ประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุด
และใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๆ ห้าเกาะ และหมู่เกาะเล็ก ๆ อีกประมาณ
๓๐ หมู่เกาะ รวมแล้วมีอยู่ ๑๓,๖๗๗ เกาะ เป็นเกาะที่มีคนอยู่อาศัยประมาณ ๖,๐๐๐
เกาะ รูปลักษณะหมู่เกาะจะวางตัวยาวไปตามแนวเส้นศูนย์สูตร คล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งซีกหงาย
คำว่าอินโดเนเซีย มาจากคำในภาษากรีกสองคำคือ อินโดซ หมายยถึง อินเดียตะวันออก
และนิโซสหมายถึงเกาะ จึงมีความหมายว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันออก
หมู่เกาะอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิค จึงเป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร
และสะพานเชื่อมระหว่างสองทวีปคือ ทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย
อินโดนีเซียมีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีพื้นน้ำใหญ่เป็นสี่เท่าของพื้นที่แผ่นดิน
อาณาเขตจากตะวันออกไปตะวันตก ยาวประมาณ ๕,๑๐๐ กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้ยาวประมาณ
๑,๘๐๐ กิโลเมตร
เกาะใหญ่ทั้งห้าเกาะ ประกอบด้วย เกาะสุมาตรา
มีพื้นที่ประมาณ ๔๗๓,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร เกาะกาลิมันตัน
มีพื้นที่ประมาณ ๕๓๙,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะดินแดนของอินโดนีเซีย ซึ่งประมาณสองในสามของพื้นที่เกาะบอร์เนียวทั้งหมด)
เกาะสุลาเวสี
มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๙,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร เกาะชวา
มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๒,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร และเกาะอิเรียนจายา
(อิเรียนตะวันตก) มีพื้นที่ประมาณ ๔๒๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
หมู่เกาะอินโดนีเซีย แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ ออกได้เป็นสี่ส่วนคือ
หมู่เกาะซุนดาใหญ่
ประกอบด้วย เกาะสุมาตรา เกาะชวา กาสิมันตัน และสุลาเวสี
หมู่เกาะซุนดาน้อย
รวมเกาะต่าง ๆ จากบาหลีไปทางตะวันออกถึงตะมอร์
หมู่เกาะโมลุกกะ
(มาลุกุ) ประกอบด้วย หมู่เกาะที่อยู่ระหว่างเกาะอิเรียนจายา ถึงเกาะสุลาเวสี
หมู่เกาะอิเรียนจายา
ประเทศอินโดนีเซีย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ
ทิศเหนือของเกาะกาลิมันตัน ติดต่อกับรัฐซาราวัคและรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย โดยมีสันเขาเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอิเรียนจายา
ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศฟิลิปปินส์
ทิศตะวันออก
ติดต่อกับประเทศปาปัวนิวกินี
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ติดต่อกับน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นพรมแดนระหว่างเกาะสุมาตรากับประเทศมาเลเซีย
ลักษณะภูมิประเทศ
หมู่เกาะอินโดนีเซีย สามารถแบ่งตามลักษณะโครงสร้างได้สามส่วนคือ
ส่วนที่ ๑
พื้นที่บริเวณไหล่ทวีปซุนดา ได้แก่บริเวณเกาะชวา เกาะสุมาตรา และเกาะกาลิมันตัน
กับร่องน้ำระหว่างเกาะต่าง ๆ เหล่านี้กับฝั่งทะเลของประเทศมาเลเซีย และอินโดจีน
มีระดับน้ำลึกไม่เกิน ๗๒๐ ฟุต
ส่วนที่ ๒
พื้นที่บริเวณไหล่ทวีปซาฮูลคือเกาะอีเรียนจายา และเกาะอารู มีอาณาเขตจากฝั่งทะเลออสเตรเลียทางเหนือ
ระดับน้ำลึกไม่เกิน ๗๐๐ ฟุต
ส่วนที่ ๓
บริเวณพื้นที่ระหว่างบริเวณไหล่ทวีปซุนดา และไหล่ทวีปซาฮูล ได้แก่ บริเวณหมู่เกาะนูซาแตงการา
มาลูกู สุลาเวสี มีความลึกของระดับน้ำถึง ๑๕,๐๐๐ ฟุต
ภูเขา
ภูเขาที่สำคัญ ๆ มีอยู่ประมาณ ๑๐๐ ลูก จากจำนวนประมาณ ๔๐๐ ลูก ภูเขาที่สูงที่สุดตามเกาะต่าง
ๆ มีดังนี้
ภูเขาเกรินยี
อยู่บนเเกาะสุมาตรา สูง ๑๒,๔๖๐ ฟุต
ภูเขาเซมารู
อยู่บนเกาะชวา สูง ๑๒,๐๔๐ ฟุต
ภูเขาแรนโตคอมโบรา
อยู่บนเกาะสุลาเวสี สูง ๑๑,๓๐๐ ฟุต
ภูเขาปุมจักชวา
อยู่บนเกาะอิเรียนจายา สูง ๑๖,๐๐๐ ฟุต
ที่ราบ
โดยทั่วไปมีพื้นที่ราบน้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ราบบริเวณเชิงเขา และบริเวณชายฝั่งทะเล
ชายฝั่งทะเลมักเป็นที่ราบต่ำ บริเวณทางทิศตะวันออกของเกาะสุมาตรา และทางตอนเหนือของเกาะชวา
จะมีลักษณะเป็นที่ราบกว้างใหญ่คลุมไปถึงบริเวณริมฝั่งทะเล และนอกจากนี้ก็มีบริเวณชายฝั่งของเกาะกาลิมันตัน และเกาะอีเรียนจายา
แม่น้ำและทะเลสาป
เนื่องจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย อยู่ในเขตมรสุมจึงมีฝนตกชุกตลอดปี และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา
จึงทำให้เกิดแม่น้ำ และทะเลสาปอยู่บนเกาะต่าง ๆ มากมาย แม่น้ำและทะเลสาบที่สำคตัญได้แก่
บนเกาะสุมาตรา
มีแม่น้ำมุสิ แม่น้ำบาตังฮาริ และแม่น้ำกำปา
บนเกาะกาลิมันตัน
มีแม่น้ำดาพัวส์ แม่น้ำมาริโต แม่น้ำมหกรรม และแม่น้ำงาจัง
บนเกาะอิเรียนจายา
มีแม่น้ำเมมเปอราโม และแม่น้ำติกัล
บนเกาะชวา
มีแม่น้ำเบนกาวันโซโล แม่น้ำซิตาวัม และแม่น้ำบราตัส
ทะเลสาบที่สำคัญ ๆ ส่วนมากจะอยู่บริเวณกลางเกาะคือ
บนเกาะสุมาตรา
มีทะเลสาบปโตมา ทะเลสาบมาบินิจอ และทะเลสาบซิงการัก
บนเกาะสุลาเวสี
มีทะเลสาบเทมบิ ทะเลสาบโทวูติ ทะเลสาบสิเดนเรว ทะเลสาบปูโซ ทะเลสาบลิมลิมโบโต
และทะเลสาบตันตาโน
บนเกาะอิเรียนจายา
มีทะเลสาบพิเนีย และทะเลสาบเซนตานี
สมุทรศาสตร์
ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ มีมหาสมุทรล้อมรอบทั้งสามด้าน
ระดับความลึกของน้ำทะเลจึงแตกต่างกันไป บริเวณที่น้ำตื้นส่วนใหญ่จะมีหินโสโครก
และหินปะการัง เนื่องจากลาวาของภูเขาไฟ เกาะใหญ่น้อยของอินโดนีเซียมีลักษณะแยกกัน
จึงก่อให้เกิดเส้นทางผ่านทะเลเป็นจำนวนมาก
เขตเวลา
ประเทศอินโดนีเซีย แบ่งเขตเวลาออกเป็นสามเขต ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
คือ
- เวลามาตรฐาน อินโดนีเซียตะวันตกเท่ากับ G.M.T บวกเจ็ดชั่วโมง (เส้นเมอริเดียน
๑๐๕ องศาตะวันออก) คลุมถึงเกาะสุมาตรา เกาะชวา มาดูรา และเกาะบาหลี
ทฤษฎีน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะ
อินโดนิเซียได้ออกคำประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ว่า อินโดนิเซียมีความจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะ
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในประเทศ พร้อมกับข้อเสนอเรียกร้องสามประการคือ
- ให้ลากเส้นเชื่อมโยง รอบนอกของเกาะทุกเกาะ และแนวปะการังเข้ารวมเป็นดินแดนทั้งหมดของอินโดนิเซีย
- ให้อินโดนิเซียมีอธิปไตยเหนือน่านน้ำดังกล่าวข้างต้น รวมตลอดถึงพื้นที่ในอากาศเหนือน่านน้ำ
พื้นที่ใต้ทะเล พื้นที่ใต้ดิน และทรัพยากรต่าง ๆ
- เรียกร้องสิทธิที่จะกำหนดขอบเขตทางทะเล เศรษฐกิจทางทะเล และวางข้อกำหนดกฎหมายต่าง
ๆ เกี่ยวกับทะเล น่านน้ำอาณาเขต
เดิมข้อเสนอของอินโดนิเซีย ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง แต่ต่อมาปรากฎว่า หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา
ได้แสดงท่าทีผ่อนคลายลงมาก
หากอินโดนิเซีย ประสบผลสำเร็จแล้ว จะทำให้อินโดนิเซีย มีดินแดนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ
๘.๗๕ ล้านตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นส่วนที่เป็นพื้นดินประมาณ ๒ ล้านตารางกิโลเมตร
และยังสามารถคุมเส้นทางเดินเรือ ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก
จะทำให้อินโดนิเซียมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ และการทหารในบริเวณพื้นที่แถบนี้มากขึ้น
ประชากร
ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายมาเลย์ ประมาณร้อยละ ๙๕ ที่เหลือเป็นอินเดีย
อาหรับ จีน และชาวยุโรป แต่ถ้าแบ่งตามหลักฐานชาติวงศ์วิทยาแล้ว ถือว่าชาวอินโดนีเซียมีต้นกำเนิดมาจาก
๓๖๕ เชื้อชาติ รวมเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้สี่กลุ่มด้วยกันคือ
เมสเลเนเซียน (Melanesians) เป็นเผ่าพันธุ์ที่ผสมกันระหว่างกลุ่มมองโกลลอยด์
กับวาจาด
โปรโตออสโตรเนเซียน (Proto - Autronesians)
โพลีเนเซียน (Polynesians)
โมโครเนเซียน (Micronesians)
ประชากรที่มีเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาศัยอยู่ตามเกาะสุมาตรา เกาะชวาตะวันตก
เกาะมาดูรา เกาะบาหลี เกาะลอมบก เกาะตีมอร์ เกาะบอร์เนียว เกาะสุลาเวสี
เกาะอีเรียนจายา และตามแนวชายแดนด้านตะวันตก
ลักษณะของชาวอินโดนีเซีย จะมีตาคม ผมดำ ผิวสีน้ำตาล กระดูกแก้มกว้าง ตาเล็ก
จมูกใหญ่ มีความสูงประมาณ ๕ - ๖ ฟุต พอกับความสูงของคนไทยทั่วไป
ประชากรของอินโดนีเซีย มีมากเป็นอันดับห้าของโลก รองลงมาจาก จีน อินเดีย โซเวียตรัสเซีย
และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๓ จะอยู่ทีเกาะชวา
และเกาะมาดูรา
จำนวนประชากรกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ คือ
เกาะชวา
มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๒,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่อันดับสี่ของอินโดนิเซีย
มีพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ในบรรดาเกาะทั้งหลายของอินโดนิเซีย ประมาณร้อยละ
๗๐ ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองจาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุด
กว่าทุกเมืองในอินโดนิเซีย
เกาะกาลิมันตัน
มีพื้นที่ประมาณ ๕๓๙,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ
แต่มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก ประมาณร้อยละ ๔ ของประชากรทั้งหมด
เกาะสุมาตรา
มีพื้นที่ประมาณ ๔๗๓,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่อันดับสองของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่เป็นอันดับสอง
รองลงมาจากเกาะชวา ประมาณร้อยละ ๔ ของประชากรทั้งหมด
เกาะสุลาเวสี
มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๙,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่ อันดับสามของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ
๖ ของประชากรทั้งหมด
เกาะมาลูกู
มีพื้นที่ประมาณ ๗๔,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่อันดับห้าของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ
๑ ของประชากรทั้งหมด
หมู่เกาะนุสาเตงการา บาหลี และติมอร์
มีพื้นที่ประมาณ ๗๖,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๕ ของประชากรทั้งหมด
เกาะอิเรียนจายา
มีพื้นที่ประมาณ ๗๒,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ ๑ ของประชากรทั้งหมด
ภาษา
ภาษาประจำชาติของอินโดนีเซีย ได้แก่ บาฮาซา
อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีภาษามลายูโปสีนีเซียน
และภาษาท้องถิ่นอีกประมาณ ๒๕๐ ภาษา ภาษาอังกฤษ
เป็นภาษาที่สำคัญรองลงมาจากภาษาประจำชาติ
และถือเป็นภาษาบังคับในโรงเรียนมัธยม นอกจากนี้ยังใช้กันอย่างแพร่หลายในวงราชการและธุรกิจ
สำหรับภาษาดัทช์ ใช้พูดกันในหมู่ผู้สูงอายุ
ภาษาบาฮาซา อินโดนีเซียได้โครงสร้างและคำส่วนใหญ่มาจากภาษามาเลย์ ประกอบด้วยภาษาท้องถิ่นอีกมากมาย
ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะรู้สองภาษา
พัฒนาการทางวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี
โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม
ประชากรอินโดนีเซียประกอบด้วย หลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีมรดกทางวัฒนธรรม
และลักษณะทางสังคมของตนสืบทอดกันมา ชนเหล่านี้เมื่อถูกรวมกันเข้าภายใต้ระบบการเมือง
เศรษฐกิจและการป้องกันประเทศร่วมกัน
จากการที่สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซีย มีลักษณะแยกกันเป็นหมู่เกาะมากมาย
และมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรติดต่อกันได้ยาก ทำให้แต่ละภูมิภาคมีรูปแบบวัฒนธรรมของตนเอง
จึงปรากฎลักษณะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาที่ใช้ผิดแผก แตกต่างกันไป
ขนบธรรมเนียมประเพณี
ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแตกต่างกันไป
ในแต่ละกลุ่มชน ชาวชนบทที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ยังยึดมั่นอยู่กับประเพณีเดิมอยู่มาก
ส่วนกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง และได้รับการศึกษาแบบตะวันตก จะมีวิถีชีวิตแตกต่างกันออกไป
การแบ่งกลุ่มชนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และพื้นที่ตั้ง สามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่
ๆ ด้วยกันคือ
กลุ่มแรก
เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเกาะชวา และบาหลี ผู้คนที่อยู่ในแถบนี้จะยึดมั่นอยู่ในแนวทางของศาสนาฮินดู
และศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมเน้นหนักในเรื่องคุณค่าของจิตใจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาศิลปอย่างมากมาย
โดยเฉพาะนาฎศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชากรจะประพฤติตามหลักจริยธรรม
มีการเคารพต่อบุคคลตามฐานะของบุคคลนั้น ๆ
กลุ่มที่สอง
เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณริมฝั่งทะเลของเกาะต่าง ๆ ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบการค้าขาย
มีชีวิตทางวัฒนธรรมตามหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และเป็นนักธุรกิจของสังคมอินโดนีเซียยุคใหม่
และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา และกฎหมาย
กลุ่มที่สาม
เป็นกลุ่มที่มีความล้าหลังมาก อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาในส่วนลึกของประเทศ
ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ และการเพาะปลูก รัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนกลุ่มนี้แล้ว
ในประเทศอินโดนีเซีย มีการกำหนดกฎหมายประเพณีในสังคม ตามความเชื่อในศาสนาซึ่งจะต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด
และสืบทอดกันมานานแล้ว มีสาระที่สำคัญคือ ความผูกพันระหว่างสามีกับภรรยา พ่อแม่กับลูก
และพลเมืองต่อสังคมที่ตนอยู่ โดยยึดหลักการปฎิบัติที่เรียกเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า
โกตองโรยอง คือการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันในงานต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว
การแต่งงาน การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดินร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงและข้อแม้พิเศษ
การแต่งกาย
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การแต่งกายจึงโน้มน้าวไปตามประเพณีของศาสนา
ผู้ชาย
จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอปิด แขนยาว สวมหมวกรูปกลม หรือหมวกหนีบ ทำด้วยสักหลาดสีดำ
บางครั้งจะนุ่งโสร่งทับกางเกง ประมาณครึ่งตัว โดยปล่อยให้เห็นขากางเกง ในกรณีที่ต้องเข้าพิธี
อาจจะมีการเหน็บกริชด้วย ปัจจุบันผู้ชายอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยม แต่งกายแบบสากล
แต่ยังคงสวมหมวกแบบเดิม
ผู้หญิง จะใช้ผ้าไคน์
พันรอบตัว และใช้นุ่งอยู่กับบ้านเท่านั้น ผ้าไคน์จะมีลวดลายสวยงามมาก เนื้อดีและราคาแพง
ซึ่งเป็นที่นิยมเรียกกันอีกชื่อว่า ผ้าปาติค
(Patik) เวลานุ่งจะต้องให้ยาวกรอมเท้า สวมเสื้อ เรียกว่า เคบาจา (Kebaja)
เป็นเสื้อที่รัดติดกับตัว แขนยาว สำหรับผู้หญิงชาวเกาะสุมาตรา นิยมสวมเสื้อหลวม
ลำตัวยาวเกือบถึงเข่า เรียกว่า บัตยูกรุง และใช้ผ้าห่มพาดไหล่ข้างหนึ่งด้วย
ผู้หญิงอินโดนีเซียไว้ผมยาว แล้วเกล้าเป็นมวย และใช้เครื่องประดับ เช่น พลอย
หรือดอกไม้ประดับศีรษะ รองเท้าที่ใช้เดิมเป็นรองเท้าแตะ แต่ปัจจุบันเป็นรองเท้ามีส้น
และทาสี แกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ สายคาดทำด้วยหนังทาสีเงิน หรือสีทอง สตรีที่นับถือศาสนาอิสลามจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ
แต่ไม่ปิดหน้า ปัจจุบันนิยมแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น การแต่งกายแบบดังกล่าว
จะใช้ในโอกาสพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น
ศิลปและวรรณคดี
ชาวอินเดียเป็นผู้รักศิลป และวรรณคดีมาช้านานแล้ว สังเกตได้จากลวดลายของเครื่องแต่งกาย
บ้านที่พักอาศัย ศาสนสถาน และนาฎศิลป์ต่าง ๆ ศิลปในประเทศอินโดนีเซีย มิได้ยึดถือตามที่สืบทอดกันมาแต่ในอดีตเท่านั้น
แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างได้พัฒนาเปลี่ยนไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย ที่มีอิทธิพลต่อประเทศอินโดนีเซีย
ในขณะนั้น
ศิลปกรรมการปั้น และการแกะสลัก
การทำงานแบบธรรมชาติ โดยใช้ฝีมืออย่างแท้จริง ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบแกะสลักไม้
แกะสลักวัตถุโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และงานแกะสลักหินเป็นรูปต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมฮินดู
เพราะศาสนาพราหมณ์ฮินดู เคยเข้ามามีอิทธิพลในอินโดนีเซีย นักแกะสลักที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวบาหลี
สถาปัตยกรรม
มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพของภูมิประเทศและอิทธิพลของศาสนา แต่ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับประเทศต่าง
ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาคารบ้านเรือนของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นอุปกรณ์ในการก่อสร้าง
ส่วนเทวสถานบางแห่ง เช่น สถูปโบโรพุทโธ ซึ่งมีชื่อเสียงมากได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดู
นาฏศิลป์
มีรูปแบบแตกต่างกันไปเป็นสองลักษณะ เนื่องจากในอดีตอินโดนีเซียถูกฮอลันดาบีบบังคับให้แบ่งอาณาจักร
Matanam ออกเป็นสองส่วนคืออาณาจักรสมาการ์ตา (Sumakarta) และอาณาจักรยอกยาการ์ตา
(Yogyakarta) จึงทำให้นาฏศิลป์ชวามีรูปแบบแตกต่างกันออกไปดังกล่าว
แบบสมาการ์ตา
(Samakarta) การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพาดบ่า ท่วงทำนองของวงมโหรีจะนุ่มนวลราบเรียบ
มีเส้นแบ่งจังหวะน้อย
แบบยอกยาการ์ตา
(Yogyakarta) การแต่งกายจะใช้ผ้าแพรพันเอว ท่วงทำนองของวงมโหรีจะมีเสียงไม่นุ่มนวล
เพราะมีเส้นแบ่งจังหวะมาก
ถึงแม้นาฏศิลป์ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม แต่ก็สะท้อนปรัชญาของชวาจากท่าทาง
การเคลื่อนไหวมือ - แขน แม้กระทั่งการแสดงออกทางสีหน้า เช่น ตัวละครที่แสดงเป็นธรรมะจะหลบตาลงต่ำเสมอ
และจะร่ายรำด้วยลีลาอ่อนช้อย ผสมกลมกลืนอย่างสง่างาม แสดงถึงจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์
ในทางตรงกันข้าม ตัวละครที่แสดงเป็นอธรรม หรือชั่วร้ายจะแสดง ลักษณะท่วงท่าวางอำนาจ
กลอกตาแข็งกร้าว แสดงถึงจิตใจชั่วร้ายหยาบคาย
ปรัชญาของชวามุ่งใฝ่สันติความสงบสุข สุภาพ ถ่อมตัวในการติดต่อกับผู้อื่น เช่นเดียวกับตัวละครที่แสดงเป็นฝ่ายธรรมะ
ดนตรี
ในสมัยโบราณ อินโดนีเซียมีวงดนตรีพื้นเมืองมีชื่อเสียงมากเรียกว่า ตมิลาน
ประกอบด้วย เครื่องดนตรีคล้ายระนาด กลอง ฆ้อง ซอสองสาย และขลุ่ย ซึ่งนอกจากเป็นดนตรีประจำราชสำนักของสุลต่านต่าง
ๆ บนเกาะชวาแล้ว ดนตรีดังกล่าวยังทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วย แต่ปัจจุบันวงดนตรีตมิลานได้กลายเป็นวงดนตรีสำหรับการฟ้อนรำ
การแสดงนาฏศิลป์ และการแสดงหนังตะลุง นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีวงดนตรีอังกะลุงด้วย
ศิลปะการแสดง
การมหรสพของอินโดนีเซียได้แก่ ละครและภาพยนตร์ เค้าโครงเรื่องของละครที่นำมาแสดงส่วนใหญ่คือเรื่องรามเกียรติ์
ซึ่งเป็นเทพนิยายในศาสนาฮินดู ตัวละครจะแต่งกายด้วยผ้าปาติก ไม่สวมเสื้อชั้นนอก
ใช้สีทาตัวเป็นสีต่าง ๆ ประดับด้วยสร้อยสังวาลย์ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีการละเล่นอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า
วายัง
หรือหนังตะลุง
เป็นที่นิยมกันมาก เค้าโครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นนิยายเกี่ยวกับเรื่องสงครามในศาสนาฮินดู
วรรณคดี
ในสมัยที่ศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาได้เข้าไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย วรรณคดีของอินโดนีเซียมีความเจริญอย่างรวดเร็ว
หนังสือที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นได้แก่เรื่องเนการาเกอร์ตากามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่
และอำนาจของอาณาจักรมัดยาปาหิต นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ
เรื่องปาราราตัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อินโดนีเซียในสมัยนั้น
เขียนเป็นภาษาชวาโบราณ
ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย ก็ได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอิสลาม
และตำราหมอดูไว้หลายเล่ม โดยเขียนเป็นภาษาชวา
|