อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

| หน้าแรก |

เมืองศรีเทพเพิ่งค้นพบไม่นานมานี้ คือเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์
เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่นๆ ได้สะดวก ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียง มาผสมผสาน เช่นศิลปทวาราวดี และศิลปขอม เป็นต้น
 
เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ ๑๐๗ กม. ห่างจาก อำเภอวิเชียรบุรี ประมาณ ๒๕ กม. เป็นเมืองเก่าแก่มีอายุประมาณ ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นเมืองสมัยที่ขอมมีอำนาจ เดิมชื่อเมืองอภัยสาลี มีเนื้อที่ประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒยสัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษา และพัฒนา บรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองศรีเทพตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ โดยในขั้นแรกได้จัดทำแผนแม่บทก่อน ขั้นต่อมา จึงได้ทำการบูรณะ และบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างดังกล่าวให้มั่นคงถาวร
ประติมากรรมศิลานี้ค้นพบที่เมืองศรีเทพ ได้นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครส่วนใหญ่ของประติมากรรมดังกล่าว เป็นเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เช่น เทวรูปพระนารายณ์ พระกฤษณะ และพระอาทิตย์ เป็นต้น สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ศิลาจารึกที่มีลักษณะคล้ายเสาหลักเมือง จารึกเป็นภาษาสันสกฤต ยังไม่ทราบความหมาย ตัวอักษรมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ส่วนศิลาจารึกอีกสองหลักที่อ่านได้  หลักแรกกล่าวถึงพระเจ้าภววรมัน ตัวอักษรที่จารึกอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ส่วนอีกหลักหนึ่งจารึกเป็นอักษรขอมอายุประมาณ พุทธศตวรรคที่ ๑๕-๑๖ ได้กล่าวถึงชื่อบุคคลเกี่ยวกับอิทธิพลของขอม ศิลปะขอมสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-ประมาณ พ.ศ.๑๗๖๐) เช่นรูปทวารบาลศิลา
ดังได้กล่าวแล้วว่าเมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองสองชั้น คือมีเมืองในและเมืองนอก  เมืองในเป็นส่วนที่สำคัญของเมืองศรีเทพ เพราะประกอบไปด้วยโบราณสถานขนาดใหญ่ถึง ๗๗ แห่ง มีช่องทางเข้าออกได้ ๘ ช่องทาง และมีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป รูปร่างของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ ๑๖๐๐ เมตร  ส่วนเมืองนอกอยู่ทางทิศตะวันออก โดยมีคูน้ำกั้นอยู่มีช่องทางเข้า - ออก อยู่ ๗ ช่องทางและมีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไปเช่นกัน มีโบราณสถานที่พบแล้วอยู่ ๕๗ แห่ง เมืองนอกนี้มีขนาดใหญ่กว่าเมืองใน ทั้งสองเมืองนี้มีเชิงเทินที่ก่อด้วยดินและศิลาแลงล้อมรอบ สูงประมาณ ๖ เมตร ฐานกว้าง ๑๘-๒๗ เมตร และส่วนยอดกว้าง ๕-๙ เมตร นอกเชิงเทินมีคูเมืองล้อมรอบ ส่วนที่กว้างสุดประมาณ ๙๐ เมตร มีประตูทั้งหมด ๑๑ ประตู แต่ละประตูกว้างประมาณ ๑๘ เมตร
 
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ในชั้นดินระดับลึกสุด (ชั้นดินทราย) ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ๕ โครง โครงหนึ่งเป็นเพศหญิงนอนหงาย หันศรีษะไปทางทิศเหนือ มีกำไลสำริดคล้องแขนซ้ายบริเวณข้อศอก และมีเครื่องประดับทำด้วยหินสีส้มคล้องคอ รอบโครงกระดูกมีลูกปัดกระจายอยู่โดยรอบ จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองศรีเทพนี้เก่าแก่ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ก็มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล อาจเป็นเมืองที่ชาวอินเดียมาตั้งขึ้นแต่เดิม เพราะอยู่บนเส้นทางผ่านจาก ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังอาณาจักรฟูนันและอาณาจักรขอม ต่อมาขอมได้เข้าครอบครองจนกระทั่งขอมหมดอำนาจลง และเมืองศรีเทพได้ถูกทอดทิ้งเป็นเมืองร้างประมาณปลายพุทธศตวรรตที่ ๑๘ 
โบราณสถานที่สำคัญ
ปรางค์สองพี่น้อง
 
           เป็นปรางค์ขนาดย่อมก่อด้วยอิฐไม่ "สอ" ปูน ตัวปรางค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์ใหญ่หรือปรางค์พี่ ตั้งอยู่บนฐาน ๒ ชั้น ภายในตัวปรางค์มีแท่นสำหรับตั้งศิวะลึงค์ตั้งอยู่ ส่วนปรางค์น้องนั้น ปรักหักพังเกือบหมด ปรางค์นี้สันนิษฐานว่า มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์ศรีเทพ คือประมาณพุทธศตวรรตที่ ๑๖-๑๗
ปรางค์ศรีเทพ
 
           อยู่ทางเหนือของเขาคลังใน ฐานก่อด้วยศิลาแลงแบบบัวลูกฟัก ๒ ชั้น ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน เป็นรูปสีเหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันตก ทับหลังสลักเป็นรูปลายเกียรติมุก หรือลายหน้าสิ และเทวดา พร้อมทั้งลายท่อนพวงมาลัย สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะของขอมแบบปาปวนตอนปลาย  ต่อกับนครวัดตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรตที่ ๑๖-๑๗ 
เขาคลังใน 
 
              เป็นโบราณสถานทางพุทธศาสนา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒๘ เมตร ยาวประมาณ ๔๔ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ ๘ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ เมตร ที่ฐานมีลายปูนปั้น ส่วนอื่น ๆ พังทะลายลงเกือบหมด การที่ได้ชื่อนี้เพราะชาวบ้านในบริเวณนี้เชื่อว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติของคนในสมัยโบราณ 
สระแก้วสระขวัญ      อยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมือง สระน้ำทั้งสองนี้มีน้ำขังอยู่เต็มเปี่ยมตลอดปี น้ำในสระถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำ จากสระทั้งสองนี้เพื่อไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันก็ยังใช้น้ำจากสระดังกล่าว ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยาอยู่
โบราณวัตถุอื่น ๆ      ได้แก่ พระธรรมจักรเมืองศรีเทพ หลักศิลาจารึก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายตะปูหัวเห็ด จารึกอักษร คฤนเข้าใจว่าเป็นหลักเมืองศรีเทพ  แท่งศิลาจารึกสลักลวดลายอย่างเดียวกับที่เมืองพิมาย ศิวลึงค์ เทวรูป รูปยักษ์ เทพารักษ์และระฆังหิน


| หน้าแรก | บน |