| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

            จังหวัดพังงามีธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ เป็นที่รู้จักแพร่หลายได้แก่
            สายหมอกที่อำเภอปะกง  จากองค์ประกอบของพื้นที่ตามธรรมชาติที่ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีที่ราบชายฝั่งทะเล หุบเขา พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูณ์มีทั้งป่าบก ป่าชายเลน ทำให้การคายความร้อนของพื้นดินในตอนกลางคืนเป็นไปอย่างช้า ๆ จึงเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นปกติคือ ละอองหมอก และรุ้งกินน้ำ
            หมอกที่ปกคลุมพื้นที่ดังกล่าว เป็นหมอที่มีปริมาณละอองน้ำหนาแน่นมาก ละอองหมอกมีขนาดใหญ่ การปกคลุมพื้นที่มีระยะเวลานาน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตำบลเหมาะ อำเภอปะกง และเขตรอยต่อ อำเภอคุระบุรีกับจังหวัดระนอง จะมีหมอกปกคลุมพื้นที่ไปจนใกล้เที่ยงวันในบางฤดู นับเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่พิเศษอย่างหนึ่งของจังหวัดพังงา จนได้ขนานนามว่า เมืองสายหมอก
            เขาช้าง  ชาวพังงาถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอย่างหนึ่ง เขาช้างเป็นภูเขาหินขนาดใหญ่สูงประมาณ ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง มีสัณฐานคล้ายช้างขนาดใหญ่ นอนหมอบหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวกันว่าหากมีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นแก่เมืองพังงา หรือมีใครคิดมิดีมิร้ายแก่เมืองพังงาแล้ว จะมีลางบอกเหตุให้ปรากฎให้ได้ยินเสียงและที่เขาช้างเสมอ มีตำนานของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเขาช้างมากมาย เช่น ถ้ำพุงช้าง วังหม้อแกง เขาพิงกัน และเขาตางุ้ม เป็นต้น

            เขานางหงส์  เป็นกลุ่มภูเขาในเทือกเขาภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่รอยต่อของอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอทับปุด จุดเด่นของเขานางหงส์คือ เมื่อมองจากระยะไกลจะมองดูคล้ายกับหญิงสาวนางหนึ่ง นอนตะแคงหันข้างให้ อันเป็นที่มาของตำนานพื้นบ้านมากมายที่เกี่ยวกับสถานที่ได้แก่ เขาขันหมาก เขากะทะคว่ำ และเขาเฒ่า
            จุดชมวิวเขานางหงส์ อยู่ที่บ้านบางท้อน ตำบลนบปลิง อำเภอเมือง ฯ ทางหลวงสายใต้คือถนนเพชรเกษม เดิมที่ตัดผ่านเขานางหงส์ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเส้นทางที่คดโค้งสูงชัน เสี่ยงอันตรายในการคมนาคมทางรถยนต์ แต่ก็แฝงความสวยงามตามธรรมชาติที่หาชมได้โดยยาก
            อ่าวพังงา  มีลักษณะเป็นทะเลใน ประกอบด้วยภูเขาและเกาะหลายแห่ง ภูเขาและเกาะที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติของจังหวัดพังงาได้แก่

                - เขาพิงกัน  เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพังงา มีลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกล่าวคือ เป็นภูเขาหินขนาดใหญ่กลางทะเล ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก ตัวภูเขาแตกออกเป็นแนวตัดตรงและทรุดตัวลงต่ำ ฐานเคลื่อนออกจากแนวเดิมเล็กน้อย เป็นเหตุให้แท่งหินซีกที่แตกออกตั้งเอียงพิงภูเขาลูกเดิม จึงเรียกว่า เขาพิงกัน

                - เขาตาปู  เป็นภูเขาหินสูงประมาณ ๑๕ เมตร ฐานคอด ตั้งอยู่หน้าหาดเขาพิงกัน มีลักษณะที่เด่นสะดุดตาคือ มีรูปทรง
คล้ายตาของปูที่โผล่ขึ้นมาจากทะเล หรือเหมือนตะปูขนาดยักษ์ที่ตอกลงไปในทะเล
                - เขาหมาจู  เป็นภูเขาหินอัคคีขนาดย่อม ตั้งอยู่ในอ่าวพังงาท่ามกลางป่าชายเลนระหว่างเส้นทางที่จะเดินทางไปเขาพิงกัน ลักษณะสัณฐานส่วนบนคล้ายหมาจูกำลังแหงนหน้า หูผึ่ง

                - เกาะห้อง  เป็นภูเขาหินขนาดย่อม ตั้งอยู่ในอ่าวพังงา บริเวณเพิงผาที่ระดับน้ำทะเล มีโพรงหินที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลลึกประมาณ ๑ - ๒ เมตร สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร ติดต่อทะลุถึงกันเป็นแนวยาวโดยรอบ สัณฐานดูคล้ายระเบียง หรือห้องแถวที่ช่างบรรจงสร้างไว้รอบเพิงผา จึงเรียกภูเขาลูกดังกล่าวว่าเกาะห้อง ตามลักษณะที่เห็น  ด้านหน้าของเพิงผาเป็นเวิ้งอ่าวที่มีระดับน้ำตื้น ปัจจุบันใช้สำหรับการล่องเรือแคนูท่องเที่ยวชมธรรมชาติ
            ลักษณะของเวิ้งอ่าวน้ำตื้นมีเพิงผาล้อมรอบนี้ ตามภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ปิเละ
                - เกาะพนัก  หมู่เกาะในบริเวณอ่าวพังงา ที่เชื่อมต่อกันกับเกาะห้อง มองดูโดยผิวเผินแล้วคล้ายกับเกาะธรรมดาทั่ว ๆ ไปในอ่าว แต่หากได้เดินลอดถ้ำขนาดเล็กที่ปากถ้ำกว้างประมาณ ๕.๕ เมตร เข้าไปประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร จะทะลุออกสู่ช่องเปิดของทะเลขนาดย่อม ที่มีภูเขาล้อมรอบคล้ายทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ มีพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ ประกอบด้วยป่าชายเลน หาดทรายและน้ำทะเล ที่เรียบสอบปราศจากคลื่นลม การที่ได้ชื่อว่าเกาะพนัก เพราะมีกำแพงภูเขาล้อมรอบคล้ายพนักเก้าอี้

                - ถ้ำลอด  ภูเขาหินในบริเวณอ่าวพังงามีโพรงหินขนาดใหญ่คล้ายถ้ำทะลุออกด้านหนึ่งของภูเขา สามารถแล่นเรือลอดโพรงหรือถ้ำดังกล่าวได้ ภายในโพรงหรือถ้ำมีเพดานที่ประกอบด้วยหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตาสวยงามอยู่มากมาย นอกจากนั้นยังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพังงา

                - ถ้ำสุวรรณคูหา  อยู่ในวัดสุวรรณคูหา ในเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง เป็นถ้ำในภูเขาขนาดเล็ก มีหน้าผาสูงชัน ตรงเพิงผาด้านทิศใต้มีถ้ำขนาดใหญ่ ภายในดัดแปลงเป็นปูชนียสถานทางพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาขาว ศิลปะพม่า อยู่สององค์  พระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดยาว ๗ วา ๒ ศอก อยู่หนึ่งองค์  พบเศษเครื่องปั้นดินเผา กำไลหิน แสดงว่าถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (อายุประมาณ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี)  ส่วนเพิงผาด้านทิศตะวันออก มีถ้ำขนาดใหญ่ ปากถ้ำอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร ภายในมีซากเรือโบราณ สันนิษฐานว่า เป็นซากเรือตั้งแต่ครั้งที่น้ำทะเลยังมีระดับสูงกว่าพื้นดินในปัจจุบัน

          ถ้ำฤาษีสวรรค์และถ้ำลูกเสือ  ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ในเขตอำเภอเมือง ฯ ภายในถ้ำมีอากาศเย็นสบายมีธารน้ำใส มีหินงอกหินย้อยงดงาม ด้านหน้าถ้ำติดริมถนนเพชรเกษมจัดทำเป็นสวนสาธารณะ

          แนวปะการังที่เกาะสุรินทร์และเกาะสิมิลัน  เป็นแหล่งปะการังใต้น้ำที่สวยงาม ทั้งแนวปะการังน้ำตื้นและแนวปะการังน้ำลึก เป็นแนวปะการังที่ติดอันดับความสวยงาม ๑ ใน ๑๐ ของโลก
            ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโพรงน้ำในลำตัว มีเนื้อเยื่อสองชั้น ระหว่างเนื้อเยื่อทั้งสองมีลักษณะเป็นวุ้น มีช่องปากแต่ไม่มีช่องถ่าย มีหนวดซึ่งมีเซลล์เข็มพิษเพื่อป้องกันตัวหรือจับเหยื่อเป็นอาหารเรียงรายอยู่รอบปาก สัตว์จำพวกนี้รวมถึงไฮดรา ปะการังไฟ แมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล ปะการังดำ ปะการังอ่อน กัลปังหา ปะการังสีน้ำเงินและปะการังทะเล  สัตว์เหล่านี้บางชนิดมีลักษณะแตกต่างกันมาก และบางชนิดก็คล้ายคลึงกันจนจำแนกจากกันได้ยาก
            ปะการังจะมีพื้นที่ในการเจริญเติบโตเฉพาะบริเวณคือ บริเวณท้องทะเลน้ำทะเลต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า ๑๘ องศาเซลเซียส ความลึกไม่เกิน ๕๐ เมตร มีค่าความเค็มของน้ำ ๓๐ - ๓๖ ส่วนต่อ ๑,๐๐๐ ส่วน มีอัตราความขุ่นของน้ำต่ำ และต้องมีพื้นที่ยึดที่มั่นคง  โดยทั่วไป ปะการังแบ่งออกได้เป็น ๘ ชนิดคือ
                - ปะการังเขากวาง  มีลักษณะคล้ายเขากวาง ส่วนที่เป็นกิ่งจะมีตุ่มอยู่โดยรอบ ตุ่มเหล่านี้คือที่อยู่ของตัวปะการัง
                - ปะการังแบบแผ่นแบนราบ  มีลักษณะการเติบโตขยายเป็นแผ่นแนวราบคล้ายโต๊ะ บางครั้งอาจซ้อนกันหลายชั้น
                - ปะการังแบบหุ้มห่อ  มีลักษณะการเติบโตแบบแผ่ขยายหุ้มฐานพื้นที่ที่ปะการังติดอยู่
                - ปะการังแบบก้อน  มีลักษณะเป็นก้อนตันคล้ายก้อนหิน
                - ปะการังแบบกิ่ง  มีลักษณะการเติบโตรวมกันเป็นกระจุกค่อนข้างแน่น แต่ไม่ติดกันเป็นก้อนเดียวกัน
                - ปะการังแบบแผ่น  มีลักษณะการเติบโตเป็นแผ่นซ้อน ๆ กันเป็นกระจุกคล้ายใบไม้หรือผัก
                - ปะการังแบบเห็ด  มีลักษณะเติบโตแผ่ออกคล้ายดอกเห็ด
                - ปะการังสีน้ำเงิน  มีสีน้ำเงินอยู่ในเนื้อของหินปูน
            ปะการังส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลสามแห่งที่จัดเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม และสำคัญของประเทศ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ จำแนกให้ปะการังในเขตจังหวัดพังงาอยู่ในเขตการใช้ประโยชน์ดังนี้
                - อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา  เกาะลาวาใหญ่ เกาะพนัก เกาะดอกไม้ และเกาะหินตุกนมุดสัง เป็นเขตท่องเที่ยวธรรมชาติ
                - อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์  เกาะสต๊อก เกาะปาชุมบา เกาะคอรินลา เกาะตาชัย และเกาะสุรินทร์ เป็นเขตท่องเที่ยวธรรมชาติ
                - อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน  เกาะบารู เกาะบายู เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะหูยง เกาะบอน เป็นเขตท่องเที่ยวธรรมชาติ และเกาะสิมิลันเป็นเขตท่องเที่ยวธรรมชาติ และเขตอนุรักษ์
                - หมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็กเรียงตัวตามแนวเหนือ - ใต้ มีเกาะใหญ่ที่สุดคือเกาะสิมิลัน (เกาะแปด) แนวปะการังพบอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศตะวันตกจะพบในบริเวณที่เป็นอ่าวที่กำบังแรงปะทะจากคลื่น ซึ่งเกิดในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณแนวปะการัง ที่มีขนาดใหญี่ที่สุดอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะสิมิลัน
                - หมู่เกาะสุรินทร์  มีสภาพชายฝั่งที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดูได้ดีกว่าหมู่เกาะสิมิลัน เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้แนวปะการังริมฝั่งรอบเกาะทั้งเกาะสุรินทรเหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร
            นอกจากหมู่เกาะทั้งสองแล้ว ระหว่างหมู่เกาะสุรินทรกับหมู่เกาะสิมิลัน มีหมู่เกาะตาชัยและเกาะบอน ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ในทะเลเปิดรับลมมรสุม ทั้งสองฤดูอย่างเต็มที่มีแนวปะการังขนาดเล็กอยู่ด้านตะวันออกของเกาะ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |