| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


การทหารสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   (พ.ศ. 2394-2468)

           เหตุการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทหาร
 loading picture
   1.   การปราบฮ่อ  พวกฮ่อคือพวกชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำมาหากิน ในภาคเหนือของประเทศไทย  พวกฮ่อได้ก่อความไม่สงบขึ้นหลายครั้ง  จนทางการต้องส่งกำลังขึ้นไปปราบปรามถึง 4 ครั้ง ดังนี้
       ครั้งแรก   เมื่อปี พ.ศ. 2418  พวกฮ่อมาชุมนุมที่ทุ่งเชียงคำ เพื่อจะตีเมืองหลวงพระบาง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของไทย  ทางการจึงได้จัดกำลังเพื่อปราบฮ่อ โดยแบ่งเป็น 4 กองทัพ กองทัพที่พระมหาอำมาตย์ (ชื่น  กัลยาณมิตร) เป็นแม่ทัพ  เกณฑ์กำลังพลจากมณฑลอุดร ร้อยเอ็ด และอุบล  เพื่อป้องกันด้านหนองคาย
            กองทัพที่พระยาพิไชย (ดิส)  เป็นแม่ทัพ คุมกำลังพลจากมณฑลพิษณุโลก  ขึ้นไปป้องกันหลวงพระบาง
            กองทัพที่เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) ที่สมุหนายก  เป็นแม่ทัพยกกำลังจากกรุงเทพ ฯ ไปยังเมืองหลวงพระบาง
            กองทัพที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)  เป็นแม่ทัพ  ยกกำลังจากกรุงเทพ ฯ ไปยังหนองคาย
            ผลการปราบปราม  พวกฮ่อล่าถอยไป
 loading picture
        ครั้งที่ 2   เมื่อปี พ.ศ. 2426  พวกฮ่อนำกำลังเข้ายึดเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  ซึ่งอยู่ในความปกครองของหลวงพระบาง  กองทัพไทยยกไปปราบฮ่อครั้งนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องยกทัพกลับ
        ครั้งที่ 3    เมื่อปี พ.ศ. 2428 ได้จัดกำลังเป็น 2 กองทัพ ยกทัพไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวนและแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก โดยใช้กำลังทหารจากกรุงเทพ ฯ ที่ได้รับการฝึกด้านยุทธวิธีอย่างยุโรปไปปฏิบัติการ กองทัพไทยประสบปัญหาหลายประการเพราะเป็นช่วงฤดูฝน ขาดแคลนเสบียงอาหาร ยารักษาโรคและเครื่องเวชภัณฑ์ แต่ด้วยความสามารถของแม่ทัพด้านเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก คือนายพันเอก จมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ทำให้พวกฮ่อยอมจำนน
        ครั้งที่ 4    เมื่อปี พ.ศ. 2430  พวกฮ่อเข้ามาปล้นสะดมในเขตหลวงพระบาง นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี  ยกกำลังจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบ ได้รับผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะฝรั่งเศษให้ความร่วมมือในการปราบ


 loading picture
   2.   การปราบอั้งยี่ในกรุงเทพ ฯ    อั้งยี่เป็นสมาคมลับของคนจีน  เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  พวกอั้งยี่มีการรวบรวมกำลังคนและอาวุธอย่างลับ ๆ  และมักทำการผิดกฏหมาย เช่นค้าฝิ่น และก่อความไม่สงบอยู่เนือง ๆ ทำให้ทางการต้องเข้าไปปราบปราม ซึ่งบางครั้งถึงขั้นรุนแรง ต้องใช้กำลังทหารเข้าช่วย เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2432  อั้งยี่สองพวกเกิดวิวาทกัน เนื่องจากแย่งงานกันทำ  ได้ยกพวกเข้าปะทะกันที่บางรัก  ได้ใช้สนามเพลาะสู้กันบนถนนเจริญกรุง  ตอนแรกทางการให้กระทรวงนครบาลปราบปรามแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องใช้กำลังทหารบก  และทหารเรือเข้าปราบปราม  จับพวกอั้งยี่ไปคุมไว้ที่ศาลายุทธนาธิการ และส่งกำลังไปรักษาความสงบเรียบร้อย ณ บริเวณที่เกิดเหตุอยู่ 3 วัน เหตุการณ์จึงสงบ


   3.   วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112         loading picture
เมื่อปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112)  ฝรั่งเศษส่งกำลังทางบกรุกเข้ามาทางชายแดน ไทยบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  พร้อมทั้งส่งเรือรบเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ  เพื่อบีบบังคับ ให้รัฐบาลไทยสละสิทธิของไทย เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศษ  จนเกิดเป็นกรณีพิพาทกันขึ้น การป้องกันพื้นที่ชายแดนของฝ่ายไทยไม่ได้ผล  เพราะขาดแคลนทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ สำหรับการป้องกันพระนคร  ทหารบกมีหน้าที่รักษาพระนครรอบนอก  โดยจัดกำลังไปประจำอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ คลองสำโรง คลองพระโขนง และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนภายในกำแพงพระนคร  ได้กระจายกำลังไปรักษาพื้นที่ย่านสระปทุม  บางรัก และฝั่งธนบุรี  พร้อมกันนั้นยังมีทหารอาสาสมัคร ของพระยาสุรศักดิ์มนตรี  อีกประมาณ 1,800 คน กระจายกำลังกันรักษาพระนครอยู่ทั่วไป  การรบครั้งนี้ไทยไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ  จึงทำให้ต้องยอมปฏิบัติตาม ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ข้อ คือ

            1.  ให้ไทยยอมมอบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
            2.  ให้ถอนทหารออกจากชายแดนไทยให้หมดภายใน 1 เดือน
            3.  ให้ลงโทษผู้กระทำผิด และเสียค่าทำขวัญแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต
            4.  ให้ไทยเสียค่าปรับให้ฝรั่งเศสเป็นเงินสด 1 ล้านฟรังก์  โดยวางเงินมัดจำเป็นเงินไทย 3 ล้านบาท

   4.   การปราบกบฎผีบุญผีบ้า     เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443  ที่เมืองอุบลราชธานี เนื่องจากมีผู้พบลายแทงทำนายว่าจะเกิดเพทภัยใหญ่หลวง  ชาวบ้านทั่วมณฑลอีสานพากันแตกตื่นในคำทำนาย  ต่อมามีคนเชื้อสายญวน ชื่อองค์มั่น จากเมืองจำปาศักดิ์ ได้ตั้งตนเป็นผีบุญ หรือท้าวธรรมิกราช  มีราษฎรมณฑลอีสาน เข้าสมัครเป็นพรรคพวกจำนวนมาก ก่อความไม่สงบถึงขั้นจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานี  กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน  อยู่เมืองอุบลราชธานี  ได้นำกำลังทหารจากกรุงเทพ ฯ และทหารพื้นเมือง พร้อมทั้งกำลังทหารจากเมืองนครราชสีมาและเมืองบุรีรัมย์ เข้าปราบปราม จนสามารถจับพวกกบฎผีบุญผีบ้าได้ เมื่อปี พ.ศ. 2444


 loading picture
   5.   การปราบเงี้ยว    จังหวัดแพร่  ในเวลานั้นมีฐานะเป็นประเทศราช มีเจ้าพิริยะเทพวงษ์  เป็นเจ้าผู้ครองนคร กลุ่มโจรเงี้ยวมีผกาหม่อง  สะล่า โปชาย และจองแซ่ เป็นหัวหน้า มีกำลังประมาณ 300 คน ได้เข้าปล้นสถานที่ราชการในจังหวัดแพร่ ตลอดจนบ้านเรือนข้าราชการ ได้ปล่อยนักโทษจากเรือนจำ  เพื่ออาศัยความร่วมมือจากนักโทษ  นอกจานั้นยังได้จับพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงกำกับจังหวัดแพร่ และราษฎรที่เป็นคนไทยภาคกลางมาฆ่าอย่างทารุณ  พวกเงี้ยวทำการอุกอาจครั้งนี้ได้ ก็เนื่องจาก เจ้าพิริยะเทพวงศ์  ผู้ครองนครรู้เห็นเป็นใจ  ทางกรุงเทพ ฯ จึงให้พระยาสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย นำกำลังจากเมืองพิชัยไปตรึงกำลังพวกเงี้ยว และให้นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการคุมกำลังจากกรุงเทพ ฯ ไปสมทบกับกำลังจากมณฑลพิษณุโลกและมณฑลพายัพ ผลที่สุดก็ปราบพวกเงี้ยวลงได้  เจ้าพิริยะเทพวงศ์ ถูกถอดเป็นน้อยเทพวงศ์ และเมืองแพร่ก็ถูกลดฐานะ จากหัวเมืองประเทศราช มาเป็นหัวเมืองชั้นใน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


   6.   การเสียดินแดน     ไทยได้เสียดินแดนให้กับประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา รวม 5 ครั้ง ด้วยกัน คือ
         ครั้งที่ 1    เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไท พื้นที่ 87,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2431
         ครั้งที่ 2    เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ที่เป็นประเทศลาวทั้งหมด และดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เป็นดินแดนอาณาจักรล้านช้าง เป็นพื้นที่รวม 143,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2436
         ครั้งที่ 3     เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของเมืองน่าน และดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ในพื้นที่ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศส เป็นพื้นที่ 62,500 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2446 เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2437)
         ครั้งที่ 4     เสียดินแดนมณฑลบูรพา อันได้แก่ เมืองศรีโสภณ เมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง  เป็นพื้นที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2449 เพื่อแลกกับเมืองตราด เกาะกง และเมืองด่านซ้าย พร้อมทั้งการได้อำนาจศาลไทย  ที่จะบังคับต่อคนในบังคับฝรั่งเศสในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2449
         ครั้งที่ 5     เสียรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส เป็นพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่อังกฤษ เพื่อให้ได้อำนาจศาลไทย ที่จะบังคับต่อคนในบังคับอังกฤษในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2451
        แม้ว่าการเสียดินแดนดังกล่าวของไทย จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรง แต่โดยทางอ้อมแล้วต่างชาติที่ทำการล่าเมืองขึ้นในย่านนี้อยู่ในขณะนั้น มีกำลังทหารเข้มแข็งกว่าไทยมาก ไทยจึงต้องใช้วิเทโศบายที่สุขุมรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจได้เพียงประเทศเดียวในย่านนี้ และเป็นผลให้ไทยต้องเร่งรัดปฏิรูปและพัฒนากิจการทหารให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาเอกราชและผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้อย่างดีที่สุด


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |