| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานและโบราณวัตถุ

            โบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป ได้แก่ พระมงคลมิ่งเมือง พระเหลาเทพนิมิตร และพระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา
            แหล่งโบราณคดี  ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตลุ่มน้ำเซบก และลุ่มน้ำเซบาย คือ
                แหล่งโบราณคดีบ้านเปือยหัวดง  อยู่ในตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมากที่สุด แห่งหนึ่งของจังหวัด มีการสร้างใบเสมาบริเวณใกล้เคียงถึงสามแห่งด้วยกัน คือ

                    กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิศิลา  อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง เป็นเนินศาสนสถาน มีกลุ่มใบเสมาหินทรายปักอยู่ บนใบเสมาสลักเป็นรูปหม้อน้ำ หรือบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ พบมากในศิลปอินเดียแบบอมราวดี และคล้ายคลึงกับลวดลายสลักบนเสากลม ที่ประดับกรอบประตูสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓  พบในเขตจังหวัดอุบล ฯ เดิม ซึ่งปัจจุบันคือ จังหวัดอำนาจเจริญ นับเป็นกลุ่มใบเสมาหินทรายที่มีความเก่าแก่ที่สุด ในภาคอีสาน

                    ปัจจุบันใบเสมาที่ยังมีสภาพดี สองใบได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังได้ขุดพบหม้อดินเผาขนาดใหญ่ลายเชือกทาบ ภายในหม้อบรรจุพระพุทธรูปประทับนั่ง ขนาดเล็กบุเงิน เป็นจำนวนมาก

                    กลุ่มใบเสมาบริเวณวัดป่าเรไร  อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง นับเป็นกลุ่มใบเสมาที่มีความหนาแน่น แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มใบเสมาที่ทำด้วยศิลาแลง ไม่มีลวดลายสลักมากนัก เพียงแต่ตกแต่งรูปร่างให้เป็นใบเสมา และมีการสลักฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีสันมุมคล้ายยอดสถูปตรงกลาง
                    นอกจากนั้นยังพบร่องรอยของแนวศิลาแลงและอิฐ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการก่อสร้างอาคารขึ้นด้วย และยังพบในบเสมาหินทรายสองหลัก ตรงแกนมีภาพสลักนกแก้วสองตัว ซึ่งไม่เคยพบในใบเสมาอื่นเลย สันนิษฐานว่าน่าจะเคลื่อนย้ายมาจาก กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิศิลา
                    ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่หนาแน่น มีลวดลายกดประทับเป็นรูปคลื่นลายก้านขด หรือลายหวี ซึ่งเหมือนกันกับที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม

                    กลุ่มใบเสมาหลังโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง  ปักล้อมฐานหินทราย ที่ตั้งรูปเคารพ และพระพุทธรูปปางสมาธิ สมับทวารวดีตอนปลายองค์หนึ่ง ลักษณะของใบเสมาเรียบไม่มีลวดลาย แต่ตรงกลางเป็นแกนสันที่เรียวไปถึงยอด ศาสนสถานแห่งนี้สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗  แสดงว่ากลุ่มใบเสมาทั้งสามแหล่งซึ่งเป็นใบเสมาหินนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่องของชุมชน ที่น่าจะมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๓  และนับว่าเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง
                    จากหลักฐานที่พบทั้งกลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิศิลา กลุ่มใบเสมาบริเวณวัดป่าเรไร และกลุ่มใบเสมาหลังโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง แสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่องของชุมชนที่น่าจะมีการรวมกลุ่มกัน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณบ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือยหัวดง อำเภอลืออำนาจ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓  และมีการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
                แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง  อยู่ในตำบลไม้กลอน อำเภอพนา มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างยาวรี มีขนาดกว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร เนินดินส่วนยอดอยู่สูงจากพื้นที่นา โดยรอบประมาณ ๓.๕๐ เมตร โบราณวัตถุที่สำรวจพบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน และแก้ว โบราณวัตถุที่ทำจากทองเหลือง โครงกระดูกมนุษย์และเสมาหินทราย มีรายละเอียดดังนี้

                    เศษภาชนะดินเผา  ส่วนใหญ่จะพบอยู่ด้านหน้าตัดของชั้นดิน ซึ่งเกิดจากการตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน เศษภาชนะดังกล่าวมีการตกแต่งลวดลายบนพื้นผิวหลายแบบ เช่น แบบผิวเรียบ แบบลายเชือกทาบ แบบลายขูดขีด และแบบเคลือบแดง พบปะปนกันอยู่ทั่วไป และยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบอื่น ๆ ด้วย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓
                    ลูกปัดหินและแก้ว  ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว จะพบลูกปัดกระจัดกระจายอยู่ตามผิวดินเป็นจำนวนมาก มีสีต่าง ๆ กัน และมีหลายรูปแบบ เช่น แบบยาวคล้ายตะกรุด และแบบกลม คล้ายผลส้ม ปัจจุบันลูกปัดมีน้อยมาก หรือไม่พบอีกเลยตามผิวดิน
                    ลูกปัดดังกล่าว ทำจากหินคอร์นีเลียน มีสีส้ม รูปร่างของลูกปัดมีลักษณะคล้ายกับกรวยคู่ตัด ที่นำฐานมาซ้อนกัน มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็ก ลูกปัดดังกล่าวเคยขุดพบครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดี ดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
                    นอกจากนี้ยังพบลูกปัดแก้วสีแดง ฐานกลม แต่มีการตัดเหลี่ยมอยู่โดยรอบ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับลูกเจียระไนอย่างเพชร
                    โบราณวัตถุที่ทำจากทองเหลือง มีลักษณะคล้ายกับหัวน๊อตแปดเหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร อาจใช้เป็นเครื่องประกอบในการชั่ง หรือใช้เป็นเงินตรา ในสมัยโบราณก็ได้
                    โครงกระดูกมนุษย์  พบอยู่ตามหน้าตัดของชั้นดิน พบปะปนอยู่กับเศษภาชนะดินเผา
                    ใบเสมาหินทราย  ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับใบเสมาหินทราย ที่พบในภาคอีสาน คือ เป็นใบเสมาหินทรายสีชมพู บางชิ้นมีร่องรอยของการจำหลักลงรูปเจดีย์จำลององค์เล็ก ๆ เป็นใบเสมาหินที่อยู่ในสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
                    จากหลักฐานที่ได้จากการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง เป็นแหล่งที่มีการอาศัยอยู่ของกลุ่มชนหลายสมัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ตลอดจนมาถึงสมัยปัจจุบัน
                    จากการที่ได้พบภาชนะดินเผา แบบร้อยเอ็ด และลูกปัดหินคอร์นิเลียนนั้น ทำให้สามารถกำหนดอายุเปรียบเทียบได้ว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงเริ่มมีการตั้งถิ่นที่อยู่เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว จากการขุดค้นสำรวจอย่างกว้างขวางในภาคอีสานของไทย พบว่าชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นเจ้าของภาชนะดินเผา แบบร้อยเอ็ด มีการแพร่กระจายอยู่ในบริเวณกว้างขวางของลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง และตอนปลาย หลังจากการสิ้นสุดการอาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วก็เริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสาตร์ตอนต้น โดยเริ่มจากสมัยทวารวดี ลพบุรี ตลอดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

                แหล่งโบราณคดีวัดดงเฒ่าเก่า  อยู่ที่บ้านหนองเสือ ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งที่มีการปักใบเสมาในพื้นที่กว้าง มีการสลักลวดลายนูนต่ำเป็นรูปดอกไม้ รูปหม้อน้ำ และตอนบนเป็นรูปวงกลมคล้ายธรรมจักรบนใบเสมา มีอายุอยู่ไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ และยังพบพระพุทธรูปหินทรายแบบทวารวดีตอนปลายด้วย
                แหล่งโบราณคดีดอนยาง  อยู่ที่บ้านดอนเมย ตำบลนาจิก อำเภอเมือง ฯ พบภาชนะที่เป็นชามดินเผา ลายเชือกทาบ และผิวเรียบ พบหัวขวานสำริดที่มีแกลบข้าติดอยู่ที่ผิวรวมอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า น่าจะอยู่ตอนปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ กับยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น
                แหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว  อยู่ที่บ้านชาด ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน สภาพทั่วไปเป็นเนินดินค่อนข้างกลม เป็นป่าโปร่งมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พื้นที่โดยรอบเป็นที่นา สำรวจพบโบราณวัตถุดังนี้
                    เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนมากเป็นแบบผิวเรียบ มีการชุบน้ำโคลน เขียนสี และลายขูดขีดบ้างเล็กน้อย
                    กลุ่มใบเสมาหินทรายสีชมพู ยอดเรียวแหลม สลักเป็นแนวนูนตรงกลางใบ เป็นลวดลายประดับ
                    คันน้ำคันดิน มีคูน้ำล้อมรอบ ๑ ชั้น คันดิน ๒ ชั้น รอบตัวเนิน
                    เครื่องประดับสำริด ได้แก่ แหวน และกำไล
                    ขี้แร่ ที่เกิดจากการเผาโลหะ
                    แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ พบหลักฐานทางโบราณวัตถุจำนวนน้อย แสดงว่าแหล่ง ฯ มีขนาดไม่ใหญ่นัก และคงเป็นศาสนสถานมากกว่าเป็นที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาจากใบเสมาหินทราย โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
                แหล่งโบราณคดีโนนเมือง  อยู่ที่บ้านกุดซวย ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน สภาพทั่วไปเป็นเนินรูปร่างยาวรี ไม่สม่ำเสมอ กว้างประมาณ ๒๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร สูงประมาณ ๑๓๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นป่าโปร่ง พื้นที่โดยรอบเป็นผืนนา ได้ค้นพบโบราณวัตถุ ดังนี้
                    ภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนใหญ่เป็นแบบผิวเรียบ นอกจากนั้นเป็นลายเชือกทาบ ลายขูดขีดและลายเขียนสี
                    โบราณวัตถุทำจากหิน ได้แก่ ใบเสมาจำนวนแปดใบ ตั้งล้อมซากโบราณสถาน
                    ซากโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ
                    จากหลักฐานที่สำรวจพบแสดงว่า แหล่งชุมชนนี้มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญพอสมควร สังเกตจากจำนวนเศษภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่าคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีสระน้ำโบราณ คงมีการใช้พื้นที่เป็นศาสนสถานด้วย เพราะพบกลุ่มใบเสมา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๖
                แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแสง  อยู่ในตำบลรัตนวารี อำเภอหัวตะพาน สภาพทั่วไปเป็นเนินดินรูปร่างกลมรี กว้างประมาณ ๒๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑๓๐ เมตร พื้นที่เป็นป่าโปร่ง บริเวณโดยรอบเป็นที่นาสลับป่าโปร่ง ได้สำรวจพบโบราณวัตถุดังนี้
                    ภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ผิวสีขาวนวล และเหลืองอ่อน ตกแต่งผิวโดยการเคลือบน้ำโคลนเป็นส่วนมาก มีการเขียนสีบ้าง เป็นสีเหลืองปนแดง
                    โบราณวัตถุทำจากหิน เป็นหินรูปทรงกระบอกคล้ายหินบด และพบใบเสมาหกใบ ทำจากหินทรายสีชมพู ใบเสมาหลักมีแนวสันนูนตรงกลาง
                    โบราณวัตถุทำจากดินเผา จำพวกแต่งดินเผา มีลักษณะคล้าย หินดุ
                    ขี้แร่  พบปริมาณมากพอสมควรที่บริเวณโนนขี้เหล็ก อยู่ทางตอนใต้ของบ้านหนองแสง
                    แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัย มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก บริเวณที่พบโบราณวัตถุหนาแน่น ได้แก่ บริเวณวัดแสงอรุณ  จากการที่พบกลุ่มใบเสมาสามารถกำหนดอายุได้ว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ หรืออาจเก่ากว่านั้น
                    จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ พบใบเสมาหิน และภาชนะดินเผาเป็นส่วนใหญ่ แสดงว่าในเขตลุ่มน้ำเซบก และลุ่มน้ำเซบาย เคยเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญ ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง มีการปักใบเสมาหลายรูปแบบ
                    สรุปได้ว่า ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓  บริเวณภาคอีสานของไทย เคยอยู่ภายใต้การปกครองของพวกเจนละ ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ในขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมสมัยทวารวดีมาด้วยคือ พระพุทธศาสนา
            แหล่งประวัติศาสตร์  มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ
                แหล่งประวัติศาสตร์บ้านชาด   บ้านชาด เดิมชื่อว่า บ้านงิ้ว ตั้งอยู่ระหว่างบ้านดู่ กับบ้านชาด อำเภอหัวตะพาน ปัจจุบันเรียกว่า โนนปัง เคยเป็นที่อยู่ของชนชาวขอม ซึ่งมีถ้วย โถ หม้อไห ที่ปั้นด้วยดินเหนียว เป็นสัญลักษณ์ปรากฎอยู่ถึงทุกวันนี้
                ลักษณะภูมิประเทศของเมืองงิ้ว บ้านงิ้ว หรือโนนปัง ทางทิศเหนือและทิศใต้ มีคลองบึงขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่ ด้านทิศเหนือมีศาลพระภูมิอาฮัก หรือปู่ตา สร้างด้วยไม้  มีหนองเรียกว่า บึง  มีใบเสมาฝังอยู่รอบ ๆ ศาลพระภูมิ
                ตามประวัติหนองหาร กล่าวว่าเมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว มีผู้คนต่างชาติต่างภาษามาอยู่รวมกัน ต่อมาได้มีการแผ่อำนาจส่งกำลังทหารจากเมืองล่างขึ้นมายังเมืองทางทิศเหนือ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ก็หนีไปหลายทิศหลายทาง บางพวกก็อพยพข้ามแม่น้ำโขงไป ในที่สุดได้มีผู้นำจากบ้านงิ้วคนหนึ่งชื่อ นายสีคุณ ได้พาพรรคพวกอพยพจากบ้านงิ้ว ไปทางทิศเหนือเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ห่างจากที่เดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร ตั้งชื่อว่า บ้านชาดตาคุณ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บ้านชาด
                แหล่งประวัติศาสตร์ภูสระดอกบัว   ในปี พ.ศ.๒๕๐๘  ได้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ด้านการเมือง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเสนางคนิคม และอำเภอชานุมาน คนบางกลุ่มได้รับการปลูกฝังจากฝ่ายตรงข้าาม ให้เกลียดชังเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ มีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ พื้นที่ที่เป็นฐานปฎิบัติการของพรรคคอมมิวส์ แห่งประเทศไทย ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญที่สำคัญคือ บริเวณเทือกเขาภูพาน ซึ่งประกอบด้วย ภูโพนทอง ภูดิน ภูเกษตร ภูวัด ภูจ้อก้อ ในเขตอำเภอเสนางคนิคม และภูสระดอกบัว อำเภอชานุมาน บริเวณดังกล่าวเป็นป่าทึบ ง่ายแก่การซ่อนตัว ยังมีหลักฐานปรากฎอยู่ถึงปัจจุบัน
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |