| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |
| อุทยานแห่งชาติทางบก | อุทยานแห่งชาติทางทะเล
|

อุทยานแห่งชาติของไทย
( National Parks, Thailand )


อุทยานแห่งชาติ  หมายถึง  ที่ดินซึ่งรวมทั้งพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายฝั่งที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลักษณะที่ดินดังกล่าว เป็นที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฏหมาย ของบุคคลใด  ที่มิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าว ก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม  เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์ แก่การศึกษา และความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป (พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504)

ประเทศไทยมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล  รวม 86 แห่ง  เป็นพื้นที่ประมาณ 27.44 ล้านไร่  หรือประมาณ ร้อยละ 8.56 ของพื้นที่ประเทศ  (ข้อมูลปี พ.ศ. 2541)
ในระบบอุทยานแห่งชาติของไทย  ได้กำหนดให้อุทยานแห่งชาติ ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะแก่ง พื้นที่น้ำชายฝั่งทะเลและทะเล ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งไดัรวบรวมระบบนิเวศน์ ของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบก ใกล้ชายฝั่ง และในท้องทะเลไว้เป็นจำนวนมาก  และมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม  เหมาะแก่การพักผ่อน  ศึกษาหาความรู้  ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติทางทะเลของไทย มีอยู่ทั้งสิ้น 19 แห่ง พื้นที่ประมาณ 5.34 ตารางกิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลในภาคกลาง  ภาคตะวันออกและภาคใต้ และมีอุทยานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งอีก 5 แห่ง

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ


1. เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ให้คงอยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์ป่า พืชพรรณ และลักษณะธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ รวมทั้งแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมที่สำคัญ

2. เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

3. เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย

อุทยานแห่งชาติของไทยทุกแห่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลของการจัดอุทยานแห่งชาติ มีการบริหารงานของรัฐที่เป็นส่วนกลาง โดยผ่านคณะกรรมการในระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ

ในการจัดอุทยานแห่งชาติ จะไม่ตบแต่งพื้นที่ด้วยพันธุ์ไม้ต่างถิ่น จะใช้แต่ไม้ท้องถิ่นเท่านั้น และการดำเนินการต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรต่าง ๆ ในอุทยาน ฯ

คุณค่าของอุทยานแห่งชาติ

การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือ เพื่อช่วยคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไว้

ในด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ

ด้านสังคมและวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านสันทนาการของประชาชน
ในด้านสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความมั่นคงแก่กระบวนการทางอุทกวิทยา  ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน  ช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศ  ช่วยรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต  ช่วยคุ้มครองรักษาระบบนิเวศ ให้ได้ผลผลิตยั่งยืนตลอดไป

ความหลากหลายทางชีวภาพ จากการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของชนิดพันธุ์ และพันธุกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทำให้มั่นใจได้ว่า ชนิดพันธุ์ป่าต่าง ๆ ของไทย  ได้รับความคุ้มครองไว้ในระดับหนึ่งแล้ว

ทรัพยากรที่มีค่าในเขตอุทยานแห่งชาติของไทยอีกประการหนึ่งคือ  สิ่งที่เกิดมาโดยธรรมชาติ  มีความโดดเด่น เป็นหนึ่งเดียวในโลก  เป็นทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์ทางธรณีสัณฐาน เช่น

สุสานหอย 75 ล้านปี  ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา  หมู่เกาะพีพี
เขาตะปู  ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

ถ้ำหินงอกหินย้อย  ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ลานหินปุ่ม ลานหินแตก ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

หินผา ที่ผาหล่มสัก  ความเหมาะเจาะของต้นสนสามใบบนหน้าผา  ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ส่วนทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนเช่น ชาวเลที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์  อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เงาะป่าซาไก ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ชุมชนชาวเขาที่อุทยานแห่งชาติ หลายแห่งทางภาคเหนือ  ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ เช่น ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์  ที่อุทยานผาแต้ม ร่องรอยทรากไดโนเสาร์ ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด  เจดีย์พระนางเรือร่ม ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นต้น


| อุทยานแห่งชาติทางบก | อุทยานแห่งชาติทางทะเล | บน |
| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |