เพลงชาติไทย
เก็บความจาก นสพ. มติชน ๓ มิ.ย.๔๘

            เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างยิ่งว่า เพลงชาติที่ถูกเปลี่ยนบันทึกเสียงใหม่ขึ้นมาอีก ๖ ฉบับนั้นเป็นอย่างไร รับได้หรือรับไม่ได้
            ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจใน "บทบาทและหน้าที่ของเพลงชาติ" เสียก่อนว่า เพลงชาติมีบทบาทหน้าที่เป็นเพลงประจำชาติ เพื่อประชาชาติ เป็นเพลงหลักของชาติที่รวบรวมจิตใจคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
            เพลงชาติแสดงถึงความเป็นเอกราชที่ชาติไม่เป็นเมืองขึ้นแก่ใคร เป็นเพลงที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวิญญาณชาติ เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์ของชาติ และเพลงชาติเป็นเพลงพิธีกรรมของประชาชน
            สถานภาพของเพลงชาตินั้นประดุจ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง"  เพราะทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชาติ ให้รู้สึกอบอุ่น มีที่พึ่ง มีความภาคภูมิใจ มีความมั่นคง มีความเชื่อมั่น และน่าเชื่อถือ
            เพลงชาติทำให้คนในชาติรู้สึกว่าชาติของตนนั้นยิ่งใหญ่ และเป็นเพลงของที่สุดยอดในความเป็นคลาสสิคของชาติ
            เมื่อเพลงชาติมีสถานภาพเหมือน "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง"  เป็นทั้งศาล เป็นทั้งเจ้าพ่อ และเป็นหลักให้สังเกตว่า "หลัก" ใหญ่กว่าศาลและใหญ่กว่าเจ้าพ่อ เมื่อเพลงชาติเป็นหลัก คนในชาติมีสิทธิที่จะทำความสะอาด ดูแลรักษา ให้ความเคารพ แต่ไม่สามารถที่จะตัดทอน เปลี่ยนแปลง ทำลายหลักของชาติได้
            ในกรณีของเพลงชาติที่มีความหมายว่าเป็น  เพลงคลาสสิค ขอขยายความได้ดังนี้
            ประการแรก  เพลงชาติเป็นเพลงที่มีฉบับเดียว "หนึ่งเดียว" เป็นเพลงเดียวที่แสดงถึงความเคารพรักที่มีต่อชาติ
            ประการที่สอง  เพลงชาติหมายถึง ความสุดยอด การประพันธ์ และการเรียบเรียงขึ้นด้วยความประณีตที่สุด บรรเลงด้วยความสามารถสูงสุด และเพลงชาติขับร้องด้วยนักร้องที่ดีที่สุด เท่าที่คนในชาติพึงมีและพึงสามารถจะกระทำได้
            ประการที่สาม  เพลงชาติประพันธ์ขึ้นในลีลาของเพลงคลาสสิค เพราะพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)  ซึ่งเป็นนักดนตรีคลาสสิค ได้ประพันธ์เพลงชาติ จึงเป็นแบบฉบับของเพลงคลาสสิค และเพลงชาติไม่ใช่เพลงประโลมโลกที่จะนำมาทำกันเล่น ๆ ได้
            ในความหมายของความเป็นคลาสสิค ขอยกตัวอย่างภาพของโมนาลิซ่า หากใครถือสิทธิไปเติมไฝ ใส่ตุ้มหู ถอนขนคิ้ว ฯลฯ เพื่อให้นางโมนาลิซ่า "สมสมัย" ได้หรือไม่
            คำตอบก็คือ ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะภาพโมนาลิซ่าถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อใด คุณค่าก็จะหายไป สาธารณะก็จะโวยวายว่า ไม่ใช่ภาพของโมนาลิซ่า "ของแท้"  อีกต่อไป เพราะความเป็นคลาสสิค ไม่สามารถที่จะทำเทียมหรือเลียนแบบได้ ของแท้เท่านั้นที่เป็นจริง
            ความเป็นคลาสสิค ความมีคุณค่าเป็น "สัจนิยม" เป็นจริงเช่นนั้น หากไม่เป็นความจริง ก็ไม่มีความหมายเช่นนั้น
            ในกรณีปัญหาของเพลงชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น
            เนื่องมาจากบริษัทจีเอ็มแกรมมี่ ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชน ได้นำเพลงชาติไปเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นใหม่ ๖ ฉบับ (รวมของเอกลักษณ์อีก ๑ ฉบับ)  เป็น ๗ ฉบับ คำถามแรกที่ประชาชนข้องใจคือ ประเทศไทยนั้นมีกี่ประเทศ เพราะเมื่อเพลงชาติแต่ละประเทศก็มีเพียงฉบับเดียว คำตอบเมื่อประเทศไทยมีเพียงประเทศเดียว เพลงชาติก็ต้องมีเพียงฉบับเดียว
            คำถามต่อไปมีอยู่ว่า ประเทศไทยเป็นของบริษัทหนึ่งบริษัทใดหรือเปล่า ถ้าประเทศไทยเป็นของบริษัท ทางบริษัทจะทำเพลงอย่างไรให้เป็นสมบัติของบริษัทก็ได้ แต่เมื่อประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของบริษัทใด ๆ เพลงชาติจึงไม่สามารถให้บริษัทเป็นเจ้าของสิทธิ (เพลง)  ทั้งในการจัดทำและในการจัดผลประโยชน์หรือการจัดเก็บลิขสิทธิ์ในภายหลัง
            ปัญหาของเพลงชาติไทยในปัจจุบันก็คือ มีความพยายามที่จะ "ใช้ความรู้สึก"  (ของบริษัทไม่ใช่ความรู้สึกสาธารณะ)  ในการแก้ปัญหาของเพลงชาติ โดยอ้างว่า เพลงชาติไม่ทันสมัย ไม่สนองความไพเราะของคนทุกกลุ่ม ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เชย ไม่เหมาะกับกาลเทศะให้โอกาสเป็นตัวตั้ง (เนชั่นสุดสัปดาห์)
            อย่าลืมว่าเพลงชาตินั้น เป็นอนุสรณ์ของจิตใจ อยู่เหนือกาลเวลา อยู่เหนือยุคสมัย อยู่เหนือความรู้สึก นึกคิด ซึ่งเป็นมิติของเวลา รู้สึกในปัจจุบัน นึกถึงอดีต  และคิดถึงอนาคต  ดังนั้น เพลงชาติมีบทบาทหน้าที่สร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ให้กับปวงชน (สาธารณะ)  ไม่ใช่คนมีความรู้สึกใหญ่กว่าเพลงชาติ
            และที่สำคัญก็คือ  ปัญหาเพลงชาติก็คือ ปัญหาของชาติ การแก้ปัญหาของชาตินั้น "ต้องใช้ความรู้" ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลในการแก้ปัญหาชาติ
            แน่นอนในหลาย ๆ ปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ โดยอาศัยความรู้สึก ปัญหาพื้น ๆ ปัญหาส่วนตัว แต่เมื่อปัญหาของชาติ เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนทั้งชาติ จะใช้เพียงความรู้สึกเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยความรู้และปัญญา เพราะเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก และเป็นเรื่องของคนทั้งชาติ
            อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเป็นเรื่องของ "ค่านิยม"  ประเภทเดียวกับ "เอกลักษณ์ชาติ"  โดยอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นค่านิยมของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอก ซื้อหาเอาได้ แต่ความจริงแล้วความเป็นคลาสสิคอย่างเพลงชาตินั้น เป็นเรื่องของ "รสนิยมและคุณค่า"  เป็นปัจจัยที่จะต้องสร้าง ก่อเกิดขึ้นจากภายใน
            การที่ใครคนใดคนหนึ่ง  "ฟังไม่รู้ดูไม่ออก"  ใช้ค่านิยมซึ่งเป็นความเลื่อนลอยและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มาเป็นตัวกำหนดตัดสินเพลงชาติ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอสำหรับคนในชาติ
            เพลงชาติเป็นเรื่องของรสนิยม  เพราะรสนิยมเป็นอาภรณ์ของผู้เจริญ การแสวงหาความรู้โดยผ่านการศึกษานั้น แท้จริงแล้วเป็นการเรียนรู้เพื่อความเจริญทั้งสิ้น รสนิยมจึงเป็นความเจริญที่ต้องอาศัยความรู้ผู้รู้เป็นผู้เจริญ และผู้รู้เป็นผู้ชี้นำความเจริญของชาติ
            สำหรับค่านิยม ประชานิยม ประชาธิปไตย ใช่ว่าจะใช้ได้หรือใช้ตัดสินกับเรื่องทุกเรื่องได้ เพราะบางเรื่องก็ใช้ประชาธิปไตยไม่ได้ โดยเฉพาะ ความรู้กับความไม่รู้ " โดยธรรมชาติแล้วความรู้มีน้อยกว่าความไม่รู้ คนรู้เป็นชนกลุ่มน้อย เมื่อใช้วิธีประชานิยม โดยการยกมือออกเสียง ความไม่รู้จะชนะความรู้ทุกครั้งไป
            พิเศษเฉพาะประเทศไทยนั้น มีความไม่รู้อยู่กับสื่อมากกว่าความรู้ อำนาจความไม่รู้ควบคุมสื่อ อาศัยอำนาจสื่อไปกำหนดสร้างเป็นค่านิยม ทั้ง ๆ ที่คนในชาติมีรสนิยมและมีความรู้เพียงพอที่จะต่อสู้กับสื่อของความไม่รู้ได้
            ปัญหาของเพลงชาติไทยจึงเกิดขึ้นระหว่าง บริษัทที่ต้องการใช้สื่อกำหนดค่านิยม ต่อสู้กับรสนิยมของคนในชาติ ปัญหาจึงเกิดขึ้น
            อีกกรณีหนึ่งหากพิจารณาว่าใครมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเพลงชาติในครั้งนี้บ้าง ซึ่งมีอยู่ ๒ องค์กรด้วยกันคือ สำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม โดยบริษัทจีเอ็มแกรมมี่เป็นผู้ผลิตเพลง
            จึงมีคำถามว่า ระหว่างคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงกลาโหม ใครมีสิทธิทำเพลงชาติ
            คำตอบก็คือ "ไม่มีสิทธิทั้งคู่"
            เพราะสิทธิของการดูแลเพลงชาตินั้นขึ้นกับกรมศิลปากร"  (ให้ไปดูประกาศของกรมศิลปากร)  กรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่เผยแพร่  คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาตินั้น มีหน้าที่หยิบยกจุดเด่นของชาติมาแนะนำ แต่ไม่มีหน้าที่สร้าง ส่วนกระทรวงกลาโหมนั้นมีหน้าที่ปกป้องประเทศ
            จะเห็นว่า  "สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับเพลงชาติ" จะเป็นตัวตัดสินได้ว่า ใครควรทำอะไรเกี่ยวกับเพลงชาติ ซึ่งก็พบปัญหาแบบเดียวกันนี้กันโดยทั่วไปว่า "คนไทยนั้นทำได้ทุกอย่างยกเว้นงานในหน้าที่"
            มีข้อคำถามว่า การร้องเล่นเพลงชาติถูกต้องแล้วหรือ เพลงชาติจากทั้ง ๒ หน่วยงาน (๗ ฉบับ)  ไม่ถูกต้องตามที่ผู้ประพันธ์เอาไว้ ทั้งทำนอง คำร้อง และการเรียบเรียงเสียงประสาน ผิดวัตถุประสงค์ของการใช้ เพราะเพลงชาติไม่ใช่เพลงประโลมโลกย์ ดังได้กล่าวไว้แล้ว
            บิดาของพระเจนดุริยางค์ได้กำชับไม่ให้ยึดถือวิชาดนตรีเป็นอาชีพเป็นอันขาด ท่านให้เหตุผลว่า "คนไทยเราไม่ใคร่สนใจศิลปะการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่น ๆ สนุก ๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป"   ซึ่งตรงกับเหตุผลของคุณซูโม่ตู้ (รายการถึงลูกถึงคน)  และคนอื่น ๆ ที่ใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสิน
            ศาตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย  กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่ถูกต้องคือถูก แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น" ซึ่งเป็นอุทาหรณ์เกี่ยวกับเพลงชาติไทยได้เป็นอย่างดี
            กรณีของเพลงชาติ สามารถวัดกระแสของความรักชาติผ่านเพลงชาติได้ เพราะคนส่วนใหญ่รู้ว่าเพลงชาติจริง ๆ คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร และทุกคนรู้สึกได้ว่า เพลงชุดใหม่ไม่ถูกต้อง ไม่ยอมรับ กระแสการต่อต้านเพลงชาติใหม่จึงออกมาแรง แรงเพียงพอที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องถอยทัพ
            ถอยไปตั้งหลักกันใหม่ เพื่อกลับไปหาหลักของเพลงชาติที่มีอยู่เดิม