การเมืองและการปกครอง
            แต่เดิมฟิลิปปินส์มีการปกครองระบอบประธานาธิบดี ต่อมาได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้ฟิลิปปินส์เป็นสาธารณรัฐ มีระบบการปกครองแบบรัฐสภา ประธานาธิบดีซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศ และต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ๆ ในขณะดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฟิลิปปินส์ที่ร่างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ และประกาศใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาล มาร์กอส ได้ประกาศกฎอัยการศึกตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๔๗๘ แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนฉบับเดิม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเพียง ๑๗ มาตรา ประกาศใช้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖  กำหนดให้ฟิลิปปินส์ มีการปกครองแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
            รัฐธรรมนูญฉบับเดิม และโครงสร้างของการปกครองฟิลิปปินส์มีอุปสรรคขัดขวางความเจริญอย่างหนึ่งคือบรรดาเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย เข้ามามีอิทธิพลในสภาของฟิลิปปินส์ คนกลุ่มนี้จะสนใจเฉพาะผลประโยชน์ และความมีอภิสิทธิ์ของพวกตนเท่านั้น
            เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่ประกอบด้วยเกาะเป็นจำนวนมาก และอยู่อย่างกระจัดกระจาย การปกครองจึงจำเป็นต้องมาจากส่วนกลางมากกว่า จะเป็นการปกครองแบบสหพันธ์ เช่น สหรัฐอเมริกา
            โครงสร้างของรัฐบาล  ฟิลิปปินส์เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย และจีนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์  ฟิลิปปินส์ไม่มีสิ่งก่อสร้างเก่า ๆ ในยุคเดิม ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ที่แพร่เข้ามาในเอเซียอาคเนย์ในครั้งแรก ไม่ได้ฝังรากมั่นคงในดินแดนแห่งนี้ จะมีมากก็เฉพาะศาสนาอิสลาม ที่แพร่เข้าไปบริเวณเกาะซูลู และเกาะมินดาเนา พอดีสเปนได้เข้ามาถึงดินแดนนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๔
            สเปนได้สร้างกรุงมะนิลาขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเมืองแบบสเปน มะนิลาได้ชื่อว่า เป็นเมืองเก่าของพวกยุโรปในบริเวณตะวันออกไกล
            สเปนมีอำนาจบังคับบัญชาดินแดน ที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมากในฟิลิปปินส์ได้ จะเว้นก็แต่พวกมุสลิมที่อยู่ทางใต้ แถบเกาะมินดาเนา และเกาะซูลู   อำนาจการบังคับบัญชา ขึ้นอยู่กับอุปราชของสเปนที่เม็กซิโก ในช่วงระยะเวลาที่สเปนเข้ามาเป็นผู้ปกครอง ศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลเหนือคนพื้นเมือง
            ขณะที่อยู่ภายใต้การปกครองของสเปนในระยะแรก ชาวฟิลิปปินส์ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจสเปนมากนัก ต่อมาเมื่อสเปนมีข้อพิพาทกับสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือสหรัฐ ฯ มีชัยชนะสเปนที่อ่าวมนิลาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑  อำนาจการปกครองของสเปนเหนือดินแดนฟิลิปปินส์มาเป็นเวลา ๓๗๗ ปี ก็เปลี่ยนมือไป ได้มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒
            ปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศ  ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ประธานาธิบดีโรซาสได้ออกกฎหมายนิรโทษผู้สมรู้ร่วมคิดกับญี่ปุ่น ปัญหาด้านนี้ก็หมดไป ยังมีแต่การก่อความไม่สงบของพวกชาวนา และเกษตรกร พวกนี้ได้ร่วมกันเข้าไปอยู่ในขบวนการคอมมิวนิสต์ หรือพวกฮุกบาลาฮับ (Hukbalahups) หรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ถือว่าพวกนี้เป็นพวกนอกกฎหมาย ได้มีการระดมกำลังเข้าปราบปราม เริ่มใช้โครงการปฏิรูปที่ดิน และการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ตั้งธนาคารกลางขึ้นรวมทั้งบริษัท ให้กู้เงินเพื่อฟื้นฟูประชาชน
            มีการออกกฎหมายให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมาย เพื่อป้องกันการแทรกซึมของพวกคอมมิวนิสต์
            นโยบายต่างประเทศ  ก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๑ สหรัฐอเมริกามีบทบาททั้งการทหาร และเศรษฐกิจในฟิลิปปินส์มากที่สุด
ส่วนญี่ปุ่นมีบทบาทเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น และในระยะเวลาดังกล่าว ฟิลิปปินส์มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ได้มีการสร้างความสัมพันธ์ กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด
            หลังปี พ.ศ.๒๕๑๑ ฟิลิปปินส์เริ่มผ่อนคลายความผูกพันที่มีอยู่กับสหรัฐ ฯ ทั้งทางทหาร และทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ได้หาทางผูกมิตร กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘  ฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าทีว่าต้องการพึ่งตนเองมากขึ้น
            หลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนและสหภาพโซเวียตรัสเซียแล้ว ฟิลิปปินส์ได้พยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศ อย่างอิสระมากขึ้น ได้เริ่มนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมทั้งได้พยายามส่งเสริม และเข้าร่วมในกิจการต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศโลกที่สาม
            ได้มีการปรับปรุงนโยบายต่างประเทศ ที่จะส่งเสริมความมั่นคงของอาเซียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศโลกที่สาม สนับสนุนอาหรับในการแสวงหาสันติภาพถาวร ในตะวันออกกลาง เป็นต้น
    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
                ความสัมพันธ์กับสหรัฐ ฯ  ฟิลิปปินส์มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับสหรัฐ ฯ มากที่สุด จนกล่าวกันว่า ฟิลิปปินส์เป็นรัฐ ๕๑ ของสหรัฐ ฯ ในขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐ ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแก่ฟิลิปปินส์เป็นอันมาก ได้มีข้อตกลง และสัญญาทางทหารระหว่างกันอยู่สามฉบับ
                หลังจากเวียดนามใต้ และกัมพูชาตกเป็นของคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้มีการกล่าวถึงปัญหาฐานทัพสหรัฐ ฯ ในฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ สหรัฐ ฯ และฟิลิปปินส์ได้นำข้อตกลงฉบับแรกที่ทำไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ มาทบทวน เพื่อแก้ไขใหม่ มีการเจรจากันหลายครั้ง ในที่สุดได้บรรลุข้อตกลงในปี พ.ศ.๒๕๒๒ โดยสหรัฐ ฯ ยืนยันในอธิปไตยของฟิลิปปินส์ เหนือฐานทัพสหรัฐ ฯ ในฟิลิปปินส์ทุกแห่ง
                ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต  เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทำการค้าระหว่างกัน ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ เริ่มทำการค้าระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
                ความสัมพันธ์กับประเทศจีน  เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทำการค้าระหว่างกัน ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
                ความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น  ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับสหรัฐ ฯ และญี่ปุ่น ลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ ฯ
                ความสัมพันธ์กับประเทศอินโดจีน  ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม
                    ประเทศกัมพูชา  ฟิลิปปินส์ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา ในระดับเอกอัคราชทูต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
                    เวียดนาม  ได้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
                ปัญหาหมู่เกาะสแปรตลี  ฟิลิปปินส์ไม่เห็นด้วย กับปฎิบัติการของไต้หวัน และเวียดนามใต้ ที่พยายามจะยึดครองเกาะสแปรตลี ในทะเลจีนใต้ และได้แถลงปฎิเสธ ข้อกล่าวหาของเวียดนามใต้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ที่ว่า ฟิลิปปินส์ส่งกองทหารเข้ายึดครองเกาะสองแห่ง ในหมู่เกาะสแปรตลี และย้ำว่าฟิลิปปินส์ไม่เคยอ้างสิทธิใด ๆ เหนือหมู่เกาะสแปรตลี นอกจากหมู่เกาะกาลายา ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเกาะสแปรตลี เท่านั้น
                ความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน  ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสมาคมอาสา (ASA) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ต่อมาได้เชิญอินโดนิเซีย กับสิงคโปร์เข้าร่วมด้วย และจัดตั้งเป็นสมาคมใหม่ เรียกว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Asean) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก และต่อมาได้ขยายขอบเขตไปสู่ความร่วมมือทางการเมืองด้วย
                ฟิลิปปินส์มีปัญหาขัดแย้งกับมาเลเซียเรื่องรัฐซาบาห์ ซึ่งฟิลิปปินส์เรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนซาบาห์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ก่อนที่ซาบาห์จะรวมเข้ากับสหพันธ์มาเลเซีย ต่อมาความขัดแย้งรุนแรงขึ้น โดยฟิลิปปินส์กล่าวหาว่า มาเลเซียให้การสนับสนุนกบฎมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ จนในที่สุดประเทศทั้งสองได้ตัดความสัมพันธ์กัน ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๑ และได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ในกลางปี พ.ศ.๒๕๑๓ ปัญหาข้อขัดแย้งรัฐซาบาห์ ยุติลงได้ชั่วคราวในปี พ.ศ.๒๕๒๐
                สำหรับประเทศอื่น ๆ ในสมาคมอาเซียนอีกสามประเทศคือ ไทย อินโดนิเซีย และสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ก็มีความสัมพันธ์อันดีมาตลอด
                ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ ฟิลิปปินส์ได้เจรจากับอินโดนิเซีย เพื่อให้อินโดนิเซียไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับปัญหากบฎมุสลิมทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ต่อมาในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๑ อินโดนิเซียและมาเลเซียได้เสนอให้ฟิลิปปินส์ เปิดการเจรจาสันติภาพกับกบฎมุสลิมต่อไป โดยที่สองประเทศยินดีจะเข้าเป็นผู้พิจารณาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้วย
    แนวนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทย
                ด้านการเมือง  ตามสนธิสัญญามนิลา ปี พ.ศ.๒๔๙๗ (SEATO) ฟิลิปปินส์เคยแถลง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ว่า ในแง่กฎหมายกฎบัตรของสนธิสัญญา ยัมีผลใชับังคับอยู่แต่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เพราะไม่เชื่อว่า ประเทศไทยจะถูกโจมตีจากภายนอก
                ปัญหากบฎมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยได้ เนื่องจากกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรของฟิลิปปินส์ มีขีดความสามารถในการดำเนินการต่อสู้ ที่ก้าวหน้ามากกว่า ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก) ในภาคใต้ของไทย ซึ่งหากกบฎมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ดำเนินการบรรลุเป้าหมายแล้ว ย่อมเป็นทางให้ขบวนการโจรก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ถือเป็นแบบอย่างได้