อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

| หน้าแรก |

ระเบียงคด

เป็นกำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนกับกำแพงชั้นนอก มีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ซึ่งอยู่ตรงกับซุ้มประตูใหญ่ของกำแพงชั้นนอก ระเบียงทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ยาว ๘๐ เมตร  ด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาว ๗๒ เมตร ภายในระเบียงคดมีทางเดินทะลุถึงกันโดยตลอดกว้าง ๒ เมตรเศษ หลังคามุงด้วยหินทรายสีแดงเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม

บรรณาลัย
 
ตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มประตูกำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันตก สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงขนาดกว้าง ยาว ด้านละประมาณ ๒๖ เมตร ลักษณะคล้ายธรรมศาลาที่อยู่ภายนอกปราสาท คือมีระเบียงล้อมรอบและระเบียงผ่านกลาง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และคงจะใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวของกษัตริย์ และผู้ตามเสด็จ เพื่อมาประกอบพิธีทางศาสนา หรืออาจจะใช้เป็นที่เก็บสรรพตำรา

สระ
 
มีอยู่หลายสระ ทั้งภายในและภายนอก บริเวณปราสาท สระที่อยู่ภายในบริเวณปราสาทมีอยู่สี่สระ อยู่ที่มุมลานชั้นนอก สระเหล่านี้สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำที่สำคัญของอินเดียทั้งสี่ คือ แม่น้ำคงคา ยมนา สินธุ และพรหมบุตร ซึ่งถือว่าไหลมาจากแดนสวรรค์ นำไปแม่น้ำดังกล่าวเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาบแล้วชำระบาปได้ ดังนั้นน้ำในสระเหล่านี้จึงใช้ในพิธีทางศาสนา

กำแพงและประตูชั้นนอกของปราสาท
 
สร้างด้วยหินทรายสีแดง และใช้ศิลาแลงเป็นรากฐาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านทิศเหนือและทิศใต้ กว้างประมาณ ๒๒๐ เมตร ด้านตะวันออกและตะวันตก ยาวประมาณ ๒๗๘ เมตร สูงประมาณ ๘ เมตร มีซุ้มประตูที่กำแพงแต่ละด้านทั้งสี่ทิศ ซุ้มประตูด้านทิศใต้เป็นด้านหน้าของศาสนสถาน 
หน้าซุ้มประตูทำเป็นสะพานนาค ยาวประมาณ ๓๒ เมตร กว้างประมาณ ๔ เมตรสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร มีบันใดลงสู่พื้นดินแยกออกเป็นสามทาง เชิงบันใดมีรูปสิงห์ตั้งอยู่
ธรรมศาลา (คลังเงิน)

อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของซุ้มประตูด้านใต้ ตัวอาคารสร้างจากหินทรายและศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒๖ เมตร ยาวประมาณ ๓๕ เมตร โบราณวัตถุที่ยังอยู่ภายในอาคารแห่งนี้ในระดับความลึกต่าง ๆ กันได้แก่ หม้อดินเผาเคลือบสมัยลพบุรี กระดิงสำริด กำไรสำริด พระพุทธรูปและเทวรูปสำริด แม่พิมพ์พระดินเผา หินบดยา เครื่องประดับกายทำด้วยทองคำสีดอกบวบ เป็นแหวนและสายสร้อย ฐานรูปเคารพทำด้วยหินทราย
การที่ได้ชื่อว่าธรรมศาลา สันนิษฐานว่าที่นี่อาจจะใช้เป็นที่สาธารณะของคนทั่วไป และอาจจะใช้เป็นสถานที่พยาบาลคนเจ็บป่วย รวมทั้งใช้ทำพิธีทางศาสนา ส่วนที่เรียกว่าคลังเงินนั้น เนื่องจากได้มีผู้พบเหรียญสำริดจำนวนหนึ่ง ตัวเหรียญด้านหนึ่งทำเป็นรูปครุฑหรือหงส์ อีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรโบราณ จึงได้เรียกว่าคลังเงินตั้งแต่นั้นมา
ธรรมศาลานี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระชัยวรมันที่ ๗ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายประการ บ่งให้เชื่อได้เช่นนั้น

เมรุพรหมทัต
 
เป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๙ เมตร สูงประมาณ ๓๐ เมตร บนเนินดินเป็นสิ่งก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๙ เมตร ยาวประมาณ ๑๓ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร สร้างด้วยอิฐ  นิยายพื้นเมืองมีว่า สถานที่นี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพท้าวพรหมทัต สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา

กำแพงและประตูเมือง
 
กำแพงเมืองพิมาย เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๓๖๕ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๓๐ เมตร อยู่ในพื้นที่ที่เกือบจะมีลำน้ำล้อมรอบ ตัวกำแพงสร้างเป็นคันดิน ประตูเมืองมีสี่ประตู สร้างด้วยศิลาแลง ประตูด้านทิศใต้นี้เรียกว่าประตูชัย เป็นด้านหน้าของศาสนสถาน


| หน้าแรก | บน |