| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภูมิปัญญาชาวบ้าน
    การทำมาหากิน

                การทำนา  พื้นที่ทำนาเกือบทั้งหมดของจังหวัด เป็นนาลุ่ม จึงนิยมทำนาดำ พื้นที่ใดดอนจึงทำนาหว่าน  มีการใช้กังหันลมฉุดระหัดนำน้ำเข้านา  นิยมใช้ควายเดี่ยวเข้าแอกโกก เทียมไถหางยามสั้น ใช้ชงโลง หรือโพง ในการตักวิดน้ำจากคลอง เข้าไปใช้ในแปลงกล้า โดยใช้การตั้งขาหยั่งสามเส้า ผูกแขวนชงโลงไว้ด้วยเชือก ผูกติดกับส่วนบนของไม้เส้าที่ยอด เข้ามารวมอยู่ ชงโลงต้องแขวนโยงอยู่ในระดับ ที่ตักน้ำจากคลอง วิดสาดเข้าไปในแปลงกล้าได้

                   การถอนกล้า  ต้องใช้แรงคนลงแขก  ซึ่งจะใช้ในการเกี่ยวข้าวด้วย  โดยชาวบ้านจะกำหนดช่วงเวลากันเอง ให้ไล่เลียงกันไปว่าจะลงแขกบ้านไหนก่อนหลัง  การถอนกล้าใช้วิธีเข้าแถวหน้ากระดาน แข่งกันด้วยความสนุกสนาน หันหน้าเข้าถอนกล้าอย่างมีระบบ จัดวางมัดกล้าเป็นแถวเป็นแนว

                    การรายกล้า    นำเอากล้าที่ถอนและตัดยอดเอาไว้แล้ว ไปรายเป็นระยะ ๆ ในแปลงนาดำ โดยใช้กระบะลากกล้าบรรทุกกล้าไป เมื่อหย่อนมัดกล้าข้าวลงข้างกระบะ ก็จะได้ระยะสวยงาม กะจุดวางมัดกล้าให้ได้ปริมาณ และระยะทางของผู้ดำนา ว่าแต่ละมัดใช้พื้นที่ดำประมาณไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร ต่อช่วง ใช้ควายลากกระบะ ลากกล้า

                    การดำนา   นิยมการลงแขกดำนา  คล้ายกับลงแขกถอนกล้าต่างกันตรงเดินถอยหลัง  กิจกรรมที่สร้างความสนุกในขณะลงแขกดำนาคือ แข่งดำคลอง   เริ่มด้วยการยืนหันหน้าเข้าหากัน ยืนอยู่ในลู่ (ระยะที่แขนเอื้อมดำกล้าถึง)  ของตนเองเตรียมดำแบบเดินถอยหลัง กล้าข้าววางรายไว้ให้แล้ว  ฆ้องกลองก็ให้เสียงอยู่ตลอดเวลา  เมื่อให้สัญญาณก็เริ่มดำ ดำคลองต้องได้แนวแถวสวย ตรงสม่ำเสมอ มีของกิน เหล้ายา อยู่ที่คันนาด้านหลัง ถึงก่อนได้กินก่อน ได้พักก่อน
                    การเกี่ยวข้าว   เมื่อน้ำเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ  ถ้าข้าวมีน้ำหนักมากขึ้น และลมโยกมามากขึ้น ข้าวก็ล้มชาวนาต้องนาบต้นข้าว ให้เอนลู่ไปตามรี ตามแวงของพื้นที่ให้นาบข้าวให้ถูกทิศคือ ต้องการเกี่ยวข้าวตอนเช้า ต้องนาบข้าวให้ล้มไปทางตะวันตก ถ้าเกี่ยวข้าวตอนบ่ายต้องนาบข้างให้ล้มไปทางทิศตะวันออก
เพราะคนเกี่ยวข้าวต้องยืนอยู่ด้านโตนต้นข้าวแล้วเกี่ยว  หน้าคนเกี่ยวข้าวก็จะไม่โดนแดด
                    ในนาลุ่ม ช่วงเกี่ยวข้าวน้ำบนพื้นนายังไม่แห้งสนิท  เมื่อเกี่ยวข้าวและกำข้าวแล้ว ต้องวางตากในนาด้วยการใช้วงเคียว ตวัดตอซังให้เอนลงเข้าหากันเล็กน้อย พอเป็นกระขุกแล้วจึงเอามัดข้าววางไว้  เพื่อตากและรอการขนออกจากนาไปสู่ลานนวดข้าว
                    การนวดข้าว   การกองมัดข้าวที่ขอบลานนวดข้าว ต้องกองให้ด้านปลายรวงหันเข้าด้านในลาน ด้านโคนก้านรวงกองซ้อนตรงสูงขึ้นอยู่ด้านนอกลาน  ด้านหลังกองตรงด้านหน้าลาดเอียง กองให้เป็นระเบียบกองถึงตรงไหน ก็ต้องปักธงสีไว้เป็นที่สังเกต  เมื่อมีการลักโขมยก็จะรู้ได้ทันที
                    การที่ให้ปลายรวงเยื้องเป็นเชิงลาด เพราะต้องการให้รวงข้าวที่อยู่ด้านนอก หรืออยู่ส่วนบนกว่าถูกแดดสม่ำเสมอ  เมื่อนำไปนวดจะได้ร่วงง่าย เมื่อนำออกไปนวดเรื่อย ๆ ชั้นในถัดไปก็จะได้รับแดดต่อไป
                    ข้าวที่นวดแล้วฝัดแล้ว ยังมีความชื้นมาก ก็จะเกลี่ยให้กระจายบาง ๆ  จนทั่วลานด้วยระทาบ้าง หรือทัดทาบ้าง และสาดด้วยพลั่วไม้   เมื่อแห้งดีจึงดึงเข้ากองด้วยทัดทา กองให้เป็นทรงกรวย ใช้ธงสีเล็ก ๆ ปักรายไว้ที่กอง เป็นการป้องกันขโมย เพราะเมื่อข้าวถูกขโมยธงที่ปักไว้ในจุดนั้นจะเอนลง  นอกจากนั้นธงที่ปักยังพลิ้วไหว ป้องกันนกลงกินข้าวเปลือกได้อีก

               ปลาสลิด  มีลักษณะเหมือนกับปลากระดี่มาก เนื่องจากอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ปลาสลิดมีขนาดใหญ่กว่า สีของเกร็ดเข้มกว่า ลำตัวหนากว่า ปลาสลิดมีกลิ่นเฉพาะตัว และรสของเนื้อปลาต่างกว่าปลาชนิดอื่น จึงมีผู้นิยมบริโภคกันมาก  มีการเลี้ยงกันเป็นอาชีพในจังหวัดสมุทรปราการ

                การเลี้ยงปลาสลิด นิยมเลี้ยงแบบทุ่งกว้าง น้ำลักจืดลักเค็ม  การจัดเตรียมบ่อมีการขุดดินคันล้อมบ่อ ตลอดแนวนิยมเรียกกันว่า ล้อมปลาสลิด  บางทีก็เรียกว่า ฮั้มปลา  และบางทีก็เรียกว่า วังปลา  เมื่อทำล้อมเสร็จแล้วก็นำน้ำเข้าพื้นที่ ให้ลึกประมาณ ๒ เมตร
                   การปล่อยแม่ปลา   ปล่อยเมื่อเริ่มฤดูฝนซึ่งเหมาะสมสำหรับปลาวางไข่ นำแม่ปลาที่ชำไว้ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ เริ่มตั้งท้อง หรือตั้งท้องอยู่แล้ ชำปลาไว้ในบ่อนาน ๓ - ๔ เดือน พอฝนตกหนักก็เปิดปากบ่อชำให้กว้าง ติดต่อเข้ากับบ่อเลี้ยง ปลาก็จะออกไปเล่นน้ำ ไปสร้างหวอดแล้ววางไข่ไว้ใต้หวอด การปล่อยแม่ปลาต้องปล่อยปลาตัวผู้ลงไปด้วย โดยนับเป็นคู่ ปลาสลิดโตเต็มที่ใช้เวลาประมาณเก้าเดือน นับจากวันปล่อยแม่ปลา แต่ถ้าต้องการขนาดพอขายได้ ก็ใช้เวลาเจ็ดเดือน
               การหาปูทะเล   ปูทะเลในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นปูชนิดกระดองสีอ่อน ไม่ใช่ปูดำอย่างภาคใต้ หรือภาคตะวันออกแถบจังหวัดตราด

                    การใช้ลอบดักปู    โครงสร้างทำด้วยลวดสังกะสีขนาดใหญ่  หรืออาจใช้โครงเหล็กก็ได้  รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑๕ x ๓๐ x ๔๐ เซนติเมตร  กรุด้วยตาขายไนลอนขึงตึงห้าด้าน เหลือด้านปากลอบไว้หนึ่งด้าน ที่ด้านนี้ทำโครงเหล็ก และตาข่ายเลียนแบบงาของลอบ หรือไซ ทั่ว ๆ ไป  ใส่เหยื่อไว้ในลอบ เมื่อปูทะเลเข้าไปในลอบแล้ว จะออกไม่ได้ ด้านบนของลอบส่วนใหญ่จะผูกเชือกไว้ยาว ๆ  เพื่อให้หย่อนลอบลงไปในพื้นบ่อ หรือดินที่น้ำทะเลท่วมอยู่
                    การวางลอบ จะต้องมีเหยื่อที่คาวจัด เช่น ปลากระเบน หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วเกี่ยวไว้ตรงกลางลอบ  การวางลอบต้องวางให้ถึงพื้นดินใต้น้ำเค็มที่ท่วม หรือทดน้ำเข้ามาขังไว้ในบ่อ
                   จั่นดักปู   เป็นเครื่องมือจับปูรุ่นเก่า รูปร่างเหมือนยอคันน้อย ๆ คือ มีแขนโค้งแบบยอสี่แขน ข้างล่างเป็นตาข่ายผูกติดสี่ปลายแขนจั่น ให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนยอ เกี่ยวเหยื่อไว้ตรงช่วงที่ในแขนสี่แขน ตัดกันเป็นรูปกากบาท มีเชือกผูกไว้ตรงกลางของแขนจั่น ใช้เชือกยาวพอให้หย่อนจั่นลงไปถึงก้นคลองได้  ส่วนปลายเชือกผูกทุ่นให้ลอยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อปูมากินเหยื่อก็จะมีการกระตุกทุ่นที่ลอยอยู่จะเคลื่อนไหว  สถานที่วางจั่นคือ บริเวณคลองที่น้ำขึ้นน้ำลง จะวางตอนน้ำขึ้นมาในคลอง เมื่อรู้ว่าปูกินเหยื่อต้องรีบน้ำจั่นขึ้น ไม่เช่นนั้นปูจะกินเหยื่อเสร็จแล้วหนีไป

                   แร้วดักปู   ใช้ไม้รวก หรือไม้ไผ่เลี้ยงหนึ่งลำ สำหรับปักแขวนแร้ว  ส่วนประกอบที่เป็นตัวแร้วคือ วงขอบเหล็ก หรือไม้ผูกติดด้วยขาข่ายหย่อน  มีก้นดึงเหมือนสวิงมีรูให้ไม้ไผ่ผ่านรู สำหรับปักในดินได้ ขอเหล็กหรือไม้วงกลมชั้นในอีกหนึ่งชั้นอยู่ช่วงกลาง มีลวดเกี่ยวเหยื่อแล้วพับหนีบไว้ มีส่วนที่เป็นเหมือนถุงก้นสวิง เป็นส่วนประกอบของวงในลักษณะเหมือนเป็นกระพุ้ง เมื่อปูกินเหยื่อก็ดึงเชือก ดึงแร้วขึ้นมา ไม่เช่นนั้นปูจะหนีไปได้  จึงต้องมีเชือกผูกไว้ที่วงขอบนอก แยกเป็นเหมือนสาแหรกสามเส้น รวบตรงส่วนปลายเชือกเข้าหากัน ผูกด้วยเชือกอีกเส้นหนึ่ง ไปคล้องกับยอดหลักให้ดึงรูดขึ้น และผ่อนลงได้ จะใช้ปักในคลองตอนน้ำขึ้น ปักรายเป็นแนวแล้วเจ้าของแร้ว ก็ต้องลอยเรือเฝ้าแร้ว เมื่อเห็นว่าปูกินเหยื่อแร้วตัวใด ก็ยกแร้วตัวนั้นขึ้นจับปู
                  การขุดปู   ต้องมีความรู้เรื่องหาปู  ที่แถวรูปูจะมีรอยตีนมีทางขึ้นและทางลงเป็นทางเดียวกัน ในช่วงเดือนสิบเอ็ด เป็นช่วงที่น้ำนองเข้าท่วมพื้นที่ป่าจากอย่างมาก  ในช่วงนี้ปูตัวผู้จะขุดรูสำหรับให้ปูตัวเมียเข้าไปลอกคราบ แล้ววางไข่ในช่วงข้างแรม เริ่มประมาณแรมแปดค่ำ ถึงแรมสิบห้าค่ำ ตัวเมียเข้าไปลอกคราบในรู ช่วงลอกคราบนี้เองที่ตัวผู้สามารถเข้าผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ แล้วตัวเมียจะมีไข่จนถึงไข่เต็มท้อง ช่วงนี้ตัวผู้จะเฝ้าอยู่ที่ปากรูโดยตลอด  การขุดปูในตอนนี้จะได้ปูทั้งตัวผู้ และตัวเมีย ถ้าไม่โดนขุดตอนนี้ตัวผู้ก็จะหาที่ลอกคราบ ถ้าตัวไหนเผลอลอกคราบที่เดิม หรือใกล้ ๆ ตัวเมีย ที่กำลังหิวอยู่ก็จะกินตัวผู้ที่ลอกคราบ  ภาวะเช่นนี้ปูตัวเมียที่มีไข่ก็จะกลายเป็นปูแม่หม้าย หลังจากนี้เมื่อน้ำขึ้น ปูแม่หม้ายก็จะลอยไปตามน้ำไปเกาะอยู่กับพืชที่ลอยน้ำมา จากตอนบนของลำน้ำ ปูแม่หม้ายจะลอยน้ำได้ดีเมื่อมีไข่เต็มท้อง  ช่วงนี้ชาวบ้านสามารถหาจับปูไข่ที่ลอยน้ำได้อย่างสะดวก
                  การเลี้ยงปูทะเล    บ่อเลี้ยงปูไม่ต่างจากบ่อเลี้ยงปลาน้ำกร่อย - น้ำเค็ม  ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ต้องล้อมขอบบ่อด้วยมุ้งไนลอน สูงขึ้นมาเท่ากับความกว้างของผืนไนลอนเป็นอย่างน้อย  แล้วนำพันธุ์ปูทะเลมาเลี้ยงไว้  อาหารปูทะเลมักเป็นเศษปลาที่คาวจัด หรือปล่าเน่า เพราะโดยธรรมชาติของปูจะกินสัตว์น้ำที่ตายแล้ว ให้อาหารวันละครั้ง ใช้เวลาเลี้ยงหนึ่งถึงสองเดือน ก็สามารถจับขายได้ ส่วนใหญ่เริ่มเลี้ยงจากปูขนาดกลาง ให้เนื้อแน่นเพื่อให้ลอกคราบในวันพระ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ  ลอกคราบเดือนละสองครั้ง การลอกคราบของปูแต่ละครั้ง ช่วยให้ปูเจริญเติบโต
               การเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติชายฝั่งทะเล    มีกุ้งหลายชนิดที่ตามน้ำเข้ามาในพื้นที่คือ  กุ้งแชบ็วย กุ้งตะกาด (กุ้งรู)  กุ้งขาลาย
                 น้ำเชื้อ   เป็นภาษาชาวบ้านเรียกน้ำทะเลที่เปิดเข้าในพื้นที่ที่มีลูกกุ้งเล็กมาก ติดเข้ามาในพื้นที่สำหรับใช้เพาะเลี้ยงกุ้ง ลูกกุ้งมีขนาดเล็กมาก ขนาดเท่าตัวเคยที่ใช้ทำกะปิ

                  นากุ้ง หรือวังกุ้ง   คือพื้นที่เลี้ยงกุ้งชายทะเลตามธรรมชาติ มีการเตรียมพื้นที่ง่าย ๆ คือต้องมีคันวังกุ้ง สูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร โดยดักหรือขุดดินในพื้นที่มาทำคัน ลำรางที่ขุดดินขึ้นมาใช้ทำคัน มักจะเป็นลำรางที่มีความกว้าง ๑ เมตร ลึก ๑ เมตร  พื้นที่วังกุ้งโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องจัดการใด ๆ เพียงแต่ทางด้านชายทะเลต้องมีประตูทดน้ำ - ระบายน้ำ  มีการตั้งขอบกั้นดิน มีช่องสำหรับบานประตูเลื่อนขึ้น- ลงได้  ด้วยการหมุนกว้าน บานประตูใช้สำหรับกักกุ้ง - ปลา ออกจากวัง จะใช้อวนถัก ตีอัดกรอบด้วยกรอบไม้มีขนาดเท่าบานประตูน้ำ เมื่อระบายน้ำออก เมื่อน้ำทะเลลดกรณี น้ำแก่ (คือน้ำที่ออกสีแดงไม่เหมาะ สำหรับเลี้ยงกุ้งต่อไป)  ต้องระบายออกแล้วทดน้ำทะเลเข้ามาใหม่
            การเปิดน้ำ เปิดได้ทุกฤดูกาล เมื่อมีน้ำขึ้นเป็นการเปิดเพื่อนำน้ำเชื้อเข้าพื้นที่แล้ว ปล่อยให้กุ้งเจริญเติบโตตามธรรมชาติ การเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติชายฝั่งทะเล จะเลี้ยงนาน ๖๐ วัน ก็โตพอจำหน่ายได้
                - กุ้งแม่น้ำ   มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ตั้งแต่ขนาดเล็กมากถึงขนาดใหญ่

                  กุ้งใหญ่ - กุ้งแม่น้ำ   เจริญเติบโตได้ดีในน้ำจืด เมื่อกุ้งโตเต็มวัยแล้วจะว่ายลงมาตาลำน้ำ เพื่อการผสมพันธุ์ และวางไข่ที่ปากแม่น้ำ ที่มีน้ำกร่อย โดยจะลงมาในฤดูน้ำหลาก กุ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่ มีก้ามใหญ่หนึ่งคู่ใช้เป็นอาวุธป้องกันศัตรู และใช้จับอาหาร ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มีก้ามสั้นและเล็กกว่าของตัวผู้ เมื่อเจริญวัยตัวเมียจะสร้างไข่อ่อนไว้ ในบริเวณส่วนหัวของมัน เมื่อไข่อ่อนได้รับการผสมแล้ว ไข่จะเป็นเม็ดกลมขนาดประมาณ ๐.๕ - ๑.๐ มิลลิเมตร  กุ้งก็จะปล่อยไข่ให้เกาะติดอยู่กับวัสดุในน้ำ  แต่ส่วนใหญ่จะเกาะติดเป็นกลุ่ม ใต้ท้องตัวเมียเพื่อป้องกันศัตรูมากินไข่ของมัน ไข่จะฟักตัวออกมาเป็นลูกกุ้งวัยอ่อน กินแพลงตอนที่อยู่ในน้ำเป็นอาหาร ลูกกุ้งจะเจริญเติบโตเร็วมาก มีการเปลี่ยนขนาดให้โตขึ้นด้วยการลอกคราบ
                    เมื่อน้ำเริ่มลด  กุ้งสามารถว่ายน้ำหนีน้ำเค็มขึ้นไปหาน้ำจืดไปตามลำน้ำ  เพื่อไปเจริญเติบโตตามวงจรอีกครั้ง  กุ้งตัวใหญ่เรียกว่า กุ้งก้ามกราม  กุ้งตัวเล็กตัวผู้เรียกว่า กุ้งก้ามเกลี้ยง  ตัวเมียเรียกว่า กุ้งนาง
                การเลี้ยงหอยแครงในนากุ้ง   โดยปกติหอยชนิดต่าง ๆ  มักเก็บกินขี้ปลาอยู่แล้ว ส่วนการกินโคลนของหอยแครงนั้น เป็นการกินแพลงตอน และเศษอาหารจากสัตว์อื่น ๆ
                แหล่งหอยพิมและหอยหลอด   แหล่งที่มีหอยพิมมากได้แก่  แหลมใหญ่ แหลมสิงห์  ขุนสมุทรจีน ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์  และที่บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ  อำเภอพระสมุทรเจดีย์  ไปจรดพื้นที่เขตบางขุนเทียน กทม.  ส่วนทางด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศตะวันออกมีมากที่บางสำราญ บางปู
                หอยพิม อาศัยอยู่ในรูเหมือนหอยหลอด  หอยพิมใช้ปลายหลอดยาวขึ้นกวาดดูดอาหารที่ผิวดินเลน ซึ่งเป็นพวกแพลงตอน เมื่อกินอาหารเสร็จก็หดหลอดดูดอาหารกลับเข้าเปลือก หอยพิมที่โตเต็มที่จะจับได้ในเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน มีขนาดน้ำหนักประมาณ ๑๐ ตัวต่อ ๑ กิโลกรัม
                การจับหอยพิม อย่างง่ายของชาวบ้านคือ การโกยเลนบริเวณที่พบว่ามีรูหอยพิมอยู่บริเวณนั้น นำขึ้นมาวางที่หัวเรือ แล้วเอาน้ำสาดล้างเลนก็สามารถเก็บหอยได้  ถ้าเป็นช่วงน้ำลงก็จะใช้วิธีถีบกระดานเลน ไปยังบริเวรที่มีหอยพิมแล้วใช้วิธีจับจากรู โดยเสียบไม้สกัดด้านล่างของรู ไม่ให้หอยพิมหนีลงรู เมื่อจับหอยได้ก็ใส่ไว้ในภาชนะ ที่วางไว้บนกระดานถีบ จับไปจนกว่าน้ำทะเลจะขึ้น
                หอยหลอดมีสองชนิด คือ ม้วนเป็นหลอดยาว และชนิดสองกาบ ปกติหอยหลอดชอบอาศัยในดิน ที่มีปริมาณของทรายปนอยู่ประมาณร้อยละแปดสิบขึ้นไป  อาหารของหอยหลอดส่วนใหญ่เป็นพวกแพลงตอน พืชและสัตว์ขนาดเล็ก กับอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย หอยหลอดจะอยู่ที่ผิวปากท่อ ลึกจากผิวดินประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร  เวลาน้ำทะเลท่วมถึง จะยื่นท่อน้ำออกจากเปลือกตอนบน แล้วกรองน้ำเข้าท่อ
                    การจับหอยหลอด  ใช้วิธีหยอดด้วยปูนแดง วิธีนี้แม้ว่าหอยจะขึ้นช้า แต่ก็ไม่เป็นการทำลายแหล่งหอยหลอดโดยรวม วิธีการขุดทำได้ช้า ใช้กำลังมาก แต่บางแห่งก็ต้องใช้วิธีนี้ เพราะดินเลนปิดรูท่ออาศัยของหอยหลอดอยู่ ต้องขุดด้วยพลั่ว
                ประมงน้ำลึกและการทำประมงนอกน่านน้ำไทย    ชาวประมงของจังหวัดสมุทรปราการ หลายรายได้พัฒนาเข้าสู่ระดับการทำประมงนอกน่านน้ำ  โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากองค์การเอกชน  และหน่วยงานของรัฐ  เช่นงานด้านสมุทรศาสตร์ การสำรวจแหล่งประมง  อุตุนิยมวิทยา การสื่อสาร  โทรคมนาคม กองทัพเรือ การพลังงานแห่งชาติ การธนาคาร แรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ
                    การหาแหล่งปลาและสัตว์น้ำอื่น   ที่เรือประมงขนาดใหญ่เลือกใช้คือ ใช้ระบบซาวน์น่ายิงลงไปในท้องทะเล ระบบนี้มีการนำเอาเครื่องมือรับ - ส่งสัญญาณลงไปยังแหล่งน้ำใต้ทะเล  ส่วนมากอยู่ใกล้กลุ่มหินต่าง ๆ ซึ่งมีแพลงตอนมาก
                    การลงอวนลาก   ใช้อวนลากลงไปลาก ชิดกลุ่มหินที่ได้ส่งสัญญาณลงไป  อวนที่ลากนี้ก้นถุงอวนจะมีหูรูด สำหรับดึงให้หูรูดปิด เมื่อได้ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นเข้าไป ที่ก้นถุงอวนมากพอแล้ว
                    แพไฟของเรือประมง   ใช้สำหรับเรียกปลา วิธีการใช้แพไฟคือ ปล่อยดวงไฟที่มีวัสดุใสหุ้มอยู่ภายนอก ทำเป็นแพวางในทะเลปล่อยแสงให้ลงไปในน้ำ  เมื่อมีแสงในน้ำปลาหมึกก็จะมา เมื่อปลาหมึกมาปลาอื่น ๆ ก็จะมา ในบริเวณนั้นด้วย  โดยเฉพาะปลาใหญ่ที่เป็นปลาประเภทกินเนื้อสัตว์ ซึ่งชอบกินปลาหมึก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะสามารถลงอวนลากได้
                    ซั้งในทะเล   มีทำซั้งในทะเลเหมือนตามแม่น้ำลำคลอง มีการนำอวนหูรูดมาพัฒนาใช้ด้วย โดยใช้อวนลงเป็นสองวง ชั้นนอกเป็นอวนล้อมธรรมดา แต่ชั้นในเป็นอวนมีหูรูด สำหรับเก็บปลาไว้ได้
                การทำน้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลเมา   มะพร้าวที่ทำน้ำตาลได้มีอายุประมาณห้าปี และเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำตาลมาก ส่วนที่ให้น้ำตาลคือ จั่นมะพร้าว ภายในจั่นมีหางหนู ลักษณะคล้ายรวงข้าว มีดอกเหมือนเกล็ดแข็งเป็นรวงอัดแน่นอยู่  เมื่อมีการปาดครั้งแรกแล้ว นำดอกเกล็ดแข็งมาบี้ดู เป็นน้ำสีขาวขุ่น ๆ ถือว่าทำน้ำตาลได้แล้ว หากไม่ปาดจั่นมะพร้าวทำน้ำตาล จั่นจะแตกออกติดผลกลายเป็นทะลายมะพร้าว

                เมื่อจั่นมะพร้าวโตได้ที่ ชาวสวนก็จะกรีดรกที่โคนทางมะพร้าว หรือบริเวณโคนจั่นมะพร้าวก้มลง พอที่จะช่วยให้น้ำตาลหยด แล้วไม่ไหลย้อนไปที่คอมะพร้าว เพราะจะทำให้ด้วงมากินน้ำตาลที่คอมะพร้าว ทำให้มะพร้าวตาย  การโน้มจั่นมะพร้าวแต่เดิมจะใช้เชือกปอ หรือเชือกกล้วย เมื่อโน้มจั่นมะพร้าวได้ที่แล้ว จึงใช้มีดปาดปลายจั่น ในการปาดครั้งแรกจะปาดลึก เข้าไปจากปลายจั่นประมาณสามนิ้ว แล้วเอากระบอกไม้ไผ่ ซึ่งร้อยหูไว้ด้วยเชือก ไปผูกรองน้ำตาลไว้ที่ปลายจั่นมะพร้าว ครั้งต่อไปจะปาดลึกประมาณครึ่งเซนติเมตร มีดที่ใช้ปาดตาลมีความบาง และคมมากแต่เปราะ ชาวสวนจะใช้เนื้อไม้หรือเปลือกไม้ตะเคียนสับเป็นชิ้น ๆ ใส่ไปในกระบอกที่ใช้รองน้ำตาล ป้องกันไม่ให้น้ำตาลเน่าเสียได้

                น้ำตาลที่ได้เรียกว่าน้ำตาลสด มีลักษณะใสต้องนำมากรองด้วยกระชอน แล้วนำไปเทลงในกระทะเพื่อเคี่ยวให้เป็นน้ำตาล กระทะที่ใช้มีขนาดใหญ่เรียกกระทะใบบัว มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร เมื่อตั้งน้ำตาลไปจนเดือดแล้ว ก็จะครอบมาครอบไว้ เพื่อไม่ให้น้ำตาลล้นออกนอกกระทะ เคี่ยวจนน้ำตาลมีลักษณะเป็นยางมะตูม มีกลิ่นหอมมากจึงยกลง จากนั้นจึงปั่นน้ำตาล แต่เดิมใช้ไม้พายปั่น ต่อมาใช้เครื่องปั่นน้ำตาล เมื่อปั่นจนแห้งหมาดแล้ว จึงตักน้ำตาลใส่ปีปพร้อมจำหน่าย
                ในหนึ่งวันชาวสวนจะทำน้ำตาลได้ ๒ - ๓ ปี โดยจะทำกันวันลุสองรอบ รอบแรกทำตอนเช้าเมื่อฟ้าสางบจะเริ่มปาดตาล และเปลี่ยนกระบอกน้ำตาลมาเคี่ยว บ่ายสามถึงห้าโมงเย็นจะเริ่มปาดาตาลอีกเสร็จประมาณสองถึงสามทุ่ม
                นอกจากนำน้ำตาลสดมาทำน้ำตาลปีปแล้ว ยังนำมาทำเป็นน้ำตาลเมาได้อีก โดยนำน้ำตาลสดมาต้มให้พอเดือด ทิ้งไว้ให้เย็น นำเปลือกไม้ตะเคียนกับเปลือกไม้มะเกลือมาย่างให้หอมแล้วมัดอย่างละหนึ่งกำมือต่อน้ำตาลสด ๑ - ๒ ลิตร ใส่รวมกันในภาชนะที่ปิดสนิท ทิ้งไว้สองคืนก็จะได้น้ำตาลเมา ซึ่งเมื่อหมักแล้วจะมีแอลกอฮอล์น้อยกว่าสุรา และมีรสหวานอร่อย
                น้ำตาลสดจากจั่นมะพร้าวจะลดน้อยลงในฤดูแล้ง ชาวสวนหยุดทำน้ำตาลเพื่อเป็นการถนอมต้นมะพร้าว เพราะฝนตกน้อยน้ำที่มีอยู่ก็เป็นน้ำกร่อย
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |