| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดสระแก้ว

            จังหวัดสระแก้ว  ตั้งอยู่บริเวณชายแดนตะวันออกของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา เป็นระยะทางประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ ๒๓๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๗,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในภาคตะวันออก ได้รับการจัดตั้งให้เป็นจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นจังหวัดลำดับที่ ๗๔ ของประเทศไทย โดยแยกออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วยเจ็ดอำเภอ และสองกิ่งอำเภอได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอคลองหาด อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอตาพระยา กิ่งอำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับกิ่งอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศกัมพูชา
            ทิศใต้  ติดต่อกับ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอกบินทรบุรี อำเภอมาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
            พรมแดนด้านทิศตะวันออก ที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา เริ่มตั้งแต่กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด อำเภออรัญประเทศ กิ่งอำเภอโคกสูง และอำเภอตาพระยา
ลักษณะภูมิประเทศ
            ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขา ที่ราบลูกฟูก และที่ราบลุ่มแม่น้ำ อยู่ในเขตทางตอนเหนือของภาคตะวันออก สามารถแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะคือ
            พื้นที่ทิวเขาตอนเหนือ  เป็นเขตติดต่อระหว่างภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แบ่งออกเป็นสองแนวคือ
                แนวเขาสันกำแพง  แบ่งเป็นสองตอน
                    ตอนที่ ๑  ตามแนวทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๐๔ ระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี
                    ตอนที่ ๒  จะวางตัวลงมาทางใต้จากอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาและอำเภอกบินทรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วแนวเขาจะวางตัวไปทางทิศตะวันออกในเขตติดต่อระหว่างอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอเมืองสระแก้ว ลักษณะภูเขาในส่วนนี้เป็นภูเขายอดป้าน ยอดเขาไม่สูงชันมากนัก
                แนวเขาบรรทัด  ติดต่อจากเทือกเขาสันกำแพง ช่วงตอนที่ ๒ จากอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ จนถึงพรมแดนไทย - กัมพูชา บริเวณหลักเขตที่ ๒๘ ภูเขาในช่วงนี้จะมีขอบสูงชันในเขตอำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา เข้าไปเขตจังหวัดบุรีรัมย์ จะเป็นยอดเขาตัด
            พื้นที่เขตที่ราบสูงตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำตอนเหนือ  ได้แก่ บริเวณตอนใต้ของอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา บริเวณอำเภอคลองหาด และอำเภอวังน้ำเย็น แบ่งออกเป็นสองเขตคือ
                พื้นที่ราบลูกฟูก  ภูมิประเทศเป็นเนิน เนินเขา และที่ราบที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน บริเวณฉนวนไทย มีความลาดชันน้อย สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง ๑๐ - ๙๐ เมตร พื้นที่ราบลูกฟูกจะอยู่โดยรอบแอ่งบางปะกง แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
                    เขตที่ราบลูกฟูกตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำบางปะกง  มีความสูงเฉลี่ย ๓๐ - ๕๐ เมตร ได้แก่ บริเวณเขตติดต่อตอนล่างของเทือกเขาสันกำแพง ลงมาทางตอนเหนือของจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว บริเวณแอ่งพื้นที่เป็นที่ราบ มีน้ำไหลบมาท่วมขัง เช่น ในเขตอำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ ดินชั้นบนเป็นทรายแป้งสะสมตัวอยู่บาง ๆ ประมาณ ๒ - ๓ นิ้ว ส่วนดินชั้นล่างเป็นพวกกรดลูกรัง
                   เขตที่ราบลูกฟูกตอนล่างของลุ่มแม่น้ำบางปะกง  มีความสูงเฉลี่ย ๒๐ - ๓๐ เมตร เป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่ราบเชิงเขาของเทือกเขาจันทบุรีทางด้านเหนือ เป็นพื้นที่ของอำเภอคลองหาดและอำเภอวังน้ำเย็น ระดับความสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ - ๔๐ เมตร ในเขตอำเภอเมือง ฯ บริเวณเขตติดต่อระหว่างตอนบนของอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรากับอำเภอเมือง ฯ  พื้นที่จะเป็นสัมปันน้ำระดับต่าง ๆ มีความสูงเฉลี่ย ๖๕ - ๑๒๐ เมตร ต่อเนื่องจากเขาสงในเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทราจนถึงเขาตะกรุม เขตติดต่อกับอำเภอวัฒนานคร ลำน้ำด้านหนึ่งจะไหลลงสู่คลองท่าลาด อำเภอสนามชัยเขต อีกด้านหนึ่งไหลลงสู่คลองพระสะทึง อำเภอเขาฉกรรจ์
                บริเวณอำเภอคลองหาด และอำเภอวังน้ำเย็นพื้นที่จะเป็นแอ่งตอนกลาง ทางตะวันตกและทางใต้ ของอำเภอวังน้ำเย็นจะเป็นที่สูง ลาดลงสู่แอ่งคลองพระสะทึง ภูมิประเทศที่เป็นเนินมีความสูงเฉลี่ย ๕๐ - ๘๐ เมตร มีเนินเขาเตี้ย ๆ สูงระหว่าง ๒๐๐ - ๕๐๐ เมตร กระจายอยู่ทั่วไป เนินเขาเหล่านี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบ้านบ่อนางชิง ทางด้านตะวันออกของเขาฉกรรจ์ (๓๒๔ เมตร)
                พื้นที่ทางตะวันออกติดกับพรมแดนไทย - กัมพูชา ในเขตอำเภอคลองหาด พื้นที่จะลาดลงสู่แอ่งคลองพระสะทึง ทางตะวันตก เป็นเนินสูงเฉลี่ย ๘๐ - ๑๓๐ เมตร
          เขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนเหนือ  ประกอบด้วยลุ่มแม่น้ำบางปะกงและสาขา และลุ่มน้ำทะเลสาบเขมร โดยมีสันปันน้ำอยู่บริเวณตอนกลางของอำเภอวัฒนานคร
                   แม่น้ำบางปะกง  เป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก เกิดจากการไหลรวมกันของแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีน ในส่วนของแม่น้ำปราจีน ประกอบด้วยลำน้ำสาขาคือ แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำหนุมาน และแม่น้ำพระปรง สำหรับแม่น้ำพระปรงนั้นเกิดจากการไหลมาบรรจบกันของลำคลองสองสายคือ คลองพระปรง และคลองพระสะทึง
                   คลองพระปรง  เป็นลำคลองที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญของแม่น้ำพระปรง มีความยาวประมาณ ๓๒ กิโลเมตร มีกำเนิดจากเทือกเขาในเขตติดต่อสามจังหวัดคือ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
                   คลองพระสะทึง  เป็นสาขาสำคัญของแม่น้ำพระปรง ตอนต้นจะไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ผ่านอำเภอเขาฉกรรจ์ ถึงทางใต้ของอำเภอเมือง ฯ แล้วไหลไปบรรจบคลองพระปรงที่ไหลมาทางด้านเหนือ คลองพระสะทึงมีความยาวมาก มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาจันทบุรี และภูเขาในเขตอำเภอวังน้ำเย็น
                    ส่วนลุ่มน้ำทะเลสาบเขมรนั้น ลำน้ำที่สำคัญได้แก่ คลงพรหมโหด มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอวัฒนานครไหลผ่านพื้นที่ตอนกลางของอำเภออรัญประเทศ ไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ประเทศกัมพูชา ที่บ้านคลองลึก
ทรัพยากรธรรมชาติ

            ทรัพยากรน้ำ  มีทั้งแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำชลประทาน
                แหล่งน้ำผิวดิน  แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญได้แก่
                    คลองพระปรง  ยาวประมาณ ๑๓๒ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเขาห้วยชัน เขาภูเขียว ในเขตติดต่อสามจังหวัดคือ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอสะหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีสาขาคือ ห้วยพระปรงน้อย ห้วยละเลิงไผ่ ลำเสียวน้อย ลำเสียวใหญ่ ห้วยปะตง ห้วยชัน ห้วยเหลือ ห้วยทราย คลองอ้ายทอง และคลองท่ากระบาก และไหลไปบรรจบคลองพระสะทึง ที่บ้านทุ่งช้าง นับว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญมากชาวยในการเพาะปลูก และเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปาของอำเภอวัฒนานคร
                    คลองพระสะทึง  ยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาจันทบุรี ไหลผ่านอำเภอวังน้ำเย็น ทางใต้ของอำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบคลองพระปรง ที่บ้านทุ่งช้าง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำหนุมาน บริเวณบ้าตลาดเก่า ทางตอนเหนืออำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ลำน้ำสาขาได้แก่ คลองน้ำซับ คลองคันทุ่ง คลงวังจิก คลองตาหลัง และคลองตาสูตร
                    คลองตาหลังใน  มีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ไหลขนานไปกับคลองพระสะทึง แล้วไหลไปบรรจบกับคลองพระสะทึงที่ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี
                    คลองพรหมโหด  ยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากบริเวณบ้านโนนหมากเก็ง อำเภอวัฒนานคร ไหลผ่านตอนกลางของอำเภออรัญประเทศ ไปทางทิศตะวันออกเลียบตามแนวชายแดน ไหลเข้าสู่เขตประเทศกัมพูชาที่บ้านหนองเอี่ยม บ้านคลองลึก และถือว่าคลองพรหมโหดนี้เป็นแนวเขตอนุรักษ์ของไทย - กัมพูชา เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ
                    คลองแพ่ง  ยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตา มีต้นกำเนิดจากเขาคันนา อำเภอตาพระยา แล้วไหลไปทางทิศตะวันออเข่าสู่ประเทศกัมพูชา
                    ห้วยโสมง  ยาวประมาณ ๖๕ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเขาว่าน เขาขาด เขาใหญ่ เขาคำแตน อำเภอสระแก้ว ไหลไปบรรจบแม่น้ำหนุมาน ที่บ้านใหม่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ลำน้ำสาขาได้แก่ ห้วยคำภู
                    ห้วยสะโตน  ยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด อำเภอคลองหาด แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ประเทศกัมพูชา มีลำน้ำสาขาคือ ห้วยตะโก คลองตราด ห้วยลำตะเกียบ ห้วยสระแจง และคลองแลง
                    ห้วยนางงาม  ยาวประมาณ ๑๖ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากหนองอ้อย ที่บ้านหนองอ้อย อำเภออรัญประเทศ แล้วไหลไปทางตะวันออกเข้าสู่ประเทศกัมพูชา
                    ห้วยยาง (๑)  ยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเขาหลาย อำเภอวัฒนานคร เขาโล้น เขาอีด่าง อำเภอตาพระยา เขาหลาย เขาวง อำเภอวัฒนานคร แล้วไหลไปทางตะวันออกเข้าสู่ประเทศกัมพูชา
                    ห้วยยาง (๒)  ยาวประมาณ ๔๒ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดดจากเขาหลาย อำเภอวัฒนานคร เขาโล้น เขาอีด่าง อำเภอตาพระยา แล้วไหลไปบรรจบกับห้วยตะเคียนที่บ้านโคกสูง แล้วไหลผ่านบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา แล้วไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชา มีลำน้ำหลายสาขา
                แหล่งน้ำใต้ดิน  มีพื้นที่น้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดี ปริมาณน้ำ ๒๐ - ๑๐๐ แกลลอน/นาที ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางตอนกลางของจังหวัดได้แก่ อำเภอเมือง ฯ บางส่วนของอำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา
                เขตที่มีน้ำใต้ดินน้อยได้แก่ อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น และอำเภอคลองหาด จากการขุดบ่อบาดาล จำนวน ๖๔๖ บ่อ พบว่าในหลายพื้นที่น้ำใต้ดินมีคุณภาพไม่ดี เช่น เค็ม ขุ่น และเป็นสนิมเหล็ก มีปริมาณน้ำน้อยใช้ได้ไม่ตลอดปี
                แหล่งน้ำชลประทาน  มีเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และฝายน้ำกั้นน้ำอยู่หลายแห่ง เพราะจังหวัดสระแก้วไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีแต่ลำคลองและห้วย ในฤดหูแล้งน้ำจะแห้งขอด แหล่งน้ำธรรมชาตไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค จึงได้มีการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำตามโครงพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                ทางจังหวัดได้ดำเนินโครงการแผ่นดินเย็น โดยร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน จัดสร้างแหล่งน้ำทั้งในพื้นที่ของรัฐและพื้นที่เอกชน แหล่งน้ำสำคัญตามโครงการชลประทานมีดังนี้
                    โครงการชลประทานขนาดใหญ่  มีอยู่ในเขตสี่ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำสะโตน มีอยู่ ๓ แห่ง เก็บน้ำได้ ๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ ๕๖,๐๐๐ ไร่ ลุ่มน้ำห้วยตะเคียน มีอยู่ ๒ แห่ง เก็บน้ำได้ ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ไร่ ลุ่มน้ำห้วยพรหมโหด มีอยู่ ๑ แห่ง เก็บน้ำได้ ๕ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ ๒,๕๐๐ ไร่ ลุ่มน้ำคลองพระพุทธ มีอยู่ ๒ แห่ง เก็บน้ำได้ ๒.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ ๓,๐๐๐ ไร่
                    โครงการชลประทานขนาดกลาง  มีอ่างเก็บน้ำอยู่ ๑๔ แห่ง มีความจุน้ำรวมประมาณ ๒๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานประมาณ ๖๓,๐๐๐ ไร่
                    โครงการชลประทานขนาดเล็ก  มีอ่างเก็บน้ำอยู่ ๒๐ แห่ง และอีกหนึ่งทำนบดิน มีความจุน้ำรวมประมาณ ๑๑ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานประมาณ ๖๖,๐๐๐ ไร่

            ทรัพยากรป่าไม้  มีพื้นที่ป่าไม้ที่ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติประมาณ ๓,๖๓๐,๐๐๐ ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติประมาณ ๕๒๘,๐๐๐ ไร่ รวมแล้วประมาณ ๔,๑๕๘,๐๐๐ ไร่ ประมาณ ร้อยละ ๘๗ ของพื้นที่จังหวัด แต่จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ พบว่าคงเหลือป่าไม้คงสภาพประมาณร้อยละ ๔๓ ของพื้นที่จังหวัด พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกบุกทำลายไปมาก คงเหลืออยู่เฉพาะบริเวณทางตอนเหนือของอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา ที่ทางราชการได้ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดา และบริเวณทิศตะวันตกของอำเภอวังน้ำเย็น ซึ่งทางราชการได้ดำเนินการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
                ประเภทป่าไม้ จำแนกออกได้ดังนี้
                    ป่าดงดิบ  พบได้บริเวณเทือกเขาที่เป็นรอยตะเข็บระหว่างจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดจันทบุรี
                    ป่าดิบเขา  พบตามเทือกเขาและที่ราบสูงบางแห่งบริเวณเทือกเขาสันกำแพง
                    ป่าเบญจพรรณ  พบบริเวณอำเภอวังน้ำเย็น ติดต่อกับอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริเวณอำเภอตาพระยา ติดต่อกับประเทศกัมพูชา
                    ป่าแพะหรือป่าโคก หรือป่าแคว พบบริเวณอำเภอตาพระยา และอำเภออรัญประเทศ
              พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ  ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดของจังหวัดสระแก้วได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้
                    อุทยานแห่งชาติปางสีดา  มีพื้นที่ประมาณ ๕๒๗,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
                    อุทยานแห่งชาติตาพระยา  มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  มีพื้นที่ประมาณ ๖๗,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
                    ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาฉกรรจ์ฝั่งเหนือ  อยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา และอำเภอวัฒนานคร มีพื้นที่ประมาณ ๒๓๒,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มอบให้สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๑๙๒,๐๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ป่าสัก ท่าระพา  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
                    ป่าสงวน ฯ ป่าโคกสูง  อยู่ในเขตอำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา มีพื้นที่ประมาณ ๔๑๖,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ มอบหมายให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๒๗๐,๕๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ป่าห้วยไคร้  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๔๖๖,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๒๗๐,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
                    ป่าสงวน ฯ ป่าตาพระยา  อยู่ในเขตอำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา มีพื้นที่ประมาณ ๓๓๗,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๑๘๖,๐๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ป่าแก่งดินสอ - แก่งใหญ่ - เขาสะโตน  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร มีพื้นที่ประมาณ ๗๐๕,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปประมาณ ๘๔,๐๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ป่าเขาฉกรรจ์ ป่าโนนสาวเอ้ ป่าปลายคลอง ห้วยไคร้และป่าพระสะทึง  อยู่ในเขตอำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ และอำเภอคลองหาด มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๗๒,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ส่วนป่าเขาฉกรรจ์และป่าโนนสาวเอ้ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๘๕๔,๐๐๐ ไร่  ส่วนป่าห้วยไคร้ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปแล้วประมาณ ๒๗๐,๐๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ป่าท่ากระบาก  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๒,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปประมาณ ๑๔๖,๕๐๐ ไร่
                    ป่าสงวน ฯ ท่าแยก  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๓๗,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฎิรูปประมาณ ๓๔,๐๐๐  ไร่
ประชากร
            จังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วยประชากรดั้งเดิมหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยประชากรจากทุกภาคของประเทศไทย ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
            เขมร  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา เป็นเวลานานแล้ว ก่อนเกิดสงครามอินโดจีน เพราะพรมแดนไทย - กัมพูชา สะดวกต่อการอพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะบริเวณอำเภออรัญประเทศ
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ซึ่งเขมรยังเป็นของไทยอยู่นั้น ได้จัดตั้งมณฑลเขมร หรือมณฑลบูรพา ขึ้น ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสยึดกัมพูชา รวมทั้งมณฑลบูรพาได้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) จึงได้อพยพชาวเขมรเข้ามายังฝั่งไทย และบางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว
            เมื่อเกิดสงครามเวียดนาม และสงครามในกัมพูชา ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๔ ก็ได้มีการอพยพชาวกัมพูชาเข้ามาในฝั่งไทยอยู่เนือง ๆ แม้กระทั่งเมื่อสงครามสงบแล้ว ก็ยังมีการอพยพเข้ามาอยู่เสมอ ในบริเวณชายแดน
            ชาวญวน  มีกลุ่มชาวญวนอพยพเข้ามาอยู่ที่อำเภออรัญประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง และในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๓ เมื่อเวียดนามใต้ใกล้พ่ายแพ้เวียดนามเหนือในสงครามเวียดนาม ได้มีชาวญวนเดินทางบกผ่านกัมพูชาเข้ามาทางชายแดนด้านจังหวัดสระแก้ว
            ชาวจีน  ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๓ - ๒๓๘๓ โดยเดินทางมาโดยเรือสำเภา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๓ - ๒๔๑๙ ได้เดินทางมาไทยโดยเรือกลไฟ
            จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ พบว่ามีชาวจีนมาอยู่ตามมณฑลต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งที่อยู่ในมณฑลปราจีนบุรี ซึ่งรวมถึงจังหวัดสระแก้วด้วย มีชาวจีนอยู่ประมาณ ๓๖,๐๐๐ คน
            ชาวย้อ  มีถิ่นเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา หรือยูนนาน ในประเทศจีนปัจจุบัน แล้วได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในแขวงไชยบุรี ของประเทศลาวในปัจจุบัน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกชาวย้อได้ถูกเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ กวาดต้อนไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน หลังจากนั้นได้ถูกกองทัพไทยกวาดต้อนมาที่เมืองท่าอุเทน แล้วอพยพไปอยู่ที่เมืองกาฬสินธ์ มหาสารคาม อุดรธานี สกลนคร และสระแก้ว ในเขตอำเภอเมือง ฯ
            ชาวกลาหรือเงี้ยว  มีถิ่นเดิมอยู่ในรัฐฉาน (ไทยใหญ่) ในประเทศพม่า ชาวไทยใหญ่เรียก ชาวกลา หรือเงี้ยวว่า ตองซู่ ชอบเดินทางมาค้าขาย ในหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ และอำเภอเมือง ฯ

| หน้าต่อไป | บน |