซากป้อมและกำแพงสร้างด้วยอิฐปนดินปรักหักพังอยู่
๑๓/ ๗๙๕๐
๒๒๙๘. ตาเหลือก - ปลา
ครั้งแรกปลาตาเหลือกอยู่ในทะเลและได้เข้ามาในน้ำจืดของเมืองไทย ตามลำน้ำสายล่างของลำน้ำใหญ่
๑๓/ ๗๙๕๑
๒๒๙๙. ตำบล
ชื่อหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค ที่รวมหมู่บ้านหลายหมู่บ้านเข้าด้วยกัน มีฐานะใหญ่กว่าหมู่บ้าน
แต่เล็กกว่าอำเภอ มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง ตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗
บัญญัติว่าบ้านหลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่งให้จัดเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณคือ
ถ้ามีคนอยู่รวมกันมากถึงจำนวนบ้านน้อย ก็ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญ ราว ๒๐๐
คน เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนจะน้อยถ้ามีบ้านไม่ต่ำกว่า
๕ บ้าน แล้วจะจัดเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้
ส่วนตำบลบัญญัติไว้ว่า หลายหมู่บ้านรวมกันราว ๒๐ หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบลหนึ่ง
๑๓/ ๗๙๕๓
๒๓๐๐. ตำแย
เป็นจำพวกผักล้มลุก สูงประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซม. มีขนตามลำต้นและใบ ซึ่งถูกเข้าแล้วคันและเป็นผื่นตามผิวหนัง
มีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป และชอบที่ชื้น
ใบแบบใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปใบเป็นรูปไข่ กว้าง ๕ - ๗ ซม. ยาว ๗ - ๑๐ ซม.
ช่อดอก เรียวยาว ๒ - ๘ ซม. ออกตามง่ามใบ ดอกเล็กสีเขียว ออกติดกันเป็นกระจุก
เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ผลเล็กมาก
นอกจากตำแยตัวเมียดังกล่าวแล้ว ยังมีตำแยแมว ตำแยตัวผู้ (กลาง) และตำแยช้าง
๑๓/ ๗๙๕๔
๒๓๐๑. ตำรวจ
หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตรา และรักษาความสงบ จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
คำว่าตะรวจสันนิษฐานว่า คงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาได้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็นสี่เหล่าเรียกว่า
จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา ให้มีการตำรวจขึ้นด้วย โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง
มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก เป็นผู้บังคับบัญชา มีการตรวจตราศักดินา
ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่าง ๆ ไว้ในบทพระอัยการคือ
ตำรวจภูธร
หลวงวาสุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูธร ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนพิษณุแสน ปลัดขวา
ศักดินา ๖๐๐ ขุนเพชรอินทรา ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
ตำรวจภูบาล
หลวงเพชรฉลุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูบาล ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนมหาพิชัย ปลัดขวา
ศักดินา ๖๐๐ ขุนแผนสะท้าน ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญในตอนปลายรัชกาลที่สี่ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๕
ได้ว่าจ้างกัปตัน เอส.เย.เบิร์ด เจมส์ ชาวอังกฤษ ภายหลังได้เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
มาเป็นผู้วางโครงการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรปเรียกว่ากองโปลิส
โดยจ้างชาวมลายู และชาวอินเดียมาเป็นพลตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเบิล
ให้มีหน้าที่รักษาการแต่ในเขตกรุงเทพ ฯ ชั้นใน และขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้ทรงขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ
แล้วยังได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นรูปทหารโปลิส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ โดยได้ว่าจ้างชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวณหัวเมือง
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทน
มีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (ยี.เชา) เป็นเจ้ากรม ทางตำรวจขออนุมัติใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
ในสมัยรัชกาลที่ห้า กิจการตำรวจขึ้นกับสองกระทรวงคือ กรมพลตระเวณ หรือตำรวจนครบาล
ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล กรมตำรวจภูธรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย เพิ่งจะมารวมเป็นกรมเดียวกัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เรียกว่า กรมตำรวจภูธร และกรมตระเวณ
๑๓/ ๗๙๕๖
๒๓๐๒. ตำลึง ๑
เป็นหน่วยในมาตราเงินอย่างหนึ่งกับเป็นหน่วยในมาตราชั่งน้ำหนักอีกอย่างหนึ่ง
ในสมัยโบราณมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ใช้ปนกันแทบทุกชาติ ทั้งนี้เพราะมาตราเงินมีวัตถุที่บอกพิกัดมากน้อยต่าง
ๆ เช่น บาท สลึง เฟื้อง ฯลฯ ทำด้วยเงินหรือโลหะอื่น ๆ เรียกรวม ๆ ว่า เงินตรา
เป็นหลักสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเป็นราคาสิ่งของ ที่ซื้อขายกัน เราเอาเงินตรานั้นมาใช้เป็นลูกชั่งหรือตุ้มน้ำหนัก
ชั่งสิ่งของให้รู้น้ำหนักด้วย ดังนั้นมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ก็เลยปนกันเป็นดังนี้
มาแต่โบราณ
มาตราเงิน
ในสมัยสุโขทัยคงจะเป็นดังนี้ ๑ ชั่ง = ๒๐ ตำลึง ๑ ตำลึง
= ๔ บาท ๑ บาท = ๔ สลึง ๑ สลึง = ๒ เฟื้อง ถัดจากเฟื้องมาก็เป็นเบี้ย
ชั้นเดิมว่ามีอัตรา ๔๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง
ในสมัยอยุธยา มาตราเงินคงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย เฟื้องหนึ่งเท่ากับ ๘๐๐
เบี้ย
เงินที่ใช้มาแต่โบราณเป็นเงินกลม เรียกว่า เงินพดด้วง
ในสมัยสุโขทัยมีขนาด ๑ ตำลึง และ ๑ บาท สมัยอยุธยาใช้เงินพดด้วงอย่างเดียว
มีสี่ขนาดคือ ๑ บาท ๒ สลึง ๑ สลึง และ ๑ เฟื้อง
สมัยรัตนโกสินทร์ มาตราเงินคงเป็นอย่างเดียวกับสมัยอยุธยา ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่สี่
โปรดให้ตั้งโรงกษาปน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ และทำเงินตราใหม่เป็นรูปแบบกลมเรียกกันว่า
เงินเหรียญ
มีสี่ขนาดคือ ๑ บาท ๒ สลึง และ ๑ เฟื้อง และทำเหรียญขนาด ๑ ตำลึง
กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง ไว้ด้วย แต่มิได้ใช้ในท้องตลาด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕
โปรด ฯ ให้ทำเหรียญดีบุก เป็นเงินปลีกขึ้นใช้แทนเบี้ยอีกสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า
"อัฐ" กำหนดให้
๘ อัฐ เป็นเฟื้อง ขนาดเล็กเรียกว่า "โสฬส"
กำหนดให้ ๑๖ โสฬส เป็นเฟื้อง
พ.ศ.๒๔๐๖ โปรดให้ทำเหรียญทองคำขึ้นสามขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ทศ"
ราคา ๑๐ อัน ต่อ ๑ ชั่ง คือ อันละ ๘ บาท ขนาดกลางเรียกว่า "พิศ"
ราคาอันละ ๔ บาท ขนาดเล็กเรียกว่า "พัดดึงส์"
ราคาอันละ ๑๐ สลึง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๘ โปรดให้ทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้เป็นเงินปลีกมีสองขนาด
ขนาดใหญ่เรียกว่า "ซีก"
สองอันเป็นเฟื้อง ขนาดเล็ก เรียกว่า "เสี้ยว"
สี่อันเป็นเฟื้อง
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ.๒๔๕/ ได้กำหนดมาตราเงินขึ้นใหม่ ถือเอา
"บาท" เป็นมาตรฐานแบ่งบาทออกเป็น
๑๐๐ ส่วน เรียกว่า "สตางค์"
มีอัตรา ๑๐๐ สตางค์เท่ากับ ๑ บาท เป็นมาตราเดียว แต่คนเคยชินกับมาตราอย่างเก่า
จึงมักเอามาตราเก่ามาเทียบ เช่น ๓ สตางค์ เท่ากับ ๑ ไพ ๑๒ สตางค์
= ๑ เฟื้อง ๒๕ สตางค์ = ๑ สลึง คำว่า ตำลึง และชั่ง ก็ยังใช้พูดกัน
ถือตามมาตราเก่า
มาตราชั่ง
ตั้งแต่ " ไพ " ถึง "ชั่ง " เป็นอย่างเดียวกับมาตราเงิน เหนือไพ ลงไปเปลี่ยนเพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักน้อย
ให้ละเอียดขึ้น และต่อชั่งขึ้นมา เพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักมาเข้าอีก มาตรานี้อยู่ในตำราเรียกว่า
"เบญจมาตรา" ของโบราณกำหนดว่าเป็นมาตราสำหรับชั่งทอง
ท่านผูกเป็นคำกลอนไว้ว่า
"ทองพาราหนึ่งแท้ ยี่สิบดุลแน่ ดุลหนึ่งยี่สิบชั่งนา
ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลีงหนา ตำลึงหนึ่งว่า สี่บาทถ้วนจงจำไว้
บาทหนึ่งสี่สลึงไทย สลึงหนึ่งท่านใช้ สองเฟื้องจงจำไว้นา
เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา ไพหนึ่งท่านว่า สองกล่ำจงกำหนดไว้
กล่ำหนึ่งสองกล่อมตามใช้ กล่อมหนึ่งลงไป สองเมล็ดข้าวตามมีมา "
เนื่องจากไทยมีการค้าขายกับจีน แขก ฝรั่ง มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงเกิดมาตราชั่งขึ้นอีกแบบคือ
๒ เมล็ดข้าว = ๑ กล่อม
๒ กล่อม = ๑ กล่ำ
๒ กล่ำ = ๑ ไพ
๔ ไพ = ๑ เฟื้อง
๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
๔ สลึง = ๑ บาท
๔ บาท = ๑ ตำลึง
๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
๑๐๐ ชั่ง = ๑ หาบ
พ.ศ. ๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด- บัญญัติให้ใช้มาตราเมตริก และให้เทียบวิธีประเพณีไว้ดังนี้
๑ ชั่งหลวง = ๑ หาบหลวง = ๖๐ กิโลกรัม
ชั่งหรือชั่งหลวง คือ ชั่ง ๑๖ ตำลึงละ ๑๐ สลึง ๑๐๐ ชั่งเป็น หาบ ๑๓/ ๗๙๖๑
๒๓๐๓. ตำลึง ๒ - ต้น
เป็นไม้เถาขนาดเล็ก มือใบเป็นเส้นเดี่ยวใช้เกาะพันขึ้นตามที่ต่าง ๆ รากอ้วนโตดูคล้ายหัว
ใบ แบบในเดี่ยวหนา รูปหลายเหลี่ยม ขนาดกว้าง ยาว ๕ - ๑๐ ซม. ปลายใบเว้าเป็นหลายง่าม
มีต่อมใสตามเส้นใบ
ดอก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย แยกอยู่คนละดอก รูปคล้ายระฆัง
ขอบโค้งเว้าเป็นห้าจัก สีขาวนวล
ผล รูปคล้ายแตงกวา ขนาดเล็ก เวลาสุกสีแดง มีเมล็ดมาก
คนไทยนิยมใช้ยอดและใบทำเป็นอาหาร ผลดิบใช้ดองบริโภคได้
๑๓/ ๗๙๗๓
๒๓๐๔. ติด - ปลา
มีอยู่ประมาณสี่ชนิด ที่รูปร่างแปลก และอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อน ครีบหลังอันแรกเปลี่ยนไปเป็น
เครื่องดูดที่ช่วยให้ปลานั้นติดกับปลาฉลาม เต่า ปลาวาฬ และสัตว์น้ำขนาดใหญ่อื่น
ๆ กับสิ่งที่ลอยน้ำเช่น เรือ ปลานี้มักชอบให้สัตว์อื่น เป็นตัวพาไปกินปลาตัวเล็กอื่น
ๆ เป็นอาหาร
๑๓/ ๗๙๗๔
๒๓๐๕. ติดต่อ - โรค
หมายถึง โรคใดซึ่งติดต่อกันได้โดยตรง หรือโดยอ้อม จากคนถึงคน หรือจากสัตว์ถึงคน
เช่น ไข้รากสาด (น้อย เทียม ใหญ่) ไข้จับสั่น ไข้หวัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส
โรคไอกรน กามโรค ไข้คอตีบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ปอดอักเสบ โรคคางทูม โรคบิด โรคแอนแทร็กซ์
โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคเรื้อน โรคไข้เลือดออก ฯลฯ
การป้องกัน
ส่งเสริมและสร้างสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง กับโดยการปลูกฝี ฉีดยา ให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย
รักษาอนามัยส่วนบุคคล
การรักษา
ต้องทำให้ถูกต้อง เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
๑๓/ ๗๙๗๔
๒๓๐๖. ติมิ, ติมิงคละ
เป็นชื่อปลาในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง เป็นปลาชนิดใหญ่มหึมา และปลาติมิ ถูกปลาชื่อ
ติมิงคละ ซึ่งใหญ่กว่ากลืนเอาได้ ๑๓/
๗๙๗๖
๒๓๐๗. ติโลกราช
เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ที่ครองนครเชียงใหม่
อาณาจักรลานนาไทย ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระนามเดิมคือ เจ้าลก เป็นโอรสองค์ที่หก
ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๕
ในรัชกาลนี้อาณาจักรลานนาไทย ได้ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกัน
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) พระเจ้าติโลกราช
ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของไทย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๔ โดยพยายามตีเมืองสุโขทัยแต่ต้องถอยทัพกลับไป
กองทัพกรุงศรีอยุธยา กองทัพเชียงใหม่ ที่เมืองเถิน และตีกองทัพเชียงใหม่แตกพ่ายกลับไป
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๐๔ พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาอีก
แต่พอดีพวกฮ่อยกมาตีแดนเชียงใหม่ จึงต้องยกทัพกลับ การที่หัวเมืองเหนือของอยุธยา
ถูกรบกวนเนือง ๆ ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๖ จนสิ้นรัชกาล
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เสด็จยกทัพหลวงรุกไปถึงเมืองลำปาง พระเจ้าติโลกราชทรงตั้งทัพหลวงที่เชิงดอยปา
กองทัพหน้าของอยุธยาตีกองทัพหน้าของเชียงใหม่แตก แต่แม่ทัพหน้าของอยุธยาคือ
พระอินทราชา ต้องปืนที่พระพักตร์ จึงต้องล่าถอยทัพกลับมา
พระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ในเวลา ๒๐ ปีเศษ ทำให้ทางเชียงใหม่อ่อนกำลังลง
ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๐๑๘ จึงทรงขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองอาณาจักรได้เป็นไมตรีกัน
ในตอนปลายรัชกาลของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นนักรบที่สามารถมาก อำนาจของเมืองเชียงใหม่ได้แผ่ขยายไปทั่ว
บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรลานนาไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น
ได้ทรงออกผนวชชั่วระยะเวลาหนึ่ง และโปรด ฯ ให้กระทำสังคายนาคัมภีร์พระไตรปิฎก
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๑ ที่วัดโพธารามวิหารหรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด นับเป็นการสังคายนาอันดับที่แปด
นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ทรงได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า
"พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่"
เล่ม ๑๓/ ๗๙๗๘
๒๓๐๘. ติวอ๋อง
เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซียง ขึ้นครองราชย์เมื่อก่อน พ.ศ.๑๕๙๗
สวรรคตเมื่อก่อน พ.ศ.๑๗๕๔ ทรงปกครองในระบอบเผด็จการและทารุณโหดร้าย มัวเมาในกามสุข
แต่ราษฎรเดือดร้อนทุกข์ยาก
เจ้าผู้ครองนครและแคว้นต่าง ๆ รวม ๘๐ แห่ง ต่างกรีธาทัพมุ่งสู่เมืองหลวง เพื่อปราบติวอ๋อง
และทำการได้สำเร็จ ติวอ๋องได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อกองทัพเหล่านั้นยึดเมืองหลวงได้
และยกบูอ๋อง ขึ้นครองราชย์แทนติวอ๋อง บูอ๋องจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิว
เหตุการณ์ที่เกิดในสมัยติวอ๋อง ถูกนำไปดัดแปลงแต่งเติม และเรียบเรียงเป็นนิยายประเภทเกร็ดพงศาวดาร
มีภาคภาษาไทยชื่อว่า ห้องสิน
๑๓/ ๗๙๘๕
๒๓๐๙. ตีน - ปลา
ปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์ไปกว้างขวางมาก มักอยู่ตามหาดโคลนทราย ชายฝั่งอ่าว และปากน้ำที่เป็นดิน
และตามส่วนล่างของแม่น้ำใหญ่ ๑๓/
๗๙๘๙
๒๓๑๐. ตีนกา - หญ้า
เป็นหญ้าล้มลุก มีรากแข็งแรง ลำต้นแบน มักทอดเอนไปตามดินยาว ๓๐ - ๕๐ ซม.
ช่อดอกเป็นก้านเดี่ยวตรงยาว ๑๐ - ๒๐ ซม. ๑๓/
๗๙๙๒
๒๓๑๑. ตีนเป็ด - ต้น
บางท้องถิ่นเรียกว่า พญาสัตบรรณ เป็นพันธุ์ไม้ทิ้งใบขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๔๐ เมตร
ใบเป็นแบบใบผสม ปลายก้านใบแยกออก คล้ายซี่ร่มเป็นใบย่อย ๔ - ๘ ใบ รูปไข่กลับ
หรือรูปหอกยาว
ช่อดอก ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ยาว ๗ - ๑๓ ซม. ดอกทรงดอกมะลิ ผลเป็นฝักแฝด
มีโคนติดกัน เรียว ยาว ๒๐ - ๕๐ ซม.
เนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง เบา ไม่ทนทาน ใช้ในการทำหีบบรรจุสิ่งของ
๑๓/ ๗๙๙๔
๒๓๑๒. ตืด
ตืด หรือตัวตืด หรือพยาธิตืด เป็นพยาธิตัวแบนในลำไส้คน มีลักษณะเป็นแถบอาจยาวได้หลาย
ๆ เมตร ลำตัวยาวเป็นปล้อง ตรงหัวมีอวัยวะที่ใช้เกาะยึด ถัดจากหัวลงมาเป็นคอ
คอเป็นส่วนสร้างปล้องออกไปเรื่อย ๆ ตัวตืดไม่มีอวัยวะทางเดินอาหาร มันได้อาหารโดยการซึมของอาหารผ่านผิวหนังเข้าไปในตัว
ปล้องแต่ละปล้องมีอวัยวะเพศ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ด้วยกัน
ตัวตืด ที่สำคัญพบในคนได้มาก ในประเทศไทยคือ ตืดวัว และตืดหมู
ตืดวัว
เป็นตัวตืดขนาดใหญ่ ยาว ๕ เมตร ที่หัวมีฐานเกาะรูปกลมสี่ฐาน มีวงจรชีวิตคือ
ปล้องสุกจากตัวแก่ ที่อาศัยในลำไส้เล็กของคนที่มีไข่ผสมแล้ว เต็มมดลูกจะหลุดออกจากตัวครั้งละปล้อง
หรือหลาย ๆ ปล้อง เคลื่อนลงมาสู่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก แล้วถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ
หรือเคลื่อนหลุดมาเอง เมื่อตกไปตามพื้นดิน จะปริแยกมดลูกแตกไข่ จะตกกระจายอยู่ตามพื้นดิน
เมื่อวัวหรือควายเล็มหญ้า ตามพื้นดินกินไข่เหล่านั้นเข้าไป ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนอยู่ตามกล้ามเนื้อ
มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู โตประมาณ ๗ - ๑๐ มม. ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินเนื้อวัว
หรือควายที่มีเม็ดสาคูนี้ โดยไม่ทำให้สุกเสียก่อน เม็ดสาคูที่ไม่ตาย จะกลายเป็นตัวแก่ในลำไส้ต่อไป
ตัวตืดหมู
เล็กกว่าตัวตืดวัว อยู่ในวงศ์เดียวกัน ยาว ๒ - ๓ เมตร ส่วนหัวมีขอ ๒๐
- ๔๐ อัน ช่วยในการเกาะเพิ่มจากฐานสี่ฐาน วงจรชีวิตเป็นแบบเดียวกับตืดวัว
แต่เปลี่ยนเป็นหมู แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือ ไข่พยาธิตืดหมู สามารถเจริญเป็นเม็ดสาคูได้ในคน
เม็ดสาคูอาจไปเกิดในอวัยวะต่าง ๆ ได้
๑๓/ ๗๙๙๕
๒๓๑๓. ตุ๊กแก ๑ - ปลา
เป็นปลามีเกร็ดตลอดตัว มักพบตามชายฝั่งในทะเล เป็นปลาที่มีรสดี
๑๓/ ๗๙๙๘
๒๓๑๔. ตุ๊กแก ๒ - สัตว์
เป็นสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน ซึ่งอยู่ในวงศ์ตุ๊กแก มีรูปร่างเหมือนจิ้งจก แต่ตัวใหญ่กว่า
หนังหยาบมาก เท้าพองทั้งห้านิ้ว และเหนียว มักมีจุดแดงเจือขาวอยู่ตามตัว อาศัยอยู่บนบก
กินแมลงเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามต้นไม้ และบ้านเรือนของผู้คน
๑๓/ ๗๙๙๙
๒๓๑๕. ตุ๊กตา
มีคำนิยามว่า "ของเล่นเด็ก ซึ่งทำเป็นรูปคนขนาดเล็ก ลักษณะนามว่าตัว "
ตุ๊กตาอาจแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทคือ ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น
ตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ และตุ๊กตาที่เก็บไว้ตามโรงเรียน หรือพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา
๑๓/ ๗๙๙๙
๒๓๑๖. ตุ๊กต่ำ
(ตุ๊กกะต่ำ) เป็นแร่ชนิดหนึ่ง ในตระกูลไมกา หรือแร่กลีบหิน มีลักษณะทั่วไปเป็นเกล็ด
หรือแผ่นบางซ้อนกันแน่น ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน ปนเหลืองหรือน้ำตาลแก่
ซึ่งเรียกว่า แร่ไบโอไตต์ ชาวบ้านที่ขุดหาพลอยที่ จ.จันทบุรี เรียกตุ๊กต่ำ
หรือตั๊กตำ เชื่อกันว่า เป็นตัวบ่งชี้พลอย
๑๓/ ๘๐๐๐๐
๒๓๑๗. ตุ๊กต่ำน้ำทอง
เป็นแร่ไบโอไตต์ ชนิดที่มีสีเหลืองน้ำตาล เหลือบเป็นสีทอง นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีสีเหลืองอ่อน
ความวาวแบบมุก ทำให้เหลือบคล้ายเงิน เรียกตุ๊กต่ำน้ำเงิน ชนิดที่เหลือบเป็นทองแดง
เรียกตุ๊กต่ำน้ำนาก ทั้งสามชนิดดังกล่าว ใช้เป็นเครื่องยาผสมกิน แก้ร้อนใน
๑๓/ ๘๐๑๑
๒๓๑๘. ตุงหวง
เป็นชื่ออำเภอในมณฑลกันซู่ ของประเทศจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอนี้
มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อในด้านศิลปะ และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นห้องศิลาอยู่ในบริเวณภูเขาหมิงซาซาน
ที่รู้จักกันดีในนาม "ห้องศิลาตุงหวง" ชาวบ้านเรียกกันว่า "ถ้ำพันพระ"
ในถ้ำมีภาพเขียนอันวิจิตรพิสดาร เป็นสมบัติล้ำค่าหาได้ยากยิ่งในโลก ได้มีผู้ค้นพบห้องศิลา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ นักพรตของลัทธิเต๋า ได้พบหนังสือโบราณจำนวนมากในคูหาที่
๑๖๓ ของถ้ำพันพระนี้ หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอด ตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถัง
และสมัยราชวงศ์ทั้งห้าของจีน
ภายในห้องศิลาตุงหวง มีภาพเขียนสลักตามผนังถ้ำ ต้นฉบับตัวเขียนซึ่งจารึกลงบนกระดาษ
ที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีนแต่สมัยโบราณ ศิลปะส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
๑๓/ ๘๐๑๑
๒๓๑๙. ตุ๊ดตู่ ๑ - ต้น
เป็นชื่อที่ทางจังหวัดตาก เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกชื่อไม้นี้ว่า
จามจุรี ก้ามปู ฉำฉา สำลา ลัง (เหนือ) เป็นพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕
- ๒๕ เมตร เรือนยอดแผ่แบนมาก
ใบ เป็นแบบใบผสม แตกเป็น ๒ - ๔ แขนง มีต่อมหลายต่อม ตามก้านใบกลาง ใบย่อยรูปเบี้ยวถึงเกือบกลม
ยาว ๓ - ๔ ซม.
ช่อดอก ออกตามง่ามใบ เป็นก้านสั้น ดอกเล็ก อยู่เป็นกระจุกที่ปลายก้าน ดอกนี้ทำให้ดูเป็นหัวกลม
ดอกหนึ่ง ๆ ทรงกระบอก สีเหลือง เกสรตัวผู้สีชมพู
ฝักแบนตรง หรือโค้งน้อย ๆ สีน้ำตาลเกือบดำ ยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. กว้าง ๑.๕ - ๒.๕
ซม. ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
เนื้อไม้สีน้ำตาล หยาบไม่ทนทาน แต่ใช้ในการแกะสลัก ทำเป็นสินค้า หรือเครื่องประดับได้ดีมาก
ชื่อตุ๊ดตู่นี้ ทางอยุธยาใช้เรียก กก ชนิดหนึ่งว่า "ตุ๊ดตู่" ทั่ว ๆ
ไปเรียกว่า กกกลม กกทรงกระเทียม ๑๓/ ๘๐๑๓
๒๓๒๐. ตุ๊ดตู่ ๒ - สัตว์
(ดู ตะกวด - ลำดับที่ ๒๑๔๕)
๑๓/ ๘๐๑๔
๒๓๒๑. ตุ่น - สัตว์
เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ตาเล็กมาก ขนนุ่ม ขุดรูอยู่ใต้ดิน
ตุ่น มีรูปร่างป้อม ลำตัวค่อนข้างกลม หัวเล็ก จมูกแหลม ไม่มีหูข้างนอก เล็บใหญ่
หางสั้น อาหารหลักได้แก่ ไส้เดือน (ดิน) ๑๓/
๘๐๑๔
๒๓๒๒. ตุ้มแซะ หรือตุ้มแซะ
เป็นชื่อทางภาคเหนือ บางท้องถิ่นเรียก ตุ้มน้ำ ตุ้มน้อย (เหนือ) กระทุ่มน้ำ
(กลาง) กระทุ่มดง (กาญจนบุรี) กระทุ่มโคก (โคราช)
พันธุ์ไม้นี้เป็นไม้ทิ้งใบขนาดกลางสูง ๘ - ๑๕ เมตร ใบแบบใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน
รูปไข่กว้าง ๆ ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้างราว ๖ ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง
แตกเป็นหลายแขนง ดอกเล็กมากอยู่รวมเป็นกระจุก ที่ปลายก้าน ดอกหนึ่ง ๆทรงแบบดอกมะลิ
ผลอยู่รวมเป็นกระจุก ตามลักษณะเดิมของช่อดอก เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ทนทานปานกลาง
เล่ม ๑๓/ ๘๐๑๕
๒๓๒๓. ตุลาการ
คำว่า ตุลาการ เพิ่งใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร แต่เดิมใช้คำว่า ตระลาการ ซึ่งหมายถึง
ผู้ตัดสินคดีความ หรือผู้พิพากษาเช่นกัน
คำว่า ตุลาการ ซึ่งหมายถึง ผู้ตัดสินคดีความนั้นในทางนิรุคติศาสตร์ มีที่มาจากคำว่า
ตุลา ซึ่งแปลว่า คันชั่ง ทั้งนี้โดยอุปไมยว่า ผู้ตัดสินคีดความพึงตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง
ไม่เอนเอียง เปรียบดังคันชั่ง
หลักำฐานที่เป็นทางการของคำว่าตระลาการก็คือบทพระไแอยการ ลักษณะตระลาการ พ.ศ.๑๐๕๘
(พ.ศ.๒๒๓๙ - ๒๒๔๐) ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาตามความเข้าใจในปัจจุบัน
โดยยึดหลักของเดิมในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของบาลีเป็นหลัก ปรับปรุงให้เข้าลักษณะแห่งสังคมของกรุงศรอยุธยาในสมัยนั้น
ๆ ได้ยกเอาหลักในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาตั้งไว้เป็นปฐมบทเช่นกล่าวถึงลักษณะผู้ที่จะเป็นตระลาการ
๑๓/ ๘๐๑๖
๒๓๒๔. ตูมกา หรือตุมกา - ต้น
เป็นไม้ขนาดกลาง ลำต้นมักคดงอ สูง ๓ - ๘ เมตร ใบแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกับรูปไข่อย่างกว้าง
ยาว ๑๐ - ๑๓ ซม. กว้าง ๖ - ๘ ซม.
ช่อดอกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก ทรงแบบดอกมะลิ
ผลกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ - ๘ ซม. เปลือกเลี้ยงสีเขียว
๑๓/ ๘๐๒๒
๒๓๒๕. เต็ง - ต้น
เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๒๐ - ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน
ปลายมน ก้านใบสั้น ดอกเล็กสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลสีน้ำตาลอ่อน
มีปีกยาวสามปีก ปีกสั้นสองปีก
เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แข็งเสี้ยนตรง หนักพอประมาณ ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเช่น
เสา รอด ตง คาน ฯลฯ
๑๓/ ๘๐๒๓
๒๓๒๖. เต้นรำ
คำนี้คนไทยหมายถึง เฉพาะการรื่นเริงสังสรรค์กันแบบหนึ่ง ซึ่งเอามาจากชาวตะวันตก
ชายหญิงจะจับคู่กันเดินเยื้องย่าง ร่ายรำ หรือกระโดดเต้นไปตามเสียงดนตรีและตามจังหวะต่าง
ๆ
ความสำคัญของการเต้นรำ อยู่ที่รูปแบบ ขบวนการและจังหวะของการก้าวเท้าเป็นใหญ่
มีการเคลื่อนไหวแขน และท่อนกายประกอบบ้างในบางแบบ
การเต้นรำนี้คงจะได้นำเข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมตะวันตกในรูปอื่น
ๆ โดยเฉพาะดนตรีตะวันตก มีหลักฐานปรากฎว่า ได้มีการเต้นรำในสังคมชั้นสูงมาแล้ว
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ แต่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป
ในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปนั้น การเต้นรำเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากการเริงระบำพื้นบ้าน
และมากลายเป็นที่นิยมในสังคมชั้นสูงในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒
๑๓/ ๘๐๒๔
๒๓๒๗. เตมีย์ - ชาดก
เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาชาดก
มหานิบาตนั้นเป็นชาดก ที่กล่าวถึงพระเตมีย์ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ นับเป็นพระเจ้าชาติที่หนึ่งในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
ทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมี
และเนกขัมบารมี
พระพุทธองค์ตรัสเทศนาชาดกเรื่องนี้ ๑๓/๘๐๒๘
พันธุ์ไม้ประเภทนี้แยกเพศกันอยู่คนละต้น ส่วนที่เป็นต้นตัวเมียเรียกกันว่า
เตย ต้นตัวผู้เรียกว่าต้นเตยตัวผู้ก็มี ลำเจียกก็มี การะเกดก็มี
มีเตยอีกชนิดหนึ่งมีใบหอม ใช้ต้นปรุงกลิ่นให้หอมในการทำขนมบางชนิด เรียกกันว่า
เตยหอม
คำว่าปาหนันก็คงหมายถึงลำเจียกหรือเตยตัวผู้เหมือนกัน
๑๓/ ๘๐๓๔
๒๓๒๙. เตลิงคน์
เป็นชื่อชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียโบราณ ซึ่งได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งของชาวรามัญ
เมื่อครั้งรามัญยังรวมกันเป็นประเทศเรียกว่า ประเทศมอญ
คำเตลิงน์นี้ นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่าเป็นที่มาของคำกลิงค์แล้วเพี้ยนมาเป็นตะเลง
ซึ่งเป็นชื่อเรียกชนชาติมอญอีกชื่อหนึ่ง ๑๓/
๘๐๓๕
๒๓๓๐. เตลุคุ - ภาษา
บางทีเรียกว่า ไตลิงคะ อยู่ในภาษาตระกูลทราวิฑ เป็นภาษาที่ใช้พูดกันในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
ในแคว้นกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นแคว้นโบราณแคว้นหนึ่งในอินเดีย
๑๓/ ๘๐๓๖
๒๓๓๑. เต่า
เป็นสัตว์จำพวกหนึ่งซึ่งมีกระดองที่เป็นกระดูกแข็งหุ้มอยู่ภายนอกตัว กระดองเต่าแบ่งออกเป็นกระดองหลังและกระดองท้อง
กระดองทั้งสองยึดต่อกันทางด้านข้างของตัว มีช่องว่างทางหัวท้ายสำหรับให้หัว
หาง และขาทั้งสี่โผล่ออกมาได้
เต่าบกมีเกล็ดมากบนหัว มีกระดองหลังโค้งสูงกว่าเต่าน้ำ ขาทั้งสี่มักมีลักษณะกลมคล้ายกับเสา
มีนิ้วตีนและเล็บสั้น แต่เต้าน้ำจืดมีหนังหนาคลุมบนหัว มักมีกระดองเตี้ย และมีขาแบนกว่า
เพราะต้องใช้ขาว่ายน้ำ นิ้วตันและเล็บยาวและมีแผ่นผังผืดระหว่างนิ้วสำหรับว่ายน้ำด้วย
ส่วนเต่าทะเลส่วนมากมีชีวิตในทะเลจะขึ้นบกบ้างก็ตอนวางไข่เท่านั้น ขาทั้งสี่ของมันจึงเปลี่ยนแปลงไปมากจนกลายเป็นคล้ายครีบปลา
เต่าบกหางมักสั้น
เต่าทะเลต่าง ๆ เป็นสัตว์โบราณ ส่วนน้อยที่รอดพ้นและอยู่มาถึงสมัยปัจจุบัน
การวางไข่จะใช้ครีบยันตัวเคลื่อนขึ้นมาบนหาดทราย ขึ้นไปจนถึงระดับน้ำทะเลเคยขึ้นถึง
เลือกที่ได้แล้วก็ใช้ขาหลังขุดหลุมสำหรับวางไข่ เสร็จแล้วใช้ขาหลังกลบหลุมจนเสมอปากหลุม
แล้วเสือกตัวไปมาเพื่อกลบหลุมพราง ไข่เต่าอาศัยความชื้น และความอุ่นของดิน
ราว ๒ - ๓ เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัว และมักจะออกเป็นตัวพร้อม ๆ กันในคืนเดียวกัน
ลูกเต่าจะรู้โดยสัญชาติญาณว่าทิศใดเป็นทะเล แล้วพากันคลืบคลานลงทะเลถ้าเป็นเวลากลางวัน
นกนางนวลมักจะพาพวกมาคาบลูกเต่าไปกิน บางครั้งรอดตัวลงน้ำทะเลได้ไม่กี่ตัว
และในทะเลลูกเต่าก็จะเป็นเหยื่อปลาใหญ่ ๆ อีกมาก
เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักราว ๗๕๐ กก. เต่ายักษ์ที่เป็นเต่าบกหนักราว
๒๕๐ กก. เต่าอาจอดน้ำอดอาหารได้เป็นเดือน เต่าตายยากกว่าสัตว์อื่น อาจเป็นเพราะเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น
เต่าบางชนิด ผสมพันธุ์กันครั้งเดียว ตัวเมียวางไข่ที่สามารถฟักเป็นตัวได้ต่อไปถึง
๓ - ๔ ปี ๑๓/
๘๐๓๖
๒๓๓๒. เต๋า - ลัทธิ
เป็นชื่อศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของจีน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น เตียเต้าเล้งแห่งลัทธิเต๋า
ได้เผยแพร่การลงยันต์และการใช้เวทมนต์คาถา ต่อมาผู้เป็นหลานยังได้ตั้งลัทธิผีสางขึ้นสั่งสอนประชาชน
ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ปักงุ่ย โค้วเดียวจือ ได้ยกย่องเหลาตัน
หรือที่เรียกกันเป็นสามมัญว่า
เหลาจื๊อ
ขึ้นเป็นศาสดา และเตียเต้าเล้งเป็นอัครมหาสาวก ชื่อศาสนาเต๋าจึงเริ่มมีขึ้นในสมัยนี้
ศาสนาเต๋ามีความสำคัญเคียงบ่าเคียงไหล่กับพุทธศาสนามหายานและศาสนาขงจื๊อ ในบางสมัยศาสนาเต๋าได้รับยกย่องให้เป็นรองจากศาสนาขงจื้อ
แต่มีสถานะสูงกว่าพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถัง ศาสนาเต๋าได้รับยกย่องมาก เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศืนี้มีกำเนิดเดิมในสกุลแซ่ลี้
(หลีซีบิ๋น- เพิ่มเติม)
ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับเหลาตัน ผู้เป็นศาสดาของเต๋า
ตำนานบางเล่มกล่าวว่า ศาสนาเต๋าที่แท้จริง มีกำเนิดในสมัยจักรพรรดิ์อั้งตี่
ส่วนเหลาจื้อนั้น ถือกันว่าเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง
ซึ่งประมวลแนวปรัชญาของเต๋าไว้ คัมภีร์ในศาสนาเต๋ามีมากมายประมาณ ๙,๐๐๐ กว่าเล่ม
ตำราแพทย์แผนโบราณของจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของเต๋า คัมภีร์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ
เอียะเกีย ซึ่งบุนอ๋องเป็นผู้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์เซียง และขงจื้อเป็นผู้ทำอรรถาธิบายในกาลต่อมา
สำนักปฎิบัติเต๋ามีอยู่ทั่วไปในประเทศจีน นักพรตในศาสนาเต๋าทั้งชายและหญิง
จะถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และถือมังสวิรัตเป็นนิจศีล จุดหมายปลายทางของศาสนาเต๋า
มีวิวัฒนาการในระยะหลังเป็นการแสวงหาอมตภาพ ผู้ที่สำเร็จจะกลายเป็นเทพยดาหรือเซียน
วิธีที่บรรลุมีสองทางคือ วิธีภายนอก และวิธีภายใน วิธีภายนอกได้แก่การแสวงหาแร่ธาตุต่าง
ๆ มาสกัดเป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนวิธีภายในได้แก่ การปฎิบัติสมาธิรวบรวมพลังงานต่าง
ๆ ภายในร่างกายของตน ให้ได้เอกภาพ
เต๋า มีความหมายได้หลายอย่างที่สำคัญคือ เต๋า หมายถึง หลักการหรือเหตุผล เต๋า
หมายถึง วิธี เต๋า หมายถึง หนทาง เต๋า หมายถึง ศีลธรรม และเต๋า หมายถึง ไท่เก็ก
คือ สัจธรรม หรือสัจภาวะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปล ไม่แบ่งแยก
ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เป็นเพียงปรากฎการณ์ซึ่งเป็นมายาเท่านั้น สัจภาวะไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยประสาทสัมผัส
บุคคลธรรมดาจึงไม่อาจเข้าถึงเต๋าได้ ๑๓/
๘๐๘๑
๒๓๓๓. เต๋า ๒ หรือ ต๋าว - ต้น
เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง เป็นปาล์มขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๒๐ เมตร ใบมีลักษณะคล้ายขนนกขนาดใหญ่
ยาวถึง ๑๒ เมตร กว้าง ๓ เมตร มีสีเขียวเข้มติดอยู่ตอนบนของลำต้น ก้านใบใหญ่
ดอกเป็นช่อใหญ่ ลักษณะคล้ายดอกมะพร้าว ผลกลมภายในมีเมล็ดนิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาเชื่อม
เรียกว่า ลูกชิด
เส้นใยใช้ทำเชือก น้ำใช้ทำน้ำตาล แป้งที่ได้จากต้นต๋าวใช้ทำสาคู
๑๓/ ๘๐๘๓
๒๓๓๔. เต่าเกียด
เป็นชื่อพันธุ์ไม้สองชนิด เป็นไม้ล้มลุกหัวอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอมขึ้นเป็นกอ
คล้ายพวกบอน ใบเป็นรูปหัวใจ ก้านใบยาวเป็นกาบ ดอกออกเป็นแท่งกลมยาว มีกาบหุ้มเช่นเดียวกับดอกหน้าวัว
หรือดอกบอน
เต่าเกียด ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ และใช้เป็นสมุนไพร ส่วนที่เป็นยาคือ หัวใช้ปรุงเป็นยาบำรุง
และรักษาโรคเกี่ยวกับตับ และแก้ไขเชื่องซึม
๑๓/ ๘๐๘๔
๒๓๓๕. เต่าทอง
เป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งมีลำตัวแบนทางด้านล่างโค้งเป็นหลังเต่า ทางด้านบนปีกมีลักษณะใส
เพราะเหตุที่แผ่นปีกใส จึงมองเห็นเม็ดสีของลำตัวได้ชัดเจน เม็ดสีนี้เมื่อสะท้อนแสง
จะเป็นสีเงินสีทอง หรือสีผสมระหว่างเงิน กับสีทอง หรือสีเหลือบอื่น ๆ พวกที่เห็นเป็นสีเงิน
ก็เรียกว่า เต่าเงิน พวกที่วมีสีทองก็เรียกว่า เต่าทอง
ส่วนที่มีสีผสมเงินกับทอง ก็เรียก เต่าเงินเต่าทอง
และเพราะเหตุที่มีปีกแผ่นแข็ง และใสเหมือนแก้ว จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เต่าแก้ว
เล่ม ๑๓/ ๘๐๘๔
๒๓๓๖. เต่าบ้า
เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง เป็นแมลงมีพิษ เมื่อคนกินเข้าไปจะมีอาการเกร็งชัก
และถึงตาย ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แมงไฟเดือนห้า เพราะสีลำตัวมีสีแดงสลับอยู่คล้ายสีไฟ
เมื่อไปจับตัวสารพิษ ที่ติดตามปีก และลำตัวจะออกฤทธิ์ ทำให้มือพองคล้ายถูกไฟ
หรือน้ำร้อนลวก และเพราะเหตุที่แมงชนิดนี้มีชุกชุมในฤดูแล้งคือ เดือนห้า จึงได้ชื่อดังกล่าว
๑๓/ ๘๐๘๖
๒๓๓๗. เต่ารั้ง หรือเต่าร้าง
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ พวกปาล์มชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ๆ หรือเป็นกอ
สูง ๕ - ๔๐ เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ๆ คล้ายไม้ไผ่ เนื้อในเป็นเสี้ยน ใส้กลางลำต้นจะอ่อนแล้วค่อย
ๆ แข็ง จนแข็งที่สุดเมื่อใกล้เปลือก ใบจะแผ่เป็นรูปครีบ หรือหางปลาจำนวนมาก
ช่อดอกออกตามง่ามใบเป็นพวงใหญ่ ห้อยย้อยลงมา ยาว ๒๐ ซม. - ๒ เมตร ดอกสีเหลืองอ่อน
ๆ ผลกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแกจัดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถึงแดงคล้ำ
เต่ารั้ง จะมีช่อเริ่มตั้งแต่ปลายต้นลงมา เมื่อออกช่อสุดท้าย ต้นจะหมดอายุตายใบ
๑๓/ ๘๐๘๘
๒๓๓๘. เตียบ
เป็นตะลุ่มปากกว้าง ที่มีฝาชีปิดสำหรับใส่กับข้าว โดยมากมักใส่กับข้าวถวายพระ
ทำเป็นอย่างชนิดลงรักเกลี้ยง โอก็มี ประดับมุกก็มี ทำด้วยทองเหลืองก็มี
๑๓/ ๘๐๙๐
๒๓๓๙. เตียวเพชร
เป็นชื่อวานร จำพวกหนึงในเรื่องรามเกียรติ์ โพกผ้าตะบิด แบ่งออกเป็นสองเหล่าคือ
เหล่าขีดขิน และเหล่าชมพูนคร เรียกกบี่ขีดขิน และกบี่ชมพู มีเก้าตัว เป็นชาวขีดขินเจ็ดตัว
ชาวชมพูหนึ่งตัว ไม่ปรากฎว่าเป็นชาวไหนหนึ่งตัว
๑๓/
๒๓๔๐.
เตียวเสี้ยน
เป็นชื่อนางผู้มีหน้าที่ฟ้อนรำ ขับร้องของอ้องอุ้น ในปลายสมัยราชวงศ์ตั่งฮั่น
ในตอนแรกอ้องอุ้น แกล้งยกเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ แต่ต่อมากลับส่งนางให้ตั๋งโต๊ะ
เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง ลิโป้จึงสังหารตั้งโต๊ะเสีย แล้วชิงนางคืนมาเป็นของตน
แผนการกำจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน จึงบรรลุผลสำเร็จเพราะอาศัยเตียวเสี้ยน
เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๕
๒๓๔๑. เตียวหุย
เป็นเพื่อนร่วมสาบานกับเล่าปี่ และกวนอู ในสมัยสามก๊ก เป็นผู้เก่งกล้าสามารถในการรบมาก
จนได้ชื่อว่า เป็นขุนศึกผู้สามารถสู้รบได้หมื่นคน
เตียวหุย เป็นคนมุทะลุดุดัน เคารพยกย่องสุภาพชนผู้มีคุณธรรม และดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่ำต้อยด้วยธรรม
มิตรภาพของบุคคลทั้งสามถือเป็นแบบฉบับ สำหรับชาวจีนในการคบเพื่อนร่วมสาบาน
ในสมัยต่อมา
เล่ม ๑๓/
๒๓๔๒. เตียวเหลียง
เป็นชื่อบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในปลายราชวงศ์ถัง ต้นราชวงศ์ฮั่นของจีน เตียวเหลียงได้ฉายาว่า
เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ฮั่น อีกสองคนคือ เซียวฮ้อ และหั่งสิ่ง
บรรพบุรุษของเตียวเหลียงได้เป็นเสนาบดีของรัฐฮั้ง ต่อมารัฐฮั้งถูกรัฐจิ๋นตีแตก
เตียวเหลียงจึงมุ่งมั่นจะแก้แค้นให้รัฐของตน พยายามจะลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้
แต่ไม่สำเร็จ จึงหลบหนีไปศึกษายุทธศาสตร์จากอึ้งเจี๊ยะกง เขาได้รับมอบตำราพิชัยสงครามของเจียงจูแหย
ผู้เป็นกุนซือของพระเจ้าบูอ๋อง แห่งราชวงศ์จิว
ต่อมาเตียวเหลียงได้ช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจปราบศัตรูในแผ่นดินจนหมดสิ้น
ตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองประเทศจีน ในปัจฉิมวัยเขาได้ไปศึกษาลัทธิเต๋า เมื่อสิ้นชีพแล้วกษัตริย์ได้สถาปนาให้เป็นบุ้งเซ้ง
๒๓๔๓. แต้ - ค่า
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร ใบเป็นใบประกอบด้านหนึ่งมี
๒ - ๓ คู่ ใบป้อม ๆ แกมรูปไข่กลับ ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามใบกิ่ง
ผลเป็นฝักป้อมแบน ๆ มีหนามแข็งงองุ้มประปราย ผลอ่อนมีรสฝาดใช้บริโภคได้ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง
เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ แข็งแรงทนทานมาก ใช้ทำเครื่องมือกสิกรรมที่ต้องรับน้ำหนักและความเสียดสีมาก
ๆ ได้ดี
เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๘
๒๓๔๔. แตง
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาอ่อนมีมือ มีขนขึ้นคลุมตามลำเถา ใบเป็นรูปฝ่ามือ มีดอกแยกเพศกัน
ผลมีเปลือกเหนียวแข็ง เนื้อในตอนที่หุ้มไส้กลางมีน้ำมากและมีเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อนั้นได้แก่
แตงกวา แตงร้าน แตงไทย แตงหนู และแตงโม
เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๘
๒๓๔๕. แต่งงาน
เป็นคำที่ใช้พูดกันเป็นสามัญในภาคกลาง หมายถึงทำพิธีให้บ่าวสาวอยู่กันเป็นผัวเมียกัน
คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันคือมีเรือน มีครอบครัว
เดิมเรียกพิธีแต่งงานเป็นสองอย่างว่าวิวาหมงคลและอาวาหมงคล ถ้าทำพิธีแต่งงานโดยฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายเรียกว่าอาวาหมงคล
ถ้าฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงเรียกว่าวิวาหมงคล ต่อมาเปลี่ยนใช้ว่างานมงคลสมรส
เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๘
๒๓๔๖. แต้จิ๋ว
เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีอำเภอที่ขึ้นจังหวัดนี้อยู่
๙ อำเภอ จังหวัดแต้จิ๋วเริ่มสถาปนาขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เดิมเรียกว่า
น่ำอ๊วก
มาเจริญรุ่งเรืองสมัยราชวงศ์ถัง
ชาวแต้จิ๋ว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากที่สุด
เล่ม ๑๓/ ๘๑๐๔
๒๓๔๗. แตน
เป็นแมลงประเภทเดียวกับตัวต่อ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือมีลำตัวยาวตั้งแต่ ๑.๕
ซม.ลงมา การเรียกชื่อต่อและแตนจึงปะปนนกันไป นอกจากนี้การเรียกชื่อของแตนมักอาศัยขนาดของรัง
เช่นแตนที่ทำรังเล็กขนาดกองขี้หมาก็เรียกแตนขี้หมา
แตนที่กำลังขนาดโตขึ้นมาหน่อย หรือขนาดกลางของแตนทั่ว ๆ ไป ก็เรียกว่า แตนกล้า
ถ้าทำรังใหญ่ขนาดลูกมะพร้าวก็เรียกว่า แตนลาม
ซึ่งความจริงแตนลามนั้นอาจจะเป็นต่อหลวงไปแล้วก็ได้ เล่ม ๑๓/
๘๑๐๔
๒๓๔๘. แตร
เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ ตอนปลายมักทำบานออกเป็นรูปลำโพง
ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่เสียงที่ต้องการ
แตรบางชนิดใช้สำหรับเป่าให้สัญญาณ เช่นแตรที่ใช้ในการล่าสัตว์ แต่ในเมืองไทย
ถ้าเอ่ยชื่อว่าแตร ก็มักจะหมายถึงแตรที่เป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น
แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยมาแต่โบราณมีอยู่สองชนิดคือ แตรฝรั่งและแตรงอน
แตรทั้งสองชนิดนี้ใช้เป่าร่วมกับ "สังข์" เป็นการผสมวงศ์ชนิดที่เรียกว่า แตรสังข์
เล่ม ๑๓/ ๘๑๐๖
๒๓๔๙. แตรวง
เป็นชื่อวงดนตรีชนิดหนึ่งที่เราได้มาจากฝรั่งในวระยะหลังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
"โยธวาทิต" แตรวงมีขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่สี่ โดยได้จ้างครูชาวอังกฤษเข้ามาฝึกสอนเพลงฝรั่ง
สำหรับให้ทหารเดินแถวก่อน จนสมัยรัชกาลที่ห้า แตรวงจึงเริ่มเป็นปึกแผ่น
แตรวงใช้บรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงสามชั้น สองชั้น ชั้นเดียว
เพลงเถา เพลงตับ หรือเพลงเกร็ดใด ๆ
โดยปรกติแตรวงย่อมประกอบด้วยเครื่องมือประเภทใหญ่สามประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทก็ประกอบด้วยเครื่องดนตรีเป็นส่วนย่อยอีกหลายชิ้น
แตรวงที่ใช้บรรเลงเพลงไทย ส่วนมากจะใช้เครื่องจังหวะหรือเครื่องกระทบของไทยเข้าประกอบเช่น
กลองแขกคู่ ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นต้น เว้นแต่จะบรรเลงเพลงประเภทออกภาษาต่าง
ๆ จึงจะใช้เครื่องจังหวะเป็นภาษาต่าง ๆ เช่นกลองจีน กลองยาว กลองชาตรี กลองฝรั่ง
ฯลฯ เข้าประกอบให้ฟังออกสำเนียงเป็นภาษาของชาตินั้น ๆ
เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๐
๒๓๕๐. แต้ว
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งเรียกชื่อจำแนกแตกต่างกันออกไปว่าแต้วชนิดนั้น
ๆ เช่น แต้วใบเลื่อม แต้วใบขน แต้วดอกแดง และแต้วดอกขาวเป็นต้น ในเมืองไทยมีอยู่หลายชนิด
ส่วนมากเป็นต้นไม้ขนาดกลาง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกสวยงามชนิดหนึ่ง มีใบอ่อนเป็นสีแดงเข้ม
ดอกสีชมพู หรือสีกุหลาบอ่อน เมื่อเวลาบานจะบายพรูสะพรั่งทั้งต้น บางภาคของไทยเรียกว่า
ติ้ว
เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๗
๒๓๕๑. แต้เอีย
เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดแต้จิ๋ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลซัวเถา ในอำเภอนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลออกทะเลคือแม่น้ำเหลียงกัง
มีภูเขาอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาชื่อเขาเล่งซัว
ในสมัยราชวงศ์ถัง บนเขาลูกนี้เป็นที่พำนักของพระภิกษุนิกายเซ็นรูปหนึ่งชื่อพระโต้เตียง
เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน
เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๗
๒๓๕๒. โตก
มีคำนิยามว่า "ภาชนะมีเชิงสูง สำหรับใช้เป็นสำรับใหญ่กว่าโต๊ะ"
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ตามคำนิยามดังกล่าวทำให้เห็นว่า โต๊ะกับโตกเป็นอย่างเดียวกัน
ถ้าเป็นโต๊ะสำหรับวางของ ถ้าเป็นโตกใช้สำหรับใส่ของกิน
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จว่าโต๊ะเป็นคำจีนเรียกที่ตั้งเครื่องบูชา
และตั้งของกิน โตกเป็นภาษาไทยเดิมใช้เรียกถาดมีเชิง
เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๘
๒๓๕๓. โต๊ะ
เป็นภาชนะรูปคล้ายโตกแต่พื้นตื้น สำหรับวางหรือใส่สิ่งของ ลักษณะนามว่าใบ
เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๙
๒๓๕๔. ไต
เป็นอวัยวะที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ อยู่ทางด้านหลังของช่องท้องใกล้กับกระดูกสันหลัง
มีข้างละหนึ่งลูก รูปร่างคล้ายถั่ว ไตสดมีสีแดงปนน้ำตาล ผิวเรียบและสะท้อนแสง
เนื่องจากมีเนื้อพังผืดบางหุ้มแนบชิดเป็นปลอกไตทั้งสองข้าง มีขนาดไล่เรี่ยกัน
ยาวประมาณ
๑๑ ซม. กว้าง ๕ ซม. หนาประมาณ ๓ ซม. หนักประมาณ ๑๒๐ กรัม
ไตทั้งสองข้างมีความสัมพันธ์กับผนังหลังของลำตัวคล้ายคลึงกัน ไตข้างขวาสัมพันธ์กับตับ
ที่ปลายล่างมีลำใส้ใหญ่ ส่วนที่โค้งงอขวา เข้ามาอยู่ชิด ไตซ้ายต่ำจากบริเวณที่ชิดกับต่อหมวกไต
มีกระเพาะอาหารอยู่ทางใกล้กลาง ถัดไปทางใกล้ริมเป็นม้าม ต่ำลงมามีส่วนตัวของตับอ่อน
ทอดผ่านกลางไต
เนื้อไตเกือบทั้งหมด ประกอบขึ้นเป็นรูปกรวยหลายอัน
หลอดไต
ในการทำหน้าที่ ไตมีส่วนที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ เรียงกันอยู่เป็นหลอดยาวมีจำนวนมากมาย
หลอดไตแต่ละหลอดมีแนวทางที่ทอดอยู่ค่อนข้างสับสน หลอดรวมปัสสาวะหลอดหนึ่ง
ๆ จะรับหลอดไตหลายอัน แล้ทอดเป็นแนวตรง สุดท้ายหลอดรวมน้ำปัสสาวะหลายหลอด
จะรวมกันเป็นหลอดน้ำปัสสาวะออก
ไต มีหน้าที่สำคัญคือ ทำหน้าที่แยกยูเรีย และวัตถุที่เหลือจาก เบตาโบลิสซัมของโปรตีนออกจากเลือด
และยังมีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมจำนวนน้ำที่ขับออกมา เป็นส่วนน้ำของปัสสาวะ
ทำให้น้ำในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนั้นยังควบคุมจำนวนและชนิดของอิเลกไตรไลต์ส
ที่ขับออกทางปัสสาวะด้วย มีผลทำให้พลาสมาของเลือดมีส่วนประกอบ อยู่ในอัตราปรกติ
ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปทำให้ส่วนประกอบของ ของเหลวงที่อยู่นอกเซลล์ ซึ่งหล่อเลี้ยงเซลล์
และเนื้อเยื่อเป็นปรกติด้วย
๑๓/ ๘๑๒๐
๒๓๕๕. ไต้
เป็นสิ่งที่ทำจากไม้ผุ คลุกับน้ำมันยาง แล้วห่อด้วยใบเตย กาบหมาก หรือเปลือกเสม็ด
เป็นต้น แล้วมัดเป็นเปลาะ ๆ มีขนาดสั้น หรือยาว ตามที่ต้องการ เรียกกันว่า
ลูกไต้
การใช้ไต้ เห็นจะเป็นขึ้นต้นของการใช้ไฟเป็นเครื่องส่องสว่าง การใช้ไต้คงจะมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์
และมีทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้
๑๓/ ๘๑๔๘
๒๓๕๖. ไตเซิน - ขบถ
คือ ขบถที่เกิดขึ้นในประเทศญวน ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๔๕
ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ราชวงศ์เล
เป็นผู้ปกครองประเทศญวน แต่อำนาจการปกครองแท้จริง อยู่ในกำมือของราชวงศ์มัก
ตระกูลตรินห์ และตระกูลเหงียน
ขณะนั้นดินแดนประเทศญวนทั้งหมด แบ่งออกเป็นสามภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
ราชวงศ์มัก ปกครองอยู่ที่ตังเกี๋ย ในภาคเหนือ มีฮานอยเป็นเมืองหลวง
ตระกูลตรินห์ อยู่ครองภาคกลางในฐานะอุปราชแห่งราชวงศ์เล ประกอบด้วยเขตตันหัว
เวอาน และฮาติน มีเมืองไตโดเป็นเมืองหลวง
ภาคใต้อยู่ในอำนาจของตระกูลเหงียน มีกวางตรี เป็นศูนย์กลาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕
ตระกูลตรินห์ยึดอำนาจราชวงศ์มักได้ จึงย้ายเมืองหลวงพร้อมด้วยที่ประทับของกษัตริย์แห่งราชวงศ์เล
จากเมืองไตโดไปยังฮานอย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตระกูลตรินห์และตระกูลเหงียน ก็ได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันตลอดมา
คนสำคัญในตระกูลตรินห์ ยังคงดำรงตำแหน่งอุปราชต่อมา บางสมัยก็ปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง
และวิวาทชิงอำนาจกันเอง ส่วนทางภาคใต้ตระกูลเหงียน สนใจขยายอาณาเขตลงทางใต้
โดยรุกรานอาณาจักรจามปา จนถึงพื้นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๑๖ สามพี่น้องแห่งตระกูลเหงียนได้ก่อขบถขึ้น ที่ตำบลไตเซิน
มีวัตถุประสงค์ที่จะยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ทางภาคใต้
และเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ปกครองประเทศญวนทั้งประเทศ แทนจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์เล
และแทนตระกูลตรินห์ เหงียนวันงัก หนึ่งในสามพี่น้องตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ
องไตเซิน
เจ้าเมืองกุยเยิน ป็นหัวหน้าของการขบถครั้งนี้
ในปี พ.ศ.๒๓๒๐ พวกขบถไตเซิน ยึดเมืองไซ่ง่อนได้ และปลงพระชนม์เจ้าแห่งราชวงศ์เหงียนสามองค์
แต่เจ้าชายเหงียนฟกอัน หรือองเชียงสือ
หนีไปได้ ระหว่างนั้นขบถไตเซิน ยึดอำนาจการปกครองในญวนได้เกือบหมด ยกเว้นดินแดนแถบเมืองเว้
องไตเซินประกาศตั้งตนเป็นจักรพรรด์
ต่อมาพวกขบถไตเซิน ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากไซ่ง่อน องเชียงสือจึงกลับไปยึดไซ่ง่อนได้
แต่แล้วพวกขบถไตเซินก็กลับมายึดไซ่ง่อนได้อีก เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปสองครั้ง
ครั้งหลังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ องเชียงสือได้ขอความช่วยเหลือจากไทยและฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ ขบถไตเซินยึดเมืองเว้ได้ แล้วรุกเลยไปยึดฮานอยได้ หลังจากนั้นสามพี่น้องขบถไตเซิน
ก็วางโครงการที่จะแบ่งแยกจักรวรรดิ์ญวนออกเป็นสามส่วน โดยให้วันเว ครองตังเกี๋ย
วันวัก ครองภาคกลางมีเมืองเว้ เป็นนครหลวง และให้วันลู ครองภาคใต้ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เล
ต้องเสด็จหนีไปเมืองจีน
ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ องเชียงสือ เขียนพระราชสาสน์ถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ เพื่อกลับไปชิงดินแดนคืนจากพวกขบถ และสามารถปราบขบถไตเซินได้ในปี พ.ศ.๒๓๓๑
ด้วยความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส หลังจากยึดเมืองเว้และฮานอยได้ ในปี พ.ศ.๒๓๔๕
แล้ว องเชียงสือก็ประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิ์เวียดนามยาลอง
๑๓/ ๘๑๕๐
๒๓๕๗. ไตปิง
เป็นเมืองสำคัญในรัฐเประ อันเป็นรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐเประ
๑๓/ ๘๑๕๖
๒๓๕๘. ไต้เผ็ง
เป็นชื่ออาณาจักรที่กลุ่มขบถในประเทศจีน ตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๔๑๗
ผู้นำในการขบถได้แก่ อั่งซิ่วช้วง เขาเป็นชาวอำเภอฮวย ในมณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๕๕ มีความสนใจในประวัติศาสตร์อย่างมาก ต่อมาได้ไปสมัครเป็นสมาชิกสมาคมเสี่ยงตี้หวย
(สมาคมพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสมาคมลับทางการเมือง ที่อาศัยศาสนาคริสต์
เป็นเครื่องบังหน้า เมื่อหัวหน้าคนเก่าสิ้นชีวิตลง
อั่งซิ่วช้วง ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทน และตั้งตนเป็นศาสดา มีสำนักอยู่บนภูเขาผ่งฮ่วยซัว
ระหว่างอำเภอกุ้ยเพ้ง กับอำเภอบูชวง ในมณฑลกวางสี มีผู้เข้าร่วมสมาคมมากขึ้นตามลำดับ
เขาอ้างว่าพระเยซูเป็นพระบุตรองค์โตของพระเจ้า ส่วนตนเองเป็นบุตรคนรอง และได้แต่งบทสวดขึ้น
ถ่ายทอดในหมู่ศิษย์ และสมัครพรรคพวกอย่างลับ ๆ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๓ อั่งซิ่ว ได้ก่อขบถขึ้น ณ หมู่บ้านกิมชั้ง ในอำเภอกุ้ยเพ้ง
พวกขบถตีได้จังหวัดยงอัง ในมณฑลกวางสี แล้วสถาปนาอาณาจักรของตนเป็น "ไต้เผ็งเทียงกก"
แล้วยกทัพขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตีได้มณฑลโอ่วนั้ม (หูหนัน) โอ่วปัก
(หูเป่ย) อังฮุย (อันฮุย) กังโซว (เจียนโซว) ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง
ให้เปลี่ยนปฏิทินเป็นแบบสุริยคติ เปลี่ยนแปลงแบบการแต่งกายให้ไว้ผมยาวตลอดศีรษะแทนการไว้ผมเปียแบบแมนจู
ส่งเสริมการศึกษาแบบใหม่ ให้การศึกษาแก่สตรี เลิกประเพณีวัดเท้าของสตรี เลิกระบบโสเภณี
ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ
กองทัพไต้เผ็งเทียงกก มีชัยชนะเหนือ ๖๐๐ กว่าเมืองใน ๑๖ มณฑล ต่อมาเกิดแก่งแย่งอำนาจถึงขั้นฆ่าฟันกันเอง
ทางรัฐบาลแห่งราชวงศ์เช็งได้ยกทัพมาปราบปรามนานกิง ถูกตีในปี พ.ศ.๒๔๑๗
๑๓/ ๘๑๕๖
๒๓๕๙. ไต้ฝุ่น
หมายถึงพายุ เรียกพายุไต้ฝุ่นคือ พายุหมุนในโซนร้อนที่มีความรุนแรงที่สุดประเภทหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก
มีถิ่นกำเนิดในโซนร้อนแถบเส้นรุ้งต่ำ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางด้านตะวันตก
และในทะเลจีนใต้เป็นพายุที่มีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐๐ - ๑,๖๐๐
กม.หรือมากกว่านั้น พายุไต้ฝุ่นจะเกิดขึ้นพร้อมกับลมแรงและลมจะพัดทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ
ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า
๓๐๐ กม.ต่อชั่วโมง มีลักษณะอากาศร้ายติดตามมาด้วยเช่นมีฝนตกหนักกว่าปรกติ
บางครั้งมีฟ้าคะนองรวมอยู่ด้วย
โดยปรกติพายุใต้ฝุ่นจะเกิดมากที่สุดในช่วงระะหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม
พายุหมุนชนิดเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่มีชื่อเรียกไปต่างกันเช่น
ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก
เรียกชื่อว่า พายุ "เฮอริเคน"
ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอล และทะเลอาเรเบีย ในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่าพายุ "ไซโคลน"
ถ้าเกิดในบริเวณทวีปออสเตรเลียเรียกว่าพายุ วิลลี่
วิลลี่
ตามข้อตกลงนานาชาติในเรื่องพายุ พายุหมุน หรือพายุไซโคลน ในโซนร้อนได้จัดแบ่งปประเภทและเรียกชื่อตามความรุนแรงแต่ละประเภทคือ
พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงถึง ๖๓ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุดีเปรสชันโซนร้อน
พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางคั้งแต่ ๖๔ - ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า
พายุโซนร้อน
และพายุที่มีความเร็วลมตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุใต้ฝุ่น หรือพายุเฮอริเคน
๑๓/ ๘๑๕๙
๒๓๖๐. ไตรดายุค
เป็นชื่อยุคหนึ่งในสี่ยุคตามคติของพราหมณ์ (ดูจตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๖๒
ตอนว่าด้วยไตรดายุค) ๑๓/
๘๑๖๔
๒๓๖๑. ไตรตรึงษ์
เป็นชื่อเมืองตั้งอยู่ใน อ.เมืองกำแพงเพชร (ดูตรัยตรึงศ์ ๑ - ลำดับที่ ๒๐๗๔)
และชื่อสวรรค์ชั้นที่สอง แห่งสวรรค์หกชั้นที่พระอินทร์ครอง ดาวดึงส์ก็เรียก
(ดูดาวดึงส์ - ลำดับที่ ๑๙๘๑) ๑๓/
๘๑๖๔
๒๓๖๒. ไตรทวาร
แปลว่าทวารสามคือกายเรียกกายทวาร วาจาเรียกวจีทวาร และใจเรียกมโนทวาร เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง
ซึ่งกล่าวถึงทางประพฤติของคน อันเป็นผลว่าจะเป็นผลดี หรือชั่วรู้ได้ในทวารสามนี้
พอสรุปได้ว่าคนจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ การพูด การคิด นี้ว่าเป็นกรรม ถ้าทำดี
พูดดี คิดดี เรียกว่ากุศลกรรม ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม
เรียกเป็นความประพฤติว่า สุจริต ทุจริต
กำหนดข้อปฏิบัติที่เรียกว่า กรรมบทไว้ ๑๐ ข้อ ทั้งข้างดีข้างชั่ว ถ้าเป็นฝ่ายดีเรียกกุศลกรรมบท
ถ้าเป็นฝ่ายข้างชั่วเรียกอกุศลกรรมบท
๑๓/ ๘๑๖๔
๒๓๖๓. ไตรทศ เทวดา ๓๓ องค์
ไม่แยกว่าใครเป็นใคร ตรีทศก็เรียก (ดูตรีทศ - ลำดับที่ ๒๑๑๖, ๒๑๑๗ ประกอบ)
๑๓/ ๘๑๖๕
๒๓๖๔. ไตรปิฏก
คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีสามหมวด หมวดหนึ่ง ๆ เรียกว่าปิฏก หนึ่งคือ
พระวินัยเรียกวินัยปิฏก พระสูตรเรียกสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมเรียกอภิธรรมปิฏก
คำว่าไตรปิฏก มีปรากฎในคราวสังคยนา แสดงถึงการแบ่งพระพุทธพจน์ออกเป็นสามหมวด
แต่ก่อนนั้นคือในสมัยพุทธกาล ไม่ได้ใช้คำนี้หมายถึงพุทธพจน์ ท่านใช้คำรวมว่าปาพจน์บ้าง
ธรรมวินัยบ้าง โอวาทปาติโมกข์บ้าง อริยวินัยบ้าง นอกจากชื่อรวมอย่างนี้ก็ยังมีชื่อแยกระบุคัมภีร์เรียกรวมว่าองค์เช่น
นวังคสัตถุศาสน์ พระพุทธพจน์มีองค์เก้า
พระไตรปิฎกนี้ลึกเป็นคัมภีรภาพคือ ลึกโดยธรรม คือพระพุทธพจน์ ลึกโดยอรรถคือเนื้อความของพระบาลี
ลึกโดยเทศนาคือ พระพุทธองค์ทรงกำหนดด้วยพระทัย ลึกโดยปฏิเวธคือ ผู้มีปัญญาสามารถเข้าใจความหมายได้
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ
บริสุทธิ์ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษาบริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ
บริสุทธิ์ทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษา บริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฎกเริ่มด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสป เป็นประธาน
รวมรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นพระวินัยส่วนหนึ่ง พระสูตรส่วนหนึ่ง
พระอภิธรรมส่วนหนึ่ง ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้สามเดือน โดยได้ประชุมทำกันที่เมืองราชคฤห์
นครหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าอชาติศัตรู
ราชาธิราชแห่งแคว้นนั้น ทรงรับเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พระเถรานุเถระได้เล่าเรียนสั่งสอนนำสืบ
ๆ กันมาถึงพุทธศตวรรษที่ห้า พระเถรานุเถระพร้อมด้วยชาวพุทธตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน
และประชาชนได้ร่วมกันจัดการจารึกพระไตรปิฎก ลงเป็นอักษรครั้งแรกต่อจากนั้น
ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ช่วยกันคัดลอก และชำระสะสาง สอบทานกันมาเป็นคราว
ๆ จนมาถึงเมืองไทย สมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กับสมัยที่อาณาจักรล้านนายังเป็นอิสระอยู่
ก็ได้รับคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาคัดลอกสอบทานกัน
๑๓/ ๘๑๖๕
๒๓๖๕. ไตรเพท
คือความรู้สามอย่างมีรากคำมาจากภาษาบาลีว่า "เวท" แปลว่า ความรู้ คือ ความรู้เรื่องพิธีกรรมที่ช่วยคนให้ได้รับความสงเคราะห์จากเทวดา
เรียกอีกนัยหนึ่งว่า คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพท ได้แก่
๑. ฤคเวท
เป็นคำฉันท์อ้อนวอน และสรรเสริญพระเจ้าต่าง ๆ
๒. ยัชุรเวท
เป็นคำร้อยแก้วซึ่งว่าด้วยพิธีทำพลีกรรม และบวงสรวง
๓. สามเวท
เป็นคำฉันท์สวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และขับกล่อมเทพเจ้า
คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพทนี้ เป็นชื่อแสดงลัทธิไสยศาสตร์ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์
๑๓/ ๘๑๖๙
๒๓๖๖. ไตรภูมิ - เรื่อง
มีอยู่หลายฉบับ แต่ฉบับที่รู้จักกันทั่วไปเรียกชื่อเต็มว่า ไตรภูมิพระร่วง
คำว่า ไตรภูมิ แปลว่า ภาพสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ตามไสยศาสตร์ว่า สวรรค์
มนุษย์ บาดาล ในเรื่องไตรภูมิ หมายถึง แดนสามคือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
หนังสือไตรภูมิฉบับนี้เป็นของพระยาลิไทย แห่งกรุงศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทรงคัดความจากคัมภีร์ต่าง
ๆในพระไตรปิฎก
หนังสือไตรภูมิ ต่อจากฉบับพระร่วงลงมา มีหนังสือไตรภูมิครั้งกรุงธนบุรีฉบับหนึ่ง
กับไตรภูมิเชียงใหม่ฉบับหนึ่ง แต่เขียนเป็นรูปภาพเต็มทั้งเล่ม ต่อนั้นจึงถึงไตรภูมิแต่งในรัชกาลที่หนึ่งเรียกว่า
"ไตรภูมิโลกสัณฐาน"
เรื่องหนึ่ง แล้วย่อลงมาเรียก "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย"
อีกเรื่องหนึ่ง
หนังสือเรื่องไตรภูมิ ตามเค้าเรื่องกล่าวถึงเรื่องกำเนิดของสัตว์ ยักษ์ มาร
มนุษย์ เทวดา พรหม และเรื่องกำเนิดของสากลจักรวาลว่า มีเป็นขึ้นได้อย่างไร
ถ้าว่าทางวรรณคดี นอกจากจำพวกศิลาจารึกแล้ว ไตรภูมิฉบับนี้เป็นหนังสือไทยเรื่องแรก
ซึ่งเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน ๑๓/
๘๑๗๒
๒๓๖๗. ไตรรงค์
เป็นชื่อธงชาติไทยปัจจุบัน ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) ประเทศไทยใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประเทศไทยได้ช้างเผือกสามเชือก
มาประดับพระบารมีคือ จากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ จากเมืองเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ และจากเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ เนื่องแต่เหตุที่ได้ช้างเผือกสามช้าง
ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายยังนานาประเทศ โปรด ฯ ให้ทำรูปช้างอยู่กลางวงจักร
ติดในธงสำหรับชาติไทยแต่นั้นมา
ธงช้าง ซึ่งมีรูปช้างสีขาวบนผ้าสีแดง ได้ใช้เป็นธงชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐
ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีการแก้ไขลักษณะของช้าง เช่น พ.ร.บ.ธง ร.ศ.๑๒๙ กล่าวว่า
"ธงราชการสีแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักที่เรือหลวงทั้งปวง
กับชักที่บรรดาสถานที่ราชการต่าง ๆ" เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง
เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
ฯ ทรงพระราชดำริว่า ธงชาติยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ธงไตรรงค์
เป็นธงชาติไทยแทน
พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ธง พ.ศ.๒๔๖๐ ระบุลักษณะของธงไตรรงค์ไว้ดังต่อไปนี้
"ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี
มีขนาดกว้างสองส่วน ยาวสามส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งสามของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง
มีแถบขาวกว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งหกของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาว
ประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์
สำหรับใช้ชักใบเรือ พ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เป็นชาติสยามทั่วไป
ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น
ให้เลิกเสีย" ๑๓/
๘๑๗๔
๒๓๖๘. ไตรรัตน์
คือแก้วสามประการ หมายความถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนี่งว่า
รัตนตรัย
ในพระพุทธศาสนายกของสามสิ่งคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี้ขึ้นเป็นสำคัญ
บรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีบรรพชา หรืออุปสมบท
หรือพิธีแสดงตนเป็นอุบาสก หรืออุบาสิกา จะต้องเปล่งวาจาประกาศตนว่า ถึงของสามอย่างนั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกก่อน
๑๓/ ๘๑๗๗
๒๓๖๙. ไตรลักษณ์
คือ ลักษณะสามประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สามัญลักษณะ
แปลว่า ลักษณะที่เสมอกันของสังขารทั้งปวง เรียกเป็นการเฉพาะว่า อนิจตา ทุกขตา
และอนัตตา
ไตรลักษณ์ ดังกล่าวมา คนสามัญมักมองไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะมีสิ่งปิดบังปัญญามิให้มองเห็น
สิ่งปิดกั้นนั้นคือ
๑. สันตติ
คือ ความสืบต่อปิดบังอนิจตา ไม่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
๒. อิริยาบถ คือ
การยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวต่าง ๆ ปิดบังทุกข์ไว้
๓. ฆนะ
คือ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนปิดบัง อนัตตา ไม่ให้เห็นความไม่มีตัวตน
เมื่อใช้ปัญญา พิจารณาก่อน สันตติ อิริยาบท และฆนะ เสียได้ จึงเห็นความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ที่รวมเรียกว่า ไตรลักษณ์
๑๓/ ๘๑๘๐
๒๓๗๐. ไตรวัฎ วัฎสาม
คือกิเลสวัฎ กรรมวัฎ คำว่า วัฎ แปลว่า วน หมายเอาความเวียนเกิดด้วยอำนาจกิเลส
กรรม และวิบาก หมุนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดคือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม
ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้วิบาก (ผล) แห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก
วนกันไป จึงเรียกสภาพสามอย่างนี้รวมกันว่า ไตรวัฎ
๑๓/ ๘๑๘๕
๒๓๗๑. ไตรวิชชา
หมายถึง วิชชาสาม คือ วิชชาระลึกชาติแต่หนหลังได้ เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ
วิชชารู้ความตาย ความเกิดของสัตว์เรียกว่า จุตุปปาตญาณ วิชชารู้ทางทำให้สิ้นกิเลส
เรียกว่า อาสวักขยญาณ
บุพเพนิวาสานุสติญาณ
คือ ญาณระลึกชาติถอยหลังเข้าไปได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติ สองชาติ จนถึงหลาย ๆ กัลป์ว่า
ชาติที่เท่านั้นมีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณมีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ
มีอายุเท่านั้น จุติจากนั้นแล้วได้เกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น
ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้
จุตุปปาตญาณ
คือ ญาณมีจักษุทิพย์บริสุทธิ์ ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ที่กำลังจุติก็มี
กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี มีผิวพรรณงามก็มี มีผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี
ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามกรรม
อาสวักขยญาณ คือ
ญาณรู้ชัดตามจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางไปถึงความดับอาสวะ
เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว
พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียกิจได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก
๑๓/ ๘๑๘๙
๒๓๗๒. ไตรสรณาคมน์
โดยรูปคำแปลว่า การถึงซึ่งที่พึ่งที่ระลึกสามอย่าง โดยความหมายถึงการยึดเอาเป็นที่พึ่ง
ในพระพุทธศาสนาหมายถึง การถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ในปฐมโพธิกาล การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกที่เรียกว่า ไตรสรณาคมน์นี้
เป็นชื่อของการบวชอย่างหนึ่งเรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา
แปลว่า อุปสมบท (บวช) ด้วยการถึงสรณะสาม
ปัจจุบัน ไตรสรณาคมน์ถือเป็นกิจเบื้องต้นในการทำพิธีกรรมทางศาสนา ของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
ภายหลังจากกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย ๑๓/
๘๑๙๐
๒๓๗๓. ไตรสิกขา
หมายถึง สิกขาสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฎิบัติทางพระพุทธศาสนาของพระภิกษุ
ผู้บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย จะต้องศึกษาและประพฤติปฎิบัติคือ
การฝึกหัด กาย วาจา ใจ ไปตามศีล สมาธิ ปัญญา นั้น
สิกขาสามนั้น โดยความคือ ความสำรวม กาย วาจา ให้เรียบร้อยชื่อว่า ศีล ความรักษาใจมั่นชื่อว่า
สมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่า ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามประการนี้ เป็นปฎิปทาคือ ข้อปฎิบัติที่ตั้งไว้เพื่อศึกษาในเบื้องต้น
ท่ามกลางและที่สุด ศีลเป็นข้อปฎิบัติในเบื้องต้น สมาธิ เป็นช้อปฎิบัติในท่ามกลาง
ปัญญาเป็นข้อปฎิบัติในที่สุด ๑๓/
๘๑๙๒
๒๓๗๔. ไตลังคะ
(ดู เตลิงคะ - ลำดับที่ ๒๓๒๘) ๑๓/
๘๑๙๗
๒๓๗๕. ไต้หวัน
เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของจีน เป็นเกาะอยู่ในทะเลจีนใต้ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน
สมัยโบราณมีชื่อว่า อี่จิว ต่อมาถูกชาวฮอลันดายึดครองในสมัยต้นราชวงศ์เช็ง
แต้เซ่งกงขับไล่พวกฮอลันดาออกไปได้สำเร็จ เมื่อแต้เซ่งกงสิ้นชีพ ไต้หวันตกเป็นของราชวงศ์เซ็ง
มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง ขึ้นมณฑลฮกเกี้ยน
ต่อมายกฐานะเป็นมณฑลอีก
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ จีนทำสงครามแพ้ญี่ปุ่น จึงยกไต้หวันให้ญี่ปุ่นจนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
จีนรบชนะญี่ปุ่น จึงได้ไต้หวันกลับคืนมา
ปัจจุบัน เกาะไต้หวัน เป็นที่ตั้งของประเทศสาธารณรัฐจีน มีเมืองไทเป เป็นเมืองหลวง
๑๓/ ๙๑๙๗
ถ
๒๓๗๖. ถ พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสองของพยัญชนะไทย
นับเป็นพวกอักษรสูงเป็นตัวที่สามของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต
เช่น สบถ ขบถ อเนจอนาถ เป็นต้น
เมื่อว่าโดยฐานกรณ์ คือ แบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงของบาลี สันสกฤต ถ เป็นพยัญชนะที่เกิดจากฐานฟัน
เรียกว่า ทันตชะ และมีเสียงระเบิด เป็นพยัญชนะ ธนิตอโฆษะ คือ มีเสียงหนักไม่ก้อง
และออกเสียงเช่นเดียวกับ ฐ ๑๓/
๘๑๙๗
๒๓๗๗. ถนนธงชัย
เป็นทิวเขาอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแควน้อย ในจังหวัดกาญจนบุรี ยาวเป็นพืดขึ้นไปทางเหนือ
ไปร่วมกับทิวเขาทางทิศตะวันตกของแม่น้ำแควน้อย ในทิวเขาพระเจดีย์สามองค์ ต่อจากนั้นทิวเขาถนนธงชัย
จะขึ้นไปทางเหนือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ต่อไปทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางทิศตะวันตก
ของแม่น้ำปิงจนจดทิวเขาแดนลาว
ทิวเขานี้ยาว ๘๘๐ กม. มีเขาชื่อต่าง ๆ เริ่มจากทิศใต้ไปทางเหนือรวม ๖๐ ชื่อ
เริ่มแต่เขาช่องความ (๒๓๙ เมตร) จนถึงเขา (ดอย) ปะตา (๑,๕๐๐ เมตร)
แล้วไปต่อทิวเขาแดนลาว ๑๓/
๘๑๙๘
๒๓๗๘. ถม - เครื่อง
(ดู เครื่องถม - ลำดับที่ ๑๑๒๑) ๑๓/
๘๒๐๐
๒๓๗๙. ถ่มร้าย
เป็นคำเรียกลักษณะของคนที่มีรอบบุ๋ม ที่ตะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะไม่ดี
ลักษณะอย่างนี้ถือกันมาแต่โบราณ ถึงกับมีคำกล่าวเป็นคติไว้ว่า "สีจัก ยักหล่ม
ถ่มร้าย" สีจัก หมายถึง ขวัญที่แสกหน้าของคน ยักหล่ม หมายถึง รอยบุ๋มสองข้างสะบัก
๑๓/ ๘๒๐๐
๒๓๘๐. ถลาง
อำเภอ ขึ้น จ.ภูเก็ต อาณาเขตทางเหนือตกทะเลในช่องปากพระ ทิศตะวันออกตกทะเลเหนืออ่าวภูเก็ต
ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้และเหนือเป็นที่ดอน
ตอนตะวันออกเป็นที่ดอน
อ.ถลาง เดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงรัชกาลที่สี่ โปรด ฯ
ให้ยกเมืองภูเก็ตขึ้นเป็นหัวเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และย้ายที่ว่าการเมืองถลางไปอยู่ที่ภูเก็ต
ลดฐานะเมืองถลางเป็นหัวเมืองขึ้นเมืองภูเก็ต ถึงรัชกาลที่ห้าโปรด ฯ ให้ลดเมืองลงเป็นอำเภอ
ถึง พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองถลาง แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ถลาง อีกเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๒ ๑๓/
๘๒๐๐
๒๓๘๑. ถวายเนตร
เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า ปางถวายเนตร
อยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์น้อย ๆ ลืมพระเนตรทั้งสองเต็มที่ ทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิพฤกษ์
ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานทับกัน อยู่หน้าพระเพลา
พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในอาการสังวร
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้ว ประทับเสวยวิมุติสุข อยู่ที่ร่มมหาโพธิพฤกษ์เจ็ดวัน แล้วเสด็จไปประทับยืนกลางแจ้ง
ทางทิศอีสานของต้นมหาโพธิ์นั้น ทอดพระเนตรต้นมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรถึงเจ็ดวัน
สถานที่ที่เสด็จประทับยืนนั้น เป็นนิมิตมหามงคลเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์"
๑๓/ ๘๒๐๔
๒๓๘๒. ถัง ๑
เป็นชื่อราชวงศ์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจีน ระหว่าง ๑๘๐๔ - ๑๗๐๓ ปี ก่อน
พ.ศ. มีกษัตริย์พระองค์เดียวคือ พระเจ้าเงี้ยว (เหยา) ทรงปกครองประชาชนด้วยคุณธรรม
เนื่องจากพระโอรสประพฤติพระองค์ไม่ดี พระเจ้าเงี้ยวจึงมอบตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่
สุ่ง (ซุ่น) การกระทำอันเที่ยงธรรมของพระองค์ ในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องของอนุชนเป็นอย่างมาก
๑๓/ ๘๒๐๕
๒๓๘๓. ถัง ๒
เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๙ มีกษัติรย์ทั้งสิ้น
๒๐ พระองค์ พระเจ้าเกาโจ้ว (เกาจู่) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์เดิมมีนามว่า ลีเจียง
รับราชการในสมัยราชวงศ์ซุ้ย (สุย) เมื่อกษัตริย์สวรรคตได้รับยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์
สืบราชสมบัติแทนจึงเปลี่ยนราชวงศ์เป็นถัง มีเมืองเชียงอาน เป็นเมืองหลวง
ในสมัยราชวงศ์ถังนี้ ประเทศจีนมีความเจริญทางศิลปวิทยาการต่าง ๆ อย่างมาก
ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย มีพระภิกษุจีนเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่อินเดีย
และนำพระไตรปิฎกกลับมาแปลเป็นภาษาจีน ซึ่งเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง แก่พระพุทธศาสนาในประเทศจีน
นอกจากนี้ยังเป็นสมัยที่ศาสนาเต๋า ได้รับการยกย่องเชิดชู เสมอด้วยศาสนาอื่น
กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ถังคือ พระเจ้าเจียวซวงตี่ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี
พ.ศ.๑๔๔๗ กษัตริย์องค์ใหม่ยังไม่เปลี่ยนราชวงศ์ จนถึงปี พ.ศ.๑๔๔๙
๑๓/ ๘๒๐๖
๒๓๘๔. ถังซัมจั๋ง
เป็นสมญานามพระภิกษุจีนชื่อ หยวนจั้ง ในสมัยราชวงศ์ถัง คำว่า ซัม แปลว่า สาม
คำว่า จั๋ง แปลว่า ปิฎก ซัมจั๋ง จึงแปลว่า "ไตรปิฎก"
พระถังซัมจั๋ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๑๓๙ ในสมัยราชวงศ์สุย เป็นชาวมณฑลเห่อหนัน
เมื่อเยาว์วัยได้ติดตามพี่ชายคนที่สอง ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในเมืองลั่วหยังไปศึกษาธรรม
เนื่องจากท่านเป็นคนฉลาดหลักแหลมเป็นพิเศษ จึงได้รับเลือกให้เป็นนาคหลวง บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ
๑๓ ปี ท่านเป็นผู้แตกฉานในธรรม และมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก
จนเป็นที่ยกย่องจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป เมื่อสิ้นราชวงศ์สุย และเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถังแล้ว
ท่านรู้ว่าตนเองยังต้องใฝ่หาความรู้อีกมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดีย
ได้ออกเดินทางเมื่อปี พ.ศ.๑๑๗๒
เมื่อท่านเดินทางไปถึงประเทศอินเดียแล้ว ได้ไปศึกษาที่วัดนาลันทา
มีพระภิกษุชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียงหลายรูป ในสมัยนั้นเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศีลภัทร
ท่านได้ศึกษาอยู่เป็นเวลาสิบกว่าปี จึงเดินทางกลับประเทศจีน พร้อมทั้งนำพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาด้วย
ท่านเดินทางถึงเมืองหลวงของจีนคือ เมืองฉังอัน ในปี พ.ศ.๑๑๘๘
กษัตริย์จีนในสมัยนั้นคือ พระเจ้าถังไท่จง
พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎก
จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย
ในด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท ในด้านภาษาสันสกฤตและด้านภาษาจีน
พระเจ้าถังไท่จงได้ทรงอาราธนาพระถังซัมจั๋งให้เขียนบันทึกการเดินทางไปอินเดีย
จึงปรากฎหนังสือเรื่อง ต้าถังซีวีจี้
เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าถึงไท่จง พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าถังเกาจง
พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์งานแปลพระไตรปิฎกต่อ พระถังซัมจั๋งซึ่งเป็นแม่กองในงานแปลนี้
ดำเนินงานต่อไปจนมรณภาพในปี พ.ศ.๑๒๐๗ ผลงานแปลที่ท่านสร้างไว้อย่างมากมายนี้
นับเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง และทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนในกาลต่อมา
๑๓/ ๘๒๐๖
๒๓๘๕. ถั่ว
มีคำนิยามว่า "ถั่ว เป็นไม้จำพวกหนึ่งซึ่งใช้ฝัก หรือเมล็ดเป็นอาหาร" นอกจากนั้นยังหมายถึง
การพนันชนิดหนึ่งที่ใช้เบี้ยแจง และเป็นชื่อขนมชนิดหนึ่งด้วย
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ถั่ว หมายถึง พันธุ์พืชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นต้น หรือเป็นเถา
มีฝัก (ผล) และเมล็ดใช้บริโภคเป็นอาหารได้ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในทางอื่น
ๆ ได้อีก เช่น เลี้ยงสัตว์ บำรุงดินในการกสิกรรม และเป็นไม้ประดับ
พืชในวงศ์ถั่ว มีหลายชนิดที่ไม่มีคำว่า ถั่วนำหน้า และมีอีกหลายชนิดที่ไม่อยู่ในพวกถั่ว
หรือวงศ์ถั่ว แต่ก็มีคำว่า ถั่วนำหน้า
ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป คือ เป็นต้นไม้ใหญ่ก็มี เป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ และไม้ล้มลุกก็มี
ที่เป็นไม้เลื้อยเป็นเถาใหญ่และเถาเล็กก็มี
ถั่วชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย มีอยู่ ๓๒ ชนิดด้วยกันได้แก่
ถั่วกินหัว (มีเรียกอีกหลายชื่อด้วยกันเช่น มันลาว มันแกงลาว มันแกว ละแวก
ภาคกลางมักเรียกมันแกว)
ถั่วกระด้าง (ใช้เมล็ดแก่เป็นอาหารเช่น ถั่วขาว ถั่วดำเมล็ดเล็ก ถั่วแดง)
ถั่วขาว (ลักษณะเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว)
ถั่วเขียว (ปลูกได้ในทุกสถานที่ ให้ผลเร็ว มีหลายพันธุ์ด้วยกัน)
ถั่วแขก (มีสองชนิด ฝักอ่อนใช้บริโภคเป็นผักสด)
ถั่วคร้า (ฝักอ่อนใช้บริโภคได้)
ถั่วจิงจ้อ (มีลักษณะคล้ายคลึงกับถั่วคร้ามาก)
ถั่วแดง (มีหลายชนิดด้วยกัน)
ถั่วดำ ถั่วคอ ถั่วทอง ถั่วบุ้ง ถั่วปี ถั่วแปบ ถั่วผี ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม
ถั่วพู ถั่วยาว ถั่วแระ ถั่วราชมาษ ถั่วโลมา ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถั่วลาย
ถั่วเสี้ยนป่า ถั่วหอม ถั่วหลา ถั่วหัวช้าง ถั่วหรั่ง ถั่วเหลือง
สรุปได้ว่าพืชวงศ์ถั่ว นับตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ดอก ฝัก และเมล็ดให้คุณประโยชน์หลายประการ
๑๓/ ๘๒๑๐
๒๓๘๖. ถ่าน - โค้กและหิน
ถ่านโค้กไม่เกิดในธรรมชาติ แต่ผลิตได้จากถ่านหิน โดยวิธีกลั่นแห้ง ในทำนองคล้ายคลึงกันกับวิธีเผาไม้ให้เป็นถ่านไม้
ถ่านโค้ก มีประโยชน์ใช้เป็นเชื้อเพลิงและลดออกซิเจนในการถลุงโลหะต่าง ๆ
ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการแปรรูปของพืชบนผิวโลกที่ถูกทับถมกันเป็นเวลานาน
การแปรรูปเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ ความร้อน และความกดทำให้เนื้อไม้ซึ่งมีธาตุถ่าน
ธาตุไฮโดรเจน และธาตุออกซิเจน เป็นส่วนประกอบสำคัญค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพไปตามลำดับคือ
ไม้ถ่านพีต ถ่านลิกไนต์ ถ่านบิทูมินัส ถ่านแอนทราไซต์
การที่ไม้จะแปรรูปไปเป็นถ่านหินชนิดไหนนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาและอายุ ยิ่งนานยิ่งแปรรูปมาก
ยิ่งถ่านหินมีอายุมากเท่าไรปริมาณของธาตุถ่านก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น และปริมาณของสารระเหยก็จะลดลงตามส่วน
ในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบ มีแต่ถ่านหินชนิดลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางและที่จังหวัดกระบี่
ลิกไนต์ที่ดีที่สุดปรากฎว่ามีอยู่ที่อำเภอลี้ จังหวัดเชียงใหม่ ๑๓/
๘๒๒๙
๒๓๘๗. ถ่ายรูป
เป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการถ่ายทอดภาพ โดยอาศัยการทำปฏิกิริยาของแสงสว่างกับตัวยาเคมีบางชนิดที่ไวต่อแสงสว่าง
และเคลือบลงบนวัสดุบางอย่างเช่น กระจก หรือสารจำพวกเซลลูลอส อาซิเตต เรียกว่าเยื่อไวแสง
เมื่อตัวยานี้ได้รับแสงและนำไปล้างในน้ำยาสร้างภาพ จะก่อตัวขึ้นเป็นภาพตามความเข้มของแสงสว่างที่ได้รับจากการถ่าย
หลังจากลงน้ำยาสร้างภาพแล้ว เงินโปรไมต์ที่ไม่ได้รับจะละลายออกไป โดยสารละลายบางชนิดที่ไม่ละลายภาพเงินในโลหะ
แต่ละลายเงินโบรไมต์เช่นไฮโป หลังจากนั้นภาพที่ปรากฎขึ้นก็จะคงทนถาวรอยู่เช่นนั้นตลอดไป
เรียกน้ำยานี้ว่าน้ำยาคงสภาพ ภาพที่ปรากฎนั้นเรียกว่าเนกะตีฟคือส่วนสว่างที่ถูกถ่ายจะเป็นสีดำ
และส่วนดำเป็นสีอ่อน
เมื่อต้องการภาพโปสิตีฟ ซึ่งเป็นภาพตรงความเป็นจริงก็จะต้องนำเนกะตีฟไปพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง
คือนำไปวางลงบนวัตถุไวแสงอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อให้แสงผ่านเนกะตีฟไปยังวัตถุไวแสง
และนำไปล้างในน้ำยาสร้างภาพและน้ำยาคงสภาพตามกรรมวิธี ก็จะได้ภาพโปสิตีฟตรงตามความจริง
ปัจจุบันมีวัสดุไวแสงประเภทเนกะตีฟ โปสิตีฟ และรีเวอร์เซิล (เมื่อนำไปล้างแล้วจะได้ภาพโปสิตีฟเลย)
การถ่ายรูปสี
ได้มีผู้ประดิษฐ์ฟีล์มสีโกดาโครมออกสู่ท้องตลาดในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ฟีล์มสีชนิดนี้เป็นต้นแบบของฟีล์มชนิดต่าง
ๆ ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ฟีล์มสีจะบันทึกแสงสีต่าง ๆ ลงบนเยื่อไวแสงสามชั้นด้วยกัน
แต่ละชั้นจะรับแสงสีน้ำเงิน แสงสีเขียว และแสงสีแดงตามลำดับ เมื่อนำฟีล์มที่ถ่ายแล้วไปล้าง
ตัวยาคู่สีในแต่ละชั้นของเยื่อไวแสงจะทำปฏิกิริยากับน้ำยาสร้างภาพสีเกิดเป็นสีย้อนทางเคมีขึ้น
การถ่ายรูปแบบโปลารอยด์
มีผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น และนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กล้องถ่ายรูปแบบนี้สามารถถ่ายและอัดรูปสำเร็จในตัวกล้อง
ภายในเวลาไม่กี่วินาที ฟีล์มถ่ายรูปแบบโปลาลอยด์ประกอบด้วยเยื่อไวแสงสองชั้น
และมีตัวยาเคมีบรรจุอยู่ในสิ่งห่อหุ้มตรงกลางระหว่างเยื่อไวแสงทั้งสองนั้น
หลังจากถ่ายภาพแล้ว จะดึงฟีล์มส่วนหนึ่งออกมา ลูกกลิ้งในกล้องจะมีตัวยาเคมีให้แตกออก
ตัวยามีลักษณะคล้ายวุ้น จะแผ่กระจายไปทั่วผิวหน้า ด้านเนกะตีฟและโปสิตีฟ และทำปฏิกิริยาเปลี่ยนเงินโปรไมด์ที่ได้รับแสงในเนกะตีฟเป็นภาพเงินโลหะ
ภาพเงินโลหะนี้จะถูกถ่ายทอดลงบนกระดาษโพสิตีฟ
นอกจากนี้ยังมีฟีล์มถ่ายรูปโปลาลอยด์แบบภาพโปร่งใส และยังมีฟีล์มถ่ายรูปสีโปลารอยด์อีกด้วย
ได้เริ่มผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๖
การถ่ายรูปแบบสามมิติ
ศาสตราจารย์วีตสโตน ชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๘๑ แต่เป็นการดูภาพแบบสะท้อนแสง
ต่อมามีผู้ปรับปรุงให้ทันสมัย เช่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
๑๓/ ๘๒๓๒
๒๓๘๘. ถ้ำ
คือช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในที่ทึบ โดยมากเป็นภูเขาหรือหินใต้พื้นดินที่มีระดับสูง
ถ้ำในหินภูเขาไฟเกิดจากการที่ลาวาตอนที่ยังคงสภาพเป็นกึ่งของเหลวไหลออกไป
จะทำให้เกิดเป็นโพรง หรือถ้ำขึ้น นอกจากนี้ ถ้ำยังปรากฎอยู่ตามหน้าผาของชายฝั่งทะเล
ที่จมตัวลงเป็นถ้ำที่เกิดจากการกระทำของคลื่น อย่างไรก็ตามถ้ำขนาดใหญ่ และพบมากที่สุดได้แก่
ถ้าหินปูน
ถ้ำหินปูน
พบอยู่ในชั้นหินปูนที่หนามาก ๆ และต้องเป็นหินปูนที่มีเนื้อแน่น ซึ่งน้ำฝนจะไหลจำกัดอยู่เฉพาะตามระนาบชั้นหิน
และตามรอยแยกในหิน นาน ๆ เข้าน้ำฝนซึ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่ จะค่อย ๆ
ละลายหินตามแนวที่ผ่านให้เป็นช่องกว้างออกไปทุกที จนกระทั้งเป็นโพรงใหญ่
๑๓/ ๘๒๔๑
๒๓๘๙. ถ้ำมอง
คือ ตู้สำหรับดูภาพยนต์ ถ้ำมองนั้นเป็นทั้งเครื่องฉาย และที่สำหรับดูภาพยนต์
พร้อมกันไปในตัว ดูได้ทีละคน โทมัส เอ เอดิสัน เป็นผู้ประดิษฐ์ถ้ำมองขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ๑๓/
๘๒๔๓
๒๓๙๐. ถีบจักร - หนู
ส่วนมากหมายถึง หนูตัวเล็ก ๆ สีขาว ที่บางคนชอบเลี้ยงและทำเครื่องหมุนให้ถีบเล่น
๑๓/ ๘๒๔๔
๒๓๙๑. ถือน้ำ
เป็นคำย่อมาจากคำว่า "ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา"
ซึ่งเรียกในทางราชการว่า "พระราชพิธีศรีสัจปานกาล"
อันเป็นพระราชพิธีเกี่ยวด้วยเรื่อง ดื่มน้ำที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ทำพิธีแช่งน้ำเสร็จแล้ว
(ดู แช่งน้ำ - ลำดับที่ ๑๗๙๑ ประกอบ) เพื่อเป็นการสาบาน ยืนยันถึงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน
หน้าที่นั่ง
การถือน้ำ เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณอย่างหนึ่งของไทย ถือว่าเป็นพระราชพิธีใหญ่ของแผ่นดิน
กำหนดมีปีละสองครั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน
เป็นใจความว่า การถือน้ำในกรุงเทพ ฯ มีห้าอย่างคือ
๑. พระเจ้าแผ่นดิน แรกได้รับราชสมบัติต้องถือน้ำ
๒. ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้ว ต้องถือน้ำปีละสองครั้ง
๓. ผู้ซึ่งแต่เมืองปัจจามิตร เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารต้องถือน้ำ
๔. ทหารผู้ซึ่งถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือน
๕. ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ ต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่ง
ธรรมเนียมแต่เดิมมา พระเจ้าแผ่นดินมิได้เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพิธีด้วย
เพิ่งมาเกิดธรรมเนียมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
๑๓/ ๘๒๔๕
๒๓๙๒. ถูปาหารหบุคคล
คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา เมื่อว่าตามตำนานทางพระพุทธศาสนา
บุคคลที่ได้ถือว่า ถุปาหารบุคคลนี้ได้แก่ บุคคลสี่จำพวกคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ์
ในชั้นเดิม การนำกระดูกบุคคลทั้งสี่จำพวก บรรจุสถูปไว้บุชานี้ นิยมสร้างไว้ในที่ชุมทางใหญ่สี่แห่ง
บรรจบกันซึ่งเรียกว่า ทางใหญ่สี่แพร่ง เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาจากสี่ทิศ ได้กราบไหว้สักการบูชา
๑๓/ ๘๒๔๘
๒๓๙๓. ถุปาราม
เป็นชื่อพระเจดีย์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่ในเมืองอนุราธบุรี สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยดิษ
เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) ข้างขวาของพระพุทธเจ้า
๑๓/ ๘๒๔๙
๒๓๙๔. เถรขวาด
เป็นเถรในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นผู้ชำนาญในเรื่องเวทมนต์ คาถากฤตยาคม
มีชื่อเสียงในการทำเสน่ห์ ฝังรูปฝังรอย มีอิทธิฤทธิ์สะเดาะโซ่ตรวนได้ ตลอดจนแปลงร่างเป็นนก
เป็นจระเข้ และอื่น ๆ อีกได้เป็นอันมาก
ตามเรื่องมีว่า สร้อยฟ้า และศรีมาลา สองภรรยาของพระไวย เกิดความหึงหวงทะเลาะเบาะแว้งกัน
นางสร้อยฟ้าจึงไปหาเถรขวาด ขอให้ช่วยทำเสน่ห์ให้ตน เพื่อพระไวยจะได้หลงรัก
ขุนแผนรู้ความจึงกราบทูลพระพันวสา ถึงเรื่องพระไวยถูกทำเสน่ห์ พลายชุมพลน้องพระไวยอาสาขอจับผู้ทำเสน่ห์
จับเถรขวาดไว้ได้ แต่พอตกกลางคืน เถรขวาดก็สะเดาะโซ่ตรวนหลุดแล้ว แปลงตัวเป็นจระเข้หนีไป
พระพันวสาโปรดให้ชำระคดีความทำเสน่ห์ นางสร้อยฟ้าใส่ความศรีมาลาจึงให้พิสูจน์กันด้วยการลุยไฟ
นางสร้อยฟ้าแพ้ นางศรีมาลาขอพระราชทานชีวิตนางไว้ แล้วนางจึงเดินทางกลับเชียงใหม่บ้านเกิด
ได้พบกับเถรขวาดจึงกลับไปเชียงใหม่ด้วยกัน
ต่อมา เถรขวาดคิดแค้นพลายชุมพล จึงแปลงกายเป็นแร้ง บินมุ่งไปอยุธยา
พอถึงเมืองอ่างทองก็ร่อนลงแปลงเป็นจระเข้ใหญ่ ณ บ้านจระเข้ร้อง แล้วอาละวาดมาตามลำน้ำจนถึงอยุธยา
พลายชุมพลอาสาปราบจระเข้เถรขวาด จับเถรขวาดได้ เถรขวาดถูกตัดสินให้ประหารชีวิต
๑๓/ ๘๒๕๓
๒๓๙๕. เถรคาถา
เป็นคาถา (คำฉันท์ภาษาบาลี) ที่พระเถระ มีพระสุภูติเถระ เป็นต้น กล่าวไว้คือ
พระเถระแต่ละองค์ได้พิจารณาความสุขอันเกิดแต่อริยมรรค และความสุขในอริยผล
ตามที่ตนได้ประสบแล้วกล่าวไว้ บางคาถาก็กล่าวเป็นอุทานวาจา บางคาถาก็กล่าวด้วยอำนาจการพิจารณาผลสมาบัติ
ที่เป็นธรรมเครื่องอยู่ของตน บางคาถาก็กล่าวเป็นคำถาม บางคาถาก็กล่าวสำแดงความแห่งพระศาสนา
ในสมัยที่จะปรินิพพาน คาถาเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อคราวทำสังคายนาพระธรรมวินัย
พระธรรมสังคาหกาจารย์รวบรวมร้อยกรองไว้ โดยชื่อว่า "เถรคาถา"
เถรคาถานั้น มาในพระไตรปิฎก โดยนับเนื่องอยู่ในสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย และในองค์
๙ ของพระพุทธสาสนาที่เรียกว่า "นวังคสัตถุศาสน์"
คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ว่าโดยปริมาณ เถรคาถานี้มี ๒,๐๐๐ นับเป็นธรรมขันธ์
๑๓/ ๘๒๕๗
๒๓๙๖. เถรวาท
คือ ลัทธิทักษิณนิกาย หรือนิกายฝ่ายใต้
ถือตามมติที่พระเถระพุทธสาวก ได้ทำสังคายนาไว้ ปัจจุบันคือ
ลัทธิพุทธสาสนาฝ่ายหินยาน
ซึ่งได้ชื่อตามโวหารของลัทธิฝ่ายเหนือคือ อาจริยวาท หรือลัทธิมหายาน ในปัจจุบัน
นิกายเถรวาท เกิดขึ้นเมื่อคราวพระเถระพุทธสาวก กระทำทุติยสังคายนา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ได้ประมาณ ๑๐๐ ปี เนื่องจากมีภิกษุคณะหนึ่งเรียกกันว่าพวกวัชชบุตร อยู่ที่เมืองเวสาลี
ได้แก้ไขพระวินัยบัญญัติเป็นวัตถุสิบประการ มีเลิกสิกขาบทที่ห้ามมิให้ฉันอาหารนอกเพลและห้ามมิให้รับทรัพย์เงินทองเป็นต้น
พระยสเถระเป็นหัวหน้าพวกที่ไม่เห็นด้วย จึงนิมนต์พระมหาเถระผู้เป็นคณาจารย์อยู่สำนักอื่น
ๆ มีพระสัพพกามีและพระเรวัตเป็นต้นกับคณะสงฆ์อีกเป็นอันมากมาประชุมกันที่เมืองเวสาลี
วินิจฉัยวัตถุสิบประการของพวกถิกษุวัชชีบุตร เห็นพ้องกันว่าการแก้ไขพระวินัยนั้นไม่สมควรการถือพระวินัย
จึงแตกต่างกันขึ้นเป็นสองลัทธิ ลัทธิที่พระสงฆ์พวกพระยสเถระถือได้ชื่อเรียกว่า
"เถรวาท" ส่วนลัวทธิที่พระสงฆ์พวกวัชชีบุตรถือนั้นได้ชื่อว่า "อาจริยวาท"
เพราะถือตามลัทธิอาจารย์แก้ไข
พระสงฆ์ฝ่ายข้างพระยสเถระได้พร้อมมกันทำสังคยนาพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี
เรียกในวตำนานว่า"ทุติยสังคายนา" ต่อมาพระสงฆ์ก็เกิดแตกต่างกันเป็นสองนิกาย
พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทได้ชื่อเรียกว่า "สถวีระ" พระสงฆ์ฝ่ายอาจริยวาทได้ชื่อเรียกว่า
"มหาสังฆิกะ" ฝ่ายสถวีระลงมาทางใต้ ฝ่ายมหาสังฆิกาขึ้นไปทางเหนือ ฝ่ายนี้เป็นมูลแห่งฝ่ายมหายาน
๑๓/ ๘๒๖๐
๒๓๙๗. เถรีคาถา
เป็นคาถาที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ แสดงอุทิศพระเถรีทั้งหลาย รวบรวมร้อยกรองไว้
มาในพระไตรปิฎกอยู่ในสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย ในลำดับเถรคาถา จัดเป็นนิบาตเดียวกับเถรคาถารวม
๑๖ นิบาต
๒๓๙๘. เถ้าแก่
(ดู เฒ่าแก่ - ลำดับที่ ๑๙๕๐) ๑๓/
๘๒๖๓
๒๓๙๙. เถาคัน
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นเถามีมือสำหรับเกาะ ออกตรงข้ามกับก้านใบ
ใบเป็นชนิดใบประกอบเรียงสลับกัน รูปใบเป็นรูปไข่ หรือรูปรี ดอกมีขนาดเล็กมากสีขาว
ออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบ ผลรูปกรวยคว่ำ
พันธุ์ไม้นี้บางทีเรียกว่า เถาคันแดง เป็นสมุนไพร ใช้เถาเป็นยาแก้ลมวิงเวียน
ขับเสมหะ ขับลม ฟอกโลหิต แก้ฟกช้ำ ใบนำมาอังไฟปิดฝี และถอนพิษปวดบวม
๑๓/ ๘๒๖๓
๒๔๐๐. เถาดาน
เป็นโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นลำแข็งอยู่ในท้อง ตามตำราแพทย์แผนโบราณเป็นโรคจำพวกกษัยชนิดหนึ่ง
มีลักษณะตั้งขึ้นที่ยอดอกแข็งเหมือนแผ่นหิน ถ้าลามลงไปถึงท้องน้อยแล้ว ทำให้เจ็บปวดร้องครางอยู่ทั้งวันทั้งคืน
ถูกความเย็นมิได้ ถูกความร้อนอาการค่อยสงบลงเล็กน้อย แล้วกลับปวดต่อไปจนทำให้จุกเสียดแน่นหน้าอก
บริโภคอาหารไม่ได้ ถ้าลามไปถึงหัวเหน่าเมื่อใด เป็นโรคที่รักษาไม่ได้
ให้รีบรักษา แต่อย่างเป็นอ่อน ๆ อยู่นี้เรียกว่า กษัยดาน ถ้าเป็นกษัยเถา ทำให้เป็นเส้นพองแข็งขวางอยู่ที่หัวเหน่า
เสียดไปตามชายโครงถึงยอดอก ปวดขบในอกเสียงถึงลำคอ บางทีทำให้อาเจียนเป็นนานรักษาไม่ได้
แก้ได้แต่เมื่อเป็นอ่อน ๆ อยู่
๒๔๐๑. เถาวัลย์
เป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นเถาคือ ไม้เลื้อย คำภาษาพื้นเมืองของไทยเอาคำว่า เถาวัลย์
ไปประกอบกับคำอื่นใช้เรียกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เถาวัลย์ย่านาง เถาวัลย์ยอดด้วน
ฯลฯ ๑๓/
๘๒๖๕
๒๔๐๒. เถาวัลย์เปรียง - ต้น
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้เถาเลื้อย เป็นเถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่
ยาวประมาณ ๓๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ ซม. ไม่ผลัดใบ ใบเป็นใบประกอบยาว
๑๐ - ๑๕ ซม. ช่อดอกยาวประมาณ ๑๐ - ๓๐ ซม. ออกตามง่ามใบ แต่ละช่อมีดอกเป็นจำนวนมาก
ติดเป็นกระจุก ดอกคล้ายดอกถั่วขนาดเล็ก สีขาว หรือสีชมพูอ่อน
พันธุ์ไม้ชนิดนี้ทางจังหวัดนครราชสีมา เรียกว่า เครือตาปลา น้ำเลี้ยงภายในลำต้นใช้ทำยาเบื่อปลา
รากใช้เป็นยาฆ่าแมลง เถาใช้เข้ายากลางบ้าน เช่น ยาแก้ปวดเมื่อย และยาขับปัสสาว
๑๓/ ๘๒๖๕
๒๔๐๓. เถิดเทิง หรือเทิ้งบ้อง
เป็นชื่อวงกลองยาว ซึ่งประกอบด้วยกลองยาวขนาดต่าง ๆ หลายลูก มีกลองเอกเป็นกลองนำหนึ่งลูก
ต้องมีเครื่องให้จังหวะคือ ฉิ่ง กรับ ฉาบเล็ก และโหม่ง
การเล่นเถิดเทิง ต้องมีรำเข้าประกอบ นักเล่นกลองยาวในวงเถิดเทิง ส่วนมากเป็นชาย
และมักแต่งตัวให้ละม้ายไปทางพม่าคือ นุ่งโสร่ง และโพกหัว หัวเป็นผ้าสีสันต่าง
ๆ
กลองยาวเป็นกลองหน้าเดียว แต่ตีได้หลายเสียง จึงผสมวงเป็นวงเถิดเทิงได้อย่างน่าฟัง
วงเถิดเทิง มักใช้ตีเข้าขบวนแห่ ในงานที่ต้องการความครึกครื้นต่าง ๆ เช่น
แห่นาคไปวัด แห่สงกรานต์ แห่กฐิน ผ้าป่า ชักพระ เหล่านี้เป็นต้น
๑๓/ ๘๒๖๖
๒๔๐๔. เถิน
อำเภอ ขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือ ตะวันออก
และตะวันตก เป็นที่ดอนมีป่าทึบและภูเขา
อ.เถิน เดิมเป็นเมืองขึ้นนครเชียงใหม่ ต่อมายุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.ลำปาง
๑๓/ ๘๒๗๑
๒๔๐๕. แถง - เมือง
อยู่ทางภาคตะวันตกของเวียดนามตอนเหนือ ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเดียนเบียนฟู
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพฝรั่งเศสได้ยึดเมืองนี้เป็นป้อมปราการสุดท้าย
ก่อนที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะยินยอมให้มีการเจรจา สงบศึกกับพวกเวียดมินห์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๗
เมืองแถง เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำหลายสายผ่าน ภายในวงล้อมของภูเขาเป็นที่ราบ
ทำมาได้อย่างกว้างขวาง ในสมัยก่อนเมืองแถงมีเมืองขึ้นถึง ๑๑ เมือง
ประวัติเมืองเริ่มเรื่องในทำนองนิยายว่า มีเทพบุตรเทพธิดา อย่างละห้าองค์
ตกลงกันว่าจะมาเอากำเนิดในโลกมนุษย์ จึงเข้าไปอยู่ในน้ำเต้า ผลน้ำเต้าลอยลงมาบนยอดเขาเรียกว่า
เขาเต้าปุง แล้วเทพบุตร เทพธิดา ออกจากน้ำเต้าเป็นคู่ ๆ สี่คู่ที่ออกมาทีหลัง
กลายเป็นบรรพบุรุษของ ไทย ลาว ฮ่อ
และญวน ส่วนคู่แรกกลายเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า
เนื่องจากไม่ยอมอาบน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนสี่คู่หลัง
พวกไทยมีชื่อเรียกว่า ผู้ไทย
เมื่อมีผู้คนมากขึ้น และกษัตริย์คือ ขุนลอคำ จึงพากันสร้างบ้านเรือนขึ้นที่บ้านสามหมื่น
ขยายบ้านเมืองใหญ่โต มีชื่อว่า เมืองแถง เมื่อขุนลอคำสิ้นพระชนม์ ขุนบรม
(ขุนบูลม ก็เรียก) หรือพีล่อโก๊ะ ได้เป็นเจ้าเมืองแทน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพมาก
มีราชโอรสเจ็ดองค์ โปรดให้ไปสร้างเมืองใหม่หกองค์ ส่วนองค์สุดท้ายมีนามว่า
เจ็ดเจือง โปรดให้อยู่เมืองแถง
ประวัติเมืองแถง ต่อจากขุนบรมลงมา ออกจะสับสนมาก สรุปว่าเป็นเชื้อสายขุนลอคำ
ผลัดเปลี่ยนกันมาครองเมืองแถง แต่ความจริงนั้น เมืองแถงถูกเปลี่ยนมือไปมา
ระหว่างไทย บ้าง ล้านช้าง บ้าง พม่า บ้าง ญวน บ้าง ตลอดเวลาหลายร้อยปี มาจนถึงปี
พ.ศ.๒๔๑๙ ซึ่งเป็นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงมีเรื่องว่า สิบสองจุไทย
ขึ้นอยู่กับกรุงเทพ ฯ และเจ้าเมืองแถง ได้ราชทินนามว่า "พระสวามิภักดิสยามเขต"
ต่อมาเมืองแถงตกไปเป็นของญวน และต่อมาญวนได้ตกไปเป็นเมืองอาณานิคม ของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ห้า
ตามสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖
๒๔๐๖. ไถ ๑ - ดาว
ดาวไถ เป็นหมู่ด่าวฤกษ์ ซึ่งปรากฎเด่นชัดบนท้องฟ้า และอาจเห็นได้จากทุกแห่งบนพื้นโลก
มนุษย์ในโลกทุกแห่ง ได้สนใจสังเกตและเอาใจใส่หมู่ดาวนี้มาแต่สมัยโบราณ ในพื้นเพวัฒนธรรมไทยก็เรียกดาวหมู่นี้ว่า
ดาวเต่า
อีกชื่อหนึ่ง ดาวไถยังนับเป็นกนักษัตรที่ห้าชื่อ มฤคศิรฺษ ด้วย
๒๔๐๗. ไถ ๒
เป็นเครื่องมือกสิกรรมชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติสำคัญคือ การพลิกกลับหน้าดิน เพื่อให้ดินเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช
ไถเป็นเครื่องมือช่วยงานมนุษย์ ให้เตรียมดินได้รวดเร็วกว่าจอบ เพราะใช้แรงงานสัตว์ฉุดลาก
ในการไถเพื่อเตรียมดินเพาะปลูกพืชนั้น ยังแบ่งออกไปเป็นไถดะ และไถแปร ไถดะ
เป็นการไถพลิกหน้าดินลง และเอาดินข้างล่างขึ้นมาตาก เป็นการกลบฆ่าวัชพืช เมื่อไถดะเสร็จแล้ว
จะทิ้งช่วงเวลานานพอสมควรก็ไถอีกครั้ง หรือสองครั้ง การไถหลังการไถดะนี้ เรียกกันว่าไถแปร
เพื่อฆ่าต้นอ่อนวัชพืช และย่อยดินให้ร่วนซุย การไถพรวนถือเป็นการไถแปรอย่างหนึ่ง
ท
๒๔๐๘. ท พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสามของพยัญชนะไทย
นับเป็นพวกอักษรต่ำเป็นตัวที่สี่ของวรรคสี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลี
และสันสกฤต จัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือ มีเสียงไม่ก้อง แต่ในด้านภาษาศาสตร์
เรามักจะพูดถึงเสียง ไม่ใช่ตัวอักษร ดังนั้น ท ในภาษาบาลี และสันสกฤต จึงจัดเป็นพยัญชนะพวกสิถิล
- โฆษะ คือ มีเสียงเบาและก้อง
ท เป็นพยัญชนะเกิดจากฐานฟัน เรียกว่า ทันตชะ เมื่อประสมกับ ร จะออกเสียงเป็น
ท และ ซ (ที่เรียกว่า อักษรควบไม่แท้) ก็ได้
๒๔๐๙. ทนายความ
๑. ได้แก่ ผู้ที่จดทะเบียนและรับใบอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภา ให้มีสิทธิว่าความในศาล
ทนายความแบ่งเป็นสองชั้นคือ ทนายความชั้นหนึ่ง และทนายความชั้นสอง ทนายความชั้นหนึ่ง
มีสิทธิว่าความในศาลทั่วราชอาณาจักร ทนายความชั้นสอง มีสิทธิว่าความในศาลในเขตจังหวัดรวมสิบจังหวัด
ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และมีสิทธิว่าความในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉพาะคดีที่ศาลชั้นต้นในเขตจังหวัดดังกล่าว
ได้พิพากษาหรือสั่ง และมีสิทธิตามประเด็นไปว่าความในศาลอื่นได้ด้วย
๒. เมื่อบุคคลมีข้อพิพาทไม่ว่าจะเป็นในทางอาญา หรือทางแพ่งเกิดขึ้นก็ดีหรือไม่มีข้อพิพาท
แต่มีความประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล เช่น จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
เป็นต้นก็ดี แต่บุคคลนั้นไม่มีความรู้กฎหมาย จึงไม่สามารถเขียนคำฟ้อง คำให้การ
หรือคำร้อง หรือซักถามพยานในศาลให้ถูกต้อง ตามที่กฎหมายต้องการได้ จึงอาจแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้
ความชำนาญในทางกฎหมายที่ได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภา ให้มีสิทธิว่าความในศาลได้
ซึ่งเรียกกันว่า ทนายความ นั้นให้ดำเนินคดีแทนตน
๑๓/
๘๒๘๕
๒๔๑๐. ทบวงการเมือง
คือ ทบวงและกรมในรัฐบาล เทศาภิบาลปกครองท้องที่ และประชาบาล ทั้งหลาย
๑. กระทรวงและกรมในรัฐบาล อยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนกลาง"
๒. เทศาภิบาลปกครองท้องที่ ปัจจุบันอยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนภูมิภาค"
๓. ประชาบาลทั้งหลาย ปัจจุบันอยู่ในความหมายเป็น "ราชการส่วนท้องถิ่น"
๑๓/ ๘๒๙๔
๒๔๑๑. ทมิฬ
เป็นชนชาติทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ต่อจากแคว้นอันธระ ตั้งแต่แคว้นมัทราช
ลงไปตามชายฝั่งทะเล ที่เรียกว่า โจฬมณฑล จนสุดใต้ของอินเดียที่เรียกว่า แหลมกุมารี
และตอนเหนือของเกาะลังกาด้วย
โดยเหตุที่ทมิฬเป็นชาติที่มีความเจริญยิ่งกว่าพวกอื่นในฝ่ายใต้ของพวกอินเดียด้วยกัน
บางทีก็ใช้คำทมิฬเป็นชื่อรวม สำหรับเรียกชนชาติอินเดียตอนใต้ทั้งหมด ชาติทมิฬเป็นชนชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศต่าง
ๆ ในภาคเอเซียอาคเนย์ มาแต่โบราณ เหตุนี้วัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาสู่ดินแดนเหล่านี้
จึงมีอยู่มากที่มาจากทมิฬ ราชวงศ์ปัลลวะซึ่งมาเกี่ยวข้องกับศิลปะ
มีสถาปัตยกรรม เป็นต้น ในประเทศเขมรสมัยโบราณ ก็เป็นราชวงศ์ทมิฬ
ภาษาทมิฬ เป็นภาษาที่รุ่งเรืองมานาน มีวรรณคดีที่สำคัญอยู่มาก ยกเว้นวรรณคดีในภาษาสันสกฤตแล้ว
ก็ไม่มีภาษาใดในอินเดียจะมีวรรณคดีเป็นจำนวนเท่าเทียมของทมิฬได้
ชาวทมิฬ มีอยู่ในประเทศไทย อินโดนิเซีย (ชวามลายู) และมาเลเซีย
โดยมากเป็นคนชั้นกรรมกร เฉพาะพวกนี้เรียกว่า เป็นแขกกลิงค์
๑๓/ ๘๒๙๗
๒๔๑๒. ทยอย
เป็นชื่อเพลงประเภทหนึ่ง ที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย มีความหมายเป็นการแสดงความเศร้าโศก
ในเวลาเดินทาง อาจใช้บรรเลงเป็นเพลง "หน้าพาทย์" หรือ "เพลงเรื่อง"
หรือ "เพลงรับร้อง" ที่เรียกกันว่า "ส่งเสภา" ก็ได้
เพลงที่ใช้เป็นหน้าพาทย์ ประกอบอากัปกิริยาของตัวโขน ละคร นั้น มีชื่อว่า
ทยอย
ส่วนคำว่า " เพลงเรื่องทยอย" นั้น เป็นชื่อของเพลงอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า
"เพลงเรื่อง" เพลงประเภทนี้ประกอบด้วยเพลงหลาย ๆ เพลง ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน
หรือใกล้เคียงกันนำมาร้อยกรองเข้าเป็นเรื่อง ส่วนมากก็จะนำเอาชื่อของเพลงแรก
ในเรื่องนั้นมาเป็นชื่อของเพลงเรื่องดังกล่าว เช่น "เพลงเรื่องทยอย" ก็ขึ้นต้นด้วย
เพลง "ทยอย" แล้วต่อด้วยเพลงอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเศร้า และเย็น เช่นเดียวกับเพลงทยอย
๑๓/ ๘๒๙๘
๒๔๑๓. ทรงกระทียม
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์กก เป็นไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกระจุก ตามหนอง
บึง ที่มีน้ำสะอาด ในที่โล่งทั่วไป สูง ๔๐ - ๑๒๐ ซม. ลำต้นเป็นหลอดกลวง ภายในมีผนังกั้นเป็นปล้อง
ๆ ไม่มีใบ มีกาบบาง ๆ หุ้มที่โคนของลำต้น ดอกเป็นช่อยาว ๑ - ๒ ซม. เกิดที่ปลายสุดของลำต้น
ช่อดอกตั้งตรงในแนวเดียวกับลำต้น ตามปลายรากที่อยู่ใต้ดิน มีหัวซึ่งเป็นที่สะสมอาหาร
รูปร่างคล้ายแห้ว เป็นอาหารรสอร่อย บริโภคได้ทั้งสด ๆ และทำให้สุกแล้ว
๑๓/ ๘๓๐๐
๒๔๑๔. ทรงธรรม - สมเด็จพระเจ้า
เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ ๒๑ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๔ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ
ที่ประสูติแต่พระสนม เมื่อเสวยราชย์แล้วทรงพระนามว่า "สมเด็จพระอินทราชาธิราช"
แต่อาจเนื่องมาจากก่อนเสวยราชย์ ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ และในระหว่างครองราชย์
พระองค์ได้ทรงทำนำบำรุงบ้านเมือง และการศาสนามาก ทั้งได้พบรอยพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรีอีกด้วย
ประชาชนจึงได้ถวายพระนามเป็นการยกย่องว่า "สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม" พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี
พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์ได้ ๑๙ ปี
ทหารญี่ปุ่นขบถ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ได้ไม่นานกำลังทหารญี่ปุ่น ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของออกญากรมนายไวย
ได้รวบรวมกำลังประมาณ ๑๘๐ คน ยกจู่โจมเข้าไปในพระราชวัง จับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไว้
แต่เมื่อเห็นกองทหารกรุงศรีอยุธยารวบรวมกำลังกัน เตรียมจะขับไล่พวกตน
จึงลงเรือสำเภาล่องลงไปจากกรุงศรีอยุธยา และได้นำพระสงฆ์สี่รูปไว้เป็นตัวประกัน
ระหว่างทางได้ขึ้นปล้นบ้านริมแม่น้ำ แล้วไปยึดเมืองเพชรบุรีไว้ และขึ้นครองเมืองอยู่หนึ่งปีเต็ม
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมส่งกองทหารออกไปขับไล่ได้ในปี พ.ศ.๒๑๕๔ แต่พวกญี่ปุ่นกลับมายึดเมืองบางกอก
(ต่อมาเรียก เมืองธนบุรี) สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา
ออกไปเจรจาให้พวกที่ยึดบางกอกอยู่ออกไปได้
การสงคราม
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาต้องทำสงครามถึงห้าครั้งด้วยกันคือ
๑. การขับไล่กองทัพล้านช้าง พ.ศ.๒๑๕๕
ในระหว่างที่พวกชาวญี่ปุ่นได้จับกุมสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้ากรุงล้านช้างทราบข่าว
จึงยกทัพเข้ามานัยว่าจะมาช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่นออกไป ได้เคลื่อนทัพมาดูชั้นเชิงอยู่ที่เมืองละโว้
(ลพบุรี) ถึงสี่เดือน เมื่อทราบว่าเหตุการณ์ภายในกรุงศรีอยุธยาสงบลงแล้ว
จึงทรงส่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์ มาถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีความว่าที่ยกทัพลงมาครั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่น
แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่ทรงเชื่อ จึงทรงเคลื่อนทัพจากพระนครไปยังเมืองละโว้
แต่กองทัพล้านช้างได้ชิงถอยหนีไปก่อนแล้วถึงสี่วัน จึงทรงส่งกองทหารออกไล่ติดตามไปทัน
แล้วเข้าโจมตีทัพล้านช้างแตกกลับไป
๒. การแย่งเมืองทวาย พ.ศ.๒๑๕๖
พระเจ้าอังวะ ยกกองทัพมีกำลัง ๔๐,๐๐๐ มาตีเมืองทวายได้ และยกทัพเลยลงมาจะตีเมืองตะนาวศรี
แต่เมื่อพบกองทัพไทยสองกองทัพ ตั้งสกัดอยู่ที่ท่าจะข้ามไปเมืองตะนาวศรีก็ชะงักอยู่
พอดีถูกกองทัพพระยาสวรรคโลก กับกองทัพพระยาพิไชย ยกอ้อมมาล้อมด้านหลัง พระเจ้าอังวะจึงถอยหนีไปยังเมืองเมาะตะมะ
๓. การเสียเมืองเชียงใหม่ให้กับพม่า พ.ศ.๒๑๕๘
พระเจ้าอังวะพักพลอยู่ที่เมาะตะมะได้ไม่นาน ก็ทรงทราบข่าวว่า เมืองเชียงใหม่ได้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นภายใน
ทรงเห็นว่าชาวเชียงใหม่คงจะแตกกันเป็นสองฝ่าย จึงยกทัพจากเมืองเมาะตะมะไปยังเมืองเชียงใหม่
ในปลายปี พ.ศ.๒๑๕๗ เมื่อยกมาถึงเมืองลำพูน ทรงทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่ได้กวาดต้อนผู้คนไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองลำปาง
จึงยกทัพติดตามไปล้อมเมืองไว้ ชาวเมืองเชียงใหม่และลำปางรักษาเมืองอยู่ได้นาน
จนกองทัพพม่าขาดเสบียง เกือบจะถอยทัพกลับ พอดีพระยาน่านคุมเสบียงมาส่งทัน
และพระเจ้าเชียงใหม่พิราลัยลง ชาวเมืองจึงยอมอ่อนน้อมแก่พม่า พระเจ้าอังวะตั้งให้พระยาน่าน
เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ต่อมาไทยกับพม่าได้ทำสัญญาเลิกสงครามต่อกันในปีต่อมา
ในสัญญานั้น มีข้อความสำคัญว่า เมืองเชียงใหม่เป็นของไทย และเมืองเมาะตะมะเป็นของพม่า
๔. การสงครามกับเขมร พ.ศ.๒๑๖๔
ในปี พ.ศ.๒๑๖๒ สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมรองค์ใหม่ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองอุดมลือไชย
ทรงคิดแข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ไทย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงให้เตรียมกองทัพบก
และกองทัพเรือไปตีเขมร กองทัพเรือขาดเสบียงและน้ำต้องถอยกลับก่อน สมเด็จพระไชยเชษฐายกทัพเข้าโจมตีทัพบกไทยแตก
กรุงศรีอยุธยาต้องปล่อยให้เขมรเป็นอิสระภาพ อยู่ตลอดรัชกาลของพระองค์
๕. สงครามเสียเมืองทวาย พ.ศ.๒๑๖๕
พม่าส่งกองทัพมาตีเมืองทวาย ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปป้องกันไม่ทัน จึงเสียเมือง
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงดำรงตำแหน่งศาสนูปถัมภกทุกศาสนา ที่มีผู้นำเข้ามาในพระราชอาณาจักรตามพระราชประเพณี
เฉพาะพระพุทธศาสนาได้ทรงส่งเสริมไว้หลายอย่างคือ ในปี พ.ศ.๒๑๕๖ โปรดให้ชักชลอพระมงคลบพิตรจากที่ตั้งเดิม
ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง มาไว้ด้านตะวันตกแล้วสร้างพระมณฑปขึ้นครอบ และในปี
พ.ศ.๒๑๖๑ มีผู้พบรอยพระพุทธบาทอยู่บนไหล่เขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี
จึงทรงถวายที่ดินเป็นพุทธมณฑล กว้าง ๑ โยชน์ โดยรอบพระพุทธบาท
นอกจากนั้น ยังโปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวงและทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นไว้
๒๔๑๕. ทรงบาดาล
เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบ ยาว ๑๐ - ๓๐ ซม. ดอกเป็นช่อ ๆ ยาว ๖ -
๑๓ ซม. ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ฝักแบน ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม.
๑๓/
๘๓๑๓
๒๔๑๖.ทรงประพาส ๑
ชื่อฉลองพระองค์มีรูปเป็นเสื้อกั๊ก มีชายคู่กับ "พระกรน้อย" ซึ่งเป็นเสื้อชั้นในที่แขนต่อแถบรัด
มีสายรัดกับฉลองพระองค์ทรงประพาส ๑๓/
๘๓๑๔
๒๔๑๗. ทรงประพาส ๒
เป็นชื่อหมวก เครื่องยศรูปเป็นกลีบ ๆ มีชายปกข้างและหลัง
๑๓/ ๘๓๑๕
๒๔๑๘. ทรพา
เป็นพญากาสร (กระบือ) สีสำลาน (สีเหลืองปนแดง) ในเรื่องรามเกียรติ์
ว่าเดิมเป็นยักษ์ชื่อ นนทการ นายทวารเขาไกรลาสของพระอิศวร เห็นนางอัปสรชื่อ
มาลี ในสวนดอกไม้สวรรค์ เกิดความปฎิพัทธ์เด็ดดอกไม้ปาไปยังตัวนาง เป็นเชิงเกี้ยว
นางมาลีตกใจนำความไปฟ้องพระอิศวร พระองค์ทรงกริ้วจึงสาปให้เป็นกระบือชื่อ
ทรพา เมื่อใดมีลูกชื่อ ทรพี และถูกลูกฆ่าแล้ว จึงพ้นสาป กลับไปเป็นนายทวารดังเดิม
เมื่อเป็นกระบือทรพาแล้ว ถ้ามีลูกออกมาเป็นตัวผู้ ก็ฆ่าเสียเพราะเกรงจะมาฆ่าพ่อ
คราวหนึ่งนางกระบือชื่อนีลาหนีไปตกลูกในถ้ำเป็นตัวผู้ จึงออกปากฝากฝังเทวดาในถ้ำแล้วกลับไป
เทวดาช่วยกันเลี้ยงรักษาเขาข้างละองค์ ขาข้างละองค์ และให้ชื่อทรพี
ครั้นเจริญวัยทรพีไปถ้าพ่อรบ ทรพาแพ้ถูกทรพีขวิดตาย
๑๓/
๒๔๑๙. ทรพิษ - ไข้
เกิดจากไวรัสพวกหนึ่ง เชื้อพวกนี้อาจพบในน้ำเหลืองหรือหนองตามผิวหนังของผู้เป็นโรค
และพบในน้ำมูกน้ำลายของผู้เป็นโรค โรคจะเกิดขึ้นหลังจากรับเชื้อราว ๘ - ๑๒
วัน เมื่อเริ่มต้นเป็นโรคจะปวดศีรษะ ไข้สูงมาก หน้าแดง หนาวสั่น ปวดตามแขนขาและหลัง
กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย เพ้อ จนอาจมีชักและหมดสติ
ในวันที่สอง จะมีผื่นขึ้นเป็นจุดแดงบริเวณหน้าท้องและหน้าขา ลักษณะคล้ายกับผื่นหัด
วันที่สาม สี่ จะเกิดเม็ดพองใสทั้งตัว และจะค่อย ๆ ขุ่นเข้า ไข้ลดลงบ้าง แต่จะกลับสูงขึ้นเมื่อมีพวกเชื้อหนองต่างๆ แทรกลงไป ต่อมน้ำเหลืองตามที่ต่าง ๆ จะโตบวมและอักเสบด้วย
ในวันที่แปด เม็ดผื่นพวกนี้จะขึ้นเต็มหมดทั้งตัวแล้วจะค่อย ๆ ฝ่อลงไปและตกสะเก็ดแห้งร่วงไปหมดใน ๑๐ - ๑๔ วัน เมื่อหายแล้วมักจะเหลือเป็นแผลเป็นตามตัวและใบหน้า ถ้าฝีนั้นขึ้นที่ตาดำจะทำให้ตาบอด
คนไข้ตายเพราะโรคนี้ ส่วนมากมักจะเกิดจากโรคแทรกเช่น ปอดบวม ไตอักเสบ และเลือดเป็นพิษ ยังไม่มียาใดที่รักษาโรคนี้ได้โดยตรง การรักษาส่วนมากคือระวังรักษา รักษาโรคแทรกและรักษาตามอาการ
การป้องกันคือ ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การปลูกฝีในประเทศไทยเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ โดยนายแพทย์ แดนบีช บรัดเลย์ ทุกคนควรปลูกฝีซ้ำทุกระยะ ๕ ปี ในระหว่างที่เกิดมีผู้ป่วยเป็นไข้ทรพิษหรือไข้ทรพิษระบาด ควรปลูกฝีทุกครั้งไป สำหรับเด็กทารกนั้นควรได้ปลูกฝีครั้งแรกก่อนอายุหกเดือน ๑๓/ ๘๓๑๘
๒๔๒๐. ทรพี เป็นลูกของทรพาและนางกระบือชื่อนีลา เมื่อเกิดแม่กระบือพาไปเกิดในถ้ำแก้วสุรกานต์ แล้วฝากฝังให้เทวดาเลี้ยงไว้ในถ้ำ ครั้นเติบใหญ่ขึ้นมีความฮึกเหิมอหังการเที่ยวเสี่ยวขวิดหินผาคอยวัดตีนพ่อ ครั้นเห็นว่าตีนโตเท่าพ่อแล้ว ก็ไปท้าพ่อให้มาขวิดกัน ได้ฆ่าพ่อแล้วกำเริบฤทธิ์ ไปท้าเทวดาที่เขาหิมาลัย ที่เขาเบญจกูฏ ท้าพระสมุทร จนไปถึงท้าพระอิศวร พระองค์บอกให้ไปสู้กับพยาพาลีก่อน แล้วให้ไปเกิดเป็นลูกพญาขร ชื่อมังกรกัณฐ์ให้ตายด้วยศรพระราม เมื่อทรพีไปรบกับพาลีก็ได้รับผลตามคำสาปของพระอิศวรทุกประการ ๑๓/ ๓๒๒
๒๔๒๑. ทรัพย์
คำว่า "ทรัพย์" ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหมายถึงวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้
และกฎหมายบัญญัติว่า "ทรัพย์สินนั้นท่านหมายความทั้งทรัพย์ทั้งวัตถุไม่มีรูปร่าง
ซึ่งอาจมีราคาได้และถือเอาได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน ๑๓/ ๘๓๒๔
๒๔๒๒. ทรัพย์สิทธิ
หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มนุษย์ มีอยู่เหนือทรัพย์สิน
เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแต่ตัวทรัพย์สินได้โดยตรง เช่นกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง
ภารจะยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ
สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
ทรัพย์สิทธิ เป็นสิทธิที่ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป ฉะนั้นทรัพย์สิทธิจึงก่อตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัย
อำนาจของกฎหมายเท่านั้น ๑๓/
๘๓๒๖
๒๔๒๓. ทรัพย์สิน
หมายความถึง วัตถุที่มีรูปร่างก็ได้ หรือไม่มีรูปร่างก็ได้ ซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้
ฉะนั้นเมื่อกล่าวคำว่าทรัพย์สินย่อมหมายความรวมถึงคำว่าทรัพย์ด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งทรัพย์สินออกเป็นแปดประเภทด้วยกันคือ อสังหาริมทรัพย์
สังหาริมทรัพย์ สังกมะทรัพย์ อสังกมะทรัพย์ โภคยทรัพย์ ทรัพย์แบ่งได้ ทรัพย์แบ่งไม่ได้
และทรัพย์นอกพาณิชย์ ๑๓/
๘๓๒๘
๒๔๒๔. ทรัพยากร
ได้แก่ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นประโยชน์แก่ มนุษย์ จะต้องเป็นสิ่งต่าง
ๆ ที่เกี่ยวกับโลก มหาสมุทร และอากาศ อาจจะต้องมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจด้วย
จึงเป็นทรัพยากร โดยปรกติสิ่งที่จะถือเป็นทรัพยากรจะต้องอยู่ในหลักใหญ่ ๆ
ดังนี้คือ
๑. ต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ได้โดยตรง หรือปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ได้โดยง่าย
เช่นน้ำ
๒. ต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และใช้ได้อย่างสะดวกและเพียงพอ
๓. ทรัพยากรนั้นต้องมีอยู่เพียงพอที่จะนำไปใช้ได้ โดยลงทุนไม่มากเกินไปนัก
ทรัพยากรมีได้ทั้งทรัพยากรมนุษย์กับทรัพยากรกายภาพ
๑๓/
๘๓๓๐
๒๔๒๕. ทรัมโบน
เป็นชื่อแตรประเภทหนึ่ง มีอยู่สองชนิดคือ เตเนอร์ทรัมโบนกับเบสทรัมโบน ทรัมโบนทั้งสองชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน
ต่างกันที่เบสทรัมโบนมีขนาดใหญ่กว่า และมีเสียงต่ำกว่าเท่านั้น
ทรัมโบนมีกำเนิดมาจากแตรโบราณสองชนิด เมื่อได้ปรับปรุงแตรทรัมโบนให้ดีขึ้นแล้ว
ก็ได้นำมาใช้ในการแสดงอุปรากร ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ก่อน ต่อจากนั้นก็ได้นำมาใช้ในวงดุริยางค์และใช้กันอยู่เป็นประจำในวงแจซและวงโยธวาทิตจนทุกวันนี้
นอกจากทรัมโบนสองชนิดดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันยังมีทรัมโบนอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่ในวงดุริยางค์คือทรัมโบนลูกผสมระหว่างเตเนอร์กับเบส
ซึ่งเรียกว่า "เตรเนอร์ เบสทรัมโบน" ๑๓/
๘๓๓๒
๒๔๒๖. ทรัมเป็ต
เป็นแตรประเภทหนึ่งซึ่งใช้กันมานานมาก แตรชนิดนี้มีเสียงแหลม ในสมัยโบารณถือว่าแตรชนิดนี้เป็นของสูง
หรือนักรบชั้นแม่ทัพเท่านั้น สามัญชนธรรมดาจะมีแตรทรัมเป็ตไม่ได้
โดยที่แตรทรัมเป็ตมีเสียงแหลมใส และในสมัยโบราณนิยมใช้เป่าในการรบทัพจับศึก
เป็นการปลุกใจให้มีความองอาจกล้าหาญ นอกจากนั้นยังใช้เป่านำขบวนเสด็จ ฯ ตลอดจนเป่าในงานพิธีต่าง
ๆ ที่เป็นการโอ่อ่าหรูหรา
ยังมีทรัมเป็ตอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ฟันฟาร์
ทรัมเป็ต" แตรชนิดนี้มีเสียงสูงมาก แตรชนิดนี้มีหลายชนิด
๑๓/ ๘๓๓๔
๒๔๒๗. ทราย ๑ - ดิน
เป็นดินชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อดินหยาบ ดินชนิดนี้ต้องมีส่วนผสมของทรายปนอยู่อย่างน้อย
ร้อยละเจ็ดสิบ มีลักษณะเป็นดินร่วน น้ำซึมผ่านได้งาย อากาศผ่านเข้าออกได้สะดวก
เมื่อถูกน้ำจะไม่เหนียว เมื่อแห้งจะไม่แข็ง ตามปรกติเป็นดินค่อนข้างแห้ง และขาดความสมบูรณ์
ดินทรายแบ่งออกเป็นเจ็ดชนิดคือ ดินทรายปนกรวด ดินทรายหยาบ ดินทรายปานกลาง
ดินทรายละเอียด ดินทรายละเอียดมาก ดินทรายร่วน และทราย
๑๓/ ๘๓๓๗
๒๔๒๘. ทราย ๒
หมายถึง วัตถุที่เป็นเศษหินเศษแร่ขนาดเล็ก ไม่เกาะกัน ประกอบด้วยแร่หลายชนิด
ได้แก่ แร่เขี้ยวหนุมาน เป็นต้น แร่ที่ประกอบอยู่ในทราย มีปริมาณมากคือ แร่เขี้ยวหนุมาน
ซึ่งเกิดจากการผุพังของหินอัคคี หรือหินชนิดอื่นมีธาตุซิลิกา ตกค้างอยู่ หลังจากแร่ธาตุอื่นละลายไป
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
เนื่องจากเมล็ดทราย มีขนาดแตกต่างกันจึงนิยมแบ่งทรายออกเป็นห้าชนิดคือ ชนิดละเอียดมาก
ชนิดละเอียด ชนิดปานกลาง ชนิดหยาบ และชนิดหยาบมาก เมล็ดทรายอาจมีลักษณะกลม
หรือเหลี่ยมก็ได้
ทรายที่เกิดจากการกระทำของลม ในเขตแห้งแล้ง จะทำให้เกิดภูมิประเทศ เช่น สันทราย
ดินเลิสส์ และแอ่งในทะเลทราย
สันทราย
เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดพาเอาทรายมาทับถมไว้ นานเข้าก็มีขนาดใหญ่เป็นสันทราย
หรือเนินทรายเตี้ย ๆ สันทรายแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ
ประเภทแรก
ได้แก่ สันทรายที่เกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเล และทะเลสาบ
ประเภทที่สอง
ได้แก่ สันทรายตามท้องแม่น้ำ เกิดจากทรายที่แม่น้ำพัดพามาทับถมกัน และตื้นเขิน
เป็นดอน ขึ้นในลำน้ำ
ประเภทที่สาม
ได้แก่ สันทรายที่เกิดในบริเวณทะเลทราย เกิดขึ้นเนื่องจากทรายถูกลมพัดพาไปทับถมกัน
เป็นเนินเตี้ย ๆ รูปร่างลักษณะต่าง ๆ กัน
ดินเลิสส์
หรือดินลมหอบ เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดเอาฝุ่นทรายละเอียด จากเขตแห้งแล้งไปทับถมกันในเขตที่มีอากาศค่อนข้างชื้น
มีลักษณะเป็นดินสีเหลือง ละเอียดไม่เกาะตัวกัน
แอ่งลม หรือหลุมใหญ่ในทะเลทราย
เกิดขึ้นเนื่องจากลมพัดพาเอาฝุ่นทรายไปทีละน้อย ทำให้พื้นที่บริเวณนั้น มีระดับต่ำกว่าบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง
โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นแอ่งเตี้ย ๆ
ทราย ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทำแก้ว ทำกระจก และใช้เป็นส่วนผสมในการทำคอนกรีต
และปูนปลาสเตอร์ ๑๓/
๘๓๓๘
๒๔๒๙. ทราย ๓ - เนื้อ
(ดู กวาง ตอนว่าด้วยเนื้อทราย - ลำดับที่ ๒๑๗) ๑๓/
๘๓๔๐
๒๔๓๐. ทราย ๔ - หอย
เป็นหอยสองกาบ มีรูปคล้ายหอยมุกน้ำจืด แม้จะอยู่วงศ์เดียวกับหอยกาบ แต่ต่างสกุลกัน
(ดู กาบ - หอย - ลำดับที่ ๓๕๙ ประกอบด้วย ) หอยชนิดนี้อยู่ตามทราย
จึงได้ชื่อว่า หอยทราย ๑๓/
๘๓๔๐
๒๔๓๑. ทวน
ความหมายโดยทั่ว ๆ ไป คือ อาวุธชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายหอก ด้ามยาวมาก ที่ทหารม้าใช้แทงต่อสู้ข้าศึก
ในขณะขี่ม้า ตามธรรมดาจะยาวประมาณ ๓ - ๔.๕ เมตร ตรงคอต่อระหว่างด้ามไม้กับปลาย
ที่เป็นโลหะจะผูกพู่ทำจากขนสัตว์สีขาว ยาว ๆ ไว้โดยรอบ พู่นี้อาจเปลี่ยนไปใช้แถบแพรสีต่าง
ๆ ก็มี ๑๓/
๘๓๔๐
๒๔๓๒. ทวาทศมาส
เป็นชื่อหนังสือวรรณคดีเล่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า แต่ขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ทวาทศมาส มีเนื้อเรื่องเป็นแบบวรรณคดีนิราศคือ พรรณาถึงความรักสตรีนางหนึ่ง
ที่ผิดจากวรรณคดีนิราศก็คือ ผู้แต่งมิได้เดินทางไปไหน แต่พรรณนาถึงนางควบคู่ไปกับพิธีต่าง
ๆ ที่มีในแต่ละเดือน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนห้า เป็นต้นไปจนจบลงในเดือนสี่
วรรณคดีเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นต้นเค้าของวรรณคดีประเภทนิราศ ในสมัยต่อมาแล้ว
ยังมีประโยชน์ในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับพิธีต่าง ๆ ที่ปฎิบัติกันมาในสมัยโบราณอีกด้วย
๑๓/ ๘๓๕๑
๒๔๓๓. ทวาบรยุค
เป็นชื่อยุคที่สาม แห่งยุคทั้งสี่ตามคติพราหมณ์ (ดู จตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๘๐)
๑๓/ ๘๓๕๒
๒๔๓๔. ทวาย ๑
เป็นชื่อเพลงไทยสำเนียงมอญเพลงหนึ่ง ที่มีความไพเราะเพราะพริ้งมาก เพลงทวายนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดแต่ง
ในบรรดาเพลงทวายนี้ ยังแบ่งออกเป็นทวายเล็ก ทวายเต็ม และทวายตัด
๑๓/ ๘๓๕๒
๒๔๓๕. ทวาย ๒ - เมือง
เป็นชื่อเมืองหนึ่ง อยู่ทางใต้ของประเทศพม่า มีอาณาเขตทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศไทย
ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน
เมืองทวาย เป็นเมืองที่ไทยมาตั้งขึ้นก่อน เมื่อครั้งหลวงจีน หยวนฉ่าง เดินทางมาถึงเมืองนี้โดยทางเรือ
ได้จดหมายเหตุไว้ว่า แถบเมืองเมาะตะมะถึงเมืองทวาย มีแว่นแคว้นชื่อ เกียม้อ
ลั่งเกีย คือ กามลังคะ เข้าใจว่าหมายถึง เมืองทวาย หรือเมืองรามบุรี แต่เมืองรามบุรีคงเป็นเมืองกษัตริย์ภายหลังเมืองทวาย
เมืองทวายเป็นเมืองกษัตริย์มาแต่เดิม กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
มีคำนิยามคำว่า ทวาย ความตอนหนึ่งว่า "เรียกชนชาติหนึ่งในสาขาชาวยะไข่
ตระกูลธิเบต - พม่า"
เมืองทวายอยู่ต่อแดนมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี พลเมืองเป็นทวายชาติหนึ่งต่างหาก
แคว้นยะไข่ที่เรียกว่าอาระกัน ภาษายะไข่ มีภาษาถิ่นที่แยกออกไปคือ ภาษาทวาย
ซึ่งเป็นภาษาของชาวยะไข่ไปอยู่ยังเมืองทวาย
สมัยกรุงสุโขทัย เมืองทวายเป็นเมืองขึ้นของไทย ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกำลังมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก
ได้ยึดเมืองทวายไปเป็นเมืองขึ้น ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้เจ้าพระยาจักรีและแม่ทัพนายกองต่าง
ๆ ไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เมืองทวายคืนมาเป็นของไทยอีก เมืองทวายตกไปเป็นของพม่า
และไทยตีคืนกลับมาได้อีกหลายครั้ง จนกระทั่งพม่าตกไปเป็นของอังกฤษ เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ พระยาทวายกับชาวเมืองทวายจำนวน ๕,๐๐๐
คนได้อพยพหนีออกจากเมืองทวาย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อยู่แถววัดสระเกศ
แล้วต่อมาพระราชทานที่ให้อยู่ใหม่ที่ตำบลคอกควายใกล้วัดยานนาวาเรียกกันว่า
บ้านหวาย
๑๓/ ๘๓๕๓
๒๔๓๖. ทวารกา
แปลว่ามีประตูมาก เป็นชื่อนครหลวงซึ่งพระกฤษณ์ได้สร้างขึ้นเป็นที่อยู่แห่งกษัตริย์ยาทพจันทรวงศ์
เมื่ออพยพจากเมืองมกุรานครหลวงเก่า เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ริมมทะเลฝั่งตะวันตกแห่งเมืองคุชราฐ
ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของแคว้นบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (ดูคุชราฐ - ลำดับที่ ๑๐๘๐
ประกอบ)
ต่อมาได้เกิดเหตุวุ่นวายในหมู่กษัตริย์ยาทพเอง กระกฤษณ์จึงหนีเข้าป่า ก็ไปถูกนายพรานยิงตาย
กล่าวกันว่าต่อมาอีกเจ็ดวันเมืองทวารกาได้จมหายไปในทะเล
๑๓/
๘๓๕๗
๒๔๓๗. ทวารวดี
คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต อาจแบ่งอธิบายได้เป็นสองตอนคือ
๑. เป็นชื่อหนึ่งของเมืองทวารกา ซึ่งเป็นราชธานีของพระกฤษณ์ในแคว้นคุชราฐ
นับถือกันว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เมืองหนึ่ง ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์เจ็ดเมืองในอินเดีย
(ดูทวารกา - ลำดับที่ ๒๔๐๔ ประกอบ)
๒. เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งทางตอนกลางของประเทศไทย
เดิมได้รู้จักชื่อจากจดหมายเหตุของพระภิกษุจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) และพระภิกษุจีนอี้จิง
ซึ่งเดินทางไปสืบศาสนายังประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่ามีอาณาจักรหนึ่งชื่อ
"โถโลโปตี" ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร
(พม่า) และอีศานปุระ
(กัมพูชา) คำว่า "โถโลโปตี" นี้นักปราชญ์ฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า คงตรงกับคำว่าทวารวดีในภาษาสันสกฤต
ต่อมาได้พบเงินเหรียญสองเหรียญที่จังหวัดนครปฐม มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า
"ศรีทวารวดีศวรปุณย"
อาณาจักรทวารวดี คงตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย แต่ราชธานีจะอยู่ที่ใดยังไม่ทราบแน่นอน
ประชาชนอาจเป็นมอญเพราะได้ค้นพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ทั้งที่นครปฐมและลพบุรี
ชาวไทยอาจมีบ้างแล้วแต่ยังคงเป็นส่วนน้อย
ศิลปทวารวดี คงมีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ส่วนใหญ่อยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
มีฝ่ายมหายานเข้ามาปะปนบ้าง
ประติมากรรมสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่สลักด้วยศิลา มีทั้งประติมากรรมลอยตัวสลักเป็นพระพุทธรูป
และรูปธรรมจักรที่เป็นภาพนูนต่ำ ประติมากรรมสำริดมักหล่อเป็นขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดินเผา
และปูนปั้นตกแต่งสถาปัตยกรรมอีก
สำหรับสถาปัตยกรรมมีหลายแห่งที่สำคัญเช่น พระปฐมเจดีย์องค์เดิม เจดีย์จุลประโทน
จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ศิลปทวารวดียังได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือเช่น ที่วัดจามเทวี
หรือกู่กุฎิ จังหวัดลำพูน และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง
จังหวัดกาฬสินธิ์ ทางภาคตะวันออกเช่น ที่ดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี
๑๓/ ๘๓๕๗
๒๔๓๘. ทวิชาหรือทวิชาติ
แปลตามพยัญชนะว่าเกิดสองหน ใช้เรียกชนที่เป็น พราหมณ์ เป็นกษัตริย์ หรือเป็นแพศย์
แต่โดยมากใช้เรียกเฉพาะพราหมณ์ ซึ่งเกิดมีชีวิตครั้งหนึ่ง และเกิดในธรรม (คือบวช)
อีกครั้งหนึ่ง ๑๓/
๘๓๖๐
๒๔๓๙. ทวีป
๑. หมายถึง เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดิน ที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางต่อเนื่องกันไป
มีอยู่เจ็ดทวีปด้วยกันคือทวีปเอเชีย ซึ่งกว้างใหญ่ที่สุด รองลงไปมีทวีปแอริกา
ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอนตาร์กติกา ทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย
ทวีปต่าง ๆ ประกอบด้วย หินซิอาลิก ส่วนใหญ่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกันคือตอนกลางจะเป็นที่สูง
ราบสูง ที่หินมีความแข็งแกร่งมากเรียกว่าหินฐานธรณี" รอบ ๆ ที่ราบสูงเป็นภูเขาและที่ราบสลับกันไป
ทวีปรวมถึงส่วนที่เรียกว่าไหล่ทวีป คือส่วนที่อยู่ใต้พื้นน้ำจากแนวชายฝั่งไปจนถึงตอนที่ระดับน้ำลึก
๑๘๐ เมตร ตลอดจนเกาะที่อยู่ใกล้ทวีปด้วย ทวีปต่าง ๆ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย
๘๕๕ เมตร ทวีปเอเชียสูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดคือ ๙๖๐ เมตร ทวีปยุโรปมีระดับน้ำจากระดับน้ำทะเลน้อยที่สุดคือ
๓๔๕ เมตร
๒. ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกสัณฐานหมายถึง ทวีปทั้งสี่คือ ชมพูทวีป อมรโคยานทวีป
อุตรกุรุทวีป บุพวิเทหทวีป (ดูจักรวาลตอนว่าด้วยทวีปทั้งสี่ - ลำดับที่ ๑๓๑๕
ประกอบ) ๑๓/
๘๓๖๒
๒๔๔๐. ทศกัณฐ์
เป็นพญายักษ์ตนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ทศเศียรอีก เป็นเจ้ากรุงลงกาองค์ที่สาม
ทศกัณฐ์ คือนนทุกมาเกิด
เป็นโอรสท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นคนหัวปี มีน้องร่วมท้องคือ กุมภกรรณ
พิเภก ทูษณ์ ขร ตรีเศียร นางสำมะนักขา
เมื่อเป็นกุมารไปเรียนศิลปศาสตร์ ณ สำนักพระฤาษีโคบุตร เมื่อเป็นเจ้าลงกาแล้วมีชื่อเสียงเลื่องลือในความมีฤทธานุภาพ
มีสัมพันธมิตรเจ็ดตนคือ อัศกรรณมาราสูร ไพจิตราสูร สัทธาสูร มูลพลัม จักรวรรดิ์กับครอบครัว
สัตลุง และมหาบาล เพทาสูร
ครั้งหนึ่ง ยักษ์วิรุฬหกเอาสังวาลนาค ฟาดตุ๊กแกที่เขาไกรลาสเขาเอียงทรุด (ดู
วิรุฬหก - ลำดับที่ ...ประกอบ) ทศกัณฐ์ไปยกเขาจึงตั้งตรงได้ตามเดิม ด้วยความชอบนี้จึงได้นางมณโฑมาเป็นมเหสี
ถูกพาลีชิงไประหว่างทางต้องไปหาพระฤษีอังคต ผู้เป็นอาจารย์พาลี เจรจาขอนางคืน
แล้วไปทำพิธีถอดจิตด้วยพระฤษีโคบุตร เพื่อไม่ให้ใครฆ่าได้
ทศกัณฐ์ชอบเที่ยวล่วงประเวณีในที่ต่าง ๆ ชั้นแรกแปลงร่างเป็นเทพบุตร ร่วมสมพาสกับนางเทพอัปสรชั้นดาวดึงส์
แล้วแปลงเป็นปลาร่วมกับนางปลา เกิดลูกชื่อ สุวรรณมัจฉา
แปลงเป็นช้างสมพาสกับช้างพัง มีลูกชายสองตนชื่อ ทศคีรีธร
และทศคีรีวัน
ทางมนุษย์ได้ร่วมสมพาสกับสนมหนึ่งพัน มีลูกชายนางละคน รวมเรียกชื่อว่า สหัสสกุมาร
กับสนมอื่นมีลูกชื่อว่า สิบรถ
อีกสิบตน กับนางกาลอัคคี มีลูกชื่อ บรรลัยกัลป์
กับนางมณโฑ มีลูกชื่อ รณพักตร
ภายหลังเปลี่ยนนามเป็น อินทรชิต
มีลูกหญิงคนหนึ่งชื่อ นางสีดา
ลูกคนสุดท้ายชื่อ ไพนาสุริยวงศ์
พวกโหรทายว่า นางสีดาเป็นกาลกิณี ทศกัณฐ์จึงเอานางใส่ผอบลอยไปตามลำน้ำ พระฤษีไปพบเข้าจึงเอามาเลี้ยงไว้จนโต
ต่อมาได้สยุมพรกับพระราม เมื่อพระราม พระลักษณ์ และนางสีดา เดินดง ทศกัณฐ์ได้ไปลักนางสีดาไว้ที่ลงกา
พระรามยกทัพจองถนนไปลงกาได้รบกันหลายครั้ง หลายหน จนในที่สุดทศกัณฐ์ถูกศรพระรามตาย
๑๓/ ๘๓๖๔
๒๔๔๑. ทศคีรีธร
เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางคชสาร มีตัวเหมือนพ่อ หน้าเหมือนแม่ มีน้องชื่อ ทศคีรีวัน
พญายักษ์ชื่อ อัสกรรณมาราสูร ขอไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ได้ไปรบกับพระราม
ตายด้วยศรพระลักษณ์ ๑๓/
๘๘๖๙
๒๔๔๒. ทศคีรีวงศ์ - ท้าว
เป็นศักด์สมญาของพิเภก เมื่อผ่านพิภพลงกาในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นผู้มีความชอบในการสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์อย่างมาก
เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระรามปูนบำเหน็จความชอบ โดยอภิเษกให้เป็นเจ้าลงกา
๑๓/ ๘๓๗๑
๒๔๔๓. ทศคีรีวัน
เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางคชสาร มีตัวเหมือนพ่อหน้าเหมือนแม่ เช่นเดียวกับทศคีรีธร
เข้าร่วมกองทัพไปรบกับพระราม ตายด้วยศรพระลักษณ์
๑๓/ ๘๓๗๑
๒๔๔๔. ทศชาติ
มีคำนิยามว่า "สิบชาติ ชื่อคัมภีร์ชาดกว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่สิบชาติ"
คัมภีร์ที่เรียกกันว่า "ชาดก" นั้น มีสองประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า นิบาตชาดก
อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ชาดกนอกนิบาต เช่น ปัญญาสชาดก เป็นต้น
ประเภทที่เรียกว่า นิบาตชาดก
มีอยู่ ๕๕๐ เรื่อง โบราณเรียกว่า เรื่องพระเจ้า
๕๐๐ ชาติ มีหมวดหนึ่งเป็น หมวดสุดท้าย เรียกว่า
มหานิบาต
มีอยู่สิบเรื่อง โบราณเรียกว่า ทศชาติ หรือเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
มาในมหานิบาตชาดก ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก
ทศชาติ มีชื่อตามชาติดังนี้ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช
พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระนารท พระวิธูร พระเวสสันดร เรียกย่อว่า
เต. ช.ส.เน.ม.ภู.จ.นา.วิ.เว แต่ละชาติกล่าวถึงเรื่องพระพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์
ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา ที่เรียกว่า "พุทธการกธรรม"
๑๓/ ๘๓๗๒
๒๔๔๕. ทศนิยม
เป็นคำนามแปลว่า กำหนดด้วยสิบ การที่ใช้สิบเป็นฐานก็เพราะแรกเริ่ม มนุษย์เราอาศัยนิ้วมือทั้งสิบ
เป็นเครื่องนับ การใช้ฐานสิบได้กระจายไปทั่วโลก นอกจากในบางแห่งที่ใช้สิบสอง
ที่เม็กซิโกและอเมริกากลาง ใช้หลักยี่สิบในทางดาราศาสตร์ และระบบของบาบิโลเนียใช้หลักสิบ
เช่นที่เกี่ยวกับมุม และเวลา
ระบบทศนิยม
หลังจากได้นำสัญญลักษณ์ของฮินดู - อารบิก มาใช้ก็ทำให้การบวกลบคูณหารสะดวกขึ้น
ในระบบนี้เลขทุกจำนวน จะเขียนให้อยู่ในรูปของกำลังสิบได้ทั้งสิ้น
จุดทศนิยม
นักประวัติศาสตร์ได้รายงานว่า อัล - คาชี ใช้เลขที่มีจุดทศนิยมแทนเลขเศษส่วน
ที่มีส่วนเป็นสิบ ในพุทธศตวรษที่ ๒๐ โดยใช้ . เรียกจุดทศนิยม คั่นไว้ระหว่างตัวเลขสองตัวของเศษ
เพื่อทำให้จำนวนตำแหน่งทางขวาของจุดนี้ แสดงถึงกำลังของสิบที่มีอยู่ในส่วนตัวเลขทางซ้ายของจุด
แสดงถึงจำนวนเต็มหรือส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม ของเลขจำนวนนั้น และตัวเลขทางขวาของจุดก็คือ
เศษของเศษส่วนที่มีส่วนเป็นสิบยกกำลัง เท่ากับจำนวนของตัวเลขที่อยู่ทางขวาของจุดทศนิยม
เรียกจำนวนตัวเลขทางขวาของจุดทศนิยมว่า "ตำแหน่งของทศนิยม"
ของเลขจำนวนนั้น
การคำนวณเกี่ยวกับทศนิยม
ทำได้เช่นเดียวกับเลขจำนวนเต็ม ในการบวก
และลบ ต้องตั้งให้จุดทศนิยมอยู่ตรงกัน
การคูณไม่จำเป็นต้องตั้งจุดทศนิยมให้ตรงกัน
จำนวนตำแหน่งทศนิยมของผลลัพธ์คือ ผลบวกของจำนวนทศนิยมของตัวตั้งและตัวคูณ
การหาร
เลื่อนจุดทศนิยมของตัวตั้ง และตัวหารมาทางขวา ให้มากพอที่จะทำให้ตัวหารเป็นจำนวนเต็ม
การประมาณการโดยใช้ทศนิยม
ทำได้โดยการหารธรรมดา ค่าคลาดเคลื่อนที่คำนวณได้ อาจทำให้เล็กลงได้ ถ้าใช้ทศนิยมหลายตำแหน่งพอ
เลขจำนวนจริงกับเลขทศนิยมไม่รู้จบ
เลขทศนิยม เช่น ๐.๓๓๓... เป็นเลขทศนิยมไม่รู้จบ ๐.๕, ๐.๒๕ เป็นเลขทศนิยมรู้จบ
เลขทศนิยมบนเส้นตรงจริง
ถ้าพิจารณาเส้นตรงที่แทนเลขจำนวนโดยกำหนดจำนวนเต็มไว้ทางซ้าย และขวาของจุดกำเนิด
ซึ่งถือให้เป็น ๐ เลขทศนิยมที่เป็นส่วนในสิบ ก็จะแบ่งเส้นตรงออกเป็นส่วนเล็ก
ๆ เท่า ๆ กัน โดยที่สิบส่วนเหล่านี้ จะอยู่ระหว่างเลขจำนวนเต็มสองจำนวน ที่ใกล้เคียงกันคู่นั้นพอดี
เลขทศนิยมซ้ำ
คือ เลขทศนิยมที่มีตัวเลขซ้ำกัน รู้จบหรือไม่รู้จบก็ตาม นิยมเขียนขีดไว้ข้างบนกลุ่มของตัวเลข
ที่จะต้องเขียนซ้ำต่อๆ ไป เช่น ๐.๒๗๓๒๗๓๒๗๓....= ๐.๒๗๓
การปัดเศษทศนิยม
มีความมุ่งหมายเพื่อที่จะลดค่าเคลื่อนคลาดที่จะเกิดขึ้นในการประมาณ หลักในการปัดที่ใช้กันมากคือ
การสังเกตตัวเลขตัวแรกที่จะตัดทิ้ง ถ้าเป็น ๑, ๑, ๒, ๓ หรือ ๔ ตัวเลขตัวสุดท้ายที่เหลือจะมีค่าคงเดิม
ถ้าตัวแรกที่ตัดเป็น ๕,๖,๗,๘ หรือ ๙ ตัวเลขตัวสุดท้ายของจำนวนที่เหลือ ก็จะถูกเพิ่มขึ้นอีก
๑ ๑๓/
๘๓๗๓
๒๔๔๖. ทศบารมี
คือ บารมีสิบอย่าง คำว่า บารมี มีคำนิยามว่า "คุณความดี ที่ควรบำเพ็ญสิบอย่างคือ
ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิรยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา คุณความดีที่บำเพ็ญมา
คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ เช่นว่า ชมพระบารมี, พระบารมีปกเกล้า, พ่ายแพ้แก่พระบารมี"
บารมี สิบอย่าง คือ
๑. ทาน
คือ การให้ เสียสละ
๒. ศีล
คือ การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย หรือความประพฤติที่ดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย
๓. เนกขัมมะ
คือ การออกบวช หรือการปลีกตัวปลีกใจจากกาม
๔. ปัญญา
คือ ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
๕. วิริยะ
คือ ความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบุกบั่น อุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
๖. ขันติ
คือ ความอดทน สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติที่ตั้งไว้
เพื่อจุดประสงค์อันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส
๗. สัจจะ
คือ ความจริง ได้แก่ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ
๘. อธิษฐาน
คือ ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน
และดำเนินตามนั้นแน่วแน่
๙. เมตตา
คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่น และเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง
มีความสุขความเจริญ
๑๐. อุเบกขา
คือ ความวางใจเป็นกลาง สงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดี
ยินร้าย หรือชอบชัง
การบำเพ็ญบารมี แบ่งออกเป็นสามระดับ ระดับต้นเรียกว่า บารมี
ระดับกลางเรียกว่า อุปบารมี
ระดับสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี
กิริยาที่บำเพ็ญบารมีธรรม เพื่อพระโพธิญาณนั้น ท่านจัดเป็นสามระดับคือ บารมี
๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ (ดู บารมี - ลำดับที่ ...)
๒๔๔๗. ทศพร
แปลว่า พรสิบ เป็นชื่อกัณฑ์ที่หนึ่ง ของมหาชาติว่าด้วยพรสิบประการ
มีพระคาถา ๑๙ พระคาถา พระอินทรเป็นผู้ให้แก่พระนางผุสดี เมื่อเห็นบุรพนิมิตห้าประการ
อันเป็นเหตุให้พระนางต้องจุติ ท้าวสักเทวราชได้ประสาทพรให้ ตามที่ขอมาทั้งสิบประการ
ที่สำคัญคือ ในประการที่ห้า ที่ขอให้มีพระโอรสซึ่งทรงพระเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย
และมีพระราชศรัทธาในการกุศล ๑๓/
๘๓๘๐
๒๔๔๘. ทศพล
แปลว่า กำลังสิบ หมายถึง คุณธรรมที่เป็นกำลังสิบอย่างของพระพุทธเจ้า จึงได้เนมิตกนามว่า
พระทศพล คุณธรรมเป็นกำลังของพระพุทธองค์ หมายถึง พระญาณสิบอย่าง (ดู ญาณ -
ลำดับที่ ๑๙๓๓ ประกอบ) ๑๓/
๘๓๘๓
๒๔๔๙. ทศพิธราชธรรม
เป็นกิจวัตร์ที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ เป็นหลักธรรมประจำองค์พระมหากษัตริย์
หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองสิบอย่างคือ
๑. ทาน
การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ ประชาราษฎรและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
๒. ศีล
ความประพฤติที่ดีงาม คือ สำรวมกาย วาจา ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง
และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร มิให้มีใครจะดูแคลนได้
๓. บริจาค
คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์ความสุขของประชาชน
และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔. อาชวะ
ความซื่อตรงคือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฎิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ
ไม่หลอกลวงประชาชน
๕. มัทวะ
ความอ่อนโยนคือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคาย กระด้างถือองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยา
สุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความจงรักภักดี แต่ไม่ขาดยำเกรง
๖. ตบะ
ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้
ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่น ในความสุขสำราญและความปรนปรือ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ
หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์
๗. อักโกธะ
ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความ และการกระทำต่าง
ๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความและการกระทำด้วยจิตราบเรียบ
เป็นตัวของตัวเอง
๘. อวิหิงสา
ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน
ลงอาชญาแก่ประชาราษฎร เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
๙. ขันติ
ความอดทน คือ ทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกาย น่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย
ถึงจะถูกยั่วหยันด้วยคำเสียดสี ถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณียที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
๑๐. อวิโรธนะ
ความไม่คลาดธรรม หรือทำความไม่ผิด คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรมคงที่
ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหวด้วยถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฎฐารมณ์ และอนิฎฐารมณ์
ใด ๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
๑๓/ ๘๓๘๓
๒๔๕๐. ทศพิน - ท้าว
เป็นศักดิ์สมญาของไพนาสุริยวงศ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าลงกา ในเรื่องรามเกียรติ์
ตามเรื่องว่า เมื่อไพนาสุริยวงศ์อายุได้ ๑๓ ปี พี่เลี้ยงชื่อ วรณีสูร เล่าประวัติทศกัณฐ์ให้ฟัง
และยุให้คิดขบถได้ลอบไปหาท้าวจักรวรรดิ์ เจ้ากรุงมลิวัล ผู้เป็นพันธมิตรของบิดา
ขอกองทัพไปตีลงกากู้ราชสมบัติคือ จับท้าวทศคีรีวงศ์ (พิเภก) ได้ แล้วตั้งไพนาสุริยวงศ์เป็นเจ้าลงกาแทน
ขนานนามว่า "ท้าวทศพิน" พระรามให้พระพรตพระสัตรุตไปปราบ จับทศพินได้ให้ประหารชีวิต
แล้วให้ท้าวทศคีรีวงศ์ครองกรุงลงกาตามเดิม (ดูไพนาสุริยวงศ์ - ลำดับที่...
ประกอบด้วย)
๒๔๕๑. ทศรถ - ท้าว
เป็นกษัตริย์สุริยวงศ์องค์ที่สามแห่งอยุธยา ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นบิดาพระราม
พระลักษณ์ พระพรต และพระสัตรุต มีมเหสีสามองค์คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี
และนางสมุทรชา คราวหนึ่งท้าวทศรถไปปราบยักษ์ประทูตัน นางไกยเกษีทำความชอบช่วยท้าวทศรถ
จึงได้รับพรจากท้าวทศรถว่า ถ้านางปรารถนาสิ่งใดพระองค์จะยกให้ ท้าวทศรถมีพญานกสดายุ
เป็นสัมพันธมิตร
ท้าวทศรถได้ตั้งพิธีเพื่อได้โอรส มีฤษีกไลโกฎ เป็นประธาน ได้เป็นเฝ้าพระอิศวรทูลว่า
โลกมนุษย์เกิดยุคเข็ญ เพราะพระเจ้าทั้งสามประสาทพรแก่พวกยักษ์ใจทารุณ ขออัญเชิญพระนารายณ์ลงไปปราบ
โดยอวตารเป็นโอรสท้าวทศรถ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว มเหสีทั้งสามของท้าวทศรถทรงครรภ์
เมื่อได้กำหนดคลอดนางเกาสุริยาประสูติพระนารายณ์ มีรัศมีเขียว นางไกยเกษี
ประสูติกุมารมีรัศมีดังทับทิม นางสมุทรชา ประสูติกุมารมีสีเหลืองดังทาทององค์หนึ่ง
อีกองค์หนึ่งสีม่วงอ่อน ได้ขนานนามโอรสทั้งสี่ว่า พระราม พระพรต พระลักษณ์
และพระสัตรุต ตามลำดับ
ต่อมานางค่อม ซึ่งผูกใจเจ็บพระรามที่ใช้ลูกกระสุนยิงตนได้รับความอับอาย ได้ไปยุยงนางไกยเกษีให้ทูลขอราชสมบัติแก่พระพรต
นางเห็นชอบด้วยจึงได้ทูลของต่อท้าวทศรถ และขอให้พระรามออกไปจากแว่นแคว้นสิบสี่ปี
โดยถือเพศเป็นดาบส ท้าวทศรถจำต้องรักษาสัจวาจา และทรงโทมนัสมาก พอพระรามทรงผนวชออกป่าแล้ว
พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ ๑๓/
๘๓๘๕
๒๔๕๒. ทหาร
มีคำนิยามว่า "ผู้รับราชการป้องกันประเทศชาติ นักรบ"
คำว่า ทหาร น่าจะมาจาก "หาญ" ซึ่งเป็นคำไทย แต่บางท่านเห็นว่า อาจมาจากคำ
"ทวยหาญ" ซึ่งใช้กันมากในการแต่งกวี ก็เป็นได้
คำว่า ทหาร จะใช้กับบุคคลหรือหมู่ชน ที่รวมกันขึ้นเป็นหน่วยที่มีผู้บังคับบัญชาดูแลตามกฎหมาย
อยู่ในระเบียบวินัย และมีหน้าที่รับใช้รัฐบาลในการป้องกันประเทศชาติเท่านั้น
โดยเหตุนี้ทหารจึงได้รับเกียรติ์จากสังคม และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ
กิจการทหารไทย ไม่สามารถค้นไปนับเป็นพันปี จึงขอคัดเอาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
ในสมัยนั้นได้กำหนดว่า ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องรับราชการทหารจนอายุ ๖๐ ปี โดยจะมาขึ้นบัญชีไว้เป็นไพร่สม
เมื่ออายุ ๑๘ ปี เมื่ออายุ ๒๐ ปี จะมาเป็นไพร่หลวง แล้วเข้าประจำกรมกอง จะต้องมาเข้าเวรเดือนเว้นเดือน
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้ลดการเข้าเวรเหลือเพียงปีละสี่เดือน และลดลงเหลือสามเดือนในรัชกาลที่สอง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ทรงตรา พ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
ซึ่งจะทำให้พลเมืองต้องเข้ารับราชการทหารแต่เพียงส่วนน้อย และประจำกรมเพียงสองปี
แล้วเป็นกองหนุน จนอายุ ๖๐ ปี ระหว่างนั้นอาจถูกเรียกระดม มารับราชการเพื่อทำสงคราม
หรือเพื่อซ้อมรบ
จากประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ทหารได้สนับสนุนรัฐประศาสน์ของประเทศมาตั้งแต่โบราณจนบัดนี้
การเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบขึ้นอยู่กับอำนาจทหารเสมอมา
๑๓/ ๘๓๘๘
๒๔๕๓. ทอ - สมิง
เป็นผู้มีเชื้อสายไทยใหญ่ และบวชเป็นภิกษุอยู่ในแขวงเมืองหงสาวดี ในสมัยที่พม่ากำลังเสื่อมอำนาจลง
ในปี พ.ศ.๒๒๗๖ พวกกะแซ เมืองมณีปุระ กระทำแข็งเมือง กองทัพพม่ายกไปปราบแต่แพ้
พวกกระแซจึงยกเข้าตีหัวเมืองพม่าในภาคเหนือได้หลายเมือง มังสาอ่อง อุปราชพม่าประจำหัวเมืองมอญฝ่ายเหนือ
ณ เมืองหงสาวดี ได้เกลี้ยกล่อมพวกมอญเป็นพรรคพวก แล้วกระทำการแข็งเมือง ได้เกณฑ์พวกมอญเพื่อยกทัพไปตีเมืองสิเรียม
พวกมอญได้รวบรวมกำลังจับมังสาอ่องฆ่าเสีย ต่อมาได้จับอุปราชพม่าประจำเมืองหงสาวดีไปฆ่าเสียอีก
แล้วตั้งตนเป็นอิสระเป็นเหตุให้ขาวพม่าที่เป็นอุปราช
และเจ้าเมืองตามหัวเมืองฝ่ายใต้ เกรงถูกพวกมอญคุกคาม จะกลับกรุงอังวะก็ไม่ได้จึงอพยพครอบครัวประมาณ
๓๐๐ คน มาขอพึ่งกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ )
พวกมอญได้เชิญสมิงทอ มาเป็นผู้บัญชาการต่อสู้พม่าที่ยกทัพหลวงลง เมื่อมีชัยชนะพม่าแล้ว
จึงเชิญสมิงทอให้สิกขา แล้วยกขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๓ เรียกกันว่า
สมิงทอพุทธเกติ เมืองหงสาวดีก็กลับเป็นราชธานีของพวกมอญอีกครั้งหนึ่ง แล้วขยายอำนาจไปทางเหนือได้เมืองแปร
และเมืองตองอูมา ไว้ในอำนาจแต่ไม่กล้าตีเมืองเมาะตะมะ และหัวเมืองมอญที่อยู่ต่อแดนไทย
แล้วได้แต่งทูตมาขอเป็นไมตรี และขอพระราชทานพระราชธิดาไปอภิเษกเป็นอัครมเหสี
พระเจ้าบรมโกศทรงขัดเคืองจึงไม่ตอบพระราชสาสน์ หลังจากนั้นสมิงทอก็ไปขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าเชียงใหม่
และขอพระราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่เป็นมเหสี ทางพระเจ้าเชียงใหม่รับไมตรี
และยกราชธิดาให้
ต่อมา สมิงทอถูกพระยาทะละ อัครมหาเสนาบดีก่อการขบถ สมิงทอได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าบรมโกศให้เอาตัวสมิงทอ ไปปล่อยที่เมืองกวางตุ้ง แต่สมิงทอขึ้นบกที่ฝั่งทะเลของญวน
แล้วกลับไปเมืองเชียงใหม่ ต่อมาได้อาสาพระเจ้าอลองพญา ทำศึกรวบรวมพม่าให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน
แต่พระเจ้าอลองพญาไม่ไว้ใจ ให้คุมสมิงทอไว้จนตาย ในปี พ.ศ.๒๓๐๑
๑๓/ ๘๓๙๗
๒๔๕๔. ทอง ๑
เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า "ใบทอง" เป็นไม้พุ่มสูง ๑ -
๒ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ดอกสีม่วง แดง ออกที่ยอดเป็นกระจุก
ผลเป็นฝักรูปรี ปลายเป็นติ่งแหลม
พันธุ์ไม้ที่มีชื่อไทยว่า "ใบเงิน" และใบนาค ก็เป็นชนิดเดียวกับใบทอง ต่างกันที่สีของใบ
ปลูกเป็นไม้ประดับ ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ และยังใช้เป็นสมุนไพร ใช้ทำยาเขียวเป็นยาแก้ไข้
กระทุ้งพิษ ใบใช้ตำพอกฝี ทาแก้ปวดบวม และแก้อาการคันตามผิวหนัง ใช้ห้ามเลือด
ใช้ขับปัสสาวะ ๑๓/
๘๔๐๐
๒๔๕๕. ทอง ๒
มีคำนิยามว่า "โลหะสีเหลืองหรือแดง ถ้าใช้ประสมกับคำอื่น หมายถึง ทองคำ เช่น
บ่อทอง เหรียญทอง ทองแท่ง หมายถึง สีเหลือง แดง อย่างสีทอง เช่น เนื้อทอง
ผมทอง แสงทอง ใช้ประกอบสิ่งอื่นโดยอนุโลม ตามลักษณะสี เป็นชื่อเรียกจำเพาะ
เช่น ขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า ขนมทอง ต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นใบทอง ปลาชนิดหนึ่ง
เรียกว่า ปลาทอง ที่หมายถึง ทองคำ (ดู ทองคำ - ลำดับที่ ...๒๔๓๓ )
๒๔๕๖. ท้อง
เป็นสาวนของร่างกาย ที่มีกระเพาะและไส้พุ่ง อยู่ภายใน มีอาณาเขตเป็นรูปหกเหลี่ยมมียอดแหลม
ตรงลิ้นปี่ และยอดตัดที่หัวหน่าว ท้องมีผนังด้านหน้า ประกอบด้วยผิวหนัง ไขมันใต้ผิวหนัง
พังผืด และกล้ามเนื้อ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายใน
ช่องท้องเป็นรูปรีลึกจากด้านหน้าตามโค้งของกระบังลมขึ้นบน
และตอนล่างติดต่อกับช่องเชิงกราน แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ถุงใหญ่ข้างหน้ากับถุงเล็กข้างหน้า
มีช่องติดต่อกันอยู่ส่วนบนใต้ตับช่องท้องนี้บุด้วยเยื่อบุเรียกว่าเปอริโตเนียม
อวัยวะระบบทางเดินอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของช่องท้องนี้ได้แก่ส่วนของหลอดอาหารที่พ้นกระบังลมลงมา
กระเพาะลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทางขวาส่วนใต้ชายโครงขวามีตับ ทางซ้ายมีม้ามและตับอ่อนอยู่ใต้ลงมา
๒๔๕๗. ทองกวาว
เป็นต้นไม่ชนิดหนึ่ง ดอกสีแดง ไม่มีกลิ่น ต้นใหญ่ (ดูกราว - ต้น - ลำดับที่
๒๒๙) ๑๓/ ๘๔๐๗
๒๔๕๘. ท้องขาว - หนู
เป็นหนูจำพวกหนึ่งมีขนใต้ท้องสีขาว แบ่งชัดเจนระหว่างสีใต้ท้องกับลำตัว ชาวนาส่วนใหญ่เรียกหนูนาใหญ่
และหนูนาเล็ก ๑๓/
๘๔๐๗
๒๔๕๙. ท้องขึ้น
บางทีเรียกท้องอืด หมายถึง ภาวะที่มีกาซในระบบทางเดินอาหารได้แก่กระเพาะอาหาร
ลำไส้เล็กและสำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นในท้องหรือยอดอก อาจมีอาการปวดเหมือนลำไส้ถูกบิด
รู้สึกอึดอัดไม่สบาย หายใจไม่สดวก นอนไม่หลับ
สาเหตุของอาการท้องขึ้น อาจจำแนกตามตำแหน่งที่เกิดคือที่กระเพาะอาหารและที่ลำไส้
๒๔๖๐. ทองคำ
ทองคำบริสุทธิ์เป็นธาตุแท้ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในพวกโลหะ เนื้ออ่อน ดัดได้ ไม่ละลายในกรด
ละลายในกรดกัดทอง
ทองคำเป็นโลหะที่ทนทานต่อการขึ้นสนิมเป็นโลหะอ่อนและเหนียวมาก ตามปรกติความบริสุทธิ์ของทองคำจะบอกเป็นกะรัตหรือไฟน์
ทองคำบริสุทธิ์คือทอง ๒๔ กะรัต ทอง ๑๔ กะรัตคือโลหะผสมที่มีทองคำ ๑๔ ส่วน
โดยน้ำหนัก ที่เหลืออีก ๑๐ ส่วนเป็นโลหะอื่น ๆ เช่น เงิน ทองแดง นิกเกล หรือพาราเดียม
หน้า ๘๔๑๐
ทองคำใช้เป็นเครื่องประดับและใช้เป็นมาตรฐานของเงินตราสกุลต่าง ๆ
๒๔๖๑. ทองคำขาว
เป็นธาตุโลหะหนักและมีค่ามาก เนื้อสีเงินขาวเป็นเงางาม มีความอ่อนตัว ตีแผ่เป็นแผ่นหรือดึงเป็นเส้นลวดได้
เป็นโลหะที่มีราคาแพง
คุณสมบัติเด่นคือ ทนทานต่อปฏิกิริยาทางเคมี ไม่ละลายในกรด แต่ละลายในกรดกัดทอง
มีจุดหลอมเหลวสูง เป็นสื่อไฟฟ้าที่ดีมาก และเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาที่ดี
ใช้เป็นเบ้าหลอมแก้วสำหรับทำกระจกแว่นตา หรือเลนซ์กล้องจุลทรรศน์ เพราะทนความร้อนสูงไม่เข้าไปผสมกับแก้ว
ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าโดยใช้เป็นขั้วไฟฟ้า และทำโครงสำหรับยึดฟันปลอม เพราะมีความทนทานไม่หมองคล้ำ
ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีในอุตสาหกรรมทำกรดต่าง ๆ ใช้ทำอุปกรณ์เอกซเรย์
จรวด เครื่องบินเร็วกว่าเสียง ยานอวกาศ
๑๓/ ๘๔๑๑
๒๔๖๒. ทองเครือ
เป็นชื่อเรียกไม้เถาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นเถา เนื้อแข็ง ยอดอ่อน ใบเป็นแบบใบประกอบ
รูปเกือบกลมหรือรูปไข่กลับ ดอกสีแดงออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกแต่ละดอกมีขนาดใหญ่
รูปร่างคล้ายดอกถั่วหรือดอกแค กลีบดอกสีแดงแสด ผลเป็นฝักรูปแบนยาว กว้าง ๓
ซม. ยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. ๑๓/
๘๔๑๒
๒๔๖๓. ทองดำ ๑
เป็นชื่อมะม่วงชนิดหนึ่ง ผลรูปยาวรี ยาวประมาณ ๑๕ ซม. กว้างประมาณ ๑๐ ซม.
ส่วนหัวกล้างแล้วค่อย ๆ สอบไปทางปลาย เมื่อแก่จัดรสหวานมัน เวลาสุกมีสีเหลือง
๑๓/ ๘๔๑๓
๒๔๖๔. ทองดำ ๒
เป็นชื่อจิ้งหรีดชนิดหนึ่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง สีโดยทั่ว ๆ ไปเป็นสีดำตลอด
ออกหากินเวลาพลบค่ำ มีอยู่ค่อนข้างชุกชุมมากกว่าจิ้งหรีดทองแดง เป็นศัตรูพืชประเภทผักต่าง
ๆ ในระยะกล้าอ่อน
นอกจากจะใช้จิ้งหรีดชนิดนี้กัดกันแล้ว ยังใช้กินเป็นอาหารกัน
๑๓/ ๘๔๑๓
๒๔๖๕. ท้องเดิน
บางทีใช้คำว่าท้องร่วง ท้องเสีย ในความหมายเดียวกัน แต่ต่างกันในความรุนแรง
ท้องเดินเป็นอาการของโรค ไม่ใช่โรค
๑๓/
๘๔๑๖
๒๔๖๖. ทองแดง
๑. เป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่ง เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่ดีมาก ไม่ละลายในน้ำ ละลายในกรดไนตริก
และกรดกำมะถันร้อน ละลายเล็กน้อยในกรดเกลือ
ทองแดงมีประโยชน์มาก นอกจากมีคุณสมบัติดังนี้คือ เป็นสื่อนำไฟฟ้าและนำความร้อนสูง
ทนต่อการสึกกร่อน มีความอ่อนและเหนียว ทำเป็นแผ่นหรือเป็นเส้นลวดได้ง่าย ไม่เป็นแม่เหล็ก
เชื่อมติดกันได้ง่าย เคลือบและขัดมันได้
จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นทำหลอดไฟฟ้าและเครื่องมือต่าง
ๆ ทำเป็นโลหะผสมเช่น บรอนซ์และทองเหลือง
๑๓/
๘๔๑๗
๒๔๖๗. ทองแดง ๒ - จิ้งหรีด
เป็นจิ้งหรีดที่มีขนาดลำตัวไล่เลี่ยกับจิ้งหรีดทองดำ มีสีน้ำตาลปนแดง มีลักษณะนิสัยความเป็นอยู่ตลอดจนการทำลายพืชคล้ายคลึงกับจิ้งหรีดทองดำมาก
พบน้อยกว่าจิ้งหรีดทองดำ ๑๓/
๘๔๑๘
๒๔๖๘. ท้องตรา
มีคำนิยามว่า "หนังสือคำสั่งที่ประทับตราของเจ้ากระทรวง"
หนังสือราชการที่มีไปถึงหัวเมืองนั้นแต่เดิมเรียก "ตรา" เพียงแต่เขียนและประทับตราไปก็ใช้ได้
เมื่อได้จัดระบบการปกครองเป็นกระทรวงขึ้นในรัชกาลที่ห้าแล้ว จึงได้ใช้วิธีลงนามและประทับตราไปด้วยทุกฉบับ
หลักการปกครองประเทศสยามแต่โบราณมา การบังคับบัญชาสิทธิขาดอยู่ในพระเจ้าแผ่นดิน
เสนาบดี เป็นแต่ผู้ทำการตามรับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน ตราพระราชสีห์และตราคชสีห์
สำหรับประทับเป็นสำคัญ ในหนังสือรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน แต่มีการอย่างอื่นอันเป็นหน้าที่เสนาบดีที่ต้องมีหน้าที่ของตนเอง
สิ่งหรือชี้แจง เสนาบดีจึงต้องมีตราตำแหน่งสองดวง เฉพาะกระทรวงมหาดไทยมีตราพระราชสีห์ใหญ่สำหรับประทับหนังสือรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินดวงหนึ่ง
ตราพระราชสีห์น้อยสำหรับประทับหนังสือคำสั่งของตัวเสนาบดีเองอีกดวงหนึ่ง สมุหกลาโหมก็มีตราคชสีห์ใหญ่และตราคชสีห์น้อยอย่างเดียวกัน
จึงเกิดคติถือกันเป็นตำราในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมว่า
๑. หนังสือซึ่งเชิญพระราชโองการ ต้องประทับตราพระราชสีห์ใหญ่และเรียกหนังสือชนิดนี้ว่า
สารตรา
๒. หนังสือประทับตราพระราชสีห์น้อยนั้นคล้ายกับจดหมายนามของเสนาบดี ตามที่เป็นจริงและเรียกหนังสืออย่างนี้ว่าท้องตรา
๑๓/ ๘๔๑๙
๒๔๖๙. ท่องเที่ยว
หมายความถึง การเดินทางจากภูมิลำเนาตามปรกติของแต่ละบุคคล ไปยังท้องถิ่นอื่นเป็นการชั่วคราว
เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อได้รับความรู้ความบันเทิงใจ จากการได้ชมศิลปวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น
สภาพความงามตามธรรมชาติ ตลอดจนผลงานและสิ่งก่อสร้าง ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์
การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ที่มีขอบเขตกว้างขวางมากเพราะมีธุรกิจต่างๆ
เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายประการคือ ธุรกิจโรงแรม การขนส่ง บริษัทนำเที่ยว
กิจการด้านการบันเทิงเริงรมย์ ภัตตาคาร การจัดและการจำหน่ายของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมือง
เป็นต้น นำมาซึ่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ทำให้เกิดการกระจายรายได้
และการจ้างงานสูง ๑๓/
๘๔๒๒
๒๔๗๐. ท้องน้อย
เป็นส่วนของร่างกายที่อยู่ระหว่างสะดือกับหัวหน่าว ท้องน้อยมีความสำคัญคือ
เมื่อมีน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมาก จะทำให้กระเพาะปัสสาวะนั้นโต และสูงขึ้นจนพ้นช่องเชิงกราน
มาอยู่เหนือหัวหน่าว แล้วล้ำมาอยู่ในช่องท้อง ตรงพื้นที่ใต้กระเพาะของผนังด้านหน้าท้อง
ถ้าถูกกระแทกจนทำให้กระเพาะปัสสาวะแตก จะทำให้น้ำปัสสาวะไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะ
แทรกซึมไปตามใต้เยื่อบุเกี่ยวกับช่องท้อง ทำให้เกิดการเจ็บปวดมาก ถึงเป็นอันตรายได้
ในกรณีผู้หญิงถ้าตั้งครรภ์ มดลูกซึ่งอยู่ในช่องเชิงกรานจะขยายตัวออก และยกตัวสูงจากช่องเชิงกรานเข้าไปในช่องท้อง
ขณะที่มดลูกมาอยู่ในช่องท้องส่วนสะดือนี้ หากได้รับการกระทบกระแทก อาจทำให้มดลูกแตกได้
๑๓/ ๘๔๒๕
๒๔๗๑. ทองบรอนซ์
เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก ซึ่งส่วนผสมนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะนำไปใช้ประโยชน์
๑๓/ ๘๔๒๖
๒๔๗๒. ทองประศรี
เป็นชื่อตัวละครหญิงในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่ามีเค้าเรื่องจริง
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และได้เล่าสู่กันฟังในรูปเสภา จนกระทั่งมาเริ่มแต่งเป็นคำประพันธ์
ในสมัยรัชกาลที่สอง
นางทองศรี เป็นภริยาของขุนไกรพลพ่าย ผู้ซึ่งรับราชการเป็นทหารประจำหัวเมือง
ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพลับ เมืองสุพรรณบุรี มีบุตรชายชื่อ พลายแก้ว ต่อมาขุนไกรต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต
และริมทรัพย์ นางทองประศรีได้พาพลายแก้ว หลบหนีไปตั้งตัวใหม่อยู่ที่เมืองกาญจบุรี
ณ เขาชนไก่ จนลูกชายอายได้ ๑๕ ปี จึงพาไปบวชเป็นสามเณร ที่วัดส้มใหญ่ ต่อมาเณรแก้วไปศึกษาเพิ่มเติมที่วัดป่าเลไลย์
และที่วัดแค แล้วลาอาจารย์เพื่อแต่งงาน
เมื่อพลายแก้ว ทำความดีความชอบได้เป็นที่ขุนแผนแสนสะท้าน จนตกอับถึงติดคุกนางทองประศรีต้องเลี้ยงหลานชายคือ
พลายงาม จนพลายงามมีอายุ ๑๕ ปี ในที่สุดพลายงามอาสาและทำความดีความชอบ จนได้เป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ
นางจึงได้ติดตามหลานชายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และยังได้ขอหลานชายที่เป็นลูกขุนแผนกับนางแก้วกิริยาคือ
พลายชุมพลมาเลี้ยง จนในที่สุดพลายชุมพลได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงนายฤทธิ์
นางทองประศรี เป็นตัวละครที่เป็นตัวอย่างของหญิงไทยโบราณ ที่มีความรู้ความสามารถช่วยตัวเอง
และครอบครัวได้เป็นอย่างดี
๑๓/
๘๔๒๖
๒๔๗๓. ทองผาภูมิ
อำเภอ ขึ้น จ.กาญจนบุรี อาณาเขตทางทิศตะวันตกจากประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา
อ.ทองผาภูมิ เดิมเป็นเมืองเก่า ยุบเป็นอำเภอ ลดเป็นหมู่บ้านและเปลี่ยนเป็นกิ่ง
อ.สังขละ แล้วยกฐานะเป็นอำเภอมาโดยลำดับคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ยุบเป็นอำเภอเรียกว่า
อ.เมืองสังขละบุรี ปี พ.ศ.๒๔๔๔ ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ เมืองท่าขนุน ที่ตั้งอำเภอเดิมลดลงเป็น
กิ่ง อ.วังกะ ขึ้น อ.เมืองสังขละบุรี พ.ศ.๒๔๖๗ ยกกิ่ง อ.วังกะ ขึ้นเป็น อ.วังกะ
และยุบ อ.เมืองสังขละบุรี เป็นกิ่ง อ.สังขละ แล้วลด อ.ทองผาภูมิ ลงเป็นหมู่บ้าน
อยู่ในเขตกิ่ง อ.สังขละ อ.วังกะ พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อ กิ่ง อ.สังขละ
เป็นกิ่ง อ.ทองผาภูมิ พ.ศ.๒๔๘๔ ยกฐานะ กิ่ง อ.ทองผาภูมิ เป็นอำเภอ ส่วน อ.วังกะ
ลดเป็นกิ่ง เรียกว่า กิ่ง อ.สังขละ ขึ้น อ.ทองผาภูมิ พ.ศ.๒๔๐๘ ยกกิ่ง อ.สังขละ
เป็นอำเภอ ๑๓/
๘๔๒๗
๒๔๗๔.ท้องผูก
คนปรกติจะมีกากอาหารส่วนมากอยู่ในลำไส้ใหญ่ ในเวลาไม่น้อยกว่า ๑๖ ชม. หลังจากกินอาหาร
เมื่อมีการถ่ายอุจจาระ กากอาหารในส่วนนี้ จะถูกขับถ่ายออกมาหมด
ท้องผูก เป็นภาวะหรืออาการที่ไม่มีกากอาหาร ถูกขับถ่ายออกมาภายใน ๔๐ ชม. เป็นความผิดปรกติในการถ่ายอุจจาระ
ทำให้เกิดอาการแน่นอึดอัด และไม่สบายในท้อง มึนและปวดศีรษะ อาจมีไข้ คลื่นไข้และอาเจียน
ท้องผูก แบ่งตามกลไกที่ทำให้เกิดได้เป็นสองอย่างคือ
๑. เกิดจากลำไส้มีการเคลื่อนไหวของอาหาร และกากอาหารในลำไส้ช้ากว่าปรกติ
๒. เกิดจากการถ่ายอุจจาระเป็นไปด้วย ความลำบากด้วยเหตุต่าง ๆ
๒๔๗๕. ทองพล
เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้ง ทำให้สุกด้วยการทอด มีลักษณะเบาขึ้นพองตัวมาก
รสมันเค็มเล็กน้อย ใช้เป็นของคาวก็ได้ ของหวานก็ได้
เนื่องจากทองพล ดั้งเดิมเป็นของฝรั่ง แป้งที่ใช้ปรุงเป็นแป้งสาลี
๑๓/ ๘๔๓๓
๒๔๗๖. ทองพันชั่ง
เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๖๐ - ๑๒๐ ซม. กิ่งอ่อน ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ
รูปไข่ ดอกสีขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ ตรงตามง่ามใบ นิยมปลูกตามบ้านเพื่อทำเป็นรั้ว
หรือทำยา ต้นมีสรรพคุณเป็นยาดับพิษไข้ พิษเบื่อเมา และฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนัง
แก้มะเร็ง รากเป็นยาแก้โรคเรื้อน ใบตำละลายในอัลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู เป็นยาแก้โรคเรื้อนกวาง
โรคขี้ขลาก ๑๓/
๘๔๓๔
๒๔๗๗. ทองพันดุล - ต้น
ต้นสูงประมาณ ๑/๒ เมตร มีรากเป็นหัว ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน รูปใบรูปยาวรี
หรือรูปไข่ ดอกคล้ายชบาออกตามปลายกิ่ง และง่ามใบ กลีบดอกสีชมพูอมส้ม ผลแห้งลูกทรงกลม
๑๓/ ๘๔๓๕
๒๔๗๘. ทองม้วน
เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งผสมกับไข่ อยู่ในประเภทขนมแห้ง กรอบ รสหวานมัน
มีรสเค็มแทรก
ขนมฝรั่ง ที่คล้ายทองม้วนมีอยู่หลายอย่าง ส่วนผสมก็ใช้หลักเกณฑ์ที่คล้ายกัน
เครื่องมือเครื่องใช้ในการปรุง ก็ทำเช่นเดียวกัน
๑๓/ ๘๔๓๕
๒๔๗๙. ท้องมาน - โรค
คือ ภาวะที่มีน้ำคลายซีรุ่มของเลือดอยู่ในช่องท้อง อาจมีน้ำมากถึง ๑๕ - ๒๐
ลิตร ทำให้หน้าท้องโป่งพองอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีอาการอึดอัดในท้อง
ช่องอก แน่นท้อง ท้องผูกเบื่ออาหาร หายใจลำบาก และมีอาการบวมที่เท้าทั้งสองข้าง
อาจจำแนกได้ดังนี้
๑. โรคที่เกิดแก่เยื่อยุท้อง
๒. การอุดกั้นหลอดเลือดดำปอร์ตัล
๓. โรคที่เกิดแก่ตับ เช่น ตับแข็ง มีโพรงหนองที่ตับ และมะเร็ง เป็นต้น
๔. การอุดตันหลอดเลือดดำ อินพีเรีย เวนา คาวา
๕. โรคที่เกิดแก่หัวใจ ได้แก่ ความพิการของลิ้นหัวใจ
๖. โรคที่เกิดแก่ไต เช่น โรคไตอักเสบ เรื้อรัง
๗. การอุดกั้นทางเดินของน้ำเหลือง
๘. สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคปอดเรื้อรัง
๑๓/ ๘๔๓๗
๒๔๘๐. ทองลัน
เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง
(พงั่ว) ผู้เป็นพระราชบิดา ขณะนั้นพระองค์มีพระชันษา ๑๕ ปี ครองราชย์อยู่ได้เจ็ดวัน
พระราเมศวรซึ่งครองเมืองลพบุรี ได้ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยา จับพระเจ้าทองลันได้
แล้วให้สำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา แล้วพระราเมศวรก็ได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
๑๓/ ๘๔๓๘
๒๔๘๑. ทองลิน - ปลา
เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด อยู่ในวงศ์ย่อยปลาตะเพียน
๑๓/ ๘๔๔๐
๒๔๘๒. ทองหยอด
เป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยไข่แดง ผสมน้ำตาลทำเป็นลูกกลม ๆ เป็นขนมชั้นดี หรือดีที่สุดของไทย
เพราะเมื่อเลี้ยงพระ สำรับหวานจะขาดทองหยอดแทบไม่ได้
๑๓/ ๘๔๔๑
๒๔๘๓. ทองหยิบ
เป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยไข่แดง ผสมน้ำตาล ใช้หยิบเป็นรูปกลีบ ๆ ขนมชนิดนี้ใช้ต้มให้สุกในน้ำเชื่อม
๑๓/ ๘๔๔๓
๒๔๘๔. ทองหลาง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง โตเร็ว เนื้อไม้อ่อน มีหนามตามลำต้นและกิ่ง ใบเป็นใบประกอบติดกับกิ่ง
แบบบันไดเวียน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีขนาดใหญ่สีแดงสด ดอกทะยอยบานจากฐานช่อ
ไปยังปลายช่อ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว ฝักรูปยาว
๑๓/ ๘๔๔๕
๒๔๘๕. ทองเหลือง
เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี สว่นผสมขึ้นอยู่กับความต้องการ แบ่งได้เป็นสามชนิด
ตามสัดส่วนของทองแดง ถ้ามีมากเนื้อจะอ่อน
เนื่องจากมีสังกะสีเป็นส่วนผสมทำให้ทนทานต่อการกัดกร่อน
๑๓/ ๘๔๔๘
๒๔๘๖. ทองโหลง
(ดู ทองหลาง - ลำดับที่ ๒๔๘๒)
๑๓/
๘๔๔๘
๒๔๘๗. ทองเอก
เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกขนมที่เก็บไว้บริโภคได้ชั่วระยะ ๕ - ๗
วัน ถือกันว่าเป็นขนมชั้นยอด ทั้งด้วยเครื่องปรุง รส รูปร่างลักษณะและสีสัน
ทำด้วยไข่แดง หัวกะทิ น้ำตาล และแป้งเล็กน้อย มีรสหวานมัน กลิ่นหอม สีเหลืองราวกับทอง
ทั้งยังแต่งด้วยทองคำเปลว เป็นขนมไทยที่มีมานาน
๑๓/ ๘๔๔๘
๒๔๘๘. ทอดกฐิน
มีคำนิยามว่า "พิธีถวายผ้าแก่พระสงฆ์ในการกฐิน" คำว่า กฐิน
มูลเหตุที่เกิดการทอดกฐินนี้ มีเรื่องว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กรานกฐินได้แล้วคือ
โปรดให้พระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนผ้าครองได้ปีละครั้ง ในชั้นแรก พระสงฆ์ต้องหาผ้ามาทำจีวรกันเอง
และห้ามไม่ให้ขอเขาด้วย ไม่ให้แสดงปริยายคือ ไม่ให้พูดเลียบเคียงว่า ต้องการด้วย
ทรงอนุญาตให้หาได้ทางเดียวคือ บังสุกุลสัญญา พระภิกษุสงฆ์จึงต้องเที่ยวหาผ้าตามป่าช้าบ้าง
ตามกองขยะบ้าง เมื่อได้มาแล้วในวันใดต้องทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น ถ้าเสร็จไม่ทันก็เสียพิธี
เป็นอันว่าปีนั้น ทำไม่ได้อีกต่อไป ผู้ที่เห็นความลำบากของพระสงฆ์ จึงหาโอกาสข่วย
เมื่อถึงเทศกาลกฐิน จึงเอาผ้าไปทอดไว้ในป่าช้าบ้าง บนกองขยะบ้าง ต่อมาก็เอาไปเที่ยววางไว้ตามบริเวณวัดบ้าง
เพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นของใคร ดังนั้น ในคำอปโลกนี้ คือ การบอกเล่าของพระภิกษุสงฆ์จึงมีว่า
"ดาวเลื่อนลอยมาในนภาลัย ประเทศอากาศเวหา มาตกลงในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่พระภิกษุสงฆ์องค์ใด"
การกรานกฐินจึงเป็นงานใหญ่มากของพระภิกษุสงฆ์ ถึงโปรดให้งดใช้สิกขาบทบางข้อ
เฉพาะในกาลนั้น
ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับคหบดีจีวรคือ ผ้าจีวรที่มีผู้ศรัทธามาถวายได้แล้ว
ผู้ทอดกฐินจึงแสดงตัวให้ปรากฎได้ ในคำอปโลกนี้ของพระภิกษุสงฆ์ จึงระบุตัวเจ้าของผู้ทอดขึ้น
ดังที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้
การทอดกฐินชั้นเดิม ก็มีแต่ผ้าผืนเดียว โดยปรกติเป็นผ้าขาวทั้งผืน มีขนาดพอที่จะทำเป็นจีวรผืนหนึ่งได้
เรียกผ้าผืนนั้นว่า ผ้ากฐิน หรือองค์กฐิน แต่ปัจจุบันเลือนมาเป็นหมายถึง
ผ้าจีวรที่สำเร็จรูปแล้ว เฉพาะไตรจีวรที่ตั้งใจถวายองค์ครองว่า องค์กฐิน ต่อมามีเครื่องประกอบ
เรียก บริวารกฐิน
เมื่อเตรียมเครื่องกฐินพร้อมแล้ว ถึงกำหนดเวลานำไปทอดถวาย ก่อนถวายมีกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย
สมาทานศีล แล้วเจ้าการกล่าวนำถวายมีความว่า
"ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐิน พ้ร้อมทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์
" แม้เป็นคำรบสอง... แม้เป็นคำรบสาม..."
เมื่อจบคำถวาย พระสงฆ์รับสาธุแล้ว เจ้าการยกองค์กฐินถวายองค์ครองต่อไป เมื่อเสร็จแล้วเจ้าการพร้อมผู้ร่วมการ
ถวายบริขารกฐินแก่องค์ครอง และพระอันดับหมดแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าการกรวดน้ำ
ฟังพระจบแล้ว เป็นเสร็จพิธีการทอดกฐิน
๑๓/ ๘๔๕๐
๒๔๘๙. ทอดตลาด
มีคำนิยามว่า " ขายโดยวิธีประมูลราคา " เป็นวิธีขายทรัพย์แบบหนึ่ง ที่ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ
ก่อนคริตส์กาลปรากฎหลักฐานตามกฎหมายโรมัน นับเวลาได้ประมาณสองพันปีมาแล้ว
สาระสำคัญของการขายทอดตลาดคือ เป็นการขายทรัพย์โดยเปิดเผยสาธารณชนทั่วไป มีโอกาสเสนอซื้อ
ผู้ใดให้ราคาสูงสุดก็ได้ทรัพย์นั้น ๆ ไป วิธีหรืออาการที่ผู้ทอดตลาดสนองรับคำเสนอสู้ราคานั้นถือเป็นธรรมเนียมสากลว่า
เมื่อไม่มีผู้ใดให้ราคาสูงขึ้นต่อไป ผู้ทอดตลาดจะเคาะค้อนทำด้วยไม้ลงบนโต๊ะ
เป็นสัญญาณแสดงว่า การขายทรัพย์นั้นบริบูรณ์
๑๓/ ๘๔๕๓
๒๔๙๐. ทอดผ้าป่า
มีคำนิยามว่า "เอาผ้าถวายโดยทิ้งไว้ เพื่อให้พระชักเอาเอง "หรือ" ผ้าที่ทายกถวายพระต่อจากเทศกาลกฐิน
ออกไปนับเข้าในผ้าบังสุกุล "
เรื่องผ้าป่านี้มีเค้าเรื่องจากคัมภีร์จีวรขันธกะ วินัยปิฎก เรื่องพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุ
รับคหบดีจีวรคือ จีวรที่ชาวบ้านถวาย
ในตอนปฐมโพธิกาล กำหนดเวลาว่าพ้น ๑๕ พรรษา แต่ปีตรัสรู้ไปแล้ว ในตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับคหบดีจีวร
ภิกษุทั้งหลายนุ่งห่มได้แต่ผ้าบังสุกุลเท่านั้น ชาวบ้านเห็นความลำบากของพระภิกษุในเรื่องนี้
จึงหาทางช่วยโดยเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่าช้าบ้าง กองขยะบ้าง ทอดไว้ตามกิ่งไม้
หรือพาดไว้ตามหีบศพ แต่ต้องทำพิธีการให้พระภิกษุเชื่อว่า เจ้าของทิ้งแล้ว
หรือของนั้นไม่มีเจ้าของ เมื่อพระภิกษุเห็นเช่นนั้น ก็ถือเอาโดยบังสุกุลที่เรียกว่า
"ชักผ้าป่า" หรือ "ชักบังสุกุล" ไม่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าพระภิกษุรู้ว่าชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ
ดังนั้น ผู้คิดจะช่วยพระภิกษุจึงต้องทำโดยละเมียดละไมที่สุด โดยกิริยาที่ต้องทำอย่างนี้
เราจึงเรียกกันว่า "ทอดผ้าป่า"
๑๓/ ๘๔๖๐
๒๔๙๑. ทอผ้า
การทอผ้ามีด้ายอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า ด้ายพุ่ง อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า
ด้ายยืน การทอผ้า หมายความว่า การทำเส้นด้ายพุ่งกับเส้นด้ายยืน เข้าขัดกัน
ปัจจุบันวัตถุที่ใช้นำมาทอทำเสื้อผ้า มีมากมายหลายชนิด เช่น ใยไหม เอามาทอเป็นผ้าแพร
ใยฝ้าย ใช้ทอเป็นผ้าฝ้าย ขนแกะทอเป็นสักหลาด และะเยื่อใยไม้ทอเป็นผ้าลินิน
ผ้าป่าน เป็นต้น มนุษย์รู้จักการทอผ้าด้วยฝ้าย ทีหลังการทอผ้าด้วยไหม
การทอผ้าฝ้ายนั้น ปรากฎในวรรณคดีจีนว่า จีนได้ใช้ฝ้ายทอผ้ามาตั้งแต่เมื่อ
๒,๒๐๐ ปี มาแล้ว ภายหลังได้มีผู้นำวิชานี้ เข้ามาเผยแพร่ในอินเดีย แล้วต่อไปยังอียิปต์
และยุโรป เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ฯ ตีอินเดียบางส่วนได้
เกี่ยวกับประวัติการทอผ้าของไทย เมื่อราวปี พ.ศ.๔๒๐ ชาติไทยได้รวมกันเป็นแว่นแคว้นเรียกว่า
"นครเพงาย" อันเป็นอาณาจักรอ้ายลาว ชาวอ้ายลาวรู้จักการย้อมผ้าสี ทำพรมขนสัตว์
ทอผ้าเป็นดอกดวง และทอผ้าได้หลายชนิด
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ วงการทหารไทย ตระหนักว่า ยามปรกติราชการทหารต้องซื้อผ้าเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ในยามสงครามก็จะต้องใช้มากยิ่งขึ้น ถ้าประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมประเภทนี้
ก็จะเกิดการขาดแคลน จากเหตุนี้โรงงานทอผ้าด้วยเครื่องจักรโรงแรกของประเทศไทย
จึงได้เกิดขึ้นใช้ชื่อว่า โรงงานฝ้ายสยาม เป็นแผนกหนึ่งอยู่ในกรมอาภรณ์ภัณฑ์
กระทรวงกลาโหม โดยมีกำลังเครื่องจักรปั่นด้าย ๓,๒๗๒ หลอด พร้อมกับเครื่องทอผ้าชนิดต่าง
ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เปิดเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒
ก็ได้มีการตั้งโรงงานภาคเหนือขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีเครื่องทอเริ่มแรก
๑๐๐ เครื่อง ๑๓/
๘๔๖๓
๒๔๙๒. ทอเรียม
เป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่งสีเทาเงิน เป็นธาตุกัมมันตรังสีมีประโยชน์ในทางปรมาณู
ทอเรียม ออกไซด์ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลอดไฟฟ้า โดยเฉพาะทำไส้หลอดไฟฟ้า
ไส้หลอดตะเกียงกาซ ตะเกียงน้ำมันก๊าด
๑๓/ ๘๔๗๐
๒๔๙๓. ทะนาน
เป็นชื่อสิ่งของสำหรับใช้ตวงของแห้ง และของเหลวมาแต่โบราณ ใช้เป็นชื่อมาตราตวงตามวิธีประเพณี
เรียกว่า " ทะนานหลวง" มีอัตราเท่ากับ ๑ ลิตร ที่ตวงของแห้งก็มี ข้าวเปลือก
และข้าวสารเป็นสำคัญ ส่วนที่ตวงของเหลวมี เหล้า และน้ำมันพืช
รูปร่างของทะนาน เป็นกะโหลก หรือกะลามะพร้าว ตัดประมาณค่อนมาทางป้าน และใช้ทางแหลมเป็นทะนาน
มาแต่ดั้งเดิม
การใช้ทะนาน ตวงข้าวคงจะใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว แต่ไม่มีหนังสือกล่าวถึง
คำว่า ทะนาน เริ่มปรากฎในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) คือ ในปี พ.ศ.๑๘๙๕
ได้ออกกฎหมายลักษณะอาญาหลวง มีมาตราหนึ่งได้กล่าวถึง ทะนาน เอาไว้ นอกจากนี้ยังมีคำว่า
"สัจ" คือ "สัด" อันเป็นเครื่องสานอย่างกระบุง เป็นด้วยทะนานกับสัด
ใช้ในการตวงข้าวขายมากที่สุด กำหนดให้ ๒๕ ทะนาน เท่ากับ ๑ สัด
มาตราตวงของไทยโบราณมีว่า
๓๐๐ เมล็ดข้าว = ๑ ใจมือ
๘ ใจมือ = ๑ ฟายมือ
๘ ฟายมือ = ๑ทะนาน
๕ ทะนาน = ๑
กระเชอ ๕ กระเชอ =
๑ สัด ๕ สัด
= ๑ กระชุก
๔ กระชุก =
๑ ตะลอง ๔ ตะลอง =
๑ เกวียน ๔ เกวียน = ๑ ตะล่อม
๕ ตะล่อม = ๑ ยุ้ง
๕ ยุ้ง = ๑ ฉาง
ในการซื้อขายมีมาตราที่ใช้อีกแบบหนึ่งคือ
๑๕๐ เมล็ดข้าว = ๑ หยิบมือ
๔ หยิบมือ = ๑ กำมือ
๔ กำมือ = ฟายมือ
๒ ฟายมือ = ๑ กอบ ๔ กอบ = ๑ ทะนาน
๒๕ ทะนาน = ๑ สัด
๘๐ สัด = ๑ เกวียน
ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.๒๔๖๖ แล้ว การใช้เครื่องตวงของเก่ามี
ทะนาน กะโหลก หรือกะลามะพร้าว สัด ที่เป็นเครื่องสาน ถังที่เป็นไม้ ก็ไม่ใช้อีกต่อไป
๑๓/ ๘๔๗๐