เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง (หน้าที่ ๒)
ตะโพน    เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ปกติอยู่ด้านขวามือ อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า "หน้ามัด" ใช้สายหนังเรียกว่า "หนังเรียด" โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าทั้งสอง ตรงรอบ ขอบหนังขึ้นหน้าทั้งสองข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" สำหรับใช้ร้อยหนังเรียด โยงไปโดยรอบจนหุ้มไม้หุ่นไว้หมด ตอนกลางหุ่นใช้หนังเรียดพันโดยรอบเรียกว่า "รัดอก" หัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าที่ทำด้วยไม้ ใช้ฝ่ามือซ้าย-ขวา ตี ทั้สองหน้า ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปีพาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ
ผู้ที่นับถือพระประคนธรรพ ว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี ได้ถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนพระประคนธรรพในพิธีไหว้ครู และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด
ตะโพนมอญ    คล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า "เมิกโนด" หน้าเล็กเรียกว่า "เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ ตะโพนมอญใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่าง ๆ
โทน    เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง เดิมเรียกว่า ทับ หุ่นทำด้วยดินเผารูปร่างคล้ายกรวย ปลายบานออกเป็นดอกลำโพง ขึงด้วยหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังคอ ตีด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งคอยปิด-เปิดปากลำโพง เพื่อช่วยให้เป็นเสียงต่าง ๆกัน ใช้ตีเป็นจังหวะ กำกับทำนองเพลงมาแต่โบราณ นิยมบรรเลงในวงเครื่องสาย ไม่นิยมบรรเลงในวงปีพาทย์
บัณเฑาะว์    เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก ไทยคงได้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย ตัวกลองทำด้วยไม้ขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด มีสายโยงเร่งเสียงใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดที่ตรงสายรัดอก มีหลักยาวอันหนึ่งรูปเหมือนหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ทำด้วยไม้หรืองาที่ปลายหลักมีเชือกผูก ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งผูกลูกตุ้ม ในการบรรเลงใช้มือไกวบัณเฑาะว์ คือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกเหวี่ยงตัวไปกระทบที่หนังหน้ากลองทั้งสองด้าน บางครั้งใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว บางครั้งใช้สองลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ มือละลูก เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบขับไม้ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภช พระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก และช้างสำคัญ เป็นต้น
เปิงมาง    เป็นกลองใช้ตีขัดจังหวะหยอกล้อกับตะโพน หรือกลองทัด เปิงมางเป็นภาษามอญ เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ มีรูปร่างยาวเหมือนกระบอก ตรงกลางป่องเล็กน้อย หุ่นกลองทำด้วยไม้ ขึ้นหนังสองหน้า สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนังไส้ละมานเรียงถี่จนคลุมหุ่นไว้หมด มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา หรือตีประโคม ประจำพระบรมศพ พระศพ และศพ คนตีเปิงมางนำกลองชนะเรียกว่า "จ่ากลอง" คู่กับคนเป่าปี่ เรียกว่า "จ่าปี"
เปิงมางคอก    ใช้ในวงปีพาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป เทียบเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวรอบตัวคนตี คอกที่ใช้แขวนเปิงมางจะมีรูปโค้งเป็นวง การบรรเลง ใช้ตีขัดสอดประสานกันตะโพนมอญ
รำมะนา    เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลอง ยานผายออก หุ่นกลองนั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง หรือชามอ่าง เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า เรบานา รำมะนามีสองชนิด คือรำมะนาสำหรับวงมโหรี และรำมะนาสำหรับวงลำตัด
รำมะนาสำหรับวงมโหรี มีขนาดเล็ก หุ่นกลองสูง หนังที่ขึ้น ตรึงด้วยหมุดโดยรอบ มีเชือกที่เรียกว่า "สนับ" สำหรับใช้หนุนข้างใน โดยรอบหน้ากลาง เมื่อหน้ากลองหย่อน เพื่อช่วยให้เสียงสูง ใช้มือตี บรรเลงในวงมโหรีและวงเครื่องสายคู่กับโทน
รำมะนาสำหรับวงลำตัด มีขนาดใหญ่ ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก ซึ่งรัดขอบล่างของตัวกลอง และใช้ลิ่มตอกเร่งเสียง รำมะนาชนิดนี้เดิมใช้ในการร้องเพลงบันตน เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากชวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต่อมาได้ใช้ในการเล่นลำตัดและลิเก