| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    หัตถกรรมช่างฝีมือ

               เรือหางยาวหัวตัดทรงกระบะลากกล้า    ได้พัฒนามาตามลำดับจากเรือขะล่า ต่อมาไม่มีโกลน จึงได้ต่อเป็นกระบะลากกล้าด้วยไม้กระดานธรรมดา  แล้วจึงได้พัฒนามาจากกระบะลากกล้า มาใช้ประโยชน์ในการขนส่งทางน้ำ โดยติดตั้งทำเป็นเรือหางยาว โดยมีการปรับขอบเรือให้สูงขึ้น
               แต่งเรือโกลนให้เป็นเรือแจว เรือมาด เรือชะล่า และเรือแข่ง   เรือโกลนทำจากซุงไม้ตะเคียนเนื้อแข็ง มีความทนทานมาก การแต่งเรือโกลนในขั้นต้นเรียกว่า เบิกเรือ  ให้ได้รูปเป็นเรือมาด หรือเรือแจว ถ้าเป็นเรือใหม่ ๆ ไม่ต้องมีกงเรือ แต่ถ้าเก่าแล้ว ต้องใส่กงเพื่อให้แข็งแรงขึ้น
               การต่อเรือแจวหรือเรือบรรทุกข้าว   เรือพวกนี้ต้องมีกงเรือ ขนาดลำเรือใหญ่และจุของในการขนส่งทางน้ำได้มาก ใช้ไม้ต่อเรือที่เป็นแผ่นยาวและหนา  ฝีมือการต่อเรือเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเรือแจวชนิดต่อที่สวยมาก

           ศิลปกรรม   ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จะปรากฎอยู่ในสิ่งที่เป็นศาสนสถาน และศาสนวัตถุ เช่น เจดีย์ทรงเครื่อง และอุโบสถวัดพิชัยสงคราม  เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง  วัดในสองวิหาร พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย วัดชัยมงคล  อุโบสถวัดด่านสำโรง เจดีย์หมู่ ๑๓ องค์  วัดอโศการาม  พระมหารามัญเจดีย์  พระอุโบสถ และพระวิหาร วัดทรงธรรม เจดีย์ทรงมอญ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และเรือสำเภา  วัดกลาง พระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑปยอดเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ  วัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอุโบสถ พระวิหาร วัดไพชยนต์พลเสพย์ อุโบสถเก่าวัดป่าเกด  จิตรกรรมบนบานหน้าต่างอุโบสถ วัดบางน้ำผึ้ง  พระปรางค์วัดสาขลา  พระสมุทรเจดีย์ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่
   วัฒนธรรม อาหารการกิน
               ขนมจากปากน้ำ   เป็นการพัฒนาพืชผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และมีการสืบต่อกันมาจนเป็นที่รู้จักกันดี เป็นขนมที่มีรสหวานมันอร่อย  หอมกลิ่นย่างของใบจาก
               ขนมกง  นิยมทำในเทศกาลและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีทั้งโปรตีนจากถั่วเขียว คารโบไฮเดรท จากแป้งข้าวเจ้า และน้ำตาล ไขมันจากกะทิ
               ปลาสลิด  เมื่อทำเป็นปลาสลิดเค็ม จะมีกลิ่นและรสพิเศษกว่าปลาอื่น  แบ่งออกเป็นสามชนิดคือ ปลาจืด ปลาน้ำแข็ง หรือปลาเค็ม และปลาเกลือ

               กุ้งเหยียด   คือ กุ้งเค็ม เมื่อนำกุ้งไปต้มแล้ว กุ้งจะเหยียดตัวตรงน่าบริโภค เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีชื่อเสียงเป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตา
   วัฒนธรรมด้านนันทนาการ
               สถานพักฟื้นกองทัพบก และสถานตากอากาศบางป   เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๑  จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจราชการที่สัตหีบ  และได้ผ่านบางปู  เห็นว่าเป็นสถานที่มีอากาศชายทะเลสดชื่น อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพ ฯ นัก เหมาะที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  จึงได้ดำเนินการจัดทำเป็นสถานที่ตากอากาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒  ณ พื้นที่ติดชายทะเล บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๓๗  บนถนนสุขุมวิท  สะพานสุขตา - ศาลาสุขใจ   เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่นั้นมา มีลักษณะเป็นเรือนปู มีก้ามทั้งสองข้าง ปลายก้ามปูมีสะพานให้ชมวิวทะเล โดยไม่มีสิ่งกีดขวางสายตา
            ผู้ที่ไปเที่ยวชม จะได้ชมวิวทะเล ป่าชายเลน และฝูงนกนางนวล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์
บุคคลสำคัญ
   บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์

               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันอริราชศัตรูที่จะลุกล้ำ มาทางทะเลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่เดิมมีเมืองสมุทรปราการ และเมืองพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านมาแต่สมัยอยุธยา แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม  ทรงมีพระราชดำริให้บูรณเมืองพระประแดง ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ระหว่างเมืองสมุทรปราการ และกรุงเทพ ฯ  พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างป้อมสำหรับป้องกันการรุกรานทางทะเลเพิ่มขึ้น  แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สำรวจพื้นที่ปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ กับให้สร้างป้อมขึ้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อป้อมวิทยาคม

               พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ขึ้นที่ปากลัด พร้อมกับสร้างป้อมปีศาจผีสิง  ป้อมราหู และป้อมศัตรูพินาศ  แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อพยพครอบครัวชาวมอญ จากเมืองปทุมธานีมาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์  จากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างป้อมผีเสื้อสมุทร  ป้อมประโคนชัย  ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ และสร้างป้อมเพชรหึง ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์  และได้ทรงวางรากฐานในการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ในรัชกาลต่อมา

               พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสมุทรเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐  เพื่อเป็นการสนองพระราชประสงค์  ของสมเด็จพระชนกนาถ เป็นองค์พระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมไม้สิบสอง สูง ๑๓ วา ๓ ศอกเศษ

               พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสมุทรปราการ เพื่อนมัสการพระสมุทรเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓  พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า องค์พระสมุทรเจดีย์ รูปทรงต่ำเตี้ย ไม่สง่างาม ควรได้สร้างให้สูงใหญ่ขึ้นไปอีก เวลาเรือของชาวต่างประเทศเข้ามาจะได้มองเห็นแต่ไกล
                หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงให้ช่างไปถ่ายรูปพระเจดีย์ลอมฟางที่พระนครศรีอยุธยา  แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการสร้างองค์พระเจดีย์ทรงลอมฟาง ล้อมพระเจดีย์องค์เดิมไว้ มีความสูง ๑๙ วาเศษ  กับได้สร้างพระวิหาร หอระฆัง หนึ่งคู่ หอเทียนหนึ่งคู่
                ต่อจากนั้น พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังสมุทรปราการ  และท้องพระโรงขึ้นที่ฝั่งตัวเมือง สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศล  ข้างพระราชวัง ทางด้านใต้มีสะพานท่าน้ำสำหรับเสด็จขึ้น - ลงเรือ พระที่นั่งตามปกติ ส่วนทางด้านเหนือมีสะพานสำหรับเสด็จประทับเรือพระที่นั่งเป็นทางการ
                พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระสมุทรเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓  และในปี พ.ศ.๒๔๐๔  พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชพิธียกยอดพระสมุทรเจดีย์ แล้วทรงห่มผ้าแดง

               พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ นาย ที เอ กอทเช  ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บังคับป้อมผีเสื้อสมุทร และทรงอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง การเดินรถไฟสายปากน้ำ เดินรถไฟระหว่างกรุงเทพ ฯ กับสมุทรปราการ  เป็นระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖  นับว่าเป็นทางรถไฟสายแรกในสยาม
                รถไฟสายปากน้ำ เดิมอยู่ได้ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗  ก็หมดสัมปทาน ต้องโอนกิจการทั้งหมดให้แก่รัฐบาลไทย ทางกรมรถไฟแผ่นดินจึงเปลี่ยนเป็นเดินรถรางแทน  เป็นผลให้สถานที่ราชการและบ้านประชาชนทั่วไป ในเมืองสมุทรปราการมีไฟฟ้าใช้ ตั้งแต่นั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑  ได้เลิกก่อการเดินรถราง
                 ในปี พ.ศ.๒๔๑๑  พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ  และสำนักงานจังหวัด หรือศาลากลางจังหวัดขึ้น ณ ท้องพระโรงในพระราชวังสมุทรปราการ  ทรงให้จัดตั้งที่ทำการด่านศุลกากรขึ้น บริเวณปากคลองเมือง มีหน้าที่ตรวจตราเรือสินค้าที่จะผ่านเข้าออกระหว่างประเทศ  และมีหน้าที่เก็บเงินรายได้จากสินค้า ที่นำเข้าและส่งออกในอัตราร้อยชักสาม  มีการจัดตั้งสถานีตำรวจขึ้นในตัวเมือง
                ในปี พ.ศ.๒๔๒๑  พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวโปรตุเกสดำเนินการสร้างการโทรเลข โทรศัพท์ จากตัวเมืองข้าฝั่งท้ายบ้าน เดินสายเลียบแม่น้ำถึงหาดอมรา ในปัจจุบัน นับเป็นโทรเลข - โทรศัพท์ แห่งแรกของประเทศไทย สำหรับติดต่อกับหัวเมือง เมื่อมีข้าศึกยกทัพเข้ามา และได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งการไปรณีย์ - โทรเลข - โทรศัพท์ ขึ้นที่พระที่นั่งสุขไสยาสน์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีช่างชาวโปร์ตุเกส เป็นนายไปรณีย์ และโทรเลข - โทรศัพท์
                โดยที่ชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายกับชาวสยามมานาน ชอบเล่นการพนัน พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งบ่อนการพนัน ทั้งโป และหวย ก.ข. ขึ้นในตัวเมือง  และให้ตั้งโรงยาฝิ่นขึ้นข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ด้านใต้ เพิ่งมาเลิก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒

               สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ทรงมีพระคุณสูงยิ่งต่อการจัดการศึกษาระยะแรกของจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖  พระองค์ได้เสด็จมาตั้งโรงเรียนหนังสือไทยขึ้น ที่วัดกลางสมุทรปราการ ในระดับประถมศึกษา และในปี พ.ศ.๒๔๔๗  จึงทรงจัดตั้งระดับมัธยมศึกษา
                ในปี พ.ศ.๒๔๖๐  กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนวัดกลาง เป็นโรงเรียนมัธยมวัดกลาง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |