๓๑๘๖. บุพเพนิวาสานุสติญาณ
เป็นวิชชาที่หนึ่งในหมวดวิชชาสาม
วิชชาที่สี่ในหมวดวิชชาแปด
อันเป็นองค์แห่ง "พระสัมมาสัมโพธิญาณ" แปลว่าความรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ในนิทเทสแห่งญาณนี้ที่กล่าวถึงในสามัญผลสูตรทีฆนิกาย สีลขันธุวรรค สุตตันตปิฎก ความรู้นี้คือ เมื่อจิตบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง เป็นจิตผ่องใสไม่หวั่นไหว เกิดปัญญาน้อมไปเพื่อระลึกชาติถอยหลังเข้าไปได้ ตั้งแต่ชาติหนึ่ง สองชาติ จนถึงหลาย ๆ กัป และหลายสังวัฎวิวัฎกัป และรู้ว่าในชาติที่เท่านั้นมีชื่ออย่างนั้น มีสกุลอย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ๆ ได้เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น
ๆ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น ๆ มีอายุเท่านั้น จุติจากชาตินั้นแล้วได้ไปเกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้ ดังนี้ (ดูญาณ - ลำดับที่ ๑๙๓๓ ประกอบด้วย) ๑๗/ ๑๐๕๐๕
๓๑๘๗. บุพวิเทห์
เป็นชื่อทวีปใหญ่ทวีปหนึ่งในทวีปทั้งสี่แห่งในคัมภีร์ไตรภูมิ เป็นทวีปของชนชาววิเทหะทางตะวันออก
มีสัณฐานกลม เป็นปริมณฑลขนาดเท่ากับอมรโคยานทวีป มนุษย์ชาวทวีปนี้สูงหกศอก
มีผิวกายเหมือนชาวชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปคือ ผิวเนื้อสองสี (ขาว - ดำ) (ดูจักรวาล
- ลำดับที่ ๑๒๑๕ ประกอบ) ๑๗/
๑๐๕๐๖
๓๑๘๘. บุริมสิทธิ์
แปลตามรูปว่าสิทธิ์ที่จะได้ก่อน เป็นคำในกฎหมายหมายถึง สิทธิ์ที่เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่น
ๆ ปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่มาตรา ๒๕๑ - ๒๘๙
๑๗/ ๑๐๕๐๖
๓๑๘๙. บุรีรัมย์
จังหวัดทางภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทิศตะวันออกจด
จ.สุรินทร์ ทิศใต้จด จ.ปราจีนบุรี และทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันตกจด จ.นครราชสีมา อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ โดยทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
๓๗๖ กม. ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทางใต้เป็นพืดเขาลาดต่ำไปทางทิศเหนือจนจดแม่น้ำมูล
มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย หน้าแล้งในที่ดอนกันดารน้ำ ประชากรทำนา ทำประมงค์ เลี้ยงสัตว์
ทำเกลือสินเธาว์ เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม
ที่ตั้งตัวเมือง ปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองแปะ
จังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบันรวมเมืองเก่าเข้าไว้หลายเมืองคือ เมืองแปะ เมืองนางรอง
เมืองตาลุง เมืองพุทไธสง มีเจ้าเมืองปกครองทุกเมือง มารวมตั้งเป็นเมืองบุรีรัมย์ราวปี
พ.ศ.๒๔๔๑ ลดเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวลงเป็นตำบล
สถานที่สำคัญคือ ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และปราสาทหินเมืองต่ำ นอกจากนี้ยังมีปรางค์ขนาดย่อมในที่ต่าง
ๆ อีกมาก ๑๗/
๑๐๕๑๑
๓๑๙๐. บุรุษโทษ
เป็นลักษณะร่างกายอันชั่วร้ายของคน ร่างกายที่เป็นอัปลักษณ์ ในอรรถกาชาดก
มหานิบาต เวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กล่าวว่าบุรุษโทษมีสิบแปดประการ เช่นตีนแปหรือตีนคด
ปลีแข้งทู่โปออกทั้งข้างบนข้างล่าง ริมฝีปากบนยาวยื่นปิดช่องปากมิด จมูกหักฟุบลง
ท้องป่องเป็นกะเปปาะดังหม้อ หลังหักโค้งค้อมลง ตาเหล่ใหญ่ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่ง
หนวดเคราสีแดง เหมือนทองแดง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งทั้งตัว ตาเหลือกเหลือง หลังโกงเอวคด
ฯลฯ ๑๗/ ๑๐๕๑๓
๓๑๙๑. บุเรงนอง
เป็นพระนามของกษัตริย์ที่ครองพม่า ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๔ - ๒๑๒๔ ทำพิธีราชาภิเษก
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๖ มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย ในตำแหน่งแม่ทัพของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้
ยกมาตีเมืองไทย คราวสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนหลังช้างในปี พ.ศ.๒๐๙๑
ต่อมาพระเจ้าบุเรงนอง ทรงทำสงครามขอช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ และสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี
พ.ศ.๒๑๑๒
ก่อนเป็นกษัตริย์พม่า บุเรงนองเป็นแม่ทัพชั้นเยี่ยมของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้
ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่ง "บุเรงนอง" (แปลว่าพระเชษฐาธิราช) เพราะได้เป็นพี่พระมเหสีของพระเจ้าหงสาวดี
๑๗/ ๑๐๕๑๓
๓๑๙๒. บุโรพุทโธ
เป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก่อด้วยศิลาจากภูเขาไฟตั้งอยู่บนเนินดิน
และตั้งอยู่ทางภาคกลางของเกาะชวา ประมาณ ๔๐ กม.ทางทิศเหนือของเมืองยกยาการ์ตา
ราชวงศ์ไศเลน ซึ่งกำลังปกครองภาคกลางของเกาะชวาอยู่ในเวลานั้น ได้สร้างขึ้นเมื่อราวปี
พ.ศ.๑๓๕๐
บุโรพุทโธ เป็นเจดีย์หรือสถูปที่มีฐานขนาดใหญ่มหึมา แบ่งออกเป็นหลายชั้น ฐานชั้นล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม
กว้างยาวด้านละ ๑๒๓ เมตร และองค์เจดีย์รวมทั้งยอดสูงจากพื้นดินประมาณ ๔๒ เมตร
บนยอดฐานชั้นล่างสี่ชั้น มีพระธยานีพุทธเจ้าสี่พระองค์ ประทับนั่งประจำอยู่ในซุ้มแต่ละทิศตามชั้นทั้งสี่
บนยอดฐานชั้นที่ห้ามีพระพุทธรูปปางวิตรรกะ (แสดงธรรม) ประทับนั่งอยู่ภายในซุ้ม
บนลานวงกลมชั้นบนสามชั้นมีพระเจดีย์เป็นเจดีย์รายล้อมรอบ เจดีย์องค์กลางสามแถว
ล้วนสลักโปร่ง พระเจดีย์แถวล่างสองแถว มีรอยสลักโปร่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
แต่แถวบนมีรอยสลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เจดีย์องค์กลางทึบมองไม่เห็นภายใน
คงหมายถึงพระอาทิพุทธเจ้าผู้สร้างโลก หรือพระวัชรสัตว์สรุปแล้วพุทโธสร้างขึ้นเพื่อแสดงว่าพุทธอำนาจของพระอาทิพุทธเจ้าได้แผ่ครอบคลุมทั่วทั้งจักรวาล
๑๗/ ๑๐๕๒๓
๓๑๙๓. บุษกร
เป็นตำบลที่พระวิศวามิตร ราชฤาษี กับสานุศิษย์ย้ายไปอยู่เพื่อบำเพ็ญบารมี
๑๗/ ๑๐๕๒๖
๓๑๙๔. บุษบก
มีบทนิยามว่า "เรือนยอดขนาดเล็ก ซึ่งอาจย้ายเคลื่อนที่ได้"
ตามบทนิยามนี้บุษบก เดิมเป็นอันเดียวกันกับมณฑปและปราสาท เป็นแต่ดัดแปลงตบแต่งรูปทรงเล็กใหญ่ให้แตกต่างกันบ้างเท่านั้น
สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง หรือสำหรับเป็นที่ประดิษฐานสิ่งคารพสูงสุด
๑๗/ ๑๐๕๒๗
๓๑๙๕. บุษบกตามประทีป - ตรา
(ดูตรา - ลำดับที่ ๒๐๙๙ ประกอบด้วย) ๑๗/
๑๐๕๓๒
๓๑๙๖. บุษบา ๑
เป็นชื่อนางเอกในวรรคดีเรื่องอิเหนา เป็นธิดาท้าวดาหา ได้หมั้นกับญาติผู้พี่ของนางคือ
อิเหนา โอรสท้าวกุเรปัน ตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเจริญวัยขึ้น อิเหนาไม่ยอมอภิเษกสมรสกับบุษบา
เพราะไปหลงไหลนางอื่น ทำให้ท้าวดาหากริ้วมาก ยกบุษบาให้แก่ระตูต่ำศักดิ์องค์หนึ่ง
แต่เมื่ออิเหนากับบุษบาได้พบกันเป็นครั้งแรก อิเหนาก็หลงรักนางทันที และมุ่งชิงนางไปเป็นคู่ครอง
บุษบาต้องพลัดพรากจากเมือง และจากอิเหนาเป็นเวลาหลายปี เนื่องด้วยคำสาปของปะตาระกาหลาเทวดาต้นวงศ์
ผู้ประสงค์จะลงโทษอิเหนาที่ทำผิดไว้ เมื่อพ้นสาปบุษบาก็ได้เป็นมเหสีของอิเหนา
ซึ่งได้เสวยราชย์สืบต่อจากท้าวกุเรปัน ๑๗/
๑๐๕๓๒
๓๑๙๗. บุษบา ๒
เป็นชื่อภริยาเจ้าเมืองพิจิตร ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เป็นผู้มีใจเมตตาอารี
ดุจเดียวกับสามี ทั้งสองได้ให้ความอุปการะแก่ขุนแผน และนางวันทอง ในคราวที่ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังตั้งครรภ์ออกจากป่า
ไปขอพึ่งใบบุญ เมื่อขุนแผนขอเข้ามอบตัวเพื่อไปต่อสู้คดีที่อยุธยา บุษบาได้ให้เงินจำนวนสามชั่ง
พร้อมเครื่องกินเครื่องใช้ให้ขุนแผน และนางวันทอง นำติดตัวไปใช้ระหว่างทาง
บุษบามีลูกสาวกับพระพิจิตรชื่อ ศรีมาลา เมื่อขุนแผนพ้นโทษ และพาพลายงามลูกชายซึ่งเกิดจากนางวันทองไป
แวะเมืองพิจิตร ก่อนจะเดินทางไปทำศึกที่เชียงใหม่ ขุนแผนได้สู่ขอศรีมาลาให้พลายงาม
๑๗/ ๑๐๕๓๕
๓๑๙๘. บุษปนคร
(ดู ปาฎลีบุตร - ลำดับที่.๓๕๑๖) ๑๗/
๑๐๕๓๖
๓๑๙๙. บุษมาลี ๑
ชื่อนางฟ้าในวรรณคดี บทละครทำเรื่องรามเกียรติ์ เป็นข้าของพระอินทร์ ได้กระทำความผิดโดยรับเป็นสื่อชักให้ท้าวตาวัน
ผู้ครองเมืองมายัน ติดต่อรักใคร่กับนางฟ้ารัมภา พระอินทร์กริ้วมากบันดาลให้เมืองตาวัน
กลายเป็นเมืองร้างกลางป่า และสาปให้บุษมาลีทนทุกข์ทรมานอยู่ในเมืองร้าง ตามลำพังอยู่สามหมื่นปี
จนพระนารายณ์อวตารเป็นพระราม นางได้บอกทิศทางไปเมืองลงกาแก่หนุมานแล้ว ก็พ้นสาป
๑๗/ ๑๐๕๓๖
๓๒๐๐. บุษมาลี ๒
เป็นชื่อนางงามในนิทานคำกลอน และบทละครรำ เรื่องพระสมุทร
๑๗/ ๑๐๕๓๖
๓๒๐๑. บุษยมิตร
เป็นพระนามกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดียโบราณ ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์ ณ
กรุงปาฎลีบุตร นครหลวงของแคว้นมคธ สืบแทนราชวงศ์โมริยะ ของพระเจ้าจันทรคุปต์
ผู้เป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราวปี พ.ศ.๓๕๙
พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ศุงคะ ต่อจากราชวงศ์โมริยะ มีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อสิบองค์
๑๗/ ๑๐๕๓๗
๓๒๐๒. บุษยรัตน์
เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญ เรียกพระนามเต็มว่า "พระพุทธบุษยรัตน์" ทำด้วยแก้วผลึก
ที่เรียกว่า เพชรน้ำค้าง หรือบุษยน้ำขาว ไม่ปรากฎมีตำนานการสร้าง ทราบแต่เพียงว่า
พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้พาหนีอันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อย บ้านนายวน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์
ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เห็นกันว่าจะเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาว
ซึ่งมีกล่าวไว้ ในตำนานโยนก พระแก้วขาวองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่กรุงละโว้
เป็นกาลเวลาจนถึงกาลที่ฤษีสุเทพ สร้างเมืองหริภุญชัย และเชิญพระนางจามเทวี
ราชธิดากรุงละโว้ ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย จนถึงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ครองนครเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๑ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ กับพระแก้วมรกตด้วยกัน
ถึงปี พ.ศ.๒๐๙๔ พระเจ้าชัยไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปเมืองหลวงพระบาง
ด้วยกันกับพระแก้วมรกต ต่อมาเมื่อพระองค์ไปอยู่เมืองจันทน์ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย
แต่ไม่ได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปด้วย ทำนองมีเหตุจลาจลมีผู้พาหนีไปซ่อนไว้ดังกล่าว
ต่อมาเจ้าเมืองนครนครจำปาศักดิ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ในเมืองนครจำปาศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๓๕๔ ได้อัญเชิญมาถึงกรุงเทพ ฯ อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน
๑๗/ ๑๐๕๓๙
๓๒๐๓. บุษยสนาน หรือบุณยสนาน
เป็นคำเรียกพิธีสนานกาย ตามพิธีของพราหมณ์ชาวอินเดียทำทุกเดือนในวันเพ็ญ ส่วนศราวณี
เป็นพิธีใหญ่สำคัญมาก ทำในเดือนสิบของปีพราหมณ์
พิธีบุษยสนาน คนในวรรณะศูทรเกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะถือว่าคนในวรรณะศูทร เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อใด
เมื่อนั้นไม่หมดบาปบุษยสนาน ๑๗/
๑๐๕๔๔
๓๒๐๔. บุษยะ - ดาว
เป็นดาวนักษัตรที่หก ตามตำราของฮินดู ซึ่งเริ่มนักษัตรที่หนึ่งตรงดาวลูกไก่
(กัตติกา) ๑๗/ ๑๐๕๔๘
๓๒๐๕. บุษราคัม
เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง เป็นแร่โทแปซ สีเหลือง เป็นรัตนชาติ ที่อาจใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นได้
เดิมทีคำว่า บุษราคัมนี้ ตามตำรานพรัตน์ของไทย หมายถึง พลอยสีเหลืองทั่วไป
ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ รัตนชาติ ตระกูลคอรันดัม ที่มีสีเหลือง เรียกกันว่า
พลอยน้ำบุษ หรือพลอยน้ำบุษย์
และส่วนน้อย ได้แก่ แร่ครอร์ต สีเหลือง ซึ่งในภาคเหนือของไทยเรียกว่า โป่งข่าม
๑๗/ ๑๐๕๔๙
๓๒๐๖. บุหงา ๑
เป็นคำชวาแปลว่า ดอกไม้ เป็นคำสามัญทั่วไป ในความหมายทั้งที่เป็นดอกไม้จริง
และดอกไม้เทียม บุหงามีชื่อเรียกตามประเภทดอกไม้คือ
บุหงาตันหยง - ดอกพิกุล บุหงาปะกัน - ดอกมะลิป่า บุหงาปะหนัน - ดอกลำเจียก
บุหงามาหลอ - ดอกมะลิ บุหงารำไป - เป็นชื่อชนิดการจัดดอกไม้ตรงกับคำว่า ดอกไม้พุ่ม
หรือพุ่มดอกไม้ ๑๗/
๑๐๕๕๕
๓๒๐๗. บุหงา ๒
เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลทราย
น้ำนมแมว กวนให้ขึ้นเป็นเส้นยาว โรยแป้ง ตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ ห่อด้วยกระดาษแก้ว
แล้วหุ้มด้วยกระดาษสีต่าง ๆ จักหัวท้ายกระดาษให้เป็นฝอย
๑๗/ ๑๐๕๕๖
๓๒๐๘. บุหรี่
คือ สิ่งที่มีลักษณะเป็นมวนยาว ประกอบด้วยใบยาสูบที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ม้วนพันด้วยกระดาษบาง
สำหรับใช้จุดสูบ ความยาวปรกติ ๗๐ มม.
ตามประวัติ ในปี พ.ศ.๒๐๖๑ นักสำรวจชาวสเปน ได้พบชาวอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง นิยมสูบบุหรี่กันมาก
ชนเผ่านี้มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศเมกซิโก จึงได้นำวิธีการสูบบุหรี่ไปเผยแพร่
ในประเทศของตน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๐๒ มีผู้นำเมล็ดยาสูบจากเมืองแซนโตโดมิงโก
เข้าไปปลูกในประเทศสเปน และแพร่หลายเข้าสู่กรุงโรม และมีผู้นำเส้นยาสูบจากเมืองฟลอริดา
เข้าไปในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๘ ระหว่างสงครามไครเมีย (พ.ศ.๒๓๙๗ -
๒๓๙๙) ทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ติดการสูบบุหรี่จากทหารตุรกี และนำไปเผยแพร่ในประเทศของตน
ปัจจุบันการสูบบุหรี่ได้เป็นที่นิยม แพร่หลายไปทุกประเทศทั่วโลก
ได้มีการสร้างโรงงานผลิตบุหรี่จำหน่ายเป็นอุตสาหกรรมที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก
ประเทศรุสเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตบุหรี่ออกจำหน่ายในปี
พ.ศ.๒๔๐๗ ถึง ๒๐ ล้านมวน
ปัจจุบันการผลิตบุหรี่ออกจำหน่าย ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ มีรายได้มหาศาล
ประเทศที่ผลิตบุหรี่ออกจำหน่ายมากที่สุดในโลก เรียงตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา
สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น บัลกาเรีย และอังกฤษ
๓๒๐๙. บุหรี่พระราม - ต้น
เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง พบขึ้นทั่วไปในประเทศไทย มีมือเป็นเส้นเรียวยาว สำหรับใช้เกาะยึดพันสิ่งต่าง
ๆ ใบเป็นแบบธรรมดา กว้างราว ๕ ซม. ยาวราว ๘ ซม. ช่อดอกออกในง่ามใบเป็นช่อยาว
ผลเป็นรูปเรียวยาวคล้ายทรงกระบอกกลม หรือเป็นสามเหลี่ยม เมล็ดมีมากสีดำแบนและมีปีกบาง
ๆ ที่ปลายเมล็ด ๑๗/
๑๐๕๕๘
๓๒๑๐. บุหลัน
เป็นชื่อเพลงไทยสองเพลงด้วยกันคือเพลง "บุหลัน (เถา)" กับ "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า"
เพลงบุหลัน (เถา) เดิมเป็นเพลงในอัตราสองชั้นมีชื่อว่า "ชกมวย" แต่งขึ้นราวต้นรัชกาลที่ห้า
โดยทำเป็นเพลงสองท่อนสั้น ๆ สำหรับใช้ประกอบการแสดงละคร ต่อมาได้มีผู้นำสองท่อนมารวมเป็นท่อนเดียว
แล้วแต่งยึดขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้นให้ชื่อว่าเพลง "บุหลันสามชั้น" คนในสมัยนั้นมักเรียกติดปากว่าเพลง
"บุหลันชกมวย" ต่อมาพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) ได้นำมาตัดเป็นอัตราสองชั้นและชั้นเดียว
เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงกลายเป็นเพลงบุหลัน (เถา) ซึ่งหมายความว่าเป็นเพลงที่บรรเลงได้ตั้งแต่สามชั้น
สองชั้น จนถึงชั้นเดียว ติดต่อกันนั่นเอง
คำว่า "บุหลัน" เป็นภาษามลายู แปลว่าพระจันทร์ ๑๗/
๑๐๕๕๙
๓๒๑๑. บู่ -ปลา
ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลและหลายชนิดอยู่ในน้ำจืด ส่วนมากตัวเล็ก กินสัตว์เล็กเป็นอาหาร
อยู่ตามก้นทะเล ตามริมอ่าว และปากแม่น้ำ บางครั้งก็อยู่ในลำธาร ทะเลสาบ และหนองบึง
แอ่งน้ำ ตามก้นแม่น้ำเชี่ยว
ลักษณะแปลกของปลาบู่คือ ครีบท้องที่อก อยู่หน้าครีบอก และไม่มีเส้นข้างตัว
รูปครีบท้องเป็นลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกวงศ์ สกุลและชนิด ประกอบกับรูปร่างและลักษณะของครีบ
ฟัน และเกล็ด ๑๗/
๑๐๕๖๑
๓๒๑๒. บูชายัญ
มีบทนิยามว่า "การบูชาของพราหมณ์อย่างหนึ่ง การบวงสรวงเพื่อบูชา" การบูชายัญนี้มีมาก่อนพุทธกาล
วิธีบูชายัญสรุปได้เป็นสองวิธีคือ
๑. วิธีของพรามหณ์
ต้องฆ่าคนและสัตว์เป็นจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ตามลัทธิของพระอาจารย์ผู้เป็นเจ้าพิธี
และต้องเกณฑ์คนให้ตัดหญ้า และไม้มากมาย ขุดหลุมล้อมหลุม ก่อไฟในหลุมยัญ ประกอบในพิธียัญนั้น
เพื่อบูชาเทพเจ้า
๒. วิธีของพระพุทธศาสนา
ต้องสละทรัพย์สมบัติออกทำบุญ ประพฤติในศีลธรรม ฝึกตนให้เป็นคนบริสุทธิ์ ฝึกจิตให้หมดกิเลสอาสวะ
ถึงความสงบ ไม่กำเริบอีกต่อไป
การบูชายัญมีวัตถุประสงค์สี่อย่างคือ
๑. เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตน และบ้านเมืองของตน
๒. เพื่อระงับภัยที่จะเกิดแก่ตน และครอบครัว ตลอดจนถึงบ้านเมือง
๓. เพื่อใช้บนหรือแก้บน
๔. เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสงบแก่ชนหมู่มาก
๑๗/ ๑๐๕๙๖
๓๒๑๓. บูชิโด
เป็นภาษาญี่ปุ่น มีความหมายตามตัวอักษรว่า "ยุทธกริยา" หรือบรรดาของนักรบเป็นวินัย
และธรรมจรรยาของนักรบญี่ปุ่น มีรากฐานมาจากธรรมจรรยาในลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื้อของจีน
เชื่อว่าจะมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ
ในภายหลังบางประการ เช่นหลักของนิกายเซนผสมผสานอยู่ด้วย
นักปราชญ์ของญี่ปุ่นแต่โบราณรับว่า "บูชิโด" มีหลักกำเนิดจากหลักทางศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นเองคือ
ศาสนาชินโตส่วนหนึ่ง และกำเนิดจากหลักธรรมในศาสนาอื่นที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง
หลักธรรมเหล่านี้เข้าหลอมให้ "บูชิโด" กลายมาเป็นบทอบรมสั่งสอน และปฏิบัติกันมาในหมู่คนญี่ปุ่น
จนกลายเป็นรูปวิญญาณ และสายเลือด
การอบรมและการปฏิบัติตามยุทธจริยา "บูชิโด" มีกันดังนี้คือ ให้รู้จักค่าของชาติและธรรมชาติ
ให้มีเมตตากรุณา ให้กล้าหาญ ให้เป็นสุภาพบุรุษ ให้รักษาสัจจะความจริง ให้ข่มใจตนเอง
ให้รักตายเสมอชีวิต ให้รักครอบครัว ให้เคารพภักดีบรรพบุรุษ - จักรพรรดิ์ ให้แก้ไข
- แก้แค้น ให้รักษาเกียรติยศ (ด้วยวิธียอมตาย - ฮาราคีรี) และฐานะสตรีกับบูชิโด
๑๗/ ๑๐๕๘๑
๓๒๑๔. บูรณภาพ
แปลว่าความครบถ้วนบริบูรณ์เช่น บูรณภาพแห่งดินแดน หรืออาณาเขต เป็นที่ทราบดีแล้วว่าแต่ละรัฐ
หรือประเทศ ย่อมประกอบด้วยดินแดน หรืออาณาเขต ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์
และอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศนั้น ๆ หรือได้เป็นที่ยอมรับนับถือโดยสนธิสัญญา
หรือความตกลงระหว่างประเทศ ดินแดนหรืออาณาเขตดังกล่าวผู้ใดจะละเมิด ล่วงล้ำ
บุกรุก รุกราน ยึดครอง หรืออ้างกรรมสิทธิ์โดยพละการมิได้ นอกจากจะมีการเจรจา
ทำความตกลงปรับปรุงดินแดนระหว่างทวิภาคี หรือพหุภาค ตามกระบวนการแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ
จึงจะสามารถปรับปรุงเขตแดนได้โดยสันติวิธี แต่ถ้าหากปรับปรุงเขตแดนอุบัติขึ้นจากผลแห่งสงคราม
ซึ่งประเทศผู้แพ้สงคราม ตกอยู่ในสภาพต้องจะยอมต่อการเรียกร้องทุกอย่างของประเทศผู้ชนะสงครามแล้ว
หากการปรับปรุงดินแดน ได้กระทำไปโดยความไม่เป็นธรรม ก็ย่อมเป็นชนวนของสงครามครั้งต่อไป
บูรณภาพแห่งดินแดนหมายถึง อำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์ของรัฐเหนือพื้นดิน ใต้ดิน
น่านน้ำ และน่านฟ้า ๑๗/
๑๐๕๘๗
๓๒๑๕. เบเกไลต์
เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ประเภทเรซิน ปลาสติก สังเคราะห์ขึ้นได้โดยใช้ฟีนอลทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์ในภาวะที่เหมาะสม
เบเกไลต์เป็นของแข็ง หลอมละลายไม่ได้ ไม่ติดไฟ ทนต่อฤทธิ์ของสารเคมีเกือบทุกชนิดได้ดี
เมื่อบริสุทธิ์จะไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ ในอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์ นำไปทำเป็นเครื่องประดับ
ลูกปัด กระดุม ด้ามดินสอ ด้ามปากกา ด้ามร่ม ท่อ ปากพูด - หูฟัง โทรศัพท์ ตัวกล้องถ่ายรูป
สวิตซ์ไฟฟ้า ฉนวนไฟฟ้า ๑๗/
๑๐๕๘๙
๓๒๑๖. เบญกานี
เป็นเม็ดลักษณะกลม เกิดจากการขับถ่ายของแมลงเพศตัวเมียชนิดหนึ่ง ขนาด ๐.๘
- ๒.๕ ซม.ใช้ประโยชน์ทางยา มีรสฝาดจัด ใช้สมานแผล ลูกเบญกานี เป็นสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ
ผู้จำหน่ายคือ ประเทศแถบเอเชียไมเนอร์ และเปอร์เชีย ไม่เกิดลูกเบญกานีในประเทศไทย
๑๗/ ๑๐๕๙๒
๓๒๑๗. เบญกาย - นาง
เป็นชื่อตัวละครหญิงในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นภริยาหนุมาน เมื่อคราวทศกัณฐ์ให้แปลงเป็นนางสีดา
ตายลอยไปติดอยู่ที่ท่าสรงของพระราม แล้วหนุมานจับได้ แต่พระรามยกโทษให้แล้ว
ให้หนุมานไปส่งนางที่ลงกา ก็ได้นางเป็นภริยา ภายหลังมีลูกด้วยหนุมานหนึ่งคนชื่อ
อสุรผัด ๑๗/
๑๐๕๙๔
๓๒๑๘. เบญจกัลยานี
(ดู กัลยาณี - ลำดับที่ ๓๒๕) ๑๗/
๑๐๕๙๖
๓๒๑๙. เบญจกามคุณ
(ดู กามคุณ - ลำดับที่...) ๑๗/
๑๐๕๙๖
๓๒๒๐. เบญจกูล
เป็นชื่อ พิกัดยา (ตัวยาหลายอย่างรวมกัน) ซึ่งประกอบด้วยยามีรสร้อนห้าอย่างคือ
๑. ดีปลี
(ดอก) เป็นยาประจำปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) มีสรรพคุณแก้ไอ แก้เสมหะ
มีรสเผ็ดร้อน ขมเล็กน้อย ใช้แก้ลม อัมพฤกษ์ อัมพาต ดับพิษปัตคาด แก้ตัวร้อน
แก้คุดทะราด
๒. ชะพลู
(ราก) เป็นยาประจำอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) มีสรรพบำรุงธาตุ แก้คูณเสมหะ
แก้ปวดเมื่อย รากชะพลู ใช้แก้ธาตุพิการ ระงับคูณเสมหะ
๓. สะค้าน
(เถา) เป็นยาประจำวาโยธาตุ (ธาตุลม) มีสรรพคุณบำรุงธาตุในกองธาตุ
ใช้ขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ แก้จุกเสียดแน่น
๔. เจตมูลเพลิง
(ราก) เป็นยาประจำเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) มีสรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ลม
แก้โลหิต รากเจตมูลเพลิง ใช้บำรุงไฟธาตุ กระจายลม กระตุ้นลำไส้ และกระเพาะ
อาหารให้ทำงานเรียกน้ำย่อย และช่วยย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายอบอุ่น ใช้ทำเคลื่อนฝี
แก้ริดสีดวง แก้คุดทะราด ฆ่าพยาธิ
๕. ขิงแห้ง
(เหง้า) เป็นยาประจำอากาศธาตุ (ธาตุลม) มีสรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ไขพรรดึก
แก้ลมจุกเสียด แก้อาเจียน แก้ไข้จับ แก้ลมพานไส้
โดยปรกติใช้น้ำหนักของตัวยา แต่ละอย่างเท่า ๆ กัน
๑๗/ ๑๐๕๙๖
๓๒๒๑. เบญจขันธ์
(ดู ขันธ์ - ลำดับที่ ๗๒๘) ๑๗/
๑๐๕๙๗
๓๒๒๒. เบญจคัพย์
คือ เต้าน้ำมีลักษณะเป็นเต้าปากกว้าง ภายในเต้ากันเป็นห้าช่อง ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
มีบทนิยามว่า "เต้าน้ำ อยู่ในหมู่ของใช้ในการพระราชพิธี ตามราชประเพณีของไทย
ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ทรงรับน้ำอภิเษก หรือใส่น้ำเทพมนตร์ ซึ่งจะรดถวายให้แก่
พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์ ทรงรดพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งมีพระชนนี
เป็นเจ้า บางแห่งเรียกว่า เบญจครรภ" ๑๗/
๑๐๕๙๗
๓๒๒๓. เบญจโครส
นมโค สกัดได้ห้าอย่างคือ นมสด นมส้ม เนยใส นมข้น และเปรียง คล้ายน้ำมันเนย
ใช้ทอดผัก ทอดเนื้อ ทอดปลาก็ได้ ใช้เป็นอาหารคือ นมสด นอกนั้นใช้ประกอบอาหาร
ใช้เป็นเภสัชได้ คือ นมส้ม เนยใส เนยข้น ๑๗/
๑๐๕๙๘
๓๒๒๔. เบญจดุริยางค์
เบญจ แปลว่า ห้า ส่วนดุริยางค์ ตามความหมายถึงดั้งเดิม แปลว่า เครื่องประเภทตีและเป่า
ก็คือ เครื่องปี่พาทย์นั่นเอง
คำว่า เบญจดุริยางค์ มีความหมายว่า วงดุริยางค์เครื่องห้า หรือดนตรี เครื่องห้า
แต่เดิมคงใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขน และหนังใหญ่ หรือบรรเลงเป็นเอกเทศ เท่านั้น
ต่อมาเมื่อมีการหัดละครผู้หญิงของหลวงขึ้น จึงได้ใช้ปี่พาทย์ เข้ามาบรรเลงประกอบ
๑๗/ ๑๐๕๙๘
๓๒๒๕. เบญจเพศ
มีบทนิยามว่า "ยี่สิบห้า เช่นอายุถึงเบญจเพศ"
คติของพระภิกษุสงฆ์ ท่านกำหนดเอาห้าพรรษา เป็นนิสัยมุตกะ ถ้าบวชเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
ถึงห้าพรรษาก็ครบยี่สิบห้าปีพอดี พระภิกษุที่บวชใหม่ระหว่างหนึ่ง ถึงห้าพรรษาเรียกว่า
นวกะ ต้องอยู่ในปกครองของพระอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ผู้แทน จะอยู่ตามลำพังไม่ได้จะไปไหนต้องบอกลา
ถ้าไม่ทำเป็นความผิด ในระหว่างนี้ต้องเล่าเรียนศึกษา ให้รู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น
ให้รู้ผิดรู้ถูกรู้ควร และไม่ควร พ้นห้าพรรษา เป็นนิสัยมุตกา แล้วจึงอยู่ตามลำพังได้
และปกครองผู้อื่นได้ ๑๗/
๑๐๖๐๔
๓๒๒๖. เบญจมบพิตร - วัด
เรียกเต็มว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ริมถนนนครปฐม และคลองเปรมประชากร ฝั่งตะวันตก แขวงดุสิต เขตดุสิต
กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นวัดราษฎร เรียกว่า วัดแหลม
และอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไทรทอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานนามว่า
วัดเบญจมบพิตร ๑๗/๑๐๖๐๗
๓๒๒๗. เบญจมาศ
เป็นไม้พุ่มยืนต้นสูง ๖๐ ซม. - ๑ เมตร ใบออกสลับกัน รูปใบมีต่าง ๆ แบบรูปไข่
ถึงรูปปลายหอก ช่อดอกออกใกล้ปลายกิ่ง หรือที่ปลายกิ่ง เป็นก้านยาว ชูขึ้นไปที่ปลายก้านจะพองโตเป็นฐานรองรับดอกเล็ก
ๆ จำนวนมาก ตัวดอกเล็กมีฐานสีเหลือง และกลีบขาว
ต้นเบญจมาศ เป็นพันธุ์ไม้ดอกที่รู้จักกันทั่วโลก
๑๗/ ๑๐๖๑๕
๓๒๒๘. เบญจรงค์
เป็นคำช่าง เรียกสีหลักห้าสี ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว
(คราม) แม่สีทั้งห้าสีนี้ เป็นต้นกำเนิดของสีต่าง ๆ
การใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยนั้น สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
หลักฐานที่เก่าที่สุด ที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ ภาพพระบฏ สมัยเชียงแสน ซึ่งพบอยู่ในหม้อดินเผา
ในกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ นอกจากนี้
ยังได้พบหลักฐานการใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยสมัยต่าง ๆ แยกตามประเภทดังนี้
๑. งานจิตรกรรม
ส่วนใหญ่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังของศาสนสถาน ยังมีหลักฐานปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
เช่น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการเขียนลงบนผ้า
เช่น ภาพพระบฏ เขียนลงบนผ้านุ่งเรียกว่า ผ้าถมปัก หรือผ้าสมปัก
๒. งานประติมากรรม
ได้แก่ การทำเครื่องถ้วยที่เรียกกันทั่วไปว่า เครื่องถ้วยเบญจรงค์ นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องถม
ใช้เบญจรงค์ตกแต่งเรียกว่า เครื่องถมปัก เครื่องถมชนิดนี้ใช้ลูกปัดสีต่าง
ๆ ห้าสีนำมาบดละเอียด แล้วติดลงบนภาชนะโลหะ ทองแดงที่ขึ้นรูปไว้ แล้วนำเข้าเตาอบความร้อนจนลูกปัดสีละลายกลายเป็นเคลือบภาชนะนั้น
เครื่องถมปักใช้เป็นเครื่องยศ สำหรับพระ ขุนนาง และของใช้ของคหบดี ทำเป็นภาชนะแบ่งต่าง
ๆ เช่น หีบบุหรี่ ฝาบาตร คนโทน้ำ ปิ่นโต จอก โถ ขันน้ำพานรอง ฯลฯ (ดู เครื่องถม
- ลำดับที่... ประกอบด้วย)
๓. งานศิลปะตกแต่งอื่น ๆ
เช่น การใช้เบญจรงค์เขียนลวดลายที่เรียกว่า ลายเชิง ผนังของโบสถ์ วิหารหรืออาคารต่าง
ๆ การใช้กระจกสีต่าง ๆ ห้าสี ประดับอาคาร ซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
๓๒๒๙. เบญจโลหะ
หมายถึง โลหะห้าชนิด ได้แก่ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน และทองคำ ซึ่งนำมาเป็นสวนผสมสำคัญในการหล่อพระพุทธรูป
และทำอาวุธของนักรบในสมัยก่อน อัตราส่วนของเบญจโลหะ ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปคือ
๑ ; ๒ ; ๓ ; ๔ ; ๕ ตามลำดับ
การใช้เบญจโลหะทำอาวุธเป็นเรื่องของความขลัง ฉะนั้นโลหะที่จะเลือกมาใช้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ
๑๗/ ๑๐๖๒๐
๓๒๓๐. เบญจวรรณ
เป็นชื่อทางจังหวัดเชียงใหม่ เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่บางท้องถิ่นเรียกว่า
กะทกรก
(กลาง) กะโปงทอง (ใต้) ผักแคฝรั่ง (เหนือ)
ต้นเบญจวรรณ เป็นไม้เถาที่ชอบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ลำต้นเล็ก ตามง่ามใบ
จะมีมือเรียวเล็ก ใช้เกาะพันยึดสิ่งต่าง ๆ ตัวใบบาง กว้าง ๕ - ๖ ซม. ยาว ๕
- ๑๐ ซม. รูปไข่อย่างกว้าง ดอกออกเดี่ยว หรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น
เฉพาะกลีบนอกและกลีบในของดอกเชื่อมติดกัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ - ๓ ซม.
สีขาว ภายในกลีบดอกนี้มีเส้นสีม่วงเรียวยาว งอกล้อมรอบเกสรตัวผู้เป็นชั้น
ๆ คล้ายซี่รั้ว ผลสีเหลืองส้มโตราว ๑.๕ ซม. และถูกหุ้มด้วยร่างแหของกลีบรองดอก
๑๗/ ๑๐๖๒๒
๓๒๓๑. เบญจวัคคีย์
แปลตามรูปว่า "พวกห้าคน" โดยความหมายเป็นคำเรียกพระภิกษุสงฆ์ห้ารูปคือ
พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าออกบวชและได้รู้ตามก่อนพวกอื่น
ทั้งห้าท่านเมื่อทราบว่า พระสิทธัตถ กุมารเสด็จออกบรรพชาก็ออกติดตามพระมหาบุรุษ
ไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ที่พระมหาบุรุษเสด็จประทับอยู่ เพื่อบำเพ็ญทุกขกิริยา เฝ้าปฎิบัติพระองค์อยู่โดยหวังว่า
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง ต่อมาเมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกขกิริยา
ทั้งห้าท่านก็พากันหลีกไปจากที่นั้น แล้วไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี
ครั้น พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้ ทรงระลึกถึงพระเบญจวัคคีย์ ว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยในอันตรัสรู้ธรรม
จึงเสด็จไปแสดงธรรมแก่พระเบญจวัคคีย์ ด้วยการประกาศธรรมจักกัปวตนสูตร
ประทานปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์
พระอัญญาโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม
(ธรรมจักษุ) เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก แล้วขอบวชในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ได้ประทานให้โดยวิธี
เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ต่อมา พระเบญจวัคคีย์อีกสี่ท่าน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขออุปสมบท ครบทุกท่าน
พระพุทธองค์ได้แสดงอนัตลักขณสูร
พระเบญจวัคคีย์ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
พร้อมกัน
ด้วยเหตุที่พระอัญญาโกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และสำเร็จเป็นพระโสดาบันนี้
ถือว่ามีสังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลก
ครบเป็นสามรัตนะคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ถือเป็นวันอาสาฬบูชา
๑๗/ ๑๐๖๒๓
๓๒๓๒. เบญจา ๑
มีบทนิยามว่า "แท่นมีเพดานดาด และระบายผ้าขาว แท่นซ้อนห้าชั้น ลดหลั่นกัน"
โดยนัยนี้เบญจาคือ แท่นซึ่งทำเป็นฐานซ้อนกันห้าชั้น ลดหลั่นกันไป แบบชั้นแว่นฟ้า
ซ้อนกันมีรูปทรงเหมือนพระเจดีย์
เบญจานี้ ทำขึ้นสำหรับเป็นที่ตั้งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ มีตั้งศพ และเครื่องประกอบอิสริยยศ
เจ้านายชั้นสูง และพระสงฆ์ทรงสมณศักด์ ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นธรรม ถึงชั้นเจ้าคณะรอง
เป็นต้น สำหรับประดิษฐานบุษบกพระพุทธรูปก็มี
๑๗/ ๑๐๖๒๗
๓๒๓๓. เบญจา ๒
เป็นชื่อฉัตรห้าชั้น ทรงชะลูดอย่างเดียวกับฉัตรห้าชั้นทองแผ่ลวด ผิดกันแต่ไม่เดินทองแผ่ลวดบนเพดาน
ฉัตรใช้ปักมุมพระเบญจา ชั้นละสี่องค์ (ดู ฉัตร - ลำดับที่ ๑๕๗๒.)
๑๗/ ๑๐๖๒๙
๓๒๓๔. เบญจางคประดิษฐ์
(ดู กราบ - ลำดับที่ ๑๔๘) ๑๗/
๑๐๖๒๙
๓๒๓๕. เบญพาด - เสาตะลุง
เป็นเสาประกอบด้วยเสาไม้กลม ควั่นหัวท้ายสามท่อน และมีเสาสำหรับยันค้ำ ติดกับเสาตะลุงต้นละหนึ่งเสา
และเอาเสากลมควั่นหัวท้ายสามท่อนตรึงพาดขวาง ห่างเป็นระยะเป็นสามชั้น ใช้เป็นบันไดให้หมอควาญขึ้นขี่คอ
กลางหลังและท้ายช้างได้สะดวก ขณะเมื่อได้ผูกตกปลอกช้างยืนแท่น
เบญพาด อีกอย่างหนึ่งสำหรับพระยายืนชิงช้า นั่งในโรงมาพัก งานพระราชพิธีตรียัมปวาย
ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ใช้นั่งและพิง ห้อยเท้าซ้ายลงเหยียบพื้นดิน ยกเท้าขวาขึ้นเอาปลายเท้าพาดกับโคนเข่าซ้าย
สมมติว่าเป็นพระอิศวร หรือพระวิษณุ เสด็จมาทอดพระเนตรนาฬิวัน ทำพิธีโล้ชิงช้าถวาย
เบญพาดอย่างนี้ทำด้วยลำไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว
เสาตะลุง จะเป็นเสาคู่ หรือเสาเดี่ยว ก็ตามคือ เสาใหญ่มั่นคงแข็งแรง สำหรับผูกตกปลอกช้างหลวง
หรือช้างสำคัญที่ขึ้นระวาง เสาตะลุงจะต้องทาสีแดง ยอดกลึงหัวเม็ดทรงมัน ปิดทอง
๑๗/ ๑๐๖๒๙
๓๒๓๖. เบตง
อำเภอ ขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทิศใต้ และทิศตะวันตก จดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย
ภูมิประเทศเป็นที่ดอนประกอบด้วย ภูเขาใหญ่น้อย ชาวพื้นเมืองเป็นไทยอิสลาม
มีกรรมกรจีนมาก
อ.เบตง เดิมขึ้นเมืองรามัน ครั้นยุบเมืองรามัน เป็นโกตาบารู ขึ้น จ.ยะลา อ.เบตง
จึงไปขึ้น จ.ยะลา ด้วย เป็นอำเภอชายแดน เป็นที่ตั้งด่านศุลกากร
๑๗/ ๑๐๖๓๒
๓๒๓๗. เบนซีน
เป็นสารอินทรีย์ที่ง่ายที่สุด ซึ่งจัดเป็นสมาชิกตัวแรกของกลุ่มสารเคมี ประเภทอะโรเมติก
ไฮโดรคาร์บอน ลักษณะเป็นของเหลวใส ไมเคิล ฟาราเดย เป็นผู้ค้นพบสารนี้ เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๖๘ โดยแยกออกมาได้จากแก๊ส ที่ใช้จุดไฟ เพื่อให้แสงสว่างซึ่งทำจากน้ำมันปลาวาฬ
และได้ชื่อว่าเบนซีน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘
เบนซีนเป็นสารที่มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรมคือใช้เป็นตัวทำละลายใช้เป็นเชื้อเพลิง
ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารอินทรีย์อื่นที่มีประโยชน์มาก ในการผลิตออกมาเป็นสินค้านั้นส่วนใหญ่ผลิตจากถ่านหินและตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมาได้มีการผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมด้วย
๑๗/
๑๐๖๓๓
๓๒๓๘. เบนโซอิก - กรด
เป็นกรดอินทรีย์ ซึ่งจัดเป็นสมาชิกตัวแรกของกรดอินทรีย์ประเภทอะโรเมติก มีหลักฐานว่ามีการค้นพบกรดนี้
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ โดยกลั่นได้จากกำยาน ประโยชน์สำคัญของกรดนี้ก็คือนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารปลาสติกบางประเภท
นำไปใช้เตรียมโซเดียม เบนโซเอด ซึ่งเป็นเกลือสำคัญของกรดนี้
ทั้งกรดเบนโซอิก และโซเดียมโซเอด มีสมบัติเป็นสารกันบูดได้ จึงนิยมไปใช้ในอุตสาหกรรมการถนอมอาหาร
๑๗/ ๑๐๖๓๘
๓๒๓๙. เบริลเลียม
เป็นธาตุลำดับที่สี่ มีผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๑ ในลักษณะเป็นออกไซด์
อยู่ในแร่เบริล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้มีผู้แยกตัวโลหะเบริลเลียมออกมาได้สำเร็จ
เบริลเลียม เป็นธาตุที่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติในภาวะรวมตัวอยู่กับธาตุอื่น
เป็นสารประกอบเท่านั้น แหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุดก็คือ แร่เบริล
เบริลเลี่ยม เป็นธาตุที่มีประโยชน์มาก นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตวัสดุเพื่อสร้างจรวด
สร้างยานอวกาศ สร้างอากาศยาน สร้างจานเบรค และยังนำไปใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์
นอกจากนั้นยังใช้ไปผสมกับโลหะอื่น ให้เป็นโลหะเจือที่มีคงวามแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ
เพื่อผลิตเครื่องมือช่างบางชนิด และผลิตสริง เป็นต้น
สารประกอบของธาตุเบริลเลียม ล้วนแต่เป็นพิษและมีอันตรายมาก
๑๗/ ๑๐๖๓๖
๓๒๔๐. เบสบอล
มีกำเนิดจากกีฬาคริกเก็ต ที่เล่นกันในอังกฤษ ราวปี พ.ศ.๒๓๙๓ ในสมัยที่ชาวอังกฤษย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในทวีปอเมริกาเหนือใหม่
ๆ อุปกรณ์การเล่นกีฬาคริกเก็ตหาเล่นได้ยากมาก เด็ก ๆ สมัยนั้นจึงได้ดัดแปลงวิธีเล่นขึ้นมาใหม่
โดยการใช้ไม้ตี และลูกบอลเป็นอุปกรณ์การเล่นแทน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ จึงได้มีวิธการเล่น กฎ กติกา ให้เป็นมาตรฐานเบสบอลก็ได้มีการเล่นแพร่หลาย
และได้กลายเป็นกีฬาประจำชาติของอเมริกาอย่างหนึ่ง
เบสบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย ๆ ละเก้าคน โดยมีฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตี
และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรับ ๑๗/
๑๐๖๓๙
๓๒๔๑. เบอร์ดีเลียม
เป็นธาตุลำดับที่ ๙๗ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ไม่มีปรากฎในธรรมชาติ
มีผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ๑๗/
๑๐๖๔๓
๓๒๔๒. เบอร์นาร์ด เซนต์ ๑
เป็นชื่อช่องเขาที่อยู่ในเทือกเขาแอลป์ เรียกว่าช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ดเล็ก
และช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ดใหญ่ อยู่ใกล้ยอดเขามองต์ บลังช่องเขาดังกล่าวปรากฎชื่อเสียงขึ้นมาเพราะมีอาศรม
ซึ่งเซนต์ เบอร์นาร์ด ก่อตั้งขึ้นเป็นที่พักพิงแก่นักเดินทาง มีนักบวชสำนักออกัสติเนียนเป็นผู้ดูแลอาศรมแห่งนี้
ยังคงตั้งอยู่มาจนปัจจุบัน อาศรมแห่งนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๔๓๐ เมตร
ถือว่าเป็นสถานที่สูงสุดในยุโรปที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างถาวรตั้งขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๑๖ สำหรับเป็นที่พักของผู้เดินทางแสวงบุญไปยังกรุงโรม ในปี พ.ศ.๒๓๔๓ นโปเลียนได้ยกกองทัพผ่านช่องเขานี้
เพื่อบุกเข้าโจมตีอีตาลี
ช่องเขา เซนต์ เบอร์นาร์ด เล็ก สูง ๒,๕๓๗ อยู่ในเขตประะทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในบรรดาช่องเขาแอลป์ที่ผ่านเข้าออกได้ง่ายที่สุด
เชื่อกันว่าในปี พ.ศ.๕๒๕ ฮานนิบาล ได้เคยใช้ช่องเขาแห่งนี้
๑๗/ ๑๐๖๔๔
๓๒๔๓. เบอร์นาร์ด เซนต์ ๒
เป็นชื่อสุนัขพันธุ์หนึ่งที่ประจำอยู่ที่อาศรม เซนต์ เบอร์นาร์ด ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์
ในประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์ ทำหน้าที่ช่วยเหลือพวกคนเดินทางที่ติดหิมะ เป็นสุนัขที่ฉลาดและอารมณ์ดี
๑๗/ ๑๐๖๔๕
๓๒๔๔. เบิกทูต
เป็นกิริยาแปลว่านำทูตเข้าเฝ้าใช้มาแต่โบราณกาล ปัจจุบันคงใช้คำนี้ในโอกาสนำทูตเข้าเฝ้า
เช่นในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาและงานวันขึ้นปีใหม่ สมุหราชมณเฑียรจะเบิกทูตอ่านสุทรพจน์ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสที่เอกอัครราชทูตเข้าเฝ้าถวายสารตราตั้ง
สมุหราชมณเฑียรก็เบิกทูตเข้าเฝ้า ฯ เช่นเดียวกัน
๑๗/
๑๐๖๔๖
๓๒๔๕. เบิกพระเนตร
มีบทนิยามว่า "เปิดตา เป็นคำใช้สำหรับพิธีฝัง หรือเขียนพระเนตร พระพุทธรูป
ในการเบิกพระเนตรนี้ แต่เดิมทำพิธีเมื่อช่างฝังพระเนตรด้วยรัตนชาติ อันมีค่าเช่นนิล
แทนตาดำ มุกแทนตาขาว หรือเขียนด้วยสีดำ สีขาว ช่างต้องฝังหรือเขียนเสร็จก่อนทำพิธีเบิกพระเนตร
ส่วนพระเครื่องนั้นมีเป็นจำนวนมาก ก่อนเอาออกแจกต้องทำพิธีพุทธาภิเษก
๑๗/ ๑๐๖๔๗
๓๒๔๖. เบิกพระโอษฐ์
ตามราชประเพณีแต่โบราณ เมื่อจะมีการประสูติพระราชกุมาร หรือพระราชกุมารี จะมีการเตรียมการต่าง
ๆ ไว้พร้อม มีราชภัณฑ์ และพิธีการที่จะใช้อย่างหนึ่งเรียกว่า เบิกพระโอษฐ์
เมื่อพระราชกุมารหรือพระราชกุมารีประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จ
ฯ ไปพระราชทานน้ำ พระมหาสังข์รินลงในจอกทอง มีพานทองรอง มีช้อนวักหรือช้อนตักทำด้วยทอง
ทรงตักน้ำในจอกทองหยอดลงในพระโอษฐ์ พระราชกุมารหรือพระราชกุมารี เรียกกันว่า
เบิกพระโอษฐ์ ๑๗/
๑๐๖๔๙
๓๒๔๗. เบิกไพร - พิธี
เป็นพิธีทำก่อนจะเข้าป่าไปล่าสัตว์หรือตัดต้นไม้ พิธีอย่างง่าย ๆ ก็คือ หักหรือทำไม้ให้เป็นรูปขอ
นำเอาไปปักไว้ หรือเกี่ยวไว้ แขวนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ให้สูงเพียงตา เพื่อคารวะเจ้าป่า
รอไว้คืนหนึ่ง รุ่งเช้าไปดู ถ้าเห็นขอนั้นยังอยู่เป็นปรกติก็ถือว่าเจ้าป่าอนุญาต
๑๗/ ๑๐๖๕๐
๓๒๔๘. เบิกโรง
มีบทนิยามว่า "การแสดงก่อนดำเนินเรื่อง แสดงออกโรงครั้งแรก"
การแสดงมหรสพบางประเภท มีประเพณีอยู่ว่าจะต้องมีการแสดงเบิกโรง แต่การแสดงเบิกโรงของทหรสพเหล่านั้น
มีวิธีการแสดงแตกต่างกันไป ตามลักษณะของการแสดงนั้น ๆ
รวมความแล้วคำว่าเบิกโรงน่าจะแปลอย่างรวดรัดว่า "การแสดงชุดเล็ก ก่อนแสดงเรื่องใหญ่"
๑๗/ ๑๐๖๕๓
๓๒๔๙. เบิกโลง - พิธี
เป็นพิธีทำก่อนนำศพลงหีบ เป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ
๑๗/ ๑๐๖๕๗
๓๒๕๐. เบี้ย ๑
เป็นชื่อ หอยกาบเดียวชนิดหนึ่ง ที่มีเปลือกแน่นรูปรี หรือคล้ายชมพู่ ท้องยื่น
ผิวเป็นมัน ส่วนช่องปากยาวแคบไปสุดตอนปลายทั้งสองข้างเป็นลำรางสั้น ริมปากทั้งสองด้านเป็นหยัก
หรือมีฟัน ไม่มีฝาปิดปาก
หอยชนิดนี้ เป็นหอยสกุลใหญ่ อยู่ในทะเลเขตอบอุ่น เปลือกหอยเบี้ยนับว่าสวยงามมาก
และมีค่าสูง หอยเบี้ยพอจำแนกเป็นเบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เบี้ย เบี้ยโพล้ง
๑๗/ ๑๐๖๖๒
๓๒๕๑. เบี้ย ๒ - ผัก
เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ สูง ๑๐ - ๑๕ ซม. แตกกิ่งก้านสาขาออกไปโดยรอบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันถี่
ๆ จนดูเป็นกลุ่ม ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม ๑ - ๓ ดอก ที่ปลายดอก หรือซอกใบ
สีเหลือง ผลเป็นฝักรูปกลมป้อม ปลายแหลม ภายในมีเมล็ดดำจำนวนมาก
๑๗/ ๑๐๖๖๓
๓๒๕๒. เบี้ยโบก
(ดู ขลุกขลิก - ลำดับที่ ๗๐๖) ๑๗/
๑๐๖๖๔
๓๒๕๓. เบียร์
เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกเมรัยทุกชนิด ที่ทำขึ้นจากการหมักข้าวมอลต์ ซึ่งต้มมาแล้วกับเมล็ดธัญพืช
ที่มีองค์ประกอบเป็นแป้ง เบียร์เป็นเมรัย ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ปรากฎหลักฐานซึ่งบันทึกไว้ด้วยอักษรอียิปต์โบราณว่า
ด้วยการทำเบียร์ และหลักฐานทางเคมี แสดงว่ามนุษย์เมื่อห้าพันกว่าปีมาแล้ว
รู้จักวิธีทำเบียร์เป็นเครื่องดื่มมาแล้ว
ปัจจุบัน การผลิตเบียร์เป็นอุตสาหกรรมนั้น ทั่วโลกใช้วิธีการหลักเป็นอย่างเดียวกัน
เบียร์ที่ผลิตออกสู่ตลาดมีหลายชนิด แตกต่างกันไปในสี รส และปริมาณของเอทิลแอลกอฮอล์
อยู่ประมาณร้อยละ ๔.๕ โดยน้ำหนัก แต่บางชนิดอาจมีสูงถึงร้อยละ ๗.๕ ได้
เบียร์ เมื่อถูกแสงสว่างนาน ๆ จะเสื่อมคุณภาพ เหตุนี้จึงใช้ขวดที่มีสีเข้ม
หรือกระป๋องเป็นภาชนะบรรจุ และควรเก็บไว้ในที่มืด และอุณหภูมิต่ำ ควรแช่เย็นที่อุณหภูมิ
๗ องศาเซลเซียส ก่อนมาบริโภค ๑๗/
๑๐๖๖๔
๓๒๕๔. เบี้ยว - ปลา
เป็นปลาน้ำจืดวงศ์เดียวกับปลาเนื้ออ่อน ปลาแดง ปลาน้ำเงินและปลาเค้า มีอีกชื่อว่า
ปลาวคาวเบือน เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ พบยาวถึง ๗๕ ซม.
๑๗/ ๑๐๖๖๖
๓๒๕๕. เบื้อง
เป็นชื่ออาหารอย่างหนึ่ง จัดเป็นประเภทของว่าง นิยมเรียกว่า ขนมเบื้อง มีทั้งไส้เค็มและไส้หวาน
มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ กลม ๑๗/
๑๐๖๖๘
๓๒๕๖. แบดมินตัน - กีฬา
จากหลักฐานที่ได้จากภาพวาด และวัตถุโบราณพบว่ากีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึง กับแบดมินตันนี้ได้มีการเล่นในประเทศอินเดีย
จีน ญี่ปุ่น และเม็กซิโก มาเป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า
กีฬาแบดมินตันนี้ ได้เริ่มเล่นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยรู้จักกีฬานี้ในนามว่า
"ปูนา" เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๓ นายทหารอังกฤษไปพบและนำไปเล่น ต่อมาราวปี
พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๑๕ ก็ได้นำอุปกรณ์ และวิธีการเล่นเกมนี้ ไปเล่นในประเทศอังกฤษ
เปลี่ยนชื่อเป็น แบดมินตัน
แบดมินตันเป็นกีฬาที่เล่นโดยใช้ไม่แรกเก็ตตีลูกขนไก่ข้ามตาข่าย ที่ขึงกลางสนามระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย
อาจจะเล่นฝ่ายละหนึ่งคน หรือฝ่ายละสองคนก็ได้
๑๗/ ๑๐๖๗๑
๓๒๕๗. แบตเตอรี
คือ กลุ่มเซลล์ไฟฟ้า หลายเซลล์ต่อรวมกันอยู่ แต่ละเซลล์ไฟฟ้าเป็นเครื่องสำเร็จ
ซึ่งสามารถแปลงพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้
โดยทั่วไปแล้ว จัดแบ่งแบตเตอรีออกได้เป็นสองประเภท ตามประเภทของเซลล์ไฟฟ้า
ที่ประกอบรวมกันเป็นแบตเตอรีคือ
๑. แบตเตอรีประเภท ปฐมภูมิ
ประกอบด้วยเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิ ซึ่งเมื่อสร้างขึ้นเสร็จแล้ว นำใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ทันที
เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วน จะหมดเปลืองและแปรสภาพไป โดยไม่กลับคืนสภาพเดิมได้อีก
๒. แบตเตอรีประเภท ทุติยภูมิ
ประกอบด้วยเซลล์ไฟฟ้า ทุติยภูมิ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องนำไปอัดไฟเสียก่อน
จึงจะนำไปใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วนจะหมดเปลือง
และแปรสภาพไปแต่สามารถทำให้กลับคือสภาพเดิมได้อีก โดยวิธีนำไปอัดไฟใหม่
สำหรับเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิที่สำคัญ มีสามแบบคือ แบบเปียก แบบแห้ง และแบบเชื้อเพลิง
ส่วนเซลล์ไฟฟ้าทุติยภูมิที่สำคัญมีสองแบบคือ แบบกรด และแบบด่าง
๑๗/ ๑๐๖๗๖
๓๒๕๘. แบเรียม
เป็นธาตุลำดับที่ ๕๖ เซอร์ ฮัมฟรี เดวี สามารถสกัดธาตุแบเรียม ออกมาได้สำเร็จ
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑
ในธรรมชาติไม่ปรากฎธาตุแบเรียมอยู่ในภาวะอิสระ เนื่องจากธาตุนี้มีความว่องไวในการปฎิกิริยาเคมี
เพื่อรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ
ประโยชน์สำคัญของธาตุแบเรียมคือ นำไปใช้ในอุตสหกรรมสร้างหลอดวิทยุสูญญากาศ
นอกจากนี้ยังใช้แบเรียมไปผสมกับโลหะอื่น ให้เเป็นโลหะเจือ
สารประกอบของแบเรียม มีประโยชน์ และความสำคัญกว้างขวาง ยิ่งกว่าตัวธาตุแบเรียมเอง
ในอุตสหกรรมผบลิตสารประกอบดังกล่าว วิธีการสำคัญคือ ผลิตจากแร่แบไรต์
๑๗/ ๑๐๖๘๒
๓๒๕๙. โบรมิก - กรด
เป็นกรดอนินทรีย์ ลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อนมาก เมื่อตั้งทิ้งไว้ให้ถูกอากาศ
จะกลายเป็นสีเหลือง กรดโบรมิก เป็นกรดแก่ และเป็นตัวออกซิไดส์อย่างแรง และไม่เสถียร
เว้นแต่จะอยู่ในสภาพที่เป็นสารละลายอย่างเจือจางมาก ในน้ำเท่านั้น นักเคมีชาวฝรั่งเศส
ผู้คนพบธาตุโบรมิก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ เป็นผู้ค้นพบกรดนี้
กรดโบรมิก ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำสีย้อมบางประเภท ใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม
๑๗/ ๑๐๖๘๘
๓๒๖๐. โบรมีน
เป็นธาตุลำดับที่ ๓๕ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ในธรรมชาติ
ธาตุโบรมีนไม่ปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ เพราะธาตุโปรมีนมีความโน้มเอียงอย่างมาก
ที่จะรับอีเลคตรอน มาจากธาตุอื่นเกิดเป็นสารประกอบ
น้ำทะเล เป็นวัตถุดิบที่สำคัฐยิ่งในการผลิตธาตุโบรมีน เป็นอุตสาหกรรม
โบรมีน เป็นอโลหะมีสมบัติเป็นตัวออกซิไดส์อย่างแรง จึงสามารถรวมตัวได้อย่างรุนแรง
กับธาตุบางธาตุ ให้ผลเป็นสารประกอบโบรไมด์
ประโยชน์ของโบรมีนคือ ใช้ในงานสังเคราะห์ทางเคมี
๑๗/ ๑๐๖๘๙
๓๒๖๑. โปรไมด์
เป็นเกลือของกรดไฮโครโบรมิก ผลของสารประกอบโบรไมด์ที่มีต่อร่างกายคือ ออกฤทธิ์ระงับความกระวนกระวาย
และทำให้หลับ
นอกจากใช้สารนี้ในทางเภสัชกรรมแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมเงินโบรไมด์
ซึ่งเป็นสารสำคัญยิ่ง สำหรับผลิตกระจกถ่ายรูป ฟิล์มถ่ายรูป และกระดาษอัดรูป
๑๗/ ๑๐๖๙๒
๓๒๖๒. โบรอน
เป็นธาตุลำดับที่ห้า นักเคมีชาวฝรั่งเศสค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑
ในธรรมชาติ ธาตุโบรอนมีปริมาณนอ้ย และปรากฎอยู่ในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ
โบรอนเป็นธาตุที่แข็งมาก แต่เปราะเป็นอโลหะ สารประกอบเป็นธาตุโบรอนกับไฮโดรเจน
เรียกว่า บอเรน ซึ่งมีหลายสารมีทั้งเป็นแก๊ส ของเหลว และของแข็ง สารประกอบของโบรอน
ที่รู้จักกันดีคือ กรดบอริก และบอแรกซ์ ซึ่งเรียกกันว่า น้ำประสารทอง
โบรอน ที่เป็นผลึกใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทรานซิสเตอร์ ธาตุโบรอนดูดกลืนนิวตรอนได้ดี
จึงใช้เป็นฉากกำบังและแท่งควบคุม ในเครื่องปฎิกรณ์ปรมาณู ในอุตสาหกรรมทำโลหะเจือหลายชนิด
ใช้โบรอนเจือไปด้วย ทำให้โลหะเจือมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นอีกมาก
๑๗/ ๑๐๖๙๔
๓๒๖๓. โบราณคดี - วิชา
เป็นวิชาที่ค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุ และโบราณสถาน สิ่งใดที่มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีขึ้นไป
จัดเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ ถ้าอายุต่ำกว่านั้นแต่เป็นของดีงาม จัดเป็นศิลปวัตถุสถาน
วิชาโบราณคดีต้องเกี่ยวกับการสันนิษฐาน และต้องเกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำขึ้น
ถ้าเป็นความจริงแน่นอนไม่ต้องสันนิษฐาน ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป
วิชาโบราณคดี เป็นวิชาที่กว้างขวางจึงต้องเกี่ยวข้องกับวิชามนุษยวิทยา วิชาธรณีวิทยา
และวิชาประวัติศิลปกรรม เป็นอย่างยิ่ง ๑๗/
๑๐๖๙๗
๓๒๖๔. โบสถ์
เป็นศาสนสถานประเภทหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุได้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจเกี่ยวกับสังฆกรรมต่าง
ๆ โบสถ์ ที่มีอยู่ทั่วไปล้วนสร้างทำรูปทรงเป็นอย่างโรง จึงมีคำสามัญเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
โรงอุโบสถ
โบสถ์ เป็นอาคารสถานที่มีความสำคัญ เป็นประธานในวัดวาอารามทุกแห่ง เป็นสถานที่พระสงฆ์ในวัดมาประชุม
พร้อมกันเพื่อกระทำกิจสังฆกรรม ที่เรียกว่า "ปาฎิโมกขุทเทศ" วันที่ทำเรียกว่า
"วันอุโบสถ"
โบสถ์ ที่สร้างในสมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย จะสร้างเป็นเอกเทศต่างหาก ออกไปจากผังแม่บทของวัดคือ
ไม่รวมอยู่ในศาสนสถานอื่นในกลุ่มเดียวกัน
การวางตำแหน่งที่ตั้งของโบสถ์ มีคตินิยมว่า จะต้องสร้างโบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ยกเว้นวัดที่อยู่ริมคลอง หรือแม่น้ำ จึงหันหน้าโบสถ์เข้าสู่ลำน้ำ
ในสมัยอยุธยาตอนต้น คตินิยมในการสร้างโบสถ์เริ่มเปลี่ยนไป โบสถ์มีขนาดใหญ่ขึ้น
และสร้างต่อออกไปทางด้านหลัง พระสถูปหรือพระปรางค์ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ความสำคัญของโบสถ์เพิ่มมากขึ้น จึงสถาปนาขึ้นทางด้านหน้าพระสถูป หรือพระปรางค์ที่เป็นองค์ประธานของวัด
ตรงที่เคยนิยมสร้างพระวิหารหลวงมาก่อน ในสมัยนี้พระวิหารมีความสำคัญรองลงไป
จึงเอาไปสร้างไว้ด้านหลังต่อออกไปจากพระสถูป หรือพระปรางค์ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
โบสถ์มีความสำคัญ ยิ่งกว่าพระสถูป พระปรางค์ และพระวิหาร โบสถ์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นองค์ประธานของวัด
สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
โบสถ์ เป็นศาสนสถานที่ต่างออกไปจากพระวิหาร หรือศาลาการเปรียญ โดยที่มีซุ้ม
และใบเสมา ปักล้อมเป็นที่กำหนดเขตอยู่โดยรอบ
๑๗/
๑๐๗๐๐
๓๒๖๕.ใบ้
คือ อาการที่บุคคลนิ่งเฉย ไม่พูดทั้งนี้มีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ
ในบางกรณี ผู้ป่วยไม่เคยเรียนรู้ชีวิต การพูดจึงพูดไม่ได้ บางกรณีผู้เป็นใบ้เคยพูดได้
แต่สมองส่วนที่ควบคุมการพูดพิการ จึงทำให้พูดไม่ได้ จึงอาจจำแนกอาการใบ้ ตามสาเหตุได้ดังนี้
ใบ้เพราะหูหนวก
เด็กที่เกิดมาหูหนวก ไม่สามารถได้ยินเสียงจึงเรียนรู้ภาษาพูดไม่ได้
ใบ้เพราะสมองพิการ
สมองส่วนที่เกี่ยวกับการพูดการเข้าในพิการไปส่วนมาก อาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
มักจะเป็นอัมพาตร่วมด้วย พบบ่อยในคนสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน
อยู่ก่อนแล้ว
ใบ้เพราะปัญญาอ่อน
ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาพูดได้ก็จะเป็นใบ้
ใบ้เพราะเป็นโรคจิตเภท
มีอาการซึม เฉยไม่พูด ไม่กิน ไม่นอน อยู่ในอิริยาบทใดอิริยาบทหนึ่ง เป็นเวลานานๆ
อาการป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ใบ้เพราะเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง
ผู้ป่วยพูดไม่ได้ เพราะไม่มีเสียงเพราะมีความเครียด วิตกกังวล ความขัดแย้งในจิตใจอย่างรุนแรง
ใบ้เพราะไม่มีกล่องเสียง
เช่นผู้ที่เป็นมะเร็งของกล่องเสียง ๑๗/
๑๐๗๑๐
๓๒๖๖. ใบขนุน - ปลา
เป็นปลาทะเล อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง หรืออาจอยู่ในทะเลลึก หากินบนพื้น ท้องทะเล
มีลำตัวแบนบางแบบ แบนข้าง ตาทั้งสองข้างอยู่ชิดกันบนซีกซ้ายของตัว รูปร่างแบบรูปไข่
หรือยาวรี มีครีบหลัง และครีบก้นยาวมาก เกือบตลอดความยาวของลำตัว
๑๗/ ๑๐๗๑๑
๓๒๖๗. ใบ้คลั่ง
เป็นชื่อเพลงทำนองหนึ่งที่มีความไพเราะ เดิมทีเดียวเป็นอัตราสองชั้นเรียกกันว่า
"เพลงใบ้คลั่ง บางช้าง" เพราะแต่งขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทราบว่าแต่งขึ้นแต่ครั้งรัชกาลที่สาม
โดยแต่งขึ้นคู่กับเพลงแขกมอญบางช้าง
เพลงใบ้คลั่ง แสดงอารมณ์สมชื่อคือ ไปในทางอัดอั้นตันใจ ในเรื่องความรัก จะพูดจาบอกใคร
หรือปรับทุกข์กับใครก็ไม่ได้ ๑๗/
๑๐๗๑๗
๓๒๖๘. ใบเงินใบทอง
เป็นไม้พุ่มสูง ๑ - ๓ เมตร เป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีสีต่าง ๆ เช่น
แดงเข้ม คล้ายทองแดง สีเหลืองส้ม สีขาวปนเขียว ฯลฯ ใบรูปมนรีอย่างกว้าง ๆ
ช่อดอกสั้นออกที่ปลายกิ่ง ผลมีก้านแข็ง มีเมล็ดสี่เมล็ด
๑๗/ ๑๐๗๑๙
๓๒๖๙. ใบฎีกา
มีบทนิยามว่า "หนังสืออาราธนาพระสงฆ์ไปในการทำบุญต่างๆ ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองสมุห์
ลงมา"
ในตำแหน่งฐานานุกรมเจ้าอาวาสวัดอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด พระราชาคณะตั้งฐานานุกรมได้
ตามที่กำหนดไว้ในท้ายสัญญาบัตรในชั้นนั้น ๆ พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งนี้มีพัดยศประจำตำแหน่ง
๑๗/ ๑๐๗๑๙
๓๒๗๐. ใบตาล - ปลา
ตามปรกติเป็นปลาอยู่ตามหนอง บ่อและทะเลสาบ ตัวใหญ่ที่พบยาว ๓๐ ซม. เป็นปลาที่น่าดู
เมื่ออยู่ในอ่างแก้ว เป็นปลาที่อดทน กินเนื้อปลาสดเล็กน้อย แมลง และกุ้ง
๑๗/ ๑๐๗๒๑
๓๒๗๑. ใบระกา
เป็นชื่อตัวไม้หรือลวดลายปูนปั้น ลายปั้นดินเผา เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง มีลักษณะเป็นครีบ
ๆ ติดกับตัวรวย หรือตัวลำยอง สำหรับประกอบกับช่อฟ้า และหางหงส์ หรือเหรา ติดที่จั่วหลังคา
ปีกนกหลังคา ตะเฆ หลังคา หรือซุ้มบรรพ์แถลง ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ซึ่งเกี่ยวกับพระราชมณเทียร
ฯ และพุทธศิลป์
คำว่า ใบระกา นี้โบราณาจารย์ได้ให้อรรถาธิบายไว้เป็นสามนัยด้วยกัน โดยอาศัยเทพนิยายเทวกำเนิดต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ต่อมาทางไทยได้รับอิทธิพลของเทพนิยายนี้ มาประดิษฐ์คิดขึ้นเป็นรูปของสถาปัตยกรรมไทย
เทพนิยายดังกล่าวได้แก่ ครุฑ กับนาค และเหรา (จระเข้ + นาค) ช่างโบราณได้ข้อคิดของครุฑจับนาค
เอามาคิดประดิษฐ์เป็นเครื่องตกแต่งในทางสถาปัตยกรรมขึ้น ลักษณะของใบระกาที่ใช้ประกอบจั่วหลังคา
ตามนัยโบราณคือ
ก. ใบระกาที่เกี่ยวกับครุฑ หมายถึง ขนปีกใต้ท้องแขนครุฑ ส่วนตัวไม้เรียกว่า
ช่อฟ้า
ก็หมายถึง ส่วนหน้าและอกของครุฑ
ข. ใบระกาที่เกี่ยวกับนาค หมายถึง ครีบสันหลังของนาค (เตยหลังนาค ก็เรียก)
ส่วนที่เป็นหัวนาคเรียกว่า หางหงส์
หรือนาคเบือน
ค. ใบระกาที่เกี่ยวกับเหรา นั้น หมายถึง ครีบสันหลังของตัวเหรา การใช้ใบระกาประกอบเหรานี้
นักประดิษฐ์เป็นลวดลายได้ต่าง ๆ ตอนบนสุดเหนืออกไก่ ก็ลดรูปช่อฟ้า (ไม่มีช่อฟ้า
) โดยกำหนดทรงในลักษณะของปั้นลมเรือนไทยโบราณ
สมัยปัจจุบันการวางรูปทรงของจั่วที่มีแต่ใบระกา และหางหงส์ โดยลดรูปช่อฟ้า
(ไม่มีช่อฟ้า ) ก็มีเช่น วางเป็นรูปทรงบัวเจิม
๑๗/ ๑๐๗๒๒
๓๒๗๒. ใบเหยียบย่ำ
เป็นใบอนุญาตตามแบบพิมพ์หลวง ซึ่งทางการออกให้แก่ผู้จับจองที่ดินตามกฎหมาย
อนุญาตให้ผู้นั้นเข้าแผ้วถางครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า
ที่ระบุไว้ในใบเหยียบย่ำนั้น ปรกติเมื่อผู้รับใบเหยียบย่ำ ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว
มีสิทธิขอให้ทางการออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่ดินส่วนที่ได้ทำประโยชน์แล้วนั้นแก่ตน
ใบเหยียบย่ำ นี้เข้าใจกันว่า มีมานานแล้ว เดิมนั้นทราบว่ากำนันเป็นผู้ออก
หลักฐานการออกใบเหยียบย่ำ เพิ่งปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในกฎหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา
ปัจจุบันใบเหยียบย่ำได้กลายเป็นคำในประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินไปแล้ว เหลือแต่ใบจองตามกฎหมายใหม่ใช้แทน ๑๗/ ๑๐๗๒๙
ป. ๑๗/ ๑๐๗๓๔
๓๒๗๓. ป. พยัญชนะตัวที่ ๒๗ ของพยัญชนะไทย
นับเป็นพวกอักษรกลางเป็นตัวที่สองของวรรคห้า ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบ ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต
ที่เป็นพยัญชนะต้นของคำ หรือพยางค์ในบาลี และสันสกฤต มักแผลงมาเป็นตัว บ ในภาษาไทย
เมื่อแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงในภาษาบาลี และสันสกฤต เป็นพยัญชนะเกิดจากฐานริมฝีปาก
เสียงเบา ไม่ก้อง และเป็นพยัญชนะมูคะ (พยัญชนะใบ้) ซึ่งจะใช้ควบ หรือกล้ำในพวกเดียวกันไม่ได้
๑๗/ ๑๐๗๓๔
๓๒๗๔. ปก
เป็นชื่อปลาแก้มช้ำ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด ปักษ์ใต้เรียก ปลาปก (ดู แก้มช้ำ
- ลำดับที่ ๖๐๗) ๑๗/
๑๐๗๓๔
๓๒๗๕. ปกเกล้า
เป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ รัชกาลที่เจ็ด แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่
๗๖ ในรัชกาลที่ห้า รวม ๗๗ องค์ ทรงมีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงเป็นพระบรมราชชนนี
พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อทรงโสกันต์แล้ว ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญที่
วิทยาลัยอีตัน จากนั้นพระองค์ทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อย ณ เมืองวูลลิช
ประเทศอังกฤษ เมื่อจบแล้วทรงรับสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรี กิติมศักดิ์แห่งกองทัพบก
พระองค์เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงรับราชการในกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์
ต่อมาทรงเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
พระองค์ทรงผนวช และจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เมื่อทรงลาผนวชแล้วทรงอภิเษกสมรสกับ
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฎ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาเสนาธิการทหาร ณ
โรงเรียนการสงครามประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้เลื่อนพระยศ เป็น
นายพันเอก และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า
ฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘
พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ
ในการปกครองบ้านเมือง พระองค์ต้องเผชิญกับพระราชภารกิจหนัก ในเรื่องรายจ่ายเกินกว่ารายได้ในงบประมาณแผ่นดิน
ดังนั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยตัดทอนรายจ่ายแผ่นดินลง
เพื่อให้สมดุลกับรายได้ จึงให้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการดุลยภาพข้าราชการ ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
ยุบบางกระทรวง ตลอดจนกรมกองภาคต่าง ๆ ทั้งหมดและมณฑลบางแห่ง เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นภายหลังดุลยภาพ
พ.ศ.๒๔๖๙ แต่ต่อมาก็ได้แสดงอาการตกต่ำไปอีก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ พระราชทาน "รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พ.ศ.๒๔๗๕" ตามที่คณะราษฏร์ได้ถวายบังคมทูล คณะกรรมการราษฎร์ได้ตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น
ซึ่งได้ทำงานแล้วเสร็จ ครั้นถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ พระองค์ก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญที่มักเรียกกันว่า
รัฐธรรมนูญฉบับถาวร
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่
๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๖ ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง
ๆ หลายเรื่องที่ขัดแย้งกับรัฐบาลของ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเมื่อวันที่
๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ พระองค์ทรงสละราชสมบัติ แล้วประทับอยู่
ณ ประเทศอังกฤษ ต่อมาจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔
จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ดำเนินการกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่เจ็ด เพื่อขอพระราชทานพระอนุญาตนำพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
ฯ จากประเทศอังกฤษ มาประดิษฐานไว้ในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับขอให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ฯ เสด็จ ฯ กลับมาประทับที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ทางรัฐบาลได้จัดขบวนแห่สมพระราชอิสริยายศ
ไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง และรัฐบาลได้ถวายวังสุโขทัย
พร้อมด้วยพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ คืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ฯ ด้วย ๑๗/ ๑๐๗๓๔
๓๒๗๖. ปกครอง ๑ - การ
หมายถึง คุ้มครองรักษาดูแลควบคุม ซึ่งก็คือ การคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน
การรักษาผลประโยชน์ การดูแลความสงบเรียบร้อย และการควบคุมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบ้านเมือง
คำว่า การปกครอง ในความหมายด้านการเมือง หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม หรือการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาล
ในการสั่งการหรือควบคุมกิจการต่าง ๆ ของประชาชนในประเทศนั้น รวมทั้งการบัญญัติกฎเกณฑ์ในการที่จะควบคุมดูแลกิจกรรมต่าง
ๆ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังอาจใช้ในความหมายของผู้ปกครองระดับต่าง ๆ ได้อีกด้วย และถ้าใช้ในความหมายของผู้ถูกปกครองก็หมายถึงไพร่ฟ้าประชาชน
ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของผู้ปกครองประเทศนั่นเอง ๑๗/ ๑๐๗๔๗
๓๒๗๗. ปกครอง ๒ - กรมการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ในระยะแรกได้มีการปรับปรุงส่วนราชการใหม่ออกเป็น ๑๒ กรม คือ มีกรมมหาดไทยอยู่ใน
๑๒ กรมนั้น กรมเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง เฉพาะกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองลาว
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะกรมทั้ง ๑๒ กรม ขึ้นเป็นกระทรวง
มีกระทรวงมหาดไทยอยู่ใน ๑๒ กระทรวงนั้น และมีกรมมหาดไทยสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย
และได้วิวัฒนาการมาตามลำดับคือ
พ.ศ.๒๔๓๕ เรียกชื่อว่ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำภัง
พ.ศ.๒๔๕๑ เรียกชื่อว่า กรมพลำภัง
พ.ศ.๒๔๕๘ แบ่งออกเป็น กรมปกครองและกรมการเมือง
พ.ศ.๒๔๕๙ แบ่งออกเป็น กรมปกครองท้องที่และกรมการเมือง
พ.ศ.๒๔๖๐ เรียกชื่อว่า กรมปกครอง
พ.ศ.๒๔๖๖ กลับไปใช้ชื่อว่า กรมพลำภัง แบ่งออกเป็นกรมปกครองและกรมการเมือง
พ.ศ.๒๔๖๗ แบ่งออกเป็น กรมการภายใน กรมการภายนอก และกรมทะเบียน
พ.ศ.๒๔๖๙ แบ่งเป็น กรมการปกครอง กรมทะเบียน และแผนกราชทัณฑ์
พ.ศ.๒๔๗๓ แบ่งเป็น กรมปกครอง กรมการเมือง กรมทะเบียน และแผนกราชทัณฑ์
พ.ศ.๒๔๗๕ แบ่งเป็น กรมปกครอง กรมการเมือง กรมเจ้าท่า และแผนกราชทัณฑ์
พ.ศ.๒๕๐๕ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการปกครอง
๑๗/
๑๐๗๔๙
๓๒๗๘. ปง
อำเภอขึ้น จ.พะเยา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนมีป่าและเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบ
อ.ปง เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ หลาย ๆ เมือง เช่น เมืองปง เมืองควน เมืองออย เมืองงิม
เมืองยอด เมืองสระ มีพ่อเมืองปกครองขึ้นต่อนครน่าน เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๓ ทางราชการได้ยุบเมืองเล็ก
ๆ เหล่านี้เป็นตำบล รวมตั้งเป็น อำเภอปง ขึ้น จ.น่าน ชื่อตำบลยังคงเรียกตามชื่อเมืองเดิมอยู่โดยมาก
ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านม่วง ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๑ กลับมาใช้ชื่อ
อ.ปง อีก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ โอน อ.ปง ไปขึ้น จ.เชียงราย ภายหลังปี พ.ศ.๒๕๒๑
ได้จัดตั้ง จ.พะเยา ขึ้นจึงได้โอน อ.ปง ไปขึ้น จ.พะเยา
๑๗/ ๑๐๗๕๓
๓๒๗๙. ปฏาจารา
เป็นพระเถรีผู้เป็นอรหันต์ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคถะ คือ
ยอดเยี่ยมในทางทรงจำพระวินัย
เหตุที่ได้ชื่อว่าปฏาจารา เพราะกลับความประพฤติได้ หรืออีกนัยหนึ่งว่า เดินไปโดยไม่มีอะไรปกปิดร่างกาย
มีประวัติเล่าว่า ท่านเป็นธิดานายธนาคาร ในเมืองสาวัตถี มีรูปร่างสวยงาม ต่อมาได้แอบลอบรักใคร่กับคนรับใช้ในบ้าน
แล้วหนีออกจากบ้านไปกับคนรับใช้นั้น เมื่อนางคลอดบุตรคนที่สองในระหว่างทาง
ได้เกิดพายุฝนอย่างหนัก สามีถูกงูกัดตาย นางพาลูกทั้งสองเพื่อเดินทางกลับไปบ้านพ่อแม่
ที่เมืองสาวัตถี ระหว่างทางมีแม่น้ำขวางหน้าอยู่ ระหว่างพาลูกข้ามลำน้ำทีละคน
ลูกคนหนึ่งถูกเหยี่ยวโฉบไป ลูกอีกคนหนึ่งจมน้ำตาย นางเสียใจมากจึงเดินทางไปหาพ่อแม่ที่เมืองสาวัตถี
แต่ก็ทราบข่าวว่าพ่อแม่ของนางพร้อมทั้งพี่ชาย ถูกบ้านพังทับตายทั้งสามคน ในคืนวันฝนตกหนักที่นางเสียสามี
และลูกไปนั้น
บัดนั้นเอง นางไม่สึกแม้ว่าผ้าที่นุ่งจะหลุด ร้องไห้รำพันกระเซอะ กระเซิง
ไปจนถึงพระเชตุวันมหาวิหาร พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ประชาชนในที่นั้นพยายามกีดกันไม่ให้นางเข้าไป
แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้นางเข้าเฝ้า และตรัสกับนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว และมีอภินิหารสมบูรณ์ว่า
" น้องหญิง จง(ตั้งใจให้) กลับได้สติเถิด " ด้วยพุทธานุภาพ นางจึงกลับได้สติ
และรู้ตัวว่าไม่ได้นุ่งผ้า เกิดความละอายจึงทรุดตัวลงนั่งกระหย่ง
ขณะนั้น มีชายผู้หนึ่งโยนผ้าห่มไปให้นาง นางจึงเอามานุ่ง แล้วเข้าไปกราบบังคมแทบพระยุคลบาท
ของพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องของนาง และขอพระพุทธองค์จงเป็นพึ่งของนาง
พระพุทธองค์ทรงสดับคำของนางแล้ว จึงตรัสว่า อย่าให้นางคิดถึงเรื่องทั้งหมด
ที่เกิดผ่านมาแล้วเลย น้ำตาของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเมื่อปิยชนคนซึ่งเป็นที่รักมีบุตร
เป็นต้น ตายยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ เหตุไรเธอจึงยังประมาทอยู่เล่า
เมื่อนางได้ฟังพุทโธวาทแล้ว ความโศกของนางก็เบาบางลง พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้ว
ทรงเตือนต่อไปอีกมีใจความว่า ความตายนั้นใคร ๆ ก็ต้านทานไม่ได้ บัณฑิตทราบดังนี้แล้ว
ควรถือศีลให้เคร่งครัด และหาทางที่จะนำตนไปสู่นิพพานโดยเร็ว นางได้ฟังแล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เป็นพระโสดาบัน แล้วทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณี
เพื่อให้บรรพชาให้ เมื่อนางได้อุปสมบทแล้ว อยู่มาวันหนึ่งนางกำลังเอาหม้อน้ำตักน้ำล้างเท้า
เทลงน้ำก็ไหลไปหน่อยหนึ่ง แล้วหยุดเมื่อเทน้ำไปครั้งที่สอง น้ำก็ไหลไปไกลกว่าครั้งแรก
ครั้งที่สาม น้ำก็ไหลไปไกลกว่าครั้งที่สอง นางถือเอาน้ำนั้น เป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้งสามแล้วคิดว่า
สัตว์ทั้งหลายตายไปแต่ปฐมวัยก็มี ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี และตายในปัจฉิมวัยก็มี
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ คันธกุฎี ทรงแผ่รัศมีไปปรากฎประดุจประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้านาง
ตรัสว่า ข้อที่เธอคิดนั้นย่อมเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เพราะว่าผู้เห็นความเกิด
และความเสื่อมของเบญจขันธ์ จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ย่อมประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิด
ความเกิดและความเสื่อม แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ย่อมประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิด
และความเสื่อมซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
๑๗/
๑๐๗๕๓
๓๒๘๐. ปฎิจสมุปบาท
ตามรูปคำท่านแปลไว้หลายนัย นัยหนึ่งแปลว่า ภาวะที่อาศัยกันเกิดขึ้น นัยหนึ่งแปลว่า
หมู่แห่งธรรมที่เป็นเหตุทำให้ธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นสม่ำเสมอ พร้อมกันโดยอาศัยพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย
ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุนั้น ๆ นัยหนึ่งแปลว่า การเกิดขึ้นตามลำดับของธรรม
ที่อาศัยปัจจัยของตน ๆ และไม่ปราศจากกันกับปัจจัยของตนนั้น ๆ โดยความหมาย
หมายถึง อาการแห่งภาวะธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม และภาวะที่ปรากฎชัดของธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม
เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้น เนื่องกันไปไม่ขาดสาย เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น
ก็เป็นเหตุให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สืบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่รู้จักจบสิ้น
ไม่รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลาย เป็นหลักธรรมว่าด้วยการกำเนิดแห่งชีวิต ซึ่งเป็นส่วนวัฎฎะคือ
ส่วนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในสงสารและเหตุผล ส่วนวิวัฎฎะ คือ ส่วนที่อยู่เหนือความเวียนว่ายตายเกิดนั้นอันได้แก่
พระนิพพาน
ธรรมที่เป็นเหตุปัจจัย หรือเป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิด ซึ่งเรียกว่า ปฎิจสมุปบาท
นั้นคือ
๑. อวิชชา
ความไม่รู้ความจริง เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น
๒. สังขาร
ความปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น
๓. วิญญาณ
ความรู้แจ้งอารมณ์ (ปฎิสนธิวิญญาณ) เป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดขึ้น
๔. นามรูป
นามขันธ์สาม รูปขันธ์ หนึ่งเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดขึ้น
๕. สฬายตนะ อายตนะภายในหก
เป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดขึ้น
๖. ผัสสะ
ความสัมผัสอารมณ์ เป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น
๗. เวทนา
ความเสวยอารมณ์เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้น
๘. ตัณหา
ความอยากได้เป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดขึ้น
๙. อุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่นเป็นปัจจัยให้ภพเกิดขึ้น
๑๐. ภพ
กรรมภพ และอุปปัติภพ เป็นปัจจัยให้ชาติเกิดขึ้น
๑๑. ชาติ
ความเกิดเป็นปัจจัยให้ชรา มรณะ ความคับแค้นใจเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของชีวิตทุก ๆ องค์อาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าตัดอวิชชา
และตัณหา ยังไม่ขาดชีวิตก็จะดำเนินไปถึงจุดมรณะ
หรือจุติ (ตาย) แล้วก็ต้องปฎิสนธิ (เกิด) ต่อไปอีก เรื่องปฎิสนธิ (เกิด) นี้
เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และระหว่างปัจจุบันกับอนาคต
อนาคต แปลว่า "กาลที่ไม่รู้จักมาถึง" ชีวิตก็ดำเนินไปไม่ถึง เมื่อพูดถึงเรื่องปฎิสนธิ
จึงควรเพ่งเฉพาะระยะต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เหตุในอดีตที่ทำให้เกิดผลในปัจจุบันคือ
ทำให้ชีวิตปฎิสนธินั้นได้แก่ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ทุกชีวิตย่อมหมุนเวียนอยู่อย่างนี้
จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน
ปฎิจสมุปบาท ว่าโดยลำดับจากต้นไปหาปลายคือ เริ่มต้นแต่ อวิชชาไปจนถึง ชรา
มรณะ เป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของชีวิต จากเหตุไปหาผล
ถ้าว่าโดยทวนลำดับนับแต่องค์สุดท้ายสาวเข้าไปหาเหตุว่ามีชรา มรณะก็เพราะมีชาติเป็นปัจจัย
มีชาติก็เพราะมีกรรมภพเป็นปัจจัย ฯลฯ มีสังขารก็เพราะมีอวิชชาเป็๋นปัจจัย
ปฏิจสมุปบาท อันเป็นระบบการกำเนิดแห่งชีวิต หรือกฎการหมุนเวียนแห่งชีวิต ท่านจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
"ภวจักร" แปลว่าล้อแห่งชีวิต
เพราะชีวิตมีความหมุนเวียนเป็นวงกลมแห่งวงจักร หาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สังสารวัฏ"
ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ อัทธา (กาล) สามองค์ สองสนธิ สามสังคหะ (สังเขป)
สี่อาการ ยี่สิบวัฎ สามมูล สองหมุนไปในภพต่าง ๆ กล่าวโดยย่อคือ กรรมภพและอุบัติภพ
ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจ
ปฏิจสมุปบาทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนวัฎกถาคือ
ส่วนที่ว่าด้วยค่าความหมุนเวียนแห่งชีวิตเป็นสมุทยวาร
คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการกำเนิดแห่งชีวิต (ทุกข์) ส่วนวิวัฏกถา
คือส่วนที่ว่าด้วยการยุติความหมุนเวียนของชีวิตอันเป็นนิโรธวาร
คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการดับของชีวิต (ทุกข์) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิโลมเทศนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะอวิชชาดับไปโดยสิ้นเชิงด้วยวิราคธรรม
(มรรค) สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญาณกับนามรูปจึงดับ ฯลฯ เพราะภพดับชาติจึงดับ
เพราะชาติดับชรามรณะจึงดับ ทุกข์ทั้งมวลย่อมดับไปด้วยประการดังกล่าวมา เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยใจความ
ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจจึงเป็นอันเดียวกัน ๑๗/
๑๐๗๕๗
๓๒๘๑. ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
มีบทนิยามว่า "การให้คำมั่นสัญญา หรือการแสดงยืนยัน โดยถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หรือความสุจริตเป็นที่ตั้ง" เป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ
ซึ่งมีอยู่สี่ข้อด้วยกัน กฎบัตรองค์การสหประชาชาติกล่าวถึงสิทธิมนุษย์ชนทั้งหมดในมาตราต่าง
ๆ ไม่น้อยกว่าหกมาตรา ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ประกอบไปด้วยข้อกำหนด ๓๐
ข้อ เป็นการวางแนวอย่างกว้างขวางถือสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงแต่สิทธิทางการเมืองและกฎหมายเท่านั้น
แต่ยังได้ประกาศถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย
๑๗/ ๑๐๗๗๒
๓๒๘๒. ปฏิทิน
มีบทนิยามว่า "แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" ปฏิทินหมายถึงระบบการจัดแบ่งช่วงเวลาให้เป็นวัน
เดือน ปี โดยอาศัยหลักการทางดาราศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับเป็นหน่วยกำหนดนับอายุ
และบันทึกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปฏิทินที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ
ปฏิทินแบบเกรกรอเรียน
เนื่องจากปีหนึ่งมี ๓๖๕.๒๔๒๒๔ วัน จึงได้มีการวางหลักเกณฑ์และกำหนดขึ้นใหม่
เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินขึ้น เริ่มใช้กันมาเป็นหลักฐานเมื่อปี พ.ศ.๔๙๗ และได้มีการแก้ไขใหม่เมื่อปี
พ.ศ.๒๑๒๕ กำหนดให้ปีหนึ่ง ๆ มี ๓๖๕ วันถ้วนเรียกว่าปีธรรมดา หรือปรกติสุรทิน
และปีหนึ่ง ๆ กำหนดให้มี ๑๒ เดือน
ปฏิทินแบบเก่าบอกแต่วันทางจันทรคติเป็นข้างขึ้นข้างแรม และบอกชื่อปีเป็นชื่อตามสิบสองนักษัตรคือ
ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ การนับวันทางสุริยคติเพิ่งจะมีใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ นี้เอง
ศักราชที่ปรากฎในปฏิทินโดยทั่วไปมีอยู่สามอย่างคือ พุทธศักราช (พ.ศ.) มหาศักราช
(ม.ศ.) และจุลศักราช (จ.ศ.)
พุทธศักราช
กำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นปีที่หนึ่ง แต่เดิมคำนวณตามจันทรคติขึ้นปีใหม่เมื่อเดือนหก
แรมหนึ่งค่ำ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งศักราชรัตนโกสินทร์ศกขึ้นใหม่ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่
๑ เมษายน ตามระบบปฏิทินเกรกรอเรียน ถึงรัชกาลที่หกเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ปีปฏิทินมีกำหนด ๑๒ เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่
๑ มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม โดยให้ปี พ.ศ.๒๔๘๓ สิ้นสุดในวันที่
๓๑ ธันวาคมและในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม เป็นปีแรก
มหาศักราช
กล่าวกันว่าพระเจ้าศาลิวาหะ กษัตริย์อินเดียองค์หนึ่งทรงตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกมีชัยต่อราชศัตรู
ในปีเถาะ พ.ศ.๖๒๒ ใช้คำนวณเดือนตามสุริยคติขึ้นปีใหม่ เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ
จุลศักราช
กษัตริย์พม่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๑๘๒ จุลศักราชปีศก ซึ่งหมายถึงจำนวนปีกำกับด้วยชื่อต่าง
ๆคือ ถ้าตัวเลขสุดท้ายเป็นเวลาหนึ่งเรียกว่าเอกศก เลขสองเรียกโทศก เลขสามเรียกตรีศก
ฯลฯ เลขศูนย์เรียกสัมฤทธิศก
ปีนักษัตร
ประเทศไทยรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนคือกัมพูชา มอญ เวียตนาม จาม
ทิเบต ญี่ปุ่น จีน และชาวเกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย แบ่งปีเป็นสิบสองปี
และเรียกชื่อเป็นสิบสองนักษัตร คือกำหนดหมายชื่อปีเป็นชื่อสัตว์ โดยมีรูปสัตว์นั้น
ๆ เป็นเครื่องหมาย เฉพาะประเทศไทยมีชื่อสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปีดังนี้คือ
ปีที่หนึ่ง ชวดมีรูปหนู ปีที่สองฉลูเป็นรูปวัว ปีที่สามขาลเป็นรูปเสือ ฯลฯ
ปีที่สิบสองกุนเป็นรูปหมู
ปีและเดือน
ระยะเวลาที่โลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบหรือเป็นระยะเวลาที่โลกโคจรถึงจุดหนึ่งในท้องฟ้าสองครั้งถัดกันไป
ถ้าจุดที่กำหนดนั้นใช้จุดราศีเมษเรียกว่า ปีสุริยคติปานกลาง
ซึ่งมีระยะเวลา ๓๖๕ วัน ๕ ชั่วโมง ๔๘ นาที ๔๘.๘ วินาที
ปีจันทรคติ
กำหนดนับเวลาตามระยะเวลาโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ๑๒ ครั้ง หรือ ๑๒ เดือน จันทรคติเป็นเวลานาน
๓๕๔.๓๗ วัน ทางสุริยคติปานกลาง
ปีสุริยคติ
คือระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โดยถือจุดวสันตวิษุวัต เป็นหลักเป็นเวลานานเท่ากับ
๓๖๕.๒๔๒๒๔ วัน ทางสุริยคติปานกลาง
วิษุวัต
คือจุดสองจุดอยู่ตรงข้ามกัน เกิดจากวิถีของดวงอาทิตย์ ที่ปรากฎเห็นตัดกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า
จะทำให้เป็นมัธยมกาลคือ กลางวันและกลางคืนเท่ากันทั่วโลก ในรอบปีหนึ่งจะโคจรมาผ่านจุดวิษุวัตสองครั้งคือ
ราววันที่ ๒๑ มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต
และราววันที่ ๒๒ กันยายน เรียกว่า
ศารทวิษุวัต
เดือนจันทรคติ
มีสิบสองเดือนเรียกชื่อว่า เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม ฯลฯ เดือนสิบสอง
ในเดือนทั้งสิบสองเดือนนี้ มีจำนวนวันไม่เท่ากัน เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกครั้งหนึ่งเป็นเวลา
๒๙ ๑/๒ วัน จึงต้องนับ ๕๙ วัน เป็นสองเดือน โดยจัดแบ่งให้เดือนหนึ่งมี ๓๐
วัน อีกเดือนหนึ่งมี ๒๙ วัน เดือนคี่มีเดือนละ ๒๙ วัน เรียกว่า เดือนขาด เดือนคู่
มีเดือนละ๓๐ วัน เรียกว่า เดือนเต็ม เดือนใดเป็นเดือนขาด จะสิ้นเดือนในวันแรม
๑๔ ค่ำ เดือน ๑ ไหนเป็นเดือนเต็มจะสิ้นเดือนในวันแรม ๑๕ ค่ำ วันเหล่านี้ วันขึ้น
๑๔ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นแรม ๑๓ ค่ำ เรียกว่า วันโกน
เป็นวันที่พระสงฆ์ในเมืองไทยปลงผม วันขึ้น ๘ ค่ำ หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ
หรือวันสิ้นเดือน ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนเต็มก็เป็น
แรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า วันพระ
เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรม ในพระพุทธศาสนา
อธิกมาส อธิกวาร
โดยเหตุที่ปีจันทรคติน้อยกว่าปีสุริยคติถึง ๑๑ วันเศษ ในสามปีจะมากกว่ากันถึงหนึ่งเดือนเศษ
ดังนั้น เพื่อให้ฤดูกาลทางจันทรคติคงที่อยู่ตามสภาพธรรมดาของโลก จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติอีกหนึ่งเดือน
ในปีที่สามบ้าง ปีที่สองบ้าง เดือนที่เพิ่มนี้เรียกว่า อธิกมาส ปีที่มีอธิกมาส
จึงมี ๑๓ เดือน ปรกติจะเพิ่มเดือนแปดเข้าอีกเดือนหนึ่ง ปีใดมีอธิกมาส ปีนั้นมีเดือนแปดสองหน
นอกจากนี้ ตามแบบโหรไทยมีวันเพิ่มเข้าในเดือนเจ็ดอีกหนึ่งวันเรียกว่า อธิกวาร
มีระยะ ๕ ปี ๖ ปี หรือถ้าล่วงมาถึง ๗ ปี ต่อไปอีก ๓ ปี เขาก็วาง จึงเป็นอันว่าปีใดมีอธิกวาร
ปีนั้นเดือนเจ็ดมี ๓๐ วัน
เดือนสุริยคติ
แบ่งออกได้เป็น ๑๒ เดือน ตามจักรราศี มีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวที่อยู่ในราศีนั้น
ๆ ราศีหนึ่ง ๆ มีกลุ่มดาวหลายดวง เรียงรายอยู่เป็นรูปต่าง ๆ และะสมมติรูปของกลุ่มดาวเหล่านั้น
แล้วบัญญัติชื่อขึ้นไว้ มีความหมายดังนี้คือ ราศีที่หนึ่งเรียก ราศีเมษ มีรูปแกะ
หรือแพะ เป็นเครื่องหมาย ราศีที่สองเรียก ราศีพฤกษภ รูปโค ราศีที่สามเรียก
ราศีเมถุน รูปคนคู่ (ชาย หญิง) ฯลฯ ราศีที่สิบสองเรียก ราศีมีน รูปปลาสองตัว
ชื่อเดือนสุริยคติ มี เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ฯลฯ มีนาคม ชื่อเดือนดังกล่าว
ตั้งจากชื่อกลุ่มดาวในจักรราศีทั้งสิบสอง
วัน
คือ ระยะเวลาที่โลกหมุนรอบแกนตัวเอง จากทุกทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างที่วัตถุท้องฟ้า
ดวงใดดวงหนึ่งผ่านเส้นเมอริเดียนเดียวกันไปจนครบหนึ่งรอบ เรียกว่า วัน มีชื่อเรียกต่าง
ๆ กันแล้วแต่จะใช้วัตถุใดเป็นที่หมาย เช่น ถ้าใช้ดวงอาทิตย์เป็นที่หมาย ก็เรียกว่า
วันสุริยคติ ถ้าใช้ดาวฤกษ์ เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันดาราคติ
ถ้าใช้ดวงจันทร์เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันจันทรคติ
ความนานของวันจริงแต่ละวันไม่เท่ากัน เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี
และโคจรด้วยความเร็วไม่เท่ากัน พื้นวงโคจรของโลกไม่ได้เป็นพื้นเดียวกันกับพื้นเส้นศูนย์สูตรของโลกคือ
เอียงเป็นมุมประมาณ ๒๓ องศาครึ่ง เป็นต้น จึงได้กำหนดวันขึ้นใหม่เรียกว่า
วันสมมติ คือ เอาความนานของปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน มีความนานเท่ากัน หรือจะกล่าวว่า
เอาความนานของวันจริงแต่ละวันที่นานไม่เท่ากันตลอดทั้งปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน
มีความนานคงที่เท่า ๆ กันทุกวันนั่นเอง
เมื่อความนานของวันสมมติคงที่แล้ว ก็สามารถสร้างเครื่องจักรกลที่เรียกว่า
นาฬิกา สำหรับวัดความนานของแต่ละวันสมมติได้ แบ่งออกเป็น ๒๔ ชั่วโมง ในหนึ่งชั่วโมงแบ่งออกเป็น
๖๐ นาที ในหนึ่งนาที แบ่งออกเป็น ๖๐ วินาที
การนับวันสมมติ ณ ที่ใดที่หนึ่งใช้เส้นแวงที่ผ่านตำบลนั้น เป็นหลักในการนับเวลาที่อ่านได้
ก็จะเป็นเวลาของตำบลนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง จึงได้ตกลงให้ถือเอาเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิช
ในประเทศอังกฤษเป็นหลัก ฉะนั้น วันเวลาที่เมืองกรีนิชจึงเรียกว่า วันสากล
และเวลาสากล สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองกรีนิช จึงมีเวลาเร็วกว่าเมืองกรีนิช
๗ ชั่วโมง
อธิกสุรทิน
หมายถึง วันทางสุริยคติที่เพิ่มขึ้น คือ เพิ่มเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ อีกวันหนึ่งเป็น
๒๙ วัน
ชื่อวัน
เรียกชื่อตามวันที่ชาวอินเดียเรียกว่า อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ฯลฯ เสาร์ โดยมีต้นเค้าคติ
๗ วัน ของเชาวแบบิโลเนียน - กรีก - อียิปต์ - ซีเรียน (อาหรับ) ซึ่งได้แพร่ขยายไปทั่วทั้งสี่ทิศ
ในปี พ.ศ.๑๐๔๕ ได้แพร่หลายเข้าไปในอินเดีย แล้วเปลี่ยนชื่อวันเป็นเทวดาอินเดีย
จากอินเดียได้แพร่ขยายไปทิเบต แหลมอินโดจีน และหมู่เกาะชวา มลายู
เวลา
คือ ความนานที่วัดได้ การวัดเวลาแต่เดิมอาศัยปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาตราที่วัดได้แก่
วัน ชั่วโมง นาที และวินาที
มาตรากำหนดเวลาของไทย
กำหนดให้วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เป็นกลางวัน ๑๒ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง
กลางวันเรียกว่า โมง
กลางคืนเรียกว่า ทุ่ม
ในชั่วโมงแบ่งเป็น ๑๐ บาท บาทหนึ่งมี ๖ นาที (เดิมมี ๔ นาที) นาทีหนึ่งแบ่งเป็น
๖๐ วินาที หรือ ๑๕ เพชรนาที ๖๐ นาทีเป็นหนึ่งชั่วโมง
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๐ การขึ้นวันใหม่ เริ่มต้นวันเมื่อย่ำรุ่ง
(๐๖๐๐ นาฬิกา) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้การขึ้นวันใหม่
เช่นเดียวกับชาวยุโรปคือ เริ่มต้นวันเมื่อ ๑๒ ชั่วโมง ก่อนเที่ยงวัน (คือเที่ยงคืน)
และสิ้นวันเมื่อ ๑๒ ชั่วโมง หลังเที่ยงวัน
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมติกรีนิช ๖ ชั่วโมง
๔๑ นาที ๕๗.๓ วินาที ในปี .ศ.๒๔๖๓ เปลี่ยนเป็นใช้เวลาอัตราเร็วกว่า เวลาสมมติกรีนิช
๗ ชั่วโมง ๑๗/
๑๐๗๘๒
๓๒๘๓. ปฏิรูป
หมายถึง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ดีไม่ทันสมัย ไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย
หรือสิ่งที่เสื่อมลงให้ถูกต้องหรือดีขึ้น โดยวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่เช่น
การปฏิรูปศาสนาคริสต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้น
การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งได้มีกาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างใหญ่หลวงเกือบทุกด้านทุกสาขา
คำว่าปฏิรูปยังใช้กับคำอื่น ๆ อีก เช่น การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งหมายถึงการที่รัฐจัดสรรที่ดินของประเทศเสียใหม่
ให้กสิกรผู้ประกอบอาชีพการเกษตรทุกคน ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดิน
๑๗/ ๑๐๘๓๓
๓๒๘๔. ปฏิวัติ
หมายถึง การหมุนกลับ การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการปฏิวัติหมายถึง
การเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญอย่างรวดเร็ว แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
ในความหมายเฉพาะทางการเมืองนั้น ปฏิวัติคือ การกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง
หรือวิธีการบริหารประเทศเสียใหม่ โดยวิธีการรุนแรง ไม่ใช้กระบวนการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
เช่นการปฏิวัติอังกฤษในปี พ.ศ.๒๒๓๒ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ การปฏิวัติอเมริกา
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ การปฏิวัติโปร์ตุเกสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ การปฏิวัติสเปนเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๔ และการปฏิวัติอียิปต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้น
ในด้านเศรษฐกิจ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี
พ.ศ.๒๓๐๓ - ๒๓๗๓ ด้วยเหตุว่าการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไกส่วนมากที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ
นอกจากนั้นคำว่า การปฏิวัติอาจใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงอื่น ๆ ด้วยเช่น
การปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นต้น ๑๗/
๑๐๘๓๖
๓๒๘๕. ปฏิสัมภิทา
ตามรูปคำแปลว่าความแตกฉานโดยความเป็นชื่อของปัญญา หมายความถึงปัญญาแตกฉานมีสี่อย่างคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในอรรถคือ อรรถอย่างหนึ่งหมายความอธิบายแห่งภาษิต ความเข้าใจอธิบายอรรถแห่งภาษิตย่อให้พิสดาร
อีกอย่างหนึ่งหมายเอาผล ความเข้าใจ คาดหน้าถึงผลอันจักมีคือ ปรีชาแจ้งในความหมาย
เห็นเหตุอย่างหนึ่งก็สามารถคัดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปจนล่วงรู้ถึงเหตุผล
๒. ธรรมปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในธรรมคือธรรมอย่างหนึ่งหมายเอาภาษิตอันเป็นกระทู้ ความเข้าใจความแห่งอธิบายนั้น
ๆ ตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อขึ้นได้อีกอย่างหนึ่งหมายเอาเหตุความเข้าใจ สาวหาเหตุในหนหลัง
คือปรีชาแจ้งในหลักเห็นอรรถาธิบายพิสดาร เห็นผลอย่างหนึ่งก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา ความเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ อาจรู้จักนำคนให้นิยมตามคำพูด
ปรีชาแจ้งในภาษา รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่าง ๆ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณคือความไหวพริบ ความเข้าใจ ทำให้สบเหมาะทันที ในเมื่อเหตุเกิดขึ้นโดยฉุกเฉินคือ
ปรีชาแจ้งในความคิดพันการ มีไหวพริบซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้า
สร้างความคิดและเหตุผลใหม่ ๆ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าอุทเทสคือตั้งขึ้นเป็นข้อ ๆ และทรงแสดงชี้แจงต่อไปซึ่งเรียกว่านิทเทส
คือพรรณาอุทเทสข้อธรรมนั้นออกไปให้กว้างขวาง ถ้ายังไม่พอก็ทรงแสดงต่อไปอีกเรียกว่าปฏินิทเทส
๑๗/ ๑๐๘๓๙
๓๒๘๖. ปฐมเจดีย์ - พระ
เป็นเจดีย์ใน อ.เมือง ฯ จ.นครปฐม สร้างมาตั้งแต่เมื่อแรกตั้งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของประชาชน
เป็นจอมเจดีย์ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย ซึ่งมีอยู่แปดองค์ ดังได้จำลองเป็นภาพจิตรกรรม
ไว้ที่ในพระอุโบสถวัดเบญจบพิตร จอมเจดีย์ทั้งแปดได้แก่
๑. พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาประดิษฐานในเมืองไทย
๒. พระมหาธาตุ เมืองละโว้ คือพระปรางค์ที่วัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี สร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาประดิษฐานในเมืองไทย
แล้วแพร่หลายไปทางเขมรและเมืองเหนือ
๓. พระธาตุหริภุญชัย ที่เมืองลำพูน เก่าก่อนพระเจดีย์องค์อื่นทั้งหมดในแคว้นล้านนา
๔. พระธาตุพนม ที่เมืองนครพนม เก่าก่อนพระเจดีย์องค์อื่นทั้งหมดในแคว้นอีสาน
๕. พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง คือพระปรางค์ที่วัดน้อย เมืองสวรรคโลก (อ.ศรีสัชนาลัย)
เป็นพระเจดีย์องค์แรกที่ไทยมาสร้างซ่อมของเดิม
๖. พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช สร้างเมื่อพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แรกมาถึงเมืองไทย
๗. พระมหาาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย วัดช้างล้อม ที่เมืองสวรรคโลกเก่า พระเจ้ารามคำแหง
ฯ ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
๘. พระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
โดยเหตุที่พระปฐมเจดีย์สร้างมาแล้วช้านาน จึงมีตำนานอันเป็นนิยายนิทานอยู่เป็นอันมาก
ประกอบกับได้ซ่อมแปลงกันมาหลายทอดหลายตอน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสันนิษฐานว่า พนมจอมกองอิฐใหญ่ ซึ่งปรากฎว่าเป็นชั้นทักษิณพระปรางค์นั้นมิใช่ฐานพระปรางค์
เห็นเป็นองค์พระมหาสถูปารามเจดีย์ของโบราณแรกตั้งพระพุทธศาสนา เหมือนเป็นอย่างเดียวกับพระสถูปารามเจดีย์ในกรุงอนุราชบุรี
ในเกาะสิงหลทวีป
พระเจดีย์องค์เดิมนั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ
เช่นเดียวกับสาญจิเจดีย์ ซึ่งพระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ ณ เมืองสาญจิ ประเทศอินเดีย
ต่อมาก็คงจะได้ซ่อมดัดแปลงมาเป็นระยะ ๆ จนกลายเป็นรูปพระปรางค์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ฯ โปรดให้สร้างแบบจำลองไว้ก่อนที่จะสร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิม
๑๗/ ๑๐๘๔๓
๓๒๘๗. ปฐมเทศนา
เป็นการแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย สัจธรรมที่ทรงแสดงเรียกว่า "ธรรมจักกัปวัตนสูตร"
(ดูธรรมจักร - ลำดับที่ ๒๖๗๙ ประกอบด้วย) ผู้สดับพระธรรมเทศนาคือ พระเบญจวัคคีย์
ใจความคือ ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ หรือนิยมยินดีกับ
มัชฌิมาปฎิปทา
คือทางมีองค์แปด
ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะ
ที่สุดสองอย่างนั้นได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค
คือ ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกามเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน (เป็นเรื่องของชาวบ้าน
- เพิ่มเติม)
เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ อัตกิลมกานุโยค
คือ การทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ ไม่ทำเป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ ทั้งสองอย่างนี้บรรพชิตไม่ควรเสพ
หรือนิยมยินดี (ดู ทุกขกิริยา - ลำดับที่ ๒๕๗๘ ประกอบด้วย)
มัชฌิมาปฎิปทา คือทางมีองค์แปด ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะนั้นคือ ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ
(ดู มรรค - ลำดับที่... ประกอบด้วย )
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตร จบลง พระอัญญาโกญทัญญะ ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค
เป็นพระโสดาบัน และบันดาลให้เอนกนิกร เทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุอริยมรรค
อริยผลมากมาย (ดู เบญจวัคคีย์ - ลำดับที่ ๓๒๐๗ ประกอบด้วย)
อาศัยเค้าเรื่องจากพุทธจริยาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งนี้ เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
หรือปางแสดงธรรมจักร พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบท นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้น
จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม เป็นกิริยาแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง
๑๗/ ๑๐๘๕๒
๓๒๘๘. ปฐมสมโพธิ
เป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า หรือคัมภีร์ว่าด้วยพระพุทธศาสนา
เรียกเต็มว่า "ปฐมโพธิกถา" ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาบาลี เท่าที่พบต้นฉบับที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ
มีสองสำนวน สำนวนหนึ่งมี ๒๒ ปริจเฉท สำนวนที่สองมี ๒๙ ปริจเฉท
สำนวนที่สองนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๘๘ หนังสือปฐมโพธิสถาทั้งสองสำนวนได้แปลแล้วทั้งสองสำนวน ยังมีหนังสือปฐมโพธิ
แปลร้อยกรอง พบในหอสมุดแห่งชาติอีกสี่สำนวน
หนังสืออันกล่าวด้วย พระพุทธประวัติและศาสนประวัติ ที่แต่งและนำสืบ ๆ กันมา
มีคติทางมหายาน และเถรวาท ปะปนกัน ๑๗/
๑๐๘๕๕
๓๒๘๙. ปดุง
เป็นพระนามของกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์อลองพญา ครองอาณาจักรพม่า ระหว่างปี
พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๖๒ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์ได้ครองราชย์โดยทำการปราบดาภิเษก
พระเจ้าปดุง ทรงรุกรานประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากที่ได้ประเทศใกล้เคียงไว้ในอำนาจ
พระองค์ทรงเป็นจอมทัพคุมกำลังพล ๑๔๔,๐๐๐ คน โดยจัดแบ่งเป็นเก้าทัพ กำหนดเข้าตีเมืองไทยพร้อมกัน
ฝ่ายไทยสามารถต่อสู้พม่าข้าศึก จนพ่ายแพ้ล่าถอยไปได้ด้วยกำลังเพียง ๗๐,๐๐๐
คนเศษ โดยได้รวบรวมกำลังต่อสู้ข้าศึก แต่ในทางสำคัญก่อน เมื่อมีชัยชนะทัพข้าศึกที่สำคัญแล้ว
จึงย้ายกำลังไปปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป
แม้ประสบความพ่ายแพ้ในสงครามเก้าทัพก็ตาม พระเจ้าปดุงก็ได้ยกทัพมาตีไทยอีก
ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ โดยให้พระมหาอุปราชายกทัพหน้า ๕,๐๐๐ คน เข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์
โดยมีพระเจ้าปดุง คุมทัพหลวงตามมา แต่กองทัพไทยก็สามารถตีกองทัพพม่าแตกยับเยิน
ที่ท่าดินแดง และที่สามสบ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หัวเมืองประเทศราช ไทยใหญ่ เช่น เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง
พากันกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พระเจ้าปดุงเกรงว่าประเทศราช จะเข้าข้างไทยจึงแต่งทัพมาทางเขตลานนา
โดยตีหัวเมืองรายทางได้ เช่น เมืองฝาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรด ฯ
ให้เจ้ากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง
ไปตั้งรับที่เมืองเชียงใหม่ แต่มีกำลังไม่พอจึงไปตั้งที่เมืองป่าซาง ฝ่ายพม่าได้ยกกำลังเข้าล้อมเมืองป่าซาง
และเมืองลำปาง พร้อมกัน กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพ ๖๐,๐๐๐ คน ขึ้นไปขับไล่พม่าแตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง
ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงคุมทัพ ๒๐,๐๐๐ คน ไปตีเมืองทวาย
แต่กองทัพไทยต้องเผชิญความลำบากในการยกข้ามภูเขาบรรทัด ประกอบกับเสบียงอาหารขาดแคลน
จึงต้องยกทัพกลับ
ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และกรมพระราชวังบวร ฯ ยกทัพไปตีพม่าทางใต้
โดยจะใช้เมืองมะริด ตะนาวศรี และทวาย เป็นฐานทัพ พระเจ้าปดุงโปรด ฯ ให้พระมหาอุปราชาคุมทัพมาต่อสู้กับไทย
ฝ่ายมอญทั้งสามซึ่งได้สามิภักดิ์ต่อไทยอยู่ก่อนได้เปลี่ยนใจไปเข้าด้วยพม่า
ไทยต้องปราบทั้งพวกขบถมอญ และรบพม่าไปพร้อมกัน ประกอบกับขัดสนเรื่องเสบียงอาหาร
ในที่สุดกองทัพไทยก็ต้องเลิกทัพกลับมา
ในปี พ.ศ.๒๓๔๐ พระเจ้าปดุงเกณฑ์กองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพพม่าประกอบด้วยพวกไทยใหญ่จากประเทศราชของตน
กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพกรุงและหัวเมืองในภาคกลางของไทย และมีทัพเวียงจันทน์
รวมประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน ยกไปช่วยพระยากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ต่อสู้ข้าศึก
กองทัพไทยตีพม่าที่เมืองลำพูน และเชียงใหม่ แตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง
ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระเจ้าปดุงทรงขัดเคืองพระยากาลิวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ยกกองทัพไปตีเมืองสาด
ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงได้ยกกองทัพมาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้าน
กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพไปช่วยพระยากาวิละ แต่พระองค์ได้ประชวรระหว่างทาง
จึงโปรด ฯ ให้กรมพระราชวังหลัง คุมทัพแทนพระองค์ กองทัพไทยและกองทัพเชียงใหม่
ยกเข้าตีพม่าพร้อมกัน กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ จึงโปรด ฯ ให้สถาปนา พระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ มีราชทินนามว่า "พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์"
ในปี พ.ศ.๒๓๕๑ พระเจ้าปดุง ส่งกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และหัวเมืองชายทะเล
ตะวันตกของไทย เป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ เพิ่งทรงครองราชย์
จึงโปรด ฯ ให้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาภิมุข เป็นจอมทัพ คุมกำลังพล ๒๐,๐๐๐
คน ไปตีเมืองภูเก็ต เมืองถลาง และเมืองชุมพร ได้ กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
๑๗/ ๑๐๘๖๓
๓๒๙๐. ปตัญชลี
เป็นชื่อมหาฤาษีผู้ให้กำเนิดลัทธิโยคะ มีชีวิตอยู่ราวกลางพุทธศตวรรษที่สี่
บางมติก็ว่าราวพุทธศตวรรษที่เก้า ท่านทำงานไว้มากเป็นที่ปรากฎ
วิธีปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุบรมสุขตามปรัชญาของพราหมณ์ที่สำคัญหกสาย มีเจ้าลัทธิหกคนเป็นผู้ประกาศ
และตัวท่านเป็นหนึ่งในหกของเจ้าลัทธิดังกล่าวคือ ปรัญชาโยคะ
วิธีปฏิบัติธรรมของท่านปรากฎในคัมภีร์ชื่อโยคะสูตร
เป็นนิกายโยคะ หรือนิกายปตัญชลี โยคะของท่านแยกออกเป็นสองสาย สานหนึ่งเป็นไปทางปรัญชา
อีกสายหนึ่งได้แก่การบริกรรม ซึ่งมีการบังคับการหายใจเป็นแก่นสำคัญ ท่านได้แสดงบัญญัติว่า
โยคะคือนิโรธแห่งพฤติกรรมของจิต เป็นการควบคุมจิตให้มีภาวะเป็นเอกัคตา ดับเสียจากอารมณ์อันเกิดแก่จิตทุกชนิด
มีการปฏิบัติอยู่แปดทาง ท่านไม่ยอมรับเรื่องพระเจ้า (หลายองค์ - เพิ่มเติม)
แต่อธิบายว่าต้องมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มุ่งตรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อน โดยวางพื้นฐานแห่งจิตไว้ที่พระเจ้าสูงสุดองค์เดียว
เป็นอารมณ์คือ พระอิศวร (หรือศิวะ) เรียกว่า "อิศวรปณิธาน" พระเจ้าองค์นั้นเป็นนิรันดรอยู่คู่กับโลก
เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ปกครองโลก ตัดสินความเป็นไปของโลก อยู่กับทุกแห่งทุกที่
ทุกกาลเวลา เป็น ฯ ผู้สอดส่องรอบรู้ทุกอย่าง เป็นปรมาตมันคือตัวปฐมวิญญาณ
เป็นที่เกิดของวิญญาณทั้งหลาย ๑๗/
๑๐๘๗๓
๓๒๙๑. ปโตเลมี แห่งอะเล็กซานเดรีย
เป็นนักวิทยาศาสตร์สัญชาติกรีก - อียิปต์ มีความเชี่ยวชาญ และผลงานดีเด่นในทางดาราศาสตร์
คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และฟิสิกส์ มีชีวิตอยู่ประมาณปี พ.ศ.๖๔๓ - ๗๑๓ ได้เรียบเรียงหนังสือ
และชุดหนังสือเกี่ยวกับผลงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าไว้เป็นจำนวนมากเล่มคือ
๑. ชุดหนังสือเกี่ยวกับดาราศาตร์ มี ๑๓ เล่ม
๒. ชุดหนังสือที่เป็นตำราภูมิศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ มี ๘ เล่ม
๓. ชุดหนังสือว่าด้วยปรากฎการณ์ของแสงกระจก กฎการสะท้อนแสง มุมตก และมุมหักเห
มี ๕ เล่ม
๔. ชุดหนังสือเกี่ยวกับดนตรี มี ๓ เล่ม
๕. ชุดหนังสือเกี่ยวกับโหราศาตร์ มี ๔ เล่ม
๖. หนังสือวตำราเรขาคณิต
นอกจากนี้ยังเขียนหนังสืออื่น ๆ ไว้อีกหลายเล่ม ๑๗/
๑๐๘๗๙
๓๒๙๒. ปทานุกรม
ตามพยัญชนะแปลว่าลำดับบท แต่เดิมมาหมายความถึงหนังสือสำหรับค้นคว้าความหมายของคำที่เรียงลำดับตามตัวอักษร
แล้วนิยามความหมายของคำนั้น ๆ รวมทั้งบอกที่มาของคำ ตลอดจนบอกเสียงอ่านด้วยเท่าที่จำเป็น
หนังสือประเภทนี้ในภาษาไทยสมัยก่อนเรียกชื่อเป็นติด ๆ กัน
เมื่อกระทรวงธรรมการ ได้ตีพิมพ์หนังสือปทานุกรมออกใช้ในราชการ และจำหน่ายในปี
พ.ศ.๒๔๗๐ แล้ว ต่อมาได้พบข้อบกพร่อง จึงตั้งกรรมการขึ้นเพื่อชำระข้อบกพร่อง
และแก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "พจนานุกรม"
๑๗/ ๑๐๘๘๑
๓๒๙๓. ปทุมธานี
จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี ทิศตะวันออกจด
จ.นครนายก ทิศใต้จด จ.นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ ทิศตะวันตกจด จ.นนทบุรี
ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
จ.ปทุมาธานี น่าจะได้ตั้งขึ้นภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่เชิงราก
(เชียงราก) บริเวณวัดพระยาเมือง (ร้าง) ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองนี้ร้างเพราะกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่หนึ่ง
ถึงปี พ.ศ.๒๒๐๓ สมิงเปอกับพวกคุมมอญ ๕,๐๐๐ คน เผาเมืองเมาะตะมะ แล้วจับมังนันทมิตร
อาพระเจ้าอังวะ คุมตัวเข้ามากรุงศรีอยุธยา โปรด ฯ ให้อยู่ที่ บ.สามโคก ซึ่งต่อมาเรียกเมืองสามโคก
ตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดสิงห์ จ.ปทุมธานี
ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระยาเจ่ง
ตะละเส่ง กับพญากลางเมือง พร้อมด้วยมอญที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้น
เมื่อพม่าตีกรุงแตกครั้งที่สองก็ถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า พอได้โอกาสก็พากันกลับหนีมาอีก
โปรด ฯ ให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองสามโคก และเมืองนนทบุรี และให้จัดชายฉกรรจ์ไว้
๓,๐๐๐ คน ให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่าเป็นเชื้อรามัญเป็นพระยารามัญวงศ์
(เรียกว่า จักรีมอญ) ควบคุมกองมอญทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ.๒๓๕๘ สมิงรามัญ เมืองเมาะตะมะ และพวกได้ไปรับพม่าผู้รักษาเมืองฆ่าเสีย
แล้วอพยพยครอบครัวประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เมืองกาญจนบุรี
และเมืองตาก โปรด ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองสามโคก
เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานเมืองสามโคกใหม่ว่าเมืองปทุมธานี
โดยเหตุที่มีดอกบัวอยู่ทั่วไป ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ย้ายเมืองไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ บ.โคกชะพลูใต้ ปากคลองทราย ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ย้ายไปตั้งที่ ต.บางปรอท
อ.เมืองปทุมธานี ๑๗/
๑๐๘๘๓
๓๒๙๔. ปทุมรัตต์
อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง พื้นดินเป็นดินปนทรายและศิลาแลง
อ.ปทุมรัตต์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ขึ้น อ.เกษตรวิสัย ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ๑๗/
๑๐๘๘๓
๓๒๙๕. ปทุมวัน
เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเป็นอำเภอ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๖ ๑๗/
๑๐๘๘๕
๓๒๙๖. ปปัญจธรรม
คือธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าต่อการบรรลุถึงคุณความดี หมายเอาความเนิ่นช้าต่อการบรรลุโลกุตรธรรมของผู้บำเพ็ญกรรมฐาน
กล่าวโดยหลักใหญ่ ๆ มีสามอย่างคือ ตัณหา มานะ ทิฐิ
การปฏืบัติเพื่อละปปัญจธรรม ต้องปฏิบัติธรรมอันเป็นข้าศึกหรือธรรมที่ลบล้างกันได้
๑๗/ ๑๐๘๘๖
๓๒๙๗. ปรก
มีบทนิยามว่า "เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเศก เช่น พุทธาภิเษกว่า คณะปรก
"ในพิธีดังกล่าวพระภิกษุสงฆ์ ผู้นั่งปรกจะขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ที่จัดไว้โดยเฉพาะในท่านั่งขัดสมาธิ
วางมือซึ่งถือสายสิญจน์แบบสมาธิ เพ่งกระแสจิตไปยังโลหะที่จะหล่อหุ่น และพระอื่น
ๆ หรือวัตถุมงคลที่อยู่ในพิธีนั้น ๆ เพื่อให้เกิดพลังเป็นของขลัง และของศักดิ์สิทธิ์
การนั่งปรกนี้ มีมาแต่โบราณ ในชั้นเดิมคณะนั่งปรกเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ นั่งภาวนา
ต่อมาจึงเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสนาธุระ นั่งภาวนา เพราะการนั่งปรกเดิมคือ
การนั่งอ่านหนังสือทานคำที่พระพิธีธรรมสวดภาณวาร ซึ่งสวดด้วยปากเปล่า เนื้อความสำคัญในพุทธาภิเษก
ก็คือ แจงพระพุทธคุณอย่างพิสดาร
และบรรยายมหาปุริสลักษณะ ๓๑ หรือ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ อย่าง
๑๗/ ๑๐๘๙๐
๓๒๙๘. ปรง
เป็นชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด มีรูปร่างลักษณะคล้ายต้นปาล์ม หรือมะพร้าว ลำต้นตั้งตรงไม่แยกสาขา
บางชนิดต้นเตี้ย ลำต้นมักโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน แต่บางชนิดอาจสูงถึง ๗ เมตร
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เกิดเป็นกระจุกที่ยอด ปรงเป็นพืชที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น
เมล็ดเกิดบนต้นตัวเมีย เช่น ปรงทะเล หรือมะพร้าวเต่า
ในประเทศไทย มีปรงอยู่หลายชนิด มีมากตามดินทรายชายทะเลภาคใต้ ปรงป่า หรือมะพร้าวสีดา
มีตามป่าดงดิบทั่ว ๆ ไป ๑๗/
๑๐๘๙๖
๓๒๙๙. ปรบไก่
คำนี้มีความหมายเป็นสองนัยคือ หมายถึง เพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นกัน ทางภาคกลางของประเทศไทย
เรียกกันว่า เพลงปรบไก่
อย่างหนึ่ง กับหมายถึง จังหวะหน้าทับของเครื่องหนัง (กลอง) ที่เรียกกันว่า
หน้าทับปรบไก่
อีกอย่างหนึ่ง
เพลงปรบไก่ ดูเหมือนจะเป็นเพลงประเภทที่เก่าแก่ที่สุดในจำพวกเพลงที่ว่าแก้กันในภาคกลาง
วิธีเล่นเพลงปรบไก่ ก็มีผู้หญิง ผู้ชายที่เรียกว่า แม่เพลง และพ่อเพลง ร้องว่ากันหรือแก้กัน
ส่วนจังหวะนั้นก็ใช้วิธีปรบมือ ผู้ร้องจะต้องใช้ปฎิภาณคิดด้นกลอนสด และว่ากันหรือแก้กันให้ถึงใจ
สำหรับในความหมายทางด้านที่เป็นหน้าทับ สำหรับเครื่องหนัง (กลอง) ตีประกอบจังหวะดนตรีไทย
ก็๋เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันจากเพลงพื้นเมืองเช่นเดียวกัน กล่าวคือ จังหวะสำหรับลูกคู่ลงท้ายเพลงปรบไก่นั้น
โบราณาจารย์ท่านเห็นว่า เหมาะที่จะนำมาดัดแปลงเป็นจังหวะเครื่องหนัง สำหรับใช้กับดนตรีไทย
ท่านจึงได้ถอดสำเนียงลูกคู่ดังกล่าวออกมา เป็นเสียงตะโพน หน้าทับตะโพนที่เรียกว่า
หน้าทับปรบไก่สองชั้น ซึ่งนับว่าเป็นหน้าทับสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับดนตรีไทย
ต่อมาภายหลังได้มีการถอดเอาหน้าทับนี้ไปใช้กับเครื่องหนังอีกหลายอย่าง เช่น
โทน รำมะนา และกลองแขก เป็นต้น
๓๓๐๐. ปรมัตถ์
มีบทนิยามว่า "ประโยชน์อย่างยิ่ง เนื้อความอย่างยิ่ง ชื่ออภิธรรมปิฎก ความจริงอันเป็นที่สุด"
กล่าวโดยสรุป ปรมัตถ์ คือ เนื้อความในพระอภิธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสังขตธรรม
และอสังขตธรรม สี่ประการคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นั้น จิต เจตสิก รูป เป็นส่วนสังขตธรรม
นิพพานเป็นส่วนอสังขตธรรม สังขตธรรมและอสังขตธรรม ล้วน ๆ คือ จิต เจตสิก รูป
นิพพาน เท่านั้นเอง ๑๗/
๑๐๙๐๐
๓๓๐๑. ปรมาตมัน
เป็นคำสนธิ ที่เกิดจาก ปรม กับ อาตมัน แปลว่า อาตมะ (วิญญาณ) อันยิ่งใหญ่
ความหมายตามธรรมปรมาตมัน เป็นพลังอย่างหนึ่ง หรือธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดคู่อยู่ประจำโลก
เป็นพลังสูงสุดกว่าพลังใด ๆ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ถ้าเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกนี้
มีวิญญาณปรมาตมัน ก็เป็นฐานเกิดของวิญญาณ หากกล่าวตามความเชื่อของชาวอารยัน
ผู้เป็นต้นคิดคำนี้ ปรมาตมัน คือ มหาเทพ ไม่มีเทพใด ในสากลยิ่งกว่า
มีคำเรียกแทนคำ "ปรมาตมัน" อยู่หลายคำเช่น มหาพรหม อาทิพรหม ปรพรหม และกาลาหังส
๑๗/ ๑๐๙๒๙
๓๓๐๒. ปรมานุชิตชิโนรส
เป็นพระนามของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า องค์แรกของไทย นับเป็นพระสังฆราชองค์ที่เจ็ด
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ประสูติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๓ และสิ้นพระชนม์ในปี
พ.ศ.๒๓๙๖ พระองค์ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่
๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร
แล้วเสด็จมาประทับ ณ วัดพระเชตุพน ฯ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๔
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าต่างกรม มีพระราชทินนามว่า
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ฯ ในรัชกาลที่สี่ พระองค์ทรงรับมหาสมณุตตมาภิเษก ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศสูงสุดของเจ้านาย
คือ ตำแหน่ง "สมเด็จกรมพระ"
พระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และอักษรศาสตร์ เป็นอย่างยิ่งจนสามารถรจนาหนังสือ
วรรณคดีบาลีไว้ถึงสามเล่ม ผลงานทางการประพันธ์ของพระองค์ พอประมวลได้ดังนี้
พระนิพนธ์ประเภทร้อยกรอง
ได้แก่ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สรรพสิทธิคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์สังเวยดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพังหงสาสวรรค
ตำราฉันท์วรรณพฤติ และมาตราพฤติ ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตกระบวนแห่พระกฐิน พยุหยาตราทางสถลมารค
และชลมารค โคลงดั้นเรื่องการปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ โคลงภาพคนต่างภาษา กลโคลงมหาชาติ
เวสสันดรชาดก กลอนเทศน์ ๑๑ กัณฑ์ เว้นกัณฑ์ชูชก และกัณฑ์มหาพน ร่ายทำขวัญนาค
เพลงยาวเจ้าพระ จักรทีปนี
พระนิพนธ์ประเภทร้อยแก้ว
ได้แก่ ปฐมสมโพธิกถา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตำราสร้างพระพุทธรูป พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป
คำฤษฎี ๑๗/
๑๐๙๓๒
๓๓๐๓. ปรศุราม
เป็นอสูรเทพบุตร ในเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับวาลมิกิ และในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับไทย
มีชื่อว่า รามสูร
แปลว่า รามขวาน หรือรามผู้ถือขวาน นับเป็นโอรสองค์ที่ห้า ของพระชมัทอัคคี
กับนางเรณุกา เผ่าพราหมณ์ เป็นอวตารปางที่หก ของพระนารายณ์มีฤทธิ์มาก มีนิสัยทารุณร้ายกาจ
เหตุที่อวตารมาเป็นปรศุราม ก็เพื่อช่วยเหลือชาติพราหมณ์ผู้ถูกชาติกษัตริย์ทำร้ายและข่มเหง
๑๗/ ๑๐๙๔๓
๓๓๐๔. ปรอดหรือกรอด - นก
นกในวงศ์นี้ทั้งหมดมีรูปร่างคล้ายคลึงกันคือ คอสั้น เกาะกิ่งไม้แบบเดียวกัน
ส่วนมากร้องเพราะ ชอบอยู่เป็นฝูง ทำรังเป็นรูปจานด้วยใบหน้า และเรียวไม้เล็ก
ๆ บนกิ่งไม้ ทั่วโลกมีอยู่ ๑๑๙ ชนิด มีในประเทศไทย ๓๕ ชนิด ล้วนแต่เป็นนกประจำถิ่น
๑๗/ ๑๐๙๔๙
๓๓๐๕. ปรอท
เป็นธาตุลำดับที่ ๘๐ ชาวจีนและชาวฮินดูในสมัยโบราณได้รู้จักปรอทมาแล้ว ทั้งยังพบธาตุนี้ในที่ฝังศพโบราณ
ซึ่งมีอายุเก่าแก่ประมาณ ๙๕๐ ปี ก่อนสมัยพุทธกาล ในประเทศอียิปต์
ธาตุปรอทในธรรมชาติปรากฎอยู่ตามาผิวโลก มีปริมาณเฉลี่ยราวครึ่งกรัมต่อหิน
๑ ตัน ส่วนใหญ่พบอยู่ในลักษณะเป็นแร่ซีนนาบาร์ นอกจากนี้ยังพบในลักษณะอยู่เป็นธาตุอิสระ
ซึ่งเป็นของเหลวตามบริเวณภูเขาไฟหรือน้ำพุร้อน
ปรอทเป็นของเหลว ณ อุณหภูมิธรรมดา มีสีขาวเป็นเงาคล้ายเงิน เมื่อสัมผัสอากาศชื้น
ผิวจะหมองลงอย่างช้า ปรอทเป็นโลหะไหลไปมาได้รวดเร็วไม่ติดผิวแก้ว เป็นธาตุที่เสถียรมากที่อุณหภูมิธรรมดา
เป็นตัวนำความร้อนที่ดีและนำไฟฟ้าที่ดี
ปรอทและสารประกอบของปรอทมีประโยชน์อย่างมากมาย สำหรับปรอทนั้นใช้นำไปทำเทอร์โมมิเตอร์
บารอมิเตอร์ เครื่องมือวัดความดันโลหิต หลอดไฟฟ้าบางชนิด เซลล์ไฟฟ้าบางชนิด
สวิตซ์ไฟฟ้า อิเล็กโตรดที่ใช้ในกระบวนการแยกสลายด้วยไฟฟ้า ใช้นำไปผสมกับโลหะเงินเป็นโลหะเจือชนิดหนึ่งเรียกว่า
อมัลกัม ใช้อุดฟัน
ไอของปรอทเป็นพิษร้ายแรง สารประกอบของปรอทหลายสารเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ และระบบการทำงานของร่างกาย
๑๗/ ๑๐๙๕๖
๓๓๐๖. ปรอทวัดไข้
เป็นเทอร์โมมิเตอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้วัดอุณหภูมิของร่างกาย ที่ใช้ในทางการแพทย์
ทำด้วยหลอดแก้วขนาดเล็ก รูภายในมีขนาดโตสม่ำเสมอโดยตลอด มีปรอทบรรจุอยู่ ปลายด้านหนึ่งปิดตัน
ปลายอีกข้างหนึ่งโป่งเป็นกระเปาะ เป็นที่เก็บปรอท มีรอยคอดที่หลอดแก้ว ในส่วนที่อยู่เหนือกระเปาะ
เพื่อกันมิให้ปรอทที่ขยายตัวออกจากประเปาะไป แล้วกลับเข้าสู่กระเปาะได้อีก
เมื่อถูกกับความเย็น นับเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเทอร์โมมิเตอร์ ที่ใช้วัดอุณหภูมิชนิดอื่น
ๆ หลอดแก้วที่บรรจุปรอทนี้ติดอยู่ในแท่งแก้ว ซึ่งมีมาตราส่วนสำหรับบอกอุณหภูมิอยู่
๑๗/ ๑๐๙๖๓
๓๓๐๗. ประกัน
ตามรูปคำแปลว่าทำให้เป็นหลักฐานมั่นคง หรือกันไม่ให้เสียหาย ประกันมีที่ใช้ทั้งในความหมายทั่วไป
และในความหมายทางกฎหมาย
ประกันในความหมายทั่วไปเช่น เป็นคัวประกัน มอบของให้เป็นประกัน เป็นต้น
ส่วนความหมายทางกฎหมายนั้น มีที่ใช้อยู่หลายแห่ง ที่ไม่ใช้คำว่าประกันตรง
ๆ ก็มีเช่น ของหมั้น การยึดหน่วง และมัดจำ คำที่กฎหมายเรียกตรง ๆ ว่าประกันเช่น
ประกันผู้ต้องหา ประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสังคม ค้ำประกัน และประกันทัณฑ์บน
เป็นต้น ๑๗/
๑๐๙๖๗
๓๓๐๘. ประกันชีวิต
เป็นประกันภัยชนิดหนึ่ง ทำให้โดยสัญญาเหมือนประกันภัย วินาศภัย โดยผู้รับประกันสัญญาว่าจะจ่ายเงินที่ระบุให้แก่ผู้เอาประกัน
หรือผู้รับประโยชน์ของเขา ในการนี้ผู้เอาประกันมีหน้าที่ส่งเงินเบี้ยประกัน
สัญญาประกันชีวิตและสัญญาประกันภัย มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรมธรรม์
ซึ่งแปลว่าสัญญา
การประกันชีวิต เกิดขึ้นภายหลังการประกันภัยประเภทอื่น ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีมาแต่สมัยโรมัน
สัญญาประกันชีวิตฉบับแรก น่าจะเกิดจากการประกันชีวิตชาวเรือมากกว่า พวกอื่น
การประกันชีวิตเริ่มที่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๖ ส่วนในยุโรปนั้น ในประเทศฝรั่งเศสเริ่มเป็นปึกแผ่น
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ ประเทศเยอรมันปี พ.ศ.๒๓๗๑ กิจการประกันชีวิตในประเทศต่าง
ๆ ในยุโรปงอกงามขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับสหรัฐอเมริกาบริษัทอังกฤษ
ได้เข้าไปประกอบการประกันชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๐๒
การประกันชีวิตในประเทศไทย เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ หลังจากพระองค์เสด็จกลับจากประพาสประเทศอินเดีย
แต่ความนิยมมีน้อยจึงล้มเลิกไปในปลายรัชสมัยของพระองค์ และมาเริ่มอีกครั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
บริษัทประกันชีวิตของคนไทยดำเนินธุรกิจประกันชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ คือบริษัทไทยประกันชีวิต
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ประกันชีวิตนั้นเป็นวิธีออมทรัพย์ ที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัวอย่างหนึ่ง
๑๗/ ๑๐๙๗๒
๓๓๐๙. ประกันภัย
ตามรูปคำแปลว่าวิธีการทำให้บุคคลมีความมั่นคง ไม่วิบัติไปกับความเสียหายหรือภยันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตน
วิธีประกันภัย ทำได้โดยสัญญาต่างตอบแทนระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย
โดยผู้รับประกันภัยสัญญาว่า จะชดใช้ค่าเสียหายเมื่อเกิดมีภัยขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัย
ในการนี้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ส่งเงินให้แก่ผุ้รับประกันที่เรียกว่า ส่งเบี้ยประกันภัย
เป็นการตอบแทน
วิวัฒนาการล่าสุดของการประกันภัยได้แก่ การประกันสังคม
ประเทศเยอรมนีได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีระบบประกันสังคมระดับชาติเป็นประเทศแรก
ต่อมานานาประเทศได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
สหรัฐอเมริกาได้นำไปใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ส่วนประเทศไทยได้ตรา พ.ร.บ. ประกันสังคมตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๙๗ ๑๗/
๑๐๙๘๐
๓๓๑๐. ประกายพรึก - ดาว
หมายถึง ดาวเคราะห์ที่ปรากฎสว่างสุกใสทางทิศตะวันออกในเวลาใกล้รุ่งอรุณ ซึ่งอาจจะเป็นดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่งก็ได้
แต่ดวงที่เห็นสุกใสที่สุดและเห็นอยู่นานที่สุดคือ ดาวศุกร์
เห็นได้แม้เวลาเช้าถึงเก้านาฬิกา ๑๗/
๑๐๙๘๘
๓๓๑๑. ประคำ - ลูก
มีบทนิยามว่า "ลูกกลม ๆ ที่ร้อยด้วยเชือกเป็นวงสำหรับชักเป็นคะแนน ในเวลานั่งบริกรรมภาวนา
เรียกเครื่องประดับที่ใช้คล้องคอทำด้วยทอง หรือไข่มุก เป็นต้นว่า ลูกประคำ"
จำนวนลูกประคำมี ๑๐๕, ๑๐๗, ๑๐๘ และ ๑๑๕ เม็ด พวงลูกประคำนี้ว่ามีสายทิ้งเป็นสายทองหรือสายไหม
มีลูกประคำสามเม็ดขนาดเล็ก ลดหลั่นดังรูปเจดีย์ ลูกประคำของหลวงแต่ละชนิดใช้พระราชทานเมื่อไปทัพ
ส่วนลูกประคำราษฎร์มีจำนวนอย่างมาก ๑๐๔ เม็ด ใช้บริกรรมภาวนา หรือปลุกเสกลงเลขยันต์คาถา
ลูกประคำของลัทธิศาสนาอื่นว่ามีจำนวนนถึง ๑๐๐๘ เม็ด มีใช้กันแพร่หลายทั้งในศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพุทธ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาซิก
๑๗/ ๑๐๙๙๔
๓๓๑๒. ประคำไก่ หรือมะคำไก่
เป็นไม้ย้นต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีสีขาวนวล ใบยาวหนาเป็นมัน
ขอบใบมีจักละเอียด เหมือนฟันเลื่อย ใบยาว ๘ - ๑๐ ซม. กว้าง ๑.๕ - ๓ ซม.
ดอกตัวผู้เป็นกระจุกกลมหรือยาว มีขนาดเล็ก ผลลักษณะกลมรี หัวท้ายแหลม สีขาวอมเทาเกลี้ยง
เปลือกใบ และผล ใช้แก้โรคปวดตามข้อ ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ทำน้ำมันนวด แก้ช้ำบวม
และนวดแก้อัตพาต น้ำมันที่บีบจากเมล็ดใช้จุดตะเกียงได้
๑๗/ ๑๑๐๐๙
๓๓๑๓. ประคำดีควาย
เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๕ - ๒๐ เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ใบเป็นใบประกอบ ออกสลับกัน
ใบประกอบมีใบย่อย ๆ ๖ - ๑๒ คู่ ใบย่อยรูปยาวรีปลายแหลม ช่อดอกประกอบด้วยดอกกลม
ๆ เล็ก ๆ เป็นช่อกระจาย ดอกสีขาวหรือเหลือง ผลกลมมีเนื้อหุ้ม
เมล็ดและเนื้อแห้ง เมื่อชงกับน้ำร้อนจะเป็นฟอง ใช้ซักผ้าไหม ล้างเครื่องเพชร
และใช้สระผมได้ ถ้าปริมาณเข้มข้นใช้ฆ่าแมลงและใช้เบื่อปลาได้ เมล็ดทำยาชงใช้แก้โรคผิวหนังบางชนิด
๑๗/ ๑๑๐๑๐
๓๓๑๔. ประคำร้อย - ฝี
เป็นฝีชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นบริเวณลำคอ เป็นหัวๆ เรียงกันรอบคอ เกิดจากเชื้อวัณโรค
เมื่อแตกเป็นแผล จะมีน้ำเหลืองและหนองไหลออกมา แผลที่แตกจะหายช้ามาก เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นกลม
ๆ บุ๋มลงไป จากผิวหนังปรกติ แล้วก้อนอื่น ๆ ก็จะโตขึ้นแล้ว แตกเป็นแผลทำให้เกิดเป็นแผลเช่นก้อนแรก
ๆ จนรอบลำคอ
ฝีชนิดนี้มักเกิดในเด็กเล็ก ๆ เชื้อวัณโรคเข้าร่างกายทางต่อมทอมซิล และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ
ซึ่งมีต่อมน้ำเหลืองมากมาย ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง
๑๗/ ๑๑๐๑๑
๓๓๑๕. ประโคนชัย
อำเภอ ขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่วไป เหมาะแก่การเพาะปลูก
อ.ประโคนชัย เดิมชื่อ ตะลุง เป็นเมืองเก่า ปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดารเมื่อครั้งกองทัพกรุงธนบุรี
ยกออกไปปราบเมืองจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ ภายหลังเปลี่ยนเป็นเมืองประโคนชัย
แล้วยุบเป็น อ.ประโคนชัย ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตะลุง ปี พ.ศ.๒๔๘๑
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ประโคนชัย อีก
อ.ประโคนชัย มีโบราณสถานเรียกว่า ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่บางส่วนสร้างด้วยหิน
และศิลาแลง ผนังสร้างด้วยอิฐดินเผา
๓๓๑๖. ประจำเมือง - ดาว
(ดู ประกายผลึก - ลำดับที่ ๓๓๑๐) ๑๗/
๑๑๐๑๓
๓๓๑๗. ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.เพชรบุรี ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย
ทิศใต้ จด จ.ชุมพร ทิศตะวันตก จดทิวเขาตะนาวศรี ภูมิประเทศทางตะวันออก จากเหนือไปใต้เป็นที่ราบชายทะะล
มีป่าละเมาะ และเขาประปราย ทางตะวันตกจากเหนือไปใต้เป็นป่าสูง มีเขาเป็นพืดตลอดไปจนถึงทิวเขาตะนาวศรี
ซึ่งปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า
จ.ประจวบ ฯ เป็นเมืองโบราณครั้งสมัยอยุธยา เรียกว่า เมืองนารัง
ตั้งอยู่ริมคลองบางนารม อยู่ในบริเวณสถานีรถไฟขันกระได แต่ได้ร้างไปคราวหนึ่ง
และมาตั้งในรัชกาลที่สอง ที่ปากคลองบางนางรม ย้ายที่บัญชาการไปตั้งที่เมืองกุย
จนถึงรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ โปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์
(คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า ประจันต์คีรีเขต) รวมท้องที่เมืองกุย
เมืองคลองวาฬ เข้าเป็นท้องที่เดียวกัน ถึงรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองประจวบ
ฯ ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.เพชรบุรี ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๙ โปรด ฯ ให้รวมอำเภอสามอำเภอคือ
เมืองประจวบ ฯ อ.เมืองปราณบุรี ซึ่งขึ้น จ.เพชรบุรี และ อ.เมืองกำเนิดนพคุณ
ซึ่งขึ้น จ.ชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองปราณบุรี ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๔๕๘ โปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อ จ.ปราณบุรี เป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ถ้ำพระยานคร ปากทวารที่ต้นแม่น้ำปราณ มีสถานที่สำคัญคือ
พระราชวังไกลกังวล ๑๗/
๑๑๐๑๓
๓๓๑๘. ประจันตคาม
อำเภอ ขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศตอนใต้เป็นลุ่ม ตอนกลางและเหนือเป็นที่ดอน
อ.ประจันตคาม เดิมเป็นเมืองขึ้น เรียกเมืองประจันตคาม
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ยุบเป็นอำเภอ ตั้งที่ว่าการที่ ต.ดงบัง ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑
ย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.ประจันตคาม ๑๗/
๑๑๐๑๔
๓๓๑๙. ประเจียด - ผ้า
เป็นผ้าลงเลขยันต์ ถือกันว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ นิยมใช้เป็นเครื่องผูกคอ
หรือผูกต้นแขน จัดอยู่ในจำพวกเครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง ผ้าที่นิยมทำเป็นผ้าประเจียดนั้นจะเป็นผ้าสีแดงหรือสีขาวก็ได้
เป็นรูปสี่เหลี่ยนขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่จะลงเลขยันต์ชนิดไหน ซึ่งจะลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
นิยมเป็นผ้าผูกคอหรือผูกต้นแขนและยังใช้โพกศีรษะด้วย
๑๗/ ๑๑๐๑๕
๓๓๒๐. ประแจจีน
เป็นชื่อลายแบบจีนชนิดหนึ่ง เป็นรูปเหลี่ยมหักมุมไขว้กันเป็นลวดลายของจีน
ใช้เป็นลายกันคิ้วขอบลายกรอบแว่น (ลายกรอบนอกของเพดาน) ลายเสื้อ ลายประแจจีน
ทำได้ในลักษณะต่าง ๆ บางทีก็เป็นลายฉลุไม้ประกอบกับโต๊ะเครื่องตั้ง ขอบลายเสื้อผ้าของเทวรูปจีน
แจกัน กระถาง เครื่องเคลือบที่เขียนเป็นลวดลายสีคราม (เครื่องลายคราม) ลายแกะสลักไม้มะเกลือ
ตามโต๊ะเครื่องบูชา โต๊ะเก้าอี้ ตู้และเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ลายประแจจีน
อาจเขียนได้หลายแบบ ข้อสำคัญตัวลายจะต้องเป็นรูปสีเหลี่ยมหักมุมเข้าเป็นมุมฉาก
ขมวดเข้าเหมือนเลขหนึ่งของไทย เขียนกลับไปมา
๑๗/ ๑๑๐๑๙
๓๓๒๑. ประชากร
ความหมายในวิชาสถิติศาสตร์คือ กลุ่มหรือหมู่คน สัตว์ สิ่งของ แต่ในเรื่องที่ศึกษาประชากรในเรื่องของคนนั้นจะใช้คำว่าประชากรมนุษย์
วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับประชากรมนุษย์โดยตรงคือ วิชาประชากรศาตร์ ซึ่งศึกษาถึงขนาด
การกระจายตัวและองค์ประกอบของประชากร ศึกษาถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางประชากร
รวมถึงการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางประชากรกับปัจจัยด้านอื่น
ที่เกี่ยวข้องเช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นต้น
ความสนใจในการศึกษาวิจัยทางด้านประชากรได้เกิดขึ้นอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
๑๗/ ๑๑๐๒๐
๓๓๒๒. ประชาชาติ
มีบทนิยามว่า "พลเมืองของประเทศชาติ" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่แปลว่าชาติ อันหมายถึงประชาชนที่รวมกันเข้าเป็นชาติ
หรือเป็นส่วนหนึ่งของชาติ
กล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงกลุ่มคนในชาติที่มีความรู้สึก เป็นปึกแผ่นและมีความจงรักภักดีร่วมกัน
อันเนื่องมาจากความสำนึกว่า พวกตนมีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน
๑๗/ ๑๑๐๒๔
๓๓๒๓. ประชาทัณฑ์
มีบทนิยามว่า "การที่ฝูงชนกลุ้มรุมทำร้ายเป็นการลงโทษบุคคลที่ตนเข้าใจหรือนึกว่ามีความผิด"
เมื่อกล่าวรวมความลง คำว่า ประชาทัณฑ์ หมายถึงการลงโทษผู้กระทำผิดนอกสารบบ
อาญายุติธรรม ให้ผู้กระทำผิดได้รับทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการลงโทษแบบกลุ้มรุมทำร้ายโดยหมู่คน
การลงโทษแบบประชาทัณฑ์มีมานานแล้ว ทั้งในสมัยพุทธกาล และสมัยต่อมา ทั้งนิยมปฏิบัติกันในทุกสังคมก่อนที่จะได้นำหลักนิติธรรมมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัย
๑๗/ ๑๑๐๒๗
๓๓๒๔. ประชาธิปไตย
มีบทนิยามว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่"
ประชาธิปไตย ปรากฎว่าเป็นแบบการปกครองของกรีกโบราณ ประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาลหรือราวสมัยพุทธกาล
แต่ก็เป็นประชาธิปไตย แบบที่ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ครั้นกรุงโรมเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี
พ.ศ.๓๔ ก็ได้นำหลักประชาธิปไตยมาใช้เช่น มีการเลือกตั้งกงสุลเป็นหัวหน้ารัฐบาล
เป็นต้น
ตั้งแต่กรุงโรมเป็นจักรวรรดิ์ในปี พ.ศ.๕๑๖ จนถึงปี พ.ศ.๑๗๕๙ ไม่ปรากฎว่ามีการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรป
อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มปฏิบัติการตามหลักประชาธิปไตยอีก เมื่อพระเจ้าจอห์น
ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๔๒ - ๑๗๕๙ ถูกบังคับให้ลงนามในกฎบัตรฉบับใหม่
(แมกนา คาร์ตา) เมื่อปี พ.ศ.๑๗๕๙ ซึ่งถือกันว่า เป็นเอกสารสำคัญฉบับแรกที่รักษาสิทธิของขุนนาง
และราษฎรภายในวงจำกัด
การปกครองแบบประชาธิปไตย ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในเวลาร้อยปีเศษก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
(พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) ชาวอเมริกันได้ทำสงครามอิสรภาพอเมริกันต่ออังกฤษ เพื่อสถาปนาสหรัฐอเมริกาในปี
พ.ศ.๒๓๒๙ และชาวฝรั่งเศษได้ทำการปฏิวัติในปี พ.ศ.๒๓๓๒ เพื่อตั้งประเทศของตนเป็นสาธารณรัฐ
ญี่ปุ่นได้ตรารัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
๑๗/ ๑๑๐๓๓
๓๓๒๕. ประชาบดี ๑
ตามสรูปคำแปลว่าผู้เป็นใหญ่ในประชา โดยความหมาย หมายถึงพระเป็นเจ้าผู้สร้างสัตว์ทั้งหลายของคติพราหมณ์
เป็นคำใช้เรียกพระพรหมาหรือมหาฤษีผู้เป็นมานสบุตร (บุตรเกิดแต่มโนของพระพรหมาผู้ได้รับมอบหมายให้สร้างมนุษย์และอมนุษย์ทั่วไป
บางตำราว่าพระมนูสวายัมภูวะ เป็นผู้ให้ประชาบดีมีกำเนิดขึ้น มีเรื่องกล่าวอยู่ในหนังสือลิลิตนารายณ์สิบปางและอภิธาน
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
เมื่อกล่าวรวมความแล้วประชาบดีนั้น บิดาหรือผู้สร้างสัตว์ทั้งหลายในคัมภีร์พระเวทเป็นคำใช้เรียกพระอินทร์
พระสวิตฤ (ตะวัน) พระโสม (น้ำโสม) พระหิรัณยครรภ (พรหมา) และเทวดาอื่น ๆ
คัมภีร์มนูสัมหิตาใช้เรียกท้าวพรหมธาดา ผู้สร้างและค้ำจุนโลก และพระมนูสวายัมภูวะก็เรียกว่าประชาบดี
เพราะเป็นลูกพระพรหมา และเป็นชนกแห่งทศฤาษีซึ่งเป็นชนกแห่งมนุษย์ แต่โดยมากเมื่อกล่าวถึงประชาบดี
ย่อมเข้าใจกันว่ามุ่งถึงฤาษีสิบตน ผู้เป็นชนกแห่งมนุษย์นั่นเอง
๑๗/ ๑๑๐๓๘
๓๓๒๖. ประชาบดี ๒
เป็นพระนามของพระนางโคตมี ผู้เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถกุมาร
มีพระนามเต็มว่าประชาบดีโคตมี ต่อมาได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุณี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้รับเอตทัตคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านรัตตัญญู
นับเป็นพระเถรผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ในจำนวนพระเถรีสิบสามองค์ (ดูโคตมี - ลำดับที่
๑๑๗๖ ประกอบ) ๑๗/
๑๑๐๔๕
๓๓๒๗. ประชาบาล
เป็นคำที่ใช้ในวงการศึกษา ปรากฎใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เพื่อจำแนกโรงเรียนตามประเภทของเงินที่ใช้ตั้ง
และบำรุงโรงเรียน คือเป็นโรงเรียนที่ประชาชนจัดตั้งขึ้น และดำรงอยู่ด้วยเงินของประชาชน
การศึกษาประชาบาลหมายถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับของไทย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประถมศึกษา
พ.ศ.๒๔๖๔ บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุสิบสี่ปีบริบูรณ์
๑๗/ ๑๑๐๔๕
๓๓๒๘. ประชามติ
ตามรูปคำแปลว่า "ความเห็นของประชาชน" มีบทนิยามว่า "มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ,
มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว
หรือให้ตัดสินในปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ"
เมื่อกล่าวถึงประชามติโดยทั่วไปมักคำนึงถึงอำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าความหมายอื่นคือ
เห็นกันว่าประชามติเป็นพลัง ที่สามารถบันดาลให้เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งคงอยู่
หรือเปลี่ยนแปลงไป
ประชามติมีขึ้นได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ
ประชามติเป็นรากฐานสำคัญของการปกครอง รัฐบาลของทุกประเทศในโลกย่อมตั้งอยู่บนรากฐานของประชามติ
และจะดำรงอยู่ได้ก็โดยการสนับสนุนของประชาชนที่อยู่ในปกครอง
๑๗/ ๑๑๐๕๓
๓๓๒๙. ประชาสงเคราะห์
แปลตามรูปคำว่า การช่วยเหลือหมู่ชนหรือการช่วยเหลือประชาชน การประชาสงเคราะห์
เป็นงานสวัสดิการสังคมที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลและใช้เงินภาษีอากร เอามาดำเนินงานสวัสดิการสังคม
จึงเรียกว่า สวัสดิการสาธารณชน หรือการประชาสงเคราะห์
คำว่าประชาสงเคราะห์ เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปประเทศไทย เมื่อมี พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง
ทบวง กรม ฉบับที่ ๙ พ.ศ.๒๔๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมา เพื่อให้มีการจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้น
ในการดำเนินการประชาสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ก็ย่อมต้องอาศัยวิชาการบริหารหรือรัฐประศาสนศาสตร์
ตลอดจนวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์เข้าช่วยในการวางนโยบาย วางแผนและโครงการสงเคราะห์ประชาชนประเภทต่าง
ๆ ด้วย ๑๗/ ๑๑๐๖๓
๓๓๓๐. ประชาสัมพันธ์ - การ
หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งโดยปรกติหมายถึงการติดต่อสัมพันธ์ในด้านดี
คือการเสริมสร้างความเชื่อถือ หรือความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
ตามประวัติศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ได้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาล นับตั้งแต่มนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นคณะ
มีหัวหน้าหรือผู้นำ
สำหรับประเทศไทยใช้กันแพร่หลายเมื่อทางราชการเปลี่ยนชื่อ กรมโฆษณาการ มาเป็นกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ และมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาสัมพันธ์ขึ้นในกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔
การประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับกิจวการด้านต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน
๑๗/ ๑๑๐๗๑
๓๓๓๑. ประดง
แพทย์โบราณจัดประดงอยู่ในพวกไข้ชนิดหนึ่ง (ไข้กาฬเกิดแทรกในไข้ทรพิษ อาการมีได้หลายอย่างแล้วแต่ชนิดของประดง
ไข้ประดง
แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประเภทพิษน้อย กับประเภทพิษมาก แต่ละประเภทยังแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด
ตามลักษณะของตุ่มที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง
ของแสลง สำหรับผู้ป่วยได้แก่ เนื้อสัตว์ ที่มีคาวจัด น้ำมัน กะทิ และของหมักดองต่าง
ๆ ๑๗/
๑๑๐๗๔
๓๓๓๒. ประดอง, ปาด่อง - ชนชาติ
หนังสือไทยสิบสองปันนา เรียกพวกชนชาตินี้ว่า ยางกะเลย ซึ่งอยู่ชายแดนสิบสองปันนา
ตอนติดต่อเขตรัฐฉานของพม่า
ในเมืองปาย ของมณฑลเสฉวน เป็นที่อาศัยของพวกประด่อง (เรียกชื่อของตัวเองว่า
เกฮองดุ) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ผู้หญิงคอยาวระหง ดูเป็นสวย
๑๗/ ๑๑๐๗๘
๓๓๓๓. ประดิษฐ - ไข้
ไข้ประดิษฐ์ หรือไข้เทียม หมายถึง ไข้ที่แพทย์กระทำขึ้นแก่ผู้ป่วยมิใช่ไข้ที่เกิดขึ้นจากโรค
ความมุ่งหมายในการทำให้เกิดไข้นี้ ก็เพื่อรักษาโรค หรืออาการของโรค ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่เดิม
นับเป็นการรักษาโรควิธีหนึ่ง เรียกว่า ไข้บำบัด
๑๗/ ๑๑๐๗๘
๓๓๓๔. ประดิษฐกรรม
ในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การค้นคิดประดิษฐสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นแล้วนำไปกระทำการให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกับสังคม
ประดิษฐกรรมทำให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ประดิษฐจะพึงได้รับ
โดยสรุปประดิษฐกรรมเป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ และนำไปประยุกต์ในด้านต่าง ๆ
๑๗/ ๑๑๐๘๓
๓๓๓๕. ประดู่ - ต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ต้นสูงประมาณ ๑๕ - ๓๐ เมตร ลำต้นตรงเปลือกสีน้ำตาลแดง
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปป้อมมนปลายใบแหลม เป็นช่อตามซอกใบสีเหลือง
มีกลิ่นหอม ดอกบานพร้อมกันหมดทั้งต้น รูปร่างดอกคล้ายดอกโสน แต่เล็กกว่า ผลเป็นแผ่นกลม
ตรงกลางนูน แล้วลาดออกเป็นปีกบาง ๆ โดยรอบกว้างประมาณ ๕ - ๖ ซม.
๑๗/ ๑๑๐๘๔
๓๓๓๖. ประดู่โรงธรรม - วัด
เป็นวัดราษฎร ตั้งอยู่ที่ ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จากหลักฐานทางโบราณคดี
โดยเฉพาะโบราณวัตถุสถานในทางพระพุทธศาสนาคือ ใบเสมาขนาดจิ๋ว ทำด้วยหินสีค่อนข้างแดง
เนื้อละเอียด เป็นใบเสมาที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๐๓๑)
ส่วนโบราณสถาน และโบราณวัตถุอื่น ๆ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.๒๑๗๓
- ๒๓๑๐) วัดนี้มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องในทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญอยู่สามครั้งคือ
ครั้งที่หนึ่ง ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พวกพ่อค้าญี่ปุ่นคุมกำลังประมาณ ๕๐๐
คน บุกเข้าไปในวัดเพื่อจะจับพระเจ้าทรงธรรม ขณะเสด็จออกฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ
แต่พระสงฆ์ในวัดนำพระองค์ออกไปโดยปลอดภัย
ครั้งที่สอง ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าอุทุมพรทูลถวายราชสมบัติแก่
พระเชษฐาธิราชแล้วทรงออกผนวช แล้วมาประทับอยู่ ณ วัดประดู่โรงธรรม
ครั้งที่สาม ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ พระองค์ได้อาราธนาพระอาจารย์ดี
จากวัดประดู่โรงธรรม ลงไปจัดการพระศาสนา และตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก
๑๗/ ๑๑๐๘๔
๓๓๓๗.ประตูน้ำ
๑. สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำ เพื่อให้เรือแพผ่านในบริเวณที่น้ำ ในทางน้ำนั้นมีระดับต่างกันได้
ประตูน้ำอาจสร้างไว้ใกล้เคียง หรือต่อเนื่องกับเขื่อนทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำประเภทต่าง
ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง
รูปลักษณะที่สำคัญของประตูน้ำคือ มีอ่างรูปยาวไปตามทางน้ำอยู่ตอนกลางระหว่างหัวประตูทั้งสองด้าน
อ่างเป็นที่พักของเรือในขณะที่ระบายน้ำเพื่อให้ระดับน้ำ จากระดับด้านหนึ่งไปสู่ระดับอีกด้านหนึ่ง
ส่วนหัวประตูนั้น มีบานประตูอยู่ระหว่างช่องเรือผ่าน สำหรับปิดกั้น และต้านทานแรงดันของน้ำ
ที่มีระดับต่างกัน และทางระบายน้ำสำหรับระบายน้ำ จากด้านที่สูงไปสู่ด้านที่ต่ำจนกว่าระดับน้ำทั้งสองข้างของหัวประตูนั้น
จะเท่ากัน แล้วจึงเปิดบานประตูให้เรือผ่านหัวประตูด้านนั้นไปได้
ประตูน้ำ หรือประตูใหญ่ คลองน้ำในแนวกำแพงรอบพระนครศรีอยุธยามี ๑๑ ประตู คือ
ประตูหอรัตนไชย ประตูในไก่ ประตูจีน ประตูเขาส้ม ประตูฉะไกรน้อย ประตูคลองใหญ่
ประตูคลองแคลง (คลองท่าพระ) ประตูคลองสายมหาไชย ประตูคลองฝาง ประตูปากท่อ
และประตูคลองข้าวเปลือก ๑๗/
๑๑๐๘๙
๓๓๓๘. ประตูป่า
คือ ประตูที่สะด้วยใบไม้กิ่งไม้ สำหรับพิธีนำศพออกจากบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ผีกลับเข้ามาบ้านได้
ทำให้ผีหลงทางเข้าเรือนไม่ถูก ประตูป่านั้น เห็นจะเป็นประตูไปสู่ป่าช้า กล่าวอย่างปริศนาธรรมก็ว่า
ผู้ไปแล้วไม่มีกำหนดว่าเมื่อไร จะกลับมาพบญาติมิตรได้อีก
ไทยภาคอีสาน ไม่ทำประตูป่า แต่พอศพคล้อยไป เขาจะเอาใบมะเขือชนิดที่มีหนามผูกที่บันได
ประเพณี อ.ลับแล นอกจากทำประตูป่า ยังเอาไม้ไผ่ขัดเป็นเฉลว ปักไว้ตรงเขตบ้าน
เมื่อหามศพผ่านบ้านใครก็ต้องเอาเฉลวปักให้เขาทุกทีไป ประเพณีไทยลื้อ เมื่อมีคนตายต้องทำเฉลวห้อยแขวนที่ประตูบ้าน
แขวนไว้ตลอดไปจนกว่าจะผุพังไปเอง ๑๗/
๑๑๐๑๓
๓๓๓๙. ประตูผี
เป็นประตูที่ทำไว้หรือกำหนดไว้สำหรับนำศพออกไปเผา ฝัง หรือทิ้งที่ป่าช้าเชื่อกันมาว่า
ประตูธรรมดานั้นใช้สำหรับคนเข้าออก ถ้านำคนตายออกทางประตูธรรมดา ถือว่าเป้นอัปมงคล
ประเพณีทำประตูทางออกโดยเฉพาะให้ผีออกที่เรียกว่า ประตูผีนี้มีมาในหลายชาติ
หลายประเทศ และยังมีในตอนตะวันตกและตอนใต้ของทวีปอัฟริกา ในหมู่เกาะประเทศอินโดนิเซีย
มาเลเซีย หมู่เกาะฟิจิ จีน ทิเบต ตาด และเอสกิโม
ประเพณีไทยมีประตูที่กำหนดไว้นี้เหมือนกัน เมื่อมีคนตายในเมืองต้องเอาออกไปเผา
หรือฝัง หรือทิ้งนอกเมือง จะหามศพออกประตูกำแพงเมืองไม่ได้เป็นอัปมงคล ต้องมีประตูออกเป็นพิเศษ
ชาวบ้านเรียกว่า ประตูผี สำหรับประเทศไทยในกรุงเทพ ฯ ประตูที่กำหนดไว้สำหรับนำผีออกคือ
ประตูสำราญราษฎร
ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านเรียก ประตูผี เพราะเวลานั้นป่าช้าคือ
ป่าช้าวัดสระเกศ
ภายในกำแพงพระนคร อันมีกำแพงและป้อมล้อมรอบนี้ ประเพณีของไทยแต่ก่อน เมื่อมีคนตายภายในกำแพงเมือง
จะต้องนำศพออกทางประตูผีไปฝังหรือเผายังวัดนอกกำแพงเมือง นอกจากพระบรมศพและพระศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศฺเท่านั้น
ที่ถวายพระเพลิงภายในเมือง ณ เมรุท้องสนามหลวง ๑๗/
๑๑๑๙
๓๓๔๐. ประตูสามยอด
เป็นประตูพระนคร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อแรกสร้างเป็นประตูซึ่งสร้างคร่อมถนนเจริญกรุง
ประตูสามยอด มีอายุมาถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ ทางการจึงรื้อลง ชั้นเดิมสร้างในรัชกาลที่หนึ่ง
ซุ้มประตูที่สร้างเป็นยอดรวมทั้งประตูสามยอดนี้ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ห้าอีกครั้งหนึ่ง
ประตูสามยอดที่สร้างใหม่นี้ มีบานประตูเป็นเหล็ก ปิดเปิดได้สามช่อง ประตูช่องเหนือ
และช่องกลาง สำหรับให้รถม้า และรถลากผ่าน ส่วนประตูด้านใต้ให้รถรางผ่าน
๑๗/ ๑๑๒๗