การประชุมชาติมุสลิมครั้งที่ ๕ ที่กัวลาลัมเปอร์
(เก็บความจากบทความ นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๒๓ มิ.ย.๑๗)

            คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ๓๕ ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐๐ คน และมีผู้แทนจากองค์การปลดแอกปาเลสไตน์เข้าร่วมด้วย ในระเบียบวาระประชุมกำหนดจะพูดถึงการสนับสนุนชาวมุสลิม อันเป็นชนส่วนน้อยในประเทศไทยด้วย จากระเบียบวาระการประชุมมีประมาณ ๓๐ หัวข้อ มีการอภิปรายปัญหามุสลิม อันเป็นชนส่วนน้อยอย่างเช่นในประเทศไทยแและฟิลิปปินส์
            ในการประชุมนี้ดูเหมือนว่าลิเบียจะมีสิทธิเสียงค่อนข้างดังมาก เพราะลิเบียได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับที่ประชุมครั้งก่อนว่า จะให้เงินสมทบทุนกองกลาง ไว้ช่วยเหลือชาติมุสลิมด้วยกัน ร้อยละ ๒๐ ของเงินกองทุน ๒๐ ล้านดอลลาร์ ลิเบียต้องการให้เงินทุนนั้นถึงมือมุสลิมในชาติต่าง ๆ โดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐบาลของชาตินั้น
            เรื่องนี้ซาอุดิอารเบียมีความเห็นคัดค้านเพราะเห็นว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น จึงควรให้ส่งเงินผ่านรัฐบาลของประเทศนั้น
            การประชุมชาติมุสลิมครั้งนี้ ได้แสดงพฤติกรรมทางการเมืองระดับโลก ออกมาให้เห็นประการหนึ่งคือ บรรดาชาติมุสลิมซึ่งส่วนมากเป็นประเทศด้อยพัฒนา กำลังจะใช้ศาสนาเป็นแกนกลางเ พื่อสร้างพลังขึ้นมาเป็นโลกที่สี่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ความพยายามที่จะรวมกันของชาติมุสลิมเหล่านี้ยังพร่ามัวอยู่ เพราะในแต่ละชาติมุสลิมนั้นมีความแตกต่างกันมาก ถึงขนาดพูดกันไม่รู้เรื่องก็มีอย่างเช่น ลิเบียกับซาอุดีอารเบีย เป็นต้น
            เมื่อกลับไปดูการประชุมชาติมุสลิมที่ผ่านมาสี่ครั้งนั้น มีแก่นสารอะไรบ้าง
            การประชุมครั้งแรก  ที่เจดดาห์ ซาอุดิอารเบีย เมื่อต้นปี ค.ศ.๑๙๗๐ การประชุมไม่มีอะไรมากไปกว่าการประณามอิสราเอลเท่านั้น
            การประชุมครั้งที่สอง  กระทำที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เมื่อปลายปี ค.ศ.๑๙๗๐ มีข้อสรุปที่เป็นชิ้นเป็นอันคือ ได้มีการเสนอให้ตั้งธนาคารอิสลาม เพื่อการพัฒนา และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ
            การประชุมครั้งที่สาม  กระทำที่เจตดาห์ ประเทศซาอุดีอารเบีย ในปี ค.ศ.๑๙๗๒ ได้มีการพูดถึงการตั้งสำนักงานแถลงข่าวอิสลาม และได้มีการประณามอิสราเอลว่า ไม่ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ
            การประชุมครั้งที่สี่  กระทำที่เบงกาซี ประเทศลิเบีย เมื่อต้นปี ค.ศ.๑๙๗๓ แต่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากตั้งกรรมการขึ้นศึกษาสภาพชนมุสลิมส่วนน้อย ในประเทศต่าง ๆ โดยลิเบียสนใจที่จะให้ความสนับสนุนเต็มที่
                จะเห็นว่าในบรรดาชาติมุสลิมด้วยกันยังมีปัญหาขัดแย้งกันเองอยู่มาก และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ตก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังพยายามที่คิดจะแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่นอยู่ จึงเป็นการยากที่จะเห็นชาติมุสลิมเหล่านี้ สามารถรวมพลังกันอย่างเข้มแข็งในอนาคตอันใกล้


เรื่องของในที่ประชุมมุสลิม
(เก็บความจากบทนำ นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๒๔ มิ.ย.๑๗)

            การประชุมครั้งที่ห้าของชาติมุสลิม ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี ค.ศ.๑๙๗๔ ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีคนก่อนของมาเลเซีย ลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการองค์การอิสลามนานาชาติ ภายหลังที่อยู่ในตำแหน่งไม่นาน
            ปัญหาของประเทศมุสลิมด้วยกันมีอยู่มาก ด้วยเหตุนี้จะเป็นการดี และถูกต้องหากว่า ที่ประชุมจะตั้งหน้ามุ่งมั่นแก้ปัญหาความสัมพันธ์ และการร่วมมือระหว่างกันเอง ให้เรียบร้อยเสียก่อน ที่จะประพฤติในสิ่งที่เป็นการก้าวก่ายภายในประเทศอื่น เช่นที่มุสลิมบางประเทศชอบประพฤติอยู่ เช่น เป็นเจ้ากี้เจ้าการแสดงความเอาใจใส่ อาทรถึงมุสลิมในประเทศ ที่ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำรัฐ หรือเป็นศาสนาที่พลเมืองส่วนมากนับถือ
            ตามความเป็นจริงนั้น ประเทศมิสลิมบางประเทศ ปฏิบัติต่อพลเมืองของตน ร้ายกาจยิ่งกว่ารัฐบาลหลายประเทศ ที่ไม่ใช่มุสลิมปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิม
            สำหรับมุสลิมอีกบางประเทศ ที่คบค้าสนิทกับประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่เคยยอมรับรู้ความจริง ที่ว่าประเทศคอมมิวนิสต์ปฏิบัติต่อผู้นับถือ และศรัทธาในศาสนาทุกศาสนา ในลักษณะที่เลวร้ายยิ่งเสียกว่าในประเทศ ที่ถูกประเทศมุสลิมบางประเทศ กล่าวหาว่าข่มเหงมุสลิมในประเทศของตน
            คนในโลกย่อมรู้กันอยู่เต็มอกว่าประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาเช่นลิเบีย ได้ให้เงินเป็นทุนรอน และให้อาวุธแก่ผู้ก่อการร้ายในหลายประเทศ ในสหรัฐอเมริกา ในไอร์แลนด์เหนือ ในฟิลิปปินส์ และแม้แต่ในประเทศไทย ทั้งนี้เพียงแต่ผู้ก่อการร้ายนั้นอ้างตัวว่าเป็นมุสลิม เช่นมุสลิมดำในสหรัฐอเมริกา


สามจังหวัดภาคใต้
(เก็บความจากบทความใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๒๘ มิ.ย.๑๗)

            เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ปัจจุบันสภาพในสามจังหวัดภาคใต้ได้มีโจรก๊กต่าง ๆ หลายก๊ก ได้แก่โจรการเมืองที่เรียกกันว่า โจรแบ่งแยกดินแดน โจรคอมิวนิสต์ และโจรธรรมดา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความหวาดกลัวแก่ประชาชนผู้สุจริต ทำลายเศรษฐกิจเพราะมีการปิดสวนยาง จับคนเรียกค่าไถ่ ปล้นจี้และฆ่ากัน ฯลฯ ราษฎรไม่กล้าร่วมมือกับรัฐบาล เป็นโอกาสให้ข้าราชการบางคน ฉวยโอกาสคดีทุจริต สร้างอำนาจ สร้างอิทธิพล แสวงหาผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามคือ โจรก๊กต่าง ๆ ใช้การโฆษณาชวนเชื่อปรักปรำรัฐบาล แล้วเรียกร้องให้ประชาชนไปร่วมมือกับฝ่ายตน ในที่สุดปัญหานี้จะบานปลาย และลุกลามออกไปทุกที
            สาเหตุการมีสภาพดังกล่าว ได้แก่ การไม่ปรองดองร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ และประชาชนในท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ อันเนื่องมาจากไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริงของข้าราชการเองฝ่ายหนึ่ง และประชาชนเองอีกฝ่ายหนึ่ง ประชาชนไม่ไว้วางใจ และไม่หวังพึ่งราชการ กลับไปตั้งกลุ่มตนเอง ตัดสินปัญหากันเอง ในที่สุดกลายเป็นคนนอกกฎหมาย เป็นปรปักษ์กับราชการโดยอัตโนมัติ
            ในการแก้ปัญหา หากผู้มีอำนาจของบ้านเมืองเข้าใจสาเหตุ อันประกอบด้วยความเข้าใจจิตใจของประชาชน ซึ่งส่วนมากมีทื้นฐานค่านิยมทางวัฒนธรรมอิสลาม และประประเพณีนิยมของชาวไทยอิสลามท้องถิ่นในสามจังหวัด เข้าใจประวัติ และภูมิประเทศแล้ว ย่อมมีลู่ทางที่จะแก้สภาพช่องว่าง ระหว่างประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กับข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แล้วสร้างความปรองดองให้หันหน้าเข้าหากันและช่วยกันปราบปรามผู้ร้าย ประธานาธิบดีแม็กไซไซใช้วิธีการเดียวกันนี้ ในการปราบปรามโจรฮุกบาลาฮัมในฟิลิปปินส์  ไม่ส่งกำลังทหารเข้าปราบปราม ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อเอาชนะใจประชาชน สร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน จัดตั้งแผนกรับฟังเรื่องร้องทุกข์ และสนใจอย่างจริงจัง จนประชาชนเห็นว่าการร้องทุกข์ได้ผล


บทบาทของ นายอดุลย์  ณ สายบุรี
(เก็บความจากบทความ นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๙ ก.ค.๑๗)

            ตนกู อับดุล ยาลานาเซร์  คือ นายอับดุล ณ สายบุรี  เป็นบุตรเจ้าเมืองสายบุรี  เคยเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เขาออกจากประเทศไทยไปอยู่ในรัฐกลันตัน ของมาเลเซัย เมื่อสงครามโลกสงบแล้ว ได้ร่วมมือกับ เต็งกู มุไฮ ยิดดิน ผู้เป็นบุตรเจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย เพื่อดำเนินการแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ โดยรวบรวมโจรผู้ร้าย ที่หลบหนีคดีไปอยู่ในรัฐกลันตัน ตั้งเป็นกองโจรเข้ามาก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๒  ได้ใช้ความพยายามหาการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อบีบบังคับให้ไทยปล่อยให้สามจังหวัดภาคใต้เป็นอิสระ หรือรวมกับมาเลเซีย โดยใช้สื่อมาลชนในมาเลเซีย และสิงคโปร์ โฆษณาใส่ร้ายรัฐบาลไทยว่า กดขี่ข่มเหงประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ และโดยการหาเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติ แต่แผนการในระยะนั้นล้มเหลวลง พร้อมกับการสิ้นชีวิตของ เต็งกู มุไฮ ยิดดิน
            เมื่อมาเลเซียได้เอกราช เขาได้อาศัยพรรคการเมืองของประเทศนั้น ยื่นญัตติในรัฐสภา ขอให้รัฐบาลมาเลเซียจัดการผนวกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ไปรวมกับมาเลเซีย แต่ถูกปฎิเสธจาก ตนกู อับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในสมัยนั้น เขาจึงใช้การปลุกปั่นประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ ให้เกลียดชังรัฐบาลตามวิธีที่เคยทำมาอีกครั้ง พร้อนกันนั้นก็ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนมาเลเซีย และประเทศมุสลิมอื่น ๆ ให้การสนับสนุนเขา
            จะเห็นได้ว่า นายอดุลย์ ณ สายบุรี  ได้ใช้ประเทศมาเลเซียเป็นฐานคิดการ และบงการ แยกดินแดนไทยอย่างเปิดเผย แต่เหตุไฉนรัฐบาลมาเลเซีย จึงไม่ดำเนินการเหมือนกับที่ไทยกระทำต่อ นายอูนุ จากพม่า และนายพลภูมี หน่อสวัน จากลาว ซึ่งเข้ามาลี้ภัยในไทย จึงควรที่รัฐบาลไทยน่าจะหยิบยกพฤติการณ์ของ นายอดุลย์ ณ สายบุรี ขึ้นมาพูดจากับรัฐบาลมาเลเซีย ให้หยุดยั้งพฤติกรรมของบุคคลผู้นี้เสีย และเพื่อพิสูจน์น้ำใจของมาเลเซียว่า จริงใจต่อไทยหรือไม่ อย่างไร อีกด้วย


ภัยที่มองเห็น
(เก็บความจากบทความ นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๙,๑๐,๑๑ ก.ค.๑๗)

            ปัญหาของปักษ์ใต้ มิใช่เพียง ๓ - ๔ จังหวัด เท่านั้นที่ขาดการสนใจ เหลียวแล แต่เกือบทุกจังหวัดที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินหนักไป ในภาคอื่นเสียส่วนมาก เพราะคิดว่าภาคใต้อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรมากมายอยู่แล้ว ปักษ์ใต้จึงอยู่ในลักษณะของการช่วยตัวเองตลอดมา โดยถือหลักว่า คนใต้ด้วยกันไปอยู่ที่ไหน จะไม่ทอดทิ้งกัน จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
            แต่ในระยะหลัง ๆ ความรักพวกรักพ้องดังกล่าว ค่อย ๆ เลือนหายไป เหลือไว้แต่ความดุดันรุนแรง เมื่อรัฐบาลเห็นว่าภาคใต้มีความยุ่งยากเกิดขึ้น ก็ส่งกองกำลังต่าง ๆ เข้าไปปราบปราม จากนั้นเป็นต้นมา ดินแดนภาคใต้ก็กลายเป็นดินแดนที่ถูกพวกก่อการร้ายมาครอบครอง
            ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขอย่างรีบด่วนคือ การพัฒนาหมู่บ้านให้ได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คนไทยในรัฐกลันตัน  ไทรบุรี นับจำนวนแสนคนยินดีที่จะกลับเข้ามาอยู่อย่างคนไทย ดีกว่าที่จะถูกกดขี่ อยู่ในต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน และเมื่อคนไทยดังกล่าวได้อพยพมาอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้แล้ว ก็เชื่อแน่ว่าปัญหาด้านชายแดนของสามจังหวัดภาคใต้ จะสงบลง
            เส้นทางสายมรณะ เส้นทางหนึ่งคือ ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖๐  จากสายบุรี ถึง รือเสาะ การก่อการร้ายของโจรแยกดินแดนหนักอยู่ที่อำเภอสายบุรี อำเภอบายอ และอำเภอยะรัง โดยการดักปล้นรถยนต์ จับคนเรียกค่าไถ่ เป็นเขตอิทธิพลของพวกโจรหลายก๊ก อาศัยอยู่บนเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นภูเขาที่มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงสี่จังหวัด
            เจ้าหน้าที่ของหน่วยปราบปราม มีความเห็นว่า ทางการไม่ควรปล่อยเหตุการณ์ก่อการร้ายให้ยืดเยื้อ เรื้อรัง ต่อไป และถ้ายังใช้นโยบายปราบแล้ว ปลอบ หรือปลอบแล้วปราบ ก็จะไม่ได้ผล เพราะพวกโจรไม่เคยมีสัจจะ และไม่เคยยึดมั่นในหลักของศาสนา  ดังนั้น ดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ จะยังไม่สงบลงได้ง่าย ๆ  ในเมื่อผู้รับผิดชอบ ยังออกข่าวมาว่า  "ไม่มีอะไรรุนแรง"  แม้ว่าการพูดเพื่อไม่ให้ประชาชนตระหนกตกใจต่อสถานการณ์ เป็นการเอาอกเอาใจ และปลอบขวัญประชาชนในส่วนอื่น แต่พวกที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ หรือพวกที่มีหน้าที่ปราบปราม จะหมดการไว้วางใจ และหมดกำลังใจต่อคำพูดดังกล่าวนั้น ที่ว่าหมดการไว้วางใจ ก็เพราะเข้าใจว่าทางการจะไม่ปราบจริงจัง และหมดกำลังใจเพราะพวกตนถูกโจรยิงตายอยู่บ่อย ๆ ความเป็นไปในการปราบปรามก็ลำบากยากเข็ญ แต่คนทั่วไปไม่รู้ไม่เห็น ไม่ตระหนัก
                จังหวัดยะลา  เป็นจังหวัดที่ชุมโจรอาศัยอยู่มาก และเป็นเขตอิทธิพลของพวกโจรหลายก๊ก มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐเประ และรัฐไทรบุรี ของมาเลเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นชัยภูมิที่มั่นคงของกลุ่มโจรพวกนี้ พื้นที่ที่อยู่นอกอำเภอเมืองออกไป ชาวบ้านจะไม่ยอมพูดภาษากลาง และภาษาพื้นเมือง การพูดกันต้องใช้ล่ามตลอดเวลา เพราะเขาจะใช้ภาษามลายูเท่านั้น
                ในเขตอำเภอรามัน เป็นโจรกลุ่มใหญ่ของ นายสู วาแมดิซา ที่ตำบลท่าธง เมื่อมีการมอบตัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้มีส่วนราชการต่าง ๆ เข้ามาเอาใจพวกโจร ทำให้การปราบปรามชะงักลง จึงเป็นโอกาสดีของพวกโจร ที่สะสมกำลังอาวุธไว้ ฆ่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม กล่าวได้ว่า แผนของโจรเหนือกว่าแผนของส่วนราชการ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
                จังหวัดนราธิวาส  พวกโจรแยกดินแดน จะซุกซ่อนตัวอยู่ตามหมู่บ้าน บริเวณเชิงเขาบูโด และหมู่บ้านริมชายทะเลของอำเภอยี่งอ กับอำเภอบาเจาะ พวกโจรส่วนใหญ่ไปชุมชนุมกันที่อำเภอรือเสาะ เป็นชุมโจร ในส่วนที่เจริญติดต่อไปมาได้สะดวก
                การก่อการร้ายแยกดินแดน ส่วนมากมีน้ำหนักอยู่ที่อำเภอสายบุรี อำเภอมายอ และอำเภอยะรัง ฐานปฎิบัติการอยู่บนภูเขาบูโด และบริเวณริมฝั่งทะเลของอำเภอสายบุรี
                แผนการจัดตั้งรัฐมลายู ปัตตานี พวกโจรจะตั้ง ตนกู ยาลามาเซร์ เป็นหัวหน้า ในแผนมีการติดต่อขอความช่วยเหลือจากลุ่มประเทศอาหรับ มีตัวแทนวางแผนอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ และกรุงเทพ ฯ มีนโยบายให้มีการจัดตั้งกลุ่มโจรตามหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้น มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางคนคอยสนับสนุน มีการส่งเด็กหนุ่มออกไปศึกษายังประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย และกลุ่มประเทศอาหรับ ได้รับการอบรมเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และความคิดแบ่งแยกดินแดน


มาเลเซียสนับสนุนแยกดินแดนไทย
(เก็บความจากบทความ นสพ.ไทยเดลี ฉบับ ๒๐ มิ.ย.๑๗ )

            ข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่แล้วมาคือ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลผสมของราซัค ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ได้กล่าวอย่งเปิดเผย สนับสนุนการแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้  (สาธารณรัฐปัตตานี)  โดยจะนำปัญหาดังกล่าวขึ้นมาเจรจากับไทย นับว่าเป็นการแซกแทรงกิจการภายในของประเทศไทย ที่รัฐบาลมาเลเซียจะต้องรับผิดชอบ
            การที่ศูนย์กลางนักศึกษาได้เรียกประชุมกรรมการให้ทำการประท้วงรัฐบาลมาเลเซีย นับว่าเป็นการทำที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว เพราะประเทศไทย สมัยล่าอาณานิคมของอังกฤษ ได้ถูกเชือดเฉือนดินแดนเดิมของไทย ทั้งด้านพม่าและมาเลเซียไปมาก การที่ ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ตกไปอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ปล่อยให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ไร้สัญชาติ อยู่ในเมืองดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ไม่มีสิทธิแม้แต่จะมีที่ดินเป็นของตนเอง และไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองของมาเลเซีย ดังที่ประเทศไทยให้แก่ชาวสามจังหวัดภาคใต้ อย่างสมบูรณ์จนทุกวันนี้
            หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้คืนดินแดนเดิมที่ถูกบังคับเอาไปทั้งด้านอังกฤษ และฝรั่งเศส ในพิธีคืนดินแดนประชาชนชาวไทยที่อยู่ในเมืองเหล่านั้น ต้องหลั่งน้ำตาอย่างน่าสังเวช แต่ก็ยังไม่เคยปรากฎว่าได้มีการติดต่อเจรจากับมาเลเซีย ผู้ปกครองดินแดนส่วนนั้น ให้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน กับชาวมาเลเซียแต่ประการใด เรื่องนี้เคยปรากฎในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไปจนทุกวันนี้
            ประเทศไทย มีสภาพคล้ายประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องเกี่ยวกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ทางฟิลิปปินส์ก็ได้ปฎิบัติไปตามกฎหมายบ้านเมือง หาได้ผ่อนปรนที่จะให้แยกตัวเป็นอิสระ ภายในประเทศของตนไม่
            ในประเทศไทย นับแต่สมัยรัชกาลที่ห้า ก็ได้ปฎิบัติต่อสามจังหวัดภาคใต้ ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมาด้วยดี โดยมนุษยธรรมทุกประการ มีกฎหมายปกครองพิเศษ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เราก็ให้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่ด้านการปกครองเราได้อ่อนแอ ถึงขนาดปล่อยให้มีการสอนหนังสือต่างด้าวขึ้น และงดสอนหนังสือไทยมาตลอด ทำให้คนไทยในท้องที่ดังกล่าวพูดไทยไม่ได้ กลายเป็นเครื่องมือของผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ยุยงส่งเสริมให้กระด้างกระเดื่องขึ้นในแผ่นดินไทย เป็นโรคร้ายเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
            ประเทศไทยสูญเสียดินแดนไปในอดีต หลายแสนตารางกิโลเมตรแล้ว จึงไม่ยอมเสียไปอีกแม้ตารางนิ้ว ถ้าหากจำเป็นก็ควรปิดพรมแดนไทยกับมาเลเซีย ให้เด็ดขาด เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีกับมาเลเซีย


ใหญ่เกินกว่าที่จะยอม
(เก็บความจากบทความ นสพ.บ้านเมือง ฉบับ ๒๑ มิ.ย.๑๗)

            เรื่องหัวหน้าพรรคมาลายันอิสลามิก รัฐมนตรีกิจการที่ดินและอิสลามของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้ ให้เป็นรัฐอิสระนั้น ถ้าใครรู้จักเขาคนนี้มาก่อนก็คงไม่รู้สึกตื่นเต้น
            ในสมัยรัฐบาล ตนกู อับดุล เราะห์มาน เขาคนนี้เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นโยบายใหญ่ของเขาในการหาคะแนนนิยมคือ ดึงเอาสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นเป้า โดยดำเนินการสนับสนุนการเรียกร้อง แบ่งแยกดินแดนดังกล่าวให้เป็นรัฐอิสระตลอดมา ได้ออกหนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาลไทย กรณีปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้ เป็นประจำ ดังนั้นพฤิตกรรมครั้งนี้จึงนับว่าเป็นเรื่องไม่แปลก
            ฟังทูตมาเลเซียแก้ตัวว่านายคนนี้พูดในฐานะส่วนตัว ไม่ได้พูดในฐานะรัฐมนตรี ก็ต้องสงสารทูต เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ตัวบ่ายเบี่ยงอย่างไรให้ดีไปกว่านั้น
            รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยดูออกจะลำบากใจ ไม่อยากจะรุนแรงกับรัฐบาลมาเลเซีย เพราะมีสัมพันธไมตรีกันมานานและยังมีกิจกรรมระหว่างประเทศร่วมกันอีกตั้งหลายอย่าง เช่นสมาคมอาเซียน จึงไม่อยากให้ร้าวฉาน
            ผู้เขียนบทความนี้เห็นว่า เรื่องนี้รัฐบาลบไทยจะต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวที่สุด เพื่อแสดงเจตนาในสิทธิอธิปไตยอันชอบธรรมในดินแดนที่เป็นสี่จังหวัดภาคใต้ของไทย จะต้องแสดงให้รัฐบาลมาเลเซียรู้อย่างตรงไปตรงมาว่า ไทยเราจะไม่ให้อภัยอย่างเด็ดขาด ถ้าหากรัฐบาลมาเลเซียไม่ขออภัยต่อรัฐบาลไทยในกรณีดังกล่าว
            เราต้องแจ้งให้รัฐบาลมาเลเซียได้รับทราบว่า ไทยเรามีความขื่นขมมากเพียงใดที่รัฐบาลมาเลเซียปฏิบัติต่อคนไทย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซีย อย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลมาเลเซียได้
ริดรอนสิทธิ และบีบดันคนไทย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมาเลเซีย แต่รัฐบาลไทยไม่เคยทำเช่นนั้นต่ออิสลามิกชนในสี่จังหวัดภาคใต้เลย ตรงข้ามได้ปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นในฐานะเป็นคนไทย มีสิทธิในความเป็นไทยทุกประการ ไม่ได้แตกต่างไปกว่าคนไทยอื่น ๆ ทั่วประเทศ


อย่างนี้เรียกว่า "ฐานะส่วนตัว" หรือ
(เก็บความจากบทตวาม นสพ.สยามรัฐ ฉบับ ๒๖ มิ.ย.๑๗)

            กรณีรัฐมนตรีกิจการศาสนาและที่ดินของรัฐบาลประเทศเพื่อบ้าน ที่แสดงตนอย่างเปิดเผย สนับสนุนขบวนการนแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ และทางรัฐบาลประเทศนั้นช่วยแก้แทนว่าเป็นการพูดในฐานะส่วนตัวไม่ได้พูดในฐานะรัฐบาล
            รัฐมนตรีผู้นั้นในฐานะรัฐมนตรีที่ดินได้ดำเนินการเปิดที่ดินจัดสรรขึ้นในมาเลเซีย ชิดพรมแดนไทยด้านปาดังเปซาร์ เปิดเป็นนิคมให้ชาวไทยอิสลามภาคใต้ของไทย เข้าไปอยู่อาศัย จัดสรรชุดแรกไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ ครอบครัว โดยเรียกค่าธรรมเนียมคิดเป็นเงินไทยปีละ ๒๐๐ บาท ถ้าอยู่ครบสองปีก็จะโอนสัญชาติมาเลเซียได้
            การกระทำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเข้าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ผลักดันนโยบายของตน ให้เป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นนโยบายกลืนชาวไทยอิสลาม จังหวัดภาคใต้ให้เป็นมาเลเซีย
            ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรสนใจ และกำหนดมาตรการให้แน่นอนว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรกับคนไทยอิสลามซึ่งเข้าไปอยู่ในนิคมมาเลเซีย เพื่อเตรียมตัวแปลงชาติเป็นมาเลเซีย ถ้าหากเขาจะไปก็ควรให้เขาไป แต่อย่าหวนกลับมาอีก มิฉะนั้นบจะเกิดปัญหาชาวมลายูสองสัญชาติขึ้นในภาคใต้
            ความจริงเรื่องการจัดสรรที่ดินสร้างนิคมในสามจังหวัดชานแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความคิดใหม่ รัฐบาลไทยเคยคิดกันมาเกือบสิบปีแล้ว ซึ่งแต่ว่าได้แต่คุยโดยไม่ได้ทำ มาเลเซียเลยทำแต้มนิยมไปก่อน
            ความคิดของรัฐบาลไทยสมัยก่อน ตั้งใจจะเปิดนิคมทหารผ่านศึกขึ้น ผู้เขียนบทความเห็นว่ารัฐบาลน่าจะมีนโยบายสนับสนุนการเปิดนิคมสามจังหวัดภาคใต้ ให้ทหารผ่านศึกและทหารกองหนุนเข้าไปอยู่ แม้สภานิติบัญญัติจะไม่รับหลักการ พรบ.นิคมทหารผ่านศึกไปแล้วก็ตาม แต่ก็อาจดำเนินการได้โดยกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อให้สมดุลกับนโยบายเปิดนิคม จัดสรรที่ดินในมาเลเซียของรัฐบาลมาเลเซีย


เพื่อนหรือนักการเมือง
(เก็บความจากบทความ นสพ.เดลินิวส์ ฉบับ ๒๓ มิ.ย.๑๗)

            ปัญหาของไทยกับมาเลเซียนั้น เป็นปัญหาเพื่อบ้านใกล้เรือนเคียงมีอะไรกกระทบกระทั่งกันบ้างก็พูดจาประสาเพื่อนได้ ไม่จำเป็นต้องพูดจาประสานักการเมือง
            ปัญหาชายแดนไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนของรัฐมนตรีกิจการศาสนาและที่ดินของมาเลเซีย ที่ได้ประกาศออกมาเป็นเรื่องที่รู้กันมานานตั้งแต่ระดับข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ตลอดจนนักศึกษาของมาเลเซีย ในเรื่องการให้การสนับสนุนโจรแบ่งแยกดินแดนอย่างทั้งลับและไม่ลับ เมื่อสองปีก่อน (พ.ศ.๒๕๑๕) นักศึกษากลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ออกแถลงการณ์สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในการสู้รบและเงินช่วยเหลือ
            ชนกลุ่มน้อยชาวไทยอิสลามของไทยนี้เหมือนกับชนกลุ่มน้อยของฟิลิปปินส์ทางภาคใต้  ในหมู่เกาะมินดาเนา ซูลู ซึ่งเป็นอิสลามิกชนเกือบล้านห้าแสนเศษและได้รับการสนับสนุนให้ลุกขึ้นก่อกบฎต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีมาร์กอส และรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ทำการปราบปรามอย่างไม่ยั้งมือ
            การจุดชนวนระเบิดในเรื่องการแยกดินแดนประเทศไทยทางภาคใต้นั้น ชนวนได้เริ่มเผาไหม้ขึ้นมาแล้วจริง ส่วนการที่จะลุกลามต่อไป หรือไม่อย่างไรนั้นอยู่ที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ จะมีความจริงใจในการร่วมมือกันดับได้อย่างไร มีข้อเตือนใจว่าอย่ารอให้ไฟชนวนไหม้ไปถึงเชื่อปะทุดินระเบิดเป็นอันขาด
            เป็นเวลานานมาแล้วที่ไทยเริ่มตระหนักในเรื่องนี้ จึงมีการเตรียมการหลายด้านไว้ล่วงหน้า ดินแดนภาคใต้ดังกล่าวนี้  เรามีคนเชื้อสายไทยมากมายตั้งรกรากอยู่ที่นั่น และทุกหนทุกแห่ง เรามีพระพุทธรูปองค์มหึมาประดิษฐานอยู่ที่นั่น และอีกหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ที่นั่น เป็นรากฐานมั่นคงสำหรับอธิปไตยในแผ่นดินของไทยเรา
            คนไทยพร้อมอยู่เสมอที่จะเผชิญกับปัญหานี้อย่างพร้อมเพรียง และสุขุมรอบครอบที่สุด ก็เมื่อประเทศอื่นบังอาจจะแยกดินแดนของไทยออกไปได้ ทำให้เราจะคิดบ้างไม่ได้ว่าดินแดนเก่าแก่ของเราอยู่ที่ใดบ้าง และทำไมเราจะคิดเอาคืนมาไม่ได้ คนไทยมีสิทธิที่จะอ้างถึงประวัติศาสตร์เก่า ๆ ที่เราอยากจะลืม เพราะเห็นแก่มิตรไมตรี ประเทศนั้นเคยมีปัญหาโจรจีนมาเป็นสิบ ๆ ปี ทำมาหากินไม่ได้ ไทยเราก็เข้าร่วมมือสละชีวิตเข้าช่วยทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เมื่อคณะรัฐบาลของประเทศนั้น เปลี่ยนแปลงไปเมื่อใด ความกตัญญูรู้คุณก็ไม่มีเหลืออยู่ได้
            บัดนี้จังหวะเวลาอันจำเป็นได้มาถึงแล้ว ความคิดเห็นของประชาชนไทยทั้ง ๔๐ ล้านคน ได้เริ่มรวมจุดเข้าหากันอย่างรวดเร็ว มุ่งไปสู้การเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลไทย ใช้มาตรการเป็นขั้น ๆ ออกไปโดยด่วน คือ การจัดการใช้กฎหมายในดินแดนดังกล่าว มีผลบังคับเหนือแผ่นดินนั้นโดยทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพในอัตราสูงสุด ที่นั่นจะไม่มีกลุ่มโจรอีกต่อไป ประชาชนจะต้องอยู่อย่างสงบสุขและมีอิสระเสรี


มาเลเซียที่รัก
(เก็บความจากบทความ นสพ.เดลินิวส์ ฉบับ ๒๓ มิ.ย.๑๗)

            ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลย เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ราชอาณาจักรไทยต้องเสียแคว้นสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้แก่ฝรั่งเศส
            พ.ศ.๒๔๓๕ ฝรั่งเศสอ้างสิทธิเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ส่งเรือรบมาปิดอ่าวไทย ไทยจึงต้องยอมยกดินแดนดังกล่าวและยังต้องเสียค่าทำขวัญเป็นเงินไทย ๓ ล้านบาท กับเงินฝรั่งเศสอีก ๒ ล้านฟรังก์
            พ.ศ. ๒๔๔๖ ไทยเสียจำปาศักดิ์และมโนไพร  และต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสกลับมายึดตราดอีก
            พ.ศ.๒๔๔๙  ไทยต้องเสียเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสอีก เพื่อแลกสิทธิทางการศาล และเพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจังหวัดตราด
            พ.ศ.๒๔๕๑  ไทยเสียดินแดนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ให้อังกฤษ
            เราไม่เคยลืมว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ดินแดนภาคใต้ของสยามแผ่ออกไปจนถึงชวา เวลานี้คนไทยยังมีเหลือตกค้างอยู่ในดินแดนปัจจุบันที่เรียกว่า พม่า เขมร ลาว และมลายู มากมาย แต่เราก็ไม่อยากจะพูดถึงกันนัก ด้วยเกรงว่าจะกระทบกระเทือนน้ำใจประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อถนอมน้ำใจ แต่ฝ่ายประเทศที่เราถือเป็นมิตรนั้น บางกลุ่มบางพวก กลับพยายามดำเนินกลอุบายด้วยประการทั้งปวง ที่จะเข้าแทรกแซงอธิปไตยของเรา สนับสนุนให้มีการแยกดินแดน ส่งเงินเป็นกำลังมาก่อกวน ให้อาวุธยุทโธปกรณ์แก่ผู้ก่อการร้าย แม้การให้เงินมากว้านซื้อที่ดิน เพื่อให้กรรมสิทธิในที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มพรรคพวกอาณัติของเขา
            เราก็ยังเกรงใจเขา ไม่ค่อยจะต่อว่าเขา ด้วยคิดว่าเขาเป็นมิตร แต่ฝ่ายเขานั้นพรรคแพนมาลายันอิสลามิก มีนโยบายแน่วแน่ที่จะต้องแยกดินแดนภาคใต้ของไทย ออกไปให้ได้ ก่อนหน้านี้พรรคนี้ก็มีการแถลงออกนิตยสารเผยแพร่กิจการ และเร่งรัดแบ่งแยกดินแดนอยู่ทางภาคใต้ของไทยอย่างเปิดเผย รัฐบาลไทยเคยประท้วง แต่รัฐบาลมาเลเซียก็แก้ตัวว่านั่นเป็นนโยบายของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลมาเลเซียไม่เกี่ยวไม่สนับสนุน
            คนไทยในไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู  ที่ถูกกดขี่ข่มเหงก็มี คนเชื้อชาติไทยเหล่านั้นมีสภาพเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ในรัฐของมาเลเซีย ไม่ได้มีสิทธิเสรีเต็มที่ เท่าเทียมคนเชื้อชาติมาเลเซีย ความจริงเขาก็อยากมารวมกับไทย แต่เราก็ตั้งอุเบกขาเฉยเสีย
            ไม่แต่กับไทย ฟิลิปปินส์หรืออินโดเนเซีย ก็มีเรื่องแทรกแซงกิจการภายในกันอยู่ กงกรรมกงเกวียน สิงคโปร์จึงได้แยกตัวออกไปเป็นอิสระ