อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

| หน้าต่อไป |

ข้อมูลทั่วไป
    อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2505  มีอาณาเขตครอบคลุม 4 จังหวัด คือ  สระบุรี  นครราชสีมา  ปราจีนบุรี  นครนายก ได้รับสมญาว่า เป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของโลก ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ในเทือกเขาพนมดงรัก ในส่วนหนึ่งของดงพญาไฟ ประกอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนหลายลูก ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม  มีเนื้อที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร


ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
    อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนกันหลายลูก ได้แก่  เขาร่ม เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด  เขาแหลม  เขาเขียว  เขาสามยอด  เขาฟ้าผ่า  เขากำแพง  เขาสมอปูน  เขาแก้ว และยังประกอบด้วยทุ่งกว้าง สลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออก พื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตก เป็นที่สูงชันไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย คือ แม่น้ำปราจีน และแม่น้ำนครนายก แม่น้ำทั้งสองสายนี้พบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกง แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย
แม่น้ำลำตะคอง และแม่น้ำลำพระเพลิง   ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก   มีปริมาณน้ำตลอดทั้งปี ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่อำเภอมวกเหล็ก จากสภาพป่ารกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน บนเขาสูงที่เขาใหญ่ อากาศจะเย็นสบาย ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่ง ฤดูฝน บนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรง ฤดูหนาวมีนักท่องเที่ยวนิยมไปมากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้า อากาศจะหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่ตอนเช้าจะพบกับธรรมชาติที่สวยงาม

พรรณไม้
ป่าเบญจพรรณแล้ง   อยู่ทางภาคเหนือ ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น  มะค่าโมง  ประดู่  ตะแบก  ยังมีไม้ไผ่และหญ้าต่าง ๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ
 ป่าดงดิบแล้ง   อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนิน มีไม้ยางนก  พันจำ  ตะเคียนทอง  กะเบากลัก  หลวงขี้อาย มะพร้าว  กล้วยป่าและเตย
    ป่าดงดิบชื้น   คล้ายกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่ามีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น  ยางกล่อง  ยางขน  ยางเสี้ยน
    ป่าดงดิบเขา   สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ไม่มีไม้ยางขึ้นอยู่เลย ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น  พญาไม้  สนสามพันปี และไม้กอชนิดต่าง ๆ
    ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหลา   มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเป็นส่วนใหญ่  บางแห่งมีหญ้าแขม  หญ้าพง  หญ้าขน และพันธุ์ไม้ขนาดเล็กบางชนิด


สัตว์ป่า
    สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้ตามโอกาสที่จะอำนวยได้แก่  ช้าง  เก้ง  กวาง  เสือโคร่ง  กระทิง  เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก  หมาไม้  ชะมด  อีเห็น  กระต่ายป่า  นกชนิดต่าง ๆ กว่า 200 ชนิดแต่ที่น่าสนใจและพบเห็นบ่อยได้แก่  นกเงือก  นกขุนทอง  นกขุนแผน  นกพญาไฟ  นกแต้วแร้ว  นกโพระดก  นกแซงแซว  นกเขา  นกกะปูด  ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่าง ๆ นกเงือกทั้ง 3 ชนิด และยังมีผีเสื้อชนิดต่าง ๆ ที่สวยงาม มีประมาณ 500 ชนิด


สถานที่ท่องเที่ยว
   น้ำตก   มีน้ำตกที่สวยงามแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของภูมิประเทศ ที่รู้จักกันดี เช่น  น้ำตกนางรองและน้ำตกสาริกา  น้ำตกกรองแก้ว  น้ำตกผากล้วยไม้  น้ำตกเหวสุวัต  น้ำตกเหวนรก  น้ำตกไม้ปล้อง  น้ำตกวังเหว  น้ำตกตะคร้อ  น้ำตกสลัดได  น้ำตกส้มป่อย  น้ำตกพันธุ์ทิพย์  น้ำตกแก่งกฤษณา  น้ำตกเหวจั๊กจั่น  น้ำตกเหวอีอ่ำ  น้ำตกไทรคู่  น้ำตกแก่งหินเพลิง  น้ำตกเหวไทร  น้ำตกเหวประทุน  น้ำตกมะนาว  น้ำตกตาดตาภู่  น้ำตกตาดตาคง  กลุ่มน้ำตกผาตะแบก
  จุดชมทิวทัศน์   มีจุดชมทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เด่น ๆ มี 3 จุด ดังนี้
    - จุดชมทิวทัศน์กิโลเมตรที่ 30   ถนนธนะรัชต์ สามารถชมทิวทัศน์ด้านทิศเหนือของอุทยาน ได้เห็นบริเวณกว้างและสวยงาม
    - จุดชมทิวทัศน์เขาเขียว (ผาตรอมใจ)   นับเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามน่าชม และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก เช้าตรู่จะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเป็นดวงกลมสีแดงเหนือสันเขาร่มที่สวยงาม
    - จุดชมทิวทัศน์ ก.ม.9 อยู่ช่องกิโลเมตรที่ 9   ถนนขึ้นเขาเขียว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ ป่าไม้ และภูเขาสูงด้านทิศเหนือตลอดแนวได้เป็นอย่างดี

| หน้าต่อไป | บน |