| หน้าต่อไป |

กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
loading picture

            ในยุคล่าอาณานิคม ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 481,600 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร
            ดินแดนที่เสียไปตามลำดับมีดังนี้
                1.  แคว้นกัมพูชา  เมื่อปี พ.ศ. 2410
                2.  แคว้นสิบสองจุไทย  เมื่อปี พ.ศ. 2431  เป็นพื้นที่ 87,000 ตารางกิโลเมตร
                3.  ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทร์ และอาณาเขตนครจัมปาศักดิ์ตะวันออก  ตลอดจนบรรดาเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง  เมื่อปี พ.ศ. 2436  หรือที่รู้จักกันดีคือ ร.ศ. 112  เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร

loading picture
                4.  ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง บริเวณที่อยู่ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และตรงข้ามเมืองปากเซ เมื่อปี พ.ศ. 2446  เป็นพื้นที่ 62,000 ตารางกิโลเมตร  เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้เมื่อ ร.ศ. 112
                5.  มณฑลบูรพา ได้แก่ พื้นที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เมื่อปี พ.ศ. 2449 เป็นพื้นที่ 51,000  ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองตราด เกาะกง และเมืองด่านซ้าย พร้อมทั้งอำนาจศาลไทย ต่อคนในบังคับฝรั่งเศส
            ต่อมาประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย เพื่อเตรียมรับสงครามโลกครั้งที่ 1  อังกฤษและฝรั่งเศสจึงได้ประชุมพิจารณาปรองดองกัน ในปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณานิคมโดยทั่วไป สำหรับประเทศไทยนั้นได้ตกลงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
            ส่วนที่ 1  เป็นพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่มณฑลนครราชสีมาไปทางตะวันออกทั้งหมด เป็นเขตผลประโยชน์ของฝรั่งเศส
            ส่วนที่ 2  เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของมณฑลราชบุรีลงไป เป็นเขตผลประโยชน์ของอังกฤษ
            ส่วนที่ 3  คงเหลือเฉพาะพื้นที่ภาคกลางคงเป็นของไทย
            สัญญานี้ทำกันเมื่อปี ค.ศ. 1911  แต่เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1  มหาประเทศคู่สงคราม ต่างพากันอ่อนกำลังลงไป นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเข้าร่วมสงคราม โดยอยู่ทางฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะ จึงทำให้มีฐานมั่นคงขึ้น

การเสียดินแดนเมื่อ ร.ศ. 112

loading picture
            เป็นการเสียดินแดนครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสที่เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันทางชายแดน ได้ส่งเรืรบ 2 ลำ เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยใช้เรือพาณิชย์นำร่องเข้ามาถึงพระนคร แล้วยื่นเงื่อนไขคำขาดกับไทย
            ฝ่ายอังกฤษ เห็นพฤติกรรมฝรั่งเศส ที่จะยึดประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ก็เข้าประท้วงคุมเชิงอยู่ ฝ่ายรัสเซียพระเจ้าซาร์นิโคลาส ได้มีพระราชโทรเลขไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการยึดครองประเทศไทย ฝรั่งเศสจึงยอมถอยเรือ กลับไปตามสัญญาลง 3 ธันวาคม 2435  แต่ได้ยึดครองดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงไว้โดยสิ้นเชิง
กับเรียกค่าทำขวัญอีก 3 ล้านบาท  กับเงินฝรั่งเศสอีก 2 ล้านฟรังค์ พร้อมทั้งยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน 10 ปี รวมทั้งให้ดำเนินคดี พระยอดเมืองขวาง ที่มีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส
            ครั้นครบกำหนด 10 ปี  ฝรั่งเศสไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี  แล้วกลับตั้งเงื่อนไขเรียกร้องให้ยกเขต จัมปาศักดิ์ ให้แก่ฝรั่งเศสอีก  รัฐบาลไทยต้องจำยอมตามสัญญาลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2446  แต่แล้วฝรั่งเศสก็ถอยไปยึดจังหวัดตราด และเรียกร้องให้ไทยยอมยกดินแดน 4 จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2449 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากแผ่นดินไทย รัฐบาลไทยจึงต้องยอมยกให้ไป
            ในการกระทำของฝรั่งเศสดังกล่าว ได้ใช้มองซิเออร์ ปาวี อัครราชฑูตฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการ คนผู้นี้ทางราชการได้จ้างมาทำแผนที่ประเทศไทย และเคยถูกจีนฮ่อทำร้ายที่เมืองหลวงพระบาง  แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้ช่วยชีวิตไว้

ฝรั่งเศสเสนอทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทย
            เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2482  ฝรั่งเศสมีความห่วงใย อาณานิคมของตน ในอินโดจีนเป็นอันมาก จึงได้เสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกันกับประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถือโอกาสยึดดินแดนคืน
            คณะรัฐมนตรีของไทยในครั้งนั้น  ซึ่งมีนายพันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้เคยไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ต่างก็เห็นอกเห็นใจฝรั่งเศสที่ถูกรุกรานอยู่ จึงได้ตอบสนองการทำสัญญานั้นด้วยดี แต่ได้เสนอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงดินแดนฝั่งลำน้ำโขง ที่ล้ำเข้ามาในประเทศไทยเสียใหม่ ให้เป็นการถูกต้อง ได้มีการต่อรองประวิงเวลากันมาหลายเดือน ในที่สุดก็ได้ทำสัญญาไม่รุกรานกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2484 อันเป็นห้วงเวลาที่กรุงปารีส ใกล้จะเสียแก่ฝ่ายเยอรมัน  ดังนั้น การที่ฝ่ายฝรั่งเศสประนามว่าไทยใช้มีดทะลวงหลัง เมื่อตนเพลี่ยงพล้ำนั้นจึงไม่เป็นความจริง
            สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศษได้ขอให้สนธิสัญญามีผู้ใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากการสงครามในทวีปยุโรป ฝรั่งเศษกำลังพ่ายแพ้เยอรมัน และในทวีปอาเซียน ดินแดนส่วนใหญ่ กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศษไปว่ายินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าฝรั่งเศษยอมรับข้อเสนอของไทย 3 ประการ คือ
            1. ขอให้มีการวางแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่งประเทศ โดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน
            2. ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ไทยกับอินโดจีนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา
            3. ขอให้ฝรั่งเศษรับรองว่าถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศษจะคืนลาวและกัมพูชาให้กับไทย
                        ฝรั่งเศษปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

ฝรั่งเศสทำสัญญาให้ญี่ปุ่นยึดอินโดจีนเป็นฐานทัพ
            ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2484  วันเดียวกับที่รัฐบาลฝรั่งเศสที่เมืองวิซี่ได้ทำสัญญา ตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพ ญี่ปุ่นได้ส่งทหารขึ้นบก ในอินโดจีนถึง 35,000 คน เป็นการเปลี่ยนสภาพอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง ทำให้การทำสัญญาไม่รุกรานกับไทยไร้ความหมาย เกิดปัญหาความเป็นความตาย สำหรับประเทศไทย

รัฐบาลไทยประท้วงขอดินแดนคืน

loading picture

             ประเทศไทยได้ประท้วงไปยังประเทศฝรั่งเศสอย่างรุนแรงว่า การกระทำของฝรั่งเศสนั้น เป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นเมื่อฝรั่งเศสจะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ ประเทศไทยก็จำต้องเรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และเพื่อมิให้ประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในปกครองของฝรั่งเศส ต้องตกเป็นอยู่ในปกครองของประเทศที่ 3 ต่อไปอีก



 ฝรั่งเศสปฏิเสธ สู้ตาย ให้ญี่ปุ่นดีกว่าคืนให้ไทย
            รัฐบาลได้ส่งคณะทูตไปเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย   การเจรจาเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน
ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยใช้มีดแทงด้านหลัง  ในขณะที่ฝรั่งเศสปราชัย  ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ถ้อยคำรุนแรง  โดยกล่าวว่ายกดินแดนไทยให้ญี่ปุ่นดีกว่าที่จะคืนให้แก่ประเทศไทย
            หนังสือพิมพ์ของทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันอย่างหนัก  ฝ่ายฝรั่งเศสได้ระดมทหาร เข้ารักษาพื้นที่ตามชายแดน
และได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย  พร้อมทั้งส่งเครื่องบินข้ามแดนเข้ามา เป็นทำนองท้าทายอยู่ตลอดเวลา
สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นตามลำดับ  รัฐบาลจึงเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝรั่งเศส
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินแดนให้เด็ดขาด

การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน

loading picture
            ในที่สุดนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และการเมืองซึ่งเป็นยุวชน
นายทหาร ได้ตั้งผู้แทนไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ขอร้องเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน  ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางหลักไว้เป็นบรรทัดฐานที่จะไม่ให้พระสงฆ์องค์เจ้า   และนักเรียนนิสิตนักศึกษา   ที่อยู่ในวัยศึกษา  เข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องลัทธิและเรื่องพรรค ฯลฯ
แต่ในกรณีนี้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักชาติอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน   จึงไม่มีอำนาจที่จะห้ามได้  เมื่อได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจแล้ว  มีความเห็นสอดคล้องกัน  จึงได้รับทราบไว้   และตักเตือนไม่ให้ล่วงเกินสถานทูต  หรือคนสัญชาติฝรั่งเศส   ส่วนข้อความบนแผ่นป้ายต่าง ๆ  ก็ไม่ให้ใช้คำพูดที่หยาบคายก้าวร้าว
            การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ
            ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม

ร่วมปฏิญาณต่อพระแก้วมรกต
loading picture             พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าว ได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี
            พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด


| หน้าต่อไป | บน |