| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            ปราสาทช่องสระแจง  อยู่ในอำเภอตาพระยา ตั้งอยู่บนยอดของทิวเขาบรรทัด และใกล้หน้าผาที่เชิงเขาบรรทัด มีสระน้ำใหญ่รูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นสระน้ำโบราณ
            ตัวปราสาทสร้างด้วยหินทราย และศิลาแลง มีประตูทางเข้าสองด้าน ด้านหลังมีสระน้ำและร่องรอยการตัดหิน โบราณสถานอยู่ในสภาพหักพังมาก คงเหลือส่วนประกอบของอาคารทำด้วยหินทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป กำหนดอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗
            กรมศิลปากร เคยพบศิลาจารึกภาษสันสฤกต อักษรขอมที่ปราสาทแห่งนี้มีความว่า "พระราชาองค์ใด พระนามว่า มเหนทรวรมะ ปรากฎเหมือนพระศิวะ พระราชาองค์นั้นเป็นผู้กระทำทำความสุข เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสร้างบ่อน้ำนี้ไว้สำหรับอาบ จารึกนี้มีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ.๑๑๔๓ - ๑๑๕๘

            ปราสาทบ้านน้อย  อยู่ในอำเภอวัฒนานคร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ฐานก่อด้วยศิลาแลง ผนังก่อด้วยอิฐ ผนังสูงประมาณ ๑ เมตร ด้านตะวันออกของปราสาท เฉียงมาทางใต้เล็กน้อย เป็นที่ตั้งของบรรณาลัย หรือห้องสมุด ก่อด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง ตัวปราสาทเป็นกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในเป็นกำแพงศิลาแลง ก่อล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงดินก่อล้อมอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในระหว่างกำแพงทั้งสองชั้นตรงมุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ผนังบางแห่งกรุด้วยศิลาแลงทำเป็นชั้น ๆ ลึกประมาณ ๒.๕๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า บ่อแล้ง เพราะน้ำขังไม่อยู่
            นอกกำแพงชั้นนอก ไปทางทิศตะวันออก มีสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๘๐ เมตร
            รูปแบบอาคารสอดคล้องกับผังอาคารที่เรียกว่า อโรคยศาล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสุขศาลา ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบทับหลังทำด้วยหินทราย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และเครื่องประกอบราชยานคานหามสมัยบายน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘

            ปราสาทสด๊กก๊อกธม หรือปราสาทเมืองพร้าว  อยู่ในกิ่งอำเภอโคกสูง ตั้งอยู่กลางป่าตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ชื่อปราสาทนี้แปลว่า ปราสาทใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นรกรุงรัง เป็นปราสาทที่ก่อด้วยหิน และศิลาแลง กว้าง ๑๒๐ เมตร ยาว ๑๒๗ เมตร มีทางเข้าสองทางคือ โคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ตัวซุ้มประตูสร้างด้วยหินทราย ประตูกลางผ่านเข้าไปได้ ทางเข้าอีกด้านหนึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ทางเข้าเป็นทางเล็ก ๆ พอตัวผ่านเข้าไปได้ ส่วนประตูด้านข้างอีกสองประตูเป็นประตูหลอก ถัดเข้าไปเป็นคูน้ำรูปตัวยู ในอักษรอังกฤษล้อมตัวปราสาท เว้นเส้นทางเข้าออกทางด้านทิศตะวันออก และตะวันตกไว้สองด้าน ตัวคูกว้างประมาณ ๑๒๐ เมตร
            ถัดเข้าไปเป็นระเบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท กว้างประมาณ ๓๖ เมตร ยาวประมาณ ๔๒ เมตร มีโคปุระอยู่กึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ทิศ ซุ้มประตูทางทิศตะวันออก สามารถผ่านเข้าออกได้ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นหน้าต่างหลอกไว้สองข้าง ภายในซุ้มทำช่องทางเดินเข้าไปภายใน แต่เดินทะลุเข้าไปที่แนวระเบียงคดไม่ได้ เพราะก่อหินปิดกั้นไว้ทั้งสองด้าน ประตูกลางเป็นประตูขนาดใหญ่ ส่วนประตูด้านข้างอีกสองด้านเป็นประตูขนาดเล็ก ที่มุมทั้งสี่ของระเบียงคด ยังมีทางเข้าออกเห็นได้ชัดเจน
            บริเวณภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งปราสาทประธานอยู่บริเวณกลางพื้นที่ มีประตูเข้าภายในเพียงทางเดียว ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านในทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ คงสภาพให้เห็นบริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ด้านหน้าปราสาทประธาน ที่มุมระเบียงคดเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมีสองหลัง มีประตูเข้าอยู่ทางทิศตะวันตก บริเวณซุ้มประตูระเบียงคดมีทางเดินปูด้วยศิลาแลง ผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้ว มุ่งหน้าสู่บารายหรือสระน้ำทางทิศตะวันออก
            ข้างทางเดินด้านทิศเหนือนอกจากกำแพงแก้ว มีร่องรอยสระน้ำขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร
            บารายแห่งแรกอยู่ห่างจากกำแพงแก้ว ที่ล้อมรอบตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ ๑๗๐ เมตร ตัวบารายและคันดินที่ล้อมรอบมีขนาดกว้างประมาณ ๒๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๔๐ เมตร
            บารายแห่งที่สองห่างจากกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ เป็นระยะทางประมาณ ๑๒๐ เมตร มีสะลมซึ่งเป็นแนวคันดินคล้ายฝายกั้นน้ำ ยังไม่ทราบขอบเขตรูปร่างที่แน่ชัด
            ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีการค้นพบจารึกซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาลำดับ
กษัตริย์ราชวงศ์เขมรอย่างมาก แม้ในดินแดนเขมรเองก็ยังไม่เคยมีการพบจารึกลักษณะนี้
            ได้พบจารึกชื่อจารึกสต๊กก๊อกธม สองหลักคือ หลักที่ ๑ พบเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑  ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.๑๔๘๐ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (ศิลปะแแบเกาะแกร์)  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถวายทาสชายหญิงดูแลรักษาศิวลึงค์ จารึกหลักที่ ๒ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.๑๕๙๕ กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ พระราชทานที่ดินและคนเพื่อสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประวัติการตั้งลัทธิเทวราชและประวัติการสืบสายตระกูลพราหมณ์
ในราชสำนักเขมรที่มีความสัมพันธ์กับลำดับการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์เขมร
            จารึกหลักแรกระบุว่าพบที่ตำบลโคกสูง ส่วนหลักที่สองระบุว่าพบที่ปราสาทเมืองพร้าวอันเป็นชื่อเดิมของปราสาทแห่งนี้

            ปราสาทเขาโล้น  ตั้งอยู่บนยอดเขาโล้น อำเภอตาพระยา ห่างตัวอำเภอไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๖๘ (ตาพระยา - บุรีรัมย์)
ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นปราสาทแบบเขมร มีปราสาทบริวารประกอบอยู่ที่ด้านหน้าสองหลัง ด้านหลังหนึ่งหลัง ปราสาททั้งหมด
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
            ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะของปราสาทอยู่ในผังย่อเก็จ ก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมเรียกว่าครรภคฤหะ สำหรับประดิษฐานรูปเคารพซึ่งอาจเป็นรูปศิวลึงค์ เพราะพบว่ามีการทำทับหลังเหนือประตูเป็นรูปใบไม้ม้วน ตรงกลางมีพระศิวะประทับเหนือเกียรติมุข เหนือจากส่วนครรภคฤหะขึ้นไป มีการจำลองลักษณะห้องสี่เหลี่ยมให้มีขนาดเล็กลง และซ้อนลดหลั่นขึ้นไป มีประตูหลอกทีด้านทั้งสี่เลียนแบบประตูหลอกของส่วนครรภคฤหะ
            จากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระใหญ่อยู่สองแห่ง และมีแนวถนนโบราณติดต่อจากตัวปราสาทถึงสระน้ำรอบภูเขาโล้นลูกนี้ จะมีลักษณะเป็นหมู่บ้านมาแต่เดิม
            ปราสาทเขาโล้นมีวงกบประตูหินทราย มีจารึกอักษรโบราณที่เสากรอบวงกบประตูมีลายบัวคว่ำบัวหงาย ทับหลังมีลวดลายใบไม้ล้อมรอบ ตรงกลางมีเกียรติมุขและพระอิศวร ตามแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน จากลักษณะของทับหลังและชิ้นส่วนโบราณสถานที่พบ ปราสาทเขาโล้นน่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
            จากการที่กรอบประตูปราสาทมีจารึกภาษาสันสกฤตระบุศักราช ๙๓๘ ตรงกับ พ.ศ.๑๕๕๙ ทำให้กำหนดอายุของปราสาทหลังนี้ว่าอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖

            ปราสาทตาใบ  ตั้งอยู่ในตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง ประกอบด้วยปราสาทหนึ่งหลัง ก่อด้วยศิลาแลงเพียงส่วนฐานและบางส่วนของผนังอาคาร มีคูน้ำล้อมรอบ
            พบประติมากรรมรูปบุคคลยืน สูง ๕๐ เซนติเมตร มีสองมือ มือข้างหนึ่งถือดอกบัวยกขึ้นระดับอก อาจเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นอกจากนี้ยังพบหินทราย ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนของทับหลังและธรณีประตู
            สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

            ปราสาททัพเซียม  ตั้งอยู่ในตำบลหนองแวง กิ่งอำเภอโคกสูง เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
รอบปราสาทมีมูลดินทับถมตัวปราสาทเป็นเนินสูง มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ
            ที่ปราสาทพบศิลาจารึกสองหลัก เป็นจารึกเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มีการกล่าวถึงศิวลึงค์ และพระศิวะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
            ศิลาจารึกหลักแรกอยู่ที่หลืบประตูด้านทิศเหนือของปราสาทองค์กลาง จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร กล่าวถึงผู้รับใช้ และทรัพย์สมบัติที่ถวายแด่ศิวลึงค์ และกล่าวถึงดินแดนบิงขลาแห่งจวารโบ ทั้งแปดทิศติดต่อกับหลักเขต
            ศิลาจารึกหลักที่สองอยู่ที่หลืบประตูด้านทิศใต้ของปราสาทองค์กลาง จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาสันสกฤต แต่งเป็นฉันท์คือ อุเปนทรวิเชียรฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ และอุปชาติฉันท์ เป็นเรื่องการสรรเสริญพระเจ้าศรีสุริยวรมัน พระราชประวัติบางส่วนของพระองค์และพระเทวี รวมทั้งการประดิษฐานศิวลึงค์บนภูเขาใหญ่

            ปราสาทพูนผลหรือปราสาทหนองเตาปืน  อยู่ในตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง ตั้งอยู่กลางทุ่งนา เหลืออยู่เพียงรากฐานของปราสาทแบบเขมร ก่อด้วยศิลาแลง ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวในแนวตะวันออก - ตะวันตก
            ห่างจากตัวปราสาทไปยังทิศตะวันออกประมาณ ๑๕๐ เมตร มีบารายขนาดใหญ่มีคันดินล้อมรอบ พบทับหลังและเครื่องยอดของปราสาท สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
            ปราสาทหนองบอน  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวัฒนานคร ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ ๕ กิโลเมตร อยู่บนเนินดินขนาดเล็กในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก ประกอบด้วย ปราสาทประธาน กำแพงแก้วและบาราย
            ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง  สร้างอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ภายในมีรูปเคารพ ประตูเข้าอยู่ด้านทิศตะวันออกโดยก่อเป็นมุขยื่นออกมา ประตูที่เหลืออีกสามด้าน สร้างเป็นประตูหลอก
            กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง  อาจมีซุ้มประตูที่ด้านตะวันออก นอกกำแพงแก้วมีบารายขนาดเล็กและใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่า เป็นอโรคยาศาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

            ปราสาทหนองผักบุ้งใหญ่  ตั้งอยู่ที่บ้านน้อยละลมติม ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง เป็นปราสาทแบบเขมร เหลือเพียงส่วนฐาน ก่อด้วยศิลาแลง
            ทางทิศตะวันออกของตัวปราสาท กว้างออกไปประมาณ ๕๐ เมตร มีบารายขนาด ๑๐๐  ๑๔๐ เมตร ด้านเหนือของปราสาทมีคันดิน สันนิษฐานว่า เป็นถนนโบราณที่ทอดผ่านไปยังกัมพูชาปรากฎอยู่
            ปราสาทแห่งนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการแพร่กระจายของอารยธรรมเขมรโบราณ ในดินแดนของประเทศไทยปัจจุบัน มีอายุสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
แหล่งโบราณคดี

            แหล่งโบราณคดีเมืองไผ่  อยู่ที่บ้านเมืองไผ่ อำเภออรัญประเทศ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ที่มีคูเมืองกำแพงล้อมสองชั้น ผังเมืองเป็นรูปไข่ขนาด ๑,๐๐๐  ๑,๓๐๐ เมตร ตัวเมืองแบ่งเป็นสองส่วน คล้ายสองเมืองติดกัน มีห้วยไผ่ไหลผ่านกลาง
            หลักฐานที่พบเป็นเนินดินที่อยู่อาศัยและเนินดินโบราณสถานหลายแห่ง บางแห่งน่าจะเป็นปราสาทแบบเขมร เพราะพบแผ่นหินรูปอัฌจันทร์
            แหล่งโบราณคดี แห่งนี้มีหลักฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยทวารวดีตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ และเชื่อกันว่าเป็นเมืองหน้าด่าน และที่พักคนเดินทางระหว่างเมืองชายทะเลภาคกลางของไทย และเมืองเสียมราฐในกัมพูชา คนพื้นบ้านเล่ากันว่าชื่อเดิมคือ เมืองไพศาลี

            แหล่งโบราณคดีเขาฉกรรจ์  อยู่ที่บ้าเขาฉกรรจ์ ตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๗ (สระแก้ว - จันทบุรี) ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร
            เขาฉกรรจ์เป็นเขาหินปูน มีถ้ำอยู่ประมาณ ๓๒ แห่ง ลักษณะเป็นคูหา สามารถกันแดดกันฝนและกันภัยจากสัตวว์ร้ายได้ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนถึงสมัยทวารวดี หลักฐานที่พบเช่นลูกปัด แก้ว ลูกปัดดินเผา ขวานหิน เบ้าหลอมโลหะ และภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ลายเชือกทาบกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง ๆ เคลือบสีน้ำตาล แบบเครื่องถ้วยเขมร ซึ่งมีเทคนิคการผลิต และรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องถ้วยจีนในสมัยต่าง ๆ และจากอินเดีย
            สันนิษฐานว่า ชื่อเขาฉกรรจ์อาจกร่อนมาจากคำว่าเขาฉอกัณฑ์ ซึ่งมีที่มาจากชื่อพิธีฉอกัณฑ์ อันเป็นพิธีตัดไม้ข่มนาม ซึ่งเชื่อกันว่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๓๑๐) พระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมกำลังพลเพื่อกอบกู้เอกราชคืน ได้มาทำพิธีตัดไม้ข่มนาม ณ บริเวณนี้
            ถ้ำมะกา  อยู่ที่บ้านห้วยกระบอก ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง ฯ เป็นถ้ำที่อยู่บนภูเขาหินปูน มีความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตร เขามะกามีถ้ำอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญและสำรวจแล้วสามแห่งคือถ้ำมะกา ถ้ำพระพุทธและถ้ำม่าน ลักษณะของถ้ำเป็นโว่งคูหาสต่อเนื่องกันสองคูหา ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย จากการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจน ถึงสมัยประวัติศาสตร์ในสมัยวัฒนธรรมแบบเขมรในประเทศไทยได้แก่ กำไลสำริด แท่งหินทรายบดยา และไหเคลือบสีน้ำตาล
            หนองสระพระเนตร  อยู่ในตำบลท่าเกษม อำเภอเมือง ฯ ไม่มีประวัติกล่าวถึงไว้ คงเหลือแต่หลักฐานของโบราณสถานที่สร้างด้วยศาลาแลงและอิฐ ประกอบด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง ทางทิศตะวันออกมีโคปุระ ซึ่งเป็นประตูทางเข้าโบราณสถาน และมีแนวกำแพงแก้วล้อมราย
           ทางทิศเหนือมีสระน้ำขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นองค์ประกอบของกลุ่มโบราณสถาน ถัดจากตัวสระไปทางทิศใต้ ด้านนอกปราสาทมีคูน้ำล้อมรอบ ถัดเข้าไปเป็นกำแพงแก้วก่อด้วยศาลาแลง ถัดเข้าไปเป็นตัวปราสาทประธาน
            ในระยะห่างจากกลุ่มโบราณสถานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๐๐ เมตร มีบ่อตัดศิลาแลง สันนิษบานว่า เป็นแหล่งวัตถุดิบสมัยโบราณ ที่ใช้ศิลาแลงจากบ่อนี้ไปก่อสร้างศาสนสถาน
            เมื่อพิจารณาจากลักษณะการก่อสร้าง สันนิษฐานว่า เป็นรูปแบบปราสาทในศิลปะเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘
            แหล่งโบราณคดีเขาสมพุง อยู่ในตำบลหนองหว้า อำเภอเมือง ฯ เขาสมพุงเป็นเขาขนาดย่อม มีวัดเขาสมพุงตั้งอยู่ บนเขาสมพุงมีถ้ำอยู่สองแห่ง ถ้ำที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นถ้ำใหญ่ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก อยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ ๑๕ เมตร ปากถ้ำเป็นลานโล่ง ตัวถ้ำมีสองคูหา
            ห่างจากเขาสมพุงไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประเภทภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ
            สันนิษฐานว่า ถ้ำสมพุง น่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |