เลขาธิการสหประชาชาติได้มีโทรเลขถึงรัฐบาลไทย ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
แจ้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙
มิถุนายน ๒๔๙๓ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
เตือนว่าตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ให้ความช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลี
ต้านทานการโจมตีด้วยอาวุธนั้น รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือประการใด ขอให้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบโดยเร็วว่า
จะให้ความช่วยเหลือชนิดใด
คณะรัฐมนตรีมีมติว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร
เช่น ส่งข้าวไปช่วยเหลือเป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงได้มีโทรเลขตอบเลขาธิการสหประชาชาติ
เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีใจความว่า รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ในประเทศเกาหลี
ด้วยความห่วงใยที่สุด และประณามการใช้กำลังรุกรานซึ่งได้กระทำต่อ สาธารณรัฐเกาหลีที่เกิดใหม่นี้
ด้วยการทำลายสันติภาพ ซึ่งมิได้นำพาต่อคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
เช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะผ่อนผันได้เลย ฉะนั้นรัฐบาลไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงสนับสนุนมติความมั่นคงฯ อย่างหนักแน่น และพร้อมที่จะสนับสนุนการกระทำใด
ๆ ที่สหประชาชาติเห็นสมควร และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถกระทำได้
แก่สาธารณรัฐเกาหลี ในการนี้โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงยินดีจะช่วยสาธารณรัฐเกาหลีในทางอาหาร
เช่นข้าวเป็นต้น หากมีความต้องการ
เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ ๑๔ กรกฎาคม
๒๔๙๓ มีใจความว่า ขอแสดงความขอบคุณในการที่รัฐบาลไทย พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติของสหประชาชาติ
และการตกลงใจให้ความช่วยเหลือ เรื่องอาหารเช่น ข้าว และรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้อาณัติแห่งมติ
ลง ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้มอบภาระความรับผิดชอบทั้งมวลแก่กองทัพสหประชาชาติ ฉะนั้นจึงขอแนะนำว่า
ขอให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือในเรื่องกำลังรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
กำลังทางภาคพื้นดินเท่าที่อยู่ในวิสัยสามารถ การช่วยเหลือในกรณีนี้ ในหลักการทั่วไปขอให้ติดต่อไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ให้ตกลงกับกองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้นำเรื่องนี้เสนอต่อ
สถาบันป้องกันราชอาณาจักร
ซึ่งได้มีการประชุมปรึกษา เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร
เฉพาะกำลังทหารทางพื้นดินในกรณีสงครามเกาหลีด้วยกำลัง
๑
กรมผสม (๑ Combat Team) และสภาป้องกันราชอาณาจักร
ได้เสนอเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินตกลงใจเป็นการด่วน คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา
เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามมติของสภาป้องกันราชอาณาจักร
และโดยเหตุที่เรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาราชการแผ่นดินที่สำคัญ สมควรแจ้งให้รัฐสภาอันประกอบด้วยวุฒิสภา
และสภาผู้แทนราษฎรทราบ ตามความในมาตรา ๑๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในครั้งนั้น
นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากรัฐสภาด้วยดี
ในการนี้ได้นำเสนอโทรเลขที่ได้รับ จากคณะมนตรีความมั่นคง ฉบับที่ ๓ ในการประชุม
ครั้งที่ ๔๗๓ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ มีความว่า จากมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
เมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งรับรองว่ารัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐเกาหลี เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย
โดยที่ได้มีอำนาจควบคุม และอาณาเขตอย่างแท้จริงเหนือดินแดนส่วนของเกาหลี ที่คณะกรรมการชั่วคราวของสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี
สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ และปรึกษาหารือด้วยได้ และเป็นที่สำนักของประชาชนส่วนมากเกาหลี
ฯลฯ และความห่วงใยว่าสถานการณ์ตามที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยเกาหลีได้พรรณามาในรายงาน
จะคุกคามต่อความปลอดภัย และความผาสุกของสาธารณรัฐเกาหลี และอาจจะนำมาซึ่งการขัดกันทางทหารอย่างเปิดเผยขึ้น
ณ ที่นั้น โดยที่ได้ทราบด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งว่า ได้มีการโจมตีสาธารณรัฐเกาหลีด้วยกำลังอาวุธจากกองทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือ
เห็นว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายสันติภาพ จึง
๑. เรียกร้องให้ยุติการศึกโดยทันที และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือถอนกำลังทหารกลับไปอยู่
ภายในเส้นขนานที่ ๓๘ โดยพลัน
๒. ขอให้คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี
ก. ส่งข้อแนะนำที่ได้พิเคราะห์แล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับสถานการณ์
ไปยังคณะมนตรีฯ โดยไม่ชักช้า
ข. สังเกตการณ์ถอนกำลังทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือไปยังเส้นขนานที่ ๓๘ และ
ค. รายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงการปฏิบัติตามมตินี้
๓. ขอให้บรรดาประเทศสมาชิก อำนวยความช่วยเหลือทุกทางแก่สหประชาชาติ
ในการปฏิบัติตามมตินี้ และละเว้นการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเกาหลีเหนือ
รัฐบาลได้นำความบังคมทูล เพื่อขอรับพระบรมราชานุวัติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งกำลังไปร่วมรบในประเทศเกาหลีตามคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติ
เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปร่วมรบในสงครามเกาหลี
เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการให้ส่งกำลังทางเรือ
และทางอากาศไปร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย
การเตรียมการส่งกำลังทหารไปร่วมรบ
รัฐบาลไทยตกลงใจที่จะส่งกำลังทหาร ๑ กรมผสม มีกำลังพลประมาณ ๔,๐๐๐ คน ไปร่วมรบกับสหประชาชาติในเกาหลี
ตามความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการ
เสนาธิการกลาโหมได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้
พันเอก
บริบูรณ์ จุลละจาริตต์ หัวหน้าแผนกที่
๓ กรมจเรทหารราบ เป็นผู้บังคับหน่วยทหารที่จะไปปฏิบัติราชการ ณ ประเทศเกาหลี
ได้มอบนโยบายในการจัดกำลังของหน่วยเป็นรูปกรมผสม มีส่วนอำนวยการและส่วนกำลังรบ
ประกอบด้วยกำลังทหารราบ ๓ กองพัน ทหารปืนใหญ่ ๑ กองพัน พร้อมทั้ง ๑ กองสื่อสาร
๑ กองช่าง และ ๑ กองลาดตระเวณ สำหรับกองพันทหารราบ ให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศให้เตรียมกำลังเหล่าทัพละ
๑ กองพัน เพื่อสนธิกำลังกับกองทัพบก ต่อมาได้มีคำสั่งให้กรมผสมนี้ไปขึ้นกองทัพบก
การจัดกรมผสม ยึดถือการจัดหน่วย Regimental Combat Team ของกองทัพบกสหรัฐฯ
เป็นหลัก อาวุธใช้ของกองทัพสหรัฐฯ กองบังคับการกรมผสมเปิดทำงาน เมื่อ ๒๒ สิงหาคม
๒๔๙๓ ที่ห้องสมุดกระทรวงกลาโหม (ห้องสุรศักดิ์มนตรี) ต่อมาได้ย้ายไปที่ห้องฉายภาพยนตร์ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ซึ่งอยู่ที่ระเบียงชั้น ๓ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม
ต่อมาได้ไปใช้ตึกสร้างใหม่ของกรมทางหลวงถนนพระราม ๖ แล้วย้ายไปอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยปิดภาคการศึกษา จากนั้นได้ย้ายไปอยู่บริเวณกรมทหารราบที่
๑๑ อยู่ที่สะพานแดง บางซื่อ และสุดท้ายได้ย้ายไปอยู่ที่ค่ายทหารตำบลบางเขน
ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในปัจจุบัน
กระทรวงกลาโหมได้ประกาศรับสมัครทหารอาสาไปราชการช่วยสหประชาชาติ เมื่อ ๒๙
กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีผู้มาสมัครทั้งสิ้น ๑๔,๙๙๘ คน
เนื่องจากต้องรับส่งกำลังไปปฏิบัติการให้ทันกับสถานการณ์ กระทรวงกลาโหมจึงสั่งการให้กองทัพบก
จัดกำลังกองบังคับการผสม และหน่วยขึ้นตรงกองพันทหารราบ ๑ กองพัน จากอัตราปกติของกองทัพบก
จึงได้จัดกำลังจากหน่วยปกติของกองทัพบก โดยจัดจากกรมทหารราบที่ ๒๑ กองพันละ
๑ กองร้อย ส่วนกองร้อยอาวุธหนักได้สนธิกำลังของหน่วยทหารจากกรมจเรทหารราบ
และกองพันต่าง ๆ
ต่อมาเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๙๓ กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งพิเศษเรื่องการจัดกำลังทหาร เพื่อไปสงครามเกาหลี โดยให้พลตรี หม่อมเจ้าพิสิฐดิษยพงษ์ ดิสกุล เป็นผู้บัญชาการทหารไทย ทำการรบร่วมกับสหประชาชาติในเกาหลี (ผ.บ.ท.ก.) ให้กองทัพบก จัดกองบังคับการกรมผสมที่ ๒๑ และกำลังทหารราบ ๑ กองพัน ให้พร้อมเคลื่อนที่ได้ใน ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๓ เพื่อล่วงหน้าไปปฏิบัติการรบได้ก่อน กองทัพเรือ จัดการลำเลียงทหารและเรือคุ้มกัน โดยเช่าจากบริษัทเอกชน ๑ ลำ เพื่อลำเลียงกำลังทหารส่วนแรกของกรมผสมที่ ๒๑ จัดเรือรบหลวงสีชัง ลำเลียงส่วนหนึ่งของกำลังพลกรมผสมที่ ๒๑ และหน่วยพยาบาลสภากาชาดไทย จัดเรือรบหลวงประแสกับเรือรบหลวงบางปะกง ทำหน้าที่คุ้มกัน เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ให้เรือรบหลวงทั้งสามลำปฏิบัติการที่ประเทศเกาหลี หรือประเทศญี่ปุ่นต่อไป กองทัพอากาศ เตรียมการในการบินขนส่งตามที่รัฐบาลกำลังเจรจาขอเครื่องบินลำเลียงอยู่
ส่วนล่วงหน้า มีพันตรี สุรกิจ มัยลาภ เป็นหัวหน้า เพื่อไปเตรียมรับอาวุธยุทโธปกรณ์
และเตรียมที่พักออกเดินทางโดยเครื่องบินของ P.O.A.S. (Pacitic Oversea Air
Services) เมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๓ กำลังส่วนใหญ่เดินทางโดยทางเรือ ออกจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ
คลองเตย เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ ถึงเกาหลีขึ้นบกที่เมืองปูซาน เมื่อ ๗ พฤศจิกายน
๒๔๙๓ แล้วขึ้นรถไฟไปยังค่ายพักศูนย์รับทหารของสหประชาชาติ ที่เมืองเตกู อยู่ทางเหนือของเมืองปูซาน
๘๐ ไมล์ ส่วนทหารเรือเดินทางไปประจำ ณ เมืองซาเซโบในประเทศญี่ปุ่น
การปฏิบัติการในสมรภูมิเกาหลี
เพื่อปฏิบัติตามนโยบาย ในการส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติงานกับสหประชาชาติ ผู้บัญชาการทหารของไทย
ฯ จึงมอบกำลังในส่วนของกองทัพบกคือ กรมผสมที่ ๒๑ ให้กับกองทัพที่
๘ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขึ้นทางยุทธการและทางเทคนิค
ส่วนด้านการปกครอง และการดูแลหน่วยยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บัญชาการทหารของไทย
ฯ
เนื่องจากทหารยังไม่คุ้นเคยกับอาวุธใหม่ตามแบบทหาร สหรัฐฯ มาก่อน จึงต้องมีการฝึกการใช้อาวุธประจำกาย
และอาวุธประจำหน่วยอย่างเร่งด่วนตามแผนการฝึก ไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ โดยกำหนดให้นายทหารไปรับการฝึกสอนจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
ในตอนกลางวัน แล้วนำมาสอนนายสิบในเวลากลางคืน จากนั้นนายสิบก็จะไปฝึกสอนพลทหารต่อ
โดยมีนายทหารเป็นผู้อำนวยการฝึก นายสิบเป็นครูฝึก
เมื่อทำการฝึกเบื้องต้นได้ ๑๑ วัน หน่วยทหารไทยก็ได้รับคำสั่งจากกองทัพที่
๘ ให้เคลื่อนย้ายไปแนวหน้า ณ กรุงเปียงยาง
เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในความยึดครองของฝ่ายสหประชาชาติ เมื่อไปถึงแล้วให้ขึ้นสมทบกับกรมผสมส่งทางอากาศที่
๑๘๗ (๑๘๗ Airborne) กองพลที่ ๒ กองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจาก พลเอก
แมค อาเธอร์ ต้องการจะเผด็จศึกให้เสร็จในสิ้นเดือน ธันวาคม ๒๔๙๓
การวางกำลังรักษาจุดสำคัญ
การเดินทางทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ เมื่อถึงกรุงเปียงยางก็ได้รับมอบภารกิจให้ป้องกัน
และรักษาสถานที่สำคัญต่าง ๆ บริเวณกรุงเปียงยาง แทนหน่วยทหารฟิลิปปินส์ ขณะนั้นอากาศหนาวมากอุณหภูมิ
- ๑๒ ํซ กองบังคับการกรมผสมที่ ๒๑ เข้าพักในค่ายทหารแทนทหารตุรกี ซึ่งได้รับคำสั่งให้เข้าประจำแนวรบ
สถานที่สำคัญที่ทหารไทยไปรักษาการณ์มี ๑๙ แห่ง มีธนาคาร สถานทูต สหภาพโซเวียต
สถานีวิทยุ สถานีเรดาร์ คลังกระสุน โรงพยาบาล สะพาน สนามบิน โดยใช้กำลังแห่งละ
๑ หมู่ ถึง ๑ หมวด
กองทัพจีนแดงได้เปิดฉากการรุกใหญ่ เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เข้าตีแนวรบสหประชาชาติตลอดแนวด้วยกำลังมหาศาล
กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ต้องถอนตัว เมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ โดยทำการถอนตัวจากแม่น้ำชองชอนมาเป็นขั้น
ๆ กำลังที่ถอนผ่านจุดต่าง ๆ ที่ทหารไทยรักษาอยู่ หน่วยทหารไทยที่ต้องทำงานหนัก
ได้แก่หน่วยขนส่งที่ไปสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพที่ ๘
หน่วยทหารไทยได้ปะทะกับข้าศึกเป็นครั้งแรก เมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ข้าศึกมีกำลัง
๑ กองร้อย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเปียงยาง ๓๐ กิโลเมตร และมีการปะทะกับข้าศึกทางตะวันออกของเมืองชินเยอีก
การถอนตัวจากกรุงเปียงยาง
กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้กำหนดแผนให้ถอนตัวลงมาทางใต้ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
การเข้าตีเพื่อเผด็จศึกของฝ่ายสหประชาชาติ ได้รับการต้านทานอย่างหนักหน่วงด้วยกำลังทหารสาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่มีกำลังถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน
หน่วยทหารไทยได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังรักษาการณ์ตามจุดต่าง ๆ เมื่อ ๔ ธันวาคม
๒๔๙๓ และถอนตัวออกจากกรุงเปียงยาง กรมผสมส่งทางอากาศที่ ๑๘๗ ส่งรถมาสนับสนุนการเคลื่อนย้าย
๓๕ คัน เมื่อเดินทางมาถึงกรุงเปียงยางส่วนใหญ่เดินทางโดยขบวนรถไฟ ๒ ขบวน ยานพาหนะในอัตรา
๘๐ คัน ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหน่วยทหารไทยไม่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการสื่อสาร
กับหน่วยใด ๆ ของสหรัฐฯ แต่ฟังคำสั่งของกองทัพที่ ๘ โดยตรง การเดินทางได้กระทำตลอดคืน
มาถึงเมืองซาริวอนในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วเคลื่อนทึ่ต่อไปถึงเมืองเคซองที่เส้นขนาน
๓๘
เมืองเคซองอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโซล ๓๕ ไมล์ หน่วยทหารไทยได้รับมอบภารกิจให้
จัดกำลังไปรักษาสะพาน และสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำอิมจินที่หมู่บ้านมาจองนิ แทนทหารเกาหลีที่ถอนตัวไปปฏิบัติภารกิจอื่น
และวางกำลังป้องกันเมืองเคซอง ร่วมกับกองพลน้อยตุรกี และหน่วยทหารสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับไปเป็นกองหนุนทั่วไปของกองทัพที่ ๘
สหรัฐฯ ที่เมืองซูวอน เมื่อ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๓