| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
            ศาสนา  ชาวมุกดาหารเกือบทั้งหมด (ร้อยละ ๙๙.๒๘) นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งสืบต่อกันมาตามบรรพบุรุษ มีวัดในพระพุทธศาสนา อยู่ ๓๑๘ วัด
            ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่คริสตศาสนา มีผู้นับถืออยู่ร้อยละ ๐.๗๒ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอหว้านใหญ่ เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่แพร่มาถึงภาคอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๒๔
            ศาสนาคริสต์ได้แผ่ขยายไปตามหัวเมืองสองฝั่งโขง และได้มีการจัดตั้งสังฆมณฑลลาวและอีสาน เป็นเขตการปกครองของศาสนาคริสต์แยกจากสังฆมณฑลกรุงเทพ ฯ ซึ่งครอบคลุมถึงดินแดนในประเทศลาวด้วย ต่อมาได้ตั้งวัดขึ้นที่ท่าแร่ เมืองสกลนคร วัดหนองแสง เมืองนครพนม และวัดบ้านสองดอน เมืองมุกดาหาร ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐
            ความเชื่อและพิธีกรรม   ในท้องถิ่นชนบทยังมีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่มากมาย อันเป็นบ่อเกิดพิธีกรรมต่าง ๆ
                ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า  ทำให้เชื่อนางทรง กฤษณา การขะลำและหมอดู เป็นต้น
                การถือผี  ได้แก่ ผีบ้าน ผีนาหรือผีตาแฮก ผีเชื้อหรือผีบรรพบุยรุษ ผีปอบ ผีเป้า ผีมด
                พิธีกรรม  มีพิธีบวงสรวงเจ้าปู่และพิธีการเลี้ยงปู่ตา
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
            ขนบธรรมเนียม  คนท้องถิ่นมุกดาหารแต่โบราณจะแต่งกายนุ่งผ้าถุง (ผ้าซิ่น) ยาวกรอมเท้ามีเชิงเรียกว่าตีนซิ่น เป็นผืนผ้ากว้างขนาด ๑ คืบ ทอเป็นลายต่าง ๆ ส่วนด้านบนเรียกว่าหัวซิ่น จะต่อผ้าอีกต่างหาก ส่วนเสื้อจะเป็นแขนกระบอก คอกลมเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งปล่อยชายไว้นอกผ้าถุง บางครั้งเอาชายเสื้อเข้าข้างในผ้าถุง แล้วห่มสไบทับ มักนิยมแต่งเวลามีงานบุญและเข้าวัดฟังธรรมหรือหน้าประเพณีต่าง ๆ
            ส่วนชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัด การแต่งกายจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เผ่าที่ยังอนุรักษ์การแต่งกายดั้งเดิมอยู่ก็จะแต่งเผ่าผู้ไทย ที่ยังนิยมนุน่งห่มสีย้อมคราม และขลิบรอบคอเสื้อ และปลายแขนเสื้อด้วยผ้าสีแดง ผ้าถุงทอเป็นลายผ้ามัดหมี่มีต้นซิ่นทับด้วยสไบแพรวาสีสดใส
            จารีตประเพณี  ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา  และมีขนบจารีตประเพณีที่สำคัญ ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นแบบชาวอีสานทั่วไป ที่ยึดการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า ฮีตสิบสองครองสิบสี่
                ฮีตสิบสอง หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่ดีงาม หรือประเพณีทำบุญสิบสองเดือน
                ครองสิบสี่ หมายถึงตัวบทกฎหมายโบราณ เริ่มตั้งแต่ตั้งผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองเป็นข้อแรก และคุณสมบัติคนเมือง ๑๔ อย่าง เป็นข้อสุดท้าย ตัวบทกฎหมายโบราณมีไม่มาก แต่คนโบราณก็ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ โดยปกครองแบบพ่อปกครองลูก พี่ปกครอง
    ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
                เสี่ยงทายสองนางกับการเลี้ยงผี (ของรักษา)  เป็นประเพณีที่กระทำสืบเนื่องมานานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่ ความหมายของประเพณีนี้เพื่อ
                - ทำการเสี่ยงทายโชคชะตาของหมู่บ้าน และชีวิตประชาชน
                - เพื่อเป็นโอกาสฉลองวันครบรอบการเลี้ยงผี
                - เพื่อบวงสรวงวิญญาณและตัดสินดวงวิญญาณเหล่านั้นให้ไปเกิด

                พิธีตีน้ำนอง  กระทำในเทศกาลออกพรรษา เป็นประเพณีการแข่งเรือ หรือประเพณีส่วงเรือ ในลำน้ำโขง ถือเป็นประเพณีของชาวเมืองมุกดาหาร และจังหวัดที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง
                ในสมัยเป็นเมืองมุกดาหาร เจ้าเมืองจะจัดให้มีพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละสองครั้งคือในวันตรุษเดือนห้า ขึ้นสิบห้าค่ำ ผู้รับราชการ ฉลองพระเดชพระคุณทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และหัวเมืองน้อยใหญ่ จะต้องมาร่วมพิธี ส่วนใหญ่จะเดินทางมาทางเรือ จึงเกิดมีการแข่งขันพายเรือ เพื่อความสนุกสนาน และเป็นการฉลองสมโภชบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระแม่คงคา พญานาค เทวดา เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
                ก่อนการแข่งเรือทุกประเภทจะมีพิธีเปิดงานบริเวณกองอำนวยการศาลาขาวท่าน้ำเขื่อนริมโขงและมีพิธีสำคัญ ๔ อย่าง คือ
                    พิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานทางบก  โดยจัดขบวนแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ มีการจัดริ้วฝีพายเรือทางบกจากคุ้มชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับขบวนแห่จากแขวงสะหวันเขตของประเทศลาว เพื่อทำพิธีบวงสรวงหลักเมือง เจ้าพ่อมุงเมือง และเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตามลำดับ
                    พิธีเบิกน่านน้ำ  โดยอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองลงประทับเรือเจ้าฟ้ามุกดาสวรรค์ ผู้ร่วมลงเรือกระทำพิธีเบิกน่านน้ำ ประกอบด้วยเจ้าเมืองทั้งสองฝั่งโขง (ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และเจ้าแขวงสะหวันเขต)  คณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะผู้ทรงเจ้ากระทำพิธีเบิกน้ำ
                    พิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานทางน้ำ  โดยเรือของงานตำรวจน้ำมุกดาหาร เป็นเรืออัญเชิญ และเรือนำขบวน ติดตามด้วยเรือนำขบวนอีกสี่ลำ ต่อท้ายด้วยเรือแข่งขันประเภทความเร็วทุกรุ่นทุกลำ โดยจัดริ้วขบวนกระทำพิธีพาเหรดทางเรือ เริ่มจากเรือแข่งรุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่ ปิดท้ายด้วยเรืออารักขาจากสถานีเรือหน่วยปฏิบัติการแม่น้ำโขง (นปข.) ที่ ๓ มุกดาหาร ตามลำดับโดยเริ่มจากบริเวณหน้าวัดศรีบุญเรือง พายทวนน้ำไปยังจุดปล่อยเรือ
                    พิธีตีช้างน้ำนอง  เดิมจะจัดเรือแข่งทุกลำทุกรุ่นทำพิธีตีช้างน้ำนองก่อนวันสุดท้ายของวันแข่งขันหนึ่งวัน แต่ปัจจุบันมาทำพิธีก่อนการแข่งขัน
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
            เอกลักษณ์สิ่งทอ  กลุ่มชนในเขตจังหวัดมุกดาหารทั้งแปดเผ่าพันธุ์มีการทอผ้าในแต่ละท้องถิ่นแต่ละเผ่ามาโดยตลอด ส่วนขบวนการทอมีความคล้ายคลึงกัน
            ผ้าทอในท้องถิ่นมุกดาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือผ้าทอจากอำเภอหนองสูงและอำเภอคำชะอี ผ้าทอดังกล่าว
มีลักษณะโดดเด่นในด้านของสีและลวดลายของผ้าในแต่ละประเภทคือ

                ผ้าห่มนวม  มีสองชนิดคือผ้านวมดำและผ้านวมลาย เรียกกันว่าผ้านวมหย้อย ผ้าห่มทั้งสองชนิดนี้จะเย็บเป็นถุงผ้าขนาด กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร เข้าบรรจุนวมซึ่งทำจากปุยฝ้าย
                ที่เรียกว่า ผ้านวมดำเพราะใช้ผ้าพื้นย้อมด้วยสีดำจากมะเกลือ ส่วนผ้านวมหย้อยจะใช้เส้นใยฝ้ายสีต่าง ๆ ทอให้มี
ลวดลายเป็นตาราง

                ผ้าสีเขา  เป็นผ้าห่มชนิดหนึ่งที่ทอจากฟืนสี่ตะกอ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าฟืนสีเขาหรือฟืนสีเหา ใช้เส้นพุ่งคู่ จึงทำให้ผ้าชนิดนี้ มีความหนามากกว่าผ้าพื้นตะกอเดียว นิยมทอด้วยผ้าฝ้ายเส้นใยสีขาวหรือสลับกับสีดำ เพื่อให้ลายโดดเด่นยิ่งขึ้น ผ้าชนิดนี้นอกจากจะใช้เป็นผ้าห่มในช่วงที่อากาศไม่หนาวเย็นนัก ยังใช้เป็นผ้าปูที่นอนได้อีกด้วย

                ผ้าหมอนเก็บ (หมอนขิด)  เป็นผ้าทอที่ใช้ตัดเย็บเป็นหมอน ด้านในบรรจุนุ่น ชาวผู้ไทยในจังหวัดมุกดาหารเรียกว่า หมอนเก็บ เพราะผ้าชนิดนี้จะทอด้วยการเก็บลวดลาย นิยมใช้เส้นใยฝ้ายสีขาวเป็นเส้นยืน ใช้เส้นใยฝ้ายสีดำเป็นเส้นพุ่งเก็บลวดลาย หรือขิดเป็นลวดลาย เป็นหมอนรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ ๑ ศอก (ศอกกำมือ) หนาประมาณ ๕ นิ้ว ถือเป็นเครื่องเรือนสำคัญชนิดหนึ่ง

                ซิ่นทิวไหม  เป็นผ้าไหมสีแดงคล้ำ นิยมทอเป็นซิ่นหรือผ้าถุงสำหรับสตรี ชาวบ้านเรียกว่าซิ่นทิวหรือซิ่นทิวไหม เพราะทอจากไหมล้วน ๆ  มีลักษณะเด่นคือเน้นสีแดงเข้มทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง สีแดงได้จากสีครั่งเป็นหลัก และมีสีดำแทรกสลับเส้นยืนโดยตลอด สีดำได้จากมะเกลือเป็นหลัก

                ซิ่นหมี่ไหม (ผ้าไหมมัดหมี่)   มีกรรมวิธีการผดลิตที่ซับซ้อนกว่าผ้าอื่น ๆ ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ เมืองหนองสูง เป็นผ้าที่ทอจากกี่พื้นบ้าน ใช้กืบที่ได้มาตรฐาน ความกว้างประมาณ ๑ เมตร เป็นผ้าสองตากอ เป็นหลัก ผ้าเนื้อแน่น การใช้สีจะใช้สีเข้า ส่วนลวดลายเน้นลายเล็ก ๆ ตลอดผืนผ้า เช่น ลายขอ ลายหมากจับ ลายลูกแก้ว ลายนาคน้อย เป็นต้น

                ผ้าโสร่งไหมผู้ไทย  ใช้เป็นผ้านุ่งของผู้ชายสูงอายุ มีลักษณะเด่นอยู่ที่การให้สี ซึ่งเน้นสีเขียว สีคราม สีม่วง และสีขาว เส้นใยที่ใช้ทอนิยมปั่นเส้นไหมจากไหมสองสี ร่วมเป็นเส้นใยเดียวกัน เรียกว่า ไหมเข็น ทำให้เส้นไหมมีความยาวระยิบ มีลวดลายตาผ้าเป็นสีเขียว และสีม่วง ตัดลายด้วยเส้นขาว เรียกว่า โสร่งตาเขียวตาม่วง
                ผ้าขาวโซ่  ลายผ้ามักนิยมนำธหรรมชาติมาใช้เช่น รูปทรงเรขาคณิต สัตว์ ปู ปลา หรือหงส์
            เอกลักษณ์อื่น ๆ  ได้แก่ ลำหัวดอนตาล และงานบุญส่วงเฮือ

                ลำหัวดอนตาล  เป็นการร้องทำนองลำเต้ย หรือลำผญา มีลักษณะเฉพาะทั้งทำนองและคำกลอนที่ไพเราะ สร้างความสนุกสนานครึกครื้นแก่ผู้ชมเป็นอันมาก
                ลำหัวดอนตาล มีกำเนิดจากอำเภอดอนตาล ผู้ร้องประกอบด้วยฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะร้องและรำเป็นคู่กัน คำกลอนที่ร้องจะมีความหมายไปทางเกี้ยวพาราสี และตัดพ้อต่อว่า รวมทั้งถามข่าวคราวซึ่งกันและกัน  ระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว มีดนตรีประกอบคือ แคน
                นอกจากคู่ร้องสองคนแล้ว ยังมีลูกคู่ซึ่งเป็นหญิงสาวมาฟ้อนประอบจังหวะเสียงแคน
                การลำหัวดอนตาล จะเล่นได้ทุกงานตั้งแต่งานบุญบ้าน บุญงานมงคล และบุญงานศพ


                งานบุญส่วงฮือมุกดาหาร  ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี มีการจัดงาน ๒ - ๓ วัน ติดต่อกันคือ ในช่วงวันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด เป็นงานที่จัดขึ้นตามความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเทพเจ้าแห่งลำน้ำโขงของกลุ่มคนทั้งสองฝั่งโขง ระหว่างวเมืองมุกดาหารกับเมืองสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต)  ถือได้เป็นประเพณีสองฝั่งโขง นอกจากจะจัดทำพิธีที่ฝั่งเมืองมุกดาหารแล้ว ยังมีการจัดทำพิธีที่เมืองสุวรรณเขต อีกด้วย
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |