| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


            สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ในเขตตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อใช้เส้นทางสาย แม่ริม - สะเมิง ซึ่งแยกจากทางหลวง สาย ๑๐๑ ผ่านน้ำตกแม่สาไปเล็กน้อย ก็จะถึงสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือติดกับถนนใหญ่
            ความเป็นมาของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔ คณะกรรมการว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการประชุมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ที่ประชุมได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ นำมาขยายพันธุ์ โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้จะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ของประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมให้การศีกษาค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม เพื่อรักษาทรัพยากรทางพรรณพืชอันล้ำค่าไว้

            ในการนี้พบว่าสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดคือ พื้นที่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ - ปุย ในเขตตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการปลูกพื้น ในพื้นที่มีห้วยนาหวาน ห้วยพันสี่ และห้วยแม่สาน้อย เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลไปบรรจบห้วยแม่สา ซึ่งเป็นห้วยสายใหญ่มีน้ำไหลตลอดปี พื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ และมีความสูงสลับเป็นระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับความสูง ๔๐๐ เมตร ขึ้นไปจนถึง ประมาณ ๙๕๐ เมตร การคมนาคมสะดวก มีเนื้อที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่
           ได้มีการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยให้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจัดให้องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระมหามงคล เฉลิมพระชนมายุหกสิบพรรษา และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ สวนพฤกษศาสตร์ขององค์การ ฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ว่า สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์

            ๑.  ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการ และบริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ
            ๒.  เป็นสถานที่รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จัดปลูกให้สวยงามร่มรื่น เป็นหมวดหมู่ อย่างผสมผสานตามอุปนิสัยของพรรณไม้
            ๓.  เป็นศูนย์อนุรักษ์พืชพันธุ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น กล้วยไม้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ตลอดจนขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น
            ๔.  เป็นศูนย์รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง เพื่อการตรวจสอบรายชื่อพันธุ์ไม้ที่ถูกต้อง และเป็นฐานข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง
            ๕.  เป็นสถานที่แสดงความงามของพรรณไม้ในธรรมชาติ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และสภาพแวดล้อม
            ๖.  เป็นศูนย์ส่งเสริมในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และฝึกอบรมทางด้านพฤกษศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
            ๗.  เป็นแหล่งรวบรวมเอกสาร และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องเกี่ยวกับพืช
            ๘.  เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านพฤกษศาสตร์ และพันธุกรรมพืชของประเทศ
            ๙.  เป็นแหล่งปลูกฝัง กล่อมเกลาจิตใจ และให้ความรู้แก่เยาวชน
            ๑๐.  เป็นสถานที่ส่งเสริม เผยแพร่ความสวยงาม และคุณค่าของพรรณพฤกษ์ชาติไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก
            จากการสำรวจพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย ได้อนุมานไว้ว่า ประเทศไทยมีพรรณไม้ชั้นสูงอยู่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ชนิด ได้มีการศึกษาและเขียนคำบรรยายไว้แล้วประมาณ ร้อยละ ๔๐ คือตกประมาณ ๖,๐๐๐ ชนิด และมีนักพฤกษศาสตร์ที่รู้จักพรรณไม้ดังกล่าวดีอยู่ไม่กี่ท่าน
การเข้าชมสวนพฤกษศาสตร์ ฯ

            การเข้าชมภายในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์ เสียค่าผ่านประตูคนละ ๒๐ บาท และรถยนต์คันละ ๓๐ บาท ในกรณีที่ไปกันสี่คนจะเป็นเงิน ๑๑๐ บาท แต่อุทยานแห่งชาติทั่ว ๆ ไปทั้งในภาคเหนือ และภาคอิสานมักจะเก็บเพียง ๑๐๐ บาท และได้ตั๋วมา ๕ ใบ
            ก่อนอื่นควรแวะที่ตึกศูนย์สารนิเทศก่อน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากประตูทางเข้ามากนัก โดยอยู่ทางด้านขวามือ ถ้าไม่แวะและขับรถตรงไปจะไปสู่เรือนพรรณไม้ต่าง ๆ เลยทีเดียว การแวะตึกนี้ก่อนก็เพื่อที่จะได้ข้อมูลโดยย่อของสวนพฤกษศาสตร์ จากเอกสารแนะนำที่แจกให้ฟรี จะได้วางแผนการเข้าชมให้ถูกต้อง นอกจากนั้น ณ อาคารดังกล่าวยังแสดงข้อมูลต่าง ๆ ของสวนพฤกษศาสตร์ มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ มีร้านขายของที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือของคนในท้องถิ่นมีห้องโถงจัดนิทรรศการ ห้องประชุมสำหรับแสดงสไลค์มัลติวิชั่นและวิดิทัศน์
            พื้นที่ของสวนพฤกษศาสตร์แบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น ๖ พื้นที่ด้วยกันคือ บริเวณสำนักงาน อยู่ติดกับถนนสายแม่ริม-สะเมิง บริเวณบ้านพักพนักงานอยู่ตรงกันข้ามคนละฟากถนนสายเดียวกัน บริเวณไม้ดอก และไม้ประดับ อยู่ติดกับบริเวณสำนักงาน บริเวณสวนรุกขชาติ และพันธุ์ไม้ป่าอยู่ถัดออกไปจากบริเวณไม้ดอก และไม้ประดับไปทางด้านทิศใต้ มีขนาดประมาณ ร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งหมด บริเวณพื้นที่อนุรักษ์อยู่ต่อจากพื้นที่สวนรุกขชาติ ฯ ไปทางด้านทิศใต้มีขนาดใกล้เคียงกับพื้นที่สวนรุกขชาติ และสุดท้ายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของสวนรุกขชาติ ฯ และพื้นที่อนุรักษ์มีพื้นที่ใหญ่กว่าพื้นที่อื่น ประมาณร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
            การเข้าไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทำได้ง่ายมีถนนคอนกรีตอย่างดีตัดเชื่อมต่อเป็นวงรอบผ่านไปทุกพื้นที่ แต่บริเวณไม้ดอกและไม้ประดับ เมื่อออกรถบริเวณสำนักงานแล้วก็สามารถเดินเที่ยวชมได้โดยง่าย ถ้ามีเวลามากพอควรเดินชมพื้นที่สวนรุกขชาติด้วย จะได้บรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากการนั่งชมบนรถที่ขับผ่านไปตามบริเวณดังกล่าว
            เมื่อสองปีก่อนยังไม่มีเรือนต้นไม้ประเภทต่าง ๆ แต่มาวันนี้ได้มีการสร้างเรือนต้นไม้ดังกล่าวรวมไว้ในบริเวณเดียวกัน มีลานจอดรถให้จอดได้เป็นจำนวนมาก แล้วลงเดินชมต้นไม้ประเภทต่าง ๆ ในเรือนต้นไม้ได้อย่างจุใจ ทุกต้นมีป้ายชื่อติดไว้ ทำให้เราได้รู้จักต้นไม้ไทยเพิ่มขึ้นอีกมากมายหลายร้อยชนิด บางชนิดเคยได้ยินแต่ชื่อเพิ่งมาเห็นต้นจริง ณ ที่นี้ บางชนิดไม่รู้จักทั้งชื่อและต้น จำกันไม่หวาดไหว นับว่ามีค่าควรแก่การเดินทางมาชมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้ที่มาถึงที่นี้แล้วขอให้เดินชมให้ทั่วถึง ซึ่งประมาณว่าถ้าชมกันอย่างกระวีกระวาดแล้ว น่าจะใช้เวลาชมประมาณ สามชั่วโมง สถานที่ที่ควรไปชมมีดังนี้
          กลุ่มอาคารเรือนกระจก

            เป็นสถานที่รวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ จากทั่วประเทศมาจัดปลูกแสดงไว้ในโรงเรือน มีอาคารเรือนกระจกรวม ๑๒ โรง ภายในมีการจัดตกแต่งพื้นที่ และปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ ให้คล้ายคลึงกับลักษณะที่พืชขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ประกอบด้วยโรงเรือนใหญ่จัดแสดงพรรณพืชถาวร อยู่ ๔ โรง โรงเรือนเล็กแสดงพรรณพืชทั่วไป ๘ โรง พืชที่รวบรวมมาแสดงจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจัดไว้ตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ สภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน ได้รับการควบคุมโดยระบบทันสมัย สามารถปรับระดับความชื้น การหมุนเวียนของอากาศ และปริมาณแสงแดดได้ตามต้องการ
             เรือนไม้น้ำ  แสดงพรรณไม้น้ำมากกว่า ๖๐ ชนิด โดยมีพันธุ์บัวของไทยเป็นหลัก เสริมด้วยพรรณไม้น้ำ พืชสกุลขิงข่า คล้า กก พืชชุ่มน้ำชนิดต่าง ๆ และพืชกินแมลง

             เรือนกล้วยไม้และเฟิร์น  แสดงกล้วยไม้ และเฟิร์น และพืชอิงอาศัยต่าง ๆ โดยเน้นที่กล้วยไม้ไทยเป็นหลัก พืชล่างเสริมด้วยเฟิร์น และพืชชุ่มน้ำ มีการตกแต่งภายในเป็นน้ำตก และลำห้วยที่มีน้ำไหลเย็นให้ชมได้ตลอดเวลา

             เรือนพืชทนแล้ง  แสดงพืชกลุ่มกระบองเพชร ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากหลายส่วนของโลก เช่นสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู และบราซิล นอกจากนี้ยังมีพืชอวบน้ำหลายชนิด เช่นสลัดได กุหลาบหิน ชวนชม เสมา ศรนารายณ์ และยังมีการรวบรวมพันธุ์ปรง ซึ่งเป็นพืชมีเมล็ดกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นในโลกไว้ด้วย
             เรือนส้มกุ้ง  เป็นที่รวมพันธุ์พืชกลุ่มส้มกุ้งที่สวยงามทั้งชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย และที่มีอยู่ในต่างประเทศ จัดแสดงไว้มากกว่า ๓๐ ชนิด
             เรือนพืชสมุนไพร  แสดงตัวอย่างพืชสมุนไพร ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และการนำมาใช้ประโยชน์
 
             เรือนป่าดิบชื้น  เป็นเรือนโรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบรรดาโรงเรือนทั้งหมด มีพื้นที่กว้างประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางเมตร สูง ๓๓ เมตร จัดแสดงพรรณไม้เขตร้อนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พืชวงศ์ปาล์ม และเฟิร์นพืชพื้นบ้านที่หายาก
ศูนย์วิจัยและพัฒนา สง่า สรรพศรี

         อาคารหอพรรณไม้  เป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการด้านพืช เป็นสถานที่เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างผลไม้แห้งต่าง ๆ มีศุนย์คอมพิวเตอร์ และห้องสมุดทางพฤกษาศาสตร์
          อาคารวิจัย  เป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัย และปฏิบัติการด้านพืชทั้งในระดับพื้นฐาน และในระดับสูง งานปรับปรุงพันธุ์พืช งานสกัดสารจากพืช และการหาองค์ประกอบของสารต่าง ๆ ทางด้านพฤกษสมุนไพร
          พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ  เป็นอาคารจัดแสดงและสาธิตให้ความรู้ทางด้านพืชธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับพืชด้วยเทคโนโลยีนำเสนอที่ทันสมัย สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
          เรือนรวมพรรณไม้ไทย  ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสวนพฤกษศาสตร์ ใกล้อาคารที่ทำการ เป็นสถานที่รวมพรรณ และจัดแสดงพรรณกล้วยไม้พื้นบ้านของไทย และกล้วยไม้ป่าที่ตรวจชื่อถูกต้อง มีอยู่ประมาณ ๓๕๐ ชนิด
เส้นทางเดินเท้าธรรมชาติ

          เส้นทางน้ำตกแม่สาน้อย - สวนหิน  เป็นทางเดินเท้าเรียบไปตามลำห้วยแม่สาน้อย ผ่านไปทางสวนหิน ซึ่งเป็นที่รวมพืชแล้งนานาชนิด และไปสิ้นสุดเส้นทางที่เรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
          เส้นทางสวนรุกขชาติ  เป็นเส้นทางเดินยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ผ่านแปลงรวมพรรณกล้วยบอน ปาล์ม เฟิร์น แปลงขิงข่า ปรง และสน

          เส้นทางวัลยชาติ  เป็นเส้นทางที่มีการจัดปลูกพืชพันธุ์ไม้เลื้อยไว้ตลอดทั้งสองข้างทางมากกว่า ๒๕๐ ชนิด เป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร
            วัลยชาติ คือพรรณไม้ประเภทไม้เลื้อย หรือรอเลื้อย ซึ่งมีโครงสร้างพิเศษ หรือส่วนที่ใช้สำหรับเกาะยึด และเลื้อยพันเช่นลำต้น มือเกาะหรือขอหนาม เป็นต้น มีทั้งที่เป็นเถา ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน และประเภทที่ไม่มีเนื้อไม้ชัดเจน วัลยชาติในกลุ่มเถาไม้เนื้อแข็ง เป็นกลุ่มที่ทำโครงสร้างป่ามีความแข็งแรง เพราะทำหน้าที่เปรียบเหมือนส่วนค้ำจุนไม้ใหญ่ไม่ให้โค่นล้มลงง่าย โดยจะเจริญจากพื้นดิน และเลื้อยพันไปสู่เรือนยอดไม้ เพื่อปรับตัวให้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ในชั้นเรือนยอด นอกจากนั้นวัลยชาติยังเป็นดัชนีความอุดมสมบูรณ์ของป่าอีกด้วย นั่นก็คือในป่าที่สมบูรณ์ จะพบพันธุ์ไม้เลื้อยต่าง ๆ นานาชนิดขึ้นอยู่หลากหลาย นอกจากนั้นวัลยชาติหลายชนิดเป็นอาหารพืชสมุนไพร พืชให้ร่มเงา เป็นไม้ประดับ และบางชนิดยังนิยมนำมาใช้ในงานศิลปหัตถกรรม
            ตัวอย่างวัลยชาติที่น่าสนใจที่นำมาปลูกไว้ได้แก่ กันภัยมหิดล เป็นพืชวงศ์ถั่ว มีดอกช่อมีชมพูม่วงแกมสีฟ้าอ่อน เป็นดอกไม้ประดับที่สวยงาม นกขมิ้น เป็นพืชถิ่นเดียวที่หายาก และพบในประเทศไทยบริเวณดอยสุเทพ - ปุย เป็นพืชอยู่ในสกุลกระเช้าสีดา มีดอกสีเหลือง เถาใบสีทอง เป็นพืชสกุลเสี้ยวป่า และเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก พบที่จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเด่นคือ มีใบแก่เป็นสีเหลือทองระยิบระยับ สิรินธรวัลลี เป็นพืชในสกุลเลี้ยงป่า ดอกสีส้มแดงสวยสด เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทย และได้รับการตั้งชื่อให้เพื่อเทิดพระเกียรติ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ในฐานะผู้เป็นหลักสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของไทย  เถาขยัน เป็นพืชสกุลเลี้ยงป่า เป็นพืชถิ่นเดียว เป็นพันธุ์ไม้หายาก ดอกเป็นช่อยาวสีแดงสด อรพิม เป็นพืชสกุลเลี้ยงป่า มีดอกใหญ่สีขาวสวยงามสะดุดตา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มะเมื่อย เป็นไม้เถาเนื้อแข็งโบราณ มีวิวัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างพืชกลุ่มสนและพืชชั้นสูง มีช่อดอกเป็นโคนคล้ายสน แต่มีใบคล้ายพืชใบเลี้ยงคู่  หิรัญญิการ เป็นไม้เถาที่เจริญรวดเร็วดอกใหญ่สีขาวสะดุดตา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา กำลังช้างเผือก เป็นไม้รอเลี้อยเนื้อแข็ง มีดอกสวยงาม เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง
          เส้นทางพันธุ์ไม้ประจำจังหวัด และพืชสมุนไพร  เป็นเส้นทางยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ตลอดเส้นทางจัดปลูกพรรณไม้พระราชทานของแต่ละจังหวัด และพืชสมุนไพรนานาชนิด
            เมื่อชมสวนพฤกษชาติแล้ว รายการที่ควรจะแวะชมต่อไปคือน้ำตกแม่สา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสวนพฤกษชาติไม่มาก บนถนนสายเดียวกัน เมื่อมุ่งหน้ากลับตัวเมืองเชียงใหม่ จะอยู่ทางด้านขวามือ ด้านเดียวกันกับ สวนพฤกษชาติ

| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |