เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ(หน้าที่ ๒)
ฆ้องหุ่ย    ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ
ฆ้องเหม่ง    ใช้ตีกำกับจังหวะ ขนาดเล็กกว่า ฆ้องโหม่ง ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี
ฆ้องโหม่ง    ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี

ฉาบ    เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่มีขนาดใหญ่กว่าและหล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน
      ฉาบใหญ่                                                          ฉาบเล็ก
ฉิ่ง    เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ หล่อหนา รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครกไม่มีจุก สำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็กใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี
กังสดาล    เป็นระฆังวงเดือน หล่อจากสัมฤทธิ์ หรือทองเหลือง ด้านบนเจาะรูไว้แขวน ใช้เป็นเครื่องตีบอกสัญญาณ ของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ และใช้ประกอบ การบรรเลงดนตรีในบางโอกาส

มโหระทึก    เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะทั้งลูก มโหระทึกมีมาตั้งแต่ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งตกประมาณ ๒๐๐๐ปีมาแล้ว มีพบในหลายประเทศในสุวรรณภูมิ ตัวกลองมีหน้ากลองแบนกว้าง บริเวณตรงกลางหน้ากลองนิยมทำเป็นรูปดาวและมีลวดลายอื่น ๆ ประกอบ ด้านข้างตัวกลางมักจะหลักลวดลายต่าง ๆ ฐานกลองเป็นทรงกระบอกกลวง
ในการตีจะวางมโหระทึก ตั้งเอาหน้ากลองขึ้น ใช้ไม้ตีสองอัน ทำด้วยไม้รวกหรือไม้เนื้อแข็งเหลากลม ปลายที่ใช้ตี พันด้วยผ้าให้แน่นแล้วผูกเคี่ยนหรือถักด้วยเส้นด้าย
ชาวไทยใช้มโหระทึกมาแต่โบราณ มีกล่าวถึงในสมัยสุโขทัย ใช้ตีในเทศกาล งานรื่นเริง สมัยอยุธยามีกำหนดให้ตีมโหระทึก ในงานพระราชพิธี สมัยรัตนโกสินทร์ ใช้ประโคมร่วมกับแตร สำหรับพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จออก ขุนนางในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะใน งานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวน พยุหยาตราทางชลมารค และในกระบวนอื่น ๆ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ เป็นการพิเศษแก่วัดสามวัด ให้มีการประโคมมโหระทึกของ พระภิกษุสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม