| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ภาษและวรรรกรรม
            ภาษา  ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเหมือนกับคนภาคกลางทั่วไป จะมีแตกต่างอยู่บ้างเฉพาะชนเผ่าอื่นที่อพยพเข้ามาภายหลัง เช่น มอญ ลาว จีน ไทยอิสลาม แต่คนเหล่านี้ปัจจุบันไม่ได้มีความแตกต่างไปจากคนไทยทั่วไป จะมีแต่เฉพาะชาวมอญที่ยังพอจะสืบค้นด้านภาษาได้บ้าง
            ปัจจุบันแม้จะมีคนไทยเชื้อสายมอญอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่หาผู้ที่อ่านและเขียนภาษามอญได้ยากมาก ในอดีตเคยมีการศึกษาภาษามอญกันมากตามวัดมอญ ที่มีอยู่มากในเขตจังหวัดปทุมธานี แต่ปัจจุบัน ไม่มีวัดใดสอนภาษามอญอีกแล้ว เพราะการสอนเมื่อก่อนนั้นมีข้อจำกัด ให้เรียนได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น โอกาสนำไปใช้ก็ไม่มี
            ตำนาน  เป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสถานที่หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ตำนานที่พบมีอยู่สองเรื่องคือเรื่องท้าวอู่ทอง และเรื่องตุ่มสามโคก
                ตำนานท้าวอู่ทอง  เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งในอดีต ท้าวอู่ทองได้อพยพไพร่พลผ่านสามโคก เกวียนเกิดชำรุด จึงได้ออกปากยืมเครื่องมือชาวบ้านในละแวกนั้น เพื่อมาซ่อมเกวียน แต่ได้รับการปฏิเสธ ท้าวอู่ทองโกรธมาก และในคืนนั้นท้าวอู่ทองได้แอบฝังทรัพย์สมบัติส่วนที่เอาไปไม่ได้ไว้ในบริเวณวัด และสาปแช่งไม่ให้ผู้ใดนำทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ไปได้
                สภาพปัจจุบัน วัดมหิงสารามเป็นวัดร้าง เหลือเพียงผนังโบสถ์สี่ด้านเท่านั้น อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒ กิโลเมตร
                ตำนานท้าวอู่ทองอีกสำนวนหนึ่ง จากคำบอกเล่าทางวัดเทียนถวาย มีความว่า พระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนหนีโรคห่า โดยมีเกวียนบรรทุกสัมภาระมาประมาณ ๘๐ เล่ม ได้มาหยุดพักขบวนไพร่พลอยู่ที่หนองน้ำแห่งหนึ่งปัจจุบันเรียกว่า หนองปลาสิบ อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ  ตอนกลางคืนได้จุดไฟสว่างไสวทั้งคืนนานเป็นแรมเดือน
                เมื่อโรคห่าสงบลง ก่อนเดินทางกลับ ได้สร้างวัดไว้ในบริเวณที่เคยพักแรมอยู่ในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกว่า วัดเกวียนไสว ต่อมาได้กลายเป็นวัดเทียนถวาย
                ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองหนีโรคห่าได้เล่าต่อกันมานาน แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีปรากฏเรื่องดังกล่าวในนิราศเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ได้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าอู่ทองได้เสด็จหนีโรคห่าผ่านเมืองสามโคก ก่อนไปตั้งกรุงศรีอยุธยา มีความตอนหนึ่งว่า
            พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก        เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
        ถามบิดาว่าท่านผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้          ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
            หวังจะให้ประชาเป็นค่าจ้าง             ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
        พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ                   ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
            จึงที่นี้นามชื่อสามโคก                  เป็นคำโลกสมมุตสุดแถลง
        ครั้งพระเกศโปรดปรานประทานแปลง       ที่ตำแหน่งมอญสามิภักดิ์
            ชื่อปทุมธานีที่เสด็จ                     เดือนสิบเอ็ดบัวออกทั้งดอกผัก
        มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก                       พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา
            ตำนานตุ่มสามโคก  ได้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นานมาแล้วมีมอญสองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อแมะกะลอย คนน้องชื่อแมะกะเล็ด ทั้งสองคนมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา มาตั้งแต่อยู่เมืองมอญ เมื่อได้อพยพมาอยู่ที่บ้านสามโคก ทั้งสองคนก็ได้ช่วยกันขุดดินเป็นเนินถมโคกให้สูงขึ้น พ้นระดับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยทำขึ้นสองโคก และได้ก่อเตาเผาเครื่องปั้นดินเผามีหม้อ ไห เตา ตุ่ม กิจการเจริญดีมีเรือมารับซื้อขายกันมากมาย ต่อมาคนน้องทำตัวเสเพล กิจการของตนก็ทรุดลงจึงเกิดการอิจฉาพี่ชาย ที่กิจการเจริญขึ้นเรื่อย ๆ
            คืนหนึ่งคนที่เป็นน้องได้รวบรวมพรรคพวกลอบเข้าไปทำลายโรงและเตาเผาตุ่มของพี่ชายจนหมดสิ้น ผู้เป็นพี่ชายจึงทำการขุดแต่งโคกเตาขึ้นมาใหม่ ให้อยู่ใกล้บ้านตน กิจการก็กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม ผู้เป็นน้องชายเห็นดังนั้นก็สำนึกผิด และละอายใจในที่สุดก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น
ดนตรีและนาฏศิลป์

            ปี่พาทย์มอญ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่ามีชาวมอญสามพี่น้องอพยพเข้ามาในไทยพร้อมกับนำฆ้องวง ซึ่งถอดแบ่งออกเป็นสามท่อนเข้ามาด้วย และได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องปี่พาทย์มอญให้แก่ลูกหลาน จนเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมกันทั่วไป
            ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นคณาจารย์ผู้ใหญ่มีอยู่สองคนด้วยกันคือ ครูเจิ้นและครูสุ่ม  นายเจิ้นได้เข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็กประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรหม เป็นที่โปรดปราน ทรงให้เล่นปี่พาทย์มอญประชันให้ชม เป็นที่ถูกพระทัยและได้เสด็จมาที่บ้านนายเจิ้น ที่เมืองปทุมธานีหลายครั้ง
            ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานนามสกุลแก่ผู้ทำประโยชน์ และรักษาเกียรติและะศักดิ์ศรีของสกุลไว้ นายเจิ้นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ดนตรีเสนาะ ครูสุ่มได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ดนตรีเจริญ
            ดนตรีปี่พาทย์มอญแต่เดิมใช้บรรเลงในงานมงคล ต่อมาภายหลังหลวงประดิษฐไพเราะ และครูสุ่ม ได้คิดปรับปรุงและนำดนตรีมอญออกบรรเลงในงานศพ จนเป็นที่นิยมกันกว้างขวางกลายเป็นประเพณีนิยม
            ปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ฆ้องวงใหญ่ (ฆ้องมอญ) ฆ้องวงเล็ก (ฆ้องมอญ) ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก ตะโพนมอญ โหม่งมอญ ฉิ่ง ฉาบเล็ก
            การบรรเลงปี่พาทย์มอญนั้น จะฟังดูโอดครวญชวนให้เศร้า และคึกคักด้วยเสียงเปิงมางคอก
            มอญรำ  เป็นการแสดงของชาวมอญมาแต่โบราณ ใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน และงานฉลองอื่น ๆ ชาวมอญได้จัดเป็นประเพณีในราชการด้วย ครั้นเมื่อชาวมอญอพยพเข้ามาในประเทศไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๒ ได้นำประเพณีการแสดงมอญรำเข้ามาประจำในหมู่มอญด้วยกัน และการแสดงดังกล่าวนี้ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
            การแสดงมอญรำนั้น จะต้องใช้ปี่พาทย์มอญ ประกอบรำและการร้องโดยทั่วไปชาวมอญมีนิสัยรักดนตรี และศิลปะการแสดง เช่น มอญรำ และทะแยมอญ ต่อมาทะแยมอญหาผู้แสดงได้ยาก ยังเหลืออยู่แต่มอญรำเท่านั้น ที่ยังพอหาดูได้โดยเฉพาะในจังหวัดปทุมธานี การแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขก และงานศพผู้มีเกียรติซึ่งถือกันว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวมอญ
            เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงและรำเพลงแรกได้แก่ เพลง ๑๒ ภาษา มีการรำประกอบ ๑๒ ท่า ถ้าจะเทียบกับการรำไทยแล้วก็เท่ากับเป็น เพลงแม่บท ต่อจากนั้นยังมีเพลงสมิงพระรามในตับราชาธิราช มีการรำประกอบร้อง แสดงท่าประกอบตามเนื้อเพลง เช่น เพลงย่าเหล เพลงมอญดูดาว และเพลงอื่น ๆ อีกมาก การร้องจะมีคนร้องเพียงคนเดียว นั่งอยู่กับปี่พาทย์ เมื่อร้องจบปี่พาทย์ก็รับ บางเพลงก็คลอด้วยเสียงปี่ตามไปกับคนร้อง ส่วนผู้รำก็จะรำไปตามทำนองและเนื้อเพลง การร้องจะใช้ทำนองเพลงมอญ แต่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย
            การแสดงมอญรำใช้คนรำที่เป็นหญิงสาวจำนวนไม่น้อยกว่า ๘ ถึง ๑๒ คน ชุดแรกเป็นชุด ๑๒ ภาษา จะรำหมดทั้งชุด ส่วนชุดต่อ ๆ ไปแล้วแต่เพลง บางเพลงก็ใช้คนรำเพียงสองคู่สลับกันไปเรื่อย ๆ เพื่อรอการแต่งกายในชุดต่อไป
            การแต่งกายของมอญรำในงานมงคลทั่ว ๆ ไปจะแต่งชุดสีสด ๆ ทั้งชุด เว้นแต่งานศพเท่านั้นจะแต่งชุดสีดำ สไบสีขาว ส่วนการรำประกอบเพลงท่าอื่น ๆ แต่งกายตามเนื่อเรื่อง การแต่งกายรำชุดแรก ๑๒ ภาษา จะแต่งกายแบบรามัญ (มอญ) นุ่งผ้าซิ่นมีเชิง เสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอกลม ห่มผ้าสไบเฉียง เกล้าผมมวยรัดด้วยมะลิร้อย ทัดดอกไม้สดที่หูข้างเดียว สวมกำไลที่ข้อเท้า
            ปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการรำมอญ จะต้องใช้ปี่พาทย์มอญเครื่องคู่เป็นอย่างน้อย เครื่องคู่ได้แก่ ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก โหม่งสามใบ ตะโพนมอญ ฉิ่ง ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก กรับ
            ปัจจุบันการแสดงมอญรำไม่นิยมเฉพาะในหมู่ชาวรามัญเท่านั้น ยังนิยมทั่วไปในหมู่คนไทยอีกด้วย โดยเฉพาะชาวจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียง ก็นิยมจ้างคณะมอญรำไปแสดงในงานศพ และงานต้อนรับแขกต่างเมืองอยู่เสมอ ฉะนั้น การแสดงมอญรำกับปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการรำจึงเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ที่นิยมกันอย่างออกหน้าออกตาของชาวปทุมธานี และทำรายได้ดีอาชีพหนึ่ง

            ทะแยมอญ  เป็นการละเล่นซึ่งสันนิษฐานว่า มีมาตั้งแต่เดิมก่อนอพยพมา เป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกัน คล้ายเพลงพื้นเมืองของไทย นิยมเล่นในงานค่าง ๆ เช่น กฐิน ผ้าป่า ตรุษ สงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น จะเล่นบนบกหรือเล่นในเรือก็ได้ เพราะใช้การร้องโต้ตอบกันเป็นพื้น ดนตรีที่ใช้ประกอบเป็นประเภทเครื่องสาย เช่น ซอ จะเข้ เครื่องกำกับจังหวะ คือ ฉิ่ง และกลองเล็ก หากเล่นบนบกต้องมีรำประกอบการร้องด้วย
            เนื้อหาทะแยมอญ เป็นการโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ไม่มีการพูดเสียดสี ใช้คำผวน หรือตลกคะนองในเรื่องเพศ เพราะการเล่นทะแยมอญของหนุ่มสาว จะอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเสมอ หากผู้ใหญ่เห็นว่ามีการเล่นที่เกินเลยไม่เหมาะสม หรือหยาบโลน ก็จะเรียกฝ่ายหญิงกลับบ้าน เลิกเล่นทันที
            ดังนั้น การเล่นทะแยมอญจึงแปลกกว่าการละเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย อยู่ที่เล่นเฉพาะเกี้ยวพาราสีเท่านั้น ไม่มีเล่นเชิงชู้ ลักพาหนี หรือตีหมากผัว ทะแยมอญอาจร้องโดยชักเอาเรื่องชาดกมาเปรียบเทียบด้วย มีพ่อเพลงแม่เพลงเป็นคู่ ๆ ร้องเป็นภาษามอญซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่สืบต่อ นับวันมีแต่จะหายไป คล้ายกับเพลงพื้นเมืองของไทยด้วย จะมีก็แต่เพียงคนสูงอายุ สาธิตให้ชมเท่านั้น

            ลำตัด  เป็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้านเมืองปทุมธานี อีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบของคนทั้งประเทศ ลำตัดหวังเต๊ะ ที่บ้านตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว ประวัติของลำตัดเกิดจากการดัดแปลงบทสวดสรรเสริญพระเจ้าทางศาสนาอิสลาม ที่ตีกลองรำมะนาที่ปัตตานีเรียกว่า ลิเกฮูลู ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เข้าสวดในราชสำนักและต่อมาได้กลายเป็นการละเล่นแบบต่าง ๆ เช่น จำอวด ลิเก ลำตัด  เดิมมีชื่อเรียกว่า ละกูยา เริ่มต้นมีผู้ตีรำมะนา นักร้องนั่งรวมกันเป็นวง ขึ้นต้นร้องเป็นภาษาแขก เป็นบทร้องสำหรับลูกคู่รับขึ้นก่อน ผู้ตีรำมะนาก็ร้องตามสองเที่ยวแล้วแยกต้นออก ร้องใจความสั้น ๆ มีลูกคู่คอยรับ แบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงโต้ตอบกัน ลำตัดหวังเต๊ะ นับเป็นยอดลำตัดของไทยในสมัยหนึ่ง
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น

            การแต่งกาย  การแต่งกายของชาวปทุมธานี แต่โบราณที่สวมใส่อยู่กับบ้านปรกติใช้ผ้าฝ้ายธรรมดา ผุ้ชายชอบนุ่งกางเกงขายาวหลวมสีน้ำเงิน หรือสีดำ ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว หรือไม่ก็พลาดไหล่ คล้องบ่า ไม่นิยมสวมเสื้อ หน้าหนาวก็สวมเสื้อ หรือใช้ผ้าคลุมตัว ผู้หญิงนุ่งถุง นุ่งซิ้น คนมีอายุนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนสั้น สวมใส่แบบง่าย ๆ ถ้าเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมเสื้อคอกระเช้าเมื่ออยู่บ้าน ถ้าไปงานพิธีตักบาตรทำบุญ แต่งงาน บวชนาคก็จะแต่งกายรัดกุม มีสีนันราคาแพงขึ้น มีเครื่องประดับ ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ตามฐานะ เช่น หญิงจะนุ่งผ้าไหม สวมเสื้อลายฉลุแขนสั้นหรือแขนสามส่วน ถ้าไปทำบุญก็จะมีสไบ ส่วนชายก็จะนุ่งกางเกงขายาวหลวม ๆ หรือกางเกงแพร มีผ้าขาวม้าพันตามเอว หรือห้อยบ่า ใส่เสื้อแขนสั้นหลวม ๆ มีกระดุมผ่าอก
            การแต่งกายของผู้คนในจังหวัดปทุมธานีที่แปลกแตกต่างกันออกไปคือ การแต่งกายของชาวมอญ ซึ่งผู้ชายจะนุ่งโสรง ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่ เมื่อเดินทางโดยเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยาผ่านเมืองสามโคก ได้กล่าวถึงการแต่งกายของชาวรามัญไว้ตอนหนึ่งว่า

      เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา        ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง
ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด         แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตาถี่เหมือนสีรุ้ง                ทั้งผ้านุ่งนั้นก็ออมลงกรอมตีน
เมื่อยำเท้าก้าวย่างสว่างแวบ             เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน           เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง
            การแต่งกายของผู้คนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การแต่งกายเป็นสากลไปตามสมัยนิยมไม่เหลือร่องรอย ลักษณะเครื่องแต่งกายของแต่ละท้องถิ่น ที่มีแบบอย่างต่างกันไปจากแบบโบราณ
            ประเพณีส่วนสังคม  ชาวปทุมธานีส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างเรียบง่าย ผูกพันกับศาสนาและมีประเพณีเก่าแก่ที่คนในท้องถิ่นยังคงอนุรักษ์ และจัดให้มีขึ้นเพราะมีความเชื่อว่าหากจัดงานแล้ว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สงบร่มเย็น ประเพณีส่วนสังคมที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้

                ประเพณีการแห่นางหงส์  ชาวมอญเดิมอาศัยอยู่ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งมีพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ดูคล้ายจะเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่มาก่อน ต่อมาได้ตื้นเขินขึ้นได้มีหงส์ตัวผู้ตัวเมียคู่หนึ่งมาหากินในทะเลสาบแห่งนี้ ชาวมอญถือเป็นนิมิตดีจึงได้ตั้งชื่อเมืองเรียกว่า เมืองหงสา หรือหงสาวดี ในปัจจุบัน ชาวมอญนับถือหงส์เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ให้คุณ ไม่ว่ามอญจะอพยพไปอยู่เมืองใดที่ไหนก็ตาม จะต้องสร้างรูปหงส์ไว้บนยอดเสาเป็นเครื่องหมาย
                ประเพณีการแห่หางหงส์ มอญเรียกว่า แห่ฮะต๊ะโน่ แปลว่า หางหงส์ แต่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า แห่โน่ หมายถึง แห่หงส์
                ก่อนถึงวันสงกรานต์ ชาวไทยรามัญจะนัดกันไปที่วัด เพื่อช่วยกันเย็บผ้าที่จะทำเป็นหางหงส์ และช่วยกันประดิษฐ์ดอกไม้ที่เรียกว่า ดอกชบา เพื่อนำไปประดับที่หางหงส์ให้สวยงาม ผ้าที่ใช้ทำหางหงส์จะเป็นผ้าอะไรก็ได้ ยาวประมาณ ๓ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตร ตัดเป็นรูปหัวท้ายมน ส่วนหัวใหญ่กว่าส่วนหางเล็กน้อย แล้วเม้มขอบผ้าเย็บเข้ากับเชือกตลอดทั้งผืน จากนั้นเหลาไม้ไผ่ผูกขวางผืนผ้า จำนวนเก้าอัน เพื่อให้ผ้ากางออกและเอาดอกไม้ที่ประดิษฐ์ด้วยเศษผ้าสีต่าง ๆ ประดับตามไม้ข้างละเก้าดอก และติดที่ไม้ตรงกลางผืนผ้าอีกเก้าดอก ตรงหัวมีตะกร้าสานด้วยหวายหนึ่งใบ ที่ลูกตะกร้อติดด้วยดอกไม้อีกสี่ดอก ส่วนที่หางมีลูกตะกร้อสองใบ ผูกเรียงติดห้อยไว้ มีดอกไม้ที่ลูกตะกร้ออีกลูกละสี่ดอก และที่ตะกร้อใบสุดท้ายนิยมเอาด้ายสีต่าง ๆ ผูกไว้ ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ถ้าไม่ใช้ด้ายสี จะใช้ผมคนผูกก็ได้เพื่อให้เกิดความสวยงาม เวลาลมพัดจะดูพลิ้ว สำหรับลูกตะกร้อที่ติดเป็นการถ่วงหางให้ผ้ากางออก ทั้งเป็นการประดับให้สวยงามอีกด้วย ส่วนทางหัวและทางท่อนหางแต่ละด้านสีจะต่างกัน เช่น ข้างหนึ่งเป็นสีแดง อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นสีเขียว เป็นต้น ตามผืนผ้าเจาะรูช่องลมไว้ไม่ให้ผ้าขาดเวลาลมพัดแรง ๆ
                ไม้ที่ทำเป็นกระดูกขวางผืนผ้าทั้งเก้าอันนั้น หมายถึงความเจริญก้าวหน้าในการทำมาหากิน ส่วนลูกตะกร้อทั้งสามลูก หมายถึงพระรัตนตรัย ส่วนดอกไม้ที่ประดับเป็นเครื่องบูชา
                การเย็บผ้าหางหงส์ เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะจัดการแห่ โดยใช้กลองยาวแห่มีการจัดขบวนร้องรำทำเพลงสนุกสนาน  ให้คนหนึ่งถือบาตร แห่โน่ไปตามหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นเข้าก็ยินดีมีศรัทธาบริจาคเงิน ร่วมทำบุญใส่บาตร เมื่อแห่เสร็จแล้วก็นำเงินและหางหงส์ไปถวายพระที่วัด พระจะให้ศีลให้พรและจะถามว่า จะเอาหางหงส์ไปแขวนเมื่อไร ผู้เป็นหัวขบวนแห่จะเป็นผู้กำหนด เอาสุดท้ายของวันสงกรานต์ทุกปี โดยนำไปแขวนที่ไม้ใต้ตัวหงส์ทุกปี เพราะถือเป็นประเพณีว่า หงส์ปีหนึ่งจะต้องถ่ายขนโดยเฉพาะหางหงส์จะหลุดหมด หางเป็นสิ่งสำคัญเป็นผู้กำหนดทิศทาง เหมือนหางเสือเรือ ดังนั้นชาวไทยรามัญ จึงกำหนดให้มีการแห่หางหงส์ขึ้น ในวันสงกรานต์ทุกปี

                ประเพณีรำพาข้าวสาร  เป็นประเพณีที่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ (พระองค์ขาว) เป็นผู้ริเริ่ม ฉะนั้นในการร้องเพลงรำพาข้าวสาร จึงเริ่มต้นด้วยชื่อของพระองค์เป็นการแสดงความคารวะให้เกียรติ
                การรำพาข้าวสาร  จะเริ่มกระทำเมื่อออกพรรษาแล้ว ซึ่งชาวพุทธทั่วไปจะนิยมทำการทอดกฐิน และทอดผ้าป่าตามวัดต่าง ๆ ถ้าวัดใดยังไม่มีคนจองกฐิน หรือยังไม่ได้ทอดกฐิน ชาวบ้านก็จะช่วยกันจัดกฐินไปทอด โดยจัดเป็นรูปกฐินสามัคคี
                การทอดกฐินสามัคคี จะมีการออกเรี่ยไรหรือบอกบุญไปยังชาวบ้าน โดยไม่ได้เจาะจง หรือกะเกณฑ์ มากน้อยเท่าไรแล้วแต่จะให้ จึงจัดให้มีการร้องเพลงทำนองเชิญชวนให้ทำบุญเรียกการเรี่ยไรนี้ว่า รำพาแลกข้าวสาร โดยจะมีบุคคลคณะหนึ่งทั้งหญิงชายประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน พอตกค่ำก็จะลงเรือขนาดใหญ่ที่จุคนได้มาก ในเรือจะมีกระบุง และกระสอบสำหรับใส่ข้าวสาร และจัดให้คนแก่คนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาว นั่งอยู่กลางลำเรือเป็นประธาน ส่วนคนอื่น ๆ จะนั่งริมกราบเรือเพื่อช่วยกันพาย และมีคนคัดท้ายเรือที่เรียกว่า ถือท้ายเรือหนึ่งคน ทุกคนจะพายพร้อม ๆ กันเหมือนกับการพายในการแข่งเรือ
                เมื่อเรือจอดถึงบันไดของบ้านใดบ้านหนึ่ง คนในเรือก็จะร้องเพลงโดยมีต้นเสียงหรือ แม่เพลง ร้องนำว่า
                    "เจ้าขาวลาวระลอกเอย  มาหอมกอด ดอกเอ๋ยลำใย แม่เจ้าประคุณพี่เอาส่วนบุญมาให้"
แล้วทุกคนจะร้องรับพร้อมกันว่า "เอเอ หล่า เอ่ หลา ขาว เอย"
                 จากนั้นก็ร้องเรื่อยไป การร้องเป็นทำนองเชิญชวนให้ทำบุญร่วมกัน เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลง ก็เอาขันตักข้าวสารมาให้ที่เรือแล้วยกมือไหว้เป็นการอนุโมทนาด้วย คณะรำพาข้าวสารก็จะให้ศีลให้พร เป็นเพลงให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น มีเพลงว่าดังนี้
                    "ทำบุญกับพี่แล้วเอย ขอให้ทรามเชยมีความสุข นึกถึงเงินให้เงินมากอง นึกถึงทองให้ทองไหลมา เอ่ เอ เอ้ หล่า เอ หล่า ขาว เอย"
                 เมื่อร้องเพลงให้พรเสร็จแล้ว คณะรำพาข้าวสารก็จะพายเรือไปแวะบ้านอื่นต่อ ๆ ไป
                 การำพาข้าวสารจะเริ่มตั้งแต่หนึ่งทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน จึงเลิกและพากันกลับบ้าน ในคืนต่อไปก็จะไปรำพาในที่อื่น จนกว่าจะเห็นว่าข้าวของที่ได้มา พอจะทอดกฐินแล้วจึงยุติ

            ประเพณีมอญคั่ง  ที่มาของประเพณีนี้มีอยู่ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้เสด็จทางเรือไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน ทุกปี ซึ่งต้องเสด็จผ่านจังหวัดปทุมธานีในเขตอำเภอสามโคก
            ครั้งหนึ่งในเดือนสิบเอ็ด พระองค์ได้เสด็จขึ้นประทับที่บ้านท่าควาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านฉาง ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง ฯ บรรดาชาวรามัญในเมืองปทุมธานี เมื่อทราบข่าวต่างพากันพายเรือมาเฝ้าชมพระบารมี และถวายสิ่งของกันอย่างคับคั่งตลอดเวลามิได้ขาด และได้จัดการละเล่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติของพระองค์ กันอย่างมโหฬารดูสนุกสนานครึกครื้นมาก ครั้นถึงยามค่ำคืนได้จุดประทีปโคมไฟ ลอยเรือถวายอารักขา จุดดอกไม้ไฟสว่างไสวโชติช่วงไปทั่วลำน้ำเจ้าพระยาในบริเวณนั้น ช่วงนั้นเป็นปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว และเป็นเวลาข้างขึ้น ผู้คนลอยเรือเต็มท้องน้ำยาวเหยียดสุดสายตา และต่างตามประทีปส่องแสงแวววับสวยงามมาก ประกอบกับในเดือนสิบเอ็ด เป็นฤดูน้ำหลากล้นฝั่ง เพิ่มความสวยงามประทับใจเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงพอพระราชหฤทัย
            นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวไทยรามัญจังหวัดปทุมธานีจึงได้พากันลอยเรือเล่นเพลงทะแย จุดประทีปโคมไฟ และจุดตะไล ณ สถานที่เดิม เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด
            ดังนั้นพอเริ่มวันขึ้นแปดค่ำ เดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด ตกเวลาบ่ายจะมีบรรดาหนุ่มสาวแต่งตัวสวยงาม นั่งเรือลอยลำแม่น้ำเจ้าพระยา จากบ้านกลาง ปล่อยเรือให้ลอยไป ผู้คนคุยกันเล่นเพลงกันอย่างสนุกสนานไปตามน้ำจนถึงบ้านม่วง เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วก็ช่วยกันพาย บางทีก็พ่วงเกาะกันเป็นทิวแถวทวนน้ำขึ้นมาจนถึงบ้านกลาง แล้วปล่อยให้เรือลอยไปจนถึงบ้านม่วงอีก เพื่อเล่นเพลง งานดำเนินไปจนถึงกลางคืนประมาณสองยาม จึงเลิกแล้วพากันกลับบ้าน
            ปัจจุบันการลอยเรือดังกล่าวได้แยกออกไปทำตามหน้าวัดที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งจะกำหนดวันลอยเรือไว้ให้เป็นที่ทราบว่าวันไหน จะลอยเรือที่หน้าวัดใด และมีการเอาพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ตอนเช้าหรือตอนเพล จะมีการทบุญเลี้ยงพระ และมีการปิดทองไหว้พระกันเสียก่อน
            วัดที่มีการลอยเรือที่ทำเป็นประจำได้แก่ วัดมะขาม โดยจะเริ่มในวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด วัดหงษ์ปทุมาราม แรมสองค่ำ วัดสำแล แรมสามค่ำ วัดบางหลวง แรมสี่ค่ำ วัดไผ่ล้อม แรมห้าค่ำ วัดไก่เตี้ย แรมหกค่ำ วัดบางนา แรมเจ็ดค่ำ วัดดาวเรือง แรมแปดค่ำ
            ดังนั้น พอถึงวันเวลาดังกล่าว ผู้คนจะพากันทยอยมาร่วมลอยเรือกันเป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มาพบปะสังสรรค์กัน ในระหว่างเพื่อนฝูง ญาติ พี่น้อง ทั้งได้ร่วมทำบุญตักบาตร ปิดทองไหว้พระ เป็นการเสริมสร้างสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาต่อไปอีกด้วย

            ประเพณีมอญร้องไห้  เป็นประเพณีของกลุ่มคนมอญเมืองปทุมธานี ซึ่งถือปฎิบัตสืบต่อกันมา เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น ญาติพี่น้องจะพากันไปคารวะศพ แสดงความอาลัยรัก และร้องไห้รำพันถึงความดีของผู้ตายต่าง ๆ นานา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ตายด้วย
            ประเพณีนี้ ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่เป็นญาติกับผู้ตายมาร่วมร้องไห้ถือว่าได้กุศลแรง มอญรุ่นใหม่พูดภาษามอญไม่ค่อยได้ จึงร้องไห้ไม่เหมือนมอญรุ่นเก่า ที่มีความจับใจมากกว่า ดังนั้นจึงมีมอญพวกหนึ่งทำอาชีพรับจ้างร้องไห้ตั้งเป็นคณะขึ้น โดยใช้หญิงทั้งหมด ส่วนมากเป็นสาววัยรุ่นฝึกหัดร้องไห้ ให้โหยหวนเยือกเย็น และวังเวง ทำให้ผู้ฟังพลอยเศร้าโศกตามไปด้วย ในการร้องไห้นี้จะมีการเป่าปี่มอญคลอตามไปด้วย และแสดงกิริยาอาการตีอกชกหัวราววกับบจะตายตาม
            ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง  เป็นประเพณีเดือนสิบ ขึ้นสิบห้าค่ำ จะมีการทำบุญที่วัดโดยนำข้าวต้มมัด น้ำผึ้งและน้ำอ้อยไปถวายพระสงฆ์ โดยมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระภิกษุเกิดอาพาธเป็นไข้อาเจียน ทำให้ร่างกายซูบผอม พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตสิ่งที่เป็นทั้งยา และอาหารให้พระภิกษุสงฆ์ฉันได้ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนไปแล้ว เพื่อบำรุงร่างกายให้ดำรงอยู่ต่อไป มีอยู่ห้าอย่างด้วยกันคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ส่วนประเพณีของชาวไทยนิยมถวายน้ำผึ้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดเป็นประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งขึ้นมา
            หลังจากตักบาตรน้ำผึ้งแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะนำน้ำผึ้งไปดองเป็นกระสายยา หรือทำสมุนไพรไว้ฉันเอง และแจกให้กับอุบาสก อุบาสิกา ที่มารักษาศีลในวันธรรมสวนะ
            ประเพณีทำบุญวันสารท  ตรงกับวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ เป็นการทำบุญกลางปี สารทแปลว่าฤดูใบไม้ร่วง เป็นฤดูที่พืชพันธุ์และผลไม้สุก ให้ผลผลิตเป็นครั้งแรกในฤดูนี้ การทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแกพืชผล และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ เชื่อกันว่าในวันนั้นจะมีญาติผู้ล่วงลับไปแล้วมาคอยรับส่วนบุญ ผู้ใดไม่ทำบุญวันสารทถือว่าผู้นั้นขาดความกตัญญู
            ขนมที่จัดทำถวายพระภิกษุสงฆ์นี้เรียกว่า กระยาสารท ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย คนไทยรับมาดัดแปลง ใช้ส่วนผสมจากผลิตผลในการเกษตร มีข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา น้ำอ้อย กวนให้เข้ากันเป็นปึก แล้วตัดออกเป็นแผ่น เพื่อนำถวายพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังจัดให้มีพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยจัดทำกันที่วัด ให้หญิงสาวพรหมจารีย์เป็นผู้กวน มีพระสงฆ์สวดมนต์ในระหว่างทำพิธี เชื่อว่ากินแล้วเกิดสิริมงคล ระงับโรคภัยได้
           ประเพณีทำบุญวันตรุษ  ตรงกับวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนสี่ ถึงวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า รวมสามวัน ตรุษแปลว่าสุดหรือขาด หมายถึงสิ้นปีเก่า เป็นการแสดงความยินดี ที่ได้มีชีวิตผ่านไปในหนึ่งปีเรียกว่า ส่งท้ายปีเก่า ขนมที่จัดทำขึ้นในวันตรุษที่จะขาดไม่ได้คือ ข้าวเหนียวแดง และกะละแม มีการทำบุตรตักบาตรเลี้ยงพระตามประเพณี บางวัดก็จัดให้มีการสวดภาณยักษ์
            ประเพณีตรุษนี้ คนในหมู่บ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรที่วัดและมีการละเล่นต่าง ๆ ตามความนิยมแต่ละยุคสมัย ในท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานีสมัยก่อน พอถึงเทศกาลตรุษหลังจากทำบุญตอนเช้า และตอนเพลที่วัดแล้ว พอตกเวลาบ่ายจะมีการเอาไม้ไผ่ทั้งลำ แล้วเอาผ้าแดงผูกปลาย แล้วเอาไปปักไว้ที่ลานนอกบ้านหรือกลางทุ่งนาเรียกว่าปักธงแดง เพื่อให้มาร่วมเล่นไม้หึ่ง ไม้ตี่ เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นช่วงรำ เล่นสะบ้า และเล่นระบำกันอย่างสนุกสนาน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |