| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


สิ่งสำคัญคู่บ้านเมือง

           พระแสงราชศัสตราประจำเมือง  มีมณฑลเมืองและจังหวัด ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง รวม ๓๒ แห่ง มณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรก ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๔
            พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพังงา  ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๑  เมื่อครั้งพระองค์เสด็จ ฯ ประพาสมณฑลภูเก็ต นับเป็นพระแสงองค์ที่ ๖ ในรัชสมัยของพระองค์และเป็นองค์สุดท้าย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอีก
            พระแสงราชศัสตราประจำเมือง มีลักษณะเป็นดาบไทยฝีมือช่างทองหลวง มีความประณีตบรรจง สมกับที่เป็นเครื่องราชูปโภค ที่พระราชทานไว้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ ทุกองค์จะตีจากเหล็กกล้าอย่างดีสีขาวเป็นมัน ประกอบด้วยด้ามทองและฝักทอง
            พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพังงา ทอดบนหมอนวางอยู่บนพานแว่นฟ้า ปลอกด้ามซ้ายจารึกว่า ๓๑/๔๐ มีความยาว ๑๐๓ เซนติเมตร ด้ามยาว ๓๑ เซนติเมตร ฝักยาว ๗๒ เซนติเมตร ใบมีดยาว ๕๕ เซนติเมตร  กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร

            วัดสุวรรณคูหา  เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพังงา มีประวัติความเป็นมายาวนาน พบโบราณวัตถุต่าง ๆ ภายในวัด เช่น ขวานหิน เครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ ๓ - ๔ พันปี มีการใช้ถ้ำต่าง ๆ เป็นวิหาร สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป มีถ้ำสี่ถ้ำติดต่อกันเป็นเชิงชั้นงดงามมาก
            วัดสุวรรณคูหา  อยู่ในเขตตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง ชาวบ้านเรียกว่า วัดถ้ำ  มีถ้ำหลายถ้ำที่สำคัญคือ ถ้ำใหญ่ ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว

                - ถ้ำใหญ่  อยู่ทางตอนล่างสุด เวลาจะเข้าถ้ำอื่น ๆ จะต้องผ่านถ้ำนี้เสมอ มีขนาดกว้างใหญ่กว่าถ้ำอื่น คือกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐ เมตร พื้นถ้ำเรียบเสมอกัน เพดานมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม เหมือนประทุนเรือตลอดความยาวของถ้ำ ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องถ้วยฐานเชิง ลายครามและเบญจรงค์ชนิดต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นดอกไม้ ดวงดาว บ้างก็เป็นดาวล้อมเดือนอย่างสวยงาม ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญและมีลักษณะสวยงามคือ พระพุทธไสยาสน์ ขนาดองค์พระยาว ๗ วา ๒ ศอก พระนาคปรก และพระปรางค์บรรจุอัฐิ โบราณสถานและโบราณวัตถุดังกล่าว พระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน)  เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งได้สร้างขึ้นใหม่บ้าง บูรณะซ่อมแซมของเดิมบ้าง เสร็จแล้วฉลองสมโภชน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑

                - ถ้ำแจ้ง  เป็นถ้ำตอนบน มีลักษณะเป็นลานกว้างสว่างโล่ง ที่ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์
                - ถ้ำมืด  อยู่ถัดออกไปจากถ้ำแจ้ง มีหินงอกหินย้อยเหมาะสำหรับการท่องเที่ยว
                - ถ้ำแก้ว  อยู่ทางด้านขวามือของถ้ำแจ้ง เป็นถ้ำขนาดเล็กมีพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ประดิษฐาน อยู่บนอาสนะสูง ฝีมือช่างรุ่นเดียวกับถ้ำใหญ่
ศิลปกรรมและงานช่างท้องถิ่น
           ประติมากรรม  เป็นงานที่เกี่ยวกับงานปั้นงานแกะสลัก งานหล่อโลหะ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นศิลปฝีมือสกุลช่างโบราณที่ยังเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน งานประติมากรรมที่สำคัญของจังหวัดพังงาคือ
                - พระพุทธรูปปูนปั้นปางป่าเลไลย์  ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดประชุมโยธี อำเภอเมือง ฯ
                - พระพุทธรูปทองเหลือง  พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ)  อดีตเจ้าเมืองพังงาเป็นผู้สร้าง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดประพาสประเจิมเขต อำเภอเมือง ฯ
                - พระพุทธรูปในวัดสุวรรณคูหา   มีอยู่สี่องค์ด้วยกันคือ พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพังงา พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระประธานในเขตสีมาเก่าในถ้ำ และพระพุทธรูปปางรำพึงถวายเนตร ก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวนสององค์
                - พระพุทธรูปพระประธานห้าองค์  ประดิษฐานในอุโบสถวัดสราภิมุข  อำเภอเมือง ฯ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                - พระประธานในอุโบสถวัดมงคลสุทธาวาส  อำเภอเมือง ฯ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรัทธาราม ตำบลมะรุ่ย
                - พระพุทธรูปยืนวัดศรัทธาราม  (หลวงพ่อด้วน)  อำเภอทับปุด สูง ๓๙ นิ้ว วัดรอบองค์พระได้ ๑๗ นิ้ว  น้ำหนักประมาณ ๕๐ กิโลกรัม สันนิษฐานว่า หล่อด้วยเงินยวง
                - พระพุทธรูปหล่อด้วยดีบุกวัดหาดทรายสมบูรณ์  อำเภอท้ายเหมือง มีตำนานกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยหญิงสองพี่น้องในตระกูล ณ ตะกั่วทุ่ง โดยทั้งสองได้สะสมแร่ดีบุกไว้คราวละเล็กละน้อย จนพอที่จะหล่อพระพุทธรูปได้ ผู้เป็นพี่ได้หล่อพระพุทธรูปปางอ้มบาตรในเดือนสิบเอ็ด จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปเดือนสิบเอ็ด ส่วนผู้น้องได้หล่อพระพุทธรูปปางห้ามมารในเดือนห้า จึงได้ชื่อว่า พระพุทธรูปเดือนห้า
                - เทวรูปพระนารายณ์สมัยศรีวิชัย  อยู่ที่วัดนารายณิการาม อำเภอกะปง
                - ประติมากรรมรูปนางสีดา  อยู่ที่วัดนารายณิการาม  อำเภอกะปง
          จิตรกรรม  กลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดพังงา ได้สร้างงานจิตรกรรมไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นงานจิตรกรรมท้องถิ่น นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญยิ่งของชาวพังงา งานจิตรกรรมที่สำคัญในบริเวณอ่าวพังงาได้แก่
                - ภาพเขียนสีเพิงผาเขาพัง  เขาพังอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  ที่หน้าผามีภาพเขียนรูปคนลงสีน้ำตาลแดง เส้นสีแดงเป็นเค้าโครงร่างภายนอก และภาพลายเส้นเรขาคณิต เป็นเส้นคู่คล้ายรูปสามเหลี่ยมและลายเส้นนามธรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นเส้นคู่

                - ภาพเขียนสีที่เพิงผาเขาเขียน  เขาเขียนอยู่ในอ่าวพังงา ที่เพิงผามี ภาพเขียนสีรูปคนในลักษณะเคลื่อนไหว ภาพสัตว์เลื้อยคลาน ภาพลายเส้นเรขาคณิต ภาพปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ
                - ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำนาค  ถ้ำนาคอยู่ในเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง ที่เพิงผามีภาพเขียนสีลายเส้นรูปร่างคล้ายนก และภาพสัตว์อื่นที่คล้ายนกหรือปลา ภาพลายเส้นคล้ายสิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ภาพส่วนบนของคนครึ่งตัว แสดงโครงร่างเป็นเส้นโค้งสวยงาม แต้มด้วยอิฐสีแดง ภาพสัตว์เลื้อยคลานวาดด้วยสีทึบ

                - ภาพเขียนสีที่ถ้ำสำ  ถ้ำสำอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ในถ้ำมีภาพเขียนสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาพคน นก ผีเสื้อ สัตว์สี่เท้า ดอกไม้และกิ่งไม้ ภาพพระพุทธรูป ยักษ์ กระถางดอกไม้ บัลลังก์ เขียนด้วยหมึกสีแดง ดำ ขาว และสีส้ม
ภาษาและวรรณกรรม
           ภาษาพังงา  ได้แก่สำเนียงพื้นบ้านของชาวจังหวัดพังงา ซึ่งจัดเป็นภาษาถิ่นภาคใต้ที่มีความแตกต่าง จากภาษากลางและภาษาใต้กลุ่มอื่น ๆ ในด้านระบบหน่วยเสียง หน่วยคำ และกลุ่มคำอยู่บ้าง แต่โครงสร้างหลักหรือลักษณะส่วนใหญ่ ยังคล้ายคลึงกัน สำเนียงภาษาถิ่นพังงามีลักษณะเฉพาะสรุปได้ดังนี้
                - เรียงตำแหน่งคำสลับกับภาษาภาคกลาง เช่น บ่อน้ำ เป็นน้ำบ่อ
                - ออกเสียงวรรณยุกต์สลับกับภาษากลางในบางคำ ทำให้คำบางคำมีความหมายต่างกัน
            ภาษาถิ่นพังงาใช้กันอยู่ทั่วไปในทุกท้องที่ของจังหวัดพังงา โดยใช้เฉพาะภาษาพูดเท่านั้น  ปัจจุบัน ภาษาถิ่นพังงา
เริ่มสูญหายไปเป็นจำนวนมาก
       จารึก  จารึกที่เก่าแก่ที่สุดของพังงาที่พบเป็นจารึกโบราณภาษาทมิฬ พบที่อำเภอตะกั่วป่า นอกจากนั้นยังมีจารึกที่เกี่ยวข้อง กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองพังงา ที่สำคัญได้แก่
            - จารึกเขาพระนารายณ์  พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นตัวอักษรทมิฬโบราณ เป็นภาษาทมิฬประเภทร้อยแก้ว อาจสลักขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือ ๑๔  รูปลักษณะเป็นแผ่นจารึกทำจากหิน กว้าง ๕๕ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร อยู่ในสภาพสมบูรณ์  ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกลาง จังหวัดภูเก็ต

            - จารึกวัดสุวรรณคูหา  พบที่วัดสุวรรณคูหา อำเภอตะกั่วทุ่ง  เก็บรักษาไว้ที่ถ้ำใหญ่ โดยได้หล่อต่อไว้กับแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยม อีกสามด้านทำคำแปลเป็นภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ  ลักษณะตัวอักษรเป็นตัวอักษรไทยโบราณ สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นภาษาไทยประเภทร้อยแก้ว รูปลักษณะเป็นรูปใบเสมาทำจากหินชนวนกว้างประมาณ ๘๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑ เมตร สภาพสมบูรณ์ เป็นบันทึกของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง จารึกไว้เมื่อคราวที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒
            - จารึกวัดประพาสประจิมเขต  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดประพาสประจิมเขต ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประพาสเมื่อครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู จารึกด้วยอักษรไทยโบราณ เป็นภาษาไทยประเภทร้อยแก้ว รูปลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำจากหินชนวน อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นจารึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสวัดประพาสประจิมเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔
          ตำนาน  จังหวัดพังงามีตำนานอันเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันต่อ ๆ มา มักเป็นเรื่องของภูมินามท้องถิ่นซึ่งมีพื้นฐานจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีต บางเรื่องอาจมาจากจินตนาการโดยอาศัยข้อมูลรอบตัวที่ปรากฏอยู่เป็นองค์ประกอบ

                - ตำนานเขาช้าง  เขาช้างตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  ปัจจุบันมีศาลากลางจังหวัดตั้งอยู่ด้านหน้า มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมามีความว่า ตายมดึง ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางมาอาศัยอยู่กับตาโจงโดง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ลูกสาวตาโจงโดงเป็นภรรยา วันหนึ่งมีโขลงช้างป่าเข้ามาทำลายไร่อ้อยที่ปลูกไว้ ตายมดึงโกรธมากจึงเอาหอกไล่แทงช้างป่า ขณะนั้นตางุ้ม พ่อค้าชาวไชยา ได้นำช้างบรรทุกสินค้าเพื่อนำไปขายที่ตะกั่วป่า และขณะที่หยุดพักอยู่ระหว่างทาง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ตายมดึงไล่ช้างป่ามา ทำให้ช้างของตางุ้มตกใจวิ่งปะปนไปกับฝูงช้างป่าด้วย ตายมดึงไล่ช้างป่าผ่านบ้านต่าง ๆ มาหลายแห่ง ในที่สุดก็ไล่ทันช้างป่า
ตัวหนึ่ง จึงได้เอาหอกแทงจนช้างตายกลายเป็นภูเขาช้าง รอยที่ถูกแทงกลายเป็นถ้ำคือ ถ้ำพุงช้าง แกได้ตัดงาช้างไปพิงไว้ที่เขาลูกหนึ่งคือ เขาพิงงา  ฝ่ายตางุ้มได้ตามหาช้างของตนมาพบช้างของตนตายก็เสียใจมาก นั่งลงข้างศพช้างแล้วกลั้นใจตายกลายเป็นเขางุ้ม ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ

                 -  ตำนานเขาตาปู  เขาตาปูเป็นชื่อเกาะเล็ก ๆ ในอ่าวพังงาเป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะพิเศษคือ มีฐานเล็ก แต่ตัวภุเขามีขนาดใหญ่และสูง เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชายหาปลาคนหนึ่ง ออกไปทอดแหจับปลาได้ปลามาตัวเดียว ครั้งสุดท้ายทอดแหไปได้ตาปูมาตัวหนึ่ง แกจึงหยิบขึ้นมาแล้วเหวี่ยงทิ้งลงในน้ำ และทอดแหต่อไปกี่ครั้งก็ติดตาปูตัวเดิมแกโมโหมาก ใช้มีดฟันตาปูขาดกระเด็นไปปักที่กลางทะเล กลายเป็นเขาตาปูมาตั้งแต่นั้น
                - ตำนานทุ่งตาโงก  ทุ่งตาโงกเป็นชื่ออำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อตายมดึง ในตำนานเรื่องเขาช้าง ได้ตามช้างมาถึงบริเวณที่เป็นทุ่งตาโงกในปัจจุบัน ครั้งนั้นบริเวณดังกล่าวรกมาก และเกิดฝนตกหนัก ทำให้รอยเท้าช้างที่ตามมาหายไป ตายมดึงจึงขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่งเป็นภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ มีแต่หญ้าคาปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ตายมดึงได้ยืนชะโงกดูจากบนเขาลูกนั้นว่า ช้างเดินไปในทิศทางใด ต่อมาบริเวณนั้จึงได้ชื่อว่า ทุ่งตาโงก

                - ตำนานเขานางหงส์  เขานางหงส์เป็นชื่อเขาลูกหนึ่งที่กั้นอยู่ระหว่างอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอทับปุด มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชื่อ เต่า บ้านอยู่ทางฝั่งพังงา  อีกคนหนึ่งชื่อ เฒ่า บ้านอยู่ทางฝั่งทับปุด  มีอายุมากกว่าคนแรกหลายปี นายเต่ามีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางหงส์ เป็นสาวสวย เป็นที่หมายปองของคนหนุ่มทั่วไป แต่นางหงส์ก็ไม่ได้รักผู้ใด นายเฒ่าเห็นว่าลูกสาวเพื่อน สวยงามก็ชอบใจจึงออกปากขอต่อนายเต่า นายเต่าก็ยกให้ พอถึงวันฤกษ์ดีนายเฒ่าก็ยกขบวนขันหมากมายังบ้านนายเต่า ฝ่ายนางหงส์เมื่อได้ยินว่ามีคนยกขบวนขันหมากมาสู่ขอตน จึงสืบถามได้ความว่าชื่อนายเฒ่า เข้าใจว่าเป็นคนแก่ ก็เกิดความอับอายและโกรธมาก จึงขว้างขันหมากทิ้งไปกลายเป็น เขาขันหมาก ฝ่ายนายเฒ่าเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็เกิดความโกรธเช่นกัน จึงเตะกะทะขนมคว่ำลงกลายเป็น เขากะทะคว่ำ
            หลายวันต่อมานางหงส์ได้ไปเที่ยวงานแห่งหนึ่ง ได้เห็นนายเฒ่ายังเป็นหนุ่มอยู่ไม่ได้เป็นคนแก่ดังที่ตนเข้าใจ ก็เกิดความเสียใจ จึงได้จัดพานข้าวตอกดอกไม้ ไปขอขมานายเฒ่า แต่นายเฒ่าไม่ใยดี จึงทิ้งพานดังกล่าวต่อหน้านางหงส์ ทำให้นางหงส์รู้สึกอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงวิ่งกลับบ้านไปร้องไห้จนเหนื่อยอ่อน ล้มลงขาดใจตายในทันทีในที่แห่งหนึ่ง กลายเป็นเขานางหงส์ ส่วนนายเฒ่าเองเมื่อทราบว่านางหงส์ตาย ก็รู้สึกเสียใจมาก ในที่สุดก็ตรอมใจตายไปด้วยกลายเป็น เขาเฒ่า
                - ตำนานเขาเขียน  เขาเขียนเป็นภูเขาลูกหนึ่งในอ่าวพังงา ใกล้กับเกาะปันหยีเป็นภูเขาที่มีเพิงผาเล็ก ๆ อยู่แห่งหนึ่ง ที่หน้าผามีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ภาพเขียนนี้เป็นที่มาของตำนานเขาเขียน
            ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าเงาะคือ พระสังข์ได้หนีพันธุรัตน์ มาถึงเขาแห่งนี้เมื่อนางพันธุรัตน์ตามมาทันจึงร้องเรียก ให้เจ้าเงาะลงมาแต่เจ้าเงาะไม่ยอมลงมา
การละเล่นพื้นบ้านและนาฎศิลป์
           เพลงพื้นบ้าน  หมายถึงเพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นต่างก็ประดิษฐ์แบบแผน การร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกัน เพลงเหล่านี้ได้ฝังตัวติดอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน ติดต่อกันมาเป็นชั้น ๆ อย่างแน่นแฟ้นตามถิ่นที่อยู่นั้น ๆ เป็นเพลงที่ชาวบ้านทั่วไป โดยวิธีถ่ายทอดแบบปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่รู้ที่มาของเพลงและเป็นเพลงที่ชาวบ้าน ในแต่ละท้องถิ่นใช้ร้องเล่นกันเฉพาะในถิ่นนั้น ๆ
            เพลงพื้นบ้านของไทยเริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าเพลงพื้นบ้านของไทย ได้มีมาคู่กับสังคมไทยเป็นเวลานานมาแล้ว หลักฐานเกี่ยวกับการเล่นเพลงพื้นบ้านมีปรากฎในสมัยอยุธยา พบชื่อเพลงเรือ เพลงเทพทอง ในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์ ซึ่งพระมหานาควัดท่าทรายแต่งขึ้น ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์
            ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพลงพื้นบ้านปรากฎในจารึกวัดโพธิ และในวรรณคดีต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทรเพลงที่ปรากฎคือ เพลงปรบไก่ เพลงเรือ สักวา แอ่วลาว ไก่ปลา และเพลงเกี่ยวข้าว ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการเล่นเพลงเรือ สักวา ในเทศกาลทอดกฐิน มีเพลงฉ่อย ลิเล ลำตัด  ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา จึงมีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านไว้เป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน
            เพลงพื้นบ้านภาคกลาง มีเพลงอีแซว ปรบไก่ เพลงพวงมาลัย ฯลฯ เพลงพื้นบ้านภาคใต้มี เพลงบอก เพลงเรือ เพลงรองเง็ง ฯลฯ  เพลงพื้นบ้านภาคอีสาณมี เพลงโคราช เซิ้งหมอลำ ฯลฯ   เพลงพื้นบ้านภาคเหนือมี เพลงซอ เพลงจ้อย ฯลฯ  เพลงพื้นบ้านจะรวมตลอดไปถึงเพลงกล่อมเด็กของภาคต่าง ๆ ด้วย
            เพลงพื้นบ้านมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความเศร้าโศก ความพลัดพราก ความผิดหวัง เรื่องเพศ สังคมและการเมือง เป็นต้น เพลงพื้นบ้านโดยทั่วไปมีที่มาสามทางด้วยกันคือ
                -  จากพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ ของมนุษย์
                -  จากการรวมกลุ่มกันในการประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การประกอบอาชีพการงาน เป็นต้น
                -  จากแรงดันภายในจิตใจของมนุษย์เช่น ดีใจ เสียใจ และปรารถนาทางเพศ
            เพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันอยู่ในจังหวัดพังงา มีอยู่เป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น เพลงพื้นบ้านของจังหวัดพังงาคือ ร็องเง็ง เป็นเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันในหมู่ชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดภาคใต้ เดิมที่ร้องเป็นภาษามลายูพื้นเมือง ต่อมาได้มีการแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่ทำนองยังเป็นมลายูพื้นเมือง แถบจังหวัดพังงา ภูเก็ตเรียกว่า เพลงตันหยง การร้องและเล่น จะจัดเป็นคณะเช่นเดียวกับคณะรำวง มีเครื่องดนตรีประกอบคือ ไวโอลิน และกลองรำมะนา

ตัวอย่างเพลงร็องเง็ง

        ตันหยงตันหยง  กำปงแลน้องยังดอกกาบลาว
ยกขึ้นแต่งตัวแต่หัวเชา นกบินหลาเล่าข่าวน่าสงสาร
ใครไปบางกอกมั่ง บอกให้ร้อยชั่งน้องอย่าอยู่นาน
นกบินหลาเล่าข่าวน่าสงสาร ทำให้บังนี้รำคาญใจ
ยามค่ำแลยามค่ำ เสียงหริ่งเรไรมันร่ำอยู่หริ่ง ๆ หริ่ง
ข้องใจถึงน้องของบังจริง ๆ           บังเอาหลังไปพิงที่ปากตู
กระบี่ต้องเป็นสอง  ถ้าไม่ได้ด้วยน้องบังก็ไม่อยู่
บังเอาหลังไปพิงที่ปากตุ น้องสาวไม่รู้หัวใจบัง
บุงาตันโย้ง กำปงแลน้องโย้งต้นแหม
บังไปไม่รอดเสียแล้วเด้ ถูกเหนน้ำตาปลาดุยง
ตันหยงตันหยง กำปงแลน้องโย้งต้นผักกาด
บังนี้เดินอยู่ริมหาด เห็นน้องคิ้ววาดนั่งต่อยหอย
ฯลฯ

            เพลงจังหวะร็องเง็งที่มีผู้รู้จักและนิยมเต้นส่วนใหญ่ มีอยู่เจ็ดเพลงคือ เพลงลาฆูดูวอ  เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะบีซัง  เพลงจินตาซายัง  เพลงอาเนาะดีดี้  เพลมะอีนังซาวา  และเพลงมะอีนังลามา  ทำนองเพลงร็องเง็งเรียกว่า ลาฆู  ทำนองเพลงที่นิยมเล่นในจังหวัดพังงา และจังหวัดอื่น ๆ ในแถบฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่บุหงา ตันหยง ซีนาโดง ยาโงง สัมปันหยา  ปารีหาดยาว ปรีสตูล  ลาฆูตัว ฯลฯ เนื้อร้องเพลงร็องเง็งในทุกท้องที่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |