พัฒนาการทางวัฒนธรรม

            ประเทศเวียดนามตั้งอยู่ติดกับประเทศจีนทั้งทางบก และทางทะเล ทางตอนเหนือของประเทศจึงเป็นเขตที่รับวัฒนธรรมไว้อย่างมั่นคง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่เก่าแก่ ชาวเวียดนามมีประวัติย้อนหลังกลับไปสู่วัฒนธรรมดอง - ซอน ในยุคโลหะในระยะต้น ๆ ชาวเวียดนามพูดภาษา ที่มีเสียงอยู่ในพวกคำพยางค์เดียวเหมือนไทย แต่มีส่วนประกอบอื่น ๆ แบบมอญ - เขมร ปนอยู่
            จีนได้ขยายอำนาจการปกครองถึงเวียดนามตอนเหนือ ในเกือบปลายพุทธศตวรรษที่สาม ในระยะนั้นจีนเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า นาม - เวียด และมีการจัดตั้งประเพณีแบบจีน มีข้าวเป็นอาหารหลัก และดำเนินการบริหารตามแบบจีน ด้วยเหตุนี้การบริหารแบบจีนและวัฒนธรรมของจีนโบราณ จึงได้แพร่หลายในเขตเวียดนามตอนเหนือ และต่อมาก็ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งขณะนั้นกำลังรุ่งเรืองในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เวียดนามมีอารยธรรมที่แตกต่างออกไปจาก ไทย ลาว และเขมร ที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยมีวัฒนธรรมแบบศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เป็นอิทธิพลผสมจากเขตเอเชียกลางโดยผ่านจีน
            หลังจากความเสื่อมของราชวงศ์ถัง ในปี พ.ศ.๑๔๕๐ ชาวเวียดนามได้แยกตัวออกจากการปกครองของจีน และตั้งตัวเป็นเอกราช แต่อิทธิพลด้านวัฒนธรรมของจีน ก็ยังคงมีอยู่ ต่อมาราชวงศ์มองโกลของจีนได้เข้ามารุกราน และยึดได้เมืองฮานอยหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๑๙๕๐ เลอลอย ผู้นำขบวนการต่อต้านจีนของเวียดนาม ได้สถาปนาราชวงศ์เลอขึ้น และได้ให้คำกล่าวไว้ว่า "เรามีภูเขาและแม่น้ำของเราเอง มีขนบธรรมเนียมประเพณีของเราเอง" ราชวงศ์เลอ ได้ปกครองเวียดนามอยู่เป็นเวลายาวนาน มีจักรพรรดิ์ที่เข้มแข็งที่สุดของราชวงศ์เลอคือ เลอทันห์ตัน (พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๔๐) ต่อมาก็มีราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ และได้ขยายดินแดนลงมาทางใต้เรื่อย ๆ
            การแสดงออกทางวัฒนธรรมในเวียดนาม ในสมัยราชวงศ์เลอ (พ.ศ.๑๙๖๑ - ๒๓๒๙) มีดังนี้
                วรรณกรรม  เป็นยุคแห่งวรรณคดีจีนผสมกับเวัยดนาม นักประพันธ์ที่สำคัญมี เหงียนไตร ผู้นิพนธ์ ประกาศต่อประชาชนให้มีความรักชาติ ดังตรันกอน ผู้ประพันธ์บทเพลงจากภรรยานักรบ แลกีดอน ผู้ประพันธ์ประวัติศาสตร์ของไดเวียด เป็นต้น บรรดากวี ข้อเขียนทางวรรณคดี และปรัชญาหลายตอน เป็นภาษาจูกิง อันเป็นภาษาจีนชั้นสูง
                ในราชวงศ์เหงียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๔๘๘) วรรณคดีในสมัยนี้ยังคงผลิตผลงานเป็นภาษาจีนผสมเวียดนามคือ เขียนด้วยตัวอักษรจีน บทประพันธ์ส่วนใหญ่เป็นผลงานของจักรพรรดิ์เอง แต่ในวรรณคดีในภาษาเวียดนาม ก็ได้พัฒนาไปมากในรัชสมัยนี้
                ในการเขียนภาษาเวียดนาม ชาวเวียดนามได้อาศัยอักษรที่เรียกว่า ชูนอง ก่อนเป็นอักษรจีนที่แก้ไขตามหลักการของเจ้าตำราแต่ละคน และต่อมาได้ใช้อักษรที่เรียกว่า กว๊อกงื้อ เป็นการถอดภาษาด้วยการใช้อักษรโรมัน ซึ่งคิดขึ้นโดยบาทหลวง อเล็กซองเดรอะ เดอโรด (พ.ศ.๒๑๙๔) อักษรกว๊อกงื้อ หรืออักษรประจำชาติ เป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแบบเดียว
                นวนิยายในรูปบทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งเขียนด้วยภาษาของปราชญ์ มีคุณค่าทางวรรณคดีมาก ผู้ประพันธ์คือ เหงียนดู (พ.ศ.๒๓๐๘ - ๒๓๖๓) และบทกวีที่รู้จักกันดีที่สุดบทหนึ่งคือ ลุกวันเทียน ผู้ประพันธ์คือ เหงียนดินห์เจียว (พ.ศ.๒๓๖๕ - ๒๔๓๑)  โดยได้อาศัยหลักศีลธรรมตามลัทธิขงจื้อ
                ในด้านบทละคร ที่เขียนขึ้นส่วนใหญ่ประกอบด้วย เนื้อเรื่องที่ยืมมาจากจีน แหล่งที่มาที่สำคัญได้แก่ นิยาย อิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก ตัวละครเป็นอย่างเดียวกับงิ้วจีน รูปแบบของบทกวีภาษาเวียดนาม บางทีก็ลอกแบบจีน หรือมิฉะนั้นก็เป็นบทกวีพื้นเมือง
                ศิลปกรรม  ราชวงศ์เลอ ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นทั่วประเทศ นับว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ของศิลปกรรมเวียดนาม ซึ่งบางครั้งก็แสดงออกด้วยหลุมพระศพของจักรพรรดิ์ ราชวงศ์เลอ ในระยะแรก ๆ จะเหมือนกับหลุมศพของจักรพรรดิ์ในราชวงศ์หมิงของจีน แต่ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่เมืองหัวลือ ที่ได้แสดงให้เห็นบุคคลิกภาพ และเป็นตัวของตัวเอง ของศิลปินเวียดนามในการติดตามศิลปะของจีน
                ต่อมาในราชวงศ์เหงียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๓๘๘) ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์ยาลอง ศิลปกรรมของราชวงศ์เหงียน ส่วนใหญ่แสดงไว้ที่เมืองเว้ สถาปัตยกรรมของพระราชวังจักรพรรดิ์ เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงศิลปกรรมจีน กรุงปักกิ่งอย่างมาก
                ศิลปเครื่องเขินของเวียดนาม ได้เริ่มเจริญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ นับได้ว่าเป็นมาตรฐานสูง มีลักษณะลมุนละไมกว่าของจีนและญี่ปุ่น การทำเครื่องเขินนับว่า เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของเวียดนาม การทำลายรดน้ำ การทำภาพสอดสีต่าง ๆ มีความวิจิตรงามตา


                สถาปัตยกรรม  เวียดนามได้รับอิทธิพลจากจีนเช่นเดียวกัน ตัวอาคารมักสร้างให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องประดับประดาแบบจีน ส่วนภาพในประดับด้วยไม้แกะสลัก มีลวดลายแบบจีน ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมเวียดนาม
                รากฐานของสถาปัตยกรรมในเวียดนาม เกิดจากวิถีชีวิตประจำวัน และแนวความคิดในความเป็นอยู่ของสมัยนั้น ๆ
                ปฎิมากรรม  รวมถึงงานแกะสลัก และงานหล่อ ได้รับอิทธิพลจากจีน จาม และฝรั่งเศส มาผสมผสานกันแนวคิดดั้งเดิมของตน
                งานปฎิมากรรมส่วนใหญ่ จะเห็นได้ตามโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่ใช้ในงานด้านนี้จะเห็นว่า มีสัตว์ต่าง ๆ เช่น มังกร ม้า เต่า และนกอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน ความมั่นคงและความสุขสำราญของชีวิต อิทธิพลของจามนับว่าเป็นรองจากจีน งานปฎิมากรรมด้านนี้มีรูปกินรี แจกัน เสาแกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาถูกตกแต่งเป็นรูปคนสวมพวงมาลัยบนศีรษะ เป็นต้น
                ส่วนอิทธิพลของฝรั่งนั้นได้เข้ามาทีหลัง ได้ช่วยปรับปรุงเทคนิคในการทำลวดลายให้สวยงามยิ่งขึ้น แบบฉบับของงานมีลักษณะพิเศษ ไม่ได้สัมพันธ์กับงานสร้างเจดีย์ หรือพระปรางค์ ซึ่งสร้างกันมาแต่ก่อน หรือในสมัยเดียวกัน
                จิตรกรรม  เวียดนามได้แบบอย่างมาจากจีนหลายอย่าง และในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ภาพเขียนต่าง ๆ ของเวียดนามได้นำมาดัดแปลง และเจือปนด้วยศิลปกรรมฝรั่งเศสด้วย จิตรกรรมจึงมีทั้งสองแบบคือ ทั้งแบบยุโรป และแบบของทางตะวันออก ซึ่งมีสองชั้นด้วยกัน
                จิตรกรรมชั้นสูง มักจะเป็นภาพเขียนที่บรรยายธรรมชาติไว้อย่างวิจิตรพิสดาร ส่วนจิตรกรรมชั้นต่ำ ก็เป็นภาพเขียนบนผ้าไหม ฉาก ตามหีบไม้ต่าง ๆ ตามภาชนะเคลือบและเครื่องเขิน
                ดุริยางคศิลป์  เริ่มต้นในราชวงศ์เลอ ได้มีการประพันธ์ทำนอง แบบของชาวจามด้วย
                ในสมัยราชวงศ์อองได๋ ได้มีการศึกษาดุริยางคศาสตร์ของจีนด้วย ดนตรีประจำชาติของเวียดนามแต่โบราณ ได้รับอิทธิพลจากจีน คำร้องและลีลาของเพลง ได้จากธรรมชาติและความรัก
                เครื่องดนตรีเวียดนามที่เลียนแบบเครื่องดนตรีจีนมี ขลุ่ยสามรู กระจับปี่ใหญ่ กระจับปี่สั้น ซอด้วง และขิม แต่เครื่องดนตรีเวียดนามที่ประดิษฐขึ้นเอง ในสมัยต่อมาเรียกว่า คอนคิม มีลักษณะคลายแบนโจ และเครื่องดีดชนิดใหม่มีลักษณะคล้ายจะเข้ โดยปกติเครื่องประกอบดนตรีของเวียดนาม ก็คล้ายของชาวเอเชียด้วยกัน
                โดยทั่วไป ชาวเวียดนามรักการดนตรี รักการร้องเพลง และชอบร้องเพลง ในขณะทำงานหนักร่วมกัน กรรมกร ที่แบกของหนัก ๆ ก็ชอบร้องเพลงขณะทำงาน
                นาฎศิลป  มีลักษณะลีลาท่าทางการรำ อันเป็นศิลปที่อ่อนช้อย เทียบได้กับศิลปพื้นเมืองของไทยในบางอย่าง ได้แก่ ระบำ เดวียน เด ซึ่งเป็นการร่ายรำที่แสดงถึงชีวิตความสุข และความรักของคนธรรดาสามัญชนบท ระบำซานห์ เทียบ โก เดียว เป็นการเตือนให้ระลึกถึงสมัยที่รุ่งเรืองของดนตรีบริสุทธิ์ของเวียดนาม นาฏศิลปบางอย่างของเวียดนาม ก็ได้รับอิทธิพลจากจีน
                วัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน  ในเวลาพบปะกัน ชาวเวียดนามใช้การก้มศีรษะ และโค้งตัวเล็กน้อย บางครั้งพวกผู้ชายก็จับมือกัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกจากฝรั่งเศส
                ในเทศกาลปีใหม่ที่เรียกว่า เท็ต ประมาณปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับตรุษจีน มีขนบธรรมเนียมประเพณีการปฎิบัติคล้ายกับจีน เช่นการให้ของขวัญกันและกัน มีการเลี้ยงดูกัน ตามบ้านจะปักเสาไม้ไผ่ลำยาวไว้ลำหนึ่ง และประดับประดาเสานั้นด้วยใบไม้ ขนนก ลูกกระพวน รูปปลาตัวเล็ก ๆ กระดาษเงิน กระดาษทอง และจุดโคมไฟแขวนไว้ในเวลากลางคืน และมีการต้อนรับปีใหม่เมื่อเสร็จพิธี ก็พากันไปนมัสการปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน ตามวัดวาอารามในพระพุทธศาสนา สมาชิกในครอบครัว ก็พากันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ และสวยงามที่สุด
                เครื่องแต่งกายประจำชาติเวียดนามคือ ผู้หญิงนุ่งกางเกงแพรยาวสีขาวหรือสีดำ แต่นิยมสีดำมากกว่า สวมเสื้อแขนยาวคอตั้งสูง ตัวเสื้อยาวลงมาจรดข้อเท้า ผ่าสองข้างสูงแต่สะเอว ให้แลเห็นกางเกงด้านข้าง ไว้ผมยาวเกล้ามวย สวมงอบหรือหมวกรูปฝาชีทรงสูง หรือใช้ผ้าสามเหลี่ยมคลุมศีรษะ รวบชายสองข้างมาผูกไว้ใต้คาง รองเท้าปกติใช้รองเท้าไม้ ทำเป็นรูปส้นสูง พ่นสีต่าง ๆ เช่น สีเงิน สีทอง ผู้ชายแต่งกายคล้ายผู้หญิง บางครั้งสวมเสื้อกุยเฮง สวมหมวกดำที่เย็บด้วยผ้า แต่ไม่มีปีก
                อาหาร ชาวเวียดนามบริโภคข้าวเป็นหลัก เหมือนชาวเอเชียทั้งหลาย และใช้ตะเกียบแบบจีน รสอาหารไม่จัด และเผ็ดร้อนเท่าไทย มีกะปิ น้ำปลา เหมือนไทย นิยมกันผักสดกันมาก
  ศาสนา

            เวียดนาม ไม่มีศาสนาประจำชาติของตนเองมาแต่เดิม มีแต่ลัทธิขงจื้อและเต๋า ตามอย่างชาวจีน เมื่อครั้งยังอยู่ในดินแดนจีนทางใต้ ชาวเวียดนามมีความเชื่อ และนับถือดวงวิญญาณบรรพบุรุษ มีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของผู้ตาย โดยถือว่า "คนตายปกครองคนเป็น" คือ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ต้องเคารพเชื่อฟังถ้อยคำโอวาทของบิดามารดา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะดวงวิญญาณเหล่านี้จะคอยปกปักรักษาให้พวกเขาได้รับความสุข พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายทั้งหลายทั้งปวง และจะทำให้เกิดเหตุร้าย หรืออันตราย เมื่อเขาไม่เคารพต่อดวงวิญญาณนั้น ๆ
            ชาวเวียดนามนับถือศาสนาเป็นแบบผสมคล้ายจีนคือ ส่วนใหญ่นับถือลัทธิเต๋า (Taoism) และศาสนาพุทธ นอกจากนั้นมีนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิค เกาได๋ (Coa Dai) ฮัวเหา (Hoa Hao) และขงจื้อ ส่วนศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือน้อยมาก
            ลัทธิเต๋า (Taoism)  มีเล่าจื้อเป็นเจ้าของลัทธิ ได้ตั้งลัทธินี้ขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชาวเวียดนามนับถือลัทธิเต๋าตามอย่างจีน มีผู้นับถือลัทธิเต๋าอยู่ประมาณร้อยละ ๑๐
            หลักการของลัทธิเต๋า ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมออกมาจากเต๋า และเต๋าบันดาลให้เป็นไป หรือให้เกิดโดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติ ถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของสากลโลกเท่านั้น และถือกำเนิดมาจากเต๋า เหมือนกับสิ่งอื่น จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎของเต๋า (ธรรมชาติ)
            คำสั่งสอนของลัทธิเต๋า คล้าย ๆ กับที่มีปรากฎในศาสนาพุทธ เช่น จะตอบแทนความร้ายด้วยความดี ผู้ใดรู้จักผู้อื่นก็เป็นบัณฑิต แต่ผู้ใดรู้จักตนเองก็เป็นผู้ที่ตื่นแล้ว ผู้ใดชนะตนก็เป็นผู้มีเดช ผู้ใดรู้จักพอผู้นั้นเป็นคนมั่งมี ลักษณะของความดีเหมือนน้ำ เพราะมีคุณแก่สิ่งทั้งปวง ฯลฯ
            ในพระพุทธศาสนามีไตรรัตน์ ลัทธิเต๋ามีไตรสุทธิ (ซัมเชง) คือ เทพผู้บริสุทธิ์สามได้แก่ เล่าจื้อ พ่วนโกว และเง็กเซียนฮ่องเต้ และยังมีไตรมูล (ซำหงวน) ได้แก่ ฟ้า ดิน และมนุษย์
            ชาวเวียดนามนับถือลัทธิเต๋าพร้อมกันกับลัทธิขงจื้อ ต่อมาระยะหลังลัทธิเต๋าได้เสื่อมถอยลงไปมาก เนื่องจากอิทธิพลทางตะวันตกแผ่ขยายเข้าไป
            ศาสนาพุทธ  ชาวเวียดนามนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถึงร้อยละ ๘๐ โดยนับถือในรูปลักษณะต่าง ๆ แต่พุทธศาสนาในเวียดนามไม่ได้มีรากฐานที่ดีนัก เดิมพระสงฆ์นับว่ามีอิทธิพลเหนือประชาชนมาก และมีอิทธิพลสูงในทางการเมืองด้วย และยังมีบทบาทในพิธีกรรมต่าง ๆ
            พุทธศาสนา ได้แผ่เข้าไปสู่อาณาจักรเวียดนาม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ในรัชสมัยพระเจ้าลี้นามเด๋ พุทธศาสนามียุคที่รุ่งเรืองจนในสมัยราชวงศ์ลี้ และราชวงศ์เตริ้น เป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่มาตราบเท่าปัจจุบัน นิกายในฝ่ายมหายานในเวียดนามที่เจริญมีอยู่สองนิกายคือ นิกายสุขาวดี ซึ่งมีคติหนักไปทางศรัทธา และนิกายธยาน ซึ่งมุ่งไปทางปัญญา คัมภีร์ในพระศาสนาเดิมเป็นอักษรจีน ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้อักษรโรมันแทน เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง ในเวียดนาม มีองค์การพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน กระจายอยู่ทั่วไป เดิมที่สำคัญที่สุดคือ พุทธสมาคมกลาง หรือสมาคมกลางของชาวพุทธ
            ศาสนาเกาได๋ (Cao Dai)  เป็นศาสนาใหม่ ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม มีผู้นับถืออยู่ประมาณร้อยละห้า คำว่า เกาได๋ แปลว่า สูง หรือสูงสุด คือ บัลลังก์ของจักรพรรดิ์ เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือกันอย่างกว้างขวางในชนบททางใต้ของเวียดนาม มีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา จุดศูนย์กลางของศาสนาเกาได๋อยู่ที่เมืองเตย์นิน เดิมศาสนาเกาได๋ มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ไม่น้อย
            ศาสนาเกาได๋ เกิดขึ้นในเวียดนามเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ผู้ก่อตั้งชื่อ โงวันเจียว เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพสักการะในฐานะ ผู้มีคุณธรรมวิเศษ ซึ่งเชื่อมั่นในลัทธิวิญญาณอย่างแน่วแน่ ศาสนาเกาได๋เป็นศาสนาลูกผสม โดยรวมหลักธรรมของพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า และคริสตศาสนา เข้าด้วยกัน และศาสนาเกาได๋ถือว่า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาต่าง ๆ คือ พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดองค์เดียวกัน ได้อวตารมาเกิดในกาละเทศะต่าง ๆ กัน ในภูมิภาค และขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน แต่หัวใจของศาสนาเหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นบาปอย่างมหันต์ ที่จะทำให้ศาสนาต่าง ๆ เป็นปฎิปักษ์กัน
            ศาสนาเกาได๋ สอนให้มีศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว รับรองการมีอยู่และเกิดใหม่ของวิญญาณ และรับรองว่า เมื่อตายไปแล้ว มนุษย์ต้องได้รับผลจากการกระทำของตนตามกฎแห่งกรรม สอนให้นับถือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นับถือบรรพบุรุษ รักความดี และความยุติธรรม
                ศาสนาฮัวเหา (Hoa Hao)  เป็นศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ที่หมู่บ้านฮัวเหา บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ผู้ตั้งศาสนาคือ ฮิน พูโซ โดยอาศัยพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน มีผู้นับถือประมาณสองล้านคนเศษ  ได้นำวิธีการรักษาโรค การบรรเทาความเจ็บปวด การผ่าตัดโดยวิธีภาวนาจิต สอนให้ผู้นับถือทำจิตให้สงบก่อนเข้าไปนมัสการในวิหารทุกครั้ง
                    คำสอนของฮังเหา มีชื่อว่าซัมยานหรือซัมเกียน ประกอบด้วยบทสวดมนต์และคำพยากรณ์ มีสาระสำคัญให้แสดงความนับถือพระพุทธเจ้า อยู่ภายในจิตใจของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปประกอบพิธีสักการะต่อเจดียสถาน ระลึกถึงพระพุทธเจ้าบรรพบุรุษ และวีรบุรุษ ถือว่าเป็นสัมมาปฏิบัติ  ฮินห์ ผู้โซ ได้เริ่มทางการเมือง โดยได้ตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๖ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ถูกพวกเวียตมินห์ฆ่าตาย
                ศาสนาคริสต์  คริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิกได้เริ่มเผยแพร่ในเวียดนามเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีผู้นับถือประมาณ ๑.๕ ล้านคนเศษ  ศาสนาคริสต์มีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้เป็นเครื่องมือในการยึดครอง และปกครองเวียดนาม และมีอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ในหมู่ชนชั้นปกครอง ด้านการศึกษา การสาธารณสุข และกฎหมาย ในใจกลางเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) มีโบสถ์ชื่อเซนต์ปอล ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
                ส่วนคริสตศาสนานิกายโปรเตสแต๊นท์ได้เข้าสู่ประเทศเวียดนาม เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยคณะมิชชันนารีจากประเทศแคนาดา นำมาตั้งรกรากที่เมืองดานัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔  ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในเวียดนาม และมีความมั่นคงยิ่งขึ้นหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา
                ลัทธิขงจื๊อ  มีส่วนคล้ายลัทธิเต๋าบางส่วน และบางส่วนก็คล้ายพุทธศาสนา โดยมีรากฐานมาจากจีน เป็นความเชื่อที่ปะปนกันระหว่างปรัชญากับศาสนา  ซึ่งถือกำเนิดจากขงจื๊อ ปรัชญาเมธีของจีนเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
                อดีตจักรพรรดิเวียดนามตลอดจนประชาชนได้ยึดถือและปฏิบัติตามคำสอนของลัทธิขงจื๊ออย่างแพร่หลาย โดยนับถือควบคู่ไปกับพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ลัทธิขงจื๊อจึงเริ่มเสื่อมลงเป็นลำดับ เนื่องจากอิทธิพลของสังคมยุคใหม่ และวัฒนธรรมตะวันตก ที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเวียดนาม
การเมืองและการปกครอง

            เวียดนามแต่เดิมมีการปกครองแบบราชาธิปไตย แบบรวมอำนาจการปกครอง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมาไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปี เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน มากว่า ๑,๐๐๐ ปี มีการดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากการยึดครองของจีนตลอดมา
            ในสมัยราชวงศ์เหงียน เวียดนามถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ภาคเหนือเป็นแคว้นตังเกี๋ย ภาคกลางเป็นแคว้นอันนัม และภาคใต้เป็นแคว้นโคชินไชนา (โคชินจีน) และถูกรวมเข้ากับเขมร และลาวเป็นสหพันธ์อินโดจีน (Indochinese Federation)
            เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ยกกำลังเข้ายึดอินโดจีนของฝรั่งเศส และได้ประกาศยกเลิกอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๘๓ พร้อมกับได้มอบหมายให้จักรพรรดิเบ๋าได๋ของเวียดนาม ประกาศอิสรภาพ และจัดตั้งรัฐบาลเวียดนามขึ้นปกครองประเทศ
            ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยึดอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ในเวียดนามได้มีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส ที่สำคัญอยู่ขบวนหนึ่งเรียกว่า สันนิบาตเพื่อเอกราชเวียดนาม หรือเวียดมินห์ (Viet Minh) ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้คือ โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ขบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะแยกสลายศัตรู และรวมพลังต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และปลดปล่อยประชาชน  ฐานที่มั่นของขบวนการนี้อยู่ที่เวียดบัค (Viet Bac) และขบวนการดังกล่าว ได้กลายมาเป็น กองทัพประชาชนของเวียดนามในเวลาต่อมา ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองเวียดนาม ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น จีนและสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือขบวนการนี้ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้โฮจิมินห์สามารถก่อตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ที่มีประสิทธิภาพขึ้นทั่วประเทศ
            เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลงในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จักรพรรดิเบาได๋ได้สละราชสมบัติ และมอบอำนาจการบริหารให้แก่ฝ่ายเวียดมินห์  ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีอังกฤษเป็นฝ่ายสนับสนุน ให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอำนาจในเวียดนามอีก โฮจิมินห์ได้ประกาศทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย โดยได้ประกาศอิสรภาพ และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยตังเกี๋ย อันนัม และโคชินไชน่าขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ โดยมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง และโฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี
            ฝรั่งเศสได้ให้การรับรองสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามดังกล่าวในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งขัดแย้งกับเจตน์จำนงของพวก เวียดมินห์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ฝรั่งเศสได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเสรีแห่งเวียดนามใต้ขึ้นโดยมีจักรพรรดิเบาได๋เป็นประมุข และมีโงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem) เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการสู้รบระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มมาแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ในที่สุดฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยแก่ฝ่ายเวียดมินห์ ในสงครามที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Pho) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ฝรั่งเศสได้ลงนามในข้อตกลงเจนีวา (Geneva Agreement) กับฝ่ายเวียดมินห์ในปีเดียวกัน โดยฝรั่งเศสยอมเคารพต่อความเป็นเอกราชอธิปไตย เอกภาพและบูรณภาพของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

            ข้อตกลงเจนีวาดัวกล่าวได้ระบุให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองภาค โดยใช้เส้นขนานที่ ๑๗ เป็นเส้นแบ่งเขตชั่วคราว และจัดให้มีเขตปลอดทหารขึ้น โดยให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารกลับเข้าเขตของตน ให้ประชาชนเลือกอพยพเข้าไปอยู่ในแต่ละภาคตามความสมัครใจ ภายใน ๓๐๐ วัน สนธิสัญญาดังกล่าว ยังห้ามมิให้ชาวต่างชาติโยกย้ายทหาร และอาวุธเข้าไปตั้งมั่นในแต่ละภาค ห้ามเวียดนามทั้งสองฝ่ายเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารกับต่างประเทศ และให้มีกรรมการควบคุมตรวจตราระหว่างประเทศ (ICC) ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อรวมเวียดนามทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ภายในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ด้วย แต่การดำเนินการรวมประเทศเข้าด้วยกันไม่ได้มีขึ้นตามข้อตกลง เนื่องจากเวียดนามใต้ไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเวียดนามเหนือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการถอนทหาร โดยยังมีกองกำลังเวียดนามเหนืออยู่ในเวียดนามใต้ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ โงดินห์เดียม นายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ ได้รับกสารสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ให้ล้มเลิกระบบกษัตริย์ และเปลี่ยนรูปการปกครองของเวียดนามใต้ เป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยโงดินห์เดียม ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามใต้ ในขณะเดียวกันเวียดนามเหนือ ก็ได้พยายามที่จะให้มีการออกเสียง ประชามติเกี่ยวกับการรวมเวียดนาม

แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้หันมาใช้กลวิธีทางการเมือง เริ่มด้วยการจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ หรือเวียดกง (Viet Cong) ได้จัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (National Liberation of South Vietnam) ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๓ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของชาวเวียดนามใต้ ในการต่อสู้กับเวียดนามใต้ เพื่อให้มีการรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน แนวร่วมดังกล่าวได้ประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลปฎิวัติชั่วคราวแห่งเวียดนามใต้ (Provision Revotutionary) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ส่วนในด้านการทหารนั้น เวียดนามเหนือได้ปฎิบัติการรบแบบกองโจร ด้วยหน่วยกำลังขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๘ และได้ขยายขนาดกำลังเป็นกองพันในปี พ.ศ.๒๕๐๖
            ในขณะที่ฝ่ายเวียดกงมีความเข้มแข็งขึ้น แต่ภายในเวียดนามใต้เองกลับมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงอำนาจกันหลายครั้งหลายคราว จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๘ สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแทนขึ้น โดยมี นายพล เหงียนเกากี ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นนายกรับมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้จัดร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี พงศ.๒๕๑๐ นายพลเหงียนวันเทียว ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ได้ดำรงตำแหน่งมาถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญให้ลุล่วงไปได้
            ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว สงครามในเวียดนามก็ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ย ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบกับกำลังทหารของเวียดนามใต้โดยตรง
            ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ เวียดนามเหนือได้ขยายกำลังรบในเวียดนามใต้เป็นระดับของพล และได้ทำการรุกใหญ่สองครั้งคือ ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ และ พ.ศ.๒๕๑๘ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกสกัดกั้นทางภาคพื้นดิน การโจมตีทางอากาศ และการปิดล้อมทางทะเลของสหรัฐอเมริกา และพันธมิตร
            ได้มีการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้มีการลงนามในปี พ.ศ.๒๕๑๖ กำหนดให้มีการหยุดยิงในเวียดนามใต้ และให้มีการถอนกำลังทหารสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรออกจากเวียดนามใต้ ระบุให้เวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือ จัดตั้งสภาเพื่อความสามัคคีปรองดอง เพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปในเวียดนาม และให้มีการรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน และยังกำหนดให้สหรัฐอเมริกา ให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณาอินโดจีน รวมทั้งเวียดนามเหนือ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลงด้วย
            ในทางปฎิบัติปรากฎว่า ประสบผลแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอนทหารสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรออกจากเวียดนามใต้ การแลกเปลี่ยนเชลยศึก การกวาดทุ่นระเบิด และยุติการลาดตระเวณทางอากาศ ในเวียดนามเหนือเท่านั้น แต่การยุติการสู้รบไม่ได้มีผลการปฎิบัติอย่างแท้จริง การเจรจาเพื่อกำหนดอนาคตทางการเมือง ระหว่างเวียดนามใต้กับเวียดกง ที่เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้ยุติลงโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗
            ในต้นปี พ.ศ.๒๕๑๘ ฝ่ายเวียดนามเหนือได้เริ่มการรุกใหญ่อีกครั้ง เข้าไปในเขตเวียดนามใต้ ฝ่ายเวียดนามใต้ซึ่งขาดการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการรบ และถอยร่นในทุกพื้นที่ บ้านเม ทวด ในที่ราบสูงตอนกลาง เว้ ในเขตชายฝั่งทะเลตอนกลาง ดานัง ที่อยู่ชายทะเลทางใต้ของเว้ ลงมาและนาตรังที่อยู่ทางตอนใต้ เมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือยึดครองพื้นที่ ได้สองในสามของพื้นที่ทั้งหมดในเวียดนามใต้ ก็ได้ใช้กำลังกดดันไซ่งอนอย่างหนัก จนฝ่ายเวียดนามใต้ยอมจำนน เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๘
            เมื่อเวียดนามเหนือยึดครองเวียดนามใต้แล้ว ก็รวมเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้เข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) ได้ปรับเขตการปกครองทั้งในภาคเหนือ และภาคใต้โดยลดจังหวัดของเวียดนามทั้งสอง ซึ่งแต่เดิมมี ๖๑ จังหวัด เหลือเพียง ๓๕ จังหวัด กับสามนครใหญ่คือ ฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวง โฮจิมินห์ (ไซ่งอน) และไฮฟอง