| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดสมุทรปราการ

            จังหวัดสมุทรปราการตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนปลายสุดของแม่น้ำเหนืออ่าวไทย  จึงเรียกว่า ปากน้ำ  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๒๗,๐๐๐ ไร่  อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือ ติดต่อกับกรุงเทพ ฯ เป็นระยะทางประมาณ ๕๕ กิโลเมตร
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา  ระยะทางประมาณ  ๔๓ กิโลเมตร
            ทิศใต้ ติดต่อกับอ่าวไทย  ระยะทางประมาณ  ๔๗ กิโลเมตร
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับกรุงเทพ ฯ ระยะทางประมาณ  ๓๔ กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
            พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ไม่มีภูเขา มีลำคลองอยู่เป็นจำนวนมาก  ไม่มีพื้นที่ป่าไม้  (ป่าบก)  คงมีแต่ป่าชายเลน  ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
                บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา   บริเวณทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบลุ่ม  แต่เดิมการเหมาะในการทำนา ทำสวน  และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และชุมนุมเมืองที่เกิดขึ้นใหม่
                บริเวณตอนใต้ติดชายทะเล  ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลท่วมถึง  ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ดินเค็มจัด ในฤดูแล้ง เป็นดินเลนเหลวเหมาะแก่การทำป่าจาก ป่าชายเลน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
                บริเวณที่ราบตอนเหนือและตะวันออก  เป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีความสำคัญต่อจังหวัดมาก มีประตูน้ำอำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทาน เหมาะแก่การทำนา และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ทรัพยากร

            เกษตรกรรม  มีการทำนาข้าว ทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรัง  สวนผลไม้บางชนิด ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว กล้วยน้ำว้า พุทราเจดีย์ และจาก
            สำหรับจาก จะมีอยู่มากในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์
            การประมง   มีอยู่สามประเภทคือ  การประมงน้ำจืด  การประมงน้ำกร่อย  การเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง และการประมงทะเล ก่อให้เกิดผลผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญจังหวัดหนึ่งของประเทศ  ก่อให้เกิดภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในด้านการแปรรูปอาหารหลายรูปแบบ เช่น โรงงานปลาป่น  โรงงานน้ำปลา โรงงานทำกะปิ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำให้เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป โรงงานห้องเย็น  รวมทั้งวานที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง คือ คานเรือและอู่ต่อเรือ
                ประมงน้ำจืด  ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  ผลผลิตสัตว์น้ำจืดได้ประมาณ ๕๔,๕๐๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๑,๔๗๐ ล้านบาท ผลผลิตสูงสุดคือ ปลาเบญจพรรณ เป็นปลากินพืชได้แก่ ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาไน  ปลานวลจันทร  ปลาจีน  และปลายี่สกเทศ เป็นต้น  เลี้ยงมากในเขตอำเภอบางพลี  กิ่งอำเภอบางเสาธง  อำเภอบางบ่อ อำเภอเมือง
                สำหรับปลาสลิด  จัดว่าเป็นปลาน้ำจืดที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดสมุทรปราการ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  มีพื้นที่เลี้ยงปลาประมาณ  ๙๖,๐๐๐ ไร่  ได้ปลาประมาณ  ๑๔,๕๐๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๔๕๐ ล้านบาท เลี้ยงมากในเขตอำเภอบางพลี  กิ่งอำเภอบางเสาธง  อำเภอบางบ่อ และอำเภอเมือง
                ปลาอีกชนิดหนึ่งคือ ปลาดุก  เริ่มทำการเลี้ยงเป็นเชิงธุรกิจ ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  มีพื้นที่เลี้ยงประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่  ได้ปลาประมาณ ๘,๒๐๐ ตัน มูลค่าประมาณ ๒๑๐ ล้านบาท  เลี้ยงมากในเขตอำเภอเมือง ฯ  และอำเภอบางบ่อ
                ประมงน้ำกร่อย  เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในเขตอำเภอเมือง ฯ  อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอบางบ่อ มีพื้นที่เป็นชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๔๗ กิโลเมตร  พื้นที่เป็นดินโคลนเหลวเกิดจากการตกตะกอนของน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา นำเอาแร่ธาตุอาหารที่สำคัญจากแหล่งน้ำในแม่น้ำตอนบน มาตกตะกอนบริเวณปากน้ำ นอกจากนั้นบริเวณปากแม่น้ำยังมีบริเวณที่น้ำจืด ไหลมาบรรจบกับน้ำเค็มกลายเป็นน้ำกร่อย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร เป็นอย่างมาก เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์น้ำชายฝั่งหลายชนิด เช่น กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ หอยแครง ปลากะพง ปูทะเล  หอยแมงภู่ และหอยหลอด
                    การทำนากุ้ง  (กุ้งแชบ๊วย)  เป็นการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาตุ โดยปล่อยให้น้ำทะเลที่มีลูกกุ้งเข้ามาในนา แล้วปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ใช้เวลาเลี้ยง ๑-๓ เดือน  นิยมเลี้ยงกันในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์  มีพื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ ๓๐,๕๐๐ ไร่   ให้ผลผลิตประมาณ ๔,๖๐๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๘๔๐ ล้านบาท รองลงมาอยู่ในเขตอำเภอบางบ่อ และอำเภอเมือง ฯ
                    การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ  มีผู้เลี้ยงในเขตอำเภอบางบ่อ มีพื้นที่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่  ได้ผลผลิตประมาณ ๑๖๐ ตัน เป็นมูลค่าประมาณ ๓๐ ล้านบาท  ทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมของนากุ้งเสื่อมสภาพลง
                    การเลี้ยงปลากะพงขาว   ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  มีพื้นที่การเลี้ยงประมาณ ๑,๖๐๐ ไร่  ได้ผลผลิตประมาณ ๑๖๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๑๖ ล้านบาท  มีเลี้ยงมากในเขตอำเภอบางบ่อ  รองลงมาในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์  และอำเภอเมือง
                    ปูทะเล   มีเลี้ยงในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ในพื้นที่ประมาณ ๑๕๐ ไร่   ผลผลิตประมาณ ๑๔ ตัน  มูลค่าประมาณ ๓ ล้านบาท
                    หอยแมลงภู่   ปัจจุบันทางราชการได้ประกาศที่อนุญาตเลี้ยงหอยเพียงอำเภอเดียวคือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๗๐๐ ไร่  ได้ผลผลิตประมาณ ๓๘,๘๐๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๓๑๐ ล้านบาท

                ประมงน้ำเค็ม  (ประมงทะเล)  มีเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ออกไปจับสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย ผลผลิตสัตว์ทะเลที่จับจากอ่าวไทย และต่างประเทศประมาณ ๕๐๒,๐๐๐ ตัน  เป็นมูลค่าประมาณ ๗,๒๐๐ ล้านบาท ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง  ปลาเบญจพรรณ  ปลาเป็ด กุ้ง เคย ปู หอย ปลาหมึก  และสัตว์น้ำอื่น ๆ  มีหน่วยงานของรัฐอำนวยประโยชน์ต่อการทำประมงทะเล ได้แก่ กองประมงนอกน่านน้ำ กรมประมง เป็นผู้ให้ข้อมูลทางวิชาการ หรือผลการสำรวจแหล่งประมงทะเล
                จังหวัดสมุทรปราการ มีสำนักงานประมงจังหวัด  และมีโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง เป็นโรงงานปลากระป๋อง โรงงานทำกุ้งแห้ง โรงงานทำน้ำแข็ง อู่ต่อเรือ  คานเรือ โรงงานน้ำปลา โรงงานทำกะปิ และโรงงานทำปลาป่น
สภาพแวดล้อม
            การคมนาคมขนส่ง   มีการคมนาคมสะดวกทั้งทางบก และทางน้ำ และกำลังจะเปิดท่าอากาศยานสากล แห่งที่สองในพื้นที่หนองงูเห่า
                การคมนาคมทางบก  มีถนนสายต่าง ๆ ผ่านไปสู่จังหวัดใกล้เคียง ที่สำคัญได้แก่ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) ถนนบางนา - ตราด (ทางหลวงหมาลเลข ๓๔) ถนนเทพารักษ์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๒๖๘) ถนนปู่เจ้าสมิงพราย (ทางหลวงหมายเลข ๓๑๑๓) ถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๐๓)

                การคมนาคมทางน้ำ   มีที่ทำการกองบริการฝ่ายการนำร่อง การท่าเรือแห่งประเทสไทย  มีประภาคารขนาดใหญ่ชื่อ สกุณา ทำหน้าที่บริการด้านการนำร่องที่ปากอ่าว มีด่านศุลกากร การปฎิบัติคู่เคียงกับตำรวจน้ำ มีแพขนานยนต์ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือยนต์สำหรับลากเรือโยง  เส้นทางน้ำที่สำคัญมีดังนี้
                    แม่น้ำเจ้าพระยา  ไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลท้ายบ้าน  อำเภอเมือง ฯ และตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีเรือเดินสมุทรแล่นผ่าน เพื่อขนถ่ายสินค้าเข้า - ออก ทั้งในและนอกประเทศ
                    คลองสำโรง  ขุดตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กองทัพจากกรุงศรอยุธยายกไปตีเมืองเขมร  ก็ได้ใช้เส้นทางคลองสำโรงนี้ มีการขุดลอกคลองสำโรงหลายครั้ง เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๔๑) ในรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชา (พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙)
                    คลองสำโรงแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดสำโรงเหนือ ตำบลสำโรงใต้  อำเภอพระประแดง ไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอเมือง ฯ ในตำบลสำโรงเหนือ และตำบลกลางเมือง อำเภอบางพลี และอำเภอบางบ่อ ไปบรรจบแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  เป็นคลองสายหลักที่มีคลองแยกออกไปอีกหลายคลอง
                    คลองสรรพสามิต   กรมสรรพสามิตขุดขึ้นเพื่อลำเลียงเกลือ ที่กรมสรรพสามิตได้ออกกฎหมายไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑  เป็นพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินเพื่อการทำเกลือ ขุดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒  ใช้เรือขุดของกรมชลประทานมาขุดสองลำ เริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า  ผ่านตำบลนาเกลือ คลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ ฯ ไปออกคลองขุนราชพินิจใจ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นคลองสายหลักทางฝั่งตะวันตกของจังหวัด
                    คลองด่าน  แยกจากคลองสำโรงตรงหน้าที่ว่าการอำเภอบางบ่อ ไหลผ่านตำบลบางเพรียง ตำบลคลองด่าน ประตูน้ำชลหารพิจิตร (ประตูน้ำคลองด่าน)  แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย
                    คลองพระองค์เจ้าไชนุชิต  เป็นคลองชลประทานที่ขุดต่อระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ กับคลองสำโรง ที่อำเภอบางบ่อ ผ่านตำบลเปร็ว และตำบลบางบ่อ
                    คลองจระเข้   แยกจากคลองสำโรงขึ้นทางเหนือ
                    คลองบางน้ำจืด  แยกจากคลองบางโฉลง และเชื่อมโยงกับคลองสำโรง
                    คลองบางโฉลง  มีปากคลองเชื่อมโยงกับสำโรง ถึงสามคลองด้วยกัน
                    คลองบางปลา  ขุดแยกจากคลองสำโรง เยื้องกับคลองบางโฉลง ผ่านบ้านบางปลาไปยังตาเจี่ย จรดคลองโครงการชลประทานคลองด่าน ที่ริมถนนสุขุมวิทฝั่งน้ำจืด
                    คลองบางปลาร้า   แยกจากคลองสำโรงที่เขตติดต่อ ตำบลบางพลีใหญ่ กับตำบลบางปลา ทำหน้าที่ระบายน้ำจากคลองสำโรง ออกสู่ทะเลที่ตำบลบางปู
                    คลองบางปิ้ง   แยกจากคลองสำโรงในเขตพื้นที่ติดต่อบางเมือง ปัจจุบันใช้ระบายน้ำออกสู่ทะเล
                    คลองบางพลี   ปากคลองติดต่อกับคลองสำโรง ที่ตลาดบางพลี ปลายคลองขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ มีคลองมาบรรจบหลายคลอง
                    คลองบางปลากด   แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดแค ผ่านบ้านคุ้งบางปิ้ง คุ้งสามเรือน บ้านคลองคุ บ้านคลองนาเกลือน้อย  บ้านคลองกะออม บ้านปากคลองนาเกลือน้อย บ้านคลองนาเกลือ บ้านคลองลัด จนถึงบ้านสาขลา ออกสู่ทะเล
                    คลองลัดโพธิ  ขุดขึ้นเป็นคลองลัด ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยอยุธยา โดยขุดที่บริเวณคอคอดทั้งสองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอพระประแดง  เดิมกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑,๐๐๐ เมตร  ปากคลองอยู่ในตำบลทรงคะนอง  ปลายคลองอยู่ในตำบลบางยอ
                    คลองลัดหลวง   ขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นคลองลัดบริเวณด้านหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์  ยาว ๕๐ เส้น กว้าง ๖ วา ลึก ๕ ศอก   คลองนี้ช่วยลดระยะทางลงได้ถึง ๑๐ กิโลเมตร

                ท่าเทียบเรือที่สำคัญ  มีอยู่ ๘ ท่าด้วยกันคือ
                    ท่าเรือวิบูลย์ศรี  อยู่ในตำบลปากน้ำ  อำเภอเมือง ฯ เป็นท่าเรือข้ามฟากจากตลาดปากน้ำ ไปยังฝั่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ โดยขับเรือวนอ้อมด้านเหนือ หรือด้านใต้ป้อมผีเสื้อสมุทร
                    ท่าเรือพระประแดง  อยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง  เป็นท่าเรือข้ามฟากจากตลาดพระประแดง ไปยังท่าหิน ถนนปู่เจ้าสมิงพราย  ใกล้วัดแหลม
                    ท่าเรือคลองด่าน  อยู่ในตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ เป็นท่าเรือประมง
                    ท่าสะพานปลา  อยู่ในตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง ฯ  เป็นท่าเรือประมง
                    ท่าเรือข้ามฟากนาวาสมุทร (แพขนานยนต์)  ใช้บรรทุกรถยนต์ข้ามฟาก จากบริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง มายังท่าหิน ถนนปูเจ้าสมิงพราย
                    ท่าเรือเสือซ่อนเล็บ  อยู่ในโรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง ฯ ใช้จอดเรือรบหลวง
                    ท่าเรือด่านศุลกากร  ใช้เทียบเรือศุลกากร และเป็นที่พักเรือยนต์ ลางจูงเรือโยง
                    ท่าเรือกองกำกับการตำรวจน้ำ  เป็นท่าเรือเฉพาะของกองกำกับการตำรวจน้ำ
                การคมนาคมทางอากาศ  ท่าอากาศยานสากล กรุงเทพ ฯ แห่งที่สอง หรือสนามบินหนองงูเห่า อยู่ที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชเทวะ และตำบลหนองปรือ  อำเภอบางพลี  มีพื้นที่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ไร่  เริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓  ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ ฯ แห่งใหม่จำกัด  เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ตั้งเมื่อ ๒๗ ก.พ.๓๙  ต่อมาได้มีการโอนจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)  มารับผิดชอบตั้งแต่ ๑๑ เม.ย.๓๙  กำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการในระยะแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๗  มีสองทางวิ่ง รองรับผู้โดยสารได้ ๓๐ ล้านคนต่อปี  วงเงินลงทุน ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท   ในอนาคตจะขยายให้รองรับผู้โดยสารได้ ๑๐๐ ล้านคนต่อปี
            อุตสาหกรรม  มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเมือง ฯ และอำเภอพระประแดง มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่สองแห่งคือ ดำเนินการโดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน เพื่อจัดโรงงานอุตสหกรรมไว้ในพื้นที่เดียวกัน
                นิคมอุตสาหกรรมบางพลี   อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีพื้นที่ ๔,๐๐๐ ไร่  เป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ๓,๔๐๐ ไร่ อุตสาหกรรมส่งออก ๒๗๐ ไร่  เขตพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย ๒๕๐ ไร่  มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำสัญญา ๓๐๙ โรง
            อุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญคือ  อาหารแปรรูป สิ่งทอ ชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิคส์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก เครื่อง - อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ และประกอบยนต์ ฯลฯ
ประชากร
            มีประชากรเป็นอันดับสองของภาค รองจากกรุงเทพ ฯ  มีประชากรย้ายถิ่นจากที่อื่นเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.๒๕๔๑  มีประชากรอยู่ประมาณ ๑ ล้านคน
การปกครอง
            แบ่งเขตการปกครองออกเป็นห้าอำเภอ กับหนึ่งกิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ  อำเภอพระประแดง อำเภอบางพลี อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และกิ่งอำเภอบางเสาธง มี ๕๐ ตำบล  ๔๖๒ หมู่บ้าน
            ทำเนียบผู้รักษาเมือง และผู้ว่าราชการจังหวัดพระประแดง  ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๕๘-๒๔๗๔
                ๑.  พระยานครเขื่อนขันธ์ รามัญราชชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม  (ทอมา คชเสนี)
                ๒.  พระยาดำรงราชพลขันธ์   (จุ้ย  คชเสนี)
                ๓.  พระยาดำรงราชพลขันธ์   (นกแก้ว   คชเสนี)
                ๔.  พระยาขยันสงคราม   (เจ๊ก  คชเสนี)
                ๕.  พระยาเกียรติ  (นกขุนทอง  คชเสนี)
                ๖.   พระยาดำรงราชพลขันธ์   (หยอด  คชเสนี)
                ๗.  พระยาเทพผล  (ทองคำ)
                ๘.  พระยาพินิจมนตรี   (ปุย  คชเสนี)
                ๙.  พระยานาคราชกำแหง  (แจ้ง  คชเสนี)
                ๑๐.  พระยาพายัพพิริยกิจ   (เป้า  คชเสนี)
                ๑๑.  พระประแดงบุรี   (โต)
                ๑๒.  พระยาพิชัยบุรินทรา  (สะอาด)
           ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
                ๑. พระยาอรรถราชนาถมนตรี    (พ.ศ.๒๔๑๐ - ๒๔๓๐)
                ๒. พระยาสมุทรบุรารักษ์    (พ.ศ.๒๔๓๒ - ๒๔๓๙)
                ๓. พระยามหาบุรีรมย์    (พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๔๕๐)
                ๔. พระยาพิพิธมนตรี    (พ.ศ.๒๔๕๐ - ๒๔๕๔)
                ๕. พระยาชัยวิชิตวิศิษญธรรมธาดา    (พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๕๘)
                ๖.  พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ    (พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๖๘)
                ๗. นายพันตำรวจเอก พระยาทรงพลภาพ    (พ.ศ.๒๔๕๘ - ๒๔๗๒)
                ๘. พระยากัลยาวัฒนวิศิษฐ    (พ.ศ.๒๔๗๒ - ๒๔๗๔)
                ๙. พระยาชาติตระการ    (พ.ศ.๒๔๗๔ - ๒๔๗๖)
                ๑๐. นายร้อยเอก หลวงวุฒิราษฎร์รักษา    (พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๔๗๘)
                ๑๑. หลวงจรูญประสาสน์    (พ.ศ.๒๔๗๘ - ๒๔๘๑)
                ๑๒. นายนาวาโท พระประยุทธเสนีย์    (พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๒)
                ๑๓. ขุนบุรีภิรมยกิจ    (พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๕)
                ๑๔. นายปรุง  พหูชนม์    (พ.ศ.๒๔๘๘ - ๒๔๙๐)
                ๑๕. พระบรรณศาสน์สาธร    (พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๑)
                ๑๖. นายลิขิต  สัตยายุทธ์    (พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๔๙๓)
                ๑๗. หลวงอรรถวิภัชน์พจนกร    (พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๔๙๔)
                ๑๘. ขุนธรรมรัฐธุราธร    (พ.ศ.๒๔๙๔ - ๒๔๙๕)
                ๑๙. นายเกียรติ ธนะกุล                     (พ.ศ.๒๔๙๕ - ๒๔๙๖)
                ๒๐. นายสุทิน  วิวัฒน์    (พ.ศ.๒๔๙๖ - ๒๔๙๗)
                ๒๑. พันตำรวจโท นายราชภักดี    (พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๕๐๐)
| บน | หน้าต่อไป |