| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร

             เมื่องโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงคือ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคนที เมืองนครชุม เมืองชากังราว เมืองพังคา เมืองโกสัมพี เมืองรอ เมืองแสนตอ เมืองพงซังซา และบ้านคลองเมือง ล้วนตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร แสดงว่าเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองโบราณมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ไทยจะเริ่มขึ้น  เมืองที่ตั้งในยุคแรก ๆ น่าจะเป็นเมืองแปบ ซึ่งไม่มีกล่าวอยู่ในจารึก แต่มีตำนานเล่าว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งนครชุม บริเวณตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน และระหว่างสะพานกำแพงเพชรกับวัดพระบรมธาตุ เคยมีเจดีย์ขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า วังแปบ อาจเป็นที่ตั้งเมืองแปบก็ได้
            จารึกหลักที่ ๑ (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ ได้จารึกถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัย มีความตอนหนึ่งว่า "....เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งพระมหาสมุทรเป็นที่แล้ว..."
             เมืองคนที ที่ปรากฎในจารึกนี้อยู่ไม่ห่างจากอำเภอเมือง ฯ ไปทางทิศใต้มากนัก มีผู้พบซากเจดีย์ร้างเป็นจำนวนมากในป่าโปร่ง ในสมัยอยุธยาได้รับภัยสงคราม ทำให้ร้างและเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองเล็ก ๆ ในที่สุด
            จารึกหลักที่ ๓ (ศิลาจารึกนครชุม) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ กล่าวถึงเหตุการที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เสด็จไปวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม มีความตอนหนึ่งว่า "....หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม..."
            จารึกหลักที่ ๘ (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ มีคตวามตอนหนึ่งว่า "มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณราว นครพระชุม..." เมืองนครชุมกับเมืองนครพระชุม น่าจะเป็นเมืองเดียวกัน เป็นเมืองใหญ่ในสมัยสุโขทัย แต่หมดอำนาจกลายเป็นเมืองเล็ก ๆ ในสมัยอยุธยา  ส่วนเมืองชากังราว ยังมีอำนาจในฝั่งตะวันออก
            จารึกหลักที่ ๓๘ (จารึกวัดมหาธาตุ วัดสระศรี - หลัก๗๐) มีความตอนหนึ่งว่า "...พระองค์ท่านเสด็จในกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ด้วยพระราชศฟงคารบริพารพล และจตุรงคนิกร ธารลำน้ำ.." จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองชากังราวได้ก่อสร้างกำแพงใหม่ อาจย้ายเมืองจากเขตอรัญญิกปัจจุบัน เพราะแม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง การย้ายเมืองมาที่เมืองเก่ากำแพงเพชร และสร้างกำแพงเมืองได้งดงาม จึงเรียกกันว่า เมืองกำแพงเพชร มาแต่ครั้งนั้น
            จารึกหลักที่ ๔๖ ระบุว่า ในการสร้างวัดศรีพิจิตร ฯ ที่เมืองสุโขทัย ต้องนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชร ไปช่วยอำนวยการก่อสร้างวัด แสดงว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ได้ย้ายมาอยู่ที่กำแพงเพชรแล้ว
             นอกจากนี้ เมืองกำแพงเพชรยังเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำที่สำคัญ ทางบกมีถนนพระร่วงเป็นเส้นทางในการลำเลียงสินค้าและอาวุธ จากเมืองกำแพงเพชรไปยังกรุงสุโขทัย และจากกรุงสุโขทัยไปยังเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนทางน้ำอาศัยแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าไปยังกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้การค้าของป่าจากเมืองกำแพงเพชร ก็นับว่ามีความสำคัญมาก มีหลักฐานเอกสารฮอลันดา ในนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า ฮอลันดาได้ปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา และบังคับไทยให้ชนชาติฮอลันดาเป็นชาติเดียวที่ค้าขายหนังกวางที่เมืองกำแพงเพชร
             กล่าวได้ว่าเมืองกำแพงเพชร ในอดีตมีความสำคัญทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี มาช้านาน เมื่องบรรดาเมืองโบราณ ในเขตลุ่มแม่น้ำปิงกลายเป็นเมืองร้าง จะด้วยสาเหตุจากศึกสงครามหรือภัยธรรมชาติก็ตาม ผู้คนจากเมืองดังกล่าว ได้มารวมกันในเมืองใหญ่อย่างเมืองกำแพงเพชร
             สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่า เมืองชากังราว เป็นชื่อเก่าของนครชุม ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวมหมวก ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ซึ่งต่อมามีการย้ายเมืองมาตั้งใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุมเดิมชื่อว่า กำแพงเพชร แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายที่สุด
    กำแพงเพชรสมัยก่อนประวัติศาสตร์

    ชุมชนดั้งเดิมชุมชนเขากะล่อน ชนยุคหินของเมืองกำแพงเพชร
            เขากะล่อน   เป็นเทือกเขาดินและเขาลูกรัง ที่เป็นแนวต่อเนื่องกันสามลูก ทางทิศเหนือและทิศใต้ อยู่ที่บ้านหาดชะอม ตำบลป่าพุทรา อำเภอชาณุวรลักษบุรี ห่างจากแม่น้ำปิงทางทิศตะวันออกประมาณ ๒ กิโลเมตร จากการขุดค้นที่เชิงเขา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากเช่น ขวานหินขัด หัวธนูหิน กำไลหิน ลูกปัดหิน และเศษภาชนะดินเผารูปทรงต่าง ๆ
             เมื่อมีการไถดินดำหนาประมาณ ๑ เมตร ก่อนถึงลูกรังได้พบขวานหินขัดเป็นจำนวนมาก ที่ยังทำไม่เสร็จหลายร้อยชิ้น พบหัวธนูหิน กำไลหิน ลูกปัดหิน ภาชนะดินเผาทรงพานที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก และยังพบหินลับมีดและจักรหินด้วย
             จากการสำรวจของกรมศิลปากร ที่บ้านหนองกอง ตำบลบ่อคำ อำเภอเมือง ฯ พบแร่ทองคำซึ่งเป็นโลหะที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ต่อมาได้พบหลักฐานทางโบราณคดีทุกเมืองในชุมชนแถบลุ่มน้ำปิง ทั้งสองฝั่งโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ตะเกียงดินเผา เครื่องสำริด ตะกรันขี้แร่ เศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก เป็นหลักฐานว่าเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าก่อนประวัติศาสตร์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ มีอายุอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ ปี
    กำแพงเพชรสมัยประวัติศาสตร์
             จากตำนานสิงหนวัติกุมาร  มีว่าพระเจ้าพรหมโอรสพระเจ้าพังคราช ขณะพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ได้ยกกองทัพขับไล่ขอมดำมาถึงเมืองกำแพงเพชร อันเป็นดินแดนลวรัฐเก่า พระอินทร์เกรงว่าผู้คนจะล้มตาย จึงเนรมิตกำแพงขวางกันไว้ ไม่ให้พระเจ้าพรหมผ่านไปได้จึงเรียกกำแพงที่เนรมิตนั้นว่า กำแพงเพชร ต่อมาพระเจ้าชัยศิริ โอรสพระเจ้าพรหม มีข้าศึกชาวมอญจากเมืองสุธรรมดียกกองทัพมารุกราน พระเจ้าชัยศิริอพยพไพร่พลลงมาที่เมืองกำแพงเพชร สร้างเมืองกำแพงเพชรเป็นราชธานี
    กำแพงเพชรสมัยทวาราวดี

             เมืองโบราณของกำแพงเพชรพบหลักฐานแสดงว่าเป็นเมืองเก่าในสมัยทวารวดี ต่อเนื่องมากถึงสมัยสุโขทัยคือ
             เมืองไตรตรึงษ์  ตั้งอยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ตามถนนสายเอเชีย เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๘๐๐ เมตร ยาว ๘๔๐ เมตร อยู่ติดแม่น้ำปิงฝั่งขวาตราข้ามเมืองเทพนคร มีกำแพงดินล้อมรอบสามชั้น จากการขุดค้นภายในบริเวณเมือง พบเศษภาชนะดินเผา ตะกรันขี้เหล็กจำนวนมาก พบตะเกียงดินเผาสมัยทวาราวดี จึงสันนิษฐานว่าเมืองนี้น่าจะพัฒนามาตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้น
             เมืองโบราณที่บ้านคลองเมือง  ตั้งอยู่ที่บ้านคลองเมือง ตำบลโกสัมพี อำเภอเมือง ฯ มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ เมตร พบเครื่องมือหินขัด แวดินเผา เบ้าดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดแร่อะเกต คานีเลียน เครื่องสำริด เครื่องมือเหล็ก ตะเกียงดินเผา ตะกรันขี้แร่และเศษภาชนะดินเผา แสดงว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี
    กำแพงเพชรสมัยสุโขทัย

             จารึกหลักที่ ๑  (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) พ.ศ.๑๘๓๕  กล่าวถึงเมืองคนที ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ห่างลงไปทางใต้ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เป็นเมืองใหญ่ในสมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาเป็นเมืองร้างและเปลี่ยนสภาพเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  มีผู้พบซากเจดีย์ร้างอยู่เป็นจำนวนมาก
             จารึกหลักที่ ๓  (ศิลาจารึกนครชุม)  พ.ศ.๑๙๐๐  มีความตอนหนึ่งว่า พระยาฤาไท เอาพระศรีรัตนมหาธาตุมาสถาปนาในเมืองนครชุม แสดงว่าเมืองนครชุมเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในสมัยสุโขทัย
             เมืองนครชุมเป็นเมืองโบราณ  ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ในเขตตำบลนครชุม บริเวณปากคลองสวนหมาก ตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชรโบราณ ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๔๐๐ เมตร ยาว ๒,๙๐๐ เมตร ยาวไปตามลำน้ำแม่ปิง มีวัดพระมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง เมืองนครชุมพังลงแม่น้ำปิงไปแล้วสามส่วน
             จารึกนครชุมได้กล่าวถึง เมืองบางพาน ซึ่งเป็นเมืองซึ่งเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในสุโขทัย สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า อยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย ปัจจุบันมีหมู่บ้านชื่อ วังพาน ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย ตัวเมืองมีลักษณะเป็นรูปเกือกกลม มีคูคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองและนอกเมือง โดยเฉพาะบริเวณเขานางทอง พบซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยสุโขทัยจำนวนมาก เรื่องของเมืองบางพานมีการกล่าวกถึงในศิลาจารึกหลายครั้งในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับสุโขทัย
             จากจารึกหลักที่ ๓ พ.ศ.๒๐๕๓  ได้กล่าวถึงเมืองพานว่า มีการซ่อมแซมถนนจากเมืองกำแพงเพชรไปถึงบางพาน อีกตอนหนึ่งกล่าวถึง การซ่อมแซมท่อปู่พระยาร่วง ที่นำน้ำไปทำนาที่บางพาน แสดงว่าเมืองนี้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ นอกจากนั้นถนนพระร่วงก็ได้ตัดผ่านเมืองบางพาน
             ปัจจุบันเมืองบางพานเป็นเมืองร้างแทบไม่มีหลักฐานใดเหลืออยู่เลย
             จากจารึกหลักที่ ๘  ได้บันทึกเหตุการณ์ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๐๒ - ๑๙๑๑ กล่าวถึงเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย โดยกล่าวถึงเมืองชากังราว เมืองพระนครชุม เมืองพาน
             จากหนังสือชินกาลบาลีปกรณ์ พงศาวดารโยนกและตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวไว้ตรงกันว่า ติปัญญาอำมาตย์ (พระยาญาณดิส) เป็นเชื้อสายพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)  กับราชวงศ์สุวรรณภูมิได้ครองเมืองกำแพงเพชร และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร
             จากศิลาจารึกหลักที่ ๓๘  พ.ศ.๑๙๔๐  ได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ทางการปกครองของกษัตริย์ผู้ครองเมืองกำแพงเพชร พระนามว่า จักรพรรดิราช ผู้ทรงนำเอาหลักกฎหมายลักษณะโจรมาประกาศไว้ท่ามกลางเมืองสุโขทัย
             สันนิษฐานว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๔๐ เป็นต้นมา อำนาจทั้งทางการปกครองและการพระศาสนาได้มาอยูที่เมืองกำแพงพชรเพียงแห่งเดียว อำนาจของเมืองกำแพงเพชร น่าจะหมดไป เมื่ออาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒
    กำแพงเพชรสมัยอยุธยา

             จากพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ฯ ได้มีเรื่องของเมืองกำแพงเพชรในห้วงเวลานี้ไว้ว่า
             พ.ศ.๑๙๑๖ สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปเมืองชากังราว พระยาใสแก้วและพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกรบ พระยาใสแก้วตาย พระยาคำแหงหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
             พ.ศ.๑๙๑๙ เสด็จไปเอาเมืองชากังราว ครั้งนั้นพระรามคำแหงและท้าวผาคองคิดด้วยกันว่า จะยอทัพหลวงและจะทำมิได้ ท้าวผาคองเลิกทัพหนี จึงเสด็จยกทัพหลวงตาม ท้าวผาคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและเสนาขุนหมื่นเป็นอันมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน
             พ.ศ.๑๙๓๑ เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง สมเด็จพระบรมราชาไม่สามารถเข้าเมืองชากังราวได้ เพราะประชวรหนักและเสด็จสวรรคตกลางทาง
             พ.ศ.๑๙๙๓ มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้ว จึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน
             พ.ศ.๒๐๘๘ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้า ยกทัพหลวงไปกำแพงเพชรตั้งทัพชัย ณ เมืองกำแพงเพชร  สมเด็จพระไชยราชา ฯ เสด็จยกทัพไปรบเชียงใหม่สองครั้ง มาประทับเมืองกำแพงเพชรทุกครั้ง
             จากกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้บันทึกไว้ว่า กำแพงเพชรได้เป็นเมืองพระยามหานคร ซึ่งในเวลานั้นมีอยู่ ๘ เมืองคือเมืองพิษณุโลก เมืองสัชนาไล เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองนครศรีธรรม เมืองทวาย และเป็นเมืองลูกหลวง ซึ่งมีอยู่ห้าเมืองคือเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองลพบุรี เมืองสิงห์บุรี
             พ.ศ.๒๐๕๑ จากกฏหมายตราสามดวง กำแพงเพชรถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นโท เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้รับนามว่าออกญารามรณรงค์สงคราม ฯ ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา
             พ.ศ.๒๐๕๓ จากศิลาจารึกฐานพระอิศวร กล่าวถึงการขุดแม่ไตรบางพร้อ ซ่อมถนนไปบางพาน และซ่อมท่อปู่พระยาร่วงไปถึงบางพาน
             พ.ศ.๒๐๕๘ จากตำนานรัตนพิมพวงศ์กล่าวไว้ว่าเจ้าเมืองกำแพงเพชรทูลขอพระแก้วมรกตจากกรุงศรีอยุธยามาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร
             พ.ศ.๒๐๕๘ จากตำนานสิงหนวัตวติกุมาร หมื่นมาลาแห่งนครลำปางเข้าปล้นเมืองกำแพงเพชร แต่ไม่สำเร็จ
             พ.ศ.๒๐๘๑ จากจดหมายเหตุสมัยอยุธยา เมืองกำแพงเพชรตั้งตัวเป็นอิสระ แต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระไชยราชายกกองทัพมาปราบปราม และยึดเมืองกำแพงเพชรได้
             พ.ศ.๒๐๙๗ จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระมหินทราธิราชกราบทูลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า เมืองกำแพงเพชรเป็นทางกำลังข้าศึก จะขอทำลายเมืองกำแพงเพชร และกวาดเอาครอบครัวอพยพไปไว้ ณ กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นด้วย ทัพหลวงจึงตั้งยั้งอยู่ที่นครสวรรค์ สมเด็จพระมหินทราธิราช ยกกองทัพไปยังเมืองกำแพงเพชร ทัพหลวงตั้งค่ายอยู่ท้ายเมือง พระยาศรีเป็นกองหน้า ตั้งค่ายแทบคูเมือง แต่งพลออกหักค่าย พระยาศรีพ่ายแพ้แก่ชาวเมืองกำแพงเพชรในครั้งแรก พระยาศรีเข้าปล้นเมืองอยู่ ๓ วัน ไม่สำเร็จ  สมเด็จพระมหินทราธิราชจึงยกกอง ทัพกลับพระนครศรีอยุธยา
             พ.ศ.๒๑๐๗ จากหนังสือไทยรบพม่า พระเจ้าหงสาวดีรับสั่งให้นันทสูกับราชสังครำ คุมพลพม่ากับไทยใหญ่ นำทางมาจากเขตแดน และมาตั้งยุ้งฉางที่เมืองกำแพงเพชร
             พ.ศ.๒๑๐๘ จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใช้กำลังขับไล่พม่าที่มาตั้งทำนาอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร
             พ.ศ.๒๑๐๙ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้เทครัวอพยพชาวเมืองเหนือ ตลอดทั้งเมืองพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย พิชัย พิจิตร ลงมารวมกันตั้งทัพรับพม่าที่กรุงศรีอยุธยา ทำให้เรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เป็นเวลานาน
             พ.ศ.๒๓๐๙ พระยาตาก (สิน) ได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ไปรับตำแหน่ง ได้ไปทัพที่อยุธยา
             ในสมัยอยุธยา กำแพงเพชรทำหน้าที่เป็นเมืองพระยามหานคร เมืองหน้าด่าน เมืองที่ใช้สะสมเสบียงอาหารทั้งฝ่ายไทยและพม่า ทางฝั่งตะวันออกของเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันยังมีชื่อ นาพม่า นามอญ ปรากฏอยู่  กำแพงเพชรพยายามตั้งตัวเป็นอิสระหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ
    กำแพงเพชรสมัยธนบุรี
             พ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระยาสุรบดินทร์ ข้าหลวงเดิม เป็นพระยากำแพงเพชร
             พ.ศ.๒๓๑๘ ทัพพม่ายกมาตีเมืองกำแพงเพชร ทางเมืองกำแพงเพชรเห็นเหลือกำลังจึงพากันหนีเข้าป่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกกองทัพมาช่วยขับไล่พม่าแตกพ่ายกลับไป
             เมืองเก่ากำแพงเพชรน่าจะเริ่มร้างเมื่อประมาณต้นสมัยรัตนโกสินทร์
    กำแพงเพชรสมัยรัตนโกสินทร์

             พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยากำแพง (นุช) เป็นแม่ทัพไปราชการที่เมืองตานี ตีบ้านตานีแตกได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานชาวปัตตานีมาเป็นเชลย ๑๐๐ ครอบครัว ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะแขก ท้ายเมืองกำแพงเพชร แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ไปเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนบิดา ที่ถึงแก่อนิจกรรม
             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากำแพง (เถื่อน) ขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสวรรคโลก ไปราชการทัพที่เวียงจันทน์ มีความชอบ ได้รับพระราชทานชาวลาว ๑๐๐ ครอบครัว ให้มาตั้งถิ่นฐาน ณ คลองสวนหมาก
             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการทำทางสายโทรเลข ไปยังเมืองกำแพงเพชร เกณฑ์กองทัพจากเมืองกำแพงเพชรไปตีเมืองพิชัย ทำทะเบียนคนจีนในเมืองกำแพงเพชร ชาวพม่าขอทำไม้ขอนสักที่คลองขลุง ให้ทำบัญชีวัดในเมืองกำแพงเพชร โดยรวมจำนวนพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาสที่เรียนหนังสือกับพระ ให้เก็บเงินผูกข้อมือจีนในเขตเมืองกำแพงเพชรนำส่งกรุงเทพ ฯ
             ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ.๒๔๖๐ บริษัทล่ำซำขออนุญาตทำไม้ขอนสักในป่าคลองขลุง พ.ศ.๒๔๖๕ ขอยกเว้นการเก็บภาษีบางแห่งในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภออุ้มผาง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |