บทที่แปด ตำราพิชัยสงครามของชาวสยาม และการทหารเรือกับทหารบก
            ๑. ชาวสยามไม่เหมาะที่จะเป็นนักรบ  ตำราพิชัยสงครามดูไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในเมืองสยาม และชาวสยามดูไม่ค่อยเหมาะกับงานประเภทนี้  คนควงดาบมาคนเดียวก็พอที่จะทำให้ชาวสยาม ตั้งร้อยวิ่งหนีได้
            ๒. ผู้ที่เกิดในชมพูทวีปได้รับการดูหมิ่นในเรื่องความกล้าหาญเพียงใด
            ๓. ชาวสยามตื่นเลือด  ความคิดในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียนต่อการเลือดตกยางออก สิดรอบความเหี้ยมหาญที่จะทำศึก  ตัวอย่าง เมื่อชาวพะโคยกทัพมาย่ำยีดินแดนสยามทางด้านหนึ่ง ชาวสยามก็ยกทัพไปในดินแดนชาวพะโคอีกด้านหนึ่ง แล้วทั้งสองฝ่ายก็กวาดต้อนครอบครัว พลเมืองของฝ่ายตรงข้ามไปเป็นทาสเชลย
            ๔. เขาแฝงเจตนาในการรบเพื่อพิฆาตข้าศึกอย่างไร  เมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายมาประจันหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยิงใส่กัน จงอย่าฆ่าเป็นพระบรมราชโองการของพระเจ้ากรุงสยาม เมื่อทหารเข้าสู่สนามรบ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มิให้ฆ่าเสียเลย เพียงแต่ว่าอย่ายิงสาดเข้าไปในหมู่ข้าศึกตรง ๆ เท่านั้น
            ๕. ทำอย่างไรที่ทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งจับพระราชาสิงขรได้
            ๖. ชาวสยามไม่ค่อยกลัวประเทศข้างเคียงนัก
            ๗. พระเจ้ากรุงสยามไม่มีกองทหารฝึกไว้ประจำการ นอกจากกองทหารรักษาพระองค์ชาวต่างประเทศเท่านั้น  ม.เลอ เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์แบ็ง  ได้ฝึกทหารเกณฑ์หัดชาวสยามไว้ ๔๐๐ คน ที่เมืองบางกอก และเมื่อท่านกลับไปแล้ว มีคนอังกฤษซึ่งเคยเป็นสิบเอก อยู่ที่เมืองมัทราสปถัม รับอาสาเป็นครูฝึกต่อได้อีก ๘๐๐ คน  ได้จัดให้ทหารเกณฑ์หัด ๔๐๐ คน ได้อยู่ใกล้บ้านเดิมของตน บริเวณเมืองบางกอก และอีก ๘๐๐ คน ไปประจำอยู่ที่เมืองละโว้  ซึ่งทหารเหล่านี้มีบ้านเรือนของตน ในกรุงหรือตำบลแถบนั้น
            ๘. เมืองสยามมั่นคงพอโดยไม่ต้องมีป้อมปราการ  โดยมีป่าไม้เป็นดงรกชัฎ ยากที่จะเข้าถึงได้ง่าย และมีแม่น้ำลำคลองหลายสายตัดกัน และยังมีน้ำท่วมปีละ ๖ เดือนอีกด้วย จึงไม่มีป้อมปราการด้วยเกรงว่า จะเสียป้อมแก่ข้าศึกไป
            ๙. ชาวสยามไม่รู้จักสร้างป้อมด้วยไม้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์ จะให้สร้างป้อมไม้ขึ้นที่แดนต่อแดนกับแคว้นพะโค  แต่ไม่มีใครทำการได้สำเร็จ นอกจากบาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งที่จำใจทำ ครั้นสร้างป้อมเสร็จแล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงผู้ว่าราชการเมืองโจสลัม อยู่ ๓ - ๔ ปี
            ๑๐. การยิงปืนใหญ่ของชาวสยาม  ชาวสยามมีปืนใหญ่ไม่มากนัก  ชาวปอร์ตุเกศที่เกิดที่เมืองมาเก๊า คนหนึ่งได้หล่อปืนใหญ่ถวายให้ไม่กี่กระบอก  แต่กถ้าให้ชาวสยามหล่อเองแล้ว ก็สงสัยว่าจะทำได้ดีขนาดไหน
            ๑๑. กองทัพสยามมีสิ่งใดบ้าง   โดยที่ชาวสยามไม่มีม้า กองทัพเขาจึงประกอบด้วย ช้าง และกองทหารราบ เดินด้วยเท้าเปล่า และถืออาวุธ เลว ๆ
            ๑๒. การบัญชาการรบกับการตั้งทัพ  ชาวสยามตั้งทัพเป็นสามแถว แต่ละแถวมีสามกองพันใหญ่ จัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พระเจ้าแผ่นดิน หรือนายพลที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์ต่างพระองค์ อยู่ในกองพันกลาง ตัวแม่ทัพรอง ๆ อันเป็นผู้บังคับกองพันก็ประจำอยู่กลางกองพันของตน ถ้ากองพันทั้งเก้านี้มีพลทหารมากเกินไป ก็แบ่งซอยออกเป็นกองพันละเก้ากองร้อยอีกขึ้นหนึ่ง ส่วนวิธีจัดขบวนทำนองเดียวกับตั้งทัพใหญ่
            ๑๓. ช้างศึก  ในกองพันทั้งเก้ามีกองช้างพลายอยู่กองพันละ ๑๖ เชือก รายไว้เบื้องหลัง เรียกว่า ช้างศึก ช้างแต่ละเชือกมีสัปคับผูกธงชัย และแต่ละเชือกมีช้างพังติดไปด้วยอีกสองเชือก ช้างแต่ละเชือกมีคนสามคนถืออาวุธขึ้นนั่งประจำหลัง  นอกจากนี้กองพันนั้น ๆ ยังมีช้างสำหรับบรรทุกสัมภาระ
            ๑๔. หน่วยปืนใหญ่ลงมือรบก่อน  ถ้าพื้นที่ใดขาดแม่น้ำ ก็บรรทุกปืนใหญ่ไปบนระแทะ ลากด้วยวัว หรือควาย ปืนใหญ่เริ่มลงมือก่อน
            ๑๕. ชาวสยามแตกกระจัดกระจายง่าย รวมกันใหม่ก็ง่าย
            ๑๖. ช้างไม่ค่อยเหมาะในการรบ  ในการรบชาวสยามหวังพึ่งกำลังช้างอยู่เป็นอันมาก  ช้างนั้นกลัวไฟอย่างยิ่ง แต่ชาวสยามก็ยังฝึกช้างให้บรรทุกปืนไฟย่อม ๆ ขนาดยาม สามฟุต  ใช้กระสุนหนักลูกละหนึ่งปอนด์ ไปบนหลังและฝึกให้เห็นการยิงปืนไฟบนหลังของมัน
            ๑๗. ชาวสยามไม่มีความสามารถในการล้อมค่ายศัตรู  ชาวสยามจึงไม่เคยโจมตีป้อมค่าย หรือปราการเมืองใด ๆ
            ๑๘. ชาวสยามอ่อนแอในทางทะเล   พระเจ้ากรุงสยามมีเรือกำปั่นขนาดย่อมเพียง ๕ - ๖ ลำ เท่านั้น  ส่วนใหญ่ใช้บรรทุกสินค้า บางครั้งก็ติดอาวุธเพื่อสู้รบกับประเทศข้างเดียว  แต่ว่านายเรือและลูกเรือเป็นชาวต่างประเทศทั้งสิ้น นอกจากนี้พระองค์ยังมีเรือกาแลร์ (เรือโบราณใช้ทั้งใบและแจว)  ขนาดย่อมอีก ๕๐ - ๖๐ ลำ เป็นเรือขนาดดาดฟ้าเดียว จุคนได้ลำละ ๕๐ - ๖๐ คน ใช้เป็นทั้งพลแจวและพลรบ  เรือเหล่านี้ใช้แล่นไปตามชายทะเลในอ่าวสยาม
บทที่เก้า พระคลัง และการคลัง
            ๑. ตำแหน่งพระคลัง   เป็นเจ้าพนักงานผู้ใหญ่กว่ากรมการพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เป็นผู้อำนวยการพระคลังหลวงของพระเจ้ากรุงสยามด้วย เป็นคลังสินค้าใหญ่ของพระองค์ เป็นทั้งเสนาบดีว่าการต่างประเทศด้วย เมื่อครั้งกระโน้นไม่ใช่การค้าเสรี  พระคลังเป็นผู้รับเงินภาษีอากรในพระนคร และในหัวเมืองทั้งปวง
            ๒. เงินภาษีอากรของพระเจ้ากรุงสยามมีที่มาจากรายได้สองประเภท   คือ ภาษีอากรในตัวเมืองกับภาษีอากรค่านา ภาษีอากรค่านานั้น ออกญาพลเทพ และวรเทพ เป็นผู้รับ
            ๓. สิทธิเหนือที่ดินประกอบกสิกรรมได้  นา ๔๐ ตารางวา เสียค่าอากร ๑ มะยน  หรือเสี้ยวของบาทต่อปี  ค่าอากรนี้แบ่งครึ่งกับเจ้าเมือง  พระเจ้ากรุงสยามทรงอุดหนุนพาหนะ วัว ควาย แก่ผู้จับจองบุกเบิกที่ดิน เพื่อประกอบกสิกรรม
            ๔. ภาษีเรือ   ภาษีเรือต่อและเรือขุด ราษฎรจะต้องเสียเป็นพิกัดตามความยาวของลำเรือ คิดว่าละหนึ่งบาท ในรัชกาลนี้เพิ่มพิกัดขึ้นใหม่ว่า เรือขุดและเรือต่อ ทุกลำที่ปากกว้างกว่า ๖ ศอกขึ้นไป เสียภาษี ๖ บาท  ตั้งด่านเก็บภาษีในที่บางแห่งของลำแม่น้ำโดยเฉพาะที่ชัยนาท ซึ่งอยู่เหนือพระนครขึ้นไปประมาณ ๔ ลี้ อันเป็นแควที่รวมแม่น้ำทุกสาย
            ๕. ภาษีขาเข้าและขาออก   ภาษีเบ็ดเสร็จเรียกเก็บจากสรรพสินค้าทุกชนิดที่นำเข้า หรือส่งออกทางด้านทะเล นอกจากค่าปากเรือที่เรียกเก็บตามส่วนระวางบรรทุก เช่น ภาษีเรือภายในอีกขึ้นหนึ่งต่างหาก
            ๖. อากรสุรา  เหล้าโรง หรือสุราที่ทำจากข้าว ทุกเตาที่สร้างขึ้นซึ่งเรียกว่า เตาเหล้า ราษฎรต้องเสียปีละหนึ่งบาท ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในรัชกาลนี้  และยังเรียกเก็บจากผู้ขายปลีกอีกคนละบาทด้วย  สำหรับผู้ขายนั้นต้องเสียอากรไหละ ๑ บาท ต่อปีต่างหาก
            ๗. อากรทุเรียน   เรียกเก็บจากต้นที่ให้ผลแล้วต้นละ ๑ บาท  ต้นที่ยังไม่ออกผล ต้นละ ๒ มะยม หรือครึ่งบาท
            ๘. อากรค้างพลู  ต้นพลูทุกค้าง เสียอากรปีละ ๑ บาท
            ๙. อากรต้นหมาก  ต้นหมากทุกต้น แต่ก่อนเคยเก็บภาษีทะลายละ ๓ ผล ปัจจุบันเป็น ๖ ผล
            ๑๐. ภาษีอย่างใหม่    เป็นภาษีเกี่ยวกับโรงบ่อนซึ่งอนุญาตให้มีขึ้นได้ในเมืองสยาม เงินส่วยที่ ออกญามีน ส่งเข้าคลังหลวงก็โดยทำนองคล้ายกัน  อย่างที่สองเป็นอากรต้นมะพร้าวเรียกเก็บต้นละครึ่งบาทต่อปี  อย่างที่สามอากรต้นส้ม ต้นมะม่วง ต้นมังคุด และต้นพริก เรียกเก็บต้นละบาทต่อปี
            ๑๑. ที่หลวงของพระเจ้าแผ่นดิน  พระองค์มีที่สวนและที่นาของพระองค์เองอยู่ในตำบลต่าง ๆ และโปรดให้ดำเนินการกสิกรรม เป็นส่วนพระองค์โดยใช้ทาสหลวง หรือเลกเกณฑ์ เข้าเดือนทำงาน  ให้เก็บและดูแลผลไม้ได้ผลมาเลี้ยงในพระราชฐาน  เป็นอาหารของ  ทาสหลวง ช้างหลวง ม้าหลวง และสัตว์พาหนะอื่น ๆ ของหลวง และให้ขายส่วนที่เหลือ
            ๑๒. บรรณาการ  หรือของถวายเป็นการจงที่พระเจ้าแผ่นดินทรงได้รับ  มรดกที่พวกขุนนางถวายเมื่อสิ้นชีพ หรือส่วนที่พระองค์ทรงชักออกจากกองมรดก  ค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พระองค์ทรงเรียกเก็บจากราษฎรในโอกาสต่าง ๆ
            ๑๓. การริบราชบาตรและพินัยหลวง   รายได้จากด้านศาลยุติธรรม มีการริบราชบาตร และการปรับไหม
            ๑๔. การเกณฑ์เข้ารับราชการ ๖ เดือน  ในบางตำบลเปลี่ยนเป็นให้ส่งส่วยข้าวเข้าฉางหลวงแทน  หรือไม่ก็ส่งส่วยไม้ฝาง หรือไม้เนื้อหอมต่าง ๆ  หรือดินประสิว หรือช้าง หรือหนังสัตว์ หรืองาช้าง  หรือพาณิชย์ภัณฑ์อย่างอื่น ๆ หรือไม่ก็ชำระเป็นเงินสด แต่ก่อนการเข้าเดือนรับราชการไถ่กันในอัตราเดือนละหนึ่งบาท  เพราะเงินบาทเดียวก็พอจะเลี้ยงชีพคน ๆ หนึ่งได้ตลอดเดือนแล้ว และยังใช้เป็นหลักในการจ่ายค่าแรงให้แก่คนงานเอกชนจ้างทำอยู่ตกเดือนละประมาณสองบาท เป็นอย่างน้อย โดยถือหลักว่าคนทำงานหกเดือน เพื่อเป็นค่าเลี้ยงชีพได้ทั้งปี  แต่ในรัชกาลนี้ทวีค่าไถ่ขึ้นเป็นเดือนละสองบาท
            ๑๕. การค้าอันเป็นรายรับประจำ หรือรายรับจร  รายได้อื่นของพระเจ้าแผ่นดินมีที่มาจากพณิชยกรรม พระองค์ทรงขยายการค้าของหลวงใหญ่โตขึ้นมาก จนกระทั่งว่าแทบจะไม่ใช่อาชีพของเอกชนใด ในสยามเสียแล้ว นอกจากขายส่งแล้ว ยังทรงเปิดร้านขึ้นในตลาดต่าง ๆ เพื่อขายปลีกอีกด้วย
            ๑๖. ผ้าฝ้าย  สินค้าสำคัญที่พระองค์ทรงขายคือ ผ้าฝ้าย  ทรงส่งไปยังคลังสินค้าหลวงตามหัวเมือง ซึ่งเดิมส่งไปจำหน่ายสิบปีต่อครั้ง และส่งไปไม่มากนัก พอให้เอกชนส่งไปจำหน่ายได้บ้าง มาบัดนี้พระองค์ทรงจัดส่งไปมิได้ขาด จนสินค้าผ้าล้นคลังสินค้า จนบางครั้งเพื่อให้การจำหน่ายปลีกดียิ่งขึ้น  พระองค์ต้องทรงบังคับราษฎรให้ลูกหลานนุ่งผ้าก่อนถึงกำหนดอาย อันเคยเป็นธรรมเนียมมาก็มี เมื่อก่อนที่ชาวฮอลันดาจะเข้าไปในราชอาณาจักรลาว  และในอาณาจักรใกล้เคียง พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงดำเนินการผูกขาดการค้าผ้าอยู่พระองค์เดียว ได้กำไรสุทธิเป็นอันมาก
            ๑๗. กาลิน หรือดีบุก  เป็นของหลวงทั้งสิ้น
            ๑๘. งาช้าง ดินประสิว ตะกั่ว ไม้ฝาง  บรรดางาช้างในบ้านเมืองนั้น ต้องตกเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งสิ้น  ราษฎรต้องนำมาถวายขายเท่าที่ตนหามาได้ทั้งหมด ชาวต่างประเทศจะหาซื้องาช้างได้จากคลังสินค้าหลวง แต่เพียงแห่งเดียว  การค้าดินประสิว ตะกั่ว และไม้ฝาง ก็เช่นกัน
            ๑๙. หมาก  เป็นสินค้าออกของราชอาณาจักรเป็นปริมาณมาก  ผู้ที่จะขายให้แก่ชาวต่างประเทศได้มีแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น  กรมพระคลังสินค้าหลวงเป็นผู้รับซื้อจากราษฎร นอกเหนือไปจากการชักภาษี ผลหมากจากทะลายได้ครบพิกัดแล้วนั้น
            ๒๐. สินค้าต้องห้าม   จำพวกกำมะถัน  ดินปืน และเครื่องสาตราวุธ ซื้อขายกันได้ที่พระคลังสินค้าหลวงเท่านั้น
            ๒๑. หนังสัตว์  พระเจ้าแผ่นดินจำต้องขายทั้งหมดให้แก่ให้แก่พวกฮอลันดาเท่านั้น เนื่องจากมีสนธิสัญญาทำต่อกันไว้
            ๒๒. การค้าที่เป็นเสรีแก่คนทั้งปวง  การค้านอกจากที่กล่าวมาแล้ว ทุกคนกระทำได้โดยเสรี เช่น การค้าข้าว ปลา เกลือ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลหม้อ กำยานสีเทา เหล็ก ทองแดง และขี้ผึ้ง  รัก ไข่มุก รังนกที่ใช้บริโภค รง กำยาน น้ำมัน มะพร้าว ฝ้าย อบเชย ดอกบัวหลวง  อบเชยป่า มาะขามและสินค้าอื่น ๆ
            ๒๓. เกลือ การประมง การล่าสัตว์  การจับปลามีการกวดขันอยู่บ้าง ออกพระท้ายน้ำ ผู้รับภาษีอากรในท้องน้ำ คอยห้ามกันไม่ให้ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำอันจะเป็นการทำลายพันธุ์ปลาเสียเป็นจำนวนมาก ในคราวเดียว
            ๒๔. พระเจ้ากรุงสยามทรงเก็บภาษีอากรได้เท่าใด  กล่าวกันว่าตัวเงินสดที่พระองค์ทรงได้รับ เมื่อก่อน ๆ นั้น สูงถึง ๑,๒๐๐,๐๐๐ ลีวร  แต่ปัจจุบันได้รับถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ ลีวร
บทที่สิบ พระราชลัญจกรและพระมหาอุปราช
            ๑. ไม่มีตำแหน่งเจ้ากรมราชลัญจกรในเมืองสยาม  พระเจ้ากรุงสยามไม่พระราชทานราชลัญจกรแก่ผู้ใด ขุนนางผู้ใหญ่ต่างคนต่างมีตราประจำตำแหน่งของตน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้  และพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงมีพระราชลัญจกร สำหรับพระองค์ทรงใช้ในพระราชหัตถเลขากับในศุภสารอื่นๆ  ลายในดวงตรานูนออกมา ใช้ถูตรานั้นด้วยหมึกแดงชนิดหนึ่ง และประทับลงในแผ่นกระดาษด้วยมือ เจ้าพนักงานชั้นผู้น้อยเป็นผู้ประทับ แต่ขุนนางผู้ใหญ่เจ้าของตรา เป็นผู้ประทับตราด้วยมือของตน
            ๒. มหาอุปราช  บรรดาสิ่งที่กระทำในพระปรมาธิไธย พระเจ้ากรุงสยามนั้น จะไม่มีอำนาจบังคับใช้เลย ถ้ามิได้กระทำ ณ สถานที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ประทับอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองสยามมีอุปราชคนหนึ่งโดยกำเนิดเป็นผู้ทำการแทน พระเจ้าแผ่นดินในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินไม่อยู่ มหาอุปราชมีสิทธินั่งเฝ้าตรงหน้าที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน (โดยไม่ต้องหมอบ)  เป็นพิเศษกว่าขุนนางคนอื่น
บทที่สิบเอ็ด วังหลวงกับกองทหารรักษาพระองค์
            ๑.  ขุนนางชั้นในและขุนนางชั้นนอก  วังหลวงมีเจ้าพนักงานพระนิเวศนารักษ์ชั้นใน กับชั้นนอก แต่ดำรงศักดิ์ผิดกันมาก เช่น ออกหมื่นชั้นในบังคับบัญชา ออกญา ชั้นนอกทั้งปวง เป็นต้น
            ๒. วังหลวงแบ่งออกเป็นสามชั้น   วังหลวงมีอาณาบริเวณระหว่างชั้นหนึ่งไปสู่อีกชั้นหนึ่งห่างกันมาก เป็นลานอันกว้างใหญ่ พระราชฐานชั้นไหนประกอบด้วย พระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน พระตำหนักหรือหอหลวง ๒ - ๓ หลัง  และพระราชอุทยานเรียกว่า วัง  วังหลวงทั้งสามชั้นรวมเรียกว่า ปราสาท  ชาวสยามจะไม่ย่างเข้าสู่ในวัง หรือออกมาโดยไม่หมอบลงกราบเสียก่อน และจะไม่ผ่านปราสาทเลยเป็นอันขาด มร.เดอ โชมองต์ กับคณะฑูตพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เมื่อย่างเหยียบขึ้นบกนั้น ก็ต้องละสัปทนของตนไว้ตั้งแต่พอย่างเข้าสู่ทางเข้าชั้นแรกของปราสาท
            ๓. ออกญาวัง  เป็นผู้บังคับบัญชาราชการในวังหลวง เป็นผู้เบิกจ่ายการทั้งปวงสำหรับพระเจ้าอยู่หัว พระราชชายาทั้งหลาย และมหาดเล็กเด็กชา รวมทั้งข้าราชบริพารทั้งปวงที่พระเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงไว้ในวังหลวง  ตัวออกญาวังกระทำดังผู้ว่าราชการเมืองทั้งปวง  ที่ออกมาต้อนรับคณะผู้แทนพิเศษพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ถึงต้นทางที่ย่างเข้าสู่เขตปกครองของตนคือ ออกมาต้อนรับที่ทหารวัง และเป็นผู้นำคณะฑูตเข้าเฝ้า
            ๔. ประตูวังหลวง และการระวังคนเข้าออก  ประตูวังหลวงนั้นปิดอยู่เสมอ และหลังประตูแต่ละประตู จะมีนายประตูถืออาวุธยืนรักษาอยู่  ถ้ามีใครมาเรียกจะเข้า นายประตูก็ไปเรียกตัวนายเวรผู้รักษาเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งนอกจากจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้นี้แล้ว ใครจะเข้าหรือออกมิได้เลย  แต่ใครจะถืออาวุธหรือดื่มสุราเมาเข้าไปไม่ได้เป็นอันขาด  นายประตูจะดมปากทุกคนที่เข้าไป
            ๕. หมื่นจง  ตำแหน่งนี้มีสองคน  และผู้ที่รับตำแหน่งนี้ ผลัดกันเข้าเวรประจำคนละวัน ถึงวันที่เข้าเวรแล้ว ต้องอยู่ประจำตลอด ๒๔ ชั่วโมง  ในวังหลวง วันไหนออกเวรพักก็อยู่กับบ้านได้
            ออกหมื่นจง เป็นคนหนึ่งที่เป็นผู้เชิญกระแสพระบรมราชปฎิสันถารนัดแรก ของพระเจ้ากรุงสยามมาพระราชทานแก่คณะฑูตพิเศษของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ซึ่งยังจอดเรืออยู่ที่ปากน้ำ และอยู่ประจำคณะฑูตตลอดจนขึ้นบก
            ๖. พวกแขนลาย  ระหว่างกำแพงวังหลวงทั้งสอง ในชั้นแรก ในทิมแห่งหนึ่งมีหมวดทหารน้อยตัวไม่ถืออาวุธหมอบประจำอยู่  คือพวกแขนลาย  ตัวนายเรียกกันว่า องค์รักษ์  ทั้งหมดทำหน้าที่เป็น ราชมัล ของพระเจ้าแผ่นดินด้วย ในวังหลวงมีสาตราวุธให้ทหารพวกนี้ใช้เมื่อคราวจำเป็น  ทหารพวกนี้เป็นผู้พายเรือพระที่นั่งต้น และพระเจ้ากรุงสยามไม่มีกองทหารรักษาพระองค์กองอื่น  พวกนี้ต้องรับราชการตามหมู่สืบทายาทกันมาโดยตลอด เช่น เลกไพร่หลวงกองอื่น ๆ  ทั่วราชอาณาจักร และกฎหมายเก่ากำหนดจำนวนพลไว้เพียง ๖๐๐ คน
            ๗. กองทหารรักษาพระองค์ในวันพระราชพิธีเอามาจากทาสหลวง   เป็นการเพิ่มเติมถ้ายังไม่พอก็เอาตัวทาสของบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ถืออาวุธ จ่ายเสื้อชั้นในตัดด้วยผ่ามัสลินย้อมสีแดงให้สวม จ่ายปืนสับนก หรือเกาทัณฑ์ให้ถือ และจ่ายหมวกรูปเหมือนหม้อมียอดทำด้วยไม้ ทาทองให้สวมทุกคน จมื่นจงทั้งคู่เป็นนายของทหารเหล่านี้  และทหารทาสเหล่านี้พายเรือยาวของข้าราชบริพารตามเสด็จ พระราชดำเนินทางชลมารค และจ่ายไปใช้ในราชการอื่น ๆ อีกหลายประเภท
            ๘. พระเจ้ากรุงสยามไม่มีทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่นแล้ว  พระเจ้ากรุงสยามทรงเคยมีทหารรักษาพระองค์ ชาวญี่ปุ่นถึง ๖๐๐ คน
            ๙. ทหารม้ารักษาพระองค์ชาวมอญและชาวลาว  ต้องเข้าเดือนรับราชการปีละหกเดือนเหมือนกัน ออกขุนราญพาชี    เป็นเจ้ากรมอัศวราชขวา  บุตรชายของเขาอยู่ในเมืองฝรั่งเศส และเข้าเรียนวิชาทำน้ำพุ อยู่ที่ตริอานอง มาหลายศกแล้ว  ออกขุนพิพิธราชา หรือที่ชาวเมืองเรียก ออกขุนเพทราชา นั้น บังคับม้าอีกกึ่งกองเป็น เจ้ากรมอัศวราชซ้าย   แต่เหนือนายทหารทั้งคู่นี้ ออกญาลาว  เป็นผู้บังคับบัญชาทหารม้าลาว และออกญามีน  เป็นผู้บังคับบัญชาทหารม้ามีน
            ๑๐. กองทหารม้าชาวต่างประเทศที่ได้ชุบเลี้ยง   มี ๑๓๐ คน แต่ทหารม้าดังกล่าวมาแล้ว ไม่ได้อยู่ประจำในวังหลวงเลย  เป็นแต่มีหมายให้ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว  เมื่อเสด็จ ฯ ออกนอกวังหลวงเท่านั้น
            ๑๑. ทหารม้ากองนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง  กองทหารม้าต่างประเทศจำพวกแรกเป็น แขกมัวร์  สองกอง ๆ ละ๓๐ คน  ล้วนเป็นแขกที่มีกำเนิด หรือพื้นเพอยู่ในเมืองมะหง่อ  (Mogol)   รูปร่างหน้าตาดี แต่ว่ากันว่าเป็นคนขี้ขลาดมาก จำพวกที่สอง เป็นกองจีนตาด มี ๒๐ คน ถือเกาทัณฑ์เป็นอาวุธ มีความกล้าหาญ จำพวกสุดท้ายอีกสองกอง ๆ ละ ๒๕ คน  เป็นแขกปายัง (Payens)  จากอินเดีย  แต่งกายแบบแขกมัวร์ เรียกกันว่า ราชบุตร  ไว้ตัวว่ามีเชื้อเจ้า มีความกล้าหาญ
            ๑๒. ค่าใช้จ่ายในการตั้งกองทหารม้าชาวต่างประเทศ  พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานอาวุธ และม้า แก่กองทหารนี้ นอกจากแขกมัวร์ทุกคน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีคนละ ๓ ชั่ง ๑๒ ตำลึง  ประมาณ ๕๔๐ ลีวร กับเสื้อสักหลาดสีแดงตัวหนึ่ง ส่วนผู้บังคับกองร้อยสองคนได้ ๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง  กับเสื้อสักหลาดแดงเข้มหนึ่งตัว พวกแขกราชบุตรก็ได้รับเสมอเหมือนกัน  ส่วนพวกจีนตาดได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดคนละ ๖ ตำลึง  ผู้บังคับกองร้อยได้ ๑๕ ตำลึง
            ๑๓. ช้างและม้าสำหรับวังหลวง  ในวังหลวงชั้นแรก มีโรงช้าง และโรงม้า เชือกและตัวที่พระจ้ากรุงสยามโปรดที่สุด เขาเรัยกช้างและม้าเหล่านี้โดยชื่อที่พระเจ้าอยู่หัวราชทานให้ เจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นธุระกับม้าหลวง ทั้งการเลี้ยงและการฝึก ทำหน้าที่ทำนองเจ้ากรมม้าต้น ชื่อว่า ออกหลวงชุมพล  มีปลัดกรมชื่อ  ออกหมื่อนศรีสินธพชาติ  ตัวเจ้ากรมเท่านั้นที่มีหน้าที่กราบถวายบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวได้
            ๑๔. ช้างมีนาม   ช้างที่ขึ้นระวางจะได้รับการปรนนิบัติสูงต่ำตามลำดับศักดิ์  แต่ละเชือกมีคนเลี้ยงมากมาย เมื่อออกจากโรงเพื่อเข้ารับราชการเป็นราชพาหนะก็ทรงเครื่องโอ่อ่า
            ๑๕. ช้างเผือก  ชาวสยามนับถือช้างมาก  เชื่อกันว่าเป็นสัตว์สูงศักดิ์  ทรงพลังและว่าง่าย เช่นนี้ย่อมมีวิญญาณอันเรืองนามสิงอยู่  ซึ่งในชาติก่อนจะเคยเป็นเจ้านายหรือขุนนางที่มีศักดิ์  ชาวสยามนับถือช้างเผือกยิ่งกว่าช้างสามัญ เป็นช้างที่หาได้ยาก  กล่าวกันว่ามีเฉพาะในเมืองสยามเท่านั้น ความจริงช้างเผือกไม่ได้ขาวสนิทแต่เป็นสีเนื้อ
            ๑๖. กรณีที่ชาวสยามปฎิบัติต่อสัตว์ที่มีสีขาว  ด้วยเหตุผลเดียวกันม้าสีขาว จึงเป็นที่โปรดปรานของชาวสยามมากกว่าสีอื่น  ชาวอินเดียเรียกม้าสีขาวว่า มะหง่ล แยกออกไปเป็น มะหง่ล อาเซียกับมะหง่ลยุโรป  ฉะนั้นไม่ว่าบรรดาสิ่งใดที่มีสีขาวไม่ว่าเป็นคน หรือสัตว์ก็เป็นที่นับถือของชาวสยามทั้งสิ้น  ถัดจากสีขาวก็มักนับถือสีดำขลับ ตรงกันข้ามเนื่องจากหายากพอ ๆ กัน  พระเจ้ากรุงสยามทรงเลี้ยงช้างเผือกไว้เชือกหนึ่งเสมอในวังหลวง ทราบมาว่าช้างเผือกนั้นบริโภคอาหารจากภาชนะทองคำ
            ๑๗. เรือพระที่นั่งพระเจ้ากรุงสยาม  การรักษาเรือพระที่นั่งต้นกับเรือแจวลำย่อม ๆ ของพระเจ้ากรุงสยามนั้น เป็นหน้าที่ของกลาโหม  โรงเก็บเรืออยู่เยื้องวังหลวง  มีแม่น้ำคั่น เรือแต่ละลำเก็บไว้ในลำคูเป็นช่อง ๆ โดยน้ำในแม่น้ำไหลเข้าไปถึง  ทุกคูมีโรงไม้คร่อมมีหลังคาคลุม  และลั่นกุญแจ มีคนเฝ้าตอนกลางคืน เรือยาวที่ใช้ในราชการธรรมดา ไม่ได้ตกแต่งให้งดงามเหมือนเรือที่ใช้ในงานพระราชพิธี
บทที่สิบสอง ขุนนางที่เข้าเฝ้าได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
            ๑. ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าที่ตรงไหน  ภายในวังมีตำหนัก หรือหอหลวง บางหลังตั้งอยู่โดดเดี่ยวเป็นที่ชุมนุม ของบรรดาขุนนางเพื่อปฎิบัติหน้าที่ราชการของตน  หรือเข้าเฝ้าคอยฟังกระแสพระบรมราชโองการ
            ๒. พระเจ้ากรุงสยามเสด็จออกขุนนางอย่างไร  พระที่นั่งองค์ที่พระองค์เสด็จออกขุนนางคือ  ท้องพระโรงที่โปรดเกล้า ฯ ให้คณะฑูตผู้แทนพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเข้าเฝ้า  และทรงแสดงพระองค์ชั่วแต่ทางช่องสีหบัญชรเท่านั้น สีหบัญชรเป็นคูหา มหาไพชยนต์ที่อยู่สูงขึ้นไป เปิดออกสู่ท้องพระโรงสูงกว่าชั้นล่างขึ้นไป ประมาณ ๙ ฟุต  จึงจำเป็นต้องวางบันไดถึงสามชั้น เพื่อให้ก้าวขึ้นไป พอที่จะถวายพระราชสารพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ต่อพระหัตถ์ของพระเจ้ากรุงสยามได้  พานทองคำเป็นภาชนะที่บรรดาขุนนางใช้ทูลเกล้าถวายสรรพสิ่งทุกอย่าง ต่อพระหัตถ์ของพระเจ้ากรุงสยามได้  พานทองคำเป็นภาชนะที่บรรดาขุนนางใช้ทูลเกล้าถวายสรรพสิ่งทุกอย่างต่อพระหัตถ์ ทั้งสองมุมท้องพระโรงด้านสีหบัญชรมีพระทวารสองช่อง  สูงเท่า ๆ กับช่องสีหบัญชร มีบันไดทางขึ้นแคบ ๆ คู่หนึ่ง เครื่องตกแต่งในท้องพระโรงมีเพียงฉัตรสามองค์  องค์หนึ่งเป็นนพปฎลอยู่ตรงช่องสีหบัญชรขึ้นไป อีกสององค์เป็นสัปตปฎล ตั้งอยู่สองข้างสีหบัญชร เศวตฉัตรในสยามเปรียบได้กับซุ้มพระราชอาสน์เหนือบัลลังก์ ในฝรั่งเศส
            ๓. มหาดเล็ก  ในท้องพระโรงนี้เป็นสถานที่ที่บรรดาขุนนางของพระเจ้ากรุงสยาม ถูกเบิกตัวออกมาจากห้องข้างเดียว ให้เข้าเฝ้ารับกระแสพระบรมราชโองการ มีเสวกหนุ่ม ๆ ๔๔ นาย  อายุมากที่สุดไม่เกิน ๒๕ ปี  เรียกว่า มหาดเล็ก  แบ่งออกเป็นสี่เวร ๆ ละ ๑๑ นาย  เวรต้นสองเวรเป็นฝ่ายขวา  หมอบเฝ้าอยู่ทางเบื้องขวาพระหัตถ์ อีกสองเวรเป็นฝ่ายซ้ายหมอบอยู่เบื้องซ้ายพระหัตถ์  พระองค์พระราชทานชื่อ และดาบยศเล่มหนึ่งให้ทุกคน เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่ง ไปสั่งมหาดเล็กชั้นนอก เรียกว่า ข้าหลวง  ข้าหลวงเหล่านี้พระองค์โปรดให้ออกไปตามหัวเมือง เพื่อปฎิบัติราชการ
            ๔. หน้าที่ของมหาดเล็ก  นอกจากที่กล่าวมาแล้ว มหาดเล็กชั้นใน ๔๔ นาย ยังมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกัน ถวายปรนนิบัติพระองค์  เช่น พวกหนึ่งทำหน้าที่ถวายพานพระศรี  อีกพวกหนึ่งรักษาพระแสงศาสตราวุธ พวกหนึ่งรักษาพระสมุด และถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตก็อ่านถวายหน้าพระที่นั่ง
            ๕. พระเจ้ากรุงสยามโปรดทรงพระอักษรเพียงใด   พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้อยากทรงทราบสรรพกิจจานุกิจทั้งปวงเป็นอันมาก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แปลหนังสือ คิว เคอร์ซ (Q Corce)  ออกเป็นภาษาสยาม  และได้โปรดเกล้า ฯ ให้แปลพงศาวดารของฝรั่งเศสมาแล้วหลายตอน  พระองค์ทรงรู้จักรัฐต่าง ๆ ในยุโรปเป็นอย่างดี มีผู้ยืนยันว่าพระองค์เคยรับสั่งอยูเสมอว่า  ศิลปการครองราชย์นั้นจะกระทำโดยเดาหาได้ไม่
            ๖. เจ้าพนักงานผู้บังคับบัญชามหาดเล็กชั้นใน  โดยที่หัวหมื่นมหาดเล็กทั้งสี่นาย มีตำแหน่งอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวเนืองนิจ จึงเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั้งหลายมาก แต่ก็ไม่ได้มีบารมีเสมอกัน มียศเพียงออกหมื่น หรือพระหมื่น คือ หมื่นไวยหมื่นสรรเพชญ์ หมื่นเสมอใจ  และหมื่นศรี  ดาบกับกฤช ที่พระราชทานแก่ หัวหมื่น มหาดเล็กนี้ประดับอัญมณี ทั้งสี่นายเป็นเจ้าหมู่มูลนายใหญ่ มีขุนนางผู้น้อยอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นอันมาก
            ๗. มีขุนนางอยู่คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ต้องหมอบเฝ้าต่อหน้าพระที่นั่ง  ในขณะที่ผู้แทนพิเศษพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เข้าเฝ้าอยู่นั้น มีขุนนางหนึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตไม่ต้องให้หมอบเฝ้า ท่านผู้นี้เอาแต่จ้องจับตาดูพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อคอยรับกระแสพระราชดำรัส ซึ่งท่านสังเกตรู้ด้วยวิธีบอกใบ้  แล้วท่านก็ทำอาการกิริยาบอกใบ้ต่อไป ยังเจ้าพนักงานผู้อื่นซึ่งอยู่นอก ท้องพระโรงอีกทอดหนึ่ง  เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงยุติการปฎิสันถาร กับพวกคณะฑูตแล้ว ในท่ามกลางความเงียบสนิทนั้น พระองค์ก็ทรงกระทำพระอาการบอกใบ้บางอย่าง  เราได้ยินเสียงเครื่องโลหะกระทบกัน คล้ายเสียงลูกพรวนกลองแบบหน้าเดียว เสียงนี้ประกอบด้วยเสียงกลองขนาดใหญ่มาก เสียงจึงทุ้มเป็นสง่า กลองใบนี้หุ้มด้วยหนังช้าง ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครเคลื่อนไหวเลย  จนกระทั่งพระเก้าอี้ถูกลากถอยหลังไปทีละน้อย  ห่างจากสีหบัญชรไป แล้วบานประตูสีหบัญชรก็หับเข้า เสียงประโคม และร่ำกลองกัมปนาทจึงยุติลง
บทที่สิบสาม สตรีในวังหลวง และเจ้าพนักงานภูษามาลา
            ๑. ห้องที่ประทับพระเจ้ากรุงสยาม  ในส่วนห้องที่ประทับ  ตัวเจ้าพนักงานล้วนเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น  เป็นผู้แต่งที่พระบรรทมและแต่งเครื่องพระกระยาหาร  ผู้ส่งอาหารจะจัดส่งเครื่องโภชนาหารให้แก่ขันที นำไปให้แก่ผู้หญิง ห้องเครื่องต้น  นางพนักงานหน้าเตาที่ปรุงพระเครื่องต้นนั้น จะใช้เกลือหรือเครื่องเทศ ก็ต้องชั่งน้ำหนัก
            ๒. พระอัครมเหสีที่ล่วงลับไปแล้วกับพระขนิษฐภคินี   บรรดาผู้หญิงในวังหลวง จะออกไปไหนไม่ได้ นอกจากตามเสด็จ ฯ พวกขันทีก็เหมือนกันไม่ออกไปภายนอก  ว่ากันว่ามีขันทีอยู่เพียง ๘ - ๑๐ คน เท่านั้น  มีทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ  พระอัครมเหสีที่ทิวงคตไปแล้ว  ซึ่งเป็นทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐภคินีของพระองค์เอง  ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะมีใครทราบนามของพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยปกปิดกันอย่างเร้นลับ โดยเชื่อทางไสยศาสตร์เกรงจะมีคนลอบทำกฤติยาคุณกับพระปรมาภิไธย  บางคนบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินของตนทุกพระองค์ หามีพระนามไม่ จนกว่าจะสวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อมาจึงเฉลิมสมัญญาถวาย
            ๓. เจ้าหญิงพระราชธิดาองค์เดียวของพระเจ้ากรุงสยาม  ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัยเยี่ยงพระอัครมเหสี  พระชายา อื่น ๆ ล้วนยำเกรงพระราชธิดาทั้งสิ้น
            ๔. พระเจ้ากรุงสยามทรงเอาลูกสาวชาวบ้านไปไว้ในวังหลวงสุดแท้แต่จะโปรด  พ่อแม่ถึงกับยอมไถ่ด้วยเงินตราเท่าที่หามาได้
            ๕. พระเจ้ากรุงสยามทรงมีพระสนมน้อยนาง   คือทรงมีอยู่ ๘ - ๑๐ คนเท่านั้น  และไม่มีกองทหารประจำสำหรับแผ่นดิน แม้ว่าหนังสือต่าง ๆ ที่มีผู้เขียนขึ้นไว้ต่างพากันพรรณาถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์ และเดชานุภาพของอาณาจักรสยามไว้อย่างมากมาย
            ๖. พระตำหนักอัครมเหสี  พระอัครมเหสีมีช้างพระที่นั่งกับเรือพระที่นั่ง มีขุนนางเจ้าพนักงานบำรุงรักษา และโดยเสด็จ ฯ เมื่อเสด็จประพาสที่ใด  มีเฉพาะนางกำนัลกับขันทีเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นพระนาง พระนางจะประทับในกูบบนหลังช้าง หรือในเก๋งของเรือมีพระวิสูตรกั้น พอให้พระนางทอดพระเนตรเห็นอะไร ๆ ได้  แต่บุคคลภายนอกจะมองไม่เห็นพระนางเลย  มีธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าเวลาพระนางเสด็จ ฯ ผ่านมา และไม่ทันจะเลี่ยงให้พ้นได้  ก็จะหันหลังให้พระนาง และหมอบก้มหน้าลงเสีย
            ๗. พระคลังและเรือกำปั่นของพระอัครมเหสี  ทรงมีเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง ทรงทำการค้าขาย
            ๘. การสืบราชสมบัติและเหตุผลที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น   พระราชธิดาจะทรงเป็นมกุฎราชกุมารี สืบสันตติวงศ์ไม่ได้  ตามธรรมดาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ใหญ่ของพระอัครมเหสี มักเป็นผู้ทรงสืบราขสมบัติตามนิติประเพณี  พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์พอพระทัยที่จะใช้พระบรมราโชบาย ทำให้การสืบราชสมบัติไม่แน่นอน
            ๙. โอกาสที่ฮอลันดาได้เป็นใหญ่ในเมืองบันตัม
            ๑๐. การสืบราชสมบัติในกรุงจีน  มิได้เป็นไปโดยเรียบร้อยกันนัก  แม้ว่าจะมีกฎหมายเฉพาะพิเศษ และเก่าแก่โบราณไว้เป็นหลัก ให้เลือกพระโอรสองค์ใหญ่ ของพระอัครมเหสีเป็นรัชทายาทก็ตาม
            ๑๑.  กรมภูษามาลา  มีเจ้าพนักงานในการนี้โดยเฉพาะต่างหาก  คนที่มีความสำคัญที่สุดคือ ผู้จับต้องพระมาลาได้ เป็นเจ้าชายเชื้อกษัตริย์กรุงกัมพูชา โดยเหตุที่พระเจ้ากรุงสยาม อ้างว่าพระองค์มีพระชาติสืบจากราชสกุลนั้น  นายยศเจ้ากรมภูษามาลาคือ ออกญาอุไทยธรรม  ตำแหน่งรองลงมาคือ ออกญาราชวงศา เป็นพนักงานภูษามาลา
บทที่สิบสี่ ธรรมเนียมในราชสำนักสยามกับรัฐประศาสโนบายของพระเจ้าแผ่นดิน
            ๑. เวลาประชุมราชมนตรี  วันละสองครั้ง  ประมาณสี่โมงเช้ากับสี่โมงเย็น
            ๒. การแบ่งเวลามกลางวันกับกลางคืน   แบ่งเวลากลางวันออกเป็นสิบสองชั่วโมง ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เรียกชั่วโมงหนึ่งว่า โมง  กลางคืนแบ่งออกเป็นสี่ภาคเรียกว่า ยาม  พอสิ้นยามที่สี่ก็สว่าง  ชาวละติน ชาวกรก ชาวยิว และชนชาติอื่น ๆ ก็ใช้วิธีแบ่งวันกับคืนโดยทำนองเดียววันนี้
            ๓. นาฬิกาชาวสยาม  ชาวสยามไม่มีนาฬิกาใช้ โดยที่เวลากลางวันก็นานเกือนจะเท่า ๆ กันตลอดปี จึงเป็นการง่ายที่จะรู้ว่ากี่โมงแล้ว โดยอาศัยดูดวงตะวัน  ในวังหลวงใช้ นาฬิกาน้ำ อย่างหนึ่ง มีทะนานทำด้วยทองแดงบาง ๆ เจาะรูเล็กรูหนึ่งที่ก้นเกือบมองไม่เห็น เอาทะนานดังกล่าวเปล่า ๆ ลอยในอ่างน้ำ  น้ำจะซึมเข้าไปทีละน้อย เมื่อทะนานจมลงก็นับว่าเป็นชั่วโมงหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งในสิบสองของวัน เขาวัดยามในตอนกลางคืนโดยทำนองเดียวกัน เมื่อสิ้นยามเมื่อใดก็ลั่นฆ้องขึ้นเป็นสำคัญ
            ๔. พระเจ้ากรุงสยามทรงว่าราชการอย่างไร  การพิจารณากิจการบ้านเมืองกับการพิจารณาคดี เป็นไปเกือบจะในทำนองเดียวกัน  ราชมนตรีคนใดที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายราชการข้อใดให้ไปปฎิบัติ ก็นำรายงานมาอ่านเสนอที่ประชุม แล้วก็ถึงเวลาออกความเห็นปรึกษาหารือกัน ระยะนี้พระเจ้าอยู่หัวไม่จำเป็นต้องเสด็จมาประทับอยู่ด้วย เมื่อพระองค์เสด็จออกแล้ว ก็ทรงสดับรายงาน โดยอ่านคำปรึกษาหารือดังกล่าวแล้ว ถวายเมื่อพระองค์สรุปความเห็นทั้งหลายแล้ว ทรงพิสูจน์หักล้างความเห็นที่พระองค์มีพระราชดำริ  ไม่เห็นพ้องด้วย แล้วจึงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย นาน ๆ และเฉพาะข้อราชการบางประการเท่านั้น ที่พระองค์จะทรงปรึกษาหารือบรรดาพระสังฆราชาคณะผู้ใหญ่  มีข้อราชการบางประการที่ต้องโปรดให้มีตราให้หาตัวขุนนางในหัวเมืองเข้ามา
            ๕. การลงโทษผู้ทูลถวายคำแนะนำผิด ๆ และพระราชทานบำเหน็จแก่ผู้ถวายคำแนะนำที่ชอบ
            ๖. บางทีก็ทรงแสร้งปรึกษาเพื่อลองใจ   เพื่อทดสอบความปรีชาสามารถ
            ๗. ทรงไล่ความรู้ขุนนางในหน้าที่ราชการ  ถึงเรื่องพระตำรา และบางทีถึงแก่ลงพระอาญา เฆี่ยนขุนนางที่สนองพระราชดำรัสไม่ถูกต้อง ตามอรรถในพระตำรา
            ๘. กฎหมายป้องกันความักใหญ่ใฝ่สูงของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ มีกฎหมายโบราณสำหรับแผ่นดินตราขึ้นไว้คุ้มครอง ความปลอดภัยของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้นว่าข้าราชการทั้งปวงจะไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกันมิได้ นอกจากได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว และชั่วแต่งานวิวาห์ หรืองานปลงศพเท่านั้น  พวกขุนนางจึงไปประชุมพร้อมกันได้ เมื่อเวลาพบกันก็ต้องพูดด้วยเสียงอันดังต่อหน้าบุคคลที่สาม ทุกวันนี้พวกข้าราชบริพาร อาจไปพบปะกันได้ที่โรงบ่อน
            ๙. กฎหมายสยามสนับสนุนการช่างฟ้อง  ไม่ว่าเรื่องอะไรสุดแต่ว่ามีพยานรู้เห็นอีกสองคนแล้ว  ก็เกือบจะต้องนำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  ต่างคนต่างรีบร้อน  ที่จะนำความไปขยายก่อน  เพื่อมิให้อีกคนหนึ่งชิงตัดหน้าไปเสีย  ซึ่งตัวเขาจะพลอยมีความผิด ฐานช่วยปกปิดไปด้วย
            ๑๐. พระเจ้ากรุงสยามทรงระวังไม่ให้ถูกหลอก  พระองค์มิได้ทรงเชื่อถือถ้อยคำของคนช่างฟ้อง แต่เพียงปากเดียว แต่จะทรงแต่งสายลับไว้เป็นอันมาก และทรงแยกไล่เลียงทีละคน บางทีก็ทรงส่งขุนนางคนสนิท มากกว่าคนเดียวไปเที่ยวซักถาม บุคคลบรรดาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่พระองค์ประสงค์จะได้ทราบ
            ๑๑. เหตุใดการระวังเช่นนี้จึงไม่ใคร่ได้ประโยชน์นัก   การสอพลอนั้นมีอยู่อย่างกว้างขวางในชมพูทวีป จะไม่มีใครกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำในการกระทำที่ผิด ๆ  แต่จะกราบทูลด้วยชั้นเชิงเพื่อให้พระองค์หลงเข้าพระทัยว่า พระองค์ทรงเป็นต้นดำริ
            ๑๒. พระเจ้ากรุงสยามทรงมีความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด  พระองค์ทรงให้ประหารชีวิตผู้ใดเสียได้ง่าย ๆ   โดยไม่ต้องชำระสะสางอย่างใด ๆ และให้ตายด้วยน้ำมือของคนที่สุดแต่จะมีพระราชประสงค์  เฉพาะหน้าพระที่นั่งด้วย บางครั้งก็โปรดให้โจทก์กระทำต่อจำเลย ผู้บริสุทธิ์กระทำต่อผู้ใส่ความเขา เมื่อการพิสูจน์เอาเท็จจริง  หลักฐานยังคลุมคลือ ก็ทรงให้ลงโทษโจทก์จำเลยทั้งคู่ให้เสือเป็นผู้วินิจฉัยคดี
           ๑๓. การบริภาษต่อศพนั้นเป็นอย่างไร  เมื่อประหารชีวิตแล้วพระองค์ก็ตรัสบริภาษต่อศพคนตายด้วยข้อคำเล็กน้อย เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่
            ๑๔. ทัณฑกรรมต่าง ๆ ในราชสำนัก  บางทีก็ส่งนักโทษไปผจญภัยกับโคถึกที่ถูกยั่วให้โกรธและให้นักโทษถือไม้กระบองไส้กลวงท่อนหนึ่ง สำหรับไว้ใช้ป้องกันตัวได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อก่อนนี้มีการส่งนักโทษให้แก่ช้าง บางทีก็เพื่อให้ช้างใช้เท้าเหยียบให้ตาย บางทีก็เพื่อให้ช้างใช้งวงจับตัวโยนให้บอบช้ำไม่ถึงตาย
            ๑๕. การลงทัณฑ์ตามโทษานุโทษ  การลงทัณฑ์อย่างธรรมดาสามัญ เป็นไปตามลำดับแห่งลักษณะของการกระทำความผิด ตัวอย่างการกดขี่เบียดเบียนเอาทรัพย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และการลักพระราชทรัพย์ ต้องรับพระราชอาญาให้กลืนทองคำ หรือเงินที่หลอมละลาย การพูดเท็จหรือขยายความลับต้องพระอาญาให้เย็บปากเสีย การให้ผ่าปากนั้นได้แก่ โทษที่เก็บความลับไว้ไม่เปิดปากพูดโดยไม่สมควรที่จะเก็บไว้เป็นความลับ ความผิดบางประการฐานปฏิบัติผิดพระราชบัญชา ต้องพระอาญาให้กุดหัวเสีย
            ๑๖. การลงโทษด้วยดาบและการลงโทษด้วยท่อนไม้  การลงโทษด้วยดาบมิใช่แต่การตัดคอเท่านั้น ยังใช้ตัดกลางตัวออกเป็นสองท่อนอีกด้วย การลงโทษทุบด้วยท่อนไม้นั้นมิได้มีเจตนาให้ถึงตายก็ตาม แต่ก็มีอยู่บ่อย ๆ ที่ทำให้เสียสติหมดทุกอย่าง
            ๑๗. การลงโทษเจ้านาย  ถือกันอย่างเคร่งครัดว่ามิพึงให้พระขัตติยโลหิต ต้องตกจากพระวรกาย จึงมักใช้ทรมานให้สิ้นพระชนม์ด้วยเชิงอดพระกระยาหาร บางทีก็ให้อิดโรยสิ้นพระชนม์ชีพไปเองด้วยความอดอยาก โดยวิธีลดทอนพระโภชนาหารให้น้อยลงทุกวัน ๆ หรืออดพระนาสิกด้วยชิ้นภูษาอันมีค่า หรือไม่ก็จับพระองค์ให้บรรทมเหนือเจียมสักหลาด แล้วเอาท่อนไม้จันทน์ทิ่มเข้าไปในพระอุทร ไม้ชนิดนี้เนื้อหอม และถือกันว่าเป็นของสูงชนิดสีขาวกับชนิดสีเหลือง ทั้งสองชนิดนี้มีแต่ในเกาะโซลอร์กับเกาะติมอร์ ทางตะวันออกของเกาะชวาเท่านั้น ชนิดแดงนั้นถือว่าเป็นอย่างทรามและมีเกิดในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง
            ๑๘. พระเจ้าแผ่นดินสยามไม่เป็นที่ไว้วางใจของราษฎร พระเจ้าแผ่นดินในชมพูทวีปทรงรักษาความปลอดภัยของพระองค์ด้วยการทำให้ผู้อื่นเกรงกลัว ที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงบำเพ็ญอยู่นั้น ดูเหมือนจะอยู่ตรงที่เอาพระทัยใส่ มิให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินติดต่อกันเป็นการลับได้  การให้ชุดประตูวังหลวงทุกด้าน ไม่ยอมให้มีคนถืออาวุธเข้าไปข้างใน และชั้นที่สุดก็ปลดอาวุธทหารรักษาพระองค์ ปืนลั่นขึ้นสักนัดหนึ่งจะโดยบังเอิญ หรืออะไรก็ตามในที่ใกล้วังหลวง จนได้ยินไปถึงพระกรรณ ก็เป็นโทษหนักถึงประหารชีวิต มีแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเท่านั้นที่จะทรงพระแสงปืนในวังหลวงได้
            ๑๙. การลงโทษแบบประจาน  เช่นนำนักโทษล่ามโซ่ไปประจานไว้ที่สาธารณะ หรือเอาคอใส่เครื่องจองจำรูปคล้ายกระไดที่เรียกว่า คา ทั้งสองข้างของกระไดนั้น ยาวประมาณ ๑ วา และผูกไว้กับกำแพงหรือหลักด้วยเส้นเชือกด้านละข้าง สำหรับเหนี่ยวให้คาสูงขึ้นหรือลดต่ำลงได้ กลางกระไดมีขั้นอยู่สองขั้น ขนาบคอนักโทษไว้นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีขั้น ณ ที่ใดอีก นักโทษอาจนั่งกับพื้นหรือยืนก็ได้ ถ้าน้ำหนักคาที่พาดอยู่กับบ่าไม่มากนัก ในบางครั้งเมื่อมิได้ผูกโยงกระไดทั้งสี่มุม ในกรณีหลังนี้อาจจะลอยอยู่ในอากาศทุกมุมพาดอยู่บนหัวหลัก นักโทษต้องหิ้วคอแขวนอยู่ นอกจากนั้นยังใช้วิธีตีตรวน และใช้ประแจมืออีกด้วย
            บางทีก็จับนักโทษลงไปไว้ในหลุมต่ำกว่าระดับพื้นดิน มักเป็นหลุมแคบ ๆ นักโทษถูกฝังอยู่เสมอมา และเพื่อให้ได้รับความอับอายยิ่งขึ้นก็ให้คนตบหน้าหรือเขกหัว หรือเพียงแต่ใช้มือลูบหัวก็นับว่าเป็นการดูถูกกันอย่างที่สุด โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงเป็นผู้ลูบ
            ๒๐. ความอับอายที่ถูกลงโทษนานอยู่ชั่วระยะที่ถูกลงโทษเท่านั้น  คนที่ถูกลงโทษวันนี้ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นสมควรแล้ว พรุ่งนี้อาจเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้
            ๒๑. กลับถือว่าเป็นเกียรติไปเสียอีก   ชาวสยามถือเป็นเครื่องภาคภูมิใจในการที่ตนได้รับพระอาญาเสมอว่า ตนได้รับความเอาใจใส่ดูแลจากบิดาผู้กรุณาลงโทษเป็นการสั่งสอนให้เมื่อตนกระทำผิด
            ๒๒. ผู้อื่นพลอยต้องรับพระราชอาญากับผู้กระทำผิดด้วย  บางทีพ่อต้องรับโทษร่วมกับลูกด้วยในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในการอบรมลูก ในเมืองจีนขุนนางต้องรับผิดชอบในความผิดของบุคคลในครอบครัวของตนทุกคนด้วย ในเมืองสยามก็เช่นเดียวกับในเมืองจีน ขุนนางผู้หนึ่งต้องรับโทษแทนขุนนางอีกผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในใต้บังคับบัญชาของตนในฐานะที่ตนมีสิทธิที่จะลงโทษขุนนางผู้น้อยได้ จึงต้องรับผิดชอบในความประพฤติของขุนนางผู้นั้นด้วย ในเมืองสยามมีการลงทัณฑ์กันด้วยการโบยให้เกร่อไป บางทีก็เห็นขุนนางตั้งหลายคนต้องรำคาประจานล้อมกันอยู่เป็นวง กลางวงนั้นมีหัวหน้าของนักโทษที่ถูกประหารชีวิต และหัวนั้นผูกด้วยเชือกหลายเส้น โยงไปล่ามไว้กับคอขุนนางเหล่านั้นทุกคน
            ๒๓. ความผิดเล็กน้อยก็ต้องรับพระราชอาญา  ขุนนางผู้ใหญ่ถูกถอดยศ ปลด จากตำแหน่งอยู่บ่อย ๆ
            ๒๔. พระรัฎฐประศาสโนบายของพระเจ้ากรุงสยามร้ายกาจต่อคนทั่วไปและต่อพระอนุชาของพระองค์ ทรงสร้างพระฐานะของพระองค์ และพระราชโอรสของพระองค์ให้มั่นคง ด้วยการทำให้พระอนุชาทรงไร้ความสามารถที่จะครองราชย์ได้เสีย
            ๒๕. การปกครองของสยามหนักหน้าแก่ขุนนางมากกว่าแก่พลเมือง การถูกส่งตัวออกไปรับราชการในหัวเมืองนั้นถือกันว่าเสมือนบำเหน็จความชอบแทนการปฏิบัติราชการในวังหลวง
            ๒๖. กระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น ปั่นป่วนกันเพียงใด  ด้วยเหตุว่ามีช่องทางเปิดให้แก่คนทุกคนที่จะกล่าวโทษเสนาบดีต่อพระเจ้าอยู่หัวได้
            ๒๗. พระเจ้ากรุงสยามทรงเอื้อต่อพลเมือง  โดยไม่เพิ่มภาษีอากรที่ดินอันใช้ทำการกสิกรรมได้ กับไม่ชักค่าภาคหลวงในข้าวและปลา
            ๒๘. ข้อเสียหายในการใช้อำนาจกดขี่แบบนี้ทำให้ราชบัลลังก์สั่นคอน  ในเมืองสยามไม่มีอาคารบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรงเลย ราษฎรไม่มีความผูกพันในเรื่องที่อยู่อาศัยของตนแต่ประการใด จึงพร้อมที่จะตกไปเป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องหนักหน้าเหมือน ๆ กัน พวกเขาจึงไม่มีความสนใจในพระชะตากรรมของพระเจ้าแผ่นดินของตน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า  เมื่อเกิดการจลาจลขึ้นเพียงเล็กน้อย พวกเขาก็ปล่อยให้ราชบัลลังก์ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ทรงอำนาจและเก่งกล้าสามารถ ชาวสยาม ชาวจีน และชาวอินเดีย อาจยอมตายได้ง่าย ๆ ในการทำลายล้างบุคคลที่ตนแสนจะเกลียดชังเป็นการส่วนตัว หรือหลบไปให้พ้นชีวิตแสนลำบยากยากแค้นของตน หรือการตายที่จะทารุณยิ่งกว่านั้น แต่ที่จะตายเพื่อพระเจ้าแผ่นดินของตนและประเทศชาติของตนนั้น หาใช่คุณธรรมที่เขาถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมไม่ พวกเขาไม่มีทรัพย์สินมรดกตกทอดที่จะต้องสูญเสียไป  และความเป็นไทของพวกเขานั้น จะหนักหน้ากว่าภาระจำยอมเสียอีก
            ชาวสยามที่ถูกพระเจ้ากรุงพะโค กวาดต้อนเอาไปในการสงคราม ก็จะอยู่กันอย่างเงียบ ๆ ในกรุงพะโค ห่างจากชายแดนสยามเพียง ๒๐ ลี้เท่านั้น  และพวกเขาก็ทำไร่ไถนาอยู่ในที่ดินซึ่งพระเจ้ากรุงพะโคพระราชทานให้  โดยไม่ได้มีข้อระลึกถึงบ้านเมืองเดิมของตน  และพวกพะโคที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยาม ก็มีความรู้สึกนึกคิดโดยทำนองเดียวกัน
            ๒๙. ชาวตะวันออกมีความนับถือพระเจ้าแผ่นดินของตนไม่มั่นคงเพียงใด   พระเจ้าแผ่นดินในเมืองภาคตะวันออก ได้รับการนับถือนัยหนึ่งว่า  เป็นราชบุตรบุญธรรมของเทวราชในสวรรค์  เชื่อกันว่าพระเจ้าแผ่นดินเหล่านี้ทรงมีวิญญาณสวรรค์ เหนือสามัญชนด้วยบุญบารมีที่สร้างสมมา
            ๓๐. บางทีพระเจ้าแผ่นดินเหล่านี้ก็ทรงเสียพระราชอำนาจไปด้วยความหวงแหนเกินไป  ใครก็ตามที่สวมวิญญาณ หรือว่าจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ แทบไม่ต้องทำอะไรให้เป็นการทอนพระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินองค์จริงอีกแล้ว เพราะว่าการใช้พระราชอำนาจนั้น รวมอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ลำพังพระองค์เอง
            ๓๑. อันตรายในการรวมพระราชอำนาจไว้ในดวงลัญจกร   ในการกบฎเมืองจีนครั้งโบราณนั้น ดูเหมือนประหนึ่งว่าผู้ใดชิงได้พระราชลัญจกร สำหรับแผ่นดินไว้ในมือแล้ว ก็ตั้งตัวเป็นเจ้านายคนทั้งปวงได้สิ้น  ด้วยประชาชนพลเมืองพากันเชื่อฟังบัญชา ซึ่งประทับราชลัญจกรเป็นสำคัญ  เชื่อว่าธรรมเนียมในเมืองสยามก็คงเป็นเช่นเดียวกัน
            ๓๒. ทรัพย์สินส่วนพระเจ้าแผ่นดิน จำเป็นแก่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชและก่อให้เกิดข้อขัดข้องอย่างไรบ้าง   ในพระคลังหลวงเป็นที่รวมขุมกำลังของแผ่นดิน  เมื่อใครชิงพระคลังหลวงได้ก็เท่ากับชิงแผ่นดินได้ด้วย กระทั่งว่ามหาสมบัติที่รีดได้จากราษฎรจนสิ้นเนื้อประดาตัว มาสะสมไว้นั้น กลับเป็นอันตรายแก่ผู้สะสมเสียเอง
            ๓๓. สรุปความในบทนี้  รัฐบาลในชมพูทวีปบรรดาที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีข้อเสียประการดังกล่าวอยู่ ทำให้ทรัพย์สินส่วนพระเจ้าแผ่นดิน และทรัพย์สินของอาณาประชาราษฎร์มีความมั่นคงไม่เสมอกัน