| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
การทหารของไทยสมัยอยุธยา
รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(พ.ศ. 2133-2147)
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเริ่มปรับปรุงกิจการทหารมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ คือตั้งแต่ พ.ศ. 2112
ซึ่งเป็นห้วงเวลาแห่งการกอบกู้เอกราช ได้ทรงนำวิธีการรบใหม่ ๆ มาใช้หลายประการอย่างได้ผล พอประมวลได้ดังนี้
การขยายคูพระนครด้านตะวันออก (คลองขื่อหน้า)
ซึ่งเดิมเป็นที่แคบ ข้าศึกสามารถเข้าถึงกำแพงพระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น
ทรงขยายกำแพงด้านนี้ออกไป จนจดริ่มแม่น้ำเหมือนด้านอื่น ทรงสร้างป้อมมหาชัย ซึ่งเป็นป้อมสำคัญทางด้านที่แม่น้ำป่าสักมาบรรจบ ป้อมเพชร อยู่ตรงข้ามกับคลองบางกระจะ
และ ป้อมซัดกบ ตรงที่แม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบ
เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่กรุงศรีอยุธยา อย่างมีนัยสำคัญ
เปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ในการทำสงคราม ได้ดำเนินการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เดิมจะใช้กรุงศรีอยุธยา
เป็นที่มั่นตั้งรับอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นใช้กำลังออกไปยับยั้งข้าศึกตั้งแต่ชายแดนเข้ามา ดังที่ทรงส่งกำลังทหารม้าไปยับยั้งกองทัพกัมพูชา
ที่ยกเข้ามาบริเวณปากช่อง ดงพญากลาง เมื่อปี พ.ศ. 2123
ใช้หลักยุทธศาสตร์การเดินทัพเส้นนอกและเส้นใน มีปรากฎเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสงครามของไทย
ดังที่ทรงเป็นจอมทัพ นำทัพเข้าตีเมืองละแวก ราชธานีของกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2136 โดยใช้เส้นทางเดินทัพเข้าตีหลายทิศทาง
นับเป็นการเดินทัพทางเส้นนอก และการใช้กำลังเข้าตีกองทัพพระยาพะสิม และกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2127-2129 โดยการเข้าตีทีละครั้ง ไม่ให้ทั้งสองทัพรวมกันได้ นับเป็นการเดินทัพเส้นใน
การตั้งหน่วยเตรียมเสบียงอาหาร กองทัพเดินได้ด้วยท้อง เป็นเรื่องที่ทราบและตระหนักกันดีในบรรดานักการทหาร
การยกทัพไปทำการรบในต่างแดน และในที่ห่างไกลจากแหล่งเสบียบอาหาร มักจะเกิดปัญหาการขาดแคลนสเบียงอาหารอยู่เสมอ
เนื่องจากเสบียงอาหารในท้องถิ่นมีไม่พอ และการลำเลียงทำไม่ทัน เนื่องจากระยะทางไกล
และทุรกันดาร พระองค์ทรงแก้ไขด้วยการตั้งหน่วยเสบียงขึ้นต่างหาก มีกำลังทั้งทางบกและทางเรือ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่กำกับการโดยเฉพาะ ผลสำเร็จในเรื่องนี้จะเห็นได้จากการทัพในกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2136
การปรับปรุงด้านการเตรียมพล ความจำเป็นในการที่ต้องใช้กำลังพล ให้มากพอในการป้องกันประเทศ ทำให้ต้องมีการจัดการจัดหากำลังพล ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการปกครองพื้นที่เสียใหม่
จากเดิมโดยขยายเขตหัวเมืองชั้นในให้กว้างขวางออกไปคือ ทิศเหนือขยายถึงเมืองนครสวรรค์ ทิศตะวันออกถึงเมืองปราจีนบุรี
ทิศใต้ถึงเมืองนครชัยศรี และทิศตะวันตกถึงเมืองราชบุรี สำหรับหัวเมืองชั้นนอก ทั้งที่เป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ
และเมืองพระยามหานครทั้งหมด ให้มาขึ้นกับราชธานีคือกรุงศรีอยุธยาโดยตรง แต่ยังทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์
หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการ มีกรมการพนักงานปกครองครบทุกแผนก เช่นเดียวกับราชธานี
นอกจากนั้นได้มีการปรับปรุงตำราพิชัยสงคราม
และนำเอายุทธวิธีใหม่ ๆ มาใช้อย่างได้ผล เช่น เปลี่ยนวิธีการรบจากการตั้งรับอยู่กับที่
ที่ใช้มาแต่เดิม มาใช้วิธีรุกเข้าหาข้าศึก เพื่อชิงความได้เปรียบในฐานะที่เป็นฝ่ายริเริ่ม
ใช้กำลังน้อยที่แข็งแกร่งเข้าจู่โจมข้าศึก เพื่อทำลายขวัญ ใช้กลยุทธล่อหลอกให้ข้าศึกถลำเข้าไปในที่ล้อม
เพื่อระดมกำลังเข้าทลายข้าศึกได้โดยง่าย ใช้วิธีรบแบบกองโจร
รบกวนข้าศึกทางเขตหลังของข้าศึก เพื่อให้เกิดความระส่ำระสาย
และยากลำบากต่อการส่งกำลังบำรุงของข้าศึก ตั้งหน่วยรบพิเศษ
เพื่อปฏิบัติการเฉพาะกิจ ตามสถานการณ์ในการรบ เช่นหน่วยทหารราบพิเศษ ของพระราชมนู
หน่วยทหารม้าพิเศษ ของพระชัยบุรี และพระศรีถมอรัตน์ ในการรบกับกองทัพกัมพูชา
ที่ดงพญากลางเมื่อปี พ.ศ. 2137 เป็นต้น
ด้านกำลังทางเรือ ได้มีการยกกำลังทางเรือ ไปตีเมืองบันทายมาศ
หรือเมือง ฮาเตียน (Hathien) ในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2136
รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
ในรัชสมัยของพระองค์ ราชอาณาจักรไทย เกือบจะไม่มีสงคราม เพราะไทยกับพม่าได้ทำสงครามกันมาอย่างหนัก ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
รวมทั้งด้านกัมพูชาก็เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงกิจการทหารในห้วงนี้คือ การรับชาวต่างประเทศมาเป็นทหาร โดยตั้งเป็นหน่วยทหารอาสาต่างชาติ เรียกว่ากรมทหารอาสา
เช่น กรมทหารอาสาญี่ปุ่น กรมทหารอาสาจาม กรมทหารแม่นปืน
(ชาวโปรตุเกสเดิม) หน่วยทหารเหล่านี้มีหน้าที่รักษาพระองค์และรักษาพระนคร
สมัยการทหารเสื่อม
หลังรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว มีการแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ทำให้สูญเสียกำลังทหารไปมาก
ในรูปแบบต่าง ๆ จนไม่มีใครอยากเป็นทหาร จึงต้องใช้ทหารต่างชาติมากขึ้น นับว่าเป็นยุคสมัยที่การทหารของกรุงศรีอยุธยา เสื่อมโทรมลงตามลำดับ
ดังนี้
รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ทำสงครามตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปี พ.ศ. 2204 และ 2205 ต่อมาในปี พ.ศ. 2206 ได้รบกับพม่าที่เมืองไทรโยค
ได้ชัยชนะ ปี พ.ศ. 2207 เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ได้ยกทัพไปตีเมืองมอญ ในตอนต้นตีได้หัวเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
แต่สุดท้ายต้องถอยทัพกลับ เพราะถูกกลอุบายและขาดเสบียงอาหาร
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาไม่มีกำลังทางเรือ เพื่อป้องกันประเทศ ทำให้ฮอลันดา ซึ่งไม่พอใจที่ไทยทำการค้าทางทะเลแข่งกับตน
ได้ฉวยโอกาสตอนที่ไทยทำการรบติดพันกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2207 ให้เรือรบของตนจับ
และทำลายเรือสินค้าของไทย และท้ายสุดได้ยกกองเรือมาปิดปากน้ำเจ้าพระยา บีบบังคับให้ไทยทำสัญญาการค้ากับตนใหม่
ซึ่งไทยก็จำยอม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเล็งเห็นภัยคุกคามดังกล่าว จึงได้ทรงพึ่งพาประเทศในยุโรป ตามคำแนะนำของพระยาวิชเยนทร
และคณะบาดหลวงชาวฝรั่งเศษ ราชอาณาจักรไทยจึงได้มีทหารฝรั่งเศษ เข้ามาประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก และมีกำลังบางส่วนไปประจำอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมืองมะริด และเมืองลพบุรี
เพื่อสร้างป้อมปราการต่าง ๆ ให้ทันสมัย และยังได้ใช้ช่างชาวฝรั่งเศษ ไปสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรีอีกด้วย
เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง (Chevelier de Forbin) ชาวฝรั่งเศษ ผู้บังคับป้อมบางกอก ให้ฝึกหัดและจัดกองทหารไทยตามแบบฝรั่งเศษ โดยการช่วยเหลือจากพระยาวิชเยนทร์ จนได้รับความดีความชอบ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลเรือ
และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารบก ในการนี้ ฟอร์บัง ได้จัดหน่วยทหารเป็นกอง
ๆ ละ 50 คน แต่ละกองมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับคือ นายร้อยเอก 1 นาย นายร้อยโท 2 นาย นายร้อยตรี 1 นาย นายสิบเอก 2 นาย นายสิบโท 4 นาย และนายสิบตรี 1 นาย การฝึกได้รับความช่วยเหลือ จากทหารชาวโปรตุเกสที่รู้ภาษาไทย
ได้เกิดประเพณีในการจัดการทางทหารขึ้นมาอีกรูปหนึ่งคือ การทรงกรม
กล่าวคือ เมื่อเจ้านายองค์ใด มีความดีความชอบและมีกำลังทรัพย์สิน เพียงพอให้ผู้คนพึ่งพาอาศัยได้มาก ก็จะทรงตั้งเป็น"กรม"
ขึ้น ให้เจ้านายองค์นั้น บังคับบัญชาเลี้ยงดูไพร่พลของตนเอง เรียกว่า ทรงกรม เมื่อเกิดศึกสงครามกรมเหล่านั้นจะต้อง จัดกำลังของตนไปร่วมรบ
ประเพณีนี้มีสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงได้ยกเลิกไป
รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา
(พ.ศ. 2231-2241)
เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ มีหัวเมืองใหญ่ชั้นเมืองพระยามหานคร คิดแข็งเมือง คือ เมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราช
ทำให้พระองค์ต้องทรงแก้ไขการปกครองดินแดนทางภาคเหนือและภาคใต้ โดยให้ภาคเหนือขึ้นอยู่กับสมุหนายก
(มหาดไทย) และภาคใต้ขึ้นอยู่กับสมุหพระกลาโหม (กลาโหม) การปกครองลักษณะดังกล่าวนี้ได้ใช้สืบต่อมาจนถึง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงได้ยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2437
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มกำลังพลให้แก่วังหน้า
ตามที่ได้รับการร้องขอจากวังหน้า แสดงให้เห็นถึงอำนาจการควบคุมบังคับบัญชาทหาร
ที่แบ่งแยกกันไปตามส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
สำหรับกองกำลังต่างชาติ สมเด็จพระเพทราชาได้นำกำลังทหารไทย เข้าขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกไปจากประเทศไทย
ดังนั้นการฝึกทหารไทยตามแบบยุโรป จึงขาดตอนไปนับแต่นั้น และได้มาเริ่มใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
รัชสมัยต่อมาจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2310
กิจการทหารของกรุงศรีอยุธยาเสื่อมลงเป็นลำดับ เนื่องจากวังหน้าได้เพิ่มอำนาจทางทหารของตนมากขึ้น จนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง
ระหว่างวังหน้ากับวังหลวง และระหว่างเจ้านายที่ทรงกรมต่าง ๆ หลายครั้ง ความอ่อนแอทางทหารมีมากในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
จนถึงกับพวกจีนได้คุมกำลังกัน เข้าปล้นวังหลวงได้อย่างง่ายดาย
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิฐานว่า เพราะเหตุที่กิจการทหารเสื่อมลงมากจนไม่มีใครอยากเป็นทหาร
จึงเกิดวิธีการที่ทางราชการยอมให้คนเสียเงินค่าจ้างแทนการเข้าเวรได้
| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |