| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดี

            แหล่งเรือจมที่เกาะทะลุ  กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นแหล่งเรือจมที่หน้าเกาะทะลุ อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ณ ความลึก ๕๐ ฟุต พบหลักฐานที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น
                ตัวเรือ  เป็นเรือฉลอม ยาว ๑๐ - ๑๒ เมตร กว้าง ๔.๐ - ๔.๕ เมตร อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ประมาณร้อยละ ๖๐
                เครื่องปั้นดินเผา  ที่พบอยู่ในเรือ ได้แก่
                    โอ่งน้ำ  มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๘ - ๖๔ เซนติเมตร เป็นภาชนะเนื้อแกร่ง ดินสีเหลืองนวล เคลือบสีเหลืองแกมเขียวอ่อน ประทับตราสามแบบคือ ลายมังกรอยู่ในกรอบลูกฟัก มีอักษรไทยกำกับว่า มุ่งฮวด  ลายม้าบิน มีอักษรไทยกำกับว่า ตราม้าบิน  และลายกวางเหลียวหลังอยู่ภายในวงกลม ไม่มีตัวอักษรกำกับ
                    ไหปากแคบ  ขนาดกลางและขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๙ - ๒๙ เซนติเมตร สูง ๒๗.๔ - ๓๓.๖ เซนติเมตร เป็นดินสีเหลืองแกมเทาเข้ม เผาไฟแกร่งมาก ตรงคอไม้รอยประทับอักษรไทยและจีนว่า มุ่งฮวด
                    อ่างขนาดเล็ก  เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๗ - ๑๖.๐ เซนติเมตร เนื้อดินแกร่ง สีเหลืองนวล ไม่มีลวดลายตกแต่ง
                    ภาชนะรองขาตู้กับข้าว  เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕.๔ - ๑๗.๓ เซนติเมตร สูง ๗.๕ - ๙.๑ เซนติเมตร เนื้อดินแกร่งมาก สีเหลืองนวล เคลือบสีเหลืองแกมเขียวอ่อน ไม่มีลวดลายประดับ
                    จากการสำรวจเครื่องปั้นดินเผาที่มีเครื่องหมายมุ่งฮวด ตราม้าบิน พบว่าแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านเตาหม้อ ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเล่ากันว่าทำมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน แหล่งเรือจมหน้าเกาะทะลุเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรกของไทย ที่สามารถค้นหาประวัติที่มาของเรือ และสิ่งที่พบในเรือได้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด นับเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเดินเรือชายฝั่งโดยใช้เรือใบรุ่นสุดท้ายในน่านน้ำไทย
            แหล่งโบราณคดีใต้น้ำหินบุ้ช  อยู่ในเขตอุทยาน ฯ เขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด บริเวณหินบุ้ชเป็นพื้นที่มีปะการังและหินโสโครกมาก มีชาวประมงพบเศษภาชนะดินเผาประเภทไหสี่หู และเศษภาชนะที่เป็นชิ้นส่วนโบราณวัตถุจำนวนมาก คาดว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่มีเรือสำเภาโบราณมาจมอยู่
            หินบุ้ชเป็นแหล่งหินธรรมชาติอยู่ใต้น้ำ เวลาน้ำลงมาก ๆ จะมีบางส่วนโผล่พ้นผิวระดับน้ำทะเล บริเวณนี้มีความลึกประมาณ ๑๒ เมตร ทัศนวิสัยใต้น้ำมองเห็นได้ไกลประมาณ ๕ - ๖ เมตร พื้นที่โดยรอบแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นทรายเรียบ มีเศษปะการังหักพัง และเปลือกหอยกระจายอยู่ทั่วไป
            จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ พบว่าเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของชายทะเลภาคตะวันออก คณะสำรวจและอาสาสมัครพิทักษ์มรดกวัฒนธรรมทางทะเล ของงานโบราณคดีใต้น้ำพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก มีอายุอยู่ประมาณปลายสมัยอยุธยา
            จากการสำรวจและขุดค้นโดยละเอียด ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ พบโบราณวัตถุ รวม ๑๙๓ รายการ มีทั้งภาชนะดินเผาหลายประเภท หลายชนิดและหลายขนาด รวมไปถึงเครื่องมือขนาดเล็ก เช่น เบ็ด ฉมวก เงี่ยงปลากระเบน ชิ้นส่วนไม้เรือโบราณบริเวณกงหัวเรือ ตะปูโลหะ เป็นต้น
            ภาชนะดินเผาที่พบปะปนกันหลายชนิด มีแหล่งผลิตอยู่บริเวณแหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาที่วัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เช่น ไหสี่หูขนาดเล็กรูปไข่ทรงสูงไหล่กว้างก้นแบนเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางของขอบปากและก้นไห ใกล้เคียงกันคือ ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร โดยเส้นผ่าศูนย์กลางของก้นจะใหญ่กว่าเล็กน้อย หูทั้งสี่ปั้นด้วยดินเป็นทรงกลมแปะตามแนวนอนเป็นห่วงตั้งขึ้นบนไหล่ ตัวไหเคลือบสีน้ำตาลแกมเหลือง การเคลือบเลยส่วนกลางลำตัวลงมาเล็กน้อย และไม่เคลือบส่วนขอบบนปากเหมือนกับที่พบจากแหล่งเรือโบราณแหล่งอื่น ๆ อีกหลาย เช่น เรือสีชัง ๑, ๒, ๓ และเรือสมุยด้วย
            อายุของเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้สามารถกำหนดได้ว่ามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ คือราวสมัยอยุธยาตอนปลายภาชนะดินเผา จะเป็นทั้งภาชนะสำหรับใส่สินค้าประเภทของเหลว และของที่มีขนาดเล็ก เช่น น้ำมันมะพร้าว เกลือ น้ำตาล เป็นต้น หลายประเทศนิยมเครื่องปั้นดินเผาของไทย

            แหล่งโบราณคดีเขาวง  เขาวงเป็นภูเขาหินปูน ตั้งอยู่ที่ตำบลทองดิน อำเภอแกลง  เป็นแนวแบ่งเขตแดนจังหวัดระยองกับจังหวัด
จันทบุรี อยู่ในเขตอุทยาน ฯ เขาชะเมา - เขาวง
            เขาวงมีถ้ำอยู่เป็นจำนวนมากถึง ๖ ถ้ำ บางถ้ำมีทางทะลุถึงกัน บางถ้ำมีแสงแดดส่องลงมาได้ เป็นที่อาศัยของค้างคาวเป็นจำนวนมาก บางถ้ำ เช่น ถ้ำเสือเท้า ถ้ำละคร ถ้ำเจ็ดชั้น เคยมีผู้ตรวจพบโบราณวัตถุ เช่น เศษภาชนะดินเผา หินลับ เครื่องมือหินขัดเศษกระดูกสัตว์ เปลือกหอย สันนิษฐานว่า อาจเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว อาจเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว
            ปัจจุบันเขาวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีการทำบันไดไม้ให้นักท่องเที่ยวปีนเข้าสู่ถ้ำต่าง ๆ เช่น ถ้ำละคร ถ้ำขุนโจร เป็นต้น
                ถ้ำเจ็ดชั้น  อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาวง ที่ปากถ้ำเมื่อมองขึ้นไปจะเห็นโพรงถ้ำเรียงซ้อนกันขึ้นไปเจ็ดชั้น ภายในถ้ำแบ่งเป็น
สองคูหา ตอนในมืดมีค้างคาวอาศัยอยู่ ถ้ำนี้มีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณผิวดินพบโบราณวัตถุคือ
                    เศษภาชนะดินเผา  มีเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ ลายหวีและลายขูดด้วยแปรง
                    หินลับ  ทำจากหินสีแดง มีรอยถูกขัดฝน  เปลือกหอยพบมากตามพื้นถ้ำ เป็นหอยน้ำเค็มหลายชนิด เช่น หอยแครง หอยตลับขนาดใหญ่
                    หลักฐานที่พบคล้ายกับแหล่งโบราณคดีค่ายพนมดี โคกพุทธาและเขาชะอางห้ายอด ในเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีอายุ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดของเขาวง
                ถ้ำละคร  อยู่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเขาวง แบ่งออกเป็นสองตอนคือคูหาหน้าถ้ำ และตอนในของถ้ำ มีทางเดินออกไปทะลุปากถ้ำอีกถ้ำหนึ่ง บริเวณหน้าถ้ำมีแสงแดดส่องถึง ตอนในมืดมีค้างคาวอาศัยอยู่ บริเวณถ้ำส่วนหน้าพบโบราณวัตถุดังนี้
                    เศษภาชนะดินเผา  มีเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายเชือกทาบ ลายขีดและการขัดมัน  นอกจากนั้นมีเปลือกหอยและเศษกระดูกสัตว์
                    หลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่า บริเวณถ้ำละครเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ใช้เครื่องมือหินและภาชนะดินเผา โบราณวัตถุดังกล่าวคล้ายกับที่พบในถ้ำเสือเท้า ถ้ำโบสถ์และถ้ำเจ็ดชั้น คาดว่าถ้ำละครคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
                ถ้ำเสือเท้า  เป็นถ้ำหินปูน อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาวง สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑๐ เมตร ลักษณะเป็นเพิงผา กว้างประมาณ ๓๐ เมตร ืลึกประมาณ ๑๐ เมตร
                    โบราณวัตถุที่พบตามพื้นถ้ำมีดังนี้คือ เศษภาชนะดินเผา มีเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งผิวแบบลายเชือกทาบ ลายขูด เขียนลายจุด และผิวเรียบ  นอกจากนั้นมีเศษกระดูกสัตว์และเปลือกหอย  โบราณวัตถุที่พบคล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี โคกพุทราและที่เขาชะอาง มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี
แหล่งประวัติศาสตร์
            ค่ายคูเมืองโบราณบริเวณวัดบ้านค่าย  วัดบ้านค่ายอยู่ในสมัยประวัติศาสตร์ประมาณปลายสมัยอยุธยาถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อยู่ในเขตตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย อยู่ริมคลองเก่าเชื่อมกับคลองใหม่ บริเวณห่างจากวัดบ้านค่ายไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นคันดินที่อาจเป็นค่ายหรือคูเมืองโบราณ เป็นรูปสี่เหลี่ยม และยังมีคันดินเป็นแนวยาว ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเมืองค่ายเก่า สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี
            ภายในวัดบ้านค่ายมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่สองสิ่งคือ พระพุทธบาทจำลอง และองค์เจดีย์

            ค่ายคูเมืองบริเวณสระหมู่บ้านดอน  อยู่ในเขตตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง ฯ นักโบราณคดีสันนิษฐานจากหลักฐานที่พบ ซึ่งเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม จึงน่าจะเป็นเมืองโบราณในสมัยขอม
            บริเวณสถานที่ที่เรียกว่า สระหมู่ แต่เดิมมีศิลาแลงที่ใช้สร้างปราสาท หรือสถานที่สำคัญหลายแห่ง ใกล้สระเจ็ดสระมีเนินถนนรอบสระ และมีร่องรอยถนนพุ่งข้ามแม่น้ำไปทางทิศเหนือสู่บ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ปัจจุบันคงเห็นเพียงสระและเค้าเนินดินบางแห่งเท่านั้น

            วังสามพญา  อยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดละหารไร่ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย เป็นห้วงน้ำลึก (วัง) ของช่วงหนึ่งของต้นแม่น้ำระยองเดิม จะเป็นวังน้ำลึกใสและเย็น เพราะมีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมและมีปลาชุกชุม
            มีเรื่องเล่าว่าเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๐๙ สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกรีฑาทัพตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา แล้วเดินทัพผ่านมาทางทุ่งละหารใหญ่ (รวมถึงบริเวณที่ตั้งวัดละหารใหญ่ปัจจุบัน) และได้หยุดพักไพร่พล ณ บริเวณนี้ และได้ทรงนำช้างศึกสามเชือก ลงอาบน้ำบริเวณบึงใหญ่ ซึ่งจะมีน้ำใต้ดินไหลซึมตลอดเวลา ชาวบ้านจึงเรียกบึงนี้ว่า วังสามพญา อันหมายถึง ช้างศึกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลงอาบน้ำ ณ บึงแห่งนี้
            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ จังหวัดระยองได้ประกอบพิธีกรรมตักน้ำ พร้อมกับทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เพื่อนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นน้ำอภิเษก เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ทางราชการจังหวัดระยองได้ไปประกอบพิธีกรรมตักน้ำจากวังสามพญา นำไปทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ อุโบสถวัดลุ่ม (มหาชัยชุมพล)
            วังสามพญา  เป็นที่รวมของลำคลองห้าสาย ที่ไหลมาบรรจบกันก่อนที่จะเป็นแม่น้ำระยอง ประกอบด้วย
                คลองระเวิง  อยู่ในเขตอำเภอปลวกแดง
                คลองหนองมะปริง  อยู่ในเขตอำเภอปลวกแดง
                คลองดอกกราย  อยู่ในอำเภอปลวกแดง
                คลองรำพัง  อยู่ในอำเภอบ้านค่าย
                คลองหนองกลับ  อยู่ในเขตอำเภอบ้านค่าย
            ศาลพระเจ้าตากสิน  เป็นศาลที่สร้างขึ้นภายหลัง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง มีการประกอบพิธีวางพวงมาลาของทางราชการ ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี และมีการจัดงานประจำปีของจังหวัด
            ต้นสะตือ  อยู่ทางด้านข้างของศาลพระเจ้าตากสิน ตามประวัติเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้เป็นที่ผูกช้าง เมื่อครั้งนำกำลังพลมาพัก ณ บริเวณทุ่งละหารใหญ่
            ปัจจุบันต้นสะตือ ยังคงดำรงอยู่และเจริญงอกงามดี มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างร่มรื่น ทางวัดลุ่มได้ดูแลและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

            อนุสาวรีย์สุนทรภู่  สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผลงานประพันธ์บทกลอนของท่านเป็นที่เลื่องลือ จนได้รับการยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก -  UNESCO) ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติท่านว่าเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมโลก ได้เผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของท่านให้เป็นที่ปรากฎแก่บรรดาประเทศสมาชิกทั่วโลก ในโอกาสคล้ายวัดเกิดครบรอบ ๒๐๐ ปี ของรัตนกวีท่านนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙

            อนุสาวรีย์สุนทรภู่  ตั้งอยู่ในเขตตำบลกร่ำ อำเภอแกลง บริเวณอนุสาวรีย์มีรูปหล่อของท่านกำลังนั่งจินตนาการ แต่งเรื่องพระอภัยมณีอยู่บนโขดหิน หันหน้าออกไปทางเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นเกาะแก้วพิศดาร
            มีรูปหล่อพระอภัยมณีนั่งอยู่ในท่าบรรเลงเพลงปี่ มีรูปหล่อนางเงือกกำลังทอดร่างจ้องมองพระอภัยมณีอยู่บนก้อนหินใกล้ ๆ กันและห่างออกไปไม่มากนัก มีรูปหล่อนางผีเสื้อสมุทรในท่ายืนอยู่ในน้ำเหมือนกำลังจะเดินเข้ามาหาพระอภัยมณี
            อนุสาวรีย์สุนทรภู่ นับเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญยิ่งคู่บ้านคู่เมืองระยอง  จนกลายเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัดระยองในปัจจุบัน

            พระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร ฯ  ตั้งอยู่ที่ปากน้ำประแส อำเภอแกลง ซึ่งแต่เดิมสร้างเป็นศาลาไม้เล็ก ๆ ต่อมาจึงได้สร้างเป็นอาคารหลังคาทรงจตุรมุขด้วยคอนกรีต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
            ต่อมาได้ดำเนินการสร้างพระรูปหล่อเท่าพระองค์จริง ในพระอริยาบทประทับยืน ฉลองพระองค์ชุดเครื่องแบบเต็มยศพลเรือเอก แห่งราชนาวีไทย สูง ๑๗๓ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระะนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีประดิษฐานพระรูป ฯ ณ ศาลที่ปากน้ำประแส อำเภอแกลง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นที่เคารพบูชาของชาวระยอง และมหาชนทั่วไปสืบต่อไป

            พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท  ประดิษฐานอยู่ภายในค่ายกองพันทหารราบที่ ๗ กรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง ฯ สร้างโดยข้าราชการและทหารของกองพันทหารราบที่ ๗ กรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน ร่วมทุนกันเป็นเงินประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๑
            พระบรมรูปจำลองมีลักษณะประทับยืนถือพระแสงดาบ หล่อด้วยโลหะขนาดเท่าครึ่งของคนธรรมดา สูง ๒๗๐ เซนติเมตร
            พระอนุสาวรีย์ ฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านในฐานะที่ทรงเป็นวีรบุรุษ นักรบกล้าของชาติไทย ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อ และความสุขส่วนพระองค์กระทำการกู้ชาติ และปกป้องรักษาเอกราชของชาติไทยไว้ ความหาญกล้าและพระปรีชาสามารถอันสูงส่ง จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักการทหาร และอนุชนรุ่นหลังตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนและโน้วน้าวจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า  ให้ระลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านที่ ได้สร้างไว้ในอดีต เป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี นับถึงวันสร้างพระอนุสาวรีย์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |