| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


จังหวัดอำนาจเจริญ

            จังหวัดอำนาจเจริญ เดิมอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้แยกเจ็ดอำเภอของจังหวัดอุบล ฯ ออกมาเป็นจังหวัดอำนาจเจริญคือ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอหัวตะพาน อำเภอชานุมาน อำเภอเสนางคนิคม อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา และกิ่งอำเภอลืออำนาจ
            จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามเส้นทางถนนประมาณ ๕๗๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑,๙๗๖,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๓,๑๖๑ ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศลาว ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำโขงของอำเภอชานุมาน เป็นระยะทาง ๓๘ กิโลเมตร และติดกับอำเภอเขมราฐ อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบล ฯ
            ทิศใต้  ติดต่อกับอำเภอเขื่องใน และอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบล ฯ
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร โดยมีลำเซบายเป็นเส้นเขตแดน
ลักษณะภูมิประเทศ
           ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดเป็นที่ลุ่ม มีเนินเขาเตี้ย ๆ ทอดยาวไปจรดกับจังหวัดอุบล ฯ ในเขตอำเภอชานุมาน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๖๘ เมตร ลักษณะของดิน เป็นดินร่วนปนทราย มีดินลูกรังอยู่บางส่วน สามารถแบ่งลักษณะภูมิประะเทศออกได้เป็นสองบริเวณคือ
                บริเวณที่ราบสูง  ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง บางส่วนเป็นลูกคลื่น ลอนตื้น หรือเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ในเขตอำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม
                บริเวณที่ราบ  ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบถึงลูกคลื่นลอนตื้น เป็นแนวยาวตามทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอหัวตะพาบ และอำเภอบันลืออำนาจ
           เทือกเขา  ได้แก่ เทือกเขาภูพาน เป็นเทือกเขาที่ทอดผ่านหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ จะอยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่สูงไม่มากนัก เป็นเนินเขาเตี้ยๆ
           ลักษณะภูมิสัณฐาน  แบ่งออกได้เป็นสี่บริเวณด้วยกันคือ
                บริเวณที่เป็นสันดินริมแม่น้ำ  เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดมาทับถม สภาพพื้นที่เป็นเนินสันดิน พบบริเวณสันดินริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอชานุมาน และบริเวณสันดินริมฝั่งลำน้ำเซบาย ในเขตอำเภอหัวตะพาน
                บริเวณที่เป็นแอ่ง หรือที่ราบหลังแม่น้ำ เกิดจากการกระทำของขบวนการน้ำ พบบางแห่งเป็นบริเวณลำเซบายของอำเภอหัวยตะพาน จะมีน้ำแช่ขังนานในฤดูฝน
                บริเวณที่เป็นแบบลานตะพักน้ำ  เกิดจากการกระทำของขบวนการน้ำมานานแล้ว ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ ระดับกลาง ระดับสูง
                ลักษณะพื้นที่มีทั้งเป็นแบบที่ราบแบบลูกคลื่นลอนลาด จนถึงลูกคลื่นลอนชัน จะอยู่ถัดจากบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงขึ้นมา พบได้ในพื้นที่ทั่วไปของจังหวัด บางแห่งใช้สำหรับทำนา บางแห่งใช้สำหรับปลูกพืชไร่
ทรัพยากรน้ำ

            แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญของจังหวัดคือ แม่น้ำโขง ลำเซบก ลำเซบาย ลำห้วยปลาแดก ลำห้วยโพธิ์ ลำห้วยกอก ลำห้วยสีโท ลำห้วยพระเหลา ลำห้วยละโอง ลำห้วยทบ และลำห้วยแมงดา
           ลำน้ำสำคัญ  มีอยู่สามสายด้วยกันคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำเซบก และแม่น้ำเซบาย
                แม่น้ำโขง  เป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตทิเบต ไหลผ่านประเทศพม่า และประเทศลาว ในส่วนที่ไหลผ่านเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ยาว ๓๘ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร
                ลำเซบก  ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอหัวตะพาน ไหลผ่านอำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านปากเซ อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบล ฯ ยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
                ลำเซบาย  ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ไหลผ่านเขตอำเภอเสนางคนิคม อำเภอเมือง ฯ อำเภอหัวยตะพาน แล้วไปบรรจบแม่น้ำมูล ที่อำเภอเมืองอุบล ฯ ยาวประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร
                นอกจากนี้ยังมีลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ลำห้วยปลาแดกไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ และอำเภอหัวยตะพาน ลำห้วยโพธิ์ ลำห้วยกอก และลำห้วยสีโท ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ ลำห้วยพระเหลาไหลผ่านอำเภอพนา และอำเภอปทุมราชวงศา ลำห้วยละโอง ไหลผ่านอำเภอเสนางคนิคม ลำห้วยทม และลำห้วยแก้วแมงดา ไหลผ่านอำเภอชานุมาน ลำห้วยจับลัม ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ และอำเภอลืออำนาจ
           แหล่งน้ำใต้ดิน  จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ของจังหวัดส่วนใหญ่ไม่สามารถเจาะ หรือพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลได้ เนื่องจากเป็นภูเขา หรือพื้นที่มีหินปกคลุมอยู่ ยกเว้นพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง ฯ อำเภอหัวตะพาน และอำเภอพนา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำบาดาลที่เป็นน้ำเค็ม ไม่เหมาะที่จะพัฒนาเพื่อการเกษตร และการบริโภคได้ มีเพียงพื้นที่บางส่วนด้านตะวันตกของอำเภอหัวตะพานเท่านั้นที่เป็นแหล่งน้ำบาดาลในหินแข็ง ความลึกของบน้ำประมาณ ๖๐ เมตร คุณภาพของน้ำจะมีผลกระทบจากน้ำเค็มมากขึ้น เมื่อความลึกของบ่อมากกว่า ๖๐ เมตร
ประชากร
            ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นคนท้องถิ่นเชื้อสายไทย - ลาว และมีคนกลุ่มอื่นที่มีเชื้อสายสาย และภาษาพูดต่างออกไปได้แก่ ชาวภูไท พบในเขตอำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม ส่วยและข่า พบในอำเภอชานุมาน
            ในชุมชนที่มีการค้าขายหรือในเขตเมือง จะมีคนไทยเชื้อสายจีนและญวนปะปนอยู่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย
            ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนับถือพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๙๗.๕๐  มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ ๒๖๖ แห่ง นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ ๒.๓๐ และนับถือศาสนาอิสลามน้อยมาก


| บน | หน้าต่อไป |