| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ระบบการระบายน้ำ
            การที่เป็นที่ราบสูงที่มีกรอบโดยรอบเป็นภูเขา ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงสู่แอ่งตอนกลาง ดังนั้นจึงเกิดน้ำท่วมได้ในฤดูฝน เช่นเดียวกับภาคเหนือและภาคกลาง
            ลำน้ำในภาคนี้ที่เป็นลำน้ำสายใหญ่ คือลำน้ำโขง ซึ่งไหลอยู่ตามขอบของภาคโดยตลอด ส่วนลำน้ำอื่น ๆ เป็นเพียงลำน้ำที่ส่งน้ำให้ลำน้ำโขง

            ลำน้ำโขง  เป็นลำน้ำสายยาวที่สุดสายหนึ่งของทวีปเอเซีย มีความยาว ประมาณ ๔,๔๐๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงธิเบต ไหลขนานอยู่ในตอนกลาง ระหว่างลำน้ำแยงซีเกียงทางด้านเหนือ และลำน้ำสาละวินทางด้านใต้ ลำน้ำโขงไหลมาทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่ภูเขาชัยซอน จนมาถึงที่ราบสูงยูนนานจึงไหลวกลงมาทางใต้ เข้าสู่ประเทศลาว ที่บริเวณเมืองสิงห์ เมื่อไหลมาถึงเมืองห้วยทราย ช่วงนี้ท้องน้ำเต็มไปด้วยหินผาและเกาะแก่งใช้เดินเรือไม่ได้
            ลำน้ำโขงไหลผ่านประเทศไทย และใช้เป็นพรมแดนไทยกับลาว โดยเริ่มตั้งแต่ปากน้ำเหือง จนถึงปากน้ำมูล อาจจะแบ่งออกเป็นตอน ๆ ตามสภาพทางกายภาพที่แตกต่างกันได้ดังนี้
            ตอนระหว่าง อำเภอเชียงของ - อำเภอเมืองหนองคาย ใช้เดินเรือได้บ้างแต่ไม่สดวก เพราะท้องน้ำเต็มไปด้วยเกาะแก่ง และกระแสน้ำไหลเชี่ยว
            ตอนอำเภอเมืองหนองคาย - อำเภอเมืองมุกดาหาร ช่วงนี้ลำน้ำขยายกว้างออก พื้นลำน้ำเปลี่ยนสภาพจากเดิมที่เป็นพื้นหิน และดินแดงมาเป็นพื้นทราย พื้นน้ำราบเรียบใช้เดินเรือได้สดวก ลำน้ำกว้างประมาณ ๗๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร บริเวณจังหวัดนครพนม และกว้าง ๑,๓๕๐ เมตร ในเขตจังหวัดมุกดาหาร และมีความลึกประมาณ ๑๕ - ๒๕ เมตร
            ตอนใต้ลงมาบริเวณอำเภอเขมราฐ  เป็นตอนที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวจัด มีเกาะแก่งอยู่กลางน้ำไม่สดวก และยากแก่การเดินเรือ ช่วงนี้มีระยะทางประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร ในระยะต่อมาทางฝรั่งเศสได้จัดการแก้ไข จนใช้เดินเรือได้โดยใช้เรือที่มีระวางขับน้ำไม่เกิน ๓๐ ตัน
            ตอนต่อลงไปถึงแก่งโขน ซึ่งเป็นตอนสุดเขตแดนลาว ลำน้ำโขงไหลเข้าสู่ดินแดนเขมร มีแก่งโขนซึ่งเป็นแก่งใหญ่เป็นลาดหินสูงประมาณ ๑๗ เมตร ได้มีการขุดร่องน้ำอ้อมแก่งนี้เพื่อให้เรืออ้อมลงมาทางใต้
            แควต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขงในช่วงที่ไหลผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนี้
            ทางฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย ได้แก่ ลำน้ำกก ลำน้ำรวก ลำน้ำแม่จัน ลำน้ำอิง ลำน้ำเหือง ลำน้ำเลย ลำน้ำโขง ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ ห้วยบางทราย ห้วยมุก ห้วยบังอี่ และลำน้ำมูล

            ลำน้ำมูล  เป็นลำน้ำใหญ่เพียงสายเดียวบนที่ราบสูงแห่งนี้ นับว่าเป็นเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยง พื้นที่ดินทรายอันกว้างขวาง ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสองทิวด้วยกันคือ ทิวเขาหินแกรนิต ในทิวเขาสันกำแพง เป็นทิวเขาที่เชื่อมทิวเขาดงพระยาเย็นกับทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขานี้จะกั้นลำน้ำมูลไว้ทางด้านทิศตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทิวเขาหนึ่งคือทิวเขาหินปูน ซึ่งทอดตัวขนานอยู่ทางด้านตะวันออก ต้นน้ำของลำน้ำมูลอยู่ในเขต อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอโชคชัย แล้วมีลำพระเพลิงไหลมาบรรจบทางฝั่งตะวันตก ผ่านอำเภอท่าช้าง อำเภอพิมาย โดยมีลำเชิงไกรไหลมาบรรจบก่อนถึงอำภเภอพิมาย เมื่อไหลผ่านอำเภอพิมายแล้วมี ลำจักรราชไหลมาบรรจบ จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเขตอำเภอท่าตูม มีลำปลายมาศ และสตึงเปรี๊ยะซีไหลมาบรรจบ จากนั้นไหลผ่าน จังหวัดศรีสะเกษ มีห้วยระวี และห้วยทับทันไหลมาบรรจบ แล้วไหลผ่านอำเภอเมืองอุบล ฯ โดยมีลำน้ำชีไหลมาบรรจบก่อนถึงจังหวัดอุบล ฯ จากนั้นไหลผ่าน อำเภอพิบูลมังสาหาร แล้วไปบรรจบลำน้ำโขงที่บ้านปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบล ฯ ในห้วงนี้ลำห้วยต่าง ๆ ไหลมาบรรจบอีกหลายสาย
            ตอนใกล้ปากแม่น้ำ คือตั้งแต่ อำเภอพิบูลมังสาหารไปถึงลำน้ำโขง ระยะทาง ประมาณ ๓๔ กิโลเมตร มีเกาะแก่งต่างๆ ขวางลำน้ำมูลอยู่รวม ๑๓ แห่งด้วยกัน แก่งเหนือสุดได้แก่ แก่งสะพือ แก่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ แต่ก็มีประโยชน์เป็นเสมือนฝายกั้นน้ำในลำน้ำมูล ไม่ให้แห้งไปในฤดูแล้ง หากไม่มีแก่งเหล่านี้กระแสน้ำในลำน้ำมูลจะไหลแรงขึ้น และน้ำจะไหลลงสู่ลำน้ำโขงเร็วขึ้นจนหมดสิ้นในระยะเวลาอันชั่งสั้น
            ลำน้ำมูลเป็นลำน้ำสายเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หล่อเลี้ยงเกือบทุกจังหวัดในภาคนี้ คือ ๑๒ จังหวัดใน ๑๕ จังหวัด เว้น ๓ จังหวัดคือ สกลนคร นครพนม และหนองคาย ในตอนต้นน้ำจะไหลอยู่ในซอกหิน แล้วจึงขยายกว้างออกไปตามลำดับ ในฤดูแล้งลำน้ำบางตอนจะตื้นเขิน ลุยข้ามได้ความเร็วของกระแสน้ำไม่ใคร่เปลี่ยนแปลง ในฤดูน้ำน้ำจะท่วมที่ลุ่มทั้งสองฟาก ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีจะกว้างถึงสองกิโลเมตร และนับตั้งแต่อำเภอท่าช้างจนถึงปากมูล จะมีน้ำตลอดปี ลำน้ำมูลมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร ลำห้วยที่สำคัญของลำน้ำมูลได้แก่
                ลำพระเพลิง  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสันกำแพง ไหลมาตามซอกเขาในเขต อำเภอปักธงชัย จนถึงบ้านบุหัวช้าง ตำบลตะขบจึงพ้นจากซอกเขาแล้วไหลขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปบรรจบลำน้ำมูลที่บ้านบุสะเดา ตำบลตะโพก อำเภอปักธงชัย มีความยาว ประมาณ ๙๘ กิโลเมตร ลำน้ำสายนี้มีน้ำเป็นตอน ๆ ใช้เดินเรือไม่ได้
                ห้วยสำราญ  ต้นน้ำเกิดจากเขาหินร่อง ทางด้านตะวันตกของอำเภอปักธงชัย ไหลมาบรรจบกับลำพระเพลิง ที่ตำบลลาดบัวขาว อำเภอโชคชัย ใช้เดินเรือไม่ได้
                ลำตะคอง  ต้นน้ำเกิดจากเขานครนายก เมื่อไหลผ่านทิวเขาไม้จันทน์แล้วก็ไหลผ่าน อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา มีความยาวประมาณ ๑๕๕ กิโลเมตร
                ลำเชิงไกร  หรือลำเชียงไกร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาดงพระยาเย็น ไหลผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอโพนไทย อำเภอโนนสูง
                ลำปลายมาศ  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาพนมดงรัก ไหลผ่านอำเภอนางรอง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ไปบรรจบลำน้ำมูลที่ ตำบลบ้านแปร
                ลำพระชี (สตรึงเปรี๊ยะซี)  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาพนมดงรัก บริเวณช่องเสม็ด มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
                ห้วยระวี  เป็นลำห้วยอยู่ทางด้านตะวันออกของลำพระชี ต้นน้ำเกิดจากป่าบริเวณทิศเหนือของ จังหวัดสุรินทร์ มีความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร
                ห้วยทับทัน  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาพนมดงรัก มีความยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
                ห้วยสำราญ  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาพนมดงรัก บริเวณช่องจอม ไหลผ่าน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอขุขันท์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปบรรจบลำน้ำมูลทางเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ มีความยาวประมาณ ๑๒๖ กิโลเมตร มีห้วยท่าเอกไหลมาบรรจบบริเวณเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ห้วยท่าเอกยาว ๙๐ กิโลเมตร
                ห้วยขยุง  เกิดจากแควห้วยหา และแควห้วยขยุง ซึ่งเกิดจากทิวเขาพนมดงรัก แควทั้งสองมาบรรจบกันที่ อำเภอกันทารมณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งเป็นตอน ๆ

            ลำชี  เป็นสาขาใหญ่ที่สุดของลำน้ำมูล มีขนาด และความยาวเกือบเท่ากัน ลำชีหล่อเลี้ยงจังหวัดในภาคนี้ ๘ จังหวัด มีลำห้วย และลำน้ำเล็กไหลลงสู่ลำชีเป็นจำนวนมาก ตอนต้นน้ำแบ่งออกเป็นสองแคว แควเหนือ ต้นน้ำมาจากบึงอีจ้อย ในทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มาบรรจบกับแควตะวันตก คือลำคันถู ซึ่งเกิดจากทิวเขาดงพระยาเย็น ไหลผ่านอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อแควทั้งสองนี้ไหลมาบรรจบกันแล้ว ก็ไหลผ่านอำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอปัญจคีรี อำเภอเมืองขอนแก่น จากนั้นก็มีลำน้ำพองไหลมาบรรจบ แล้วไหลผ่าน อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมืองมหาสารคาม จากนั้นมีลำน้ำปาว ลำน้ำไหลไหลมาบรรจบ แล้วไหลต่อไปผ่านอำเภอเมืองยโสธร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอมหาชนะชัย แล้วไปบรรจบลำน้ำมูลที่บ้านท่าดอน  ใกล้อำเภอเมืองอุบล ฯ
            ลำชีมีลำน้ำไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก  ที่สำคัญคือ น้ำพอง น้ำปาว และห้วยยาว
                น้ำพอง  เป็นแควใหญ่สุดของลำชี ไหลผ่านเขตจังหวัดเลย อุดร ชัยภูมิ และขอนแก่น ต้นน้ำเกิดจากเขากระทิง (เขากระดิ่ง) มีลำห้วย หลายสายไหลมาบรรจบที่สำคัญคือ น้ำพะเนียง น้ำพาย และน้ำเซิน
                        - น้ำพะเนียง  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาในจังหวัดเลย และเขาเก้ายอด ไหลมาบรรจบน้ำพองที่บ้านกุดปล้ำ
                        - น้ำพาย  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาภูกระดึง และรับน้ำจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาบรรจบน้ำพองที่บ้านกุดหา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
                        - น้ำเซิน  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาเพชรบูรณ์ และขอบที่ราบสูงโคราช ตอนต้นน้ำมีลำห้วยสายเล็ก ๆ ไหลมาร่วมได้แก่ น้ำแสม น้ำหก และน้ำสาย ห้วยเหล่านี้ไหลมาร่วมที่บ้านชุมแพ จังหวัดขอนแก่น แล้วไหลไปบรรจบน้ำพองที่บ้านอู่มุ้ง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
            น้ำพองไหลไปบรรจบ ลำชี ที่บ้านเผือ จังหวัดขอนแก่น มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
                น้ำปาว รับน้ำจากหนองหาร ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดร กับหนองพันสัก จังหวัดกาฬสินธุ์
                        - หนองหาร  ได้รับน้ำจากเขาผาแข็ง มีความกว้างประมาณ ๕ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
                        - หนองพันสัก  ได้รับน้ำจากเขาผาพัก และดงแม่เผ็ด (แม่เปรต) มีขนาดเล็กกว่าหนองหารเล็กน้อย
            น้ำปาวไหลผ่าน จังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วไปบรรจบลำชีที่บ้านสิดดั้ง อำเภอกมลาสัย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความยาวประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร
                ห้วยยาว  ไหลมาบรรจบลำชี ถัดจากลำปาวไปทางตะวันออก ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน และได้รับน้ำจาก ลำห้วยต่าง ๆ จากดงแม่เปรต ห้วยยาวไหลผ่าน จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบลำชีในเขต จังหวัดยโสธร ตอนต้นน้ำเรียกว่า ห้วยไผ่ เป็นลำน้ำที่เป็นแนวแบ่งเขต อำเภอยางตลาด อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอกมลาสัย ตอนปลายน้ำเป็นแนวเส้นแบ่งเขต จังหวัดอุบลกับ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำที่ไหลอยู่รอบนอกของที่ราบสูง หรือในลุ่มน้ำโขง เป็นลำน้ำซึ่งเกิดทางแถบเหนือของทิวเขาเลย ทิวเขาเก้าลูก และทิวเขาภูพาน และพวกที่เกิดทางทิศตะวันออกของทิวเขาภูพาน ได้แก่ลำน้ำเหือง ลำน้ำเลย ลำน้ำโมง ลำน้ำสวย ลำห้วยหลวง ลำน้ำสงคราม ลำน้ำยวม ลำน้ำก่ำ ห้วยบางทราย ห้วยมุก ห้วยบังอี่
             ลำน้ำเหือง  เป็นลำน้ำที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยของไทย กับ เมืองแก่นท้าวของลาว เป็นลำน้ำสายเล็ก ๆ ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ คือ จากภูกอต่อต่อย ภูขัด และภูสวนแตน ทางด้านเหนือของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตอนต้นน้ำชื่อ ลำน้ำราหู ยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ไหลอยู่ในหุบเขาแคบ ๆ ช่วงที่เรียกว่าลำน้ำเหืองนับจากบ้านปากหมันถึงบ้านปากเหือง ยาวประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร ไหลอยู่ระหว่างแนวลูกเนิน และภูเขา ได้แก่ แนวภูปางหา และภูเวินทองทางเหนือ กับภูผาแง้มทางฝั่งใต้ ไหลผ่านอำเภอท่าลี่ ลงสู่ลำน้ำโขงที่บ้านปากเหือง ท้องน้ำเป็นหินกรวด ในฤดูน้ำน้ำจะไหลเชี่ยว ฤดูแล้งน้ำน้อย ไม่สดวกต่อการเดินเรือ แควที่สำคัญของลำน้ำเหืองคือ น้ำหมันและน้ำหอย
                น้ำหมัน  เกิดจากภูเวียง (สูง ๒,๐๐๐ เมตร) และภูหล่มล่อ (สูง ๑,๙๐๐ เมตร) ในทิวเขาเพชรบูรณ์ ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ไหลจากทางทิศใต้ไปตามหุบเขา ผ่านอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ไปบรรจบน้ำเหืองที่บ้านปากหมัน
                น้ำหอย  เป็นแควทางเหนืออยู่ในเขตลาว ต้นน้ำเกิดจากภูสอยดาว และภูหนองใหญ่ในทิวเขาหลวงพระบาง เป็นน้ำ และน้ำหิน แล้วไหลมารวมกันเป็นน้ำหอย ไหลผ่านซอกเขาลงสู่น้ำเหืองที่บริเวณตรงข้ามภูผาแง้ม
            ลำน้ำเหืองมีท่าข้ามอยู่สองแห่งคือที่ บ้านปากเหือง เป็นท่าลุยข้ามของเกวียนในฤดูแล้ง ติดต่อกับอำเภอหล่มสัก - ช่อแดน ที่บ้านเมืองแพร่ เป็นท่าลุยข้ามของเกวียนในฤดูแล้ง ติดต่อกับอำเภอหล่มสักและอำเภอนครไทย
            ลำน้ำเลย  เป็นลำน้ำเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๑๕๕ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาหลวง (สูง ๑,๐๐๐ เมตร) และภูกระทิง (สูง ๖๐๐ เมตร) ไหลอยู่บนที่ราบสูงจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ในระหว่างเขาแล้วกับทิวเขาหลวง ไหลผ่านจังหวัดเลย แล้วไหลลงสู่ลำน้ำโขง ที่บ้านคดบาท ทางตะวันออกของปากน้ำเหือง ๑๒ กิโลเมตร
            ลำน้ำเลยมีน้ำตลอดปี ในฤดูน้ำน้ำเชี่ยวมาก ท้องน้ำเป็นกรวดและทราย ลำน้ำนี้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำได้ จากอำเภอเชียงคาน ถึงอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยใช้เรือยนต์ขนาดเล็ก
            ที่อำเภอเชียงคานเป็นท่าข้ามติดต่อกับบ้านสานะคาม ซึ่งติดต่อไปถึงเมืองหลวงพระบางได้
            ลำน้ำเลยได้รับน้ำจากลำธารเล็ก ๆ หลายสาย ที่สำคัญได้แก่ห้วยสาย ซึ่งมีต้นน้ำจากภูแล้วไหลไปทางตะวันตกลงสู่น้ำเลย
            ลำน้ำโมง  เป็นลำน้ำเล็ก ๆ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาแก้วลูกใน บริเวณเขาผาถ้ำชัง และเขาผาแข็ง(สูง ๕๐๐ - ๖๐๐ เมตร) ในเขตอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ไหลผ่าน จังหวัดอุดร หนองคาย แล้วไหลลงสู่ลำน้ำโขงที่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นช่วง ๆ ในฤดูน้ำ น้ำมากและไหลเชี่ยว ใช้เรือขนาด ๑๕ ตัน ขึ้นล่องได้
            ลำน้ำสวย  เป็นลำน้ำเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากพื้นที่เนินในเขตอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย ห้วยวังพันดง ห้วยวัด ห้วยนาเสือ ไหลไปทางทิศตะวันตก รวมกันเป็นลำน้ำสวย แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เป็นเส้นแบ่งเขต จังหวัดอุดรธานีกับ จังหวัดหนองคาย ไหลลงสู่ลำน้ำโขงที่บ้านปากสวย จังหวัดหนองคาย ลำน้ำสวยมีน้ำเฉพาะฤดูน้ำเท่านั้น ท้องน้ำเป็นทราย
            ลำห้วยหลวง  เป็นลำน้ำสายเล็ก ๆ ต้นน้ำเกิดจากหมู่เขาเก้าลูก ในเขตอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ไหลผ่านอำเภอเพ็ญ อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ไหลลงสู่ลำน้ำโขงที่ อำเภอโพนพิสัย ลำห้วยหลวงมีน้ำไหลตลอดปี
            ลำน้ำสงคราม  เป็นลำน้ำสายยาวที่สุดในแถบที่ราบลุ่มน้ำโขง มีความยาวประมาณ ๓๑๕ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาภูพาน จากหมู่เขาในเขตอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และจากทิวเขาผาหัก ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ไหลไปทางทิศเหนือ แล้ววกลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำโขงที่ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
            ลำน้ำนี้ใช้เป็นเส้นทางแบ่งเขตจังหวัดสกลนคร กับจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเกือบตลอดทั้งสาย มีน้ำตลอดปี ใช้เดินเรือได้ในฤดูน้ำ เรือขนาด ๕๐ ตัน เดินจากปากน้ำ ถึง อำเภอบ่อศรีสงคราม ในฤดูแล้งใช้ได้เฉพาะเรือขนาดเล็ก ลำน้ำสงครามได้รับน้ำจากแควหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำยวม และลำน้ำก่ำ
                ลำน้ำยวม  เป็นแควสายใหญ่ของลำน้ำสงคราม ยาวประมาณ ๑๑๔ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาภูพาน ไหลผ่าน อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในฤดูน้ำเรือเดินได้ถึงบ้านหนองแสง อำเภอสว่างแดนดิน ฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นช่วง ๆ
                ลำน้ำก่ำ  ต้นน้ำเกิดจากหมู่เขาในทิวเขาภูพาน คือ ภูผานาง ภูผาแดง ภูหินแท่น ไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานกับแนวทิวเขาภูพาน ไหลผ่านที่ลุ่มสองแห่งคือ หนองสัง และบึงผีป่าช้า ได้รับน้ำจากลำห้วยเล็ก ๆ ที่เกิดจากเทือกเขาภูพาน หลายสายเกือบตลอดความยาว เริ่มตั้งแต่ห้วยยาง ห้วยก้านเหลือง และห้วยคำชะอี ลำน้ำก่ำยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ลำน้ำคดเคี้ยวมาก
            ห้วยบางทราย  ต้นน้ำอยู่ระหว่างหมู่เขาในทิวเขาภูพาน ประกอบด้วยห้วยบางทรายเหนือ ต้นน้ำเกิดจาก ภูพอก ภูขี้แก้ว ภูถ้ำเสือ และภูหีบ ห้วยบางทรายใต้ ต้นน้ำเกิดจากภูกำพระ ภูเนย ภูผีหลอก และภูสีฐาน แควทั้งสองไหลมารวมกัน แล้วไหลไปทางทิศตะวันออก ลงสู่ลำน้ำโขงที่ บ้านบางทราย ในเขตอำเภอเมืองมุกดาหาร มีความยาวประมาณ ๙๐ กิโลเมตร
            ห้วยบังอี่ ต้นน้ำเกิดจากภูกันหวด ภูเมย และภูผีหลอก ตอนต้นน้ำ น้ำไหลอยู่ตามซอกเขา ถึงบ้านนาสะแบงน้อย จึงไหลในพื้นที่ราบเล็ก ๆ ระหว่าง ภูหินลิ่ว ทางทิศเหนือกับแนวภูถ้ำเม่น ทางทิศใต้ มีทิศทางไหลไปทางด้านทิศตะวันออก ไหลลงสู่ลำน้ำโขงที่ดอนบังอี่ มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
หนองน้ำและที่ลุ่ม

            เนื่องจากเป็นที่ราบสูงและเป็นพื้นดินทราย สดวกต่อการระบายน้ำ ในภาคนี้จึงมีหนองน้ำอยู่ไม่มากนัก หนองน้ำขนาดใหญ่ และมีความสำคัญมีอยู่เพียงสามแห่ง ได้แก่ หนองหาร หนองพันสัก และหนองละหาน
            หนองหาร  เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๘ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีน้ำตลอดปี ขนาดของหนองจะขยายออกอีกประมาณเท่าตัวในฤดูฝน กลางหนองมีเกาะเรียกว่า ดอนสวรรค์ ตัวอำเภอเมืองสกลนคร อยู่ติดกับหนองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
            หนองพันสัก  มีความกว้างประมาณ ๕ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำตลอดปี รับน้ำจากภูผาแข็ง ในทิวเขาเก้าลูกทางตะวันตกมีสภาพเป็นแอ่งพักน้ำที่ไหลมาจากทิวเขาภูพาน และเป็นแหล่งระบายน้ำให้กับลำน้ำปาวในฤดูน้ำ
            หนองละหาน  มีความกว้างประมาณ  ๓ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีน้ำตลอดปี ตรงกลางมีเกาะเรียกว่าดอนแก้ว ตัวหนองอยู่ทางด้านตะวันออกของ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดร
            นอกจากหนองน้ำขนาดใหญ่ทั้งสามแห่งนี้แล้ว ยังมีหนองน้ำขนาดเล็กอยู่อีกหลายแห่ง อยู่ในเขตจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
 
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |