| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
            ประติมากรรม  ส่วนใหญ่ปรากฎอยู่ในวัดต่าง ๆ มีมากกว่า ๑๐๐ แห่ง ซึ่งมักนำมาจากที่อื่น ไม่ได้เป็นงานช่างของชาวบ้านในท้องถิ่นเท่าใดนัก ส่วนใหญ่เป็นงานที่สร้าง หรือซื้อขึ้นมาใหม่ แต่ก็มีประติมากรรมเก่าแก่ปรากฎอยู่ อยู่ในหลายวัด เช่น พระพุทธรูปที่อยู่ในวัดต่าง ๆ หลายวัดคือ
                พระประธานในพระอุโบสถเก่าวัดกลางวรวิหาร   เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๐๕ เซนติเมตร สร้างด้วยศิลาแลง หุ้มปูนปิดทอง อัญเชิญมาจากวัดร้างกลางป่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
                พระมาลัยหน้าอุโบสถเก่าวัดพิชัยสงคราม  มีลักษณะเหมือนพระสงฆ์ธรรมดา
                พระประธานในอุโบสถวัดชัยมงคล  เป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยสุโขทัย
                หลวงพ่อสินสมุทร   เป็นพระประธานในอุโบสถวัดอโศการาม  เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ปางสมาธิอย่างอินเดีย
                พระประธานในพระอุโบสถวัดทรงธรรมวรวิหาร  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้
                พระประธานในพระอุโบสถวัดไพชยนต์พลเสพย์  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบุทอง
                พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ในพระวิหารหน้าพระสมุทรเจดีย์ สร้างในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระพุทธรูปปางนี้ในพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐารามอีกสององค์
                หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน  เป็นพระพุทธรูปสำริด ตามประวัติมีว่าลอยน้ำมาจากกรุงเก่า
                พระประธานในอุโบสถวัดป่าเกด  เป็นพระปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ประดิษฐานชุกชี ปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจก

                ใบเสมาวัดกลางวรวิหาร  แกะสลักจากหินแกรนิต ส่วนยอดแกะสลักเป็นพระเกี้ยว ซุ้มเสมารูปกูบ เอวเสมาคอดเล็ก มีลายนาคสามเศียรเป็นตัวเหงา ตัวเสมาตรงกลางแกะสลักเป็นแถวยาว กลางแถบเป็นลายประจำยาม ด้านบนมีลายรูปดอกไม้
            จิตรกรรม  มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่อยู่ที่วัดป่าเกด ส่วนจิตรกรรมรุ่นใหม่มีอยู่ที่พลับพลา ที่ประทับศาลาทรงยุโรป ด้านเหนือของพระสมุทรเจดีย์ สำหรับจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังเก่า วัดกลางวรวิหารและที่อื่น ๆ ไม่เด่นชัดและสวยงามเท่าที่วัดป่าเกด

                จิตรกรรมที่วัดป่าเกด  วัดป่าเกดอยู่ในตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามแต่ชำรุดไปมาก ทางวัดจึงต้องปิดประตูใส่กุญแจไว้ แต่ยังเปิดให้ผู้สนใจจริง ๆ เข้าชมได้
                ภาพเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนในท้องถิ่นเข้าใจว่าขรัวอินโข่ง เป็นผู้เขียน สันนิษฐานว่า จากลักษณะภาพว่า น่าจะเขียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต่อกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะหลังจากนั้นช่างจะหันมานิยมเขียนภาพอย่างชาวตะวันตก

                ที่ผนังด้านข้างเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ ภาพทศชาติ ภาพเทพชุมนุม สีพื้นเป็นสีแดงชาด อีกแถวเป็นสีน้ำตาลไล่น้ำหนนักสี ภาพตรงกลางชำรุดไปมาก ลักษณะการเขียนน่าจะได้รับอิทธิพลจากช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย
                ฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพมารผจญ ภาพด้านนี้สีพื้นออกสีแดงชาดปนน้ำตาล ต่ำลงมาเป็นหน้าต่าง ซึ่งแต่ละบานเขียนรูปทวารบาลในท่ายืนหันหน้าเข้าหากัน รัศมีรอบศีรษะ เขียนเป็นสีแดงตัดเส้นเครื่องทรงด้วยสีทอง
                ภาพเขียนที่ยังมีความสมบูรณ์มากที่สุดคือ ภาพเทพทวารบาล ที่ประตูใหญ่ทางเข้าด้านในเขียนเป็นรูปเทวดาสององค์ หันหน้าเข้าหากัน มีรัศมีรอบศีรษะสีแดงชาด รัศมีรอบนอกเป็นลายแข็งสิงห์สีทอง ชฎาสีทองตัดเส้นสีแดงเช่นเดียวกับกรองคอ ทับทรวง และกำไลข้อมือ ลำตัวใช้สีเนื้อ ภูษาระบายสีแบบไล่สีแก่ลงมาอ่อน ถือช่อดอกไม้มีก้านและใบ ฉากหลังเป็นลายช่อดอกไม้ร่วงบนพื้นสีน้ำตาลไม้
                ภาพนอกจากนั้นเป็นภาพชาดก กษัตริย์บนที่ประทับ มีพานใส่กองไฟคั่นด้วยต้นบายศรี ถัดลงมาอีกชั้นเป็นภาพนางสนมกำนัล ภาพหมู่ชาวบ้านที่มีความวุ่นวาย แย่งของที่ให้ทาน ถัดมาเป็นภาพการชนช้าง การขี่ม้ารบ นอกจากนี้ยังมีภาพโขดหินต้นไม้ กำแพงเมือง ป้อม ประตูเมือง ทิม ปราสาท ราชวัง นักดนตรี การลงโทษผู้ร้ายสมัยโบราณ การประหารชีวิต

                จิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาทรงยุโรป  เขียนไว้บนฝาผนังเหนือขอบประตูขึ้นไปอยู่เหนือระดับสายตา ใช้วิธีเขียนเลียนแบบการใช้สีฝุ่นอย่างโบราณ แต่เปลี่ยนมาใช้สีคงทนมากกว่า ลักษณะเป็นทัศนียภาพจากเบื้องสูงอย่างโบราณ แต่ใช้สีเทียนเขียนมองเห็นใกล้ไกล โดยการใช้สีไล่โทนสีอ่อนแก่ ให้สีภาพเหมือนจริง

                ที่ผนังด้านหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเมืองสมุทรปราการ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไล่ลำดับมาถึงการสร้างป้อมปราการตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา  ในภาพเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและขุนนาง ได้เห็นการแต่งกายที่ต่างกันของขุนนาง เจ้านาย มีภาพปราสาทราชวัง บ้านเรือนราษฎร แนวกำแพงเมือง ป้อมปราการ พืชพรรณธรรมชาติมีป่าจาก ป่าแสม
                อีกด้านหนึ่งเขียนเรื่องการสร้างพระสมุทรเจดีย์ การจัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  การเฉลิมฉลองงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์  ฯลฯ
          สถาปัตยกรรม   ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา เช่น พระเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ อุโบสถและสิ่งก่อสร้างประเทศอื่น ๆ
                สิ่งก่อสร้างรอบองค์พระสมุทรเจดีย์   ได้แก่ หลักผูกเรือ เก๋งจีน หอระฆัง หอเทียน และตึกฝรั่ง

                  หลักผูกเรือ  เป็นหลักศิลาแปดเหลี่ยม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปักอยู่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม

                  เก๋งจีน   เป็นศาลารายเดิม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นศาลาที่พัก รูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างจีน จึงเรียกเก๋งจีน  มีหลังคาหน้าบันเชิงชายอย่างจีน  ทาสีขาว ใช้กระเบื้องสีแดงคาดด้วยปูนทาสีขาว มีผนังสามด้าน ภายในยกพื้นที่นั่ง ช่องหน้าต่างเป็นวงกลม

                  หอระฆัง   สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีอยู่หนึ่งคู่ตั้งอยู่สองข้างทางเข้า ก่อนถึงพระวิหาร มีลักษณะเป็นสถูปอย่างสุโขทัย  ยอดหลังคาเป็นพุ่มทรงกลม  หลังคาเทปูนไม่มุงกระเบื้อง เสาทั้งสี่ด้านเป็นกึ่งฝาผนัง วงกบบนเป็นรูปครึ่งวงกลม ภายในแขวนระฆัง

                  หอเทียน   สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจำนวนหนึ่งคู่ อยู่ถัดจากหอระฆังเข้าไปก่อนถึงพระวิหาร ทำเป็นสองชั้น ชั้นบนทาเป็นซุ้ม ชั้นล่างเป็นฐาน ประตูทางเข้าชั้นล่างขอบวงกบ ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมยกขึ้น ใช้ปักเทียนให้แสงสว่าง

                  ตึกฝรั่ง   อีกชื่อหนึ่งคือ ศาลาทรงยุโรป สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นศาลาโถง ห้าห้องเปิดฝาผนังโดยรอบสามด้าน  ภายในเป็นห้องโถงโล่ง เสาชั้นในเป็นเสากลม ชั้นนอกเป็นเสาหลอกติดฝาผนัง ยอดเสาลดลงมาครึ่ง ส่วนบนทำเป็นฐานโค้ง รัดโคนเสาด้วยภาพเขียน ลายพวงมาลัยดอกไม้ เพดานมีลายดวงดาว ห้อยโคมไฟเดี่ยว

                  ฝาผนังเหนือโคนเสาตั้งแต่ส่วนล่างของฐานโค้ง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘  เป็นภาพเกี่ยวกับการสร้างเมืองสมุทรปราการ และการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ผนังด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
งานหัตถกรรมพื้นบ้าน

                แส้ปัดยุง   เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยเฉพาะกับยุง และต้นจาก ยุงที่เมืองสมุทรปราการค่อนข้างชุมมาก  เมื่อครั้งคณะทูตจากฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์  ขบวนเรือพายผ่านปากน้ำในเวลากลางคืน มีผู้เขียนไว้ในจดหมายเหตุว่า ยุงที่ปากน้ำชุกชุมมากและกัดเจ็บ  กัดทะลุเสื้อผ้าได้ แต่ฝีพายไทยก็เก่งมีความว่องไวมาก พอถูกยุงกัดก็จะละมือจากพาย ไปตบยุงแล้วพายต่อโดยไม่หยุดชะงัก
                ต้นจากที่มีอยู่มากมาย สามารถนำงวงจากมาทำเป็นแส้ปัดยุง และปัดแมลงอื่น ๆ ได้  แส้ปัดยุงที่ทำจากงวงจาก มีด้ามจับพอเหมาะมือ เส้นใยถูกตีให้ฟูเป็นพุ่มสาย เส้นใยยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
                การทำแส้ปัดยุง  ใช้งวงจากที่เป็นก้านอ่อน ยังไม่ติดผล ยาวสองคืบ ส่วนปลายที่เหลือผ่ากลางแบ่งเป็นสี่ซัก วางบนเขียงไม้แล้วใช้สากทุบส่วนปลายให้เป็นเส้นใย แยกกระจายออกจากกัน เมื่อได้ที่แล้วใช้หวีซี่ห่าง สางเส้นใยออกเป็นเส้นเหมือนเส้นผมหยาบ ๆ  จากนั้นนำไปแช่น้ำไว้ นำไปแช่น้ำให้นุ่ม ส่วนที่เป็นด้ามจับตกแต่ง ควั่นให้เรียบร้อย แล้วนำไปตากให้แห้ง
                แส้ปัดยุงในอดีตเคยเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว ที่ขึ้นชื่อของชาวบ้านในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอพระประแดง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระสมุทรเจดีย์
                เครื่องจักสาน  เป็นเครื่องจักสานที่ใช้ในครัวเรือน และเครื่องมือประมง  เครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ตอกไม้ไผ่ไม้รวกทั้งสิ้น  ส่วนงานหวายมีอยู่น้อยชนิด ที่เคยใช้ในอดีตได้แก่  เสวียนรองก้นหม้อ และใช้ถักเผือกดักปลา หรือกั้นปลาในน้ำ
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |