หน้าต่อไป


ขุนช้าง ขุนแผน ในพงศาวดาร


เรื่องขุนช้าง ขุนแผน มีเนื้อความปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งนับเป็นเรื่อง ในพระราชพงศาวดาร สรุปสาระได้ดังนี้
 
พระราชวงศ์ของ พระเจ้าอู่ทอง ได้ครองราชสมบัติ ในกรุงศรีอยุธยาตามลำดับหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระพันวษา มีพระมเหสีทรงพระนามว่า สุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระบรมกุมาร
ต่อมา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง ปรารถนาจะเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งมาถวายพระพันวษา ระหว่างทางได้ถูกพระเจ้าโพธิสารราชกุมาร เจ้านครเชียงใหม่ ไม่ต้องการให้กรุงศรีสัตนาคนหุต มาเป็นมิตรกับกรุงศรีอยุธยา ส่งกำลังเข้าแย่งชิงพระราชธิดาไป
สมเด็จพระพันวษาทราบเรื่องก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้ยกทัพไปตีนครเชียงใหม่ ในการนี้จำต้องหาผู้ที่มีฝีมือในการรบไปทำการ พระจมื่นศรีมหาดเล็ก ได้กราบทูลให้ใช้ ขุนแผน ซึ่งต้องโทษอยู่ในคุกให้เป็นแม่ทัพหน้ายกไปตีเมืองเชียงใหม่ ขุนแผนก็รับอาสาพร้อมกับถวายทัณฑ์บนว่าถ้าทำการไม่สำเร็จก็จะขอถวายชีวิต พระพันวษาจึงตั้งให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพไทย ไปตีนครเชียงใหม่
เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองพิจิตร ได้ไปขอดาบเวทวิเศษ (ดาบฟ้าฟื้น) กับม้าวิเศษ (ม้าสีหมอก) ที่ฝากเจ้าเมืองพิจิตรไว้คืนมา เพื่อนำไปใช้ในการศึก เมื่อกองทัพถึงเชียงใหม่ ฝ่ายเชียงใหม่ได้ทำการต่อสู้เป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้ ขุนแผนเข้านครเชียงใหม่ได้ เจ้านครเชียงใหม่หนีไป ขุนแผนจึงจับอรรคสาธุเทวี มเหสีเจ้าเชียงใหม่กับพระราชธิดานามว่า เจ้าแว่นฟ้าทอง พร้อมสนมเจ้านครเชียงใหม่ไว้ และให้เชิญนางสร้อยทอง ราชธิดาพระเจ้าลานช้าง พร้อมทั้งมเหสีและราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่ เลิกทัพกลับมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระพันวษา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ กลับมาครองเมืองเชียงใหม่ ตามเดิม เพื่อความสงบสุขของสมณชีพราหมณ์และราษฎรชาวเมืองเชียงใหม่ และให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ขุนแผนและกำลังพลในกองทัพโดยทั่วหน้า ทรงตั้งนางสร้อยทองเป็นพระมเหสีซ้าย นางแว่นฟ้าเป็นสนมเอก ส่วนมเหสีเจ้านครเชียงใหม่ ทรงส่งคืนให้เจ้านครเชียงใหม่ ส่วนบรรดาข้าคนชาวลานช้างและชาวเชียงใหม่ ก็ให้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายขุนแผนเมื่อเห็นว่าตนชราภาพแล้ว จึงนำดาบเวทวิเศษของตนถวายสมเด็จพระพันวษา พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ และทรงพระราชทานว่า พระแสงปราบศัตรู
สมเด็จพระพันวษาครองราชย์ได้ 25 พรรษา เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 40 พรรษา
จากหลักฐานดังกล่าว เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องที่เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

เดิมเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เล่าเป็นนิทาน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยาวมาก เมื่อแต่งเป็นกลอน และขับเป็นลำนำด้วยก็ยิ่งจะต้องใช้เวลามาก ไม่สามารถจะขับให้ตลอดเรื่องในคืนเดียวได้ บทเสภาที่แต่งขึ้นจึงแต่งแต่เป็นตอนพอที่จะขับได้ภายในหนึ่งคืน ดังนั้น บทเสภาเดิมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า หรือที่แต่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงแต่งเป็นท่อนเป็นตอน ไม่เป็นเรื่องติดต่อเหมือนกับบทละคร การเอาบทเสภามารวมติดต่อกันให้เป็นเรื่องโดยสมบูรณ์ เพิ่งทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ

หนังสือเสภาสมัยกรุงเก่าน่าจะสูญหายหมด เนื่องจากผู้ที่แต่งหนังสือเสภาสำหรับขับหากิน น่าจะปิดบังหนังสือของตน เพื่อป้องกันผู้อื่นมาแข่งขัน จะให้อ่านเพื่อท่องจำก็เฉพาะในหมู่ศิษย์และคนใกล้ชิด ด้วยสภาพดังกล่าวหนังสือเสภาจึงสาบสูญได้ง่าย ไม่เหมือนหนังสือประเภทอื่น เช่น หนังสือบทละคร และหนังสือสวด ดังนั้น บทเสภาครั้งกรุงเก่า จึงตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์เพียงเล็กน้อย จากการจดจำกันมาและมีไม่มากตอน
            ตำนานเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานแสดงที่มาได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะพบได้จากกลอนของสุนทรภู่ กลอนไหว้ครู ที่ได้มีการเอ่ยชื่อครูเสภาไว้หลายท่าน พร้อมทั้งผลงานของท่านเหล่านั้น ที่ให้ไว้ในงานเสภา เช่น ครูทองอยู่ ครูแจ้ง ครูสน ครูเพ็ง พระยานนท์ เป็นต้น ส่วนครูปี่พาทย์ก็มีครูแก้ว ครูพัก ครูทองอิน ครูมีแขก ครูน้อย เป็นต้น
หนังสือเสภาที่แต่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ จะแต่งเป็นตอน ๆ แต่ละตอนยาวประมาณ 2 เล่มสมุดไทย พอจะขับได้ภายในหนึ่งคืน หนังสือเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เท่าที่รวบรวมได้ในหอพระสมุด มีต่างกันถึง 8 ฉบับ และยังมีฉบับปลีกย่อยอีกต่างหาก รวมประมาณ 200 เล่ม สมุดไทย
การชำระหนังสือเสภา เมื่อปี พ.ศ.2460
หนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นฉบับที่น่าจะได้ชำระเป็นครั้งแรก โดยเลือกจากเรื่องและกลอนดีที่มีอยู่ 38 เล่ม เป็นเรื่องตั้งแต่ต้น จนถึงตอนขับนางสร้อยฟ้าไปเชียงใหม่ ตอนต่อจากนี้ไปถึงตอนพลายยงไปเมืองจีน และตอนพลายเพ็ชร พลายบัว เห็นว่าไม่มีสาระทางวรรณคดี จึงไม่พิมพ์ ต่อมาได้เพิ่มเติมจากบทเสภาปลีกอีกหลายตอนที่แต่งดี เช่น ตอนจรเข้เถรขวาด และบางตอนก็ตัดความในเสภาเดิมไปขยาย เช่น ตอนกำเนิดกุมารทอง หนังสือเสภาฉบับนี้ยาวประมาณ 43 เล่มสมุดไทย



| หน้าต่อไป | บน |