| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
           พบหลักฐานว่ามีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นถ้ำ และเพิงผาในพื้นที่ป่าเขาทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดและในพื้นที่ภูเขาหินปูน ที่กระจัดกระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ
    หลักฐานทางโบราณคดี
           การศึกษาเรื่องชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เริ่มทำอย่างจริงจัง โดยโครงการโบราณคดีเชี่ยวหลานและโครงการโบราณคดีประเทศไทยภาคใต้ของกรมศิลปากร ได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีตามถ้ำและเพิงผาเป็นจำนวนมากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบแล้วมีดังนี้
          ถ้ำเบื้องแบบ อยู่ในเขตตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ฟันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก เปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และหอยทะเลชิ้นส่วนก้ามปู เมล็ดพืชบางชนิด เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำมีลายเชือกทาบประเภทหม้อก้นกลบ หม้อสามขา หม้อมีสัน  ภาชนะรูปจอกปากผาย แท่นผิงด้วยรูปเขาสัตว์ แท่นรองหม้อ ลูกกระสุนดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะแบบฮัวบิเนียนเครื่องมือสะเก็ดหินแบบใบมีดขนาดเล็ก แกนหินรูปแท่งสี่เหลี่ยม ค้อน ทั่ง หินลับเครื่องมือขวานหินขัด ขวานหินยาว สิ่วหินขัด หินทุบเปลือกไม้เพื่อทำผ้า กำไลหินและถ่านกำหนดอายุประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๗๐๐ ปีมาแล้ว
          ถ้ำภาชี อยู่ที่บ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม พบขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่าทำจากหินเชิรด หินอ่อนและหินปูน เครื่องมือสะเก็ดหิน เครื่องมือหินกะเทาะภาชนะดินเผาทรงพาน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเตาสามขา และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
          ถ้ำแก้ว อยู่ที่บ้านย่อมยาว ตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบหน้าเดียวทำจากหินเชิร์ต และหินควอตไซต์ เครื่องมือหินกะเทาะแบบสองหน้า ทำจากหินเชิร์ตหินควอตไซต์ และโอปอล เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบมีลายเชือกทาบ กระดูกสัตว์มีร่องรอยถูกเผาไฟฟันสัตว์และเปลือกหอย
          ถ้ำเขาทะเล อยู่ที่บ้านเขาทะเล ตำบลบ้านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวทำจากหินเชิร์ต และทำจากหินควอร์ทไซต์ ชิ้นหนึ่งมีร่องรอยถูกขัดฝนเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบมีลายเชือกทาบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
          ถ้ำพ่อตาแดงราม อยู่ในเขตตำบลย่านยาว อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
          ถ้ำมะพร้าว อยู่ที่บ้านเชี่ยวหมวง ตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบหน้าเดียวและสองหน้าและทำจากหินเชิร์ตและหินควอร์ทไซต์ ค้อนหิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบมีทั้งผิวเรียบและมีลายเชือกทาบ กระดูกสัตว์ มีร่องรอยถูกเผาไฟ
          ถ้ำลูกเผ็ด(ถ้ำพริก)  อยู่ในเขตตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบหน้าเดียวทำจากหินเชิร์ตและหินควอร์ท สะเก็ดหิน และกระดูกสัตว์ มีร่องรอยถูกเผาไฟ
          ถ้ำสิงขร อยู่ที่บ้านถ้ำ ตำบลถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม พบเครื่องมือสะเก็ดหิน แกนหินกำไลหิน ภาชนะดินเผาแบบหม้อสามขาและกระดูกสัตว์
          ถ้ำเขาบ้านบางปรุ(อ่าวถ้ำผึ้ง)  อยู่ในเขตตำบลคลองสก อำเภอพนม พบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์เศษภาชนะเนื้อหยาบ ส่วนใหญ่มีลายเชือกทาบ หินกรวดแม่น้ำประเภทควอร์ทไซต์ มีร่องรอยถูกใช้งาน
          วัดถ้ำวราราม อยู่ที่บ้านหลังถ้ำ ตำบลคลองสก อำเภอพนม พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ กำไลเปลือกหอยกระดูกและฟันสัตว์
          แหล่งคลองต้นไม้แดงต้นน้ำคลองไชยา อยู่ในเขตตำบลปากหมาก อำเภอไชยา พบขวานหินขัด รูปจงอยปากนกขนาดใหญ่ ขวานหินขัดมีบ่าและไม่มีบ่า
          ต้นน้ำคลองแสง อยู่ที่บริเวณหัวงานเขื่อนเชี่ยวหลาน ตำบลไกรสร อำเภอบ้านตาขุน พบขวานหินขัดทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่าจำนวนมากภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
          ถ้ำแม่ยาย อยู่ที่บ้านช้าง ตำบลไกรสร อำเภอบ้านตาขุน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
          ควนหินเหล็กไฟบ้านบางครก อยู่ในเขตตำบลพระแสง อำเภอบ้านตาขุน พบแหล่งวัตถุดิบหิน จำพวกแร่ประกอบหินตระกูลควอร์ตใช้สำหรับผลิตเครื่องมือหิน
          เขาหินตก อยู่ในเขตตำบลไกรสร อำเภอบ้านตาขุน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
          ถ้ำผึ้ง อยู่ที่บ้านถ้ำไทร ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำขวานหินกะเทาะ โกลนในรูปทรงของขวานหินขัด และเครื่องมือหินกะเทาะ
          ถ้ำเขาชี้ชัน อยู่ในเขตตำบลคลองหิน อำเภอบ้านตาขุน พบเครื่องมือหินกะเทาะขนาดใหญ่แบบฮัวบิเนียนเครื่องมือสะเก็ดหิน ภาชนะดินเผาประเภท หม้อก้นกลมลายเชือกทาบ มีอายุประมาณ๖,๐๐๐ - ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว
          ถ้ำปากอม อยู่ในเขตตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน พบชิ้นส่วนโครงกระดูกและฟันมนุษย์ เครื่องมือหินกะเทาะฮัวบิเนียนเครื่องมือสะเก็ดหินและขวานหินขัด มีอายุประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว
    สภาพทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม
           แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีมาแล้วจำนวนสามแหล่งคือถ้ำเบื้องแบบ ถ้ำเขาชี้ชัน และถ้ำปากอม มีการกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ว่ามีอายุประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว จึงใช้เป็นตัวเปรียบเทียบอายุสมัยกับแหล่งก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ขุดค้น
           หลักฐานที่ได้รับแสดงถึงกลุ่มคนที่ใช้ถ้ำและเพิงผาเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ฝังศพมีสภาพเศรษฐกิจและสังคมแบบนายพรานหรือเก็บของป่าล่าสัตว์ มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นใช้ หลักฐานที่ถ้ำเบื้องแบบทำให้ทราบว่า กลุ่มคนที่ถ้ำนี้น่าจะรู้จักทำผ้าจากเปลือกไม้พบหินทุบเปลือกไม้สำหรับทำผ้า ไม่พบหลักฐานการเพาะปลูก การปรุงอาหารคงมีการทำให้สุกโดยการปิ้งย่าง เผา พบเปลือกหอยทะเลไม่มากนัก แสดงว่ามีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ใกล้ทะเลทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
    ยุคชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์

           ยุคสมัยนี้เชื่อมต่อกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีลักษณะพัฒนาการแบบก้าวกระโดดจากชุมชนที่ได้เครื่องมือหินขัด เข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โดยไม่พบพัฒนาการของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะเหมือนชุมชนในภูมิภาคอื่น ๆ คือไม่พบพัฒนาการของชุมชนที่ใช้โลหะสำริดอย่างเดียวโดยไม่มีเครื่องมือเหล็กปะปน แต่จะพบโลหะทั้งสองอย่างร่วมกัน ชุมชนในยุคนี้น่าจะมีอายุไม่เกินกว่า๒,๕๐๐ ปี
          หลักฐานทางเอกสาร จากบันทึกชาวต่างชาติเช่นเอกสารโบราณของอินเดียกล่าวถึงการเดินทางมาค้าขายและแสวงโชคที่เรียกว่าสุวรรณภูมิซึ่งสันนิษฐานว่า หมายถึงดินแดนในคาบสมุทรมลายู ได้คัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๕๐๐ คัมภีร์มหานิเทศ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่๗ - ๘ จดหมายภูมิศาสตร์ของปโตเลมี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘ คาบสมุทรทองคำน่าจะหมายถึงสุวรรณทวีปในวรรณคดีอินเดีย ซึ่งก็คือแผ่นดินคาบสมุทรมลายู โดยอาจนับรวมตั้งแต่พม่าตอนใต้ไปจนสุดปลายคาบสมุทร สินค้าที่พ่อค้าอินเดียขายให้กับพ่อค้าโรมัน ส่วนใหญ่นำมาจากที่อื่นโดยเฉพาะจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และจีน
           สำหรับบันทึกของจีนทเก่าที่สุด กล่าวถึงการเดินทางมายังคาบสมุทรมลายูคือ จดหมายเหตุเฉียนฮั่นซูทำให้ทราบว่าการเดินเรือของจีนไปยังอินเดีย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๔๐๐ - ๔๕๐ นั้นไม่ได้อ้อมแหลมมลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้ขึ้นฝั่งแถบคอคอดกระ แล้วเดินทางบกประมาณสิบวันแล้วจึงลงเรือเลียบชายฝั่งต่อไปอินเดีย ใช้เวลาสองเดือน
          เส้นทางข้ามคาบสมุทร การเดินทางในมหาสมุทรอินเดียในยุคแรก ๆ ต้องมาขึ้นฝั่งตอนกลางหรือตอนบนของคาบสมุทรจนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ การต่อเรือได้พัฒนามากขึ้น สามารถเดินเรือข้ามมหาสมุทรโดยอาศัยลมมรสุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรมายังอ่าวบ้านดอนมีหลายเส้นทาง ได้แก่
                 -  เส้นทางสายตะกั่วป่า - อ่าวบ้านดอน หรือเส้นทางสายปากพนม เริ่มจากปากคลองลาว อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเดินทางบกผ่านเขาต่อมายังบ้านปากพนม อันเป็นจุดรวมของคลองสองสายคือ คลองสกกับคลองพนมแล้วเดินทางต่อไปลงแม่น้ำพุบดวง ผ่านบ้านพังกา บ้านยางยวน และบ้านตาขุน อำเภอตาขุนจังหวีดสุราษฎร์ธานี ออกไปสู่อ่าวบ้านดอน
                 -  เส้นทางสายประกาไสย - อ่าวบ้านดอน คลองประกาไสยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ และอำเภอเขาพนมจังหวัดกระบี่ ไปลงคลองสินปุน แล้วออกไปแม่น้ำตาปี ที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีออกไปสู่อ่าวบ้านดอน
                 -  เส้นทางคลองท่อม - อ่าวบ้านดอน  คลองท่อมอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรในเขตจังหวัดกระบี่ แล้วมาลงคลองสินปุนต่อไปออกอ่าวบ้านดอน ตามเส้นทางประกาไสย - อ่าวบ้านดอน
   หลักฐานทางโบราณคดี

           การตั้งถิ่นฐาน  พื้นที่บริเวณสันทรายหรือชายฝั่งทะเลของภาคใต้ น่าจะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้พบเครื่องมือขวานหินขัด ในชั้นดินร่วมสมัย กับเครื่องถ้วยจีนและเหรียญเงินจีนในสมัยราชวงศ์ถัง มีอายอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ขวานหินขัดจึงเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่ชุมชนใช้สืบเนื่องต่อกันมา แม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในรูปแบบเดิมในยุคหินแล้วก็ตาม

          โบาราณวัตถุ โบราณวัตถุที่เป็นตัวแทนของยุคนี้คือ วัตถุนำเข้า ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ผลิตขึ้นเองที่สำคัญคือกลองมโหระทึกสำริด เป็นหลักฐานแสดงถึง การเข้ามาของพ่อค้า นักเดินเรือจากจีนตอนใต้หรือเวียดนามตอนเหนือ รวมสมัยเดียวกันกับการเข้ามาของอินดีย บริเวณที่พบกลองมโหระทึกมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่ประเทศมองโกเลียตอนในลงไปถึงแหลมอินโดจีน ประเทศไทยประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะอินโดนิเซีย ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้พบกลองมโหระทึกจำนวนห้าใบที่อำเภอพุนพินสองใบ อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ และอำเภอเกาะสมุย อำเภอละหนึ่งใบ

                 -  วัดขี้เหล็ก(ร้าง)  อยู่ที่บ้านท่าผาก - น้ำรอบ ตำบลบางเดือน อำเภอพุนพินพบกลองมโหระทึกสองใบซ้อนกันใบที่สมบูรณ์สูง ๔๔ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๕๐.๕ เซนติเมตร ตรงกลางมีรูปดวงอาทิตย์๑๒ แฉก ระหว่างแฉกมีลวดลายสามเหลี่ยม และรูปปลายจุดอยู่ตรงกลาง โดยรอบเป็นลายสัญลักษณ์ประแจจีนถัดไปเป็นรูปนกมีปากและหางยาว บินทวนเข็มนาฬิกาจำนวนสี่ตัว ด้านล่างเป็นลวดลายขีดตั้งฉากสั้นๆ และทะแยงสลับกัน ภายในกลองพบลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้มจำนวน ๒๑ เม็ด และรูปสัตว์สี่ขาคล้ายช้างยืนอยู่บนแท่นทำด้วยสำริดสูง ๕ เซนติเมตร มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ปีมาแล้ว
                 -  แหล่งในอำเภอไชยา พบกลองมโหระทึกสูง ๓๙ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๕๑ เซนติเมตร ตรงกลางมีลวดลายดวงอาทิตย์๑๒ แฉก ถัดมาเป็นลวดลายวงกลมที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นทะแยงสลับกับเส้นขีดเป็นช่องมีรูปนกมีปากและหางยาวสี่ตัวบินตามเข็มนาฬิกา ข้างกระพุ้งกลองมีลวดลายขีดเป็นช่องและมีลวดลายวงกลมสลับกันไป มีหูสี่หูบริเวณใต้หูมีลวดลายเช่นเดียวกับที่กระพุ้งกลอง
                 -  วัดตลิ่งพัง อยู่ในเขตตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย พบกลองมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ๑ เมตร ตัวกลองสูง ๕๓.๕ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๖๙.๕ เซนติเมตรด้านหน้ามีลวดลายประกอบด้วยดวงอาทิตย์มี ๑๒ แฉก ตรงกลางหน้ากลอง ระหว่างแฉกเป็นลายสามเหลี่ยมฐานโค้งล้อมรอบด้วยลวดลายขีดตาราง และวงกลมที่มีเส้นทะแยงเชื่อมต่อกัน จากนั้นมีลวดลายคล้ายตัวz วางตัวในแนวนอน ช่วงกึ่งกลางหน้ากลอง มีลวดลายเป็นรูปสัญลักษณ์คล้ายคนอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ละสามคน ถัดไปเป็นรูปนกมีปีกและหางยาว บินทวนเข็มนาฬิกาจำนวนสิบตัว แล้วเป็นลวดลายขีดและวงกลมที่มีเส้นทะแยงเชื่อมต่อกัน กระพุ้งกลองส่วนบนสุดเป็นลวดลายวงกลมและขีด ถัดลงมาเป็นลวดลายรูปเรือทรงโค้งไม่มีใบและมีสัญลักษณ์คล้ายคน จำนวน ๑๒ คน อยู่บนเรือมีจำนวนหกลำด้วยกัน แล้วจึงเป็นส่วนหูจำนวนสี่หูถัดมาส่วนกลางกลองเป็นลวดลายสัญลักษณ์คล้ายคนอยู่ในแต่ละช่อง ๆ ละหกคน มีลวดลายขีดทะแยงและวงกลมที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นทะแยงสลับกันไป จำนวนหกช่อง
           รูปแบบกลองมโหระทึกที่พบเป็นแบบเฮเกอร์ ๑ เป็นกลองขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายกลองรำมะนาส่วนที่อยู่เหนือหูมีลักษณะผายออก ตรงกลางเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนล่างสุดโค้งผายออกและกลมคล้ายบาตรคว่ำความมุ่งหมายในการทำกลองมโหระทึก มีดังนี้
                 ๑. ใช้ตีในพิธีกรรมขอฝน
                 ๒. ใช้เป็นสิ่งแสดงถึงความมั่งมี หรือตำแหน่งผู้นำหมู่บ้าน
                 ๓. ใช้เป็นวัตถุสำคัญในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
                 ๔. ใช้ตีในการรักษาคนไข้และขับไล่ภูติผี
                 ๕. ใช้ตีเป็นสัญญาณในการออกสงคราม
                 ๖. ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
            เมืองท่าที่พบกลองมโหระทึกมักจะอยู่ฝั่งอ่าวไทย


            โบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่น่าจะเป็นของยุคสมัยนี้คือ ต่างหูที่เรียกว่าลิง - ลิง - โอ  ทำจากหินสีเทาอมเขียว พบในเขตตำบลวัง อำเภอท่าชนะ ลักษณะเป็นห่วงวงกลมหนารูปโค้งไม่ติดกัน กรอบด้านนอกวงโค้ง มีปุ่มรูปคล้ายหัวลูกศรสามปุ่ม ต่างหูแบบนี้เคยพบที่ถ้ำตาบอนประเทศฟิลิปปินส์ ที่เมืองสาหูนท์ ประเทศเวียดนาม ในไต้หวัน และในทางตอนใต้ของจีนมีอายุอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
    สภาพเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม
            ช่วงระยะประมาณพุทธศตววรษที่ ๕ - ๑๐  เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมอย่างมากมายต่อชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เดิม
จึงจัดให้ช่วงเวลานี้เป็นยุคชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
            ชุมชนเมืองท่าและสถานีการค้า จากข้อจำกัดในการเดินเรือในยุคแรก ๆ ทำให้คาบสมุทรมลายูกลายเป็นสถานีการค้าหรือเมืองท่าที่เรือสินค้าทั้งจากจีน อินเดีย และอาหรับต้องแวะพักเพื่อหาเสบียงซ่อมแซมเรือและขนถ่ายสินค้า เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญเชื่อมต่อฝั่งทะเลทั้งสองด้านชุมชนเมืองท่ารอบอ่าวบ้านดอนก็มีสภาพดังกล่าว จากบันทึกของจีนเมืองท่าที่สันนิษฐานว่าตั้งอยู่รอบอ่าวบ้านดอนคือเมืองพัน- พัน ส่งคณะทูตไปจีนระหว่างปี พ.ศ.๙๖๗ - ๑๐๗๗  จดหมายเหตุจีนราชวงศ์เหลียง(พ.ศ.๑๐๔๕ - ๑๐๙๙) บันทึกว่าเกียว - เชน - หยู (โกญทัญญะ) ผู้ครองประเทศฟูนัน(พ.ศ.๙๐๐ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐) แต่เดิมเป็นพราหมณ์ชาวอินเดียได้เดินทางลงใต้มายังรัฐพัน- พัน ชาวเมืองยินดีต้อนรับ เลือกเข้าเป็นกษัตริย์ของตน ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบต่างๆ ในฟูนันให้เป็นอย่างประเทศอินเดีย
            ชุมชนเกษตรกรรม การรู้จักใช้สำริดและเหล็ก ทำให้เกิดพัฒนาการการทำนาที่เปลี่ยนมาเป็นนาดำแบบที่มีคันนาทดน้ำแต่ไม่มีหลักฐานว่าเริ่มแต่เมื่อใด  อินเดียและจีนมีส่วนเป็นผู้ให้วิทยาการต่างๆ แก่ชนพื้นเมือง หลักฐานที่แสดงว่าเป็นฝ่ายอินเดียคือ คัมภีร์มหานิเทศชี้นำว่าถ้าชาวอินเดียต้องการแสวงโภคทรัพย์ ให้แล่นเรือไปในมหาสมุทรทางตะวันออกไปสู่เมืองท่าต่างๆ
           ส่วนหลักฐานที่สนับสนุนฝ่ายจีนตอนใต้น่าจะได้แก่ กลองมโหระทึก ซึ่งเข้าใจว่ามีไว้ใช้ในพิธีกรรมการเพาะปลูกหรือพิธีขอฝนรูปสัตว์ที่อยู่บนกลอง และข้างกลอง เช่น กบ หอยทาก ช้างจักจั่น ล้วนเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการขอฝนในประเทศจีนตอนใต้เชื่อว่ากบและคางคก จะบอกล่วงหน้าว่าฝนจะมาในพิธีขอฝนจะมีกบ และคางคกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
           การที่ชุมชนผลิตอาหารเอง รู้จักการทดน้ำและระบายน้ำในการทำนาข้าว ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นชุมชนอยู่อาศัยติดที่มีการแบ่งกลุ่มอาชีพ เป็นพื้นฐานการพัฒนาเข้าสู่ระบบสังคมเมือง

          วัฒนธรรมทางศาสนา ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ เป็นสื่อสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมอินเดียแพร่หลาย การที่ชาวพื้นเมืองสามารถบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับในหมู่สังคมท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้นและกลายเป็นศาสนาประจำชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมาในขณะที่นักบวชในศาสนาพราหมณ์นั้นสืบทอด ผ่านระบบวรรณะและสายโลหิตเฉพาะในตระกูลพราหมณ์เท่านั้นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย สนองตอบความต้องการแก่ชนชั้นผู้นำมากกว่าลัทธิศาสนาอื่นเทวรูปพระวิษณุที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๐ แสดงว่าศาสนาพราหมณ์ได้มาตั้งมั่นในดินแดนส่วนนี้ ในขณะที่โบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่มีอายุเก่ากว่านี้ยังไม่พบเลย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |