| หน้าแรก |

 loading banner

            ตามจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณถือเอาวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคติทางพระพุทธศาสนาที่เริ่มฤดูหนาว (เหมันต์) เป็นจุดเริ่มต้นของปีต่อมา จารีตดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนไปตามคติของพราหมณ์ซึ่งใช้วันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นการนับวันเดือน ปี แบบจันทรคติ คือการใช้การโคจรของดวงจันทร์เป็นเกณฑ์
            ต่อมาเมื่อทางราชการเปลี่ยนมาใช้แบบสุริยคติคือใช้ดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ จึงได้ถือเอา วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2432
            วันขึ้นปีใหม่ของนานาอารยประเทศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับตามสุริยคติ เมื่อประเทศไทยซึ่งเดิมใช้วันแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้าย ของไทย เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับว่าเป็นห้วงระยะเวลาใกล้เคียง กับวันที่1 มกราคม จึงเห็นว่าการที่ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นการเหมาะสมดังนี้
            ตามทางดาราศาสตร์การกำหนดอาศัยหลัก 2 ประการ คือ ใช้หลักวันที่ดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดซึ่งจะตกประะมาณ วันที่ 22 ธันวาคม อีกประการหนึ่งใช้หลักวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ซึ่งจะตกประมาณวันที่ 20 มีนาคม ประเทศไทยเคยใช้หลักประการแรกมาก่อนคือใช้เดือนอ้าย แรมหนึ่งค่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับวันที่ 22 ธันวาคม
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงอธิบายไว้เป็นใจความว่า  ฤดูหนาวเป็นเวลาที่พ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเหมือนเวลาเช้าโบราณจึงถือเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างเต็มที่เหมือนเวลากลางวัน โบราณจึงถือเป็นกลางปีส่วนฤดูฝนเป็นห้วงเวลาที่มืดครื้ม เหมือนกลางคืน โบราณจึงถือเป็นปลายปี จึงได้เริ่มเดือนหนึ่งที่เดือนอ้ายและไทยโบราณถือการเริ่มข้างแรมเป็นต้นเดือน
            มีผู้ค้นพบว่าคติที่นับวันใดวันหนึ่งในห้วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 21 เดือนธันวาคม ถึงวันที่1 เดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นี้ เป็นคติเก่าแก่ของชนชาติที่อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือสุวรรณภูมิ ด้วยเหตุผลที่พออธิบายได้ว่าในระยะเวลาดังกล่าวนี้ เป็นเวลาที่แลเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดโตที่สุดและเป็นเวลาที่อากาศเริ่มเย็นสบาย หลังจากที่หมดฤดูฝนแล้ว ประเทศไทยเราอยู่ในย่านกลางของพื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาติไทยเราได้มีวันขึ้นปีใหม่ตามคติดังกล่าวมาแต่โบราณกาล
            จากการตรวจสอบในห้วงระยะเวลา30 ปี จากปี พ.ศ. 2453 ถึงปี พ.ศ. 2483 พบว่าวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติแล้วจะอยู่ในเดือนธันวาคมและส่วนใหญ่จะอยู่ห่างจากวันที่ 1 มกราคม ไม่เกิน 10 วัน ห่างกันมากที่สุด30 วัน และห่างน้อยที่สุดเพียง 2 วัน เท่านั้น
            อินเดียในสมัยโบราณก็ได้เคยใช้วันที่1 เดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่มาแล้ว เรียกว่ามกรสงกรานต์ การที่อินเดียในยุคต่อมาใช้เดือนจิตรมาสหรือเดือนเมษายน เป็นต้นปีนั้น มีที่มาจากฝ่ายเหนือของอินเดีย เพราะในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ลมฟ้าอากาศดีที่สุด มติได้แผ่เข้ามายังชนชาวไทย โดยพราหมณ์นำเข้ามาอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ในครั้งนั้นสูงมากพอจนทำให้ไทยเราหันไปใช้ตามแบบ พราหมณ์ในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งวันขึ้นปีใหม่ด้วยโดยนับเดือนห้าเป็นต้นปี ทำให้เราต้องขึ้นปีใหม่ 2 ครั้ง คือขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า และวันสงกรานต์ ซึ่งจะเลื่อนไปมาในแต่ละปีไม่แน่นอน
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นความลำบากในกรณีดังกล่าว เมื่อไทยต้องมีการติดต่อกับ ต่างประเทศมากขึ้นดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2432 วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ไปตรงกับวันที่ 1 เดือนเมษายนพอดี จึงได้มีประกาศบรมราชโองการ ให้ถือวันที่ 1 เดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่นั้นมา
            ประเทศไทยได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่1 เดือนมกราคม เมื่อปี พ.ศ. 2484 ด้วยเหตุผลทั้งมวลที่ได้กล่าวมาแล้ว และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือบรรดานานาประเทศ ได้ใช้วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำให้สมประโยชน์แก่ประเทศไทยด้วยประการทั้งปวง

สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปราณี  ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์   
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่    ผองชาวไทยจงสวัสดี
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์   
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์    สวัสดีวันปีใหม่เทอญ


| หน้าแรก | บน |