ประเทศสิงคโปร์

            ประเทศสิงคโปร์ เป็นเกาะตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค กับมหาสมุทรอินเดีย และอยู่ตรงปลายแหลมมลายู เป็นเกาะที่ประกอบด้วยเกาะหลายเกาะคือ เกาะสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ นอกจากนั้นยังมีเกาะเล็ก เกาะน้อยอยู่ภายในเขตน่านน้ำอีก ๕๔ เกาะ และเกาะปะการังอีกประมาณ ๗ เกาะ ในบรรดาเกาะดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัย และตั้งโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ประมาณ ๓๐ เกาะ
            ตัวเกาะสิงคโปร์ มีรูปร่างคล้ายพัดเพชรร่วง คือ พื้นที่ส่วนเหนือกว้างเป็นรูปหน้าตัดของเพชร และแคบลงทางใต้ ความยาวของเกาะจากตะวันออกถึงตะวันตก ประมาณ ๔๒ กิโลเมตร ความกว้างจากเหนือถึงใต้ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๖๑๘ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการขยายพื้นที่ ด้วยการถมทะเลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                    ทิศเหนือ  จดช่องแคบยะโฮร์ มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร และอยู่ตรงข้ามฝั่งยะโฮร์ ของมาเลเซียเชื่อมกันด้วยถนนข้ามสมุทร
                    ทิศตะวันออก  จดทะเลจีนใต้ ห่างจากประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ ๒,๑๕๐ กิโลเมตร ห่างจากรัฐซาราวัคของมาเลเซีย ประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร
                    ทิศใต้  จดช่องแคบสิงคโปร์
                    ทิศตะวันตก  จดช่องแคบมะละกา โดยมีเกาะสุมาตราของอินโดนิเซียอยู่คนละฟากฝั่ง
            สิงคโปร์เปรียบเสมือนประตูทางคมนาคมทางทะเล ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ และเป็นเสมือนจุดต่อของแผ่นดิน จากผืนแผ่นดินใหญ่ผ่านแหลมมลายู ลงทางใต้ไปสู่อินโดนิเซีย และออสเตรเลีย นอกจากนั้นยังเป็นจุดแวะพัก และจุดคุมการเดินเรือติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับมหาสมุทรอินเดีย  มีท่าจอดเรือสำหรับใช้ขนส่งสินค้าในทะเลใหญ่ เป็นอันดับสองของเอเซีย และมีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับสี่ของโลก
            สิงคโปร์มีช่องทางติดต่อกับประเทศใกล้เคียงสองเส้นทางคือ
                    ถนนข้ามสมุทร  (Jahore Causeway) มีเส้นทางติดต่อกับรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียสร้างด้วยหินแกรนิท ถนนนี้มีทงรถไฟและท่อส่งน้ำจืดจากมาเลเซียเข้าสู่สิงคโปร์ เริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เชื่อมระหว่างตำบลวูดแลนด์ของสิงคโปร์ กับจังหวัดยะโฮร์ของมาเลเซีย ถนนสายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเซีย
                    ร่องน้ำ มีร่องน้ำสำหรับการเดินเรือ เพื่อเข้าเทียบท่าเรือ หรือทอดสมอตามท่าเรือใหญ่สี่ช่องทางคือ
                        - ช่องแคบสิงคโปร์ มีร่องน้ำที่ผ่านทางตะวันออกของเกาะพีค และเกาะเซนต์จอนห์
                        - ผ่านทางตะวันออกของเกาะเซบาร็อค และเกาะบูคฝุท
                        - ช่องแคบซินุกิ จากช่องแคบมะละกา
                        - ช่องแคบจูร่ง
ลักษณะภูมิประเทศ
            ตัวเกาะสิงคโปร์ เป็นกลุ่มภูเขาหินที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขา ที่ทอดลงมาตามแนวความยาวตลอดแหลมมลายู สิงคโปร์มีลักษณะภูมิประเทศแบ่งเป็นสามส่วน มีแนวป่าโกงกางอยู่เรียงรายรอบฝั่งบางแห่ง ป่าเหล่านี้จะลึกเข้าไปในแผ่นดิน ตามแนวที่ต่ำซึ่งเป็นป่าชายเลน ทำให้เกิดแนวแบ่งเขตภูมิประเทศของเกาะ ออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนตะวันออก ส่วนกลาง และส่วนตะวันตก
                ภาคกลาง  พื้นที่เป็นหินแกรนิท ภูมิประเทศเป็นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มีภูเขาบูกิตติมะห์ สูง ๕๗๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นยังมีที่ราบเป็นบางส่วน ในภาคนี้จะมีพรรณไม้เขียวชอุ่มตอลดปี จึงเป็นเสมือนเครื่องป้องกันตามธรรมชาติ ของอ่างเก็บน้ำบริโภค ซึ่งมีอยู่ในภาคนี้ แม่น้ำที่ยาวที่สุดในภาคนี้คือ แม่น้ำเซเอตาร์
                ภาคตะวันตกเฉียงใต้  ภูมิประเทศลาดลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีหินทรายซึ่งก่อตัวเป็นผา และหุบเขา มีภูเขาเตี้ย ๆ แต่ลาดชันเป็นแนวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นเป็นที่ราบสูงและหุบเขา และเนินเขาติดต่อกันไป สลับป่าโกงกางบริเวณส่วนใหญ่ ทางใต้เป็นพื้นที่ที่ราบลงไปในทะเล
                ภาคตะวันออก  พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นที่ราบ พื้นที่เป็นกรวดปนทราย และดินปนทราย มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลผ่าน เนื้อดินเป็นดินแดงและเหลือง
ประชากร
            สิงคโปร์ เป็นประเทศเล็ก ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมัน ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของโลก
            ประชากรแยกออกเป็นเชื้อสายจีนประมาณ ร้อยละ ๗๗ เชื้อสายมาเลย์ประมาณ ร้อยละ ๑๕ เชื้อสายอินเดีย ประมาณร้อยละ ๖ และเชื้อสายอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๒
            สิงคโปร์ มีโครงสร้างทางสังคมแบบรวมหลายเชื้อชาติ (Muiti Aacial Society) มีชาวจีนเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลได้พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนทุกเชื้อชาติ โดยให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด จะเป็นชาวสิงคโปร์ทั้งสิ้น ซึ่งได้รับผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ
            เนื่องจากเป็นสังคมหลายเชื้อชาติ จึงมีการนับถือศานา และลัทธิแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก เช่น มีศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และลัทธิขงจื้อ เป็นต้น
            ภาษาพูด ก็แตกต่างกันออกไปมากมาย เช่น มีภาษาจีน (หลายสาขา) ภาษามาเลย์ ภาษทมิฬ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่ทางรัฐบาลก็ได้กำหนดให้มีภาษา ติดต่อราชการอยู่สี่ภาษาคือ มาเลย์ จีน (แมนดาริน) ทมิฬ และอังกฤษ และให้ภาษามาเลย์ เป็นภาษาประจำชาติ
ประวัติความเป็นมา
            สิงคโปร์ แต่เดิมเรียกว่า เทมาเส็ค (Temasek) ตามพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๑๗๐๓ สิงนีละอุตมะ ผู้มีเชื้อสายสืบเนื่องมาจาก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กับบริวารได้ยกกำลังมาจากเกาะสุมาตรา เข้ามาที่เทมาเส็ค ก่อนก่อสร้างเมืองสิงคโปร์ พบสิงโตตัวหนึ่ง จึงถือว่าเป็นศุภมงคล จึงให้นามเมืองว่า สิงหปุระ (Singha pura) เมื่อสิงนีละอุตมะ ถึงแก่กรรมหลังจากได้ครองเมืองมา ๔๘ ปี ได้มีโอรสครองเมืองสืบมาจนถึงรายาสกันเดอร์ชาห์ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๖ จนกระทั่งพระเจ้าปัตหวา พระเจ้าแผ่นดินชวายกทัพมาตี ทำให้รายาสกันเดอร์ชาห์ต้องสละเมืองสิงคโปร์ให้ร้างอยู่นานถึง ๑๐๔ ปี
            ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ เซอร์ เจมส์ แลงเคสเตอร์ ได้เข้ามาถึงเกาะปีนัง ตั้งร้านจำหน่ายสินค้าที่ตำบลกัวลาเกดาห์ ริมฝั่งตรงข้ามเกาะ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๙ อังกฤษจึงเข้าครอบครองบริเวณแหลมมลายู
            ในปี พ.ศ.๒๓๖๒ เซอร์ สแตมฟอร์ด รัฟเฟิลส์ (Sir Stamford Ruffles) ได้ขอเช่าขาดสิงคโปร์จากสุลต่านฮัสเซน โมฮัมเหม็ด ชาห์ (Sultan Hussein Mohammed Shah) กับสุลต่านทาเม็งกอง อาบูดุล ราห์มาน (Sultan Temenggong Abudul Rahman) เพื่อเปิดบริษัทการค้าชื่อ เดอะ อีสต์ อินเดีย คัมปานี (The East India Company) และในปี พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษกับวิลันดา ได้ทำสัญญาต่อกัน โดยให้เมืองมะละกาแก่อังกฤษ ส่วนวิลันดาได้แคว้นเบนโดเลนในเกาะสุมาตรา  เซอร์สแตมฟอร์ดเคยกล่าวว่า เกาะสิงคโปร์ในอนาคต จะเป็นตำบลที่สำคัญในการค้าขายและจะมีความสำคัญในทางนาวีของโลก
            ในระยะที่อังกฤษเริ่มทำการค้าขายกับจีน จึงต้องการมีท่าเรือที่สำคัญเพื่อใช้คุ้มครองเส้นทางเดินเรือจากอินเดีย จึงได้หาเมืองท่าโดยได้เลือกเอาเกาะปีนัง ต่อมาอังกฤษสามารถขับไล่วิลันดาออกจากภูมิภาคนี้ได้สำเร็จ
            เซอร์สแตมฟอร์ดรัฟเฟิ่ล ผู้ว่าราชการอังกฤษได้รับมอบหมายให้สร้างเมืองท่าของอังกฤษขึ้นทางตอนใต้ของมะละกา จึงได้แล่นเรือไปยังบริเวณปากแม่น้ำสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐ เมื่อเห็นว่าสิงคโปร์ตั้งอยู่ใต้สุดของคาบสมุทรมลายู มีอ่าวธรรมชาติเหมาะแก่เรือเดินทะเล เป็นทำเลที่สามารถคุมได้ทั้งช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา  เซอร์รัฟเฟิ่ลจึงทำสัญญาขอเช่าเกาะสิงคโปร์ ภายหลังที่อังกฤษเข้าปกครองสิงคโปร์ ปรากฏว่ามีประชากรอพยพเข้ามาอยู่อาศัยบนเกาะเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ได้แก่ชาวจีน
            ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา สิงคโปร์ถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๘  ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็ได้กลับมาครอบครองสิงคโปร์อีก และได้รวมสิงคโปร์เข้าไว้ในมลายูเป็นสหพันธ์มลายู แต่สิงคโปร์ยังคงเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษอยู่ และอังกฤษยอมผ่อนปรน ให้คนสิงคโปร์มีสิทธิในการปกครองตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒
            การจัดตั้งสหพันธ์มาเลเซียในปี พ.ศ.๒๕๐๖  ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ตนกู อับดุลราห์มัน นายกรัฐมนตรีมลายาได้แถลงว่าสหพันธ์มลายา ไม่อาจยืนอยู่ได้โดยโดดเดี่ยวในภูมิภาคนี้ ควรมีโครงการเพื่อรวมสิงคโปร์ บอร์เนียวเหนือ ซาราวัค บรูไนและสหพันธ์มลายาเข้าเป็นสหพันธ์มาเลเซีย ด้วยความมุ่งหมาย ที่จะให้มีปราการที่เข้มแข็งเพื่อสกัดกั้น ตอบโต้และยับยั้งอิทธิพลของจีนคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่เหนือชาวจีนในมลายา และเพื่อเป็นการปิดล้อมการขยายตัวของอินโดนีเซีย ซึ่งครอบครองพื้นที่สองในสามของเกาะบอร์เนียวอยู่แล้ว
            ประเทศที่จะสถาปนาขึ้นใหม่จะเป็นดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้า และการคมนาคม มีท่าเรือที่ใหญ่ เมื่อเป็นประเทศเดียวกันจะขยายพลัง และเพิ่มพูนความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งของส่วนรวม และของแต่ละรัฐ ยังเป็นการขายตลาดภายในโดยจะสถาปนาตลาดร่วมขึ้น
            ด้านสังคมจะเป็นการวมพลเมืองหลายเชื้อชาติซึ่งต่างมีศาสนา ระดับความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาที่แตกต่างกันเข้าเป็นประเทศเดียวกัน
            การที่สิงคโปร์เข้าร่วมในมาเลเซีย มีเหตุผลทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ทางการสิงคโปร์ได้เข้าจับกุมพวกคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ มีทั้งนักศึกษา บุคคลสำคัญพรรคโซเชียล ลิสต์ และพรรคกรรมกร และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในสหพันธ์กรรมกรของสิงคโปร์ เหตุการณ์นี้ทำให้สิงคโปร์รู้สึกโดดเดี่ยว ดังนั้น ความหวังที่จะยับยั้งการแทรกซึม และการขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์ ในสิงคโปร์ก็อยู่ที่การเข้ามารวมกับมาเลเซีย โดยให้รัฐบาลกลางมีอำนาจควบคุมความมั่นคงภายใน
            จากการแสดงประชามติในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เกี่ยวกับการรวมกับมลายา ปรากฎว่าประชาชนร้อยละ ๗๓ ออกเสียงให้สิงคโปร์เข้ารวมกับมลายา เป็นประเทศมาเลเซีย โดยมีรัฐบาลตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
                การแยกตัวออกจากสหพันธ์มาเลเซีย  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ สิงคโปร์ได้แยกออกเป็นประเทศเอกราชอีก แต่สิงคโปร์กับมาเลเซียตกลงจะยังความร่วมมือกัน ฉันท์มิตรในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการป้องกันภัยจากภายนอก สาเหตุของการแยกตัวมีทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง
                    สาเหตุทางเศรษฐกิจ  สิงคโปร์มีพันธะตามข้อตกลงทางการคลังกับรัฐบาลกลางคือ
                        - ต้องจ่ายรายได้ภาษีของรัฐร้อยละ ๔๐ เข้าสมทบงบประมาณรายได้ของรัฐบาลกลาง
                        - ต้องให้รัฐบาลกลางกู้เงิน เพื่อพัฒนาดินแดนบอร์เนียว โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก
                        - รัฐบาลกลางเสนอมาตรการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
                        - รัฐบาลกลางสั่งปิดธนาคารแห่งประเทศจีน สาขาสิงคโปร์ โดยถือว่ามาเลเซียไม่เคยมีสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์มาก่อน
                        - รายได้จากการค้ากับอินโดนิเซีย ต้องชงักไป เพราะรัฐบาลมาเลเซียตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนิเซีย เนื่องจากนโยบายเผชิญหน้า (Con Frontation) ของอินโดนิเซียต่อมาเลเซีย
                        - การแบ่งโควต้า ผลิตภัณฑ์บางชนิดสำหรับส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ
                    สาเหตุทางการเมือง  ความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับรัฐบาลกลาง ได้ปรากฎชัดขึ้นโดยการแข่งอิทธิพลกัน ระหว่างพรรคการเมือง กิจประชาชน (Peopel 's Action Party) ของนายลี กวน ยู ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนจีน กับพรรคอัมโน (United Malays National Orgamigation Aumno) ของตนกู อับดุล ราห์มัน ซึ่งเป็นพรรคของชาวมาเลย์ การแข่งขันอิทธิพลของสองพรรค สืบเนื่องมาจากการที่ผู้นำมาเลเซียได้หวังกันว่า การจำกัดจำนวนสมาชิกในรัฐสภามาเลเซีย ตามที่ระบุไว้ในความตกลงรวมประเทศ ให้สิงคโปร์มีสมาชิกได้เพียง ๑๕ คน ในขณะที่มลายามี ๑๐๔ คน ซาราวัคมี ๒๔ คน และซาบาห์มี ๑๖ คน จะสามารถจำกัดอิทธิพลทางการเมืองของพรรคกิจประชาชน ให้อยู่ในเฉพาะสิงคโปร์เท่านั้น แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ พรรคกิจประชาชน ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในมลายา ๙ คน และได้รับเลือกตั้ง ๑ คน กรณีดังกล่าวรัฐบาลกลางถือว่า พรรคกิจประชาชนได้พยายามขยายอิทธิพลทางการเมือง เข้าไปในมลายา
                    ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง นักการเมืองของทั้งสองพรรคได้ยกเอาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มาเป็นข้ออ้างในการกล่าวประนามซึ่งกันและกัน การโต้แย้งได้ทวีความรุนแรง ถึงกับพรรคอัมโน ลงมติให้รัฐบาลกลางดำเนินนโยบายที่เฉียบขาด กับหัวหน้าพรรคกิจประชาชน หาว่ามีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ มีผู้เรียกร้องให้จับกุม หรือเนรเทศ นายลี กวน ยู ด้วย ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ การให้สิงคโปร์แยกออกไปเป็นเอกราชเสีย
                    ดังนั้น เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ได้มีการประกาศพร้อมกันทั่วในสิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ว่า สิงคโปร์จะเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ รัฐสภาสิงคโปร์ได้ผ่าน Independence Bill  สถาปนาตนเองเป็นสาธาณรัฐ
การคมนาคมขนส่ง
            ที่ตั้งของสิงคโปร์เป็นเส้นทางระหว่างทวีปยุโรป และเอเซียตะวันตก กับภาคพื้นตะวันออกไกล รวมทั้งภาคพื้นแปซิฟิค ทำให้สิงคโปร์เป็นชุมทางของเส้นทางเดินเรือ และสายการบินระหว่างประเทศ และเป็นแหล่งชุมนุมการค้าขาย
            ปัจจุบันสิงคโปร์ มีท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเอเซีย รองจากโยโกฮามาของญี่ปุ่น และเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้ามาก เป็นอันดับสามของโลก
            การขนส่งทางบก  สิงคโปร์มีพื้นที่ไม่มาก ประมาณ ๙๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่ถนนที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ประมาณ ๑,๓๐๐ กิโลเมตร
            นอกจากถนนแล้ว ยังมีทางรถไฟอยู่สองสาย มีความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร ได้มีการสร้างทางรถไฟสายสิงคโปร์ - กรันจิ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ สมัยรัฐบาล สเตทส์ เซตเติลเมนต์ (Stste Selllement) โดยมีการเดินรถจากสถานีแทงค์โรค ไปยังวู๊ดแลนด์ และมีบริการแพขนานยนต์ ข้ามฟากไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟจากแผ่นดินใหญ่ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ การรถไฟแห่งสหพันธ์มลายู ได้รับซื้อกิจการนี้แล้วปรับปรุง ให้เริ่มจากสถานีบูกิตบันยัง ถึงสถานีตันหยงปาการ์
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้มีการเริ่มสร้างถนนข้ามช่องยะโฮร์ เพื่อให้ทางรถไฟติดต่อถึงกัน
            ทางรถไฟสายหลัก ข้ามถนนข้ามช่องยะโฮร์มาเลเซีย ตัดกลางประเทศ ลงสู่ใต้ถึงสถานีปลายทาง ที่ใกล้ท่าเรือเคปเปล โดยมีทางแยกเลยเข้าไปในท่าเรือเคปเปลด้วย
            ทางรถไฟอีกสายหนึ่ง แยกจากสายแรกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ รถไฟสายนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลมาเลเซีย การเดินทางไปในสถานีรถไฟ เพื่อโดยสารถือว่าเป็นการเดินทางผ่านประเทศ ต้องมีการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือเอกสารอย่างอื่นทำนองเดียวกัน
           การขนส่งทางน้ำ  มีการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ ทางน้ำชายฝั่งและทางน้ำระหว่างประเทศ
                ทางน้ำภายในประเทศ  มีใช้อยู่ในวงจำกัด และไม่ค่อยสะดวก เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ และมีแนวชายฝั่งสั้น ภายในเกาะเองก็มีแม่น้ำสายสั้น ๆ และไม่ติดต่อถึงกัน รวมทั้งยังตื้นเขินมาก จึงต้องจำกัดเวลา ในการใช้คือ ในช่วงเวลาน้ำขึ้นเท่านั้น
                ทางน้ำชายฝั่ง  เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ แต่มีลักษณะเฉพาะของตนเองคือ ใช้เรือเล็ก ท่าเรือเล็กๆ ที่มีจำนวนมากมาย เส้นทางเดินเรือสั้น การให้บริการไม่เป็นประจำ
                เรือที่เดินตามบริเวณชายฝั่ง มีหลายบริษัท และมีบริษัทที่ให้บริการเป็นประจำไปยังท่าเรืออินโดนิเซีย มาเลเซียตะวันออก และตะวันตก และไทย
                ทางน้ำระหว่างประเทศ  รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานจดทะเบียนเรือของสิงคโปร์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ และได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาตให้มีการจดทะเบียนเรือ ซึ่งเจ้าของอยู่ในต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ โดยมีความมุ่งหมายจะชักจูงเรือสินค้าต่างชาติ ที่ไปจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติไซบีเรีย และปานามา ให้สนใจโอนสัญชาติเป็นเรือสิงคโปร์ได้
                    การท่าเรือแห่งชาติ  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีการปรัปปรุงท่าเรือสิงคโปร์ ให้สามารถรับเรือคอนเทนเนอร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ และสามารถอำนวยความสะดวก ให้กับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดสองแสนตัน หรือมากกว่า
                    ท่าเรือ  แต่เดิมใช้ท่าเรือเคปเปล ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสิงคโปร์ และมีเกาะเซนโตซา กับเกาะบรานี เป็นที่กำบังลม ต่อมาบริเวณของการท่าเรือ ได้ขยายออกไปจนเกินอาณาบริเวณ ทั้งพื้นที่บนฝั่ง และในทะเลรวม ๕๓๘ ตารางกิโลเมตร
                    ท่าเรือสิงคโปร์ มีทั้งท่าเรือน้ำลึกตรงที่ท่าเรือเคปเปล มาจนถึงตันจงปาการ์ ท่าเรือสิงคโปร์เริ่มตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของเกาะ เลียมริมฝั่งตะวันตก เรื่อยไปจนถึงฝั่งตะวันออกของเกาะทีซันไจ มาตา อิกาน บีคอน
                เขตการค้าเสรี  ทางการสิงคโปร์ ได้ประกาศเขตการค้าเสรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ตามบริเวณท่าเรือ ตั้งแต่เตล๊อก อาเยอร์เบซิน จนถึงจาร์ดินสเตปส์ กับจูร่ง ในบริเวณนี้ทางการได้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้
                    สายการเดินเรือแห่งชาติ  ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ บริษัทนี้เป็นสมาชิกของชมรมเดินเรือแห่งตะวันออกไกล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒
            การขนส่งทางอากาศ
                การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ  เริ่มมีสายการบินทำการค้าสายแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นของบริษัทดัทช์อิสท์อินเดีย และในปี พ.ศ.๒๔๗๘ สายการบินแควนตัส ได้เปิดการบินระหว่างสิงคโปร์ กับออสเตรเลีย ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
                    ท่าอากาศยานสากล  เดิมอยู่ที่ปายาเลบาร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีทางวิ่งยาวประมาณ ๔,๐๐๐ เมตร สามารถรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาดและทุกแบบ
                    ปัจจุบันสิงคโปร์มีท่าอากาศยานนานานชาติ ที่จัดส่งทันสมัยมากคือ ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี มีขีดความสามารถในการรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ และการให้บริการพร้อม ๆ กันถึง ๔๕ เครื่อง มีการสร้างทางวิ่งที่สองบนพื้นที่ ที่ได้จากการถมทะเล
                    สายการบินแห่งชาติ  เดิมสิงคโปร์ มีสายการบินร่วมกับมาเลเซียใช้ชื่อว่า มาเลเซีย - สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ (Malasia - Singapore Airlines) ต่อมาเมื่อได้แยกประเทศกันแล้ว ก็ได้แยกสายการบินออกจากกันด้วย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ สายการบินของสิงคโปร์ใช้ชื่อว่า สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ (Singapore Airlines SIA)