ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ฉบับปี พ.ศ....

หลักการและแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ....
            ๑. ตรวจสอบสาระและรูปแบบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐
            ๒. ศึกษาสาระและรูปแบบของรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป ระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม และระบอบประชาธิปไตยแบบนำหลักการและข้อบัญญัติในศาสนามาใช้
            ๓. ใช้ต้นแบบจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นหลักในการร่าง โดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสังคม วัฒนธรรม ของคนไทยเท่าที่จะทำได้ และแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
            ๔. ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ได้ดำเนินการดังนี้
                ๔.๑ บัญญัติเฉพาะหลักการ แนวทาง และสาระที่สำคัญ ส่วนรายละเอียดและวิธีการในการปฏิบัติ จะไปบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
                ๔.๒ จัดหมวดหมู่ของเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ตามลำดับความสำคัญ และพันธกิจเพื่อให้เห็นและเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ง่าย เพราะแต่ละมาตราจะมีความสมบูรณ์ในตัวเอง
                ๔.๓ การเขียนเนื้อหาสาระ ใช้หลักการเขียนให้กระจ่างชัด มีความสมบูรณ์ และมีความกระทัดรัด อ่านเข้าใจได้ง่าย
            ๕. จากแนวทางดังกล่าวข้างต้น ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างใหม่ มีเนื้อหาสาระเท่าเทียมฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ แต่เหลือเพียง ๙ หมวด ๑๗๑ มาตรา จากของเดิมที่มี ๑๒ หมวด ๓๓๖ มาตรา และมีความยาวลดลงประมาณร้อยละ ๔๐
สารบัญรัฐธรรมนูญ
           หมวด ๑  บททั่วไป  (มาตรา ๑ - ๔)

           หมวด ๒  พระมหากษัตริย์  (มาตรา ๓ - ๙)

           หมวด ๓  หน้าที่ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย  (มาตรา ๑๐ - ๓๒)

           หมวด ๔  แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ  (มาตรา ๓๓ - ๔๘)

           หมวด ๕  ฝ่ายนิติบัญญัติ  (มาตรา ๔๙ - ๙๑)
               ส่วนที่ ๑  บททั่วไป  (มาตรา ๔๙ - ๕๐)
               ส่วนที่ ๒  สภาผู้แทนราษฎร  (มาตรา ๕๑ - ๖๐)
               ส่วนที่ ๓  วุฒิสภา  (มาตรา ๖๑ - ๖๘)
               ส่วนที่ ๔  บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง (มาตรา ๖๙ - ๙๑)

           หมวด ๖  ฝ่ายบริหาร  (มาตรา ๙๒ - ๑๑๐)
               ส่วนที่ ๑  การปกครองส่วนกลาง  (มาตรา ๙๒ - ๑๐๙)
               ส่วนที่ ๒  การปกครองส่วนท้องถิ่น  (มาตรา ๑๑๐)

           หมวด ๗  ฝ่ายตุลาการ  (มาตรา ๑๑๑ - ๑๔๓)
               ส่วนที่ ๑  บททั่วไป  (มาตรา ๑๑๑ - ๑๒๔)
               ส่วนที่ ๒  ตุลาการรัฐธรรมนูญ  (มาตรา ๑๒๕ - ๑๓๒)
               ส่วนที่ ๓  ศาลยุติธรรม  (มาตรา ๑๓๓ - ๑๓๗)
               ส่วนที่ ๔  ศาลปกครอง  (มาตรา ๑๓๘ - ๑๔๒)
               ส่วนที่ ๕  ศาลทหาร  (มาตรา ๑๔๓)

           หมวด ๘  การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐและองค์กรอิสระ  (มาตรา ๑๔๔ - ๑๗๐)
               ส่วนที่ ๑  การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  (มาตรา ๑๔๔ - ๑๔๗)
               ส่วนที่ ๒  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา ๑๔๘ - ๑๕๓)
               ส่วนที่ ๓  การตรวจเงินแผ่นดิน  (มาตรา ๑๕๔)
               ส่วนที่ ๔  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  (มาตรา ๑๕๕ - ๑๕๖)
               ส่วนที่ ๕  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  (มาตรา ๑๕๗ - ๑๕๘)
               ส่วนที่ ๖  การถอดถอนจากตำแหน่ง  (มาตรา ๑๕๙ - ๑๖๓)
               ส่วนที่ ๗  การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  (มาตรา ๑๖๔)
               ส่วนที่ ๘  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (มาตรา ๑๖๕ - ๑๗๐)

           หมวด ๙  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  (มาตรา ๑๗๑)

……………………………………….

รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระ.........................................

............................

ศุภมัสดุ...........................

หมวด ๑ บททั่วไป

           มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาติ
           มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ทางใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้
           มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ปวงชนชาวไทยทุกคนย่อมได้รับความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
           มาตรา ๔ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

หมวดที่ ๒ พระมหากษัตริย์

            มาตรา ๕ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ทรงเป็นพุทธมามะกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
            มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองค์มนตรี และประธานองคมนตรี ประกอบเป็นคณะองคมนตรีจำนวนไม่เกินสิบแปดคนตามพระราชอัธยาศัย
            คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์ และหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
            ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และให้พ้นตำแหน่งประธานองคมนตรี
            องคมนตรีต้องไม่ดำรงตำแหน่งอื่นใด ทั้งในภาครัฐและเอกชน
            ก่อนเข้ารับหน้าที่องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี
            องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นตำแหน่ง
            มาตรา ๗ การแต่งตั้งและให้พ้นตำแหน่งข้าราชการในพระองค์  และสมุหราชองครักษ์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
            มาตรา ๘ เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
            ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือไม่ทรงสามารถแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเหตุอื่นให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภา ประกาศในพระปรมาภิไธยพพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
            ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดก็ตามให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
            มาตรา ๙  การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗
            การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

หมวด ๓ หน้าที่สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

            มาตรา ๑๐  บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
            มาตรา ๑๑ บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒  สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกำจัดสิทธิและเสรีภาพต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้
            มาตรา ๑๓  บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
            มาตรา ๑๔  บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
            การทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย
            มาตรา ๑๕  บุคคลจะไม่ต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
            มาตรา ๑๖  สิทธิของบุคคลในครอบครัวเกียรติยศชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
            มาตรา ๑๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน มีเสรีภาพในการเดินทาง การเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรและในการสื่อสารถึงกัน โดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
            มาตรา ๑๘  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการถือศาสนา
            มาตรา ๑๙  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
            การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน
            มาตรา ๒๐  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ
            การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่ในทางวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติและไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง และศีลธรรมอันดีของประชาชน
            มาตรา ๒๑  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
            มาตรา ๒๒ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ
            การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
            มาตรา ๒๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ องค์กรเอกชนหรือหมู่คณะอื่น
            การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            มาตรา ๒๔  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
            มาตรา ๒๕  สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตของสิทธิ และการจำกัดสิทธิ เช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกัน ประเทศการได้มาของทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปที่ดินหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม
            มาตรา ๒๖  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
            การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของรัฐการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            มาตรา ๒๗  การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะเป็นการฉุกเฉินหรือระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
            มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุข ที่ได้มาตรฐานผู้ยากไร้จะได้รับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
            มาตรา ๒๙  บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
            บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๓๐ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๓๑ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในหน่วยงานของรัฐเว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินกิจกรรมใดที่อาจมีผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต
            มาตรา ๓๒  บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณา ภายในเวลาอันสมควร ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำ และละเว้นการกระทำของบุคลากรของหน่วยงานนั้นตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด ๔ แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ

            มาตรา ๓๓ รัฐต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  เอกราชและบูรณภาพแห่งราชอาณาจักรผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงแห่งชาติ
            มาตรา ๓๔ รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชของชาติ ความมั่นคงของรัฐสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขและเพื่อพัฒนาประเทศ
            มาตรา ๓๕ รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น
            มาตรา ๓๖ รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ และถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค
            มาตรา ๓๗  รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดระบบงานราชการ และงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ
            มาตรา ๓๘ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการดำเนินการทางการเมืองการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
            มาตรา ๓๙  รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เองในระดับหนึ่ง โดยคำนึงถึงความมั่นคงผลประโยชน์ของชาติ และเจตนารมย์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น
            มาตรา ๔๐  รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้
            มาตรา ๔๑  รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม
            มาตรา ๔๒  รัฐต้องจัดการส่งเสริมการสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
            มาตรา ๔๓ รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
            มาตรา ๔๔ รัฐต้องจัดระบอบการถือครองที่ดิน และการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม จัดหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสิ้นค้าเกษตร
            มาตรา ๔๕ รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์
            มาตรา ๔๖  รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำและคุ้มครองแรงงาน
            มาตรา ๔๗  รัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีในหลักการและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อมและเป็นตัวแทนการลงทุนของต่างชาติ
            มาตรา ๔๘ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

หมวด ๕ ฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนที่ ๑ บททั่วไป
            มาตรา ๔๙ รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาบุคคลจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ในขณะเดียวกันมิได้
            มาตรา ๕๐ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
            ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่
ส่วนที่ ๒ สภาผู้แทนราษฎร
            มาตรา ๕๑  สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสี่ร้อยคนโดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนห้าสิบคนและสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน
            อายุของสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
            ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่
            มาตรา ๕๒  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
            บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง
            ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงห้าสิบคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากจากเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
            มาตรา ๕๓  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
                    (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
                    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
                    (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
                    (๑) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                    (๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                    (๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
            มาตรา ๕๔ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
                    (๑) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
                    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
                    (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือเทียบเท่าบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
                    (๑) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
                    (๒) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                    (๓) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                    (๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
                    (๕) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตหรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวย หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
                    (๖) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมืองเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
                    (๗) เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติจนถึงวันเลือกตั้ง
            มาตรา ๕๕  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาจากรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
            มาตรา ๕๖  หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
            มาตรา ๕๗  เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
             พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน หกสิบวัน และไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
            การยุบสภาผู้แทนราษฎร กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
            มาตรา ๕๘  สมาชิกภาพของสมาชิกผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
            สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ
                    (๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
                    (๒) ตายหรือลาออก
                    (๓) ขาดคุณสมบัติตาม
                    (๔) วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพ
            มาตรา ๕๙  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในสี่สิบห้าวัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึงร้อยแปดสิบวัน
            ในกรณีที่ตำแหน่งที่ว่าง เป็นตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรในบัญชีรายชื่อให้ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง
            สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้ามาแทนนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนที่เหลืออยู่
            มาตรา ๖๐  พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตน มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
            ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนที่ ๓ วุฒิสภา
            มาตรา ๖๑  วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง จำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน
            ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
            อายุของวุฒิสภา มีกำหนดคราวละ ห้าปีนับแต่วันเลือกตั้ง
            มาตรา ๖๒  การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
            การคำนวณเกณฑ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาของแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเท่าจำนวนสมาชิกวุฒิสภาของเขตเลือกตั้งนั้น
            มาตรา ๖๓  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๓ มาใช้บังคับกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วยโดยอนุโลม
            มาตรา ๖๔  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
                        (๑)  มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
                        (๒)  มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
                        (๓)  สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือเทียบเท่า
                        (๔)  มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
            บุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๖๕  ให้นำบทบัญญัติมาตรา๕๕ มาใช้บังคับการกระทำอันต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาด้วย โดยอนุโลม
            มาตรา ๖๖  หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
            มาตรา ๖๗  เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงพระมหากษัตริย์จะได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน ๒๐ วันกำหนดเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร
            มาตรา ๖๘  สมาชิกสภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
            สมาชิกสภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง  ตามที่กฎหมายบัญญัติเมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาขึ้นแทนภายในสี่สิบห้าวันเว้นแต่อายุของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันสมาชิกวุฒิสภาผู้เข้ามาแทนนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
ส่วนที่ ๔ บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง
            มาตรา ๖๙  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ละสภามีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกของสภานั้นๆ ตามมติของสภา ประธานและรองประธานผู้แทนราษฎร และประธานและรองประธานวุฒิสภาย่อมพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๗๐  ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ เมื่อประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร  หรือประธานและรองประธานวุฒิสภาไม่อยู่ในที่ประชุมให้สมาชิกนั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
            มาตรา ๗๑ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมวุฒิสภา ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม  การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
            มาตรา ๗๒  ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในการแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิโดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
            เอกสิทธิตามวรรคหนึ่ง ไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฎนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่รัฐมนตรี หรือสมาชิกของสภานั้นเอกสิทธิตามวรรคหนึ่ง ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์ และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภา ทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต จากประธานของสภานั้นด้วย
            มาตรา ๗๓  ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
            ในปีหนึ่ง ให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
            มาตรา ๗๔  เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้ การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภาตามวรรคสองให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
            มาตรา ๗๕  ในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาติจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือในกรณีที่จับในขณะที่ทำความผิด
            มาตรา ๗๖  ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ในคดีอาญาไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก  ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุมพนักงานสอบสวน หรือศาล แล้วแต่กรณีต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าประธานของสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
            มาตรา ๗๗  ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสนอได้ก็แต่โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรี แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
            มาตรา ๗๘  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้พิจารณากฎหมาย ตามที่กำหนดในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญนี้
            หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๗๙  ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไป ตามมาตรา ๕๐ ถ้ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
            มาตรา ๘๐  เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาวุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอนั้นให้เสร็จภายใน หกสิบวันแต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน
            ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
            มาตรา ๘๑  เมื่อวุฒิได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการต่อไป ตามมาตรา ๕๐
            ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
            ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไปยังสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ดำเนินการต่อไป ตามมาตรา ๕๐  ถ้าเป็นกรณีอื่นให้แต่ละสภาตั้งบุคคลมีจำนวนเท่ากันประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น แล้วเสนอร่างพระราชบัญญัติที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามาตรา ๕๐  ถ้าสภาหนึ่งใดไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้นั้นสภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ต่อเมื่อเวลาเก้าสิบวันนับจากวันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร สำหรับการยังยั้งตามวรรคสอง และนับจากวันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วยสำหรับกรณียับยั้งตามวรรคสาม ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันตามร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาแล้วให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๕๐
            ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินสภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้น ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ทันที
            ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดคณะรัฐนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้มิได้
            มาตรา ๘๒ ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือยุบสภาผู้แทนราษฎร บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้เป็นอันตกไป
            ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภาสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้
            มาตรา ๘๓ งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน
            มาตรา ๘๔ ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าพระราชบัญญัตินั้นไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
            วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้น มาถึงวุฒิสภา ถ้าพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
            ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๘๗  วรรคสองมาใช้โดยอนุโลม
            มาตรา ๘๕  การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณกฎหมายเกี่ยวกับด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
            มาตรา ๘๖ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้
            มาตรา ๘๗ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วยและเมื่อได้เสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้
            ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป
           มาตรา ๘๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
            การเปิดอภิปรายตามวรรคสอง จะกระทำได้ไม่เกินสองครั้งในสมัยประชุมหนึ่ง
           มาตรา ๘๙ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภา ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญและมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิก หรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อกระทำกิจการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา
            คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงในก่อการนั้นได้
            มาตรา ๙๐ ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
                    (๑) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๘ วรรคสอง
                    (๒) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๒
                    (๓) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ ตามมาตรา ๙
                    (๔) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ตามมาตรา ๕๐
                    (๕) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ ตามมาตรา๗๓
                    (๖) ให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม
                    (๗) การปิดประชุมรัฐสภา
                    (๘) การให้ความเห็นชอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗๙
                    (๙) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๘๒ วรรคสอง
                    (๑๐) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
                    (๑๑) การแถลงนโยบาย ตามมาตรา ๙๖
                    (๑๒) การเปิดอภิปรายทั่วไป
                    (๑๓) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ตามมาตรา ๑๐๕
                    (๑๔) การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา ตามมาตรา ๑๐๖
                    (๑๕) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๗๑
            มาตรา ๙๑ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก้สภาทั้งสองมาใช้บังคับ โดยอนุโลมและให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

หมวด ๖ ฝ่ายบริหาร

ส่วนที่ ๑ การปกครองส่วนกลาง
            มาตรา ๙๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีก ไม่เกินสามสิบคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
            ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
            มาตรา ๙๓ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
            การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง
            มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบ ด้วยการการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันดังกล่าวแล้วไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคสาม ให้สภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
            มาตรา ๙๔ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
            มาตรา ๙๕ รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
                    (๑) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
                    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
                    (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ
                    (๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๕ และมาตรา ๕๖
                    (๕) ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่วน ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว
            มาตรา ๙๖ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีมติไว้วางใจภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่
             ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบาย ที่แถลงไว้ตามวรรคหนึ่งและต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี            มาตรา ๙๗  ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงประชามติได้
            การประกาศตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงประชามติซึ่งจะต้องไม่ก่อนหกสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวันออกเสียงประชามติต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
            บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
            หลักเกณฑ์และวิธีออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๙๘ รัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ
                    (๑) ตาย
                    (๒) ลาออก
                    (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๕
                    (๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
                    (๕) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘
                    (๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๙๕
                    (๗) มีพระบรมราชโองการตามมาตรา ๙๙
                    (๘) วุฒิสภามีมติตามมาตรา.....  ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
            มาตรา ๙๙  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรี  ถวายคำแนะนำ
            มาตรา ๑๐๐  รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                    (๑) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๙๘
                    (๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
                    (๓) คณะรัฐมนตรีลาออก
            คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
            มาตรา ๑๐๑  ในการณเพื่อประโยชน์อันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติได้
            การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
            ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั่นคือ รัฐสภาเพื่อพิจารณาไม่ชักช้าถ้าอยู่นอกสมัยประชุม และรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติ หรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดโดยเร็ว
            มาตรา ๑๐๒ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้และจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนภายในสามวัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๐๑ มาใช้โดยอนุโลม
            มาตรา ๑๐๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
            มาตรา ๑๐๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
            ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก
            มาตรา ๑๐๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
            มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
            ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือถูกยุบให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาและการลงมติ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
            มาตรา ๑๐๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
            หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจของรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
            มาตรา ๑๐๗ พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวงอธิบดีและเทียบเท่าและทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย
            มาตรา ๑๐๘ การจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
            มาตรา ๑๐๙  บทกฎหมายพระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้  บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนว่าลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน
ส่วนที่ ๒ การปกครองส่วนท้องถิ่น
            มาตรา ๑๑๐  ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
            การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำเท่าที่จำเป็น เพื่อความมั่นคงของชาติการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
           องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

หมวด ๗ ฝ่ายตุลาการ

ส่วนที่ ๑ บททั่วไป
            มาตรา ๑๑๑ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
            มาตรา ๑๑๒ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
            มาตรา ๑๑๓  การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้
            มาตรา ๑๑๔  การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษา หรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้
            มาตรา ๑๑๕  ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายศาลหรือผู้นั้นได้กระทำผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติโดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดของการจับโดยไม่ชักช้ากับจะต้องได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรกในคดีอาญาการค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๑๖  คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว
            ผู้ถูกควบคุม คุมขัง หรือจำคุก ย่อมมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัวและมีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร
            มาตรา ๑๑๗  ในคดีอาญา ผู้ต้องหา หรือจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวน หรือพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็วต่อเนื่อง
            ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้
            มาตรา ๑๑๘  ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาและคดีแพ่ง ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๑๙บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาและบุคคลผู้เป็นพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและความสมควรจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
            บุคคลผู้ใดได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือแก่ร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นและไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นบุคคลนั้น หรือทายาท ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒๐  บุคคลตกเป็นจำเลยในคดีอาญา และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้นว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร ตลอดจนบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะการนั้นคืน ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒๑  บุคคลต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุด บุคคลนั้นผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการอาจขอร้องให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้และหากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ว่า บุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดบุคคลนั้นหรือทายาทย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายตามสมควร ตลอดจนสิทธิที่เสียไปเพราะผลของคำพิพากษานั้นคืนตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒๒ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารและศาลอื่นให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด โดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นกรรมการ
            หลักเกณฑ์ การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒๓ ผู้พิพากษาและตุลาการ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผู้พิพากษาและตุลาการ จะเป็นข้าราชการการเมือง หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้
            มาตรา ๑๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษา และตุลาการ และทรงให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย
            การแต่งตั้งผู้พิพากษา และตุลาการในศาลอื่น นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมศาลปกครอง และศาลทหาร พ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจพิพากษาคดี และวิธีพิจารณาของศาลดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น
ส่วนที่ ๒ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
            มาตรา ๑๒๕ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกสิบสี่คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๒๖ ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญต้อง
                    (๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ
                    (๒) ไม่ดำรงตำแหน่งอื่นใด ในภาครัฐและเอกชน
            มาตรา ๑๒๗ ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามกฎหมาย
            มาตรา ๑๒๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติ
             เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้ตามมาตรา๑๒๙
            มาตรา ๑๒๙ องค์คณะของตุลาการรัฐธรรมนูญ ในการนั่งพิจารณา และในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเก้าคนคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก
            วิธีพิจารณาของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามที่ตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            ตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์คณะทุกคน จะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
            คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคนให้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา
            มาตรา ๑๓๐ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
            มาตรา ๑๓๑ คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีศาลและองค์กรอื่นของรัฐ
            มาตรา ๑๓๒ สำนักงานตุลาการรัฐธรรมนูญ  มีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
            การแต่งตั้งเลขาธิการตุลาการรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
            สำนักงานตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม
            มาตรา ๑๓๓ ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
            มาตรา ๑๓๔ ศาลยุติธรรม มีสามชั้นคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
            ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคนซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และให้เลือกเป็นรายคดี มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๓๕การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูล
            การเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน และการลงโทษ ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการศาลยุติธรรม
            มาตรา ๑๓๖ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประกอบด้วยบุคคลดังนี้
                    (๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
                    (๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล ชั้นศาลละสี่คน รวมเป็นสิบสองคน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการ ในทุกชั้นศาล
                    (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา
            คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๓๗ ศาลยุติธรรม มีหน่วยธุรการของศาลยุติธรรม มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา
            การแต่งตั้งเลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
            สำนักงานศาลยุติธรรม มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่ ๔ ศาลปกครอง
            มาตรา ๑๓๘ ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกันซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจาก การกระทำหรือการละเว้นการกระทำ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้น ต้องรับชดเชยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ให้มีศาลปกครองสูงสุด ปกครอง ชั้นกลาง และศาลปกครองชั้นต้น
            มาตรา ๑๓๙ การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่กฎหมายบัญญัติก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูล
            การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการในศาลปกครอง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๔๐ การแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป
            มาตรา ๑๔๑ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
                    (๑) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานกรรมการ
                    (๒) คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครอง และได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง
                    (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน
            คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๔๒ ศาลปกครอง มีหน่วยธุรการของศาลปกครอง มีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
            การแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครอง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่ ๕ ศาลทหาร
            มาตรา ๑๔๓ ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร และคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
            การแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหาร พ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

หมวดที่ ๘ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและองค์กรอิสระ

ส่วนที่ ๑ การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
            มาตรา ๑๔๔  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่ได้เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง
                    (๑) นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
                    (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
                    (๓) ข้าราชการการเมืองอื่น
                    (๔) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            รายละเอียดในการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๔๕ บัญชีแสดงราชการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ให้ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามทุจริตแห่งชาติ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน และหนี้สินดังกล่าวโดยเร็วและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ รายงานดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            มาตรา ๑๔๖  ในกรณีที่มีการยื่นบัญชีเพราะเหตุผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดพ้นจากตำแหน่งให้คณะกรรมการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นแล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ รายงานดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            ในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติส่งเอกสารพร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
            มาตรา ๑๔๗ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ตามที่กฎหมายบัญญัติหรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นตามมาตรา ๑๔๔ หรือนับแต่วันที่ตรวจพบว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่กรณี และผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง
            เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
            มาตรา ๑๔๘ คณะกรรมการ ฯ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
            กรรมการ ฯ  ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๒๕
            การสรรหาและการเลือกกรรมการ ฯ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๕ และมาตรา ๑๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            ให้ประธานวุฒิสภา ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธาน ฯ และกรรมการ ฯ
            มาตรา ๑๔๙ กรรมการ ฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
            การพ้นจากตำแหน่ง การสรรหาและการเลือกกรรมการ ฯ แทนตำแหน่งที่ว่างให้นำบทบัญญัติมาตรา๑๒๘มาบังคับใช้โดยอนุโลม
            มาตรา ๑๕๐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาว่ากรรมการ ฯ ผู้ใดมีพฤติกรรมที่เป็นการเสื่อมเสียต่อการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรงแอละขอให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้
            มติของวุฒิสภาให้กรรมการ ฯ พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
            มาตรา ๑๕๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการ ฯ ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
            กรรมการ ฯ ผู้ถูกกล่าวหา  จะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างนั้นมิได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว
            มาตรา ๑๕๒ กรรมการ ฯ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๕๓ คณะกรรมการ ฯ มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการ ฯมีเลขาธิการคณะกรรมการ ฯ เป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ ฯ
            การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการ ฯ ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการ ฯ และวุฒิสภา
            สำนักงานคณะกรรมการ ฯ มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่ ๓ การตรวจเงินแผ่นดิน
            มาตรา ๑๕๔ การตรวจเงินแผ่นดินให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
            คณะกรรมการ ฯ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
            คณะกรรมการ ฯ มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการ ฯ โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้บังคับัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ ฯ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
            พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา
            ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
            กรรมการ ฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
            คุณลักษณะ ลักษณะต้องห้าม การสรรหาและการเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการฯ และผู้ว่าการ ฯ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ ผู้ว่าการ ฯ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
ส่วนที่ ๔ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
            มาตรา ๑๕๕ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจำนวนไม่เกินเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
            ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน
            ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี
            มาตรา ๑๕๖ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการพนักงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนที่ ๕ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
            มาตรา ๑๕๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีจำนวนสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามคำแนะนำของวุฒิสภา
            ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชน
            กรรมการสิทธิมนุษยชน มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี
            มาตรา ๑๕๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ
            เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
            ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีอำนาจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่ ๖ การถอดถอนจากตำแหน่ง
            มาตรา ๑๕๙  ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุดผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได
            บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้ด้วยคือ
                    (๑) กรรมการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
                    (๒) ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
            มาตรา ๑๖๐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติ ตามมาตรา ๑๖๓ ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา๑๕๙  ออกจากตำแหน่งได้
            หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต
            มาตรา ๑๖๑ เมื่อได้รับคำร้องของตามมาตรา ๑๖๐ แล้วให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการฯทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา
            ถ้าคณะกรรมการ ฯ มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลนับแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธานกรรมการ ฯ ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๑๖๒ และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป  แต่ถ้าคณะกรรมการ ฯ เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป
            มาตรา ๑๖๒ เมื่อได้รับรายงานตามมาตรา ๑๖๑ แล้วให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว
            มาตรา ๑๖๓  มติของสมาชิกวุฒิสภาที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
            ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมือง หรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปี
ส่วนที่ ๗ การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
            มาตรา ๑๖๔ ในการพิจารณาคดี ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ยึดสำนวนของคณะกรรมการ ฯ เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
             บทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันตามมาตรา ๑๖๙ มิให้นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ              การพิพากษาคดีให้ถือเอาเสียงข้างมากโดยผู้พิพากษา ซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
            คำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ให้เปิดเผยและเป็นที่สุด
ส่วนที่ ๘ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
            มาตรา ๑๖๕ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกแปดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
            ให้ประธานวุฒิสภา ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
            มาตรา ๑๖๖ กรรมการการเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติการสรรหาและเลือกกรรมการการเลือกตั้งเป็นไป ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๖๗ กรรมการการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีการพ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้ง พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือในกรณีที่กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๖๖ ภายในสี่สิบห้าวัน และให้ผู้ได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
            มาตรา ๑๖๘ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม
            ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง
            คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา ๑๖๙ ข้าราชการ พนักงาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๖๘
           มาตรา ๑๗๐ ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาหรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติ มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้งไปทำการสอบสวนเว้นแต่ในกรณีได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในกรณีที่จับในขณะทำผิด

หมวด ๙ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

            มาตรา ๑๗๑ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้
                    (๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
            ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้
                    (๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
                    (๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการต้องมีคะแนนเสียง เห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
                    (๔) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขึ้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเสียงข้างมาก
                    (๕) การออกเสียงในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
                    (๖) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

.....................................................